Friday, September 28, 2012

แอคคอร์เดียนเก่า ๓

ตามที่ผมบอกเพื่อน ๆ ว่า ได้ติดต่อสอบถามไปยังเว็บ ๆ หนึ่งเกี่ยวกับ"ขี้ผึ้ง" ซึ่งจะนำมาทำ reed wax ได้ความว่าราคากิโลกรัมละ ๒๕๐ บาทนั้น  มิได้หมายความว่าจะได้เนื้อขี้ผึ้งมา ๑ กิโลกรัมนะครับ  ผู้จำหน่ายเค้าจะส่งมาให้ทั้งรวง แล้วเราต้องมาหลอมเอาเองด้วยการต้มในน้ำร้อน ทำให้ส่วนที่เป็นไขหลุดจาำกรวงแล้วลอยขึ้นข้างบน เจ้านี่แหละคือ"ขี้ผึ้ง" ซึ่งผมจะนำมาใช้งาน รวมแล้วก็คงได้น้ำหนักไม่มากนัก อาจไม่ถึงครึ่งกิโลกรัมด้วยซ้ำ!  ค่าใช้จ่ายในการสั่ง"ขี้ผึ้ง" เมื่อรวมค่าส่งและค่าโอนเิงิน จะตกอยู่ที่ ๓๓๐ บาท เช้านี้...ก่อนที่จะไปโอนเงินเพื่อสั่งซื้อ ผมบอกตัวเองให้ลองไปหาซื้อขี้ผึ้ง(แท้)ตามร้านสังฆภัณฑ์ดูก่อน...

หลังจากเสร็จสิ้นการสอนที่โรงเรียนเทศบาล ๕  ผมขี่จักรยานยนต์เข้าเมือง มุ่งไปยังถนนรอบเวียง เส้นทางซึ่งเคยเห็นผ่านตาว่ามีร้านสังฆภัณฑ์ใหญ่ ๆ อยู่ร้านนึง  ยังไม่ทันจุดหมายที่จะไป...ผมมองเห็นร้าน ๆ หนึ่งอยู่ทางด้านซ้ายมือ คิดว่าน่าจะลองไปถามดู



ผมหยุดรถแล้วถามหญิงเจ้าของร้านซึ่งกำลังจัดสินค้าอยู่หน้าร้านว่า มี "ขี้ผึ้งแท้ แบบไม่ผสมพาราฟิน" ขายหรือไม่ คุณป้าพยักหน้า...ก่อนที่จะเดินเข้าไปหลังร้าน แล้วหยิบขี้ผึ้งก้อนใหญ่ขนาดเท่าชามก๋วยเตี๋ยวออกมาให้ดู


ว้าว! มีด้วยหรือเนี่ย?...ผมคิดในใจ สอบถามอีกครั้งเพื่อความแน่ใจว่าเป็นขี้ผึ้งแท้ ผู้ขายบอกว่ารับรองได้


เค้าไม่แบ่งขาย ต้องซื้อทั้งก้อน ราคากิโลกรัมละ ๒๐๐ บาท ก้อนนี้มีน้ำหนัก ๑.๓ กิโลกรัม จึงตกอยู่ที่ ๒๖๐ บาท เจ้าของร้านคิดผมแค่  ๒๕๐ บาท

โอเคครับ... ผมเต็มใจซื้อ ไม่ต้องสั่งซื้อทางเน็ตให้เสียเวลา ไม่ต้องหลอมเองด้วย แล้วยังได้ขี้ผึ้งในปริมา๊ณที่มากมาย...ใช้ซ่อมแอคคอร์เดียนอีกชั่วชีวิตก็ยังไม่หมด!  

ช่วงบ่าย...ผมค่อย ๆ ใช้ใบมีดคัตเตอร์ ขูดเอาคราบขี้ผึ้งเก่าออกจากลิ้น(reeds) และ reed block  จัดเตรียมไว้เพื่อทำความสะอาดอีกครั้งด้วยน้ำยา sonax


ใจเย็น ๆ ครับ ยังต้องใช้เวลาซ่อมอีกนาน!  เสร็จแล้วจะใช้ได้หรือเปล่า...ก็ยังไม่รู้ อิอิ

Thursday, September 27, 2012

แอคคอร์เดียนเก่า ๒


เมื่อวานนี้ ผมนั่งพิจารณาเจ้า Scandalli ซ้ำแล้วซ้ำอีก เกิดฝันไปไกลว่าผมสามารถชุบชีวิตให้มันกลับมาส่งเสียงเจื้อยแจ้วได้อีกครั้งหนึ่ง 

