สมัยที่ผมไปเตะฝุ่นอยู่ในออสเตรเลีย มันราคาแค่ลิตรละ ๓ เหรียญกว่าเอง!!! (ตอนนั้นอัตราแลกเปลี่ยนเหรียญละ ๑๘ บาทโดยประมาณ) นับว่า Yogurt ที่นั่นถูกมาก ๆ ผมอยากให้โยเกิร์ตที่บ้านเราราคาถูกเหมือนกัน…
เคยกินที่อินเดีย โยเกิร์ตของแขกมันข้นจัดจนคล้ายเนย มีกลิ่นแปลก ๆ ด้วย แต่ผมก็ชอบ ทุกวันนี้ ผมทำนมเปรี้ยวกินเอง ประหยัดดี แถมมีคุณค่าทางอาหารมากกว่าที่ขายตามท้องตลาดเสียอีก ผมไม่รู้หรอกว่ากรรมวิธีที่เค้าผลิตออกจำหน่ายโดยทั่ว ๆ ไปเค้าทำกันอย่างไร และสงสัยอยู่เหมือนกันว่าทำไม yogurt ของแขกจึงมีรสชาