Tuesday, November 30, 2010

Light through the window…

ในช่วงที่สมองมีหลายเรื่องหลายประเด็นที่อยากจะคุย บางครั้งกลับกลายเป็นว่ามันทำให้เขียนไม่ออกไปเลยก็มี...



ยิ่งเช้านี้พอผมได้เห็นวิดีโอคลิปชิ้นนี้ มันเหมือนกับมีแสงสว่างสาดส่องเข้ามาทางหน้าต่าง เป็น vision ใหม่ ซึ่งก่อนหน้านั้นผมไม่เคยคิดว่าเจ้ากล้องหรือโทรศัพท์ตัวเล็ก ๆ จะสามารถถ่ายวิดีโอหรือภาพเคลื่อนไหวพร้อมเสียงได้ชัดเจนและลื่นไหลได้ถึงเพียงนี้…

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ในขณะที่นั่งสอนอยู่ตรงเปียโน ผมเห็นแว๊บ ๆ อยู่เหมือนกันว่าผู้ปกครองของนักเรียนยกกล้องขึ้นถ่ายภาพ แต่ก็คิดว่าคงเป็นแค่เพียงการถ่ายภาพนิ่งของลูกสาวเพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึก ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคุณแม่ของน้องมะเหมี่ยวได้ถ่ายวิดีโอภาพการเรียนการสอนช่วงหนึ่งเก็บไว้ และกรุณา upload ให้ได้ดูบน YouTube!


แสงสว่างที่เข้ามาทางหน้าต่างมันทำให้ผมเกิดความคิดมากมาย ต้องขอขอบคุณ uploader ที่ทำให้ผมได้เห็นตัวตนจากภาพที่มองผ่านเลนส์ของกล้องตัวเล็กแต่มีประสิทธิภาพสูง 

และได้เห็นความน่ารักของเด็ก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือน้องเจ้าขา!

Monday, November 29, 2010

กำไรชีวิต...

เช้านี้อากาศกลับมาหนาวเย็นอีก  เท่าที่ผ่านมานี้ผมยังไม่ต้องค้นหาเสื้อกันหนาวออกมาสวมใส่ ทั้ง ๆ ที่เดือนธันวาคมก็มาแล้ว เนี่ยถ้าหากธรรมชาติไม่แปรปรวน ร่างกายผมก็คงจะแปรเปลี่ยน หน้งคงจะหนาขึ้น ทำให้ไม่รู้ร้อนรู้หนาว (ฮา)...



เมื่อคืนนี้คลิกดูหนังเรื่อง Titanic 1997 อีกครั้ง กว่าจะจบก็เกือบตีสาม ตื่นเช้ามองนาฬิกา โห...๘ โมงกว่า รีบลุกขึ้นจัดอาหารให้พี่ชาย นำลงไปให้แล้วออกไปฉีดยา (สารสกัดจากสะเดา) ต้นไม้ พอกลับขึ้นมาชั้นสาม ดูนาฬิกาอีกที พบว่าเพิ่ง ๗ โมงกว่า แสดงว่าผมปฏิบัติหน้าที่ก่อนกำหนด ๑ ชั่วโมง ต่อนี้ไปทุกโมงยามที่ได้อยู่ดูโลกก็ถือว่าเป็นกำไรแล้วล่ะ...

พูดถึงเรื่องไวโอลิน ผมอยากรายงานถึงความก้าวหน้าของเด็ก ๆ ที่มาเรียนเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่ามีมาทั้งหมด ๕ คน ขาดน้องเดียร์และโดโด้...

ความจริงแล้วผมต้องการสอนโดโด้แบบเดี่ยว ๆ เพื่อให้สามารถตามเพื่อนนักเรียนคนอื่นได้ แต่ติดอยู่ตรงที่ยังหาเวลามาเรียนไม่ได้ ผมไม่อยากเห็นโดโด้ยืนจับโวโอลินอยู่เป็นชั่วโมงโดยไม่ได้ทำอะไร โดโด้เปลี่ยนแปลงจากเมื่อปีที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด จากเด็กที่เคยไม่อยู่นิ่งกลับสามารถยืนอยู่ข้างผม จับไวโอลินตามพี่ ๆ รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างก็ยืนอยู่ได้โดยไม่วางเครื่อง ไม่บ่นหรือก้าวออกจากตำแหน่งจนกว่าจะถึงเวลาพัก ผมรู้สึกแปลกใจมากที่เวลาผ่านไปเพียง ๑ ปี เด็กชายตัวน้อยเปลี่ยนไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ


ไม่เป็นไรครับ สัปดาห์นี้น้องเดียร์และโดโด้ยังไม่มาก็ไม่เป็นไร ผมสอนนักเรียนที่มีอยู่ให้ก้าวเดินต่อไปทันที เริ่มต้นด้วยการทบทวนแบบฝึกหัดเดิม ๆ แล้วแนะนำบทเรียนใหม่ ผม improvise การสอนไปเรื่อย ๆ โดยยังไม่เริ่มบทเรียนของซูซูกิ คิดว่าจะเร็วเกินไปสำหรับเด็กน้อย ขอใช้แบบฝึกหัดที่คิดขึ้นเองก่อนจะดีกว่า

ผมเริ่มสอนให้จับไวโอลินในท่าพัก ท่าพร้อมเล่นสายปล่อย ฝึกจับคันชัก เคลื่อนไหวในลักษณะขึ้น-ลงลิฟท์ วิธีนำโวโอลินออกจากกล่อง ถูยางสน ปรับหางม้า ตั้งสาย เก็บเครื่องลงกล่อง ฯลฯ  แบบฝึกหัดที่ใช้ก็มี การสีแบบรถไฟและการสีโน้ตตัวกลม ช่วงนั้นมีการทำเครื่องช่วยที่เรียกว่า bowing aid จากกระดาษกล่องพัสดุด้วย

เมื่อนักเรียนผ่านการทดสอบขับรถไฟให้ตรงทาง สีถูกเส้นถูกสาย ผมก็เริ่มให้เปลี่ยนจากการใช้มือซ้ายจับที่ตัวไวโอลินให้ไปจับที่คอไวโอลิน แต่ละขั้นตอนต้องก้าวเดินไปอย่างช้า ๆ ช่วงนี้แหละที่นักเรียนจะได้เริ่มเล่นนิ้ว ๑ โดยใช้แบบฝึกหัดที่ชื่อว่า เรโด-เรโด นักเรียนจะได้ฝึกสีกับสายทั้ง ๔ สายและได้รู้จักกับการเล่นโน้ตตัวกลม ตัวดำ และตัวขาว

ต่อไปก็ให้เพิ่มการใช้นิ้วสองโดยใช้แบบฝึกหัดที่ผมเรียกชื่อว่า โดเรมีเรโด ตามมาด้วยการใช้นิ้วสามเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งนิ้วโดยใช้แบบฝึกหัดที่เรียกว่า โดเรมีฟา-ฟามีเรโด ซึ่งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมานักเรียนก็ได้เริ่มฝึกกันแล้ว ต้องยอมรับว่ายากขึ้นมาก ผมต้องให้นักเรียนเล่นสลับกับเสียงเปียโน ซ้ำไปซ้ำมา และกำชับให้กลับไปซ้อมที่บ้านให้มาก ๆ ด้วย นอกจากฝึกเล่นไวโอลินแล้ว นักเรียนยังได้ฝึกการขับร้องเป็นโบนัส บาร์บี้เสียงดีและร้องไม่ผิดคีย์ ส่วนเจ้าขานั้นร้องงึ่มงั่ม ๆ แต่กล้าแสดงออก

ได้สอนเด็ก ๆ ก็เป็นกำไรชีวิตแล้วครับ

Sunday, November 28, 2010

ผมเห็นเค้ายืนอยู่ที่นั่น!

ขณะใช้บริการค้นหาของ Google อยู่ ๆ ผมก็เจอบทความที่เคยเขียนไว้ในหัวข้อที่ว่า "ผมเห็นเค้ายืนอยู่ที่นั่น!"  ทีแรกคิดว่ามันคงหายไปตั้งแต่ครั้งที่ผมลบและล้างไฟล์บน server ใหม่หมด ผมก็เลยขอถือโอกาสนำมาเก็บไว้ในบล็อกนี้อีก  



เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๒ เขียนไว้ว่า "ช่วงบ่าย ๆ มีโอกาสขับรถผ่านโรงเรียนมงฟอร์ตฯ สถาบันที่เคยเรียนตั้งแต่ชั้นประถม ๓ จนถึง ม.ศ.๓ ผมจอดรถที่หน้าประตูรั้วโรงเรียนซึ่งไม่เคยย่างผ่านเข้าไปอีกเลยนับจากจบการศึกษาเมื่อต้นปี ๒๕๐๙ ผมเดินไปที่ประตูแล้วค่อย ๆ ยื่นกล้องถ่ายรูปผ่านซี่กรงเหล็กเข้าไปบันทึกภาพอาคารเรียนสามชั้นซึ่งอยู่ทางด้านใต้..."



ภาพขาวดำสแกนจากอนุสรณ์ ม.ศ. 3 2506
ผ่านมากว่า ๔๐ ปีอาคารสถานที่ของโรงเรียนมงฟอร์ตยังคงไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ประตูทางเข้าจะอยู่ทางด้านเหนือ ส่วนประตูด้านใต้เป็นทางออก ผมรำลึกถึงภาพในอดีตได้ทันทีเมื่อไปยืนอยู่ตรงนั้น บนถนนหน้าอาคารเรียน ๓ ชั้น ผมเห็นเด็กชายรูปร่างผอมกะหร่องสวมชุดนักเรียนสกปรกมอมแมมกำลังปั่นจักรยานสู่ประตูทางออกเพื่อมุ่งหน้ากลับบ้าน จากจุดที่ผมยืนเมื่อมองตรงไปข้างหน้า หากย้อนกลับไปยังวันแรกที่ถูกส่งตัวเข้าเรียนชั้น ป.๓ ผมจะเห็นอาคารเรียนเก่า ๆ ชั้นเดียวและร้านก๋วยเตี๋ยวเจ็กเพ้งอยู่ตรงนั้น ภาพในอดีตเลือนลางเหลือเกิน รู้แต่ว่าขณะนั้นยังไม่มีอาคารเรียนสูง ๆ 

ภาพขาวดำสแกนจากอนุสรณ์ ม.ศ. 3 2506
นอกจากอาคารปูนชั้นเดียวแล้วยังมีอาคารสองชั้นหลังยาวอยู่ทางด้านเหนือ ทางด้านข้างเป็น "โฮงรถ" โรงเก็บรถที่มีจักรยานจอดเต็มไปหมด สนามบาสฯ มีต้นยูคาลิบตัสปลูกอยู่ รวมทั้งสนามบอลหน้าตึกอธิการ... 

ภาพขาวดำสแกนจากอนุสรณ์ ม.ศ. 3 2506
ภาพข้างบนนี้คือตึกอธิการ เห็นลำโพงที่อยู่ตรงหน้าต่างนั่นมั้ยครับ? เย็นวันหนึ่งมีเสียงดังเรียกผมออกลำโพงให้ไปรับโทษ (โดน Bad Note 8) เพราะโดดเรียนไปเที่ยวน้ำตกห้วยแก้วกับสมศักดิ์ ลีลาภัทร์ แล้วปลอมลายเซ็นผู้ปกครองในใบลา ผมเดินขึ้นบันได เลี้ยวขวาไปให้บราเธอร์ฟาดก้นด้วยไม้เรียวเสียงดังขวับ ๆๆ 

ที่ยังคงฝังใจอยู่ก็คือการเปิดเทอมวันแรก ห้องเรียนชั้นประถม ๓ อยู่ ณ อาคารชั้นเดียวซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นแค่เพียงภาพในจินตนาการ วันนั้นเป็นวันแรกของเด็กชายทักษิณ ชินวัตรด้วยเช่นกัน บนโต๊ะเรียนและเก้าอี้แบบนั่งคู่กัน ลูกคนชงกาแฟตัวจริงได้นั่งคู่กับเด็กชายผู้ได้กลายมาเป็นนายกรัฐมนตรี ผมจำได้แค่ว่าครูประจำชั้นให้นักเรียนใหม่ได้แนะนำตัว เราสองคนต้องยืนบนเก้าอี้เพราะตัวยังเล็กอยู่!  จากเด็กประถมจนเป็นเด็กมัธยม ชีวิตนักเรียนเจริญวัยไปตามกาลเวลา ดูเหมือนว่าทักษิณกับผมจะไม่เคยแยกชั้นเรียน แต่เราก็ไม่ได้นั่งร่วมโต๊ะกันอีก... 

