Monday, April 30, 2012

ลงทุน ๔๐ บาท...


ผมเคยเล่าว่าได้ซื้อกล้วยน้ำว้าจากตลาดเก๊าจาวในราคา ๔๐ บาทเพื่อนำมาทำกล้วยตาก...


วันนี้ตากครบ ๕ แดดแล้วครับ ทั้งหมดหดเหลือแค่ที่เห็นในถาด...


มีหลายขนาด อย่างที่ผมนำมาให้ดู...


เชื่อไหมครับว่า...เจ้าลูกเล็ก ๆ เรียว ๆ คล้ายกล้วยเล็บมือนางนั่น สุดยอดของความอร่อยเชียวล่ะ! สำหรับผมแล้ว ขั้นตอนต่อจากนี้ไปก็เก็บใส่ขวดไว้กินได้เลย เพราะผมเชื่อมั่นในความสะอาด ถ้าหากเพื่อน ๆ อยากจะนำไปนึ่งด้วยไอน้ำก่อนก็ได้...ไม่ว่ากัน แต่รสชาติของมันจะเปลี่ยนไปนะ ไม่หอมหวานและเคี้ยวหนุบหนับอย่างที่ผมชอบ!

ลงทุนซื้อกล้วยแค่ ๔๐ บาท ค่าแดดไม่ต้องจ่ายตังค์ ทำกล้วยตากเก็บไว้กินได้เป็นเดือน!

คำเตือน - ไม่เหมาะสำหรับคนที่เป็นเบาหวาน

Sunday, April 29, 2012

บขส. ชวนเที่ยวหลวงพระบาง


ตอนอยู่เชียงของ...ผมเห็นรถโดยสาร "เชียงใหม่ - หลวงพระบาง" ของ บขส. วิ่งผ่านไป ก็ยังคิดเลยว่า...ถ้าเพื่อน ๆ อยากไปเที่ยวหลวงพระบางแบบสบาย ๆ (ไม่ต้องลุยแบบโหด ๆ เช่นผม) ด้วยค่าใช้จ่ายไม่มากมายนัก การเดินทางด้วยรถโดยสารระหว่างประเทศ (ไทย - สปป.ลาว เส้นทางสายที่ ๘) ของ บขส. ก็นับว่าน่าสนใจไม่น้อย

วันนี้ผมจึงอยากนำข้อมูลมาบอกต่อครับ...



ใช้บริการของ บขส. เพื่อน ๆ ไม่ต้องลำบากที่่จะต้องหารถเอง หรือนั่งรอเป็นชั่วโมง ๆ ที่สถานีขนส่ง เพราะทุกอย่างจะจัดเตรียมไว้ให้หมด ขอเพียงมีความอดทนที่จะนั่งรถเป็นระยะเวลา ๒๐ ชั่วโมงให้ได้เท่านั้น จ่ายแค่ ๑,๒๐๐ บาท...ซื้อตั๋วที่สถานีขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ ออกเดินทางตอน ๙ โมงเช้า นั่งรถปรับอากาศอย่างที่เห็นในภาพไปถึงเชียงของเวลาบ่ายสาม รถจะวิ่งไปส่งถึงท่าเรือบั๊ค...เพื่อส่งผู้โดยสารนั่งเรือข้ามฟากไปยังอำเภอบ่อแก้ว สปป.ลาว


จากนั้นเค้าก็ให้เดินทางต่อโดยรถร่วมจากบริษัทนาหลวงขนส่ง จากบ่อแก้วไปยังหลวงพระบางความจริงระยะทางแค่ ๕ ร้อยกว่ากิโลเมตรเท่านั้น แต่เนื่องจากถนนแคบและขึ้นเขาลงเขา ทำให้การเดินทางต้องใช้เวลาประมาณ ๑๒ ชั่วโมง ซึ่งก็ยังดีที่เป็นรถโดยสารปรับอากาศอย่างดีวิ่งตอนกลางคืน ผู้โดยสารจึงนั่งหลับได้สบาย (ประหยัดค่าโรงแรมไปได้อีก ๑ คืนด้วย)

ภาพเส้นทางบนกระดานดำที่ผมถ่ายจากสถานีขนส่งสายเหนือที่หลวงพระบางแสดงให้เห็นระยะทางจากจุดต่าง ๆ ดังนี้:-
    • บ่อแก้ว - หลวงน้ำทา     ๑๙๕ กิโลเมตร
    • หลวงน้ำทา - อุดมไชย   ๑๙๘ กิโลเมตร
    • อุดมไชย - ปากมอง        ๘๕ กิโลเมตร
    • ปากมอง - หลวงพระบาง ๑๑๓ กิโลเมตร
ขอขยายภาพเพื่อให้เห็นตารางเวลาเดินรถ "เชียงใหม่-หลวงพระบาง" และค่าโดยสารดังนี้...


ถ้าเดินทางด้วยรถโดยสาร(แอร์อุ่น) ซึ่งมีเบาะแค่พอให้ขดตัวนั่งหลับไปได้ (คันสีส้มที่เห็นในภาพ)  ค่าโดยสารแค่แสนสอง (๑๒๐,๐๐๐ กีบ = ๔๘๐ บาท) แต่เมื่อรวมค่ารถตุ๊ก ๆ และค่าเรืออีกประมาณ ๑๔๐ บาท ผมว่านั่งรถของ บขส. จ่ายแพงอีกร้อยกว่าบาท...แต่สบายกว่ากันเยอะ!

รถโดยสายวิ่งระหว่างบ่อแก้ว - หลวงพระบาง

รถ บขส. ต้องวิ่งเข้าเชียงรายก่อน ค่าโดยสารจากเชียงใหม่-เชียงราย-เชียงของ คิดแล้วตก ๔๕๐ บาท (เทียบจากตาราง) ถ้าเพื่อน ๆ อยากประหยัดก็ไปใช้บริการ green bus ซึ่งวิ่งจากเชียงใหม่-พะเยา-เชียงของ ค่าโดยสารแค่ ๒๑๑ บาทเอง ประหยัดไปได้ ๒ ร้อยกว่าบาท  สามารถเจียดเงินส่วนเกินไปจ่ายค่าที่พักในเชียงของ (คืนละ ๑๕๐ บาท) เพื่อเที่ยวเมืองเชียงของก่อนสักวันก็ยังได้

green bus วิ่งจากเชียงใหม่ไปเชียงของ
ที่เชียงของ เพื่อน ๆ สามารถติดต่อ-สอบถามเรื่องรถ "เชียงของ-หลวงพระบาง" และสำรองที่นั่งได้ที่สถานีเดินรถเชียงของ โทร. 0-5379-2000 และ 08-6196-9399

ลองคิดเล่น ๆ ว่า...ค่าโดยสารไป-กลับ ๒,๔๐๐ บาท อยู่เที่ยวหลวงพระบาง ๓ คืน ๔ วัน ตีว่าค่าอาหาร ที่พัก และอื่น ๆ อีกประมาณ ๒ พันบาท  เห็นมั้ยครับว่า แค่เพื่อน ๆ มีหนังสือเดินทาง...และงบประมาณอีกไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท ก็สามารถไปเที่ยวหลวงพระบางได้แล้ว

เพื่อน ๆ พร้อมที่จะไปกันหรือยังล่ะ?

เมืองหลวงพระบาง มองจากยอดเขาพูสี
หมายเหตุ - ราคาค่าโดยสารอาจไม่ตรง เพราะรัฐบาลอนุมัติให้ขึ้นราคาได้แล้ว

Saturday, April 28, 2012

ทดสอบกล้องตัวใหม่...

เมื่อวันพุธที่แล้ว ผมเขียนเรื่องกล้องถ่ายรูป Canon A75 ซึ่งตั้งใจประมูลมาใช้แทนเจ้า PowerShot A460 ที่เสียไป วันนี้ผมได้รับสินค้าซึ่งส่งมาให้ทางพัสดุไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS) แล้วครับ...


ผู้ขายแพ็คมาให้อย่างดี ผมเปิดออกดูด้วยความตื่นเต้น!


สิ่งแรกที่ผมตรวจสอบคือช่อง viewfinder เอ..ทำไมมัวอย่างนั้นนะ ช่างเหอะรีบนำน้ำยาทำความสะอาดจอ LCD มาหยดใส่ แล้วทำความสะอาดด้วยผ้าเช็ดเลนส์



ใสแจ๋วเลย! ผมมองผ่านช่อง viewfinder ด้วยความยินดี จากนั้นก็ทำความสะอาดตัวกล้อง ก่อนที่จะทดสอบการทำงานของกล้อง ว้า...ต้องใช้ถ่าน AA ถึง ๔ ก้อน แต่มีถ่านอยู่แค่ ๒ ก้อนเอง!! ผมต้องขี่จักรยานยนต์เข้าเมืองเพื่อซื้อถ่านชาร์จยีห้อ Energizer มาเพิ่ม หมดไปอีก ๒๕๐ บาท ถึงสามารถทดสอบเจ้า PowerShot A75 ได้

ใส่ถ่านครบ ๔ ก้อนทำให้ได้น้ำหนักเหมาะมือดีครับ ปุ่มต่าง ๆ ก็ถูกออกแบบให้ใช้สะดวกดี...


ทดลองใช้งานถ่ายภาพดูหน่อย...


point and shoot กันสด ๆ โดยไม่ต้องทำอะไรมาก (เพียงแค่ปิดไม่ให้ flash ทำงาน) สำหรับภาพ indoor ผลที่ออกมาก็ใช้ได้เลย

ลองออกไปถ่ายรูปกล้วยตากซึ่งอยู่ในที่สว่างหน่อยนะ...


จับภาพที่ว่างบริเวณหลังบ้านด้วย...


 
อืมม...ถ้ายังงี้ก็เป็นอันว่าใช้ได้ ผมอยากรู้ว่าถ้าใช้ CF Card ที่มีอยู่โดยตั้งความละเอียดไว้ที่ต่ำสุด (Small 640 x 480) จะสามารถเก็บภาพได้กี่บาน? คำตอบคือ:-
  • การ์ด  16 MB   เก็บภาพได้ ๘๕ บาน
  • การ์ด 256 MB  เก็บภาพได้ ๑,๕๗๐ บาน
  • การ์ด 128 MB  เก็บภาพได้ ๗๗๙ บาน
พอใจครับ พอใจ!  ไปพม่าครั้งต่อไป...น่าจะไม่มีปัญหาเรื่องกล้องถ่ายรูปนะ!

Friday, April 27, 2012

อย่าเสือก!

ดูเหมือนว่าวันนี้ผมตั้งชื่อเรื่องไม่สุภาพเอาซะเลย!  การนำ ส เสือมาใส่เกือกทำให้การพูดจาของผมใกล้เคียงกับบรรดาท่านผู้ทรงเกียรติในรัฐสภา(บางคน)เข้าไปทุกที ๆ แต่เอาเหอะ...ถ้าจะทิ้งหนังสือสมบัติผู้ดีทิ้งไปสักวันหนึ่งก็คงไม่เป็นไร! 

