ช่วง "FB Trip ไปจำปาสัก" น่าเสียดายที่ผมยังไม่มีโอกาสได้ไปสี่พันดอน เพราะมัวแต่หลงใหลกับบรรยากาศเมืองจำปาสักและชีวิตสบาย ๆ อยู่กับอาจารย์หมูที่ "ด้วยรักจำปาสัก" ที่พักริมแม่น้ำโขงที่บริหารงานโดยคนไทย...
วันนี้พอดีเจอแผ่นพับที่ได้มา มันโดนน้ำจนกระดาษติดกันบ้างแล้ว ผมต้องขอสแกนบางส่วนที่ยังอ่านได้ นำข้อมูลมีประโยชน์มาโพสต์ สำหรับเพื่อน ๆ ที่กำลังคิดจะไปเยือนลาวใต้ ดังนี้...
ศูนย์ข้อมูลข่าวสารการท่องเที่ยว (Tourist Information Center) ตั้งอยู่บ้านกลางโขง เมืองโขง แขวงจำปาสัก และพิพิธภัณฑ์เมืองโขง ตั้งอยู่ที่ดอนโขง...
บ้านหินสิ่ว เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงทางด้านการผลิตน้ำตาลจากต้นตาลโตนด ซึ่งประกอบด้วย ๒๔๕ ครัวเรือน เป็นหมู่บ้านเป้าหมายในการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนภายใต้การสนับสนุนของธนาคารพัฒนา อาร์.ซี. มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์น้ำตาลก้อนให้เป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวที่เยี่ยมชม เพื่อชมวิธีสาธิตการผลิตและซื้อเป็นของฝากก่อนเดินทางกลับ
บ้านดอนเดดและบ้านดอนคอน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกและทิศใต้ของดอนสร้างไปและดอนโขง การเดินทางไปยังดอนเดดและดอนคอนจากดอนโขงจะใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง (โดยทางเรือ) ซึ่งเป็นท่าเรือกำปั่นสมัยฝรั่งเศส สร้างขึ้นในปี ค.ศ. ๑๙๑๐ ซึ่งแต่เดิมท่าเรือกำปั่นมีชื่อว่า "ปาวี" ที่ใช้ในการลำเลียงขนส่งสินค้าจากแม่น้ำโขงออกไปยังทะเล โดยสร้างสะพานคอนกรีตเป็นเส้นทางผ่านไปตามหมู่เกาะดอนต่าง ๆ
บ้านห้วย เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงด้านงานฝีมือการผลิตของที่ระลึกจากกะลามะพร้าว มีคนเข้าร่วมการผลิตสินค้าที่ระลึกจำนวน ๘ ครอบครัวด้วยกัน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ให้มีการจัดซื้ออุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตสินค้าของที่ระลึกให้กับผู้เข้าร่วมกลุ่ม เพื่อให้เกิดความหลากหลายของสินค้าที่ระลึก จนเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว...
บ้านหางคอน เป็นหมู่บ้านโฮมสเตย์ (Home Stay) ซึ่งมีทั้งหมด ๘ หลัง เป็นการสร้างรายได้ให้กับคนในหมู่บ้าน โดยมีราคาค่าเข้าพัก ๓๖,๐๐๐ กีบ/คืน/คน และค่าอาหาร ๒๐,๐๐๐ กีบ/มื้อ/คน ในหมู่บ้านยังมีเรือไว้ให้บริการจำนวน ๑๘ ลำ มีกลุ่มนวดแผนโบราณจำนวน ๖ คน ทางโครงการได้จัดสร้างจุดชมวิว เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมธรรมชาติและปลาโลมาน้ำจืด โดยบริเวณดังกล่าวเป็นที่อยู่ของปลาโลมาน้ำจืดแห่งเดียวในประเทศลาว รวมทั้งได้สร้างห้องน้ำสาธารณะ และจัดทำรายการนำเที่ยวในเขตหางคอนจำนวน ๓ รายการ โดยมีพนักงานนำเที่ยวเป็นคนในท้องถิ่น
ปลาโลมาน้ำจืด ตัวเต็มวัยจะมีขนาดความยาวประมาณ ๒.๕ เมตร ซึ่งมีทั้งสีดำและสีน้ำเงิน ในปัจจุบันปลาโลมาน้ำจืดยังคงอาศัยอยู่ในบริเวณนั้นประมาณ ๒๐ ตัว ในช่วงฤดูฝนปลาโลมาน้ำจืดมีการเปลี่ยนที่อยู่อาศัย ได้ย้ายไปยังเขตสี่พันดอน หรือขี้นมาปรากฏตัวให้เห็นอยู่ตามเกาะดอนต่าง ๆ และในช่วงฤดูแล้งมันมักจะอาศัยอยู่กลางแม่น้ำในเขตชายแดนระหว่างลาวและกัมพูชา และมักขึ้นมากระโดดลอยตัวอยู่ตามแม่น้ำในระหว่างเวลา ๑๕.๐๐ - ๑๗.๐๐ น. ของเดือนธันวาคม - พฤษภาคมของทุก ๆ ปี
หมดโควิด...ไปกันเลยมั้ย?:)
No comments:
Post a Comment