Thursday, May 10, 2012

poke one's nose...

ผมหายเงียบไปหลายวัน หาเรื่องที่จะเขียนไม่ได้จริง ๆ ซ่อมก็ไม่ได้ซ่อม ซ้อม(ดนตรี)ก็ไม่ได้ซ้อม!  ไม่มีอะไรที่พอจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ติดตามอ่านเลย ต้องขออภัยด้วยครับ!

เช้าวันนี้ ผมขี่จักรยานไปรับเงินยังชีพฯ ที่วัดปงแสนทอง...


 เจ้าหน้าที่เทศบาลเขลางค์นครจะมาตั้งโต๊ะจ่ายเงินให้ในศาลาที่เห็นในภาพ...


ผมพกหนังสือ "ศิลปะแห่งการแปล" ของ ส. ศิวรักษ์ไปอ่านในระหว่างนั่งรอด้วย...

พิมพ์ครั้งที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖ พิบูลย์ หัตถกิจโกศล ออกแบบปก


อ่านแล้วชอบครับ ขออนุญาตหยิบยกหน้า ๕๑-๕๒ มาให้เพื่อน ๆ อ่านด้วยดังนี้:-

--๑๒--  แปลสำนวน
ปัญหาการแปล ที่ยุ่งยากและลำบากมากอยู่ที่สำนวน (IDIOM) และความหมายที่อาจแปลได้ตื้น ๆ หรือพิจารณาลงไปให้เห็นความลึกซึ้งก็ได้ (SHADES OF MEANING) ยังพวกเล่นคำ (PUN) และคำปากตลาด (SLANG)  เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องใหญ่ สอนกันไม่ได้ แลในภาษาอังกฤษมีดิกชันนารี่ทุกชนิด ถ้าจะแปลกันให้ดีจริง ๆ ต้องมีดิกชันนารี่ต่าง ๆ รอบตัว แม้ดิกชันนารี่จะเป็นเพียง A FOOL แต่ก็เป็น AN HONEST MAN
ด้วยเหตุแห่งความยุ่งยาก ความสลับซับซ้อนดังกล่าวนี้ เบนจมิน โจเอต นักแปลผู้ยิ่งใหญ่ของอังกฤษจึงกล่าวว่า All translation is a compromise; the effort to be literal and the effort to be idiomatic.
ในที่นี้จะเอาสำนวนอังกฤษ (IDIOMATIC ENGLISH) มาแปลเทียบให้เห็นพอสมควร ยกตัวอย่างคำว่า NOSE ใคร ๆ ก็รู้ว่าหมายถึงอะไร เป็นอวัยวะส่วนไหนของร่างกาย แต่ประโยคหรือวลีต่อไปนี้ล้วนมีความหมายแตกต่างกันออกไปทั้งสิ้น
He pokes his nose into my affairs. แปลได้เพียงว่า เขาเสือกมายุ่งกับธุระฉัน
These things are right under my nose.  สิ่งของเหล่านี้อยู่ตำตาฉันนี่เอง
I had to pay through the nose for it.  ฉันต้องจ่ายราคาแพงจับใจทีเดียว
My explanation is as plain as the nose on your face.  คำอธิบายของฉันชัดเจนเห็นได้ง่ายจะตายไป
His wife used to lead him by the nose. ภรรยาจูงเขาดังหนึ่งสนตะพาย
I hope my son will keep his nose to the grindstone. ฉันหวังว่าเจ้าลูกชายคงจะฝนทั่งให้เป็นเข็ม
Some people can't see beyond their own nose. คนบางคนไม่มีจินตนาการเสียเลย

You don't have to bite my nose off. เธออย่ามาเกรี้ยวกราดเอากับฉันเลยน่า
Don't turn your nose up at it.  อย่าดูถูกมันเลย

No comments: