Saturday, December 28, 2024

เสียมแซะต้นไทร

ามที่ผมได้โพสต์เรื่อง "สิ่งที่พบหลังจากไปโรงพยาบาล" กล่าวถึงต้นไทรซึ่งขึ้นอยู่บนกำแพงตึกชั้น 3
 
 
รากของมันแผ่ขยายไปดึงให้ท่อน้ำหลุดออก จนผมต้องแก้ปัญหาด้วยการเดินท่อลอยให้กับระบบน้ำในห้องน้ำใหม่ มีเพื่อน 2 ท่านได้กรุณาแนะนำวิธีกำจัดต้นไทรมาด้วยความห่วงใย โดยให้หาช่างพร้อมเครื่องมือมาทำงานในที่สูงได้อย่างปลอดภัย ทำให้ผมซาบซึ้งและขอบคุณยิ่ง _/]\_
 
แต่เพื่อน ๆ ครับ ผมไม่สามารถติดต่อหาใครมาทำได้จริง ๆ คิดแค่ว่าอยู่ดูมันเติบโตมาได้ 10 ปีแล้ว...ตัวเองจะอยู่ได้อีกเท่าไหร่กัน? ไม่ใส่ใจแล้วว่าตึกจะพังเพราะรากไทร ตาแก่บ้านห้างฉัตรคงไม่ได้เห็นเมื่อถึงวันนั้น แต่สำหรับปัจจุบัน...ขอเพียงได้แก้ไขไปตามมีตามเกิดหรือเท่าที่ทำได้ก็พอ! ผมสั่งซื้อเสียมขุดดิน แทงปาล์ม ทำจากเหล็กแหนบแท้ มาจาก Shopee ในราคา 195 บาท (สงฟรี) ได้รับแล้วเช้านี้เอง...
 

มีความยาวรวมกัน 120 ซม. ด้วยด้ามจับเหมาะมือ ผมนำมันขึ้นไปจัดการกับต้นไทรโดยเอื้อมแขนผ่านช่องลมออกไปแซะตัดกิ่งไทรออกไปได้จนเกือบหมดในเวลาไม่นานนัก...

 

เอาแค่นี้ก่อน ค่อยแซะไปเรื่อย ๆ คาดว่าอีกไม่นานต้นไทรก็คงหมดไป...


อู่หลงยังคงทำหน้าที่ inspector คอยคุมอยู่ไม่ให้คลาดสายตา


เสียมที่ซื้อมาใช้แล้ว ผมจะเอาติดรถไว้ใช้ป้องกันตัวในยามฉุกเฉินกลางป่ากลางเขา!

Thursday, December 26, 2024

Time for renovation

คืนที่ผ่านมา...ตื่นขึ้นกลางดึกรู้สึกว่าอากาศหนาวกว่าเดิม ผมคิดในใจว่าผ้านวมผืนเดียวดูท่าจะเอาไม่อยู่ซะแล้ว!!

 
แม้แต่เจ้าอู่หลงก็ยัง fled his country ย้ายจากที่นอนของมันขึ้นมาอาศัยนอนอิงข้าง ๆ ขาผม ปกติแล้วผมชอบอากาศหนาวเย็นมาก ช่วงปลายปีจะรอคอยลมเหนือและดีใจทุกครั้งที่ได้สัมผัสกับความเย็น เคยเดินทางแบกเป้ไปต่างประเทศที่มีอากาศค่อนข้างหนาวเย็น...ผมก็ไม่หวั่นไหว เคยนอนหนาวสั่นอยู่ข้างสถานีรถไฟ ในสวนสาธารณะ หรือในตู้โทรศัพท์ก็เจอมาหมดแล้ว! เร็ว ๆ นี้ก็ยังรู้สึกเพลิดเพลินไปกับการตั้งเต็นท์นอนบนภูอยู่นะ แต่ไม่รู้ทำไมเมื่อคืนนี้ผมถึงเริ่มรู้สึกว่าร่างกายคงไม่ไหวแล้วสำหรับการผจญภัยต่อสู้กับความโดดเดี่ยวและหนาวเย็น ???...
 
ตั้งเต็นท์นอนใน Australia

คำตอบอาจเป็นไปได้ว่าตาแก่บ้านห้างฉัตรคนนี้แก่เกินที่จะเผชิญกับความหนาวเย็นเช่นนั้นอีกต่อไปแล้วกระมัง? ยัง"กึ๊ดยาก (หนักใจ) อยู่ว่าถ้าพาอู่หลงไปตั้งเต็นท์นอนหรือนอนในรถอยู่ท่ามกลางอากาศหนาวระดับต่ำสิบ มันจะเป็นความสุขหรือความทุกข์กันแน่ ???  ได้เห็นรายงานอุณหภูมิใน New York เมืองที่เพื่อนจำรัสอาศัยอยู่ ผมรู้สึกหนาวไปถึงไขสันหลัง คิดว่าถ้า freezing อย่างเนี้ย...ผมอยู่ไม่ได้แน่นอน!!!
 
 
 
เช้านี้ขึ้นไปรับแสงแดดบนดาดฟ้า ผมรู้สึกได้ถึงไออุ่นและความปลอดภัย มองเห็นป้าย "ลุงน้ำชา" ที่เดชาเพื่อนจิตรกรเขียนลายสือล้านนา (ตั๋วเมียง) ไว้ให้...
 
 
รั้วไม้ระแนงที่ทำไว้แบบหยาบ ๆ ทำให้ผมคิดว่าอย่างน้อยภายในอาณาเขตรั้วรอบขอบชิดเช่นนี้ ก็ยังมีความปลอดภัยและอิสระเสรีที่จะสัมผัสธรรมชาติที่ไม่ต้องแสวงหา...


ดอยขุนตานก็มีให้เห็นได้ทุกเวลาที่ท้องฟ้าสดใส...
 
 
 
เบื้องล่างความเขียวชอุ่มกลับมาแล้ว สวนสัตว์ธรรมชาติปรากฏให้เห็น...
 

 
 
แม้นกยางจะมีไม่มาก แต่ก็มาให้เห็น...
 
 
 
ข้างบนนี้ก็มีเจ้าสี่ขาคอยเดินตามไม่ห่าง...
 
 
อยากเริ่มโครงการปรับปรุง green workshop ให้กลับมีชีวิตชีวาขึ้นมาใหม่ ผมคิดจะหนีมลพิษจากสี่แยกไฟแดงห้างฉัตรใหม่ขึ้นมานอนบนนี้ เป็นที่ ๆ มีอากาศบริสุทธิ์มากกว่า เริ่มด้วยการรื้อถอนเถาวัลย์ที่พาดพันต้นมะกรูดก่อนเลย...



เปิดเข้าไปสำรวจภายใน workshop อยากจะปรับให้มันเป็นห้องนอนแทนห้องเก็บของ...





ใกล้เที่ยงแล้ว ผมเก็บใบมะกรูดติดมือลงไปทำต้มยำ...


ไม่ได้เด็ดเฉพาะใบ แต่หักลงไปทั้งกิ่ง เพราะมันยื่นออกมาข่วนแขนยามเดินผ่าน!! เด๋วจะต้องถูกต้มทั้งเป็น 555

Wednesday, December 25, 2024

แนวรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงใหม่

วันนี้ขอพูดเรื่องรถไฟอีกสักหน่อยนะครับ...

ด้วยว่าในอนาคตอันใกล้นี้ผมอาจจะไม่มีโอกาสได้นั่งรถไฟชั้น 3 เดินทางไปกับเจ้าแรด (backpack ขนาดใหญ่) หรือกับเจ้า Banian (จักรยานพับล้อ 20 นิ้ว) อีกต่อไปก็ได้! รถไฟในอดีตยังอยู่ในความทรงจำเสมอมา นานแล้วสินะ...ที่ผมแบกเป้นั่งรถไฟชั้น 3 จากหัวลำโพงไปลงที่สถานีสุไหงโก-ลก

มันคือขบวนรถไฟสำหรับคนเช่นผม ผู้ไม่รังเกียจที่จะเดินทางแบบสามัญชนคนเดินดินกินข้าวแกง...

สถานการณ์ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ก็มิได้สร้างความกลัวให้...ผมรู้ว่าอีกไม่นานก็จะได้เดินทางเข้าสู่มาเลเซียอย่างปลอดภัย

ก่อนเที่ยงวันนั้นก็เดินทางถึงสถานีรถไฟสุไหงโก-ลก...ผมได้รับการต้อนรับอย่างดีด้วยห้องน้ำเรียบง่ายแต่สะอาด

ที่ผมเขียนถึงรถไฟในวันนี้ เพราะได้รับทราบเกี่ยวกับโครงการรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงซึ่ง รฟท. (การรถไฟแห่งประเทศไทย) กำลังพัฒนาและเร่งมือก่อสร้าง....

ดึงดูดความสนใจของคนรักรถไฟอย่างผมมากหน่อยคือ ทางรถไฟทางคู่จากเด่นชัยไปสุดทางที่เชียงของ สายนี้สร้างใหม่หมดด้วยระยะทาง 322 กิโลเมตร (งบประมาณ 7.29 หมื่นล้านบาท) สร้างได้ 12.6% แล้ว มีแผนเปิดบริการปี 71

ภาพจาก srt-denchai-chiangrai-chiangkhong.com - ขอขอบคุณ

มีข่าวด้วยว่าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่เฟส 2 รวม 2 เส้นทางกำลังอยู่ในขั้นตอนเสนอ ครม. เห็นชอบให้ก่อสร้างภายในปีนี้ นั่นคือ ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 281 กิโลเมตร วงเงิน 8.11 หมื่นล้านบาท และ ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กิโลเมตร วงเงิน 6.82 หมื่นล้านบาท วางไว้ถึง 4 ทางเลือก ทางเลือกหนึ่งซึ่งน่าสนใจมีดังนี้...

 - เริ่มต้นโครงการฯ จากสถานีเด่นชัย กม.533+947 จนถึงสถานีปากปาน กม.538+447 ต. ไทรย้อย อ. เด่นชัย จ. แพร่ - ออกจากสถานีปากปาน เส้นทางรถไฟจะปรับออกจากเขตทางรถไฟเดิมเพื่อให้สามารถวิ่งได้ด้วยความเร็วสูงสุดได้ 120 กม./ชม. จนบรรจบทางรถไฟปัจจุบัน ที่สถานีแก่งหลวง กม. 544+947 ต. แม่ปาน อ. ลอง จ. แพร่โดยในช่วงดังกล่าวทางรถไฟจะไต่ขึ้นด้วยความลาดชันประมาณ 7 ใน 1000 มีการเจาะอุโมงค์บริเวณ กม. 543+627 และ กม. 544+469 ยาว 288 และ 690 เมตรตามลำดับ - จากสถานีแก่งหลวงถึง กม. 554+612 ต.แม่ปาน อ.ลอง จ.แพร่ แนวเส้นทางจะเป็นทางราบแต่จะมีการปรับรัศมีโค้งเพื่อให้สามารถวิ่งได้ 120 กม./ชม. จากนั้นจะเชิดขึ้นด้วยความลาดชัน 7 ใน 1000 ผ่านอุโมงค์ที่ กม. 555+704 ความยาว 500 เมตรจนถึง กม. 557+550 ต.บ้านปิน อ.ลอง จ.แพร่ จากนั้นแนวเส้นทางจะลดระดับลงด้วยความลาดชัน 12 ใน 1000 เข้าสู่สถานีบ้านปิน กม. 562+516 - ช่วงสถานีบ้านปิน ถึงสถานีปางป๋วย แนวเส้นทางเมื่อออกจากสถานีบ้านปินจะไต่ระดับด้วยความลาดชัน 10 ใน 1000 ผ่านสถานีผาคัน กม. 576+229 และสิ้นสุดที่สถานีปางป๋วย กม. 587+788 โดยในช่วงนี้จะการปรับรัศมีโค้งตลอดแนวเส้นทางและก่อสร้างอุโมงค์จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ กม. 571+ 603 กม. 574+647 กม. 577+743 และ กม. 582+485 ระยะทาง 200 270 250 และ 3,500 เมตรตามลำดับ
- ช่วงสถานีปางป๋วย ถึงสถานีแม่เมาะ แนวเส้นทางจากสถานีปางป๋วยจะไต่ระดับลงด้วยความลาดชัน 12 ใน 1000 และ ปรับรัศมีโค้งเป็นระยะ ๆ ผ่านสถานีแม่จาง เข้าสู่สถานีแม่เมาะ กม. 605+747 - ช่วงสถานีแม่เมาะถึงสถานีศาลาผาลาด แนวเส้นทางจะเป็นลักษณะของการเลาะไต่ขึ้นลงภูเขาด้วยความลาดชัน 12 ใน 1000 โดยมีจุดสูงสุดอยู่ที่ กม. 613+605 - ช่วงสถานีศาลาผาลาด ถึงสถานีลำปาง แนวเส้นทางจะลดระดับลงด้วยความลาดชันประมาณ 7 - 12 ใน 1000 เพื่อแก้ปัญหาจุดตัด

จากสถานีจังหวัดลำปาง-สถานีจังหวัดเชียงใหม่ ระยะทาง 84 กิโลเมตร สามารถใช้ความเร็วสูงสุดได้ 160 กม./ชม. - ช่วง กม. 607+447 - กม.631+447 แนวเส้นทางเข้าอยู่ในเขตทางการรถไฟ ฯ และขนานไปกับทางรถไฟเดิมมีแนวเส้นทางร่วมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงตั้งแต่ กม. 610+947 บริเวณก่อนเข้าสถานีหนองวัวเฒ่าผ่านสถานีลำปางไปจนถึงสถานีห้างฉัตร
- จากสถานีห้างฉัตร แนวเส้นทางแยกออกจากเขตทางการรถไฟฯ ทางด้านทิศตะวันตก จาก อ. ห้างฉัตร จ. ลำปาง เข้าสู่ อ. แม่ทา จ. ลำพูน แนวเส้นทางมีความลาดชันขึ้นภูเขาจนถึงอุโมงค์ช่วง กม. 645+447- กม. 652+947 จากนั้นเป็นแนวเส้นมีความชันลาดลงข้ามสะพานแม่น้ำแม่ทา ที่ กม. 659+173 และตัดกับทางรถไฟเดิมบริเวณ กม. 659+627 ในพื้นที่ ต. ทาสบเส้า อ. แม่ทา จ. ลำพูน - จาก กม. 659+173 แนวเส้นทางแยกออกจากเขตาทางการรถไฟฯ ทางด้านทิศตะวันออกผ่าน ต. ศรีบัวบาน ผ่านอุโมงค์บริเวณ กม. 660+721 และ กม.  660+879ความยาว 600 เมตร และ 540 เมตรตามลำดับ จากนั้นแนวเส้นทางมีความลาดชันลงและเข้าบรรจบกับแนวเส้นทางรถไฟเดิมบริเวณ กม. 671+947 ในพื้นที่ ต. ป่าสัก อ. เมือง จ. ลำพูน - จาก กม. 671+947 แนวเส้นทางเข้าอยู่ในเขตทางการรถไฟฯ และขนานไปกับทางรถไฟเดิม มีลักษณะเป็นทางราบ ผ่าน จ. ลำพูนในพื้นที่ ต. เวียงยอง ต. เมืองง่าและ ต. อุโมงค์ เข้าสู่ อ. สารภี จ. เชียงใหม่ ในพื้นที่ ต. สารภี ต. ยางเนิ้ง และ ต.หนองผึ้ง ในพื้นที่ อ. เมือง ผ่าน ต. ท่าศาลา และสิ้นสุดโครงการที่สถานีจังหวัดเชียงใหม่ ต. วัดเกตุ อ. เมือง จ. เชียงใหม่
สถานีหลักตามทางนี้ประกอบด้วย 19 สถานี ได้แก่ ปากปาน แก่งหลวง ห้วยแม่ต้า บ้านปิน ผาคัน ปางป๋วย แม่จาง แม่เมาะ ศาลาผาลาด แม่ทะ หนองวัวเฒ่า ลำปาง ห้างฉัตร ศาลาแม่ทา หนองหล่ม (ตำแหน่งใหม่) ลำพูน ป่าเส้า สารภี และเชียงใหม่

