Saturday, August 25, 2012

ด้วยความอาลัย...

 เสียเจ้า

๏ เสียเจ้าราวร้าวมณีรุ้ง
มุ่งปรารถนาอะไรในหล้า
มิหวังกระทั่งฟากฟ้า
ซบหน้าติดดินกินทราย

๏ จะเจ็บจำไปถึงปรโลก
ฤๅรอยโศกรู้ร้างจางหาย
จะเกิดกี่ฟ้ามาตรมตาย
อย่าหมายว่าจะให้หัวใจ

๏ หากเจ้าอุบัติบนสรวงสวรรค์
ข้าขอลงโลกันตร์หม่นไหม้
สูเป็นไฟ เราเป็นไม้
ให้ทำลายสิ้นถึงวิญญาณ

๏ แม้แต่ธุลีมิอาลัย
ลืมเจ้าไซร้ชั่วกาลปาวสาน
แม้นชาติไหนเกิดไปพบพาน
จะทรมานควักทิ้งทั้งแก้วตา

๏ ตายไปอยู่ใต้รอยเท้า
ให้เจ้าเหยียบเล่นเหมือนเส้นหญ้า
เพื่อจดจำพิษช้ำนานา
ไปชั่วฟ้าชั่วดินสิ้นเอย


 

กระผมขอกราบคาราวะ และร่วมแสดงความอาลัยกับการจากไปของท่านอาจารย์ อังคาร กัลยาณพงศ์

พักนี้สุขภาพผมแย่จริง ๆ ครับ ต้องขออภัยเพื่อน ๆ ที่รักด้วย สำหรับการว่างเว้นจากการเขียนบล็อกของผม...

จะกลับมาเขียนต่อทันทีที่ร่างกายคืนสู่สภาพปกติครับ...

Sunday, August 12, 2012

The Straight Story


The Straight Story เป็นภาพยนต์อีกเรื่องหนึ่งซึ่งผมอยากให้เพื่อน ๆ ได้ดู คิดว่าถ้าเพื่อน ๆ ได้ดูก็คงจะชอบเหมือนกับที่ผมชอบ  ภาพยนต์ปี 1999 กำกับโดย David Lynch สร้างจากเรื่องจริงของ Alvin Straigh ชายชราวัย ๗๓ ปี ซึ่งเดินทางด้วยรถตัดหญ้า จาก Laurens, Iowa ไปยัง Mount Zion, Wiscousin ระยะทาง ๒๔๐ ไมล์ เพื่อไปเยี่ยมพี่ชายซึ่งป่วยและหมางเมินกันมานานนับสิบปี



ภาพยนต์เรื่องนี้มีหลายอย่างที่ผมชอบ  ผู้แสดงนำ Richard Farnsworth คนนึงล่ะ



ส่วนเรื่องเนื้อเรื่องแทบไม่ต้องพูดถึง เพราะภาพยนต์เกี่ยวกับการผจญภัยและการเดินทางทางซึ่งต้องอาศัยความอดทนและความกล้านั้นอยู่ในแนวที่ผมชื่นชอบอยู่แล้ว...


ที่ผมชอบยิ่งกว่านั้นก็คือ ภาษาที่ใช้ และ สีสันของภาพที่ปรากฏ  ต้องฟังและดูอย่างพินิจพิเคราะห์...เพื่อน ๆ จะเห็นได้ในความสวยงามของภาพยนต์เรื่องนี้!

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ บทเรียนชีวิตซึ่งถูกถ่ายทอดผ่านเรื่องราวและคำพูดของชายชราผู้ผ่านชีวิตมาอย่างโชกโชน และ...ที่สำคัญคือเป็นเรื่องราวของคนดี!

Friday, August 10, 2012

กาแฟเวียดนาม

ต้องยอมรับว่าผมไปปล่อยไก่เกี่ยวกับเรื่องกาแฟไว้ตัวเบ้อเริ่มที่เวียดนาม!  เสียชื่อที่เป็นลูกของพ่อประเสริฐแม่ปราณี เจ้าของร้านกาแฟ "ไทยประเสริฐ" ถนนเจริญเมืองและถนนทุ่งโฮเต็ล จังหวัดเชียงใหม่ และตัวเองก็เคยเปิดร้านกาแฟสดอยู่ที่ลำปาง!