วันนี้...ผมอยากพูดเรื่องการยื่นหน้าเข้าไปเสนอแนะ หรือให้ความช่วยเหลือเรื่องข้อมูลให้กับบรรดาฝรั่งนักท่องเที่ยวที่ได้เจอะเจอบนเส้นทางที่ก้าวไป



แตกต่างจากเมื่อ ๒๐-๓๐ ปีก่อน ปัจจุบันนี้วิถีทางของบรรดานักเดินทางแบกเป้เปลี่ยนไปเยอะ แทบทุกคนมีคัมภีร์ของการเดินทางเล่มหนาอยู่ในมือ เค้าจะใช้มันเป็นผู้นำทางซึ่งบอกอย่างละเอียดทุกขั้นตอนว่าควรเดินทางอย่างไร กินที่ไหน และต้องเข้าพักที่ใด นอกจากนั้นส่วนใหญ่ยังมีเครื่องมือสื่อสารจำพวก netbook, iPad, iPhone หรือแท็บลกแท็บเล็ตอะไรต่อมิอะไรพกพาไปด้วย สามารถที่จะจับจองห้องพักไว้ล่วงหน้าก่อนเดินทางไปถึงด้วยระบบ 3จี!


สำหรับตัวกระผม...ก็ใช้ระบบ 3จีเช่นกัน แต่แตกต่างตรงที่ว่ามันเป็น จี(จน) จี(เจียม) และจี(จำกัด)  เคยมีประสบการณ์แบกเป้ในสมัยที่นักเดินทางยังไม่มีเครื่องมือช่วย เวลาเจอกันก็จะคุยและแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน ใครรู้จักที่พักราคาถูกและดีก็แนะนำ บางครั้งถึงกับแชร์ห้องพักเพื่อความประหยัดก็ยังทำได้ (แชร์ห้องที่พักอย่างเดียวนะ อิอิ)



แต่ทุกวันนี้...นักเดินทางรุ่นใหม่เค้าไม่เชื่อคนอื่นหรอก นอกจากทำตามคัมภีร์ที่มีอยู่ในมือ พอใกล้ถึงจุดหมายปลายทาง...ต่างก็หยิบหนังสือเล่มหนาออกมาเปิดดูว่าจะต้องเดินตรงไปพักที่โรงแรมอะไร จ่ายคืนละเท่าไหร่ ต่อให้มีโรงแรมที่ถูกกว่าหรือแชร์กันได้ เค้าก็ไม่สนใจ!

วัตถุประสงค์ในการเดินทางของเขาคือการไปให้ถึงจุดหมาย เพื่อให้บอกได้ว่าครั้งหนึ่งในชีวิตได้ไปเยือนมาแล้ว ดังนั้นผมจึงได้เห็นภาพหนุ่มสาวนักเดินทางที่เอาแต่หลับ ๆๆ ในช่วงที่รถวิ่งไปตามเส้นทาง เขาไม่สนใจภาพบ้านเรือนและผู้คนแปลกตาซึ่งอยู่สองข้างทาง ตั้งหน้าตั้งตาหลับตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง!


ต่างกับผมซึ่งตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา...นักเดินทางผู้หลับใหลไม่มีโอกาสได้เห็นฝูงเป็ดหรือหมูที่เดินเตร่ขวางอยู่หน้ารถ เธอไม่ได้สังเกตหรอกว่าควายในเมืองลาวนั้นมีขนหนากว่าควายไทย ไม่รับรู้แม้กระทั่งตอนที่รถสองคันต้องห้ามล้อกระทันหันเมื่อเผชิญหน้ากันบนเส้นทางแคบและคดเคี้ยว ลืมตาอีกทีเธอก็ถึงจุดหมาย พร้อมที่จะถูกจูงให้เดินต่อไปตามเส้นทางที่คัมภีร์บอกไว้!


นักเดินทางส่วนใหญ่มุ่งหน้าไปเหมือนการบรรเลงเพลงคลาสสิกซึ่งเล่นตามโน้ตที่กำหนด แต่การเดินทางของผมเปรียบเสมือนการบรรเลงเพลงแจ๊สซึ่งกอปรด้วยการ improvise ผมเปลี่ยนเส้นทางได้ทุกเมื่อ ไม่กลัวที่จะต้องเผชิญกับการแบกเป้หาที่พักในยามค่ำคืน


ได้เจอครูสาวชาวสวิสวัย ๓๐ คนหนึ่งบนรถโดยสารสายอุดมไชย-หลวงพระบาง คัมภีร์นักเดินทางบอกให้เธอไปพักที่ Riverside Guest House เธอบอกด้วยว่าจะต้องจ่ายค่าตุ๊ก ๆ เท่าไหร่ แต่เราไปถึงหลวงพระบางเวลาประมาณ ๔ ทุ่ม ตอนนั้นมีตุ๊ก ๆ อยู่คันเดียวรอรับเหยื่ออยู่ที่ท่ารถ เค้าเรียก ๒๕ พันกีบ หรือ ๑๐๐ บาทต่อหัวสำหรับการพาไปยังที่พักที่ต้องการ ผมเองขนาดเป็นคนที่รัดเข็มขัดสุด ๆ ก็ยังไม่ปฏิเสธที่จะจ่าย เพราะรู้ดีว่าที่ไหนก็เหมือนกันหมด นักเดินทางแบกเป้มาถึงด้วยความเหนื่อยล้าตอนสี่ทุ่ม!  ถ้าเป็นกลางวันผมคงจะแบกเป้เดินออกจากสถานีขนส่งแล้วมุ่งหน้าหาที่พักด้วยตนเอง!

สาวยุโรปบอก "Riverside Guest House" ลูกเดียว แถมบ่นด้วยว่าค่าตุ๊ก ๆ แพงมาก ในหนังสือบอกว่าถูกกว่านั้น!

