Wednesday, October 12, 2011

Accordion 5

การฝึกหัดเล่น accordion ของเพื่อน ๆ ก้าวหน้าไปถึงไหนแล้วครับ?



ขอให้ฝึกหัดเล่นเสกล C major ให้คล่อง โดยใช้นิ้วตามที่มีหมายเลขบอกไว้ (1=โป้ง 2=ชี้  3=กลาง 4=นาง 5=ก้อย)  ฝึกเหมือนกับไล่เสกลบนเปียโน เพียงแต่ตำแหน่งของแขนผู้เล่นต่างกัน และในขณะกดที่คีย์ก็ต้องดึงกระเพาะลมเข้าออกไปด้วย วิธีเล่นไม่ว่าจะเป็นมือขวาหรือมือซ้าย ให้ใช้ความรู้สึก ใช้นิ้วสัมผัสหาตำแหน่ง แล้วเคลื่อนไปตามคีย์ อย่าก้มดู เพราะจะทำให้ไม่งามสง่า  





เล่นเสกลก็ต้องให้โน้ตทุกตัวยาวเท่ากันและจังหวะสม่ำเสมอ 

เมื่อคล่องดีแล้ว ให้ฝึกแบบฝึกหัดต่อไปนี้...


อย่าลืมชักกระเพาะลมเข้าออกตามที่ลูกศรกำหนดไว้ด้วยนะ ระยะแรกก็คงลำบากหน่อย แต่พอคุ้นเคยดีแล้ว จะสามารถเล่นได้โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องคิดถึงมัน

ส่วนมือซ้ายก็เช่นกัน ให้ฝึกหัดเล่นเบสและคอร์ด [บุ่ม-แชบ-แชบ]  [บุ่ม-แชบ-แชบ-แชบ] และ [บุ่ม-แชบ-บุ่ม-แชบ] ทั้ง C major และ G major จนชำนาญ ไม่ต้องก้มดูนิ้ว   

ขอนำ chart เก่ากลับมาให้ดูอีกครั้งดังนี้...


จากนั้นก็ฝึกเล่นเพลง Hi Lee, Hi Low ได้เลยครับ...




Tuesday, October 11, 2011

A Lover's Concerto



หายจากอาการป่วยที่ยาวนานเกือบสองสัปดาห์...วันนี้ผมสามารถขี่จักรยานยนต์ออกไปสอนเปียโนนักเรียนได้แล้ว  ทุกวันนี้ผมมีนักเรียนเปียโนอยู่ ๓ คน ทั้งสามคนผมต้องไปสอนให้ที่บ้าน ผมคิดค่าสอนชั่วโมงละ ๒๐๐ บาท (ไม่รวมค่าเดินทางอีก ๕๐ บาท) ซึ่งถ้าจะถามว่าคุ้มไหม ผมก็ยังหาคำตอบที่ถูกต้องให้ไม่ได้ อย่างเช่นวันนี้ ผมออกบ้านตั้งแต่ ๕ โมงเย็น บึ่งรถออกไปตามถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ วิ่งขนานไปกับรถพ่วงคันใหญ่ที่มองดูล้อของมันแล้วรู้สึกเสียวอยู่ไม่น้อย  พอไปถึงบ้านนักเรียนก็ลงมือสอนทันที ผมสอนอย่างเต็มที่ ไม่มีการอู้ ไม่มีถ่วงเวลา เวลาเลิกนั้นตรงเวลาคือ ๑๘.๓๐ น. ตลอดระยะ ๗๐ กว่านาที...ผมทั้งร้องทั้งพูด  รู้สึกเหนื่อย แต่ก็ดีใจที่นักเรียนตั้งใจเรียน  สอนเสร็จผมขี่แมงกะไซค์กลับบ้าน ท้องฟ้ามืดแล้ว...การจราจรค่อนข้างอันตราย ผมต้องใช้ความระมัดระวังสูง ค่อย ๆ ขับเคลื่อนไปข้างหน้า กว่าจะถึงบ้านก็จวนทุ่ม!


จริง ๆ แล้ว การที่ต้องบึ่งมอเตอร์ไซค์ไปสอนถึงในเมืองโน่น มันไม่น่าจะเกิดขึ้นในชายวัย ๖๐ กว่าเช่นผมแล้วนะ เพื่อน ๆ ของผมส่วนใหญ่เค้าก็สบายกันไปหมด ไม่เห็นมีใครต้องทำอย่างผม ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมผมถึงยังต้องทำ ทั้ง ๆ ที่เงินที่ได้รับจากการสอนนักเรียนสามคน ผมก็ไม่ได้ใช้แม้แต่บาทเดียว (เอาไปให้ผู้ที่ขัดสนทั้งหมด)


เอาเถอะ...ถึงอย่างไรก็ยังได้แบ่งปันในสิ่งที่มีอยู่ ผมไม่แน่เหมือนกันว่าโอกาสเช่นนี้่จะมีได้อีกนานแค่ไหน


เพื่อน ๆ คงจะรู้จักเพลง A Lover's Concerto ซึ่งมีเนื้อเพลงว่า..."How gentle in the rain, that falls softly on the meadow.  Birds high up in the trees, serenade the clouds with their melody......"  ความจริงผมได้ยินเพลงนี้มาตั้งแต่เป็นเด็กแล้วล่ะ เป็นเพลงที่นำทำนองมาจากท่อนแรกของเพลง Minuet in G โดย J.S.Bach ช่วงหลังมานี้ได้รับความนิยมอีกครั้ง เมื่อมีผู้นำไปขับร้องใหม่ เป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่นบ้านเรา


วันนี้ ขอนำหนังสือโน้ตเพลง A Lover's Concerto (Piano Mini Album หนา ๑๗ หน้า) มาฝาก มีเพลงที่เขียนโดย Sandy Linzer และ Denny Randell ซึ่งอยู่ในคีย์ Ab major และโน้ตเปียโนเพลง Minuet in G ของ J.S. Bach


คลิกดาวน์โหลดได้ที่รูปหนังสือครับ...

Monday, October 10, 2011

ภาพถ่ายรางวัลยอดเยี่ยม ปี ๒๕๒๔

ในการประกวดภาพถ่ายของสมาคมถ่ายภาพพิศเจริญกรุงเทพ เมื่อปี ๒๕๒๔ มีภาพที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม (เหรียญทอง) อยู่ ๔ รางวัล ดังนี้ :-


เหรียญทอง รางวัลเรื่องราวยอดเยี่ยม

"งูกินหาง"  -  สุชาติ ทรัพย์สินทวีลาภ

คำอธิบาย - ถึงแม้ว่าการหาโฟคัสคลาดเคลื่อนไปบ้างและมีการพร่าไหวเล็กน้อยก็ตาม แต่ก็มิได้เกิดข้อเสียหายอะไรมากนัก เพราะเป็นภาพที่แสดงถึงการเคลื่อนไหว ช่างไฟ ลีลาต่าง ๆ และเงายาวบนพื้นรวมทั้งอริยาบถและสีหน้าของเด็ก ๆ แสดงออกได้ดีมาก แสงส่องมาจากด้านข้างทำให้เกิดแสงรอบวง เน้นเรื่องราวให้แยกออกจากฉากหลังที่มืดกว่าได้ผลอย่างยิ่ง

เหรียญทอง รางวัลองค์ประกอบยอดเยี่ยม

"หาเช้ากินค่ำ" - ประเวทย์ อุดมวิทยะธาดา
คำอธิบาย - แนวต้นตาลที่โนนสูง จ.นครราชสีมา ตรงนี้ได้กลายเป็นแหล่งที่ผลิตผลงานบรรลือโลกมามากต่อมากนักไปแล้ว คนทั่วไปหรือนักถ่ายภาพสมัครเล่นบางคนอาจมองข้ามถิ่นนี้เมื่อได้ผ่านไป เพราะยังขาดศิลปะในการเลือกเฟ้นมุมถ่ายหรือการสร้างสรรค์ มิใช่เป็นการง่ายนักที่ในเสี้ยวของวินาทีลั่นไกกล้องให้ทันต่อจังหวะของการแกว่งมือและการก้าวเท้าที่เหมาะ รวมทั้งเครื่องมือประมงเห็นได้อย่างชัดเจน องค์ประกอบในภาพก็จัดได้สมบูรณ์ ช่องไฟระหว่างต้นตาล มีห่าง มีถี่ จัดสรรได้อย่างมีส่วนสัด ลำต้นก็มีตรง มีงอ ทำลายความซ้ำซากที่จืดตา แม้แต่บนพื้นก็ยังมีโครงสร้างโค้งนูนไม่เท่ากัน ใบตาลเป็นพุ่มทรงกลมแจกจ่ายกระจายบนเนื้อที่ภาพอย่างน่ายล