ผมคงจะมีความสุขมาก ๆ ถ้ามีแอคคอร์เดียนยี่ห้อดังซึ่งผลิตในอิตาลีเป็นเพื่อนคู่ใจ ขนาดซึ่งไม่ใหญ่เกิน คือ ๓๔ คีย์และ ๔๘ เบส นับว่าเป็นขนาดที่เหมาะที่สุดสำหรับชายแก่คนหนึ่ง ซึ่งชีวิตบั้นปลายไม่ต้องการอะไรอีก...นอกจากการให้เสียงเพลง ความรู้ และความบันเทิงแก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

ผมเข้าไปดาวน์โหลด catalog จากเว็บของ Scandalli เห็นภาพการผลิตเครื่องดนตรีของเขาแล้ว อยากจะนำภาพมาให้เพื่อน ๆ ได้ดูด้วย...



 


พยายามใช้สมองน้อย ๆ ใคร่ครวญโดยไม่ต้องยกมือขึ้นก่ายหน้าผาก...ผมคิดว่าถ้าผมหันมาฝึกเล่นแอคคอร์เดียนอย่างจริง ๆ จัง เอาว่าสัก ๖ เดือน ต่อไปผมน่าจะเล่นมันได้อย่างสบายอกสบายใจ หิ้วไปเล่นที่ไหนก็ได้ตามที่หัวใจปรารถนา....

ว่าแล้วผมก็เกิดเห็นภาพเจ้า Scandalli ซึ่งนอนนิ่งสงบอยู่ข้างหน้า (ในสภาพตับไตไส้พุงกระจัดกระจาย) ลุกขึ้นมามีชีวิต...ส่งเสียงไพเราะได้เหมือนเดิม!!  

โห!  ถ้าเป็นเช่นนั้น ผมคงจะหิ้วไปเชียงใหม่ แล้วชวนอาจารย์ต้อมให้คว้ากีต้าร์มาเล่นด้วยกัน เหมือนกับภาพนี้....


ยิ่งเพ่งพินิจ ผมก็ยิ่งเกิดความหวังว่าฝันนั้นอาจเป็นจริงก็ได้!

เย็นวันนี้ ผมเริ่มต้นการซ่อม ด้วยการแกะลิ้นจำนวน ๓๔ ตัวออกจาก reed block โดยไม่ลืมที่จะเขียนหมายเลขและทำเครื่องหมายบน reed block ไว้เพื่อกันลืม....



สภาพของลิ้น (reeds) ทุกตัวยังดีอยู่ ไม่มีหัก ไม่มีสนิม ถ้าทำความสะอาดให้ดี คงจะใช้การได้ตามปกติ...


สภาพของ reed block ดูสกปรกเพราะคราบ reed wax  ต้องทำความสะอาดกันหนักหน่อย


ลองทำความสะอาดลิ้นแบบยังไม่เอาจริงมาให้ดูก่อน ๑ ตัว  ขนาดยังไม่ได้ใช้น้ำยา Sonax นะเนี่ย...เห็นแล้วชักมีความหวัง




นอกจากการทำความสะอาดลิ้นและ reed block แล้ว สิ่งที่ผมจะต้องหาให้ได้ คือ "reed wax" หรือ ขี้ผึ้งสำหรับใช้ยึดตัวลิ้นให้อยู่ติดแน่นบนแต่ละช่องของ reed block  มีจำหน่ายเป็นแพ็คขนาด 1/4 lb ราคา $8.75  ซึ่งต้องสั่งมาจากเมืองนอก ทำให้ยุ่งยากและเสียเวลา ผมจึงคิดที่จะทำเอง

ค้นคว้าหาข้อมูลมาแล้ว....ส่วนผสมของ reed wax มีดังนี้:-
  • ขี้ผึ้งบริสุทธิ์ 60% 
  • ยางสน 40%  
  • น้ำมันเมล็ดฝ้ายหรือน้ำมันมะกอก ประมาณครึ่งช้อนชา
ขี้ผึ้งบริสุทธิ์...ผมหาข้อมูลทางเน็ตแล้ว  ทราบว่ามีจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ ๒๕๐ บาท แต่ต้องเอามาหลอมเอง พรุ่งนี้จะไปโอนเงินเพื่อสั่งซื้อ  สำหรับยางสนสามารถใช้ยางสนไวโอลินราคาถูกได้ครับ

คงจะยาว...สำหรับงานนี้ มันเป็นงานซ่อมที่ท้าทายมาก ๆ  อาจนำมาซึ่งจุดเปลี่ยนในชีวิตการเล่นดนตรีของผมก็ได้

ความสำเร็จหรือความล้มเหลวในการชุบชีวิตเจ้า Scandalli จะเป็นคำตอบในอนาคตข้างหน้า!

คิดว่างานใหญ่ของ "ช่างเหอะ" ชิ้นนี้...เื่พื่่อน ๆ คงต้องช่วยลุ้นกันอีกนาน!



Wednesday, September 26, 2012

แอคคอร์เดียนเก่า ๑

ด้วยความคิดถึงและปรารถนาดีเสมอมา...ผมต้องขออภัยเพื่อน ๆ ที่รักด้วยนะครับ   ช่วงที่ผ่านมา ผมไม่ได้ทำงาน DIY เลย เพราะมัวแต่ไปชำำระสะสางงานสอนในโรงเรียนแห่งหนึ่งให้แล้วเสร็จ เพื่อจะได้หลุดพ้นจากภาระที่รัดตัว และกลับไปใช้ชีวิตชาวบ้านธรรมดา ๆ อย่างที่เคยเป็นมา ผมก็เลยต้องว่างเว้นจากการเขียนบล็อก "ช่างเหอะ" ไปตั้ง ๑๐ วัน

อย่างไรก็ตาม บล็อก "ฟังลุงน้ำชาคุย(โม้)" ก็ยังคงอัพเดทอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นเรื่่องของการเดินทางซึ่งยังมีเนื้อหาให้นำมาเล่าได้อีกนาน   ส่วนเรื่อง "ฝึกเล่นไวโอลินแบบง่าย ๆ สไตล์ลุงน้ำชา" ซึ่งเขียนไว้ได้เพียง ๕ ตอน ผมจะต้องเขียนต่ออย่างแน่นอนครับ...

หลังจากเสร็จภาระกิจการสอน ผมก็จะได้รับเงินค่าแรงมาก้อนหนึ่ง ส่วนหนึ่ง...ผมตั้งใจว่าจะนำมาใช้ในการปรับปรุง"บ้านลุงน้ำชา"  สถานที่ซึ่งเพื่อน ๆ อาจเคยมาเยือน บางท่านคงทราบว่ากำลังอยู่ในระหว่างการประกาศขาย


ผมเชื่อว่าอีกไม่นานเจ้าของตัวจริงก็จะต้องมาซื้ออย่างแน่นอน  และจะต้องเป็นการซื้อที่ไม่ต้องพูดกันมาก คือพอใจก็มาซื้อเลย  ถ้าพอใจก็ขายเลย!  ผมไม่ได้รีบร้อนอะไร เพราะเล็งเห็นว่าทุกวันนี้ลำปางกำลังโตขึ้นเรื่อย ๆ   อีกไม่นานห้าง Central Plaza ก็จะเปิด  ธุรกิจและการลงทุนอีกหลายภาคส่วนก็จะตามเข้ามา อาคารพาณิชย์ ๒ คูหา ๓ ชั้นครึ่ง  มีพื้นที่ใช้งานมากกว่า ๕๐๐ ตารางเมตร อย่างที่ผมประกาศขาย...ตามราคาที่ตั้งไว้  หาไม่ได้อีกแล้วครับ

อาคารสำนักงานเปลี่ยนเจ้าของแล้ว...

จากตึกร้างเมื่อปี ๒๕๓๙ บัดนี้ได้กลายเป็นร้านค้าและสำนักงานไปหมดแล้ว เหลือเพียง "บ้านลุงน้ำชา" เท่านั้นที่ยังมิได้ทำกิจการใด ๆ นอกจากใช้เป็นที่สอนดนตรีให้กับเด็กเพีียงไม่กี่คน

ในระหว่างรอให้คนมาซื้อ....ผมยังคงตั้งใจที่จะปรับปรุงให้สถานที่ดูดีขึ้น! ต่อไปคงมีเรื่องเกี่ยวกับ "ช่างเหอะ" มาเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังได้อีกเยอะ แต่วันนี้...ผมอยากจะคุยเรื่อง "แอคคอร์เดียนเก่า" ก่อนนะครับ

เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฏาคม ผมได้เขียนเรื่อง ความเมตตาที่มอบให้เด็ก ๆ จาก “สมเจตน์ เปลื้องนุช”
ไว้ในบล็อก "ฟังลุงน้ำชาคุย"  ผมได้เก็บแอคคอร์เดียนเก่ายี่ห้อ Scandalli ซึ่งท่านสมเจตน์ เปลื้องนุช กรุณาให้ไว้เพื่อการศึกษาของเด็ก ๆ ไว้ในห้องเรียน(ชั้นล่าง) คู่กับเจ้า Hohner ซึ่งมีผู้บริจาคให้มาเช่นกัน นอกจากเป็นที่สนใจของเด็กนักเรียนแล้ว คุณพ่อของน้องกระเต็นก็ยังเคยนำกล้อง(อย่างดี)มาถ่ายภาพ "แอคคอร์เดียนเก่า" เก็บไว้  (บอกว่าจะนำภาพไปขายทางอินเทอร์เน็ต)

วันนี้เริ่มมีเวลาว่าง ผมจึงอยากจะลองรื้อเจ้า "แอคคอร์เดียนเก่า" ออกมาดูสักหน่อย...



ดึงหมุดที่ยึดเครื่องเข้าด้วยกันออกก่อนนะครับ ง่ายมาก ๆ เพราะเครื่องเคยถูกรื้อซ่อมมาก่อนแล้ว


เพื่อน ๆ ลองพิจารณาสภาพของ "กล่องลิ้น (Reed Block)" ซึ่งผมนำภาพมาให้ดูซิครับ...



ถ่ายใกล้ ๆ อีกนิด...






ผมถอด reed block ออกชุดนึง จะเห็นได้ว่าสภาพของแผงที่เลื่อนไปมาเพื่อเปลี่ยนเสียงของแอคคอร์เดียนยังคงมีสภาพดี ต่างกับบรรดาลิ้น (reeds)ที่เห็นนั่นซะเหลือเกิน!!



ดูภายนอก...กับตรา Scandalli ผมรู้สึกเสียดายมากครับ


ขนาดเครื่องซึ่งมี ๔๘ เบส ผลิตในอิตาลี มีน้ำหนักเบา เหมาะเหลือเกินสำหรับการนำไปเล่นเปิดหมวกหรือกล่อมผู้คนตามห้องอาหารริมน้ำหรู ๆ

 
สัมผัสดีมากครับ! ตัวคีย์มีลายคล้าย ๆ กับคีย์งาช้าง (ivory keys)* ของเปียโนโบราณ  

เห็นแล้ว...อยากจะร้องดัง ๆ ว่า "เฮ้อ...เสียดายจัง!"

ไม่เห็นด้วยกับการใช้งาช้างมาเป็นส่วนประกอบของคีย์เปียโน

Sunday, September 16, 2012

Nikon D50 (ต่อ)

 
เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ผมเขียนเรื่อง Nikon D50 ไว้ในบล็อกช่างเหอะ พร้อมกับโพสต์ภาพถ่ายจากกล้อง Nikon D50 ซึ่งคุณเมธีได้กรุณามอบให้ วันนี้ผมขอเีขียนต่ออีกหน่อยนะครับ...

กลับมาจากพม่าพร้อมด้วยภาพถ่ายมากมาย...ผมต้องยอมรับว่ามันถูกบันทึกด้วยระบบ auto ทั้งหมดทั้งสิ้น ตอนนั้นผมยังไม่รู้จักวิธีใช้กล้อง DSLR ในระบบ manual เลยแม้แต่น้อย  พอถึงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม คุณเมธีก็ได้ส่งคู่มือกล้องซึ่งเป็นไฟล์ PDF มาให้ทางเมล...พร้อมกับแนะนำว่าหากกล้องมีปัญหาให้ส่งทาง ems ไปให้ซ่อมที่กรุงเทพฯ  คุณเมธีบอกด้วยว่า...
ที่จะไปก่อนเพื่อน น่าจะเป็นบานพับแผ่นยางปิดช่อง usb ผมเลี่ยงมาใช้ card reader แทน...
ขณะใช้กล้อง...ผมมีความรู้สึกว่าชาร์จแบตฯ ครั้งหนึ่ง ๆ  มันใช้กับกล้องได้นานมาก เชื่อว่าคุณเมธีคงจะซื้อแบตฯ ให้ใหม่อย่างแน่นอน (เข้าไปเช็คในอินเทอร์เน็ตดูแล้ว พบว่าราคาก้อนละตั้ง ๑,๙๐๐ บาท)

ขอขอบพระคุณสำหรับน้ำใจอันเปี่ยมล้นจากคุณเมธี และต้องขอโทษด้วยความรู้สึกผิดมาก ๆ ที่ไม่ได้ตอบเมลคุณเมธีในทันที...

เกือบ ๒ เดือนที่ผ่านมา ผมไม่มีโอกาสได้ศึกษาวิธีถ่ายภาพด้วยระบบ manual ซักที เพราะว่างานยุ่งเหลือเกิน  ก็เพิ่งวันนี้แหละครับ ที่ผมมีโอกาสได้ขอคำแนะนำจากคุณสุมิตร(คุณพ่อของน้องเอแคร์) เกี่ยวกับการถ่ายภาพด้วยระบบ manual ในกล้อง DSLR 

รู้สึกตื่นเต้นกับการได้ทดลองถ่ายภาพแบบชัดตื้นด้วยกล้องดิจิตอล...พอทำได้ผมก็รู้สึกดีใจ!!!  

ภาพก้านไม้ม็อบ  (ทดลองการถ่ายแบบชัดตื้น)

ต่อไปผมคงจะถ่ายรูปได้มันส์ในอารมณ์ยิ่งขึ้น!!

อ่่อ... ผมเห็นด้วยกับวิธีถนอมแผ่นยางปิดช่อง usb ของกล้องให้อยู่ได้นาน ๆ ด้วยการใช้ card reader ในการถ่ายข้อมูลลงคอมพิวเตอร์ วันนี้ผมประมูล internal card reader ได้มาแล้วในราคา ๑๖๐ บาท ตั้งใจว่าจะนำมาประกอบไว้ที่คอมพ์ฯ เพื่อจะได้ไม่ต้องเปิดปิดแผ่นยางปิดช่อง usb อีกต่อไป

ขอบคุณคุณเมธีอีกครั้งครับ....



ไอเดียของคุณเมธีถูกใจช่างเหอะมาก ๆ!

Wednesday, September 12, 2012

ทำความสะอาดเมโลเดียนด้วยน้ำได้ไหม?


เมโลเดีียนที่เด็ก ๆ เล่นดูสกปรก เนื่องจากไม่ดูแลรักษา เล่นเสร็จก็วางทิ้ง เป่าลมกดปุ่มไล่น้ำลายก็ไม่ทำ กล่องก็ไม่ใส่ แถมยังใช้ปากกาไวท์บอร์ดเขียนตัวหนังสือลงบนคีย์บอร์ดจนเลอะไปหมด!

ผมเคยให้นักเรียนทำความสะอาดภายนอกตัวเมโลเดียน โดยใช้ฟองน้ำชุบน้ำผสมน้ำยาล้างจาน บิดให้หมาด นำมาเช็ดตามคีย์ รวมถึงด้านนอกของตัวเครื่อง บางท่านอาจจะเกรงว่าการทำความสะอาดอย่างนั้นจะทำให้ลิ้นเป็นสนิม ไม่สมควรทำเป็นอย่างยิ่ง!

แต่ผมทำครับ หลังจากวิเคราะห์แล้วว่า โครงสร้างของเมโลเดียนนั้น แผงลิ้น (reeds) ซึ่งเป็นโลหะทองเหลืองจะต้องถูกครอบคลุมไว้สนิท เพื่อไม่ให้ลมรั่ว เวลาเป่าลมเข้าทางปากเป่าแล้วกดที่คีย์ จะมีกลไกเปิดให้ลมไหลผ่านลิ้น เกิดการสั่นเสทือน สร้างคลื่นเสียงซึ่งมีความถี่สูงต่ำตามความยาวและความหนาของตัวลิ้นโลหะขึ้นมา

น้ำเข้าไม่ได้หรอกครับ ถ้าไม่กรอกเข้าทางปากเป่า!

ทุกครั้งที่ผมซ่อมเมโลเดียน ถ้าเห็นว่ามันสกปรกมาก ผมก็จะทำความสะอาดด้วยวิธีดังกล่าว....