๑๐ เมษายน ๒๕๕๕ เป็นวันที่สามที่ผมใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองซาปา ประเทศเวียดนามอย่างมีความสุข ช่วงเช้าผมได้ไปเที่ยวภูเขา Ham Rong ส่วนช่วงบ่าย..ผมก็ใช้เวลาที่เหลืออยู่ เดินชมเมืองซาปาอีกครั้ง

ต่างกับเมื่อสองวันก่อนที่เมืองทั้งเมืองถูกบดบังด้วยม่านหมอก...วันนี้ฟ้าเปิด!


ช่วงเย็นผมเดินผ่านร้านอาหาร Vegetarian ซึ่งอยู่ในโรงแรมแห่งหนึ่ง (ไม่ไกลจากที่พัก) จึงได้ตัดสินใจที่จะกินอาหารเย็นที่นั่น พอเดินผ่านประตูเข้าไป ผมก็เห็นบาร์...มีถ้วยกาแฟวางซ้อนกันอยู่บนเค้าเตอร์ ดูแล้วก็คล้าย ๆ กับเค้าเตอร์บาร์ที่บ้านลุงน้ำชา


ผมเลือกนั่งโต๊ะที่อยู่ใกล้ ๆ กับประตูทางเข้า


ที่ผมสั่งคือ ข้าวผัดผัก (Vegetable Fried Rice)  และ "กาแฟเวียดนาม"



หนุ่มเวียดนำกาแฟมาเสริฟ...ผมถ่ายรูปเก็บไว้บานนึง!



ที่อยากจะพูดถึงในวันนี้ก็คือ  "กาแฟเวียดนาม" และประสบการณ์ครั้งแรกในชีวิตที่มีถ้วยกาแฟลักษณะอย่างที่เห็นมาวางอยู่เบื้องหน้า


อยู่เวียดนามมาแล้วตั้ง ๓ วัน....ผมยังไม่รู้วิธีดื่ม "กาแฟเวียดนาม" อีก!  ช่างน่าอับอายยิ่งนัก อิอิ  กินข้าวผัดซึ่งแสนจะไม่อร่อยจนหมดจาน  ผมก็หันไปหาถ้วยกาแฟ  เอ๊ะ...กินยังไงเนี่ย?  ความไม่รู้ทำให้ผมปล่อยไก่ออกมาตัวใหญ่...ผมถามหาน้ำตาล!!

"ปัดโธ่!! ไม่รู้เลยหรือว่าเนี่ยมันกาแฟเวียดนาม"...บริกรคนนั้นอาจจะคิดและหัวเราะอยู่ในใจ!

ผมถึงบางอ้อ...เมื่อหนุ่มเวียดหยิบฝาสแตนเลสซึ่งปิดอยู่ข้างบน หงายลงกับพื้นโต๊ะ  แล้วบรรจงหยิบถ้วยสแตนเลสบนถ้วยกาแฟนำไปวางไว้บนฝานั่น...


ผมถึงได้รู้ความจริงว่า เค้าใส่นมข้นไว้ในถ้วยกาแฟ...ก่อนที่จะวางถ้วยสแตนเลสซึ่งใส่ผงกาแฟและน้ำร้อนไว้ข้างบน ช่วงที่ผมกำลังกล้ำกลืนฝืนกินข้าวผัด น้ำร้อนก็จะค่อย ๆ ไหลผ่านผงกาแฟ หยดลงสู่ถ้วยกาแฟ

อืมมมม...ตอนนี้เพียงแค่ใช้ช้อนคนๆๆๆๆ "กาแฟเวียดนาม" ก็พร้อมให้ผมยกขึ้นลิ้มรสแล้ว!


รสชาติก็ยังงั้น ๆ แหละ ปกติผมชอบดื่มกาแฟหรือน้ำชาที่ค่อนข้างร้อนจัด(เหมือนคณแม่)  ความร้อนของกาแฟเวียดนามราคาถ้วยละ ๑ เหรียญ ยังไม่สูงพอที่จะทำให้ผมซดได้อย่างถึงอกถึงใจ...