ทุกคนมีเส้นทางของตนเอง...โดยอาศัยคัมภีร์นักเดินทางและอุปกรณ์สื่อสารทันสมัย เขาไม่ฟังเราหรอก เพราะฉะนั้นอย่าได้ใส่เกือกให้กับเสือโดยเข้าไปให้คำแนะนำเลย เสียเวลาเปล่า!

ผมไม่เคยให้ความสนใจ คิดว่ายูไปของยู...ไอไปของไอ แต่ถ้าได้นั่งติดกัน...ก็คุยกันได้


อย่างไรก็ตาม บางครั้งก็จำเป็นต้องยื่นจมูกเข้าไป อย่างเช่น ตอนที่รถตู้ห้วยทราย-หลวงน้ำทาจอดให้ผู้โดยสารลงฉี่ข้างทาง มีรถตู้อีกคันวิ่งเข้ามาจอด แล้วมีฝรั่งกลุ่มหนึ่งลงมาเจรจาสอบถามด้วยเรื่องอันใดก็ไม่รู้ ผมยืนดูอยู่ห่าง ๆ เห็นว่าสื่อสารกันไม่เข้าใจจึงได้ยื่นหน้าเข้าไป ไม่งั้นคงจะไปไหนมาสามวาสองศอกกันอยู่นาน!  ฝรั่งคนนั้นแค่เพียงอยากรู้ว่าแถวนั้นมี "ห้องส้วมที่ถูกสุขลักษณะ (Sanitary Toilet)" หรือเปล่า การเสือกของผมช่วยให้ทุกคนถึงบางอ้อ แยกย้ายกันเดินทางต่อ!




ลืมถามฝรั่งคนนั้นว่า..ที่เห็นในภาพนั่นจัดว่าเป็น Sanitary Toilet ด้วยอ่ะป่าว? อิอิ

Thursday, April 26, 2012

กล้วยตาก

รถโดยสารประจำทางสายหลวงน้ำทา-อุดมไชย
เมื่อเดือนที่แล้ว ผมเคยเขียนเรื่อง "เตรียมเสบียง..ก่อนออกเดินทาง" โดยพูดถึง "การตากกล้วย" เพื่อใช้เป็นเสบียงในการเดินทาง พอกลับมาถึงบ้าน...ผมรู้สึกดีใจที่ได้อ่านเมลของคุณดำรงที่ว่า "สูตรกล้วยตากของลุงยอดมากเลย อร่อยสุด..."  ขอบคุณที่ส่งข่าวให้ทราบ
 
ผมขอสารภาพว่า ในช่วงแรกของการเดินทางไปลาว ถ้าหากผมไม่มีกล้วยตาก ๑ ถุงใหญ่ติดตัวไปด้วย...ผมคงจะลำบากไม่น้อย!   ทำไมหรือ? คำตอบคือ...ผมเป็นคนไม่กินหมูกินเนื้อ ดังนั้นเวลาจะหาอาหารรับประทานในแต่ละมื้อจึงยากอยู่พอสมควร ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่นั่งรถตู้จากห้วยทรายไปลงที่สถานีขนส่ง"หลวงน้ำทา" ผมบันทึกว่า...
...ลงรถแล้วเดินไปสอบถามที่ช่องขายตั๋ว(ปี้)  พนักงานสาว(สวย)บอกว่ามีรถไปอุดมไชย ออกเวลา ๑๔.๓๐ น. ใช้เวลาเดินทาง ๓ ชั่วโมง ค่าโดยสาร ๔๐,๐๐๐ กีบ 
รถจอดรออยู่แล้ว คนขับนำเป้ไปเก็บไว้ด้านหลัง... 
สถานีขนส่งที่หลวงน้ำทา
เดินไปหาของกินที่ร้านขายผลไม้และร้านอาหารซึ่งเรียงรายอยู่ด้านข้าง พบว่ามีแต่อาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ ปลานิลทอดตัวเล็ก ๆ คิดเป็นเงินไทยตกตัวละ ๔๐ บาท ไม่ได้ซื้ออะไรเลย...หิวก็หิว พอดีคิดขึ้นมาได้ว่ายังมีเสบียงอยู่ในเป้  ต้องขอให้คนขับรถช่วยเปิดเอาเป้ออกมาให้ ถึงได้อาศัยกล้วยตากและขนมปังโฮลวีทกินเป็นอาหารกลางวัน...."

ร้านรวงซึ่งอยู่ข้าง ๆ สถานีขนส่งหลวงน้ำทา

 

มาดูรายการอาหารและเครื่องดื่มกันหน่อย  ๕,๐๐๐ กีบเท่ากับ ๒๐ บาทนะครับ จะเห็นได้ว่าข้าวผัดใส่ไก่ราคาจานละ ๖๐ บาท ถ้าจะกินสลัดทูน่าก็ ๑๐๐ บาท!!  ผมไม่ได้กินอาหารที่ร้านนั้นหรอก แค่ได้กล้วยตาก ๓-๔ ลูกกับขนมปังอีก ๒ แผ่น...ก็อิ่มท้องแล้ว

กล่าวได้ว่า "กล้วยตาก" เป็นเสบียงที่ช่วยขจัดความหิวโหยให้ได้เป็นอย่างดี มันช่วยให้ผมสามารถกินยาหลังอาหารได้ด้วย ที่สำคัญคือมันทำให้ผมสามารถประหยัดงบประมาณเดินทางได้อีกหลายตังค์!

