Monday, September 28, 2015

ปูกระเบื้องห้องพัก...

บ้านห้างฉัตรที่ผมซื้อต่อเค้ามามีพื้นชั้นลอยชั้นสองและบันได ปูด้วยกระเบื้องสีเปลือกมังคุดขนาด 12" x 12" ที่มีลวดลาย


หลายวันก่อน...ไปเจอกระเบื้องปูพื้นที่ห้าง global house นำมาโล๊ะขายในราคากล่องละ ๘๕ บาท เหลืออยู่ ๓ กล่องกับเศษอีก ๕-๖ แผ่น...ผมเหมามาหมดเลย


หลังจากปูกระเบื้องพื้นห้องน้ำชั้นล่างแล้ว ผมก็หันมาทำห้องตรงระเบียงชั้นลอยซึ่งตั้งใจจะใช้เป็นห้องเรียนเครื่องสายต่อ   ก่อนหน้านั้นเคยคิดว่าถ้ามีแขกมาเยือน ก็จะจัดให้พักใน workshop สีเขียวบนดาดฟ้า


แต่มาตรองดูแล้วคงไม่สะดวก ทั้งเรื่องห้องน้ำและการขึ้นลง ผมเปลี่ยนใจจะให้นอนในห้องเครื่องสายนี่แหละ ปรับปรุงให้สวยแล้วเก็บเตียงแบบพับได้ไว้ข้างหลังฝาที่เห็น พอมีแขกก็เอาออกมากาง...


ห้องน้ำชั้นล่างทำไว้ดีแล้ว ผู้มาเยือนสามารถเดินลงบันไดไปใช้ได้สบาย...


ต้นเดือนธันวาคมนี้คงจะมีโอกาสได้ต้อนรับแขก (คนไทย) ผมต้องรีบปูพื้นห้องพักด้วยกระเบื้องที่ซื้อมา...เมื่อวานนี้ลองแกะกล่องนำกระเบื้องออกมาเรียง


เนื่องจากไม่มีที่ตัดกระเบื้อง ผมต้องเริ่มวางให้ชิดของผนังอย่างที่เห็น กระเบื้องที่มีลวดลายต้องเรียงให้ถูกลายด้วย...


ไม่รู้เป็นไง...ผีขยันเกิดเข้าสิงตอนแดดร่มลมตก!  ผมไปค้นหาจนเจอเจ้าเกรียงหวีที่ซ่อนตัวอยู่ใต้เตียงในห้อง workshop...


ใช้เกรียงแล้วลืม!  ไม่ได้ล้างแล้วเก็บให้ดี  มันถูกทิ้งไว้จนสนิมจับ เป็นตัวอย่างนิสัยที่ไม่ดีของช่างเหอะ เพื่อน ๆ อย่าเอาเป็นเยี่ยงอย่างนะครับ

ได้เกรียงแล้ว! ผมคว้าเส้นอลูมิเนียมที่ใช้ทำกรอบมุ้งลวดลงไปด้วย ไม่มีเจ้าตัวพลาสติกที่ใช้วางกำหนดช่องห่างระหว่างกระเบื้อง แถมยังขี้เกียจขึงเชือกซะอีก...."ช่างเหอะ" ตัดเส้นอลูมิเนียมให้ยาวพอดี แล้วเอาไปวางอย่างที่เห็น  (เป็นการใช้งานผิดประเภทและมักง่าย)...


เมื่อวานนี้ ผสมปูนแล้วลงมือปูกระเบื้องไปได้เกือบเต็ม ๒ แถว ปูนหมดพอดีเมื่อความมืดมาเยือน ด้วยรู้สึกเลือน ๆ ตอนกลางคืนผมนอนคิดอดเป็นห่วงไม่ได้ว่าจะวางกระเบื้องไม่ถูกลาย?  เช้านี้ต้องรีบลงไปดู    เฮ้อ...ไม่ผิดแฮะ!  โล่งอก...ถ้าผิดคงเป็นเรื่อง!


เซาะร่องซะหน่อย...ก่อนทำความสะอาด!


เดี๋ยวช่วงบ่อย ๆ ค่อยมาปูกระเบื้องต่อ (ถ้าขยัน) !

๑๗.๑๑ น....เพิ่งลงมาจากนำเครื่องมือไปล้างบนดาดฟ้า ผมเซแซด ๆ เพราะเวียนหัว หลังจากปูกระเบื้องพื้นห้องเรียนเครื่องสายต่ออีกจนเหลือกระเบื้องแค่ ๘ แผ่น...


ต้องรีบเขียนต่อครับ และอยากเขกหัวตัวเองสักโป๊กสองโป๊กด้วย  เมื่อเช้านี้หลงคุยเสียดิบดีว่าเรียงกระเบื้องไม่ผิด  ที่ไหนได้....พอลงไปปูต่อ ผมถึงรู้ว่าเมื่อวานนี้เรียงกระเบื้องผิดไว้ตั้ง ๔ แผ่น ...



หุหุ ถ้าเรียงผิดแค่แผ่นเดียว...ยังพออภัยได้ อาจจะทุบออกแล้วเปลี่ยนใหม่ แต่เนี่ยตั้ง ๔ แผ่น...ไม่ไหว! คงต้องปล่อยเลยตามเลย ถือว่าเป็นบทเรียนละกัน (เมื่อคืนนี้ก็คิดแล้วนาว่ามันต้องผิด)... 

แต่ตอนเช้าตาถั่วมองไม่เห็น... หุยฮา! 

Sunday, September 27, 2015

rehair - เปลี่ยนหางม้า

น้องเมเปิลมาเรียนไวโอลินวันเสาร์  ผมรับปากนักเรียนว่าจะเปลี่ยนหางม้าคันชักไวโอลินให้...ในขณะเดียวกันก็อยากจะเขียนเรื่อง "การเปลี่ยนหางม้าสไตล์ช่างเหอะ" ลงบล็อก  แรก ๆ เขียนไว้ค่อนข้างละเอียด พร้อมบันทึกภาพประกอบทุกขั้นตอน แต่เมื่อถึงเวลาเร่งรัด...เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ผมเปลี่ยนหางม้าให้เมเปิลโดยไม่มีโอกาสเก็บรายละเอียด!

หลังจากรื้อหางม้าเก่าออกมาแล้ว...ต้องหาเครื่องมือให้ได้ก่อน สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ "หวี"


เครื่องมืออื่น ๆ อย่างเช่นกรรกงกรรไกร คีมสารพัดปาก ฯลฯ ไม่ต้องพูดถึง เพราะต้องมีอยู่แล้ว อีกอย่างหนึ่งที่ต้องหาให้ได้คือ"ที่วางคันชัก"...

ภาพจากอินเทอร์เน็ต (ขออภัยทำชื่อที่มาหาย)
ผมเคยทำไว้อย่างง่าย ๆ จากเศษไม้ที่มีอยู่ ในที่สุดก็หาเจอ ต้องรีบไปคว้าเศษไม้จากดาดฟ้ามาทำต่ออีกนิด...




คิดว่าถ้าเป็นครูหนิงจะทำได้เนียนกว่านี้เยอะ แต่ผมเป็นเพียง "ช่างเหอะ" ผู้มีนิสัยสุกเอาเผากิน ทำแค่พอใช้งานได้ก่อนเป็นพอ! 

เมื่อเดือนที่แล้ว... ผมสั่งซื้อหางม้าคันชักไวโอลินมาจากห้าง Peterson ๑ ชุด (๕๐๐ บาท)


เอาไปเปลี่ยนให้คันชักไวโอลินของคุณหมอพรเทพซะแล้ว ผมเมล์ไปสั่งซื้อเพิ่มอีก ๒ ชุด แต่ห้าง Peterson บอกว่าสินค้าหมด!!  เลยอดซื้อ!!  ไปดูที่ร้านอคูสติค (เชียงใหม่) มีหางม้าไวโอลินราคาถูกสุดคือ ๖๐๐ บาท ผมไม่ซื้อ กลับลำปางมือเปล่า 

แล้วจะทำอย่างไร? เมื่อต้องเปลี่ยนหางม้าให้เมเปิลใช้ในวันเสาร์!  รื้อสิครับ! ผมแกะหางม้าที่ใส่ให้กับคันชักไวโอลินคุณหมอพรเทพออก เพื่อจะนำมาใส่ให้กับคันชักไวโอลินน้องเมเปิลก่อน! ได้บอกคุณหมอพรเทพว่าจะนำคันชักไปมอบให้ที่โบสถ์ในวันอาทิตย์ ต้องกราบขออภัย แล้วจะสั่งอะไหล่มาเปลี่ยนให้ใหม่นะครับ...