เหรียญทอง รางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม

"คัลเลอร์แฟนตาเซีย" - ภูวดล ธรรมธิติคุณ
คำอธิบาย - ที่เคยพูดกันว่า "กล้องถ่ายรูปไม่เคยโกหก" นั้น มาใช้กับภาพนี้คงไม่ได้แน่ จริงอยู่ เลนส์สามารถบันทึกทุกสิ่งละเอียดละออดีกว่าตาเห็น แต่บางครั้งตากับกล้องเห็นได้ผลไม่เหมือนกัน ตาเห็นสิ่งของชัดเจนได้ทุกระยะ แต่ตากล้องหาทำได้ไม่ ถ้าให้ชัดตลอดเหมือนตาเห็น ต้องหรี่เลนส์ให้เล็กที่สุด (ในบางกรณีหรี่เล็กเท่าใดก็ยังชัดได้ไม่ตลอด) ยิ่งเป็นเลนส์ให้กว้างเท่าไร ความชัดจะยิ่งตื้นด้วยลักษณะพิเศษนี้จึงทำให้ผู้ถ่ายใช้ให้เป็นประโยชน์ บันดาลให้ภาพเกิดอารมณ์เพ้อฝัน เลื่อนลอย และยวนใจ ที่เรียกกันว่า "โรแมนติก" ดวงสีส้มในภาพคือแสงสปอตไลท์สีเขียว สีน้ำตาลที่พร่ามัวบนฉากหลังคือ ผ้าผ่อน กางเกงที่แขวนไว้ สมควรแล้วที่ภาพนี้ได้รับรางวัลเหรียญทอง รางวัลยอดเยี่ยม


เหรียญทอง รางวัลสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม

"เจ้าหนุ่มทันยุค" - วิชัย แซ่ไล่
คำอธิบาย - สร้างสรรค์ในที่นี้หมายถึงผู้ถ่ายเข้าใจสรรหาเครื่องหมายจราจรให้เป็นประโยชน์ ภาพนี้หากเป็นภาพขาวดำคงจะมีความประทับใจด้อยลง ยิ่งกว่านั้น ผู้ถ่ายยังพลิกแพลงใช้แสงแวบแทนแสงอาทิตย์อย่างชาญฉลาด โดยส่องแสงจากด้านข้างให้เกิดเงาหนัก เพื่อจะได้ล้อเลียนสีดำบนกำแพงข้างขวา ถ้าจะให้ลำตัวบังเครื่องดับเพลิงเสีย และจัดเงาที่หัวเข่าให้ดูแล้วไม่คล้ายคนขาด้วน ภาพนี้จะดูสมบูรณ์ยิ่งขึ้นไปอีกอย่างแน่นอน

ที่มา : หนังสือ "ผลงานการประกวดภาพถ่าย 2524" สมาคมถ่ายภาพพิศเจริญกรุงเทพ เขียนโดย อาจารย์เชาว์ จงมั่นคง

Sunday, October 09, 2011

ผลงานการประกวดภาพถ่าย ปี ๒๕๒๔

การได้ดูภาพถ่ายที่ชนะการประกวดภาพถ่าย และการได้อ่านคำวิจารณ์ภาพจากผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการถ่ายภาพ นับว่ามีส่วนช่วยให้เราสามารถถ่ายภาพได้สวยขึ้น มีคุณค่ายิ่งขึ้น วันนี้จึงขอนำภาพถ่ายที่ได้รับรางวัล ท้อปเท็น ประจำปี ๒๕๒๔ ของสมาคมถ่ายภาพพิศเจริญกรุงเทพ มาให้เพื่อน ๆ ได้ดูกัน ดังนี้:-















ที่มา : หนังสือ "ผลงานการประกวดภาพถ่าย 2524"   สมาคมถ่ายภาพพิศเจริญกรุงเทพ 

Saturday, October 08, 2011

บัญญัติเจ็ดประการ


ผมมีหนังสือเล่มบาง ๆ อยู่เล่มหนึ่ง เป็นผลงานการประกวดภาพถ่าย 2524 ของสมาคมภาพถ่ายพิศเจริญกรุงเทพ พลิกไปดูข้างท้ายแล้ว เห็นว่ามีบทความที่น่าสนใจและมีประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจในเรื่องการถ่ายภาพ ในหัวข้อว่า "บัญญัติเจ็ดประการ" ผู้เขียนบทความคือ อาจารย์เชาว์ จงมั่นคง ผมคิดว่าแม้กาลเวลาจะผ่านเลยมาได้ ๓๐ ปีแล้ว แต่บทความสั้น ๆ เพียงสองหน้าครึ่งนี้ก็ยังคงทันสมัยอยู่เสมอ หากจะปล่อยให้ผ่านทิ้งไปก็จะเป็นที่น่าเสียดายยิ่ง จึงขออนุญาตนำมาพิมพ์เก็บไว้ที่นี่ครับ....