อ่อ..ลืมบอกไปว่า เช้านี้ผมขี่จักรยานไปตลาดเก๊าจาว ซื้อกล้วยมาตากอีก ๑ กองใหญ่

เหมาซื้อมาในราคา ๔๐ บาท




อากาศร้อน ๆ อย่างเนี้ย ไม่กี่แดดก็ใช้การได้แล้วครับ...
คนลาวก็ชอบกินกล้วยตากสูตรลุงน้ำชาเด้อ!  ขอนำภาพกล้วยตากที่เมืองหลวงพระบางมาให้ดูด้วย ๑ บานเพื่อยืนยัน เค้าตากกล้วยกันข้าง ๆ ถนนเลยครับ!

กล้วยตากหลวงพระบาง
มาตากกล้วยกินกันดีฝ่า!

Wednesday, April 25, 2012

Canon A 75


เป็นความจริงที่ว่าคนทำเว็บขาดกล้องถ่ายรูปไม่ได้ ยิ่งเป็นคนทำเว็บที่ชอบเดินทางท่องเที่ยว...ก็ยิ่งไม่ต้องพูดถึง  ผมไม่สามารถบรรยายได้ว่าความรู้สึกเป็นเช่นไร...เมื่อเดินเที่ยวเมืองหลวงพระบางแล้วไม่มีกล้องที่จะบันทึกภาพ

หลังจากที่เจ้า Canon PowerShot A460 พังไป...ผมมีแค่มือถือเก่า ๆ ที่นำออกมาเก็บภาพเมืองหลวงพระบางไว้ได้ แต่ภาพก็บิด ๆ เบี้ยว ๆ อย่างที่เห็น


จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องซื้อกล้องใหม่โดยเร็ว คำว่า "กล้องใหม่" ในที่นี้หมายถึงกล้องมือสอง หรืออาจจะเป็นมือสามมือสี่ก็ได้ ขอเพียงราคาถูก และเป็นกล้อง compact ที่มีช่อง viewfinder ที่จะนำมาใช้แทนตัวที่ชำรุดไป  ในที่สุดผมก็เลือกที่จะประมูลเจ้า Canon PowerShot A75 3.2 Pixels ตัวที่เห็นในภาพ...



สำหรับผมแล้ว กล้องขนาดแค่เพียง 3.2 Pixels ก็น่าจะเพียงพอ เพราะเท่าที่ผ่านมา...ผมตั้งความละเอียดไว้เพียงแค่ 640 x 480 pixels เพื่อต้องการให้หน่วยความจำสามารถเก็บภาพให้ได้มากที่สุด ด้วยเหตุนี้ผมจึงต้องอาศัยช่อง viewfinder เพื่อให้มองเห็นอย่างรวดเร็วและแม่นยำ...ยามกดชัตเตอร์


พอดีผมมีการ์ดความจำชนิด CompactFlash ๓ ตัวเก็บทิ้งไว้ในลิ้นชัก รวมดูแล้วได้ 400 MB ถ้าจะประมูลเจ้า Canon PowerShot A75 มาใช้สำหรับบันทึกภาพในการทำเว็บและเดินทางท่องเที่ยวโดยใช้กับ memory card ที่มีอยู่....ก็น่าจะคุ้มค่า!

ผมตัดสินใจเข้าประมูล และในที่สุดก็ได้มาด้วยราคาปิด ๔๖๐ บาท ผู้ขายขอค่าส่ง EMS อีก ๕๐ บาท ค่าโอนเงินอีก ๓๐ บาท รวมแล้วผมต้องควักกระเป๋า ๕๔๐ บาท  เอาเถอะ...ถึงอย่างไร มันก็ช่วยให้ผมได้มีกล้องตัวใหม่ใช้

แล้วจะรายงานผลให้ทราบนะครับ...

Tuesday, April 24, 2012

ซ่อม shoulder rest ให้นักเรียน...

"น้องหญิง" เป็นนักเรียนไวโอลินคนใหม่ของผม เพิ่งมาเรียนได้ ๓ ชั่วโมงเอง ปัญหาที่ต้องแก้ก็คือเรื่องการหนีบไวโอลิน ในชั่วโมงที่ ๓ ผมออกความเห็นว่านักเรียนควรใช้ shoulder rest ซึ่งพอดีมีอยู่แล้ว!  น้องหญิงลองเอา shoulder rest ออกมาใช้ ปรากฏว่าใช้งานได้ไม่ดีเลย!  ใส่แล้ว...พอยกไวโอลินขึ้นเล่น แป๊ปเดียวก็หลุด!! สาเหตุเกิดจากตัว shoulder rest ค่อนข้างเก่า ชิ้นส่วนต่าง ๆ หลวมหมด ขา shoulder rest ที่ยึดเกาะติดอยู่กับตัวไวโอลินก็โยกคลอน!

ผมช่วยปรับและลองใส่ shoulder rest กับไวโอลินของน้องหญิงอีก ๒-๓ ครั้ง มันก็ยังหลุด!  พอเพิ่มแรงหมุนตัวขายึดขึ้นอีกนิด เกิดเสียงดัง "เปร๊าะ" ขาข้างนั้นหลุดออกจากฐานยึด!  ใช้งานไม่ได้อีกต่อไป!


ผมปลอบใจน้องหญิงว่าไม่ต้องกลัว...เดี๋ยวจะซ่อมให้ นักเรียนบอกว่า "ไม่เป็นไร" ดูท่าทางว่าคงจะสิ้นหวังแล้วว่ามันจะซ่อมได้

งั่ม ๆ วันนี้ผมซ่อมให้แล้วครับ! 


ผมใช้สว่านเจาะตรงบริเวณแกนซึ่งหักไป ในที่นี้จะต้องเจาะเยื้อง ๆ เพราะตรงกลางจะเป็นแกนของขายึดซึ่งมีลักษณะเป็นเกลียว เจาะรูเรียบร้อยแล้วก็หาสกรูตัวผู้ที่มีขนาดพอเหมาะมาใส่ ใช้กาวหยอดลงไปนิดนึงแล้วขันสกรูตัวเมียอัดเข้าไป เจ้าขาที่เห็นในภาพก็จะกลับเข้ายึดติดกับฐานของมันเช่นเดิม


ส่วนขาอีกข้าง แม้จะไม่หลุดแต่ก็หลวม วิธีแก้ทำได้โดยไม่ยาก ไม่ต้องใช้กาวหยอดลงไปนะครับ เพียงแค่หาเทปพันเกลียวที่ใช้ในงานช่างประปามาพัน ๆๆ เข้าไป...


เสร็จแล้วก็ขันกลับเข้าที่ คราวนี้แน่นเลย...ไม่หลวมโผลกเผลกอีกต่อไป

นี่ไง...ประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ เข้าที่เรียบร้อยแล้ว!




ผมทดลองนำ shoulder rest ใส่เข้ากับไวโอลินของผม ปรากฏว่าแน่นดีครับ ไม่หลุดง่ายเหมือนแต่ก่อน!


ผมใส่สกรูตัวผู้สั้น ๆ หลอกเอาไว้อีกตัวเพื่อให้ดูดีขึ้น แม้ผลงานจะดูไม่สวยนัก...แต่ก็ทำให้เจ้า shoulder rest ซึ่งหมดสภาพแล้ว สามารถกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง

วันนี้ช่างเหอะเขียนตรงเป้าดีจัง แล้วค่อยว่าต่อเรื่องท่องเที่ยวนะครับ!

Monday, April 23, 2012

งบเดินทางของผม...

การเดินทางแบกเป้ท่องโลกของผมน่าจะไม่เหมือนใคร...และไม่มีใครเหมือน!  วิเคราะห์ในวงกว้างก่อนนะครับ กล่าวคือ...บรรดา backpackers จากอเมริกาหรือยุโรปที่เราเห็นโดยทั่วไปมักเป็นคนหนุ่มคนสาวเสียเป็นส่วนใหญ่  คนของเขาถูกปลูกฝังให้รักการเดินทางมาตั้งแต่เด็ก พอโตขึ้น...เมื่อมีโอกาสก็จะแบกเป้ออกเดินทางท่องโลกกันทันที มาเป็นคู่บ้าง ฉายเดี่ยวบ้าง เราจึงไม่ค่อยเจอคนแก่ ๆ แบกเป้เข้าพักตาม hostel หรือ guest house ราคาประหยัด  ฝรั่งแก่ ๆ เค้าไม่แบกเป้กันแล้ว...แต่จะหิ้วกระเป๋ามาเป็นคู่หรือเป็นกลุ่มคณะ แล้วเข้าพักตามโรงแรมใหญ่  ที่อายุ ๖๐ อัพ (เช่นผม) แล้วแบกเป้เดินฝ่าเปลวแดดหรือกรำฝนลุยไปข้างหน้านั้นหายากเต็มที!

ในโลกกว้าง...ถ้าผมได้พบชายแก่แบกเป้ลุยเดี่ยว ส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนญี่ปุ่นวัยเกษียณซึ่งมีเงินใช้ท่องเที่ยวเหลือเฟือ เขาเลือกที่จะเป็น backpacker ผู้ไม่รังเกียจ dormitory bed

ในระหว่างการเดินทางของผม...มีอยู่หลายครั้งที่ผมถูกมองว่าเป็นคนญี่ปุ่น ไม่ว่าจากพนักงานไปรษณีย์หรือคนขายตั๋วรถไฟ  จะเป็นที่ไหนก็ตาม...ผู้คนส่วนใหญ่จะคิดว่าคนแก่แบกเป้ผมดำหรือผมหงอกที่เห็นนั่นเป็นคนญี่ปุ่น การถูกมองว่าเป็นคนไทยนั้นเป็นไปได้ยาก!

แม้จะดูคล้ายกัน...แต่ผมก็แตกต่างกับนักแบกเป้ชาวอาทิตย์อุทัยตรงที่ว่าการเดินทางของผมมีงบประมาณที่น้อยนิด และมีเวลาจำกัด ทุกย่างก้าวของผมจึงจำเป็นต้องประหยัด ในขณะเดียวกันผมก็จะพยายามกอบเกี่ยวประสบการณ์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้....

ถ้าจะพูดถึงคนไทยวัยเกษียณที่ออกเดินทางแบกเป้ท่องโลกแบบลุยเดี่ยวที่ผมรู้จักก็มีอยู่คนนึง คือ"พี่อุดม"

ท่านเป็นคนเชียงใหม่ เวลาอู้กำเมืองสำเนียงออกเจียงใหม่ชัดเจน อายุคงจะมากกว่าผมสักปีหรือสองปี เราเคยพบกันโดยบังเอิญที่ไร่หญ้ารีสอร์ทของอาจารย์ประสิทธิ์ ตอนที่พบกันนั้น...พี่อุดมยังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการขององค์กรที่มีชื่อเสียงในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ท่านขับรถพาเพื่อนชาวญี่ปุ่นซึ่งเป็นชาวนาลงมาเที่ยวลำปาง พบกันครั้งนั้นแล้วเราก็ไม่ได้พบกันอีกเลย...



