วันนี้ขอพูดเรื่องรถไฟอีกสักหน่อยนะครับ...
ด้วยว่าในอนาคตอันใกล้นี้ผมอาจจะไม่มีโอกาสได้นั่งรถไฟชั้น 3 เดินทางไปกับเจ้าแรด (backpack ขนาดใหญ่) หรือกับเจ้า Banian (จักรยานพับล้อ 20 นิ้ว) อีกต่อไปก็ได้! รถไฟในอดีตยังอยู่ในความทรงจำเสมอมา นานแล้วสินะ...ที่ผมแบกเป้นั่งรถไฟชั้น 3 จากหัวลำโพงไปลงที่สถานีสุไหงโก-ลก
มันคือขบวนรถไฟสำหรับคนเช่นผม ผู้ไม่รังเกียจที่จะเดินทางแบบสามัญชนคนเดินดินกินข้าวแกง...
สถานการณ์ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ก็มิได้สร้างความกลัวให้...ผมรู้ว่าอีกไม่นานก็จะได้เดินทางเข้าสู่มาเลเซียอย่างปลอดภัย
ก่อนเที่ยงวันนั้นก็เดินทางถึงสถานีรถไฟสุไหงโก-ลก...ผมได้รับการต้อนรับอย่างดีด้วยห้องน้ำเรียบง่ายแต่สะอาด
ที่ผมเขียนถึงรถไฟในวันนี้ เพราะได้รับทราบเกี่ยวกับโครงการรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงซึ่ง รฟท. (การรถไฟแห่งประเทศไทย) กำลังพัฒนาและเร่งมือก่อสร้าง....
ดึงดูดความสนใจของคนรักรถไฟอย่างผมมากหน่อยคือ ทางรถไฟทางคู่จากเด่นชัยไปสุดทางที่เชียงของ สายนี้สร้างใหม่หมดด้วยระยะทาง 322 กิโลเมตร (งบประมาณ 7.29 หมื่นล้านบาท) สร้างได้ 12.6% แล้ว มีแผนเปิดบริการปี 71
ภาพจาก srt-denchai-chiangrai-chiangkhong.com - ขอขอบคุณ |
มีข่าวด้วยว่าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่เฟส 2 รวม 2 เส้นทางกำลังอยู่ในขั้นตอนเสนอ ครม. เห็นชอบให้ก่อสร้างภายในปีนี้ นั่นคือ ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 281 กิโลเมตร วงเงิน 8.11 หมื่นล้านบาท และ ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กิโลเมตร วงเงิน 6.82 หมื่นล้านบาท วางไว้ถึง 4 ทางเลือก ทางเลือกหนึ่งซึ่งน่าสนใจมีดังนี้...
- เริ่มต้นโครงการฯ จากสถานีเด่นชัย กม.533+947 จนถึงสถานีปากปาน กม.538+447 ต. ไทรย้อย อ. เด่นชัย จ. แพร่ - ออกจากสถานีปากปาน เส้นทางรถไฟจะปรับออกจากเขตทางรถไฟเดิมเพื่อให้สามารถวิ่งได้ด้วยความเร็วสูงสุดได้ 120 กม./ชม. จนบรรจบทางรถไฟปัจจุบัน ที่สถานีแก่งหลวง กม. 544+947 ต. แม่ปาน อ. ลอง จ. แพร่โดยในช่วงดังกล่าวทางรถไฟจะไต่ขึ้นด้วยความลาดชันประมาณ 7 ใน 1000 มีการเจาะอุโมงค์บริเวณ กม. 543+627 และ กม. 544+469 ยาว 288 และ 690 เมตรตามลำดับ - จากสถานีแก่งหลวงถึง กม. 554+612 ต.แม่ปาน อ.ลอง จ.แพร่ แนวเส้นทางจะเป็นทางราบแต่จะมีการปรับรัศมีโค้งเพื่อให้สามารถวิ่งได้ 120 กม./ชม. จากนั้นจะเชิดขึ้นด้วยความลาดชัน 7 ใน 1000 ผ่านอุโมงค์ที่ กม. 555+704 ความยาว 500 เมตรจนถึง กม. 557+550 ต.บ้านปิน อ.ลอง จ.แพร่ จากนั้นแนวเส้นทางจะลดระดับลงด้วยความลาดชัน 12 ใน 1000 เข้าสู่สถานีบ้านปิน กม. 562+516 - ช่วงสถานีบ้านปิน ถึงสถานีปางป๋วย แนวเส้นทางเมื่อออกจากสถานีบ้านปินจะไต่ระดับด้วยความลาดชัน 10 ใน 1000 ผ่านสถานีผาคัน กม. 576+229 และสิ้นสุดที่สถานีปางป๋วย กม. 587+788 โดยในช่วงนี้จะการปรับรัศมีโค้งตลอดแนวเส้นทางและก่อสร้างอุโมงค์จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ กม. 571+ 603 กม. 574+647 กม. 577+743 และ กม. 582+485 ระยะทาง 200 270 250 และ 3,500 เมตรตามลำดับ