บัญญัติเจ็ดประการ

โปรดอย่าเข้าใจว่า บัญญัติเจ็ดประการที่จะกล่าวถึงนี้จะไปเกี่ยวข้องทางศาสนา หรือ กฎหมาย และหรือระเบียบการอื่นใด ที่แท้คือ ธาตุแท้ของภาพถ่ายที่ดีสมบูรณ์ที่ผู้เขียนเฝ้าสังเกตและศึกษามาช้านาน จึงสรุปเขียนขึ้นเป็นบัญญัติเจ็ดประการคือ

  1. เนื้อหาของภาพ... ภาพทุกภาพย่อมมีเรื่องราวหรือเนื้อหากันแทบทั้งนั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้ถ่ายสามารถถ่ายทอดให้ผู้ชมเข้าใจได้ง่าย ยาก หรือไม่เข้าใจต่างหาก เรื่องราวของภาพนั้นกินความหมายกว้างมาก และไม่จะเป็นต้องมีคนที่กำลังทำอะไรอยู่จึงจะขึ้นว่ามีเนื้อหาดีตามที่คนทั่วไปเข้าใจ แม้แต่ต้นไม้แห้ง ๆ ที่ปราศจากสิ่งมีชีวิตที่ผู้ถ่ายสามารถ่ายทอดออกมาให้รู้สึกแห้งแล้งจริง ๆ ก็ถือว่ามีเรื่องราวที่ดีได้ มิฉะนั้น ภาพวาดของนิ่งสมัยเก่าแก่คงไม่เป็นหมื่น เป็นแสนปอนด์เป็นแน่ ตามที่อาจารย์สน สีมาตรัง แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร เคยกล่าวไว้ว่า แม้แต่ประตูเก่าแก่ที่ผู้ถ่ายสามารถถ่ายทอดอารมณ์ออกมาได้ ก็นับว่าเป็นภาพที่มีเรื่องราวดีได้ ผู้เขียนขอสนับสนุนข้อคิดเห็นนี้อย่างเต็มที่
  2. การจัดองค์ประกอบ... ข้อนี้ก็เช่นกัน ภาพถ่ายทุกภาพล้วนมีองค์ประกอบกันทั้งสิ้น เช่น เมฆ ภูเขา ต้นไม้ บ้านคน ฯลฯ ที่อยู่ในภาพ ทีนี้ก็อยู่ที่ผู้ถ่ายเข้าใจจัดองค์ประกอบเหล่านี้ให้ดูแล้วสบายตา ไม่เคอะเขิน ไม่จืดชืด หรือไม่รกรุงรังต่างหาก เคราะห์ดีที่วิธีการจัดองค์ประกอบมีหลักเกณฑ์ที่พอเรียนรู้กันได้ โดยไม่ยากจนเกินไปนัก
  3. แนวการสร้างสรรค์... ภาพถ่ายที่แสดงออกอย่างธรรมดาสามัญย่อมจะสู้ภาพที่มีการสร้างสรรค์ที่ไม่ซ้ำแบบใคร แนวแปลก ๆ ใหม่ ๆ หรือริเริ่มไม่ได้แน่
  4. ความประทับใจ หรือ ความดึงดูด... ภาพถ่ายที่ให้ความประทับใจจำแนกได้หลายแบบ เช่น อารมณ์ บรรยากาศ บุคลิก ลักษณะ เส้นสายด้วยลีลาที่อ่อนช้อยหรือรุนแรง ฯลฯ ที่สามารถโน้มน้าวจิตใจแล้วเกิดความประทับใจจนดึงดูดให้ผู้ชมต้องหยุดชมภาพ (ด้วยอำนาจเร้นลับบางประการจากภาพนั้น ๆ)
  5. เทคนิคการถ่ายและการจัดแสง... ได้แก่การถ่ายภาพด้วยเทคนิคที่ถูกต้อง เช่นหาโฟคัสได้ชัดเจน (หรือจงใจให้มัว) การเปิดรูรับแสงหรือเลือกชัตเตอร์ที่ถูกต้อง ส่วนการจัดแสงนั้นได้แก่การเลือกสภาพแสงที่เข้ากับอารมณ์ของภาพ
  6. เทคนิคการพิมพ์ภาพ... ข้อนี้นับว่าเป็นประเด็นสำคัญ เสมือนหนึ่งจิตรกรระบายสีในภาพวาดทีเดียว ภาพที่ขาดคุณภาพในการพิมพ์หรือขยายจะมีสีหมองคล้ำ ซูบซีด กระด้าง ขาดลายละเอียดทั้งในที่มืดหรือสว่าง ภาพถ่ายที่ถ่ายทอดอารมณ์ บรรยากาศที่ต้องอาศัยเทคนิคการพิมพ์ที่ดีเลิศทีเดียว
  7.  การนำแสดงออก... ถึงแม้ว่าข้อนี้ไม่ใคร่มีความสำคัญนักก็จริง แต่ผลงานที่ติดการ์ดเรียบร้อย เลือกสีการ์ดให้เหมาะกับเรื่องราวและเข้ากับสูตรสีของภาพ (หากเป็นภาพสี) รวมทั้งได้กลบเกลื่อนจุดเล็กจุดน้อยหรือรอยขูดขีด ก็จะเพิ่มพูนความสมบูรณ์และชวนดูยิ่งขึ้น
บัญญัติเจ็ดประการที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น นอกจากนำไปประเมินผลสำหรับภาพถ่ายทั่วไปได้แล้ว ยังอาจนำไปใช้ในการตัดสินภาพ รวมทั้งไปประเมินผลงานของตนโดยปราศจากอคติได้อีกด้วย