ผมเคยเขียนถึงพี่อุดมว่า...
....ได้พบกับพี่อุดมเพียงครั้งเดียวที่ไร่หญ้ารีสอร์ท จากการได้คุยกับชายซึ่งกำลังจะปลดเกษียณและมีโครงการที่จะใช้ชีวิตท่องเที่ยวผจญภัยในมหาวิทยาลัยชีวิต(ตามคำกล่าวของพี่อุดม) ทำให้ผมได้สัมผัสในความรักและไมตรีจิตจากพี่อุดม เรามีอะไรหลายอย่างที่คล้ายกัน แทบไม่น่าเชื่อเลยว่าเพียงแค่พบกันเพียงคืนเดียว ความรู้สึกผูกพันระหว่างผมกับพี่อุดมนั้นแนบแน่นคล้ายกับรู้จักกันมานานปี  เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว พี่อุดมได้โอนเงินจำนวน ๕ พันบาทเข้าบัญชีผมเพื่อสนับสนุนการแบกเป้ท่องเที่ยวไปลาวในช่วงเดือนตุลาคม...” 
หายากมากครับ แค่พบกันคืนเดียว...ชายคนหนึ่งโทรศัพท์ถึงคนที่บอกว่ากำลังวางแผนแบกเป้ไปลาว ขอทราบเบอร์บัญชีธนาคารเพื่อจะโอนเงินก้อนใหญ่ไปให้!! 

ผมไม่ได้ไปลาวตามที่บอกกับพี่อุดม แต่ได้ใช้งบประมาณซึ่งได้รับจากพี่อุดม รวมกับเงินสนับสนุนอีก ๔,๐๐๐ บาท ไปกับการเดินทางไปมาเลเซียและสิงคโปร์เมื่อเดือนเมษายนปี ๒๕๕๒

ด้วยงบเดินทางจำนวน ๙,๐๐๐ บาท ผมสามารถนั่งรถไฟจากเชียงใหม่ไปจนถึงสุไหงโก-ลก จากโกตาบารู...ผมได้มีประสบการณ์กับรถไฟมาเลย์ฯ เดินทางไปยังกัวลาลัมเปอร์ พักอยู่ ๓ คืน แล้วนั่งรถไฟต่อไปจนถึงสิงคโปร์ จากสิงคโปร์ผมอาศัยรางรถไฟเดินทางกลับไปยัง Butterworth เพื่อแวะเยือนเกาะปีนัง ก่อนที่จะนั่งรถไฟไทยกลับกรุงเทพ แล้วต่อรถอีก ๒ ขบวนจนถึงลำปาง การเดินทางใช้เวลาทั้งสิ้น ๒ สัปดาห์...ได้ท่องเที่ยว ๒ ประเทศ ด้วยงบประมาณ ๙ พันบาท ผมซื้อของฝากติดมือกลับบ้านแล้ว...ยังมีเงินเหลือ!!!

เพื่อน ๆ ที่รัก...พอจะมองออกหรือยังว่าผมแตกต่างจาก backpackers ทั่ว ๆ ไปตรงไหน?  การเดินทางของผมถูกขับเคลื่อนด้วย travel budget ที่ได้รับการสนับสนุนมา... หรือไม่ก็จากเงินก้อนพิเศษที่ได้มาโดยไม่คาดคิด!

การแบกเป้ท่องลาวและเวียดนามครั้งที่ผ่านมานี้ก็เช่นกัน ผมบังเอิญได้ติวทฤษฏีดนตรีให้นักเรียนที่จะไปสอบเข้าโรงเรียนดุริยางค์กองทัพบก ได้เงินมา ๒,๔๐๐ บาท แล้วได้รับเงินสนับสนุนจากแหล่งอื่นอีกประมาณ ๔,๐๐๐ บาท ผมควักกระเป๋าเพิ่มอีกสองพันกว่าบาทก็ได้ครบ ๙,๐๐๐ บาทซึ่งเป็น travel budget ที่ได้ตั้งไว้...



การเดินทางระยะสั้นลงหน่อย คือแค่ ๑๑ วัน (เป็นเพราะกล้องถ่ายรูปเสียด้วย) ได้เที่ยว ๒ ประเทศ...ผมใช้เงินงบประมาณ ๙ พันไม่หมดหรอก คราวนี้เหลือมากกว่าครั้งที่ไปมาเลเซียและสิงคโปร์เสียอีก!

ลืมบอกไปว่าค่าใช้จ่ายในการเดินทาง (travel expenses) ของผมจะต้องอยู่ในเรื่องต่อไปนี้:-
  • ค่าเดินทาง คือ ค่ารถ ค่าเรือ ค่าเครื่องบิน ค่ารถสองแถว ฯลฯ
  • ค่าอาหาร คือรายจ่ายเกี่ยวกับอาหาร ขนม น้ำดื่ม และเสบียงที่จะทำให้ชีวิตดำรงอยู่ได้
  • ค่าการติดต่อสื่อสาร คือ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าไปรษณียบัตร ค่าแสตมป์ ฯลฯ
  • ค่าบัตรผ่านประตู 
  • ค่าใช้จ่ายพิเศษ อันเนื่องมาจากความจำเป็น อาทิ ค่าวีซ่า ค่าประกัน ค่าจ้าง ฯลฯ
สนุกและตื่นเต้นกับการเดินทางที่ใช้ travel budget จำนวนจำกัด!  เพื่อน ๆ คงอยากรู้ว่าทริปที่ผ่านมา...ผมหมดตังค์ไปเท่าไหร่  เอาไว้ผมจะเขียนให้อ่านไปเรื่อย ๆ นะครับ

ตอนนี้ผมมองข้าม shot ไปแล้ว! ทริปต่อไปซึ่งดูเหมือนว่ากำลังจะเป็นจริงก็คือ "A Revisit to Burmar" ด้วยงบประมาณ ๙ พันเช่นเดิม!

