ภัยพิบัติครั้งใหญ่เข้าใกล้มาแล้ว! เพื่อน ๆ เตรียมรับมือกันไว้ให้ดีนะครับ ถ้ามันจะมา...มันจะรวดเร็วมาก
ชนิดว่าผู้คนส่วนใหญ่ไม่ทันได้ตั้งตัวเชียวล่ะ!
ช่วงนี้ช่างเหอะยังคงเขียนเรื่องการติดแอร์ด้วยตนเอง
ซึ่งคาดว่าจะจบในวันสองวันนี้...
ภาพ capture จากคลิปวิดีโอภัยพิบัติ |
จากภาพที่เห็น ผมคิดว่าเป็นการถูกต้องแล้วที่ผู้ติดตั้งแขวน condensing unit ไว้สูง (แทนที่จะตั้งไว้บนพื้น) ไม่งั้นแล้วก็คงจะจมอยู่ใต้น้ำ ทีนี้มาดูเจ้า Central Air 9,100 BTU ที่ผมกำลังติดตั้งอยู่กันดีกว่า
หลังจากเดินท่อน้ำยาเสร็จ... ผมก็ต่อสายไฟกับ condensing unit ให้เรียบร้อย
จากนั้นก็ถึงเวลาดูดอากาศ (vacuum) หรือที่ช่างแอร์เรียกสั้น ๆ ว่า "แว็ค" จุดประสงค์ของการแว็คคือ ดูดอากาศออกจากคอยล์เย็นก่อนที่จะปล่อยน้ำยาเข้าไป เครื่องมือที่ช่างแอร์อาชีพทั่วไปใช้ คือเครื่องแว็คราคาเป็นพัน...
ภาพเครื่องแว็ค - นำมาจากอินเทอร์เน็ต |
จริง ๆ แล้วการดูดอากาศ ถ้าไม่ใช้เครื่องแว็คก็สามารถทำได้ด้วยการเปิดน้ำยาออกมาไล่อากาศในแฟนคอยล์ ช่างบางคนขี้เกียจใช้เครื่องดูดอากาศก็ใช้วิธีนี้ จะมีเสียงดังฟู่ ๆ ประมาณ ๓-๔ วินาที คนที่จ้างช่างมาติดแอร์ให้พึงสังเกตด้วยนะครับ พูดแล้วอิเหนาก็เป็นเอง คือตอนที่ผมจ้างช่างมาติดแอร์ Sharp 12,000 BTU ๒ ตัวก่อนหน้านี้ ผมก็ไม่ได้ดู ปล่อยให้เค้าทำกันเอง เสร็จแล้วก็จ่ายตังค์ ก็เลยไม่รู้ว่าเค้าไล่อากาศเสียงดังฟู่ ๆ หรือว่าใช้เครื่องดูดอากาศ (ไม่เห็นเค้ายกมา - อาจผ่านตาไปก็ได้) แต่ที่ทิ้งไว้ให้เรียนรู้ก็คือการเดินท่อแบบประหยัดค่าใช้จ่ายและใช้เวลาไม่มาก ติดแอร์ชั่วโมงเดียวก็เสร็จแล้ว! รวดเร็วแต่ไม่สวย
ช่างเหอะใช้เวลาเป็นอาทิตย์ ๆ ค่อย ๆ ศึกษาและทำไปอย่างผู้ไม่มีประสบการณ์....
ทีนี้มาถึงขั้นตอนการทำสูญญากาศ (vacuum) หรือไล่อากาศออกจากแฟนคอยล์ ผมไม่ใช้วิธีฟู่ ๆ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีเครื่องแว็คราคาแพง... ผมใช้เครื่องปั้มลมที่มีอยู่ เคยหาวิธีทำให้มันใช้เป็นเครื่องดูดอากาศได้ตั้งแต่ตอนซ่อมตู้เย็นคราวก่อน
แต่มีปัญหาตรงที่หัวของมันต่อเข้ากับ condensing unit ไม่ได้ ผมต้องสั่งซื้อตัวต่อจากร้านค้าออนไลน์มาอีกตัวนึง...
รอสินค้าอีก ๒-๓ วันกว่าจะได้มา พอได้มาแล้วก็ลงมือแว็คทันที...
No comments:
Post a Comment