หากโครงการดังกล่าวได้รับการอนุมัติในไม่ช้า ตาแก่บ้านห้างฉัตรคงมีโอกาสทันได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับสถานีรถไฟห้างฉัตรซึ่งจะจัดเป็นศูนย์ขนส่งสินค้า (CY) อย่างแน่นอน!

Click on the image for full size
ขอขอบคุณภาพและข้อมูลจาก Facebook ข่าวรถไฟ

กลัวอย่างเดียวว่าต่อไปขบวนรถไฟท้องถิ่นเชียงใหม่-นครสวรรค์อย่างที่ผมนิยมนั่ง อาจไม่มีให้บริการเช่นเดียวกับรถเมล์เขียวที่เคยวิ่งผ่านหน้าบ้านทุกวี่วันตอนย้ายมาอยู่ที่ห้างฉัตรใหม่ ๆ

ถึงวันนั้นสถานีรถไฟที่มีรถไฟหยุดรับส่งผู้โดยสารแค่วันละ 2 ขบวนก็อาจไม่มีอีกต่อไป!

ชุบชีวิตแบตเตอรี่รถยนต์

 ผมกับอู่หลงกลายเป็นช่างซ่อมแบตเตอรี่รถยนต์ไปซะแล้ว!!

สืบเนื่องมาจากการติดตั้งระบบโซล่าเซลล์บนหลังคาดาดฟ้าและการมีเจ้า Eddy (รถยนต์กระป๋อง) มาเป็นภาระให้ต้องดูแล ทำให้ผมต้องทำงานอยู่กับแบตเตอรี่รถยนต์ขนาด 12V 50AH จำนวนหลายลูก (ไม่อยากนับเพราะนับแล้วปวดใจ-ต้องใช้เงินไม่น้อยไปกับมัน)  แบตเตอรี่เกือบทุกลูกเสียหมด...เพราะขาดการดูแล ผมปล่อยให้น้ำกรดแห้งบ้าง ต่อสายไม่แน่นบ้าง หรือแม้กระทั่งจอดรถไว้นาน รู้ตัวอีกทีก็สายเสียแล้ว ต้องยกแบตฯ ลูกหนึ่งไปหานายช่างซ่อมไดนาโมใกล้บ้าน เขาเอาไปเติมน้ำกลั่นแล้วชาร์จทิ้งไว้ข้ามคืน พอผมไปรับกลับมา (ถูกคิดค่ารักษา 100 บาทถ้วน) ก็ต้องผิดหวังเพราะมันใช้ไม่ได้ นำไปสตาร์ทรถก็ไม่ได้ เสียเงินเปล่า!!!! แบตเตอรี่เสียทำให้ระบบโซล่าเซลล์ทำงานไม่ปกติ! ช่างเหอะต้องหันกลับมาลงมือทำด้วยตนเองอีกแล้ว!