- ช่วงสถานีปางป๋วย ถึงสถานีแม่เมาะ แนวเส้นทางจากสถานีปางป๋วยจะไต่ระดับลงด้วยความลาดชัน 12 ใน 1000 และ ปรับรัศมีโค้งเป็นระยะ ๆ ผ่านสถานีแม่จาง เข้าสู่สถานีแม่เมาะ กม. 605+747 - ช่วงสถานีแม่เมาะถึงสถานีศาลาผาลาด แนวเส้นทางจะเป็นลักษณะของการเลาะไต่ขึ้นลงภูเขาด้วยความลาดชัน 12 ใน 1000 โดยมีจุดสูงสุดอยู่ที่ กม. 613+605 - ช่วงสถานีศาลาผาลาด ถึงสถานีลำปาง แนวเส้นทางจะลดระดับลงด้วยความลาดชันประมาณ 7 - 12 ใน 1000 เพื่อแก้ปัญหาจุดตัด
จากสถานีจังหวัดลำปาง-สถานีจังหวัดเชียงใหม่ ระยะทาง 84 กิโลเมตร สามารถใช้ความเร็วสูงสุดได้ 160 กม./ชม. - ช่วง กม. 607+447 - กม.631+447 แนวเส้นทางเข้าอยู่ในเขตทางการรถไฟ ฯ และขนานไปกับทางรถไฟเดิมมีแนวเส้นทางร่วมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงตั้งแต่ กม. 610+947 บริเวณก่อนเข้าสถานีหนองวัวเฒ่าผ่านสถานีลำปางไปจนถึงสถานีห้างฉัตร
- จากสถานีห้างฉัตร แนวเส้นทางแยกออกจากเขตทางการรถไฟฯ ทางด้านทิศตะวันตก จาก อ. ห้างฉัตร จ. ลำปาง เข้าสู่ อ. แม่ทา จ. ลำพูน แนวเส้นทางมีความลาดชันขึ้นภูเขาจนถึงอุโมงค์ช่วง กม. 645+447- กม. 652+947 จากนั้นเป็นแนวเส้นมีความชันลาดลงข้ามสะพานแม่น้ำแม่ทา ที่ กม. 659+173 และตัดกับทางรถไฟเดิมบริเวณ กม. 659+627 ในพื้นที่ ต. ทาสบเส้า อ. แม่ทา จ. ลำพูน - จาก กม. 659+173 แนวเส้นทางแยกออกจากเขตาทางการรถไฟฯ ทางด้านทิศตะวันออกผ่าน ต. ศรีบัวบาน ผ่านอุโมงค์บริเวณ กม. 660+721 และ กม. 660+879ความยาว 600 เมตร และ 540 เมตรตามลำดับ จากนั้นแนวเส้นทางมีความลาดชันลงและเข้าบรรจบกับแนวเส้นทางรถไฟเดิมบริเวณ กม. 671+947 ในพื้นที่ ต. ป่าสัก อ. เมือง จ. ลำพูน - จาก กม. 671+947 แนวเส้นทางเข้าอยู่ในเขตทางการรถไฟฯ และขนานไปกับทางรถไฟเดิม มีลักษณะเป็นทางราบ ผ่าน จ. ลำพูนในพื้นที่ ต. เวียงยอง ต. เมืองง่าและ ต. อุโมงค์ เข้าสู่ อ. สารภี จ. เชียงใหม่ ในพื้นที่ ต. สารภี ต. ยางเนิ้ง และ ต.หนองผึ้ง ในพื้นที่ อ. เมือง ผ่าน ต. ท่าศาลา และสิ้นสุดโครงการที่สถานีจังหวัดเชียงใหม่ ต. วัดเกตุ อ. เมือง จ. เชียงใหม่
สถานีหลักตามทางนี้ประกอบด้วย 19 สถานี ได้แก่ ปากปาน แก่งหลวง ห้วยแม่ต้า บ้านปิน ผาคัน ปางป๋วย แม่จาง แม่เมาะ ศาลาผาลาด แม่ทะ หนองวัวเฒ่า ลำปาง ห้างฉัตร ศาลาแม่ทา หนองหล่ม (ตำแหน่งใหม่) ลำพูน ป่าเส้า สารภี และเชียงใหม่
หากโครงการดังกล่าวได้รับการอนุมัติในไม่ช้า
ตาแก่บ้านห้างฉัตรคงมีโอกาสทันได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับสถานีรถไฟห้างฉัตรซึ่งจะจัดเป็นศูนย์ขนส่งสินค้า (CY) อย่างแน่นอน!
ขอขอบคุณภาพและข้อมูลจาก Facebook ข่าวรถไฟ |
กลัวอย่างเดียวว่าต่อไปขบวนรถไฟท้องถิ่นเชียงใหม่-นครสวรรค์อย่างที่ผมนิยมนั่ง อาจไม่มีให้บริการเช่นเดียวกับรถเมล์เขียวที่เคยวิ่งผ่านหน้าบ้านทุกวี่วันตอนย้ายมาอยู่ที่ห้างฉัตรใหม่ ๆ
ถึงวันนั้นสถานีรถไฟที่มีรถไฟหยุดรับส่งผู้โดยสารแค่วันละ 2 ขบวนก็อาจไม่มีอีกต่อไป!
No comments:
Post a Comment