การทำความสะอาดด้วยฟองน้ำหมาด ๆ อาจจะมีน้ำหรือฟองสบู่เล็ดลอดลงไปใต้ลิ่มนิ้ว (keyboard) บ้าง แต่ไม่ต้องวิตกหรอกว่ามันจะเข้าไปถึงตัวลิ้น(reeds) ด้วยเหตุผลตามที่ได้กล่าวไว้แล้ว


น้ำและฟองสบู่อาจจะลงไปเกาะตามพลาสติกที่อยู่ใต้คีย์ แต่มันจะแห้งไปในที่สุด

จริง ๆ แล้ว ตัวลิ้น (reeds) ปกติก็โดนน้ำลาย ซึ่งทำให้เกิดคราบคล้ายสนิมสีเขียว ด้วยเหตุนี้เค้าจึงต้องทำลิ้นเมโลเดียนด้วยทองเหลือง ไม่ทำด้วยเหล็กกล้าเหมือนกับลิ้นแอคคอร์เดียน


เพื่อน ๆ ดูความสกปรกบนแผงลิ้นสิครับ เกิดจากน้ำลายทั้งนั้นแหละ ต้องเปิดฝาครอบออกก่อนถึงจะเห็น

ผมคิดว่าทุก ๆ ครึ่งปี ควรที่จะมีการถอดออกมาทำความสะอาด ผมจะใช้น้ำยา Sonax ฉีดบาง ๆ แล้วปล่อยทิ้งไว้สักพัก จากนั้นก็ใช้กระดาษทิชชู่(นิ่ม ๆ)ค่อย ๆ ซับ  ความสกปรกจะติดออกมาอย่างเห็นได้ชัด  ลิ้นก็จะสะอาดขึ้น (ลิ้นเครื่องนะครับ ไม่ใช่ลิ้นคน อิอิ)

ถึงอย่างไร ผมก็ยังเชื่อว่า เราสามารถใช้น้ำทำความสะอาดภายนอกเครื่องเมโลเดียนได้

แต่ต้องไม่ใช่เปิดน้ำล้างโดยตรงเด้อ!

Tuesday, September 11, 2012

ซ่อมเมโลเดียน (ต่อ)


เมโลเดียนสายรัดมือหลุด สาเหตุมาจากหลักสำหรับใส่สกรูยึดหัก ผมเคยเขียนเกี่ยวกับการซ่อมไว้ในหัวข้อ"ซ่อมเมโลเดียน" เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๕



วันนี้ผมต้องซ่อมเมโลเดียนซึ่งมีอาการเดียวกันอีกตัวนึง เจ้าหลักพลาสติกสำหรับขันสกรูลงไปก็หักอีกเช่นเคย ผมอดแปลกใจไม่ได้ว่าเมโลเดียนยี่ห้อนี้ ทำไมเค้าถึงไม่ทำให้มันทนกว่านี้....


ซ่อมคราวนี้ ผมไม่ใช้วิธีทำหลักใหม่ด้วยการใช้ plug พลาสติกแล้วยึดติดด้วยกาวร้อนอีกแล้ว ผมแค่ใช้สกรูสำหรับยึดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ซึ่งมีวางเกลื่อนอยู่มากมายหลายตัวขันเข้าไปเท่านั้น...


 นี่ไง...ง่ายนิดเดียว ไม่ต้องใช้กาวร้อนหรือวัสดุอื่น ๆ แค่คว้านรูให้สามารถขันสกรูเข้าไปได้เท่านั้น!


แม้จะมีรอยจากปลายสกรูที่พ้นผ่านเนื้อพลาสติกออกไปทางด้านนอกบ้าง แต่ก็ดูไม่น่าเกลียด และไม่เป็นอันตรายต่อมือผู้เล่น


สายรัดมือใช้การได้ตามปกติแล้วครับ...

 
แต่การที่เคยมีคนใช้กาวใส่ เพื่อยึดให้ปลายสายรัดมือติดแน่นอย่างที่เห็นในภาพ ทำให้สายรัดมือเคลื่อนขยับไปมาไม่ได้ ไม่แนะนำให้ทำครับผม...

ซ่อมได้เร็วกว่าเดิมมาก ๆ เล้ย!!