ขณะที่บันทึกภาพด้วยกล้องดิจิตอลมือสองราคา ๑,๖๙๐ บาท ที่ยื่นผ่านประตูรั้วเข้าไป ผมพยายามมองหาห้อง C ให้ได้  แต่มันไกลเกิน ได้แต่คะเนว่ามันคงจะอยู่ใกล้ ๆ กับรถปิคอัพคันที่จอดหันหน้าออกนั่นแหละ

ภาพจากหนังสืออนุสรณ์ มศ.3 2506
ห้องเรียนชั้น ม.ศ. ๓ อยู่ชั้นล่าง เริ่มจากห้อง A ห้อง B ห้อง C และห้อง D วันนั้นในช่วงพักบรรดานักเรียนจะออกมายืนคุยกันตรงระเบียงหน้าห้องเรียน ภาพของทักษิณกลับเข้ามาให้เห็นอีกครั้ง เป็นวันที่ผมโดนนักเรียนโตกว่าแกล้ง ทักษิณซึ่งตัวโตเช่นกันได้เข้ามาห้ามแล้วพูดว่า "คิงไปคั่มมันนะบ่ะ"  (มีความหมายว่าเอ็งอย่าไปแกล้งมันนะโว้ย)  นั่นคือเหตุการณ์เมื่อ ๔๔ ปีที่แล้วเกิดตรงระเบียงที่มองเห็นได้จากระยะไกล ผ่านไปแล้วกว่า ๔ ทศวรรษ ผมไม่รู้เหมือนกันว่าทุกวันนี้คุณทักษิณจะคิดถึงบ้านมากน้อยแค่ไหน? 

ทุกครั้งที่ผมผ่านโรงเรียนมงฟอร์ต ผมก็ยังคงเห็นเค้ายืนอยู่ที่นั่น!

Saturday, November 27, 2010

3 Centuries of German Music

J.S. Bach : ภาพจาก wikipedia
ก่อนเข้าเรียนดนตรีที่พายัพ ถ้าถามผมว่า J.S. Bach คือใคร ผมไม่รู้จัก  แต่พอเรียนไปได้ประมาณปีครึ่ง ผมก็มีโอกาสร้องเพลงของ J.S. Bach ในคอนเสิร์ท "3 Centuries of German Music" เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๒๐ นับเป็นประสบการณ์ครั้งแรกในชีวิตของอดีตช่างซ่อมเครื่องมือแพทย์ที่ได้ขึ้นไปยืนอยู่บนเวทีคอนเสิร์ทในตำแหน่งนักร้องเสียงเบส Payap College Choir

ครั้งนั้นผมมีโอกาสได้เห็นวงดนตรี Pro Musica String Quintet ภายใต้การนำของ ม.ล. อัศนี ปราโมช บรรเลงเพลง kleine Nachtmusik - Allegro, เพลงเขมรไทรโยค และ ลาวดวงเดือน ยืนอยู่ใกล้ผู้บรรเลง...ผมได้ยินเสียงเครื่องสายเต็มหู ได้เห็นท่าทางของนักดนตรีเต็มตา สัมผัสกับความไพเราะของดนตรีคลาสสิกอย่างเป็นรูปธรรมในวันนั้นเอง...


คอนเสิร์ท 3 Centuries of German Music เปิดแสดง ๒ รอบที่หอประชุมคณะแพทย์ศาสตร์ ผมยังมีสูจิบัตรเก็บไว้อยู่เลย มันเป็นสูจิบัตรที่ผมอาสาเป็นผู้จัดทำ โดยลงมือเองทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ การติดต่อโรงพิมพ์ การตรวจปรู๊ฟ และการหาสปอนเซอร์ ยังจำได้เลยว่าผมไปใช้บริการของโรงพิมพ์ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ เชียงใหม่อาเขต เจ้าของโรงพิมพ์ยังบอกผมเลยว่าการทำกิจกรรมเสริมจะเป็นประสบการณ์ที่สามารถนำไปใช้ได้ในอนาคต

วันนี้ได้กลับไปดูแผ่นปกที่ผมออกแบบไว้เมื่อ ๓๓ ปีที่แล้ว จำได้ว่าโน้ตเพลงของ Bach เป็นภาพที่ผมถ่ายเอกสารจาก Encyclopedia เล่มใหญ่ ผมขอให้พิมพ์ปกหน้าและปกหลังด้วยสีเทาเงิน ส่วนอีก ๖ หน้าซึ่งอยู่ด้านในพิมพ์ด้วยอักษรสีน้ำเงิน









เพื่อน ๆ ที่รักครับ ขอให้ผมได้สแกนและนำภาพทั้ง ๘ หน้าของสูจิบัตรที่ผมทำไว้มาลงที่นี่ด้วย มันอาจจะดูไร้สาระ แต่จริง ๆ แล้วมีข้อมูลน่าสนใจแฝงอยู่ ทุกตัวอักษรที่ปรากฏสามารถเล่าเหตุการณ์ได้หมด อย่างเช่นในโฆษณาทั้ง ๗ ราย เริ่มจาก Duangjitt House รายนี้พี่ชายผมช่วยขอสปอนเซอร์ให้ได้เพราะเป็นครูสอนพิเศษของลูกเจ้าของร้าน (ผมยังจำได้ถึงตอนที่ไปปรึกษาอาจารย์ Carolyn เกี่ยวกับการใช้คำว่า genuine) ร้านมิตรภาพฟิล์มก็ให้การสนับสนุนเพราะพี่ชายผมเป็นครูสอนพิเศษเช่นเดียวกัน ส่วนโรงเรียนเทพประสาทพณิชยการ เชียงใหม่ก็เป็นโรงเรียนที่พี่ชายผมสอนอยู่ในขณะนั้น

ร้าน Sandwich Bar ผมรู้จักดีตั้งเมื่อครั้งที่ เล่นดนตรีอยู่ที่ภัตตาคาร"ศรีสุรางค์" ผมไปขอสปอนเซอร์แล้วยังต้องออกแบบโฆษณาให้ด้วย ส่วนที่ห้างหุ้นส่วน แอล.วี.เอ็ม. ผมเข้าไปขอการสนับสนุนจากคุณรักษ์ ว่าไปแล้วก็คิดถึงท่านอยู่เหมือนกัน แต่ก่อนนี้ถ้าจะซื้อเครื่องดนตรีก็ต้องไปหาท่าน ไม่ทราบว่าปัจจุบันนี้ท่านจะยังมีชีวิตอยู่หรือไม่?  บริษัทเปรมประชาขนส่งผมก็ไปหาคุณน้อง (เพื่อนของบรรจงและประยูร) ซึ่งเป็นเจ้าของปั้มน้ำมันตราดาว และรายสุดท้ายก็คือ CACC เชียงใหม่แอร์คลีนิคของธีรชัย เพื่อนที่เรียนด้วยกันที่เทคนิค...


บัตรที่เห็นผมสั่งพิมพ์ที่โรงพิมพ์เดียวกันกับที่พิมพ์สูจิบัตร...

ทุกวันนี้นอกจากผมแล้ว คงไม่มีใครจำ "3 Centuries of German Music" ได้!

E.E. News

ผมชอบอ่านและชอบขีดชอบเขียนมาตั้งแต่เมื่อตอนเป็นเด็กนักเรียนแล้วหละ  เคยฝันที่จะมีโรงพิมพ์ของตนเองและทำนิตยสารออกจำหน่าย อยากเป็นนักเขียน อยากเป็นบรรณาธิการ อยากเป็นช่างศิลป์ ทั้ง ๆ ที่เกือบตกวิชาภาษาไทยมาโดยตลอด ส่วนวิชาวาดเขียนก็ไม่เคยได้คะแนนดี...


ตอนเรียนช่างไฟฟ้าที่วิทยาลัยเทคนิคภาพพายัพ ผมตั้งสำนักพิมพ์ขึ้นเล่น ๆ โดยให้ชื่อว่า "สำนักพิมพ์ลมม้า" ตั้งตัวเองให้เป็นทั้งบรรณาธิการและนักเขียน ออกหนังสือเกี่ยวกับไฟฟ้า-อีเลคทรอนิคส์ ในชื่อว่า "A.M. Electronics" ตอนนั้นผมเขียนเองอ่านเอง โดยมีบรรจงเพื่อนสนิทเป็นผู้เขียนภาพประกอบ ฉบับสุดท้าย ฉบับที่ ๓ เดือนพฤษภาคม ๒๕๑๐ ไม่คลอด เพราะผมเขียนได้เพียงครึ่ง ๆ กลาง ๆ

ขอสแกนที่นายมือบอนตอบปัญหา Electronics มาให้ดูหน่อยละกัน...


บ้าไหมล่ะ? ผมถามเองตอบเอง โดยใช้ปากกาคอแร้งเบอร์ ๓ จุ่มน้ำหมึกอินเดียนอิ้งค์  เขียนตอบไปเรื่อย ๆ หากหมึกเลอะก็ใช้กระดาษซับซับ...

พอไปเรียนอยู่เทคนิคกรุงเทพ ปี ๒๕๑๓ ผมก็ทำ E.E. News โดยใช้เครื่องพิมพ์ดีดแบบกระเป๋าหิ้วซึ่งยืมจากเพื่อนที่ชื่อวิบูลย์ โตทอง ผมนั่งพิมพ์อยู่ที่ห้องในหอพักจำนงค์ แล้วก็นำไปให้เพื่อน ๆ แผนกอีเล็คทรอนิคส์ชั้นปีที่ ๔ ได้อ่านกัน ครั้นไปเรียนที่ดุริยศิลป์ ปี ๒๕๒๐ ผมก็พิมพ์ "ดุริยสาร" ด้วยเครื่องพิมพ์ที่ซื้อเอง แล้วนำไปติดไว้ที่บอร์ดตึกดนตรีให้เพื่อน ๆ อ่าน...

วันนี้ผมอยากจะสแกน E.E. News ฉบับที่ยังคงเหลืออยู่ให้เพื่อน ๆ ได้ดูซักหน่อย มีด้วยกัน ๘ หน้า ประกอบด้วยการ์ตูนเสียเป็นส่วนใหญ่









ที่ตึกอีเล็คทรอนิคส์ มีพื้นที่ว่างใต้ถุนตึกซึ่งใช้เป็นที่เล่นฟุตบอลในร่มได้ นักศึกษารอบเช้าปี ๔ ได้ตกลงที่จะแบ่งออกเป็น ๔ กลุ่ม เรียงรายชื่อตามลำดับตัวอักษร ได้เป็น หมู่ ๑ ถึงหมู่ ๔ แต่ละหมู่ก็จะจัดทีมนักเตะจำนวน ๕ คน ซึ่งประกอบด้วย กองหน้า ๒, กองหลัง ๒ และผู้รักษาประตู จากนั้นก็จัดให้มีการแข่งขันแบบพบกันหมด โดยใช้เวลาช่วงพักรับประทานอาหารกลางวัน ผมอยู่หมู่ ๔ แต่ไม่ได้ลงแข่งขันกับเค้าหรอก ขอทำหน้าที่ผู้สื่อข่าวและบรรณาธิการ E.E.News

จำไม่ได้แล้วว่ากิจกรรมเตะลูกพลาสติกของนักศึกษาปี ๔ ที่ใต้อาคารอีเล็คทรอนิคส์ในช่วงปี ๒๕๑๓ มีที่มาอย่างไร ตอนนั้นคำว่า ฟุตซอล (Futsal) ก็ยังไม่ปรากฏ มันเป็นภาพที่ยังคงประทับใจของนักศึกษารุ่น "ตึกพัง" บางคน  หลายคนอาจจะลืมเลือนไปแล้วก็ได้ แต่ถ้าเขาเหล่านั้นได้มาเห็นภาพ E.E.News ฉบับนี้ คงจะระลึกได้ถึงความสนุกสนานของนักศึกษาทั้งห้อง ก และ ห้อง ข ในช่วงเวลานั้น...

น่าเสียดายที่ไม่มีใครในหมู่ ๑ ถึง ๔ ที่จะได้เห็น E.E. News ฉบับนี้!!

Friday, November 26, 2010

พี่อู๊ดแวะมาเยี่ยม…

บ่ายวันนี้...เพื่อนบ้านนำเงินมายื่นให้ ๑,๐๐๐ บาท พร้อมกับกระดาษแผ่นเล็ก ๆ เขียนว่า...