สั่งซื้อน้ำยาฟื้นฟูแบตเตอรี่รถยนต์ (ชาร์จอัพ) มาลองใช้ ขวดละ 60 บาท (เล็กนิดเดียว) 2 ขวดหมดไป 120 ใส่แบตเตอรี่ได้แค่ 2 ลูก ทำตามขั้นตอนที่เค้าบอก ผลออกมาคือสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการชาร์จได้แค่เพียง 20 เปอร์เซนต์ (ประมาณนั้น) ผมต่อชาร์จไฟแล้วได้กระแสนิดเดียว ชาร์จไว้ 2 วัน เอาไปใช้กับรถยนต์ก็สตาร์ทไม่ได้! สิ้นหวัง...เฮ้อ มีหม้อแบตเตอรี่หลายตัวแต่ไม่สามารถนำไปใช้กับเจ้า Eddy ได้เลย (ถ้าอย่างเนี้ย...จะไปเที่ยว Travels with Oolond ก็คงไม่ได้แย้ว!!! ผมคิดในใจ)  ช่างเหอะยังไม่ยอมแพ้ ขอทดลองชุบชีวิตแบตฯ ที่มีอยู่โดยการใช้น้ำยาล้างห้องน้ำอีกสักครั้ง เครื่องไม้เครื่องมือก็มีอยู่แล้ว ที่ต้องซื้อมาเพิ่มก็มีแค่เพียงน้ำกรดราคาขวดละ 22 บาท ได้มาครบแล้วก็ลงมือกันเลย...

ลองกับเจ้า GS ตัวนี้ก่อนเลย มันตายไปนานแล้ว (ประมาณ 2 ปีเห็นจะได้) ผมจัดการคว่ำหม้อ เทน้ำกรดที่หลงเหลืออยู่ออกให้หมดก่อน

ต้มน้ำกรอกเข้าไปล้างก่อนเป็นลำดับแรก จากนั้นก็เทน้ำทิ้งแล้วใส่น้ำร้อนลงไปอีกพร้อมกับน้ำยาล้างห้องน้ำช่องละ 1 ฝา อย่าลืมสวมหน้ากาก (mask) และถุงมือ (glove) เพราะมันเหม็นและอันตรายต่อปอดเป็นอย่างยิ่ง...

ใส่น้ำยาล้างแล้วเขย่า ๆ แบตฯ ไปมา... ผมนับด้านละ 110 ครั้ง รวมเป็น 440 ครั้งอย่างใจเย็น พยายามไม่หายใจสูดกลิ่นน้ำกรดเข้าปอด จากนั้นก็คว่ำหม้อเทน้ำออก ขั้นตอนนี้จะเห็นฝุ่นตะกอนสีดำออกมาด้วยจำนวนไม่น้อย จากนั้นก็ล้างแผ่นธาตุต่อโดยใช้น้ำร้อน (ไม่ผสมน้ำยาล้างห้องน้ำอีก) ทำวิธีเดียวกันด้วยการเขย่านับ 110 x 4 ครั้งแล้วเทน้ำทิ้ง (จะเห็นว่าความสกปรกค่อย ๆ ลดลง) ให้ทำการล้างเช่นนั้นอีก 3 รอบเป็นอย่างน้อย ก่อนที่จะคว่ำหม้อเทน้ำทิ้งเป็นครั้งสุดท้าย.... 

จากนั้นก็ทำความสะอาดด้านนอก แล้วนำไปตั้งผึ่งแดดทิ้งไว้ 2 วัน...

เมื่อวานนี้ ผมนำกลับขึ้นมาแล้ว... 

เติมน้ำกรดให้ท่วมแผ่นธาตุทุก ๆ ช่อง แล้วทดลองต่อชาร์จไฟจากระบบโซล่าเซลล์ทันที...

ผลปรากฏว่ามันเริ่มชาร์จด้วยระดับกระแส 1- 2 แอมป์แล้วเพิ่มเป็น 4 แอมป์...

ชาร์จทิ้งไว้ข้ามคืน วันนี้ช่างเหอะกับ inspector Oolong ขึ้นมาดูการทำงานของแบตเตอรี่ที่ได้ชุบชีวิตขึ้นมาใหม่...สังเกตเห็นน้ำกรดเดือดปุด ๆ จับตัวหม้ออุ่น ๆ


คิดว่าเจ้า GS มันฟื้นแล้วนะ...อู่หลงรายงาน

Life, love, laughter, labour and listening.

ากจุดที่เห็น... ตรงเสาไฟต้นที่ 3 ก็ถึงหน้าบ้านร้านเปียโนของผมแล้วล่ะ!!
 