Saturday, September 08, 2012

A World of Art









วันนี้ผมมีหนังสือ A World of Art  ของ Henry M. Sayre มาฝาก

เพื่อน ๆ สามารถคลิกดาวน์โหลดได้ ที่นี่

Thursday, September 06, 2012

ตำราแอคคอร์เดียน ๑


วันนี้ ผมอยากคุยเรื่องตำราแอคคอร์เดียนของ Adelar Bertussi อีกซักหน่อย พอดีมีเพื่อนสมาชิกสนใจอยากฝึกเล่นแอคคอร์เดียนอยู่พอดี  ผมอยากให้บล็อก "ช่างเหอะ" มีประโยชน์ต่อผู้อ่านเท่าที่จะทำได้ ผู้ใดสนใจอยากได้ตำราแอคคอร์เดียนไว้ศึกษาสามารถคลิกดาวน์โหลดได้ ที่นี่ ครับ...

Adelar Bertussi - ภาพจากอินเทอร์เน็ต


ตำราฝึกเล่นแอคคอร์เดียนหนา ๘๑ หน้าเล่มนี้ จัดว่าเป็นแบบเรียนประเภท "พูดน้อยต่อยมาก" คือสอนแบบรวบรัดและเข้มข้นชนิด"เล่มเดียวก็เกินพอ"จริง ๆ  เล่มนี้เน้นแบบฝึกหัดสำหรับมือขวาและมือซ้าย หากเพื่อน ๆ ได้ฝึกฝนอย่างเอาเป็นเอาตาย รับรองว่าเล่นยังไ่ม่ถึงครึ่งเล่ม ก็สามารถเป็นนักแอคคอร์เดียนที่ดีได้แล้ว

ยากหน่อยนะ แถมยังมิได้เป็นภาษาอังกฤษซะด้วย ผู้เรียนต้องพยายามทำความเข้าใจ วิเคราะห์ให้ดีแล้วฝึกหัดไปทีละบท อย่าใจร้อนหรือเล่นข้าม...

ผมหวังว่าในอนาคตจะต้องมีนักเล่นแอคคอร์เดียนที่เล่นได้ดีทั้งมือซ้ายและมือขวาเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน...

แล้วจะหาตำราดี ๆ มาให้อีกนะครับ

Wednesday, September 05, 2012

Riders In The Sky

เมื่อวานนี้ผมเขียนเกี่ยวกับ  "Accordion Styles and Techniques"  วิดีโอสอนแอคคอร์เดียนโดย Joey Miskulin วันนี้ขอเขียนต่ออีกหน่อยครับ...

Joey Miskulin (ที่มา : Yamaha.com)

Joey เริ่มจับแอคคอร์เดียนเมื่ออายุได้ ๔ ขวบ ตอนนั้นเป็นแค่การเล่นทำนองง่าย ๆ บนหีบเพลงขนาดเล็กซึ่งมีปุ่มเบสเพียง ๒ ปุ่ม จากนั้นอีก ๑ ปีก็ได้เริ่มฝึกฝนอย่างจริง ๆ จัง ๆ จนสามารถออกงานได้เมื่ออายุได้ ๑๐ ขวบ ปีต่อมาก็ได้ร่วมงานกับวงของ Ronnie Lee แล้วตามมาด้วยการบันทึกเสียงร่วมกับ
Roman Possedi มือแอคคอร์เดียนผู้มีชื่อเสียงแห่งเมืองชิคาโกในยุคนั้น

Roman Possedi (ที่มา : www.polkas.nl)
ที่มา : www.polkas.nl

ในปี 1987 Joey Miskulin เข้าเป็นสมาชิกในวง Riders In The Sky  ได้ร่วมบันทึกเสียงออกอัลบั้มมากมาย รวมทั้งออกแสดงเฉลี่ยถึงปีละ ๑๘๕ ครั้ง

ผมได้ดูวิดีโอการสอนของ Joey Miskulin แล้วชอบมาก ๆ  ยิ่งได้อ่านทราบว่าวง Riders In The Sky เล่นเพลงสำหรับเด็กด้วย ต้องยกนิ้วให้เลย!  เกิดความคิดที่จะตั้งวงแบบนี้เพื่อเล่นเพลงสำหรับเด็กไทยขึ้นบ้าง...

วง Riders In The Sky
Joey Miskulin
Ranger Doug
Woody Paul
Too Slim
วันนี้อยากนำเพลงของวง Riders In The Sky มาให้ฟังซัก ๓ เพลง ดังนี้...

เพื่อน ๆ สามารถคลิกที่ชื่อเพลงเพื่อดาวน์โหลดได้เลยครับ...



หมายเหตุ - ภาพวงดนตรี Riders In The Sky และสมาชิกทั้ง ๔ คนนำมาจาก wikipedia