ไม่ต้องกลัวว่าหางม้าที่แกะออกมาจากคันชักไวโอลินของคุณหมอพรเทพว่าจะใช้ไม่ได้ เพราะไวโอลินขนาด 1/2 ของเมเปิลมีคันชักสั้นกว่า ต้องตัดหางม้าออกอยู่แล้ว!

ได้อะไหล่มาผมก็เริ่มนำปลายด้านหนึ่งเข้าใส่ในช่องทางด้าน frog ก่อน (เพื่อน ๆ สามารถเลือกที่จะใส่ด้าน frog หรือด้าน tip ก่อนก็ได้ทั้งนั้น)  ไม่ต้องทำชนัก (ถ้าไม่เข้าใจให้กลับไปอ่านตอนก่อน ๆ) เพราะมันมีอยู่แล้ว แค่เอาใส่เข้าไปแล้วอัดด้วยลิ่มไม้ (wooden plug) ที่เก็บไว้ (โชคดีที่ยังไม่หาย 555...)


ประกอบชิ้นส่วนอื่น ๆ เข้าที่ รวมทั้งเจ้าลิ่มไม้บาง ๆ ที่อยู่ใต้หางม้า ตัวนี้ผมต้องเหลาใหม่ มันทำหน้าที่อัดหางม้าให้เรียงตัวออกไปจนเต็ม...


ช่างไวโอลินชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งบอกว่าต้องปรับปริมาณหางม้าทางด้านสาย E ให้หนาหน่อย เพราะใช้งานมากกว่า  ยากหน่อยนะตรงเนี้ย... ผมทำได้ไม่ดีเพราะมือสั่น (อิอิ) 


ใส่หางม้าทางด้าน frog แล้ว ก็นำคันชักไปวางในที่วางคันชัก...


เตรียมอุปกรณ์สำหรับทำชนัก (อีกแย้ว) ขั้นตอนต่อจากนี้ต้องทำอย่างใจเย็น ดึงปลายมาทาบกับทางด้านปลายคันชัก แล้วใช้หวีค่อย ๆ หวี.......


ตรงนี้แหละที่ว่าทำไมมันยากส์  ทำอย่างไรให้เส้นหางม้าเรียงตัวให้เป็นระเบียบที่สุด?


จากนั้นก็ทำชนักปลายหางม้าทางด้าน tip ของคันชัก พันด้วยเส้นด้ายหรือลวดทองแดงให้ห่างจากรูประมาณ ๑ หุน...


หลังจากตัดแต่งหางม้าให้ดี ปลดทางด้าน frog ออก (อย่าให้หางม้าบิดตัว..พันกัน)  บรรจงใส่ปลายหางม้าลงในรูที่ปลายคันชักแล้วอัดด้วยลิ่มไม้ที่เก็บไว้  (เบา ๆ มือหน่อยเด้อ ผมไม่มีภาพประกอบแล้วครับ)

เรียบร้อยดีแล้วก็ใส่ frog กลับเข้าที่ ขันหางม้าให้ตึง แล้วค่อย ๆ ใช้หวี (comb) หวี ๆๆๆ...ช่วงหลังนี้ผมเขียนไม่ละเอียด เพื่อน ๆ ไปหาอ่านในเว็บอื่น ๆ ละกัน!  ได้หางม้าใหม่แล้ว ต้องถูยางสนให้คันชักใช้งานได้ตามปกติ

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา... รู้สึกว่าน้องเมเปิลจะพอใจกับหางม้าใหม่เช่นเดียวกับอินดี้


"เสียงดีขึ้นเยอะเลย" แม่สาวน้อยพยักหน้าเห็นด้วยกับช่างเหอะ!


จ้างเค้า rehair เสียเงินเป็นพันนะครับ ลองมาฝึกทำเองดีมั้ย?