Sunday, April 22, 2012

ยางโอริงและซีลแกนปั้ม

อากาศร้อนจริง ๆ ครับ ถึงขนาดต้องลุกขึ้นมาอาบน้ำกลางดึกกลางดื่น ตอนบ่ายก็ต้องย้ายเด็กเข้าไปเรียนในห้องปรับอากาศ แต่ผมก็ไม่บ่นนะ พยายามปรับตัวเข้ากับทุก ๆ สภาพอากาศให้ได้ จริง ๆ แล้ว...จะร้อนหรือไม่ร้อน มันอยู่ที่ใจมากกว่า ถ้าใจเราสงบ..เยือกเย็นและรู้เท่าทัน ความร้อนจากภายนอกก็ไม่สามารถทำให้เราเป็นทุกข์ได้

ผมมีงานช่างที่ต้องทำอยู่หลายชิ้น พี่ชายของผมปล่อยให้มอเตอร์ปั้มน้ำเดินอยู่ทั้งวันทั้งคืนติดต่อกันหลายวันโดยไม่สนใจที่จะทำอะไร พอผมกลับเข้าบ้านก็ได้ยินเสียงมอเตอร์ทำงานอยู่ ต้องรีบเข้าไปดึงปลั๊กออก พบว่าตัวมอเตอร์ร้อนจัดมาก แต่ก็โชคดีที่ยังไม่ไหม้ หลังจากได้ซ่อมแซมให้ระบบน้ำเดินตามปกติ ปรากฏว่ามีน้ำรั่วออกจากตัวปั้มไม่ขาดสาย


ยังไม่เคยซ่อมเครื่องสูบน้ำเช่นนี้ ช่างเหอะตัดสินใจแกะฝาครอบที่เห็นออกเพื่อตรวจหาสาเหตุ...


เผยโฉมออกมาอย่างที่เห็นในภาพ...


อ่าาา..ดูเหมือนว่าจะไม่ยากแล้ว ผมเห็นเจ้ายางโอริง (O-ring) ที่อยู่ตรงฝาครอบ คิดแล้วว่าความร้อนคงจะทำให้ยางเสียรูป ทำให้น้ำรั่วออกได้ ผมรีบนำตัวอย่างออกไปหาซื้อ หายากเหมือนกันครับ แต่ในที่สุดผมก็ไปหาซื้อได้ที่ร้าน "นรงค์ชัย" ในราคา ๓๐ บาท




ผมรีบนำอะไหล่ตัวใหม่กลับมาเปลี่ยนด้วยความกระหยิ่มยิ้มย่องว่า "เดี๋ยวก็เสร็จ!"

แต่....ผมคิดผิด มันไม่ได้ช่วยให้ดีขึ้นเลย น้ำยังคงรั่วเหมือนเดิม แถมยังมากขึ้นด้วย!!  หุยฮา!

สุดท้ายผมก็ต้องตัดท่อ ยกสูบน้ำออกมา แล้วรื้อส่วนที่เป็นตัวปั้มน้ำออกดูอย่างละเอียด คราวนี้พบตัวปัญหาที่แท้จริงแล้ว

 
เจ้าตัวที่เห็นคือ "ซีลแกนปั้ม"  ความร้อนทำให้เหล็กสปริงถึงกับหักและตัวยางก็เสียรูป ช่างเหอะเสียมวยไปครั้งนึง หลังจากควักกระเป๋าซื้อยางโอริงไป ๓๐ บาท แล้วไม่ได้อะไร!  คราวนี้คงสำเร็จแล้วล่ะ!  ผมควบแมงกะไซค์ออกไปหาซื้อ ตรงไปร้าน "นรงค์ชัย" ก่อนเลย...พนักงานขายใช้เวอร์เนียวัดขนาดแล้วเข้าไปค้นหาสินค้า ก่อนที่จะกลับออกมาพร้อมความผิดหวังที่ยื่นให้ ไม่มีขนาดที่ต้องการครับ!  ผมต้องไปที่ร้านเจ้าประจำ (จำชื่อร้านไม่ได้ซักที) เจ้าของร้านรับตัวอย่างไปดู แล้วค้นหาเวอร์เนีย บ่นว่าทำไมถึงหาไม่เจอซักที  เสียเวลาหาเครื่องมือวัดอยู่พักนึง เค้าก็หันไปเปิดตู้ที่อยู่ด้านหลัง หยิบหาอะไหล่ตัวใหม่ออกมาเทียบ กะด้วยสายตาก่อนที่จะบอกว่า "เอ้า...ตัวนี้แหละ! ใช้ได้!  ๑๐๐ บาทครับ"


"เอาเหอะ...ใช้ได้ก็ใช้ได้" ผมคิดในใจ จ่ายเงินแล้วรีบนำ "ซีลแกนปั้ม" ตัวใหม่กลับบ้าน ระหว่างทางแวะซื้อจาระบี ๑ กระปุก (๕๐ บาท) จากร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์ติดมือมาด้วย

นี่ครับ...ผมนำมาเปรียบเทียบให้ดูระหว่างซีลแกนปั้มตัวเก่ากับตัวใหม่


อาศัยจาระบีช่วย...ผมจัดการเปลี่ยน "ซีลแกนปั้ม" แล้วประกอบทุกอย่างกลับเข้าที่ แต่ผมยังไม่มีโอกาสได้นำมันกลับไปติดตั้งตามเดิม ได้แต่ตั้งความหวังไว้ในใจว่าน่าจะใช้ได้!

แล้วผมจะมาบอกเพื่อน ๆ นะครับว่าน้ำยังจะรั่วอยู่อีกหรือไม่!  เรามาลุ้นดัวยกันนะ...