ภาพจาก Facebook เทศบาลตำบลห้างฉัตรแม่ตาล ขอขอบคุณ

นึกแล้วว่าหากสี่แยกไฟแดง (Hangchat Intersection) สร้างเสร็จเมื่อไหร่ ไม่นานคงได้เห็นอุบัติเหตุเกิดขึ้น และก็เป็นอย่างที่คิดไว้จริง ๆ 

ภาพจาก Facebook เทศบาลตำบลห้างฉัตรแม่ตาล ขอขอบคุณ
 
ชีวิตหาความปลอดภัยได้น้อยลง ในขณะที่คุณภาพอากาศ (AQI) และมลพิษทางอากาศ PM 2.5 ในห้างฉัตรก็ปรากฏชัดว่าเลวร้ายลงทุกที...
 
ภาพจาก Facebook เทศบาลตำบลห้างฉัตรแม่ตาล ขอขอบคุณ
 
ไหนจะต้องเจอควันพิษจากท่อไอเสียรถที่มาจอดติดไฟแดงที่หน้าบ้านเข้าอีก ตาแก่เมืองรถม้าเริ่มรู้สึกล้าและถดถอยกำลังใจที่จะใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ซะแล้ว!!! 
 

ข่าวและภาพแผ่นดินไหวที่วานูวาตู ติด ๆ กันหลายวัน ทำให้คิดว่าตึกสูงก่อให้เกิดความเสียหายและอันตรายต่อชีวิตผู้อยู่อาศัยมากกว่าในกระท่อมเล็ก ๆ ของคนจน
 
ภาพจากอินเทอร์เน็ต - ขอขอบคุณ

ภาพจากอินเทอร์เน็ต - ขอขอบคุณ

ภาพจากอินเทอร์เน็ต - ขอขอบคุณ

เช้านี้ผมเปิดฟังการให้สัมภาษณ์ของ Dr Gladys McGarey อายุ 103 ปี (the co-founder of the American Holistic Medical Association and the author of the fantastic book "The Well-Lived Life: A 103-Year-Old Doctor's Six Secrets to Health and Happiness at Every Age.") ในเว็บของ Dr.Rangan Chatterjee แล้วประเทืองปัญญา เกิดความหวังและความคิดที่ดี ๆ ขี้นมาไม่น้อยเลย...

ภาพจากเว็บของ Dr.Rangan Chatterjee - ขอขอบคุณ

ภาพจากเว็บของ Dr.Rangan Chatterjee - ขอขอบคุณ
 
Dr.Rangan Chatterjee เขียนว่า...

We explore how to avoid living with regrets, the importance of parents truly listening to and supporting their children and finding your unique purpose that ‘feeds your soul’. We also look at how we can bring a more positive attitude to negative experiences and how Gladys lives by what she calls her "5 Ls" - life, love, laughter, labour and listening.

Still thriving at 103, she embodies staying curious, adaptable and active. During our conversation, she shares her views on ageing, believing in ‘ageing into health’ rather than ‘anti-ageing.’ She also stresses the importance of doctors listening to - and loving - their patients but that it’s ultimately us who are responsible for our own healing.

Gladys’s century of life experiences has something to offer everyone. Her wisdom will inspire you to reflect on your own purpose, face life's challenges with resilience and make the most of the years ahead.

บังเอิญได้ยินท่านนายกทักษิณพูดที่เชียงใหม่ว่าจะมีอายุอีก 40 ปี นั่นหมายถึงว่าอยู่ได้ถึง 115 ปี++ รู้สึกทึ่งมากครับ...

ภาพจากข่าวในอินเทอร์เน็ต - ขอขอบคุณ

ผมไม่เคยตีกอล์ฟและไม่เคยกินยาบำรุงราคาแพง รับแค่ยาฟรีจากโรงพยาบาลห้างฉัตรเท่านั้น แต่ก็มี life, love, laughter, labour and listening ครบถ้วนกั๊บ!!