Thursday, September 22, 2011

Accordion 2

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ผมได้นำภาพท่าเล่น accordion ทั้งแบบนั่งและยืน จากตำราที่มีอยู่มาให้เพื่อน ๆ ได้นำไปศึกษา โดยมีแบบฝึกหัดเพลงสั้น ๆ Blind Mice Romp ให้ฝึกเล่นด้วยมือขวาเพียงข้างเดียวก่อน สิ่งที่ต้องทำให้ได้คือ การเล่นให้ต่อเนื่อง ถูกเสียง ถูกจังหวะ ใช้นิ้วให้ตรงตามตำรา(ดูที่ตัวเลข fingering) และดึง bellows (อยากจะขอเรียกว่า "กระเพาะลม") ออกและเข้าให้ถูกต้องตามที่ตำราเขียนไว้ (open = ดึงออก  close = ดันเข้า)  

วันนี้เรามาศึกษาเรื่องการเล่นเบสและคอร์ดด้วยมือซ้ายกันนะครับ...

ขอให้พิจารณาที่ chart ต่อไปนี้...


นี่คือปุ่มเบสและคอร์ดซึ่งอยู่บนแผงทางด้านซ้ายมือของผู้เล่น ขอให้ดูในกรอบสี่เหลี่ยมนะครับ ถ้าทั้งหมดก็จะเป็นของ accordion แบบ 120 เบส จะเห็นว่ามีอยู่ 6 แถวด้วยกัน เป็นปุ่มเบส 2 แถว ส่วนอีก 4 แถวเป็นปุ่มสำหรับเล่นคอร์ดซึ่งมี 4 ประเภทคือ คอร์ดเมเจอร์, คอร์ดไมเนอร์, คอร์ดเซเว่น และคอร์ดดิมมินิช (เรียงตามลำดับ)

จากแผ่น chart ข้างบน เราสามารถทราบได้ว่า accordion แบบ 12 เบส, 24 เบส และ 48 เบสนั้นประกอบด้วยปุ่มเบสและคอร์ดซึ่งจัดอยู่ในลักษณะใด  ดูที่อยู่ภายในกรอบสี่เหลี่ยมพื้นดำนั่นกันก่อน มันคือ chart ของ accordion แบบ 12 เบส จะเห็นได้ว่ามีปุ่มอยู่เพียง 2 แถวเท่านั้น แถวหนึ่งเป็นเสียงเบส Bb, F, C, G, D และ A ส่วนอีกแถวเป็นคอร์ด Bb, F, C, G, D และ A  ทุกคอร์ดเป็นคอร์ดเมเจอร์ (Major)  อย่าได้สับสนกับการเขียนคอร์ดเมเจอร์ด้วยการใช้อักษร M ตัวใหญ่นะครับ บางท่านอาจจะไม่คุ้นเคย เพราะชินกับการเขียนคอร์ดเมเจอร์โดยไม่ต้องมีอักษร M กำกับ ในที่นี้ BbM ก็คือคอร์ด Bb major ครับ...

ทีนี้มาดูภายในกรอบสี่เหลี่ยมที่ขยายออกไปอีกระดับ นั่นก็คือ chart ของ accordion แบบ 24 เบส จะเห็นว่ามีปุ่มกดอยู่ 3 แถว คือ เบส, คอร์ดเมเจอร์ (Eb, Bb, F, C, G, D, A และ E) และคอร์ดไมเนอร์ (Ebm, Bbm, Fm, Cm, Gm, Dm, Am และ Em)

จากนั้นก็เป็นกรอบสี่เหลี่ยมซึ่งขยายออกไปอีก เป็น chart ปุ่มสำหรับเล่นเบสและคอร์ด 48 ปุ่ม ผู้ที่ใช้ accordion ขนาด 48 เบสก็ต้องศึกษาจาก chart ตัวนี้ จะเห็นได้ว่ามีปุ่มเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งแถว อยู่ทางด้านนอกสุดที่เขียนว่าเป็น counterbasses ประกอบด้วยโน้ต F, C, G, D, A, E, B, F#, C#, G#, D# และ A# 

ผมว่าหีบเพลงขนาด 48 เบสเป็นเครื่องที่น่าเล่น มันไม่ใหญ่เกินไป พกพาได้สะดวก ถึงแม้ว่าปุ่มสำหรับมือซ้ายจะไม่มีคอร์ดเซเว่นและคอร์ดดิมมินิช เราก็สามารถเล่นเสียงเพิ่มเติมได้ด้วยมือขวาครับ


ภาพข้างบนนี้อธิบายเรื่องการหาตำแหน่งของปุ่มโน้ต C (เสียงเบส) ไม่ว่าเพื่อน ๆ จะใช้หีบเพลงขนาดกี่เบสก็ให้ยึดหลักว่าปุ่มดังกล่าวจะอยู่ใน chart ของ accordion แบบ 12 เบส (ในวงกลมของภาพ) ขอให้ใช้นิ้วกลาง (3) คลำหา mark ซึ่งอาจจะบุ๋มลงไปคล้ายรูปดาวหรือวงกลม พอนิ้วไปสัมผัสเข้ากับ mark นั่น ก็จะรู้ได้ทันทีว่านั่นคือปุ่มเสียงเบส C (ตามโน้ตที่ถูกบันทึกลงในช่องที่สองของบรรทัดห้าเส้น ภายใต้ bass clef)

แสดงให้เห็นปุ่ม C บนหีบเพลงขนาด 80 เบส 

หีบเพลงขนาด 24 เบสของผม

โน้ตแอ็คคอร์เดียนก็คล้าย ๆ กับโน้ตเปียโน คือมีสองบรรทัด บรรทัดบนสำหรับมือขวา (ใช้ treble clef)  ส่วนบรรทัดล่างสำหรับมือซ้าย (ใช้ bass clef)  

โน้ตมือซ้ายของ accordion ง่ายกว่าของเปียโนเยอะเลย ดูที่เส้นกลางของบรรทัดห้าเส้นเป็นหลัก โน้ตที่อยู่ต่ำลงมาจะเป็นโน้ตเบส ส่วนโน้ตที่สูงขึ้นไปจะเป็นโน้ตคอร์ด เจ้าโน้ตคอร์ดก็ไม่ได้เขียนไว้หลาย ๆ ตัวเหมือนกับในโน้ตเปียโน แต่เค้าจะเขียนไว้แค่ตัวเดียว (จะเป็นโน้ตตัวกลม ตัวดำ โน้ตประจุด หรืออะไรก็ตาม) แล้วมีอักษรกำกับไว้ว่าเป็นคอร์ดอะไร  

เพื่อน ๆ ที่มีหีบเพลงอยู่แล้ว ก็ลองหยิบขึ้นมาฝึกแบบฝึกหัดสำหรับมือซ้ายดูนะ เล่นตามโน้ตบรรทัดล่างสุดเลยครับ จะเห็นได้ว่ามีทั้งหมด 8 ห้องด้วยกัน ในแต่ละห้องประกอบด้วย 3 จังหวะ (time signature = 3/4)  ให้ใช้นิ้วกลางเล่นเบสโน้ต C ในจังหวะที่ 1 ส่วนจังหวะที่ 2 และ 3 ให้ใช้นิ้วชี้เล่นคอร์ด C major (CM) บนปุ่มคอร์ด (ในแถวซึ่งอยู่ถัดมาทางด้านขวาของผู้เล่น) กด 2 ครั้ง ก็จะได้ 1 ห้องเป็นเสียง บุ่ม - แชบ - แชบ (C - CM - CM) ห้องที่ 2 ก็เล่นเหมือนกันครับ...

พอห้องที่ 3 เราก็ย้ายนิ้วกลางไปเล่นเบสที่ปุ่ม G (อยู่ถัดขึ้นข้างบนจากปุ่ม C) ส่วนนิ้วชี้ก็เล่นคอร์ด G major  
(ปุ่มคอร์ดที่อยู่ถัดจากคอร์ด C ขึ้นไปทางด้านบนเช่นเดียวกัน) ได้เสียง บุ่ม - แชบ - แชบ (- GM - GM) เล่นแบบเดียวกันอีก 1 ห้อง แล้วไปเล่นเช่นเดียวกับห้องที่ 1 และ 2 อีก รวมทั้งหมดเราสามารถเล่นได้ 6 ห้องแล้ว

ในห้องที่ 7 ก็เล่นเหมือนห้องที่ 3 แล้วไปจบด้วยการเล่นห้องที่ 8 โดยการใช้นิ้วกลางกดปุ่มเบส C พร้อม ๆ กับนิ้วชี้กดปุ่มคอร์ด C major (CM)  ให้กดแช่ไว้ยาวครบ 3 จังหวะ แล้วยกขึ้น (เป็นการเล่นโน้ตตัวขาวประจุด)

ในตำราเค้าบอกให้ฝึกกดปุ่มเฉย ๆ ยังไม่ต้องเล่นให้เกิดเสียง แต่ผมคิดว่าเมื่อเราได้ศึกษาตำแหน่งของปุ่มต่าง ๆ ดีแล้ว ก็น่าจะลองเล่นดูเลย มันจะยากขึ้นหน่อยตรงที่ว่าจะต้องชักกระเพาะลมเข้า-ออกเพื่อให้เกิดเสียง บุ่ม - แชบ - แชบ - บุ่ม - แชบ - แชบ.....  เท่านั้นเอง!

ปรับให้กระชับมือ
ผมว่าการยืนเล่นน่าจะดีกว่า สะพายเครื่องให้ดี ให้หีบเพลงอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ใช้นิ้วกลางของมือซ้ายคลำหาปุ่ม C ให้เจอแล้วปรับให้สายรัดมือซ้ายกระชับเข้ามา เพื่อมือซ้ายจะได้อยู่ในตำแหน่งที่สามารถเล่น บุ่ม - แชบ - แชบ ได้สะดวก

ลองฝึกดูนะครับ

No comments: