การถนอมรักษาสายตาด้วยตนเอง
ข้อมูลจาก รศ.นพ.กรุงไกร เจนพาณิชย์
การถนอมรักษาสายตา มีมากมายหลายวิธี ดังที่เคยเรียนมาตั้งแต่เด็ก ๆ และเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว เช่น
- ไม่มองของสีขาวกลางแดด หรือมองแสงสว่างจ้า ๆ เช่น ดวงอาทิตย์ แสงจากการเชื่อมโลหะ เป็นต้น
- ไม่อ่านหนังสือตัวเล็กเกินไปเป็นเวลานาน ๆ รวมทั้งไม่อ่านหนังสือในรถ เรือ ที่มีความสะเทือนอยู่ตลอดเวลาด้วย
- ไม่อ่านหนังสือในที่สลัว ๆ หรือมีแสงมากเกินควร ต้องให้มีความเข้มของแสงพอเหมาะ ส่องมาจากข้างหลังหรือด้านซ้ายมือ
- ไม่อ่านหนังสือ (หรือมองวัตถุ) ชิดใบหน้า ควรวางหนังสือให้ห่างจากตาประมาณ ๑ ฟุต
- ไม่เอามือหรือผ้าสกปรกเช็ดหรือขยี้ตา
- ระวังไม่ให้มีการกระทบกระเทือนกะโหลกศีรษะบริเวณเบ้าตา เช่น ชกต่อย อุบัติเหตุ ยิงหนังสติ๊กถูกตา ถูกไอสารเคมีหรือน้ำยาที่ระคายต่อตา
- ไม่ไว้ผมยาวปรกหน้า และมาบังตาทำให้มองไม่ถนัด และเป็นช่องทางให้ความสกปรกจากผมเข้าตาได้
- ไม่ใช้ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว หรือผ้าขาวม้าร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่ป่วยเป็นโรคตา เป็นต้น
- เมื่อเป็นโรคตาต้องรีบไปปรึกษาแพทย์ทันที ไม่ควรใช้ยาตา (หยอด, ป้าย) เอง
- เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับสายตา แว่นตา ควรปรึกษาแพทย์เรื่องการใส่แว่น และเรื่องการปฏิบัติตัวที่เหมาะสม
- ฯลฯ
ส่วนการถนอมรักษาสายตาด้วยตนเองโดยวิธีนวด (Massage) หรือกดจุด (Acupressure) ก็มีหลายวิธีเช่นกัน ที่ผู้เขียนเคยแนะนำให้ปฏิบัติต่อตนเอง และเห็นผลมี ๗ ท่าที่สำคัญ ได้แก่
๑. ท่าเสยผม
ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง กดขอบกระบอกตาบนให้แน่นพอควร ทำทั้ง ๒ ข้างพร้อม ๆ กัน ค่อย ๆ ดันนิ้วทั้ง ๓ นิ้ว เรื่อยขึ้นไปบนศีรษะจนถึงท้ายทอยแบบเสยผม ทำ ๑๐-๒๐ ครั้ง
๒. ท่าทาแป้ง
ใช้นิ้วกลางทั้งสองกดตรงหัวตา (โคนสันจมูก) ให้แน่นพอควร ดันนิ้วขึ้นไปจนถึงหน้าผาก แล้วใช้นิ้วทั้งหมด (ยกเว้นนิ้วหัวแม่มือ) แตะหน้าผาก โดยให้ปลายนิ้วมือจรดกัน แล้วลูบลงไปข้างแก้มแบบแนบสนิทมายังคาง ทำ ๑๐-๒๐ ครั้ง
๓. ท่าเช็ดปาก