ที่มา : หนังสือ "ผลงานการประกวดภาพถ่าย 2524" สมาคมถ่ายภาพพิศเจริญกรุงเทพ เขียนโดย อาจารย์เชาว์ จงมั่นคง

Thursday, October 06, 2011

Hohner Big River Harp

ขออภัยที่หายเงียบไปหลายวัน มีปัญหาเรื่องสุขภาพครับ  วันนี้ค่อยยังชั่วขึ้นแล้ว ก็เลยกลับมาเขียนต่อ 


ที่เห็นในภาพคือ ฮาร์โมนิก้า ยี่ห้อ Hohner  รุ่น Big River  เห็นเค้าโฆษณาว่า Large Sound, Low Price ผมได้ลองเข้าไปสำรวจดูตามเว็บต่าง ๆ แล้ว ราคาตกอยู่ที่ $22  แต่ไม่ทราบว่าเมืองไทยมีขายที่ไหนบ้าง?  


ที่ผมถามขึ้นมาในวันนี้ ก็เพราะในตำราเรียนเป่าฮาร์โมนิก้าในสไตล์บลูส์ ชุด Step by Step Blues Harp ผู้เขียนคือ Steve Baker ได้เขียนไว้ในบทนำว่า......"This is the sound of the blues harp!  For this package we chose a Hohner Big River Harp in key of C.  This is a professional quality, service friendly instrument which feature a robust injection moulded comb and screw together assembly to ensure rapid, even response and full tune..."   

Steve Baker แนะนำให้นักเรียนได้ใช้เจ้าฮาร์โมนิก้ารุ่นนี้ สำหรับเล่นแบบฝึกหัดและบทเพลงต่าง ๆ ที่อยู่ในหนังสือของเขา




ตำราชุด Step by Step Blues Harp ที่กล่าวถึง ประกอบด้วยหนังสือหนา ๒๘ หน้า พร้อมแผ่นซีดีเสียงประกอบอีก ๑ แผ่น ผมคิดว่าตำราชุดนี้ง่ายดี  เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่อยากหัดเล่นฮาร์โมนิก้าในสไตล์บลูส์  เพื่อน ๆ ท่านใดสนใจอยากนำไปใช้ฝึก สามารถคลิกดาวน์โหลดได้ ที่นี่ 


ในการเป่าฮาร์โมนิก้า สิ่งที่นักเรียนจะต้องทำให้ได้คือการเป่าเสียงเดี่ยว (single tone)  การใช้ลิ้นบล็อคลมให้ผ่านเพียงรูเดียว(Tongue Blocking) เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้เล่นเสียงเดี่ยวได้  ผมชอบใช้วิธีนี้เพราะนอกจากเล่นเสียงเดี่ยวแล้ว ยังสามารถเล่นเสียงคอร์ดประกอบได้ด้วยการยกลิ้นออกเป็นระยะ ๆ  




ตัวอย่าง "แบบฝึกหัดเล่นเสียงเดียวช่อง 4"