Saturday, September 26, 2015

วิธีทำความสะอาดหางม้า

ผมเก็บคันชักของนักเรียนไวโอลินไว้ตั้งแต่สัปดาห์ก่อน อาสาว่าจะทำความสะอาดหางม้าให้!! เมื่อวานนี้ต้องรีบลงมือทำ! 

คันชักไวโอลินของอินดี้มีหางม้าที่สกปรกมั่ก ๆ (เสียดายที่ผมไม่ได้เก็บภาพไว้ก่อนทำความสะอาด) การทำความสะอาด ถ้าเป็นหางม้าจริงสามารถใช้แอลกอฮอล์ล้างได้ แต่ถ้าเป็นหางม้าเทียม ผมเคยลองใช้แอลกอฮอล์ล้าง แทนที่จะสะอาดกลับทำให้หางม้าเหนียวคล้าย ๆ ว่าสารสังเคราะห์ละลายออกมา!

หางม้าคันชักของอินดี้เป็นหางม้าแท้ ผมจึงกล้านำมาล้าง สกปรกมาก...เช็ดด้วยกอฮอล์เฉย ๆ ไม่พอ ต้องแช่ทิ้งไว้อย่างที่เห็น...


แล้วดูผลของมันดิ! สกปรกหรือไม่สกปรก?


ก่อนนำขึ้นมาผึ่งให้แห้ง...ผมใช้แปรงสีฟันเก่าที่ขนนิ่ม ๆ ปัดคราบดำซึ่งยังคงตกค้างอยู่บนหางม้าออกจนหมด... ง่ายมากครับ!  อย่ารีบถูยางสนนะ ต้องปล่อยทิ้งไว้ข้ามคืน 


หางม้าใกล้ ๆ กับ frog แต่ก่อนเคยดำและเกาะตัวเป็นแผ่นแข็ง วันนี้ดูดีแล้วจ้า!


ถูยางสนแล้วเอาไปแขวนที่ห้องดนตรี... รอนักเรียนมาเอาไปใช้งาน



รู้สึกว่านักเรียนจะพอใจ...


 อินดี้บอกว่า "สะอาดแล้วคร้าบบ..." 


เพื่อน ๆ อย่าลืมดูแลรักษาคันชักและไวโอลินของตัวเองให้ดีด้วยน้า...

Friday, September 25, 2015

rehair - ฝึกทำชนัก ๒

ได้ทดลองใช้เส้นด้ายมัดทำชนักแล้ว ทีนี้มาลองใช้ลวดทองแดงดูบ้าง เพื่อน ๆ ต้องไปหาบัลลาสต์เก่า ๆ ที่ไม่ได้ใช้ มารื้อเอาลวดซะก่อน...


แกะยากหน่อยนะครับ ระวังมือด้วย...


เพื่อนำเอาลวดทองแดงไปมัดหางม้าเท่านั้น ถ้าสามารถหาลวดได้จากที่อื่นก็ไม่ต้องแกะอย่างนี้ครับ...


ได้แล้วจ้า....ลวดทองแดงที่เห็นสามารถใช้มัดหางม้าได้ รู้สึกว่าจะง่ายกว่าใช้เส้นด้ายเสียอีก...


พัน ๔-๕ รอบ แล้วใช้คีมหรือมือบิดให้แน่น ตัดปลายออกก็ใช้ได้แล้ว  (ในภาพผมใช้ลวดทองแดงจากสายไฟซึ่งมีขนาดเล็กแทน เพื่อจะถ่ายภาพให้ได้ก่อน ถ้าใช้ลวดที่นำมาจากบัลลาสต์จะดูดีกว่านั้น)...


จากนั้นก็ใช้กรรไกรตัดปลายหางม้าออก...


ชุบผงยางสนแล้วนำไปลนไฟเหมือนที่เคยทำก่อนหน้านี้ก็ได้ แต่คราวนี้ขอลองใช้กาวร้อน (super glue) โดยบีบใส่ตรงปลายหางม้าให้ซึมลงทั่ว...


กาวที่เรียกว่า white glue ก็ใช้ได้นะ แต่แห้งช้ากว่า  เจ้า super glue มันแห้งเร็ว ให้ใช้คีมบีบ.. อย่าใช้มือเปล่า!  ระวังมันหยดไปโดนหางม้าหรืออย่างอื่นด้วย  (ภาพที่เห็นแค่จัดภาพให้ดู จริง ๆ แล้วบีบเฉพาะตรงปลายที่ใส่กาว)


เพื่อน ๆ จะใช้กรรไกรเล็มแต่งอีกนิดก็ได้...ไม่ว่ากัน!