ใช้ฝ่ามือขวาทาบบนปาก ลากมือไปทางขวาให้สุด ให้ฝ่ามือกดแน่นกับปากพอสมควร เปลี่ยนใช้มือซ้ายทาบปาก แล้วทำแบบเดียวกัน นับเป็น 1 ครั้ง ทำ ๑๐-๒๐ ครั้ง
๔. ท่าเช็ดคาง
ใช้หลังมือขวาทาบใต้คาง แล้วลากมือจากทางซ้ายไปขวา ให้หลังมือกดแน่นกับใต้คางพอควร เปลี่ยนใช้มือซ้ายทำแบบเดียวกัน นับเป็น 1 ครั้ง ทำ ๑๐-๒๐ ครั้ง
๕. ท่ากดใต้คาง
ใช้นิ้วหัวแม่มือทั้ง ๒ ข้างกดใต้คาง โดยให้ปลายนิ้วตั้งฉากกับคาง ใช้แรงกดพอควร และกดนานพอควร (นาน ๑๐ วินาที หรือนับ ๑-๑๐ อย่างช้า ๆ) เลื่อนจุดกดให้ทั่วใต้คาง เฉพาะทางด้านหน้าทำ ๕ ครั้ง
๖. ท่าถูหน้าและหลังหู
ใช้มือแต่ละข้างคีบหู โดยกางนิ้วกลางและนิ้วชี้คีบอย่างหลวม ๆ วางมือให้แนบสนิทกับแก้ม ถูขึ้นลงแรง ๆ นับเป็น 1 ครั้ง ทำ ๑๐-๒๐ ครั้ง
๗. ท่าตบท้ายทอย
ใช้ ฝ่ามือ ปิดหู (มือซ้ายปิดหูซ้าย มือขวาปิดหูขวา) ใช้ นิ้วทั้งหมด อยู่ตรงท้ายทอย และปลายนิ้วกลางจรดกัน กระดิกนิ้วให้มากที่สุด แล้วตบที่ท้ายทอยพร้อม ๆ กันทั้ง ๒มือ ด้วยความแรงพอควร ทำ ๒๐-๓๐ ครั้ง
สำหรับท่านี้ ต้องไม่ยกฝ่ามือออกจากหู มิฉะนั้นจะทำให้การตบแรงเกินควรจนกลับเป็นผลเสียได้
เมื่อทำครบทั้ง ๗ ท่าแล้ว จะรู้สึก หัวโปร่ง เบาสบาย ตาสว่าง หายง่วงนอน รู้สึกสดชื่น ถ้าเป็นไปได้ควรทำวันละ ๒ ครั้ง คือ ตอนเช้า ตอนเย็น
ข้อพึงสังเกตเกี่ยวกับการนวดตนเองเพื่อช่วยสายตา
- ต้องตัดเล็บให้สั้น เพื่อมิให้ไปขีดข่วนใบหน้า
- ไม่ใส่แหวนและต่างหู เพราะอาจจะขูดใบหน้าทำให้เกิดบาดแผลได้
- ต้องล้างมือและหน้าให้สะอาด เช็ดให้แห้งก่อนการนวด
- งดการนวดเมื่อมีไข้ ใบหน้าเป็นสิว ฝี หรือมีโรคผิวหนัง
- เริ่มนวดแต่เพียงน้อยครั้ง เช่น ๕-๑๐ ครั้ง แล้วค่อยเพิ่มทีละน้อย
- ตั้งใจนวด มิใช่ทำให้เสร็จ ๆ ไป หรือทำลวก ๆ ถ้าเป็นไปได้ควรทำสมาธิไปพร้อม ๆ กันด้วย
- การนวดต้องทำเป็นประจำจึงจะได้ผล ไม่ทำ ๆ หยุด ๆ
*จากคู่มือ การนวดถนอมสายตาด้วยตนเอง โดยโครงการฟื้นฟูการนวดไทย ถนนจรัญสนิทวงศ์ 13 กทม. สนับสนุนโดย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์
เพื่อน ๆ ลองทดลองทำดูนะครับ
2 comments:
ผมจะลองทำดูบ้างครับ รู้สึกว่าสายตาตัวเองเริ่มแย่ลงแล้ว
ขอบคุณครับคุณนิ้ง รักษาสุขภาพด้วยน้า
Post a Comment