พี่อู๊ดคือลูกของลุงซึ่งจัดว่าเป็นญาติผู้พี่ที่ผมใกล้ชิดมากที่สุด ทั้งนี้เพราะพี่อู๊ดไปเรียนที่ ม.ช. ในช่วงที่ผมเรียนอยู่ที่มงฟอร์ต ทำให้ผมมีโอกาสได้เจอะเจอและพูดคุยด้วยในช่วงที่พี่อู๊ดไปเยี่ยมเยียนแม่ปราณีที่บ้าน ร้านกาแฟไทยประเสริฐ ถนนเจริญเมือง พี่อู๊ดเคยพาไปดูหนังด้วยล่ะ ผมจำได้แม้กระทั่งคำแนะนำที่พี่อู๊ดบอกให้ผมสวมแว่นตาให้ติดตา ไม่ใช่นำออกมาใส่เฉพาะเวลาดูหนัง...

ผมมีภาพเก่าภาพแก่อยู่ภาพหนึ่ง ดูแล้วบอกไม่ได้ว่าพี่อู๊ดคือเด็กชายคนไหน แต่ที่รู้แน่ ๆ คือตัวเองซึ่งยังเล็กมาก คุณแม่ต้องอุ้ม...


พี่อู๊ดปลดเกษียณได้หลายปีแล้ว แต่ก็ยังดูแข็งแรงและหน้าตาดี ตั้งแต่วันเผาศพคุณแม่ที่วัดพระบาท ผมได้เจอพี่อู๊ดอีกครั้งก็ที่บ้านหลังที่อยู่ทุกวันนี้เมื่อหลายปีก่อน ตอนนั้นพี่อู๊ดไปต่างจังหวัดผ่านมา ยังไม่รู้จักบ้านผม แต่พี่อู๊ดก็เที่ยวถามหาจนเจอ มาตะโกนเรียกอยู่ที่หน้าบ้าน ผมชะโงกหน้าจากชั้นสามลงไปดู เห็นคนที่ยืนเรียกอยู่ข้างล่างแต่ยังจำไม่ได้ ตอนนั้นพี่อู๊ดดูไม่แก่เลย มาเยี่ยมแล้วยังให้เงินไว้ใช้อีก ๑ พันบาท

วันนี้แวะมาเยี่ยมอีกแต่ไม่เจอ พี่อู๊ดฝากเงินไว้ให้อีกเช่นเคย ผมขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูง

Friday, November 19, 2010

เข้าเมืองเปลืองตังค์…

ผมตั้งใจตั้งแต่เมื่อวานนี้แล้วว่าเช้านี้ต้องเข้าเมืองให้ได้ หลายวันมาแล้วบุรุษไปรษณีย์นำพัสดุมาส่ง เค้าเขย่าประตูพอเป็นพิธีแล้วจากไป ผมไม่โทษเค้าหรอก เพราะนั่นถือได้ว่าการปฏิบัติหน้าที่สมบูรณ์แล้ว เมื่อประตูบ้านปิด เรียกแล้วไม่มาเปิด ก็ถือว่า "บ้านปิด ให้ไปรับเอง ณ ที่ทำการ" จบ! ง่ายดี! ไม่เป็นไรครับ ผมเข้าไปรับเองในเมืองก็ได้ อยากรู้จังว่าใครหนอส่งของมาให้...

อ่อ...บริเวณประตูหลังบ้านมีกลิ่นหนูเน่ากระทบผัสสะอยู่ได้เกือบอาทิตย์นึงแล้ว หลังจากที่ผมพยายามหาแหล่งที่มาของกลิ่นเหม็นมานาน ก็เพิ่งเจอเมื่อเช้านี้เอง ผมมองเข้าไปที่ซอกถังน้ำเห็นหางหนูโผล่ออกมาพร้อมกับกลิ่นฉุนกึ๊ก เน่าจนเละไปเกือบทั้งตัวก็ว่าได้ ผมต้องรีบขุดหลุมแล้วนำซากหนูไปฝัง ดีนะที่แก้ปัญหาเรื่องนี้ไปได้ ก่อนที่เด็ก ๆ จะมาเรียนไวโอลินในวันอาทิตย์

ก่อนออกเดินทาง ผมถ่ายรูปกองหินและทรายที่เตรียมไว้สำหรับการเทปูนในช่วงเย็นวันนี้ ที่เห็นเป็นส่วนผสมของหิน ๑๒ ถังและทราย ๘ ถัง...


มุ่งหน้าไปธนาคารก่อนเป็นจุดแรก ตังค์เหลือติดกระเป๋าแค่ ๒๐ กว่าบาท สภาพท้องถนนในตัวเมืองลำปางในช่วงที่ไม่ใช่ชั่วโมงเร่งด่วนจะเป็นอย่างที่เห็นในภาพที่เห็นนี่แหละ...


รถราไม่แออัดตลอดทั้งวัน นาน ๆ จะมีรถม้าวิ่งผ่านมาให้เห็น ตึกสูง ๆ ถูกคุมกำเนิดเอาไว้ ผมหลงใหลเมืองรถม้าก็ตรงนี้แหละ ที่เห็นในภาพคือ บริเวณสี่แยกดอนปาน ถ้าเลี้ยวซ้ายก็ไปสถานีรถไฟ เลี้ยวขวาไปบิ๊กซีและสถานีขนส่ง แต่ถ้าตรงไปก็จะเป็นสี่แยกเพ็ญทรัพย์ เทศบาล และห้าแยกหอนาฬิกา...

ผมต้องแวะไปเบิกตังค์ที่ธนาคารกสิกรไทยสาขาถนนฉัตรไชยก่อน ที่นั่นบริการเค้าน่าประทับใจจริง ๆ ครับ เจ้าหน้าที่คนสวยเข้ามาช่วยเขียนใบถอนให้ ผมมีหน้าที่แค่เซ็นชื่อแล้วไปนั่งรอเบิกเงิน พนักงานสาวคนที่เคยยืนรอเปิดประตู กล่าวสวัสดี และคอยให้ความช่วยเหลือลูกค้าอยู่ด้านนอกได้รับเลื่อนตำแหน่งไปเป็น teller นั่งอยู่ในเค้าเตอร์แล้ว


ออกจากธนาคาร ผมตรงไปไปรษณีย์ พอเห็นกล่องพัสดุก็รู้ทันทีว่าป้าโรสฝาก Museli มาให้กินอีกแล้ว ดีใจมากครับ ถ้าป้าโรสได้เข้ามาฟังลุงน้ำชาคุย ก็อยากจะขอบคุณป้าโรส หวังว่าสักวันหนึ่งคงมีโอกาสได้ขอบคุณเพื่อนคนนี้ด้วยคำพูดจากปากตนเอง...


ที่ไปรษณีย์ผมถ่ายภาพไว้หลายบาน ขอนำมาให้เพื่อน ๆ ดูดังนี้...




จากนั้นผมก็ไปจ่ายค่า HiNet ที่ CAT หมดไป ๘๐๓ บาท ยังดีนะที่เค้าลดให้จากแต่ก่อนที่ผมต้องจ่ายเดือนละเป็นพัน หุหุ ตั้งแต่ใช้มาเนี่ยก็เกินสองหมื่นบาทแล้วล่ะ


เยื้อง ๆ กับ CAT มี super market ที่ชื่อว่า NV เป็นอีกแห่งหนึ่งที่ผมเลือกที่จะอุดหนุน เพราะเป็นห้างของคนลำปาง เช่นเดียวกับห้างเสรีและล้านทอง ไม่ต้องมีเครื่องปรับอากาศ ไม่ต้องมี cashier ที่ยกมือไหว้โดยอัตโนมัติปราศจากความรู้สึกหรือมีพนักงานมายืนยกมือไหว้สวัสดีอยู่ตรงทางลงบันไดเลื่อนก็ได้ ผมชอบห้างแบบนี้มากกว่า...


ซื้อเสบียงกลับบ้านหลายอย่าง ควักกระเป๋าอีก ๓ ร้อยกว่าบาท  จากนั้นก็นำจักรยานยนต์ไปเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ซ่อมไฟเลี้ยว และเปลี่ยนสปริงขาตั้ง หมดไปอีก ๑๖๐ บาท..


ก่อนกลับเข้าบ้าน ผมไปจ่ายค่าไฟฟ้า ๘๓๘.๖๑ บาท!  กลับเข้าบ้านแล้ว ยังต้องรีบบึ่งรถไปรับน้ำข้าวกล้องงอก ๒๐ ถุง จ่ายไปอีก ๑๐๐ บาท!

สรุปแล้ว เข้าเมืองเปลืองตังค์ ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ขออยู่บ้านดีกว่า...