ใช้เส้นด้ายหรือลวดทองแดง... ใช้กาวร้อนหรือยางสนลนไฟ เพื่อน ๆ ต้องเลือกเอา สะดวกวิธีไหนก็ใช้ได้ทั้งนั้น นี่คือตัวอย่างของเก่าที่เค้าทำไว้....


ดูให้ดีจะเห็นว่าเค้าใช้กาวแบบที่ผมได้ลองทำนี่แหละ แต่น่าจะเป็น white glue...


เรื่องฝึกทำชนักเห็นจะจบเพียงแค่นี้!

Thursday, September 24, 2015

rehair - ฝึกทำชนัก ๑

ที่ปลายหางม้าทั้ง ๒ ด้านจะถูกมัดรวมกันด้วยเส้นด้าย แล้วหยอดด้วยกาว หรือใช้ยางสนลนไฟ เชื่อมให้ปลายหางม้าติดกัน จากนั้นจึงนำไปใส่ที่ปลายคันชักและใน frog แล้วอัดด้วยลิ่มไม้...

ผมไม่รู้เหมือนกันว่าจะเรียกวิธีทำเช่นนั้นว่าอย่างไร?  ไปเปิดในพจนานุกรม เห็นคำว่า knot แปลว่า ปม, เงื่อน, กระจุก, ตาไม้, ทำให้เป็นทองแผ่นเดียวกัน ฯลฯ  อยากจะหาคำสั้น ๆ ที่ใช้สื่อความหมายได้...ผมเจอคำว่า "ชนัก" ซึ่งหมายถึง "เครื่องผูกคอช้าง ทำด้วยเชือกเป็นปมหรือห่วงห้อยลงมา เพื่อให้คนขี่คอใช้หัวแม่เท้าคีบกันตก"  คิดว่าเข้าท่าดี...จึงอยากนำมาใช้เรียกวิธีมัดหางม้าคันชัก เพื่อให้เขียนง่ายขึ้น! คงไม่ถูกต้อง...แต่ก็ขอเป็นที่เข้าใจกันในที่นี้ก็แล้วกัน 

รื้อหางม้าเก่าออกมาแล้วนำมาพิจารณาดูชนักอย่างที่เห็นในภาพ...


เอาหละ...เรามาฝึกมัดชนักกันดีฝ่า!  ใช้เจ้าหางม้าเก่าที่ตัดออกนั่นแหละ นำมาทบรวมกันเพื่อให้ได้ขนาดพอ ๆ กับหางม้าที่จะนำมาเปลี่ยนใหม่......


ก่อนอื่นต้องหายางสน (rosin) แตก ๆ ที่ไม่ใช้แล้วมาบดเตรียมไว้ด้วยดังนี้


จัดหาด้ายเหนียว ๆ, กรรไกร, ไฟแช็ค แล้วเตรียมใจให้พร้อม  ผมทดลองทำชนัก ๒ วิธี วิธีแรกเริ่มด้วยการมัดปลายหางม้าด้วยเส้นด้ายเหนียว ๆ...


จากนั้นใช้กรรไกรตัดแต่งปลายหางม้า..  


แล้วนำไปชุบกับผงยางสน...


ลนด้วยความร้อนจากไฟแช็ค (ระวังอย่าให้ไหม้เด้อ)...


ใช้ปลายนิ้วคลึงให้ปลายหางม้าติดกันเป็นก้อน (จะใช้กรรไกรเล็มแต่งอีกเล็กน้อยก็ได้)...


ใช้ได้แล้วครับ!  ถ้าได้หางม้าใหม่มา เราก็จะทำชนักอย่างเนี้ย แล้วนำไปใส่ที่ปลายคันชักหรือใน frog (ทำแบบลวก ๆ ตอนตี ๔ เพื่อจะถ่ายรูปนำมาประกอบ ่่จึงดูไม่ประณีตเท่าที่ควร)... 


 เดี๋ยวค่อยมาฝึกอีกวิธีนึงนะ!