เรื่องของ "กาแฟเวียดนาม" และการปล่อยไก่ของผมก็จบลงด้วยประการฉะนี้...

Tuesday, August 07, 2012

Cripple Creek

ผมอยากเขียนเรื่อง "ฝึกเล่นไวโอลินแบบง่าย ๆ สไตล์ลุงน้ำชา" ต่อ แต่พอดียังขาดภาพประกอบ วันนี้จึงต้องเขียนเรื่องอื่นก่อน แต่ก็ยังคงเป็นเรื่องของไวโอลิน...


ผมมีความคิดที่จะให้วงเครื่องสายของเด็ก ๆ ได้เปลี่ยนแนวเพลงที่จะเล่นเสียบ้าง ทั้งนี้เพื่อแก้เซ็งและให้นักเรียนได้ฝึกเล่นเพลงหลากหลายรูปแบบ พอดีมีหนังสือ "Fiddlers Philharmonic - Traditional Fiddling in the String Orchestra" วางอยู่ใกล้มือ ผมจึงหยิบขึ้นมาเลือกหาเพลงให้เด็ก ๆ

พิจารณาดูแล้ว เห็นว่าเพลง Cripple Creek  ง่ายและเหมาะสมที่สุด

ผมต้องขอขอบพระคุณท่านผู้พันมือไวโอลินเมืองแพร่ที่กรุณามอบตำราดี ๆ ให้ผมไว้ใช้สอนเด็ก

ท่านผู้พันผู้ใจดี
ผมใช้โปรแกรม Sibelius เขียนสกอร์ออกมา แล้วพิมพ์โน้ตแยกไว้ให้ไวโอลินทั้ง ๓ แนว คิดว่าเด็ก ๆ น่าจะเล่นได้

 
ผมวางแผนไว้แล้ว คือ ทำนองหลักซึ่งเล่นไม่ยาก ให้เอแคร์และอินดี้บรรเลงด้วยกัน...

ทำนองหลัก
Violin I เล่น Break ซึ่งค่อนข้างยาก มะเหมี่ยวต้องรับหน้าที่เล่นแนวนี้....


สำหรับพาร์ทของ Violin II ซึ่งต้องเล่น double stop  ผมจะให้เมเปิลและกระเต็นซึ่งเป็นนักเรียนรุ่นเล็กเล่นด้วยกัน (เล่นโน้ตคนละตัว)

Back-Up







เพื่อน ๆ สามารถคลิกฟังเสียงได้  (ผมตั้ง tempo ให้ช้าไว้ก่อน พอนักเรียนเล่นได้คล่อง จึงค่อยปรับให้เร็วขึ้น)

Monday, August 06, 2012

Curiosity

หลายปีก่อน...ผมเคยเปิดผับ (Pub) ขึ้นที่บ้าน โดยลงทุนร่วมกับ คุณ Sid เพื่อนฝรั่งจากออสเตรเลีย  Sid ตั้งชื่อผับของเค้าว่า "Curiosity"  ส่วนผมตั้งชื่อไทยว่า "ฉงน"



ร้านฉงนเปิดได้ประมาณครึ่งปีก็ต้องปิดตัวลง เหลือเพียงเรื่องราวของฝรั่งแก่กับเมียไทย(สองคน)ทิ้งไว้เป็นตำนานเล่าขานในหมู่บ้านวังแคว้งได้อีกพักใหญ่..ก่อนที่จะถูกลืมเลือนไปในที่สุด

ผมยังคงเก็บภาพเก่า ๆ ในช่วงที่เราช่วยกันก่อสร้างและทำร้านไว้ในฮาร์ดดิสก์ ถ้านำมาโพสต์และเล่าถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมา ก็คงจะเขียนได้อีกนาน ผมคิดอยู่เหมือนกันว่า...สักวันหนึ่งผมจะต้องเขียนเรื่อง "Curiosity Pub and Mr. Sid" ให้ได้!

วันนี้ผมอยากเขียนถึง "Curiosity" เหมือนกันครับ แต่เป็น Curiosity ยานสำรวจซึ่งประสบความสำเร็จในการลงจอดบนดาวอังคาร เมื่อเวลา ๑๒.๓๒ น. (ตามเวลาประเทศไทย) ของวันที่ ๖ สิงหาคมที่ผ่านมา


Curiosity ออกเดินทางตั้งแต่วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ แล้วต้องไปไกลถึง ๕๗๐ ล้านกิโลเมตร กว่าจะถึงดาวอังคาร  มันเป็นเรื่องที่น่าทึ่งจริง ๆ สำหรับคนล้าสมัยเช่นผม  ๕๗๐,๐๐๐,๐๐๐ กิโลเมตร!!  โห ผมนึกภาพไม่ออกจริง ๆ กับความไกลขนาดนั้น!  จะต้องเดินทางรอบโลกที่รอบถึงจะได้ระยะทางเท่ากับที่ยาน Curiosity เดินทางไปจนถึงดาวอังคาร??  ถ้านำระยะทางที่นักปั่นจักรยานรอบโลกทุก ๆ คนทำได้มารวมกัน ตัวเลขผลลัพธ์ก็คงเป็นแค่เพียงเศษเสี้ยวของ ๕๗๐ ล้านกิโลเมตร!

เอาเถอะ...วันนี้เก็บความฉงนเอาไว้ก่อน  มารับฟังข่าวเกี่ยวกับ "เส้นทางบินใหม่ของ Air Asia" กันดีกว่า...


"เส้นทางบินใหม่นี้คือเส้นทาง กรุงเทพฯ-มัณฑะเลย์ ซึ่ง Air Asia จัดให้มี ๔ เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็นเที่ยวบินที่ FD 2760 และ FD 2761 บินจากกรุงเทพฯ ถึงมัณฑะเลย์  ทุก ๆ วันจันทร์, อังคาร, พฤหัสบดี และเสาร์ โดยจะเริ่มเที่ยวบินปฐมฤกษ์ในวันที่ ๔ ตุลาคมนี้... 
"มัณฑะเลย์" มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย อาทิ พระมหามัยมุนี พระราชวังมัณฑะเลย์ วิหารชเวนันดอร์ สะพานอูเบ็ง
นอกจากนี้ แอร์เอเชียยังได้เพิ่มเที่ยวบิน "กรุงเทพฯ-ย่างกุ้ง" เป็น ๓ เที่ยวบินต่อวัน เพื่อตอบรับจำนวนผู้โดยสารที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง...
ช่วงนี้มีโปรโมชั่นเส้นทางสู่พม่าทั้ง ๒ เส้นทาง ราคาเริ่มต้น ๑,๕๐๐ บาท จองได้ตั้งแต่วันที่ ๖-๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๕  และสามารถเดินทางได้ตั้งแต่วันที่ ๔ ตุลาคม - ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๕"
ผมรีบนำข่าวมาบอกต่อ เผื่อว่าจะมีเพื่อน ๆ สนใจอยากไปมัณฑะเลย์ในช่วงปลายปีนี้บ้าง...  

จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด...

ผมมีความคิดว่าการผลิตตำราเรียนวิชาพื้นฐานสำหรับใช้สอนนักเรียนในระดับต่าง ๆ นั้น นอกจากจะต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษในเรื่องเนื้อหาสาระแล้ว ผู้เขียนยังจะต้องตรวจสอบก่อนจัดพิมพ์ออกจำหน่ายอย่างละเอียด เพื่อให้มีข้อผิดพลาดน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วย

ในบล็อกซึ่งผมเขียนมาเรื่อย ๆ ก็ยังต้องคอยแก้ไขในสิ่งที่ผิดอยู่บ่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่มีผู้เข้าอ่านเพียงน้อยนิด แต่ในตำราที่ใช้สอนนักเรียนทั่วประเทศ เมื่อพิมพ์ออกไปแล้ว ไม่สามารถตามไปแก้ไขในสิ่งผิดได้ง่าย ๆ เหมือนการเขียนบล็อก

ทุกวันนี้ผมไปช่วยสอนวิชา "ดนตรี" ในระดับชั้นมัธยมให้กับโรงเรียนแห่งหนึ่ง เค้าใช้ตำราเล่มนี้ครับ...


บนปกหลังมีใบประกันคุณภาพสื่อการเรียนรู้ของสำนักพิมพ์ ซึ่งกอปรด้วยรายชื่อผู้เรียบเรียง ผู้ตรวจ และบรรณาธิการ


แต่ทำไมถึงได้มีข้อผิดพลาดมากจัง!!

ผมคิดว่าถ้าจะพิมพ์ใหม่อีกครั้ง ควรจัดภาพประกอบเสียใหม่ รูปแกรนด์เปียโนมันซ้ำกัน (ต่างกันที่ความยาว) เมื่อนำภาพมาลงแบบนี้ นักเรียนดูแล้วอาจเข้าใจผิดคิดว่า Harpsichord มีรูปร่างเหมือนกับแกรนด์เปียโน  ส่วนภาพประกอบ Clavichord นั่น ความจริงคือ Harpsichord

แต่ไม่เป็นไร...อาจเป็นการวางตำแหน่งภาพที่ไม่ชัดเจน


Woman at the Clavichord  ที่มา : wikipedia
แต่ที่ค่อนข้างจะแย่เอามาก ๆ คือการพิมพ์ชื่อเครื่องดนตรีไม่ถูกต้อง อย่างเช่นตัวอย่างนี้....

วิโอลา หาได้มี endpin อย่างที่เห็นในภาพ เจ้าตัวนั้นมันคือ "เชลโล" กั๊บ  แล้วเจ้าตัวที่เห็นอ้วน ๆ ใหญ่ ๆ อยู่ระหว่างเชลโลกับกีตาร์นั่น มันไม่ใช่ "วิโอลอนเชลโล" ที่จริงมันคือ String Bass หรือ Double Bass 
จากหน้า ๑๓๖

แล้วที่เขียนไว้ในข้อ ๑. ที่ว่า "ก่อนบรรเลงเรื่องดนตรีที่ใช้หางม้า ควรมีการถูยางสนก่อน เพื่อเพิ่มความยืดให้แก่สาย  ผมอ่านแล้วก็พยายามทำความเข้าใจ แต่...ไม่เข้าใจจริง ๆ ว่าการถูยางสนจะไปเพิ่มความยืดให้แก่สายได้อย่างไร สายจะยืดได้หรือ?  ถ้าเขียนว่าเพิ่มความฝืด ก็ยังพอจะเข้าใจได้  งั่ม ๆ อ่านแล้วเป็นงงฮับ!




แล้วเจ้าภาพกลองคู่นั้น ผมมองยังไง ๆ มันก็ไม่ใช่แทมบูรีน (อย่างที่บรรยายไว้ใต้ภาพ)  ที่สำคัญข้างล่างยังมีคำบรรยายเพิ่มเติมอีกว่า

๒. แทมบูรีน (Tambourine) เป็นเครื่องดนตรีที่ขึงหน้ากลองด้วยหนังสัตว์ การดูแลรักษาควรระมัดระวังอย่าให้หน้ากลองโดนน้ำ เพราะจะทำให้หน้ากลองหย่อนหรือชื้นและทำให้ขึ้นราได้....

เอ.... เท่าที่เคยมีเพื่อนที่เล่นกลอง ผมก็เห็นเค้าเรียกเจ้าเครื่องดนตรีนั้นว่า "บองโก้"  แล้วเรียกเครื่องดนตรีในภาพต่อไปนี้ว่า Tambourine...


อย่างในตารางต่อไปนี้ก็ไม่ชัดเจนเช่นกัน....




Sitar เป็นเครื่องดนตรีที่มี Fret เหมือนกับ Vina แต่เป็น fret ชนิดที่ปรับได้ (movable frets) ถ้าจะจัดให้อยู่ในเครื่องดนตรีประเภทไม่มี Fret น่าจะไม่ตรงกับความเป็นจริงนัก!

ส่วนเรื่องการสะกดผิดนั้นผมไม่ต้องพูดถึง เพราะมีให้เห็นหลายแห่ง แม้แต่ชื่ออาจารย์ผมทั้งสองท่าน (หน้า ๑๖๘) ก็ยังเขียนนามสกุลไม่ค่อยถูกเลยครับ เขียนว่า บรู๊ช เคสตัล และ ดนู อันตระกูล

ใน wikipedia ภาคภาษาไทยมีชื่ออาจารย์ บรูซ แกสตัน  และอาจารย์ดนู ฮันตระกูล ให้ได้ค้นคว้าทำความรู้จักด้วยจ้า...

ผมเขียนเพื่อแสดงความคิดเห็นแบบชาวบ้านธรรมดา ๆ ผู้ไม่ได้เป็นทั้ง ผศ. รศ. หรือ ดร.  โปรดให้อภัยด้วยนะครับ...

Wednesday, August 01, 2012

"เพลงชาติ" สำหรับวงเมโลเดียน


เมื่อวานนี้ น้องแบงค์บอกผมว่าเบสเมโลเดียน โน้ตตัวสุดท้าย (E) เป่าไม่ดัง ส่วนตัวอื่น ๆ ก็เสียงเบาด้วย ผมไม่รีรอที่จะนำเครื่องกลับบ้าน โดยบอกนักเรียนว่าจะรีบซ่อมให้  อืดอาดไม่ได้...ผมต้องซ่อมให้โดยเร็ว เพราะได้เริ่มเขียนโน้ตให้เบสเมโลเดียนบ้างแล้ว ผมต้องไม่ทำให้เด็กหมดกำลังใจที่จะเล่น...

เคยรื้อออกมาซ่อมแล้วครั้งนึง วันนี้ผมแกะเครื่องออกมาตรวจสอบได้โดยไม่ยาก พบว่าลิ้น (reed) ของโน้ตที่มีปัญหามันจมลงไป พูดได้ว่ามันค้างอยู่เฉย ๆ ลมได้แต่ผ่านไป แต่ไม่ทำให้ลิ้นสั่น (vibrate) อาศัยวิชาช่างเหอะเช่นเดิม...ผมยังคงใช้ยา(ซอง) อย่างที่ผมเคยเขียนไว้ใน "ลิ้นมีปัญหา...ต้องใช้ยา" ในการกระตุ้นให้ลิ้นที่ค้างกลับมาทำงานได้ตามปกติ...



โน้ต E เป่าดังแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีปัญหาโดยรวมเรื่องเสียงไม่ค่อยดัง เวลาเป่าจะกินลมมาก สาเหตุมาจากรอยรั่วที่ฝาครอบแผงลิ้น ลมรั่วออกทางนั้นโดยเปล่าประโยชน์ประมาณครึ่งนึง ช่างเหอะไม่มีอะไรที่จะใช้อุด นอกจากกาว หุหุ ต้องขออนุญาตอุดรอยรั่วด้วยกาว!!  เป็นไงเป็นกัน

ใส่กาวแล้วปล่อยทิ้งไว้ ประมาณครึ่งชั่วโมง นำมาทดสอบด้วยการใช้มืออังบริเวณรอยรั่วขณะเป่า ปรากฏว่ายังมีลมรั่วอยู่บ้าง...แต่ก็ไม่มากแล้ว ผมอัดกาวลงตรงจุดนั้นอีก เป็นไงเป็นกัน (อีกแล้ว..อิอิ) ในที่สุดก็หายรั่ว เป่าโน้ตแต่ละตัวได้เสียงดังกว่าเดิม ลมทั้งหมดเข้าไปทำให้ลิ้น (reed) สั่นได้อย่างเต็มที่  เมื่อกาวแห้งสนิท...ผมประกอบเครื่องกลับเข้าที่  นึกกระหยิ่มในใจว่าวันจันทร์นี้น้องแบงค์ก็จะได้เล่น...


บ่ายวันนี้ผมเกิดนึกขยัน หยิบโน้ต"เพลงชาติ" ขึ้นมาทำเสียงประสานให้กับวงเมโลเดียน...

ก็เบสเมโลเดียนใช้ได้ดีแล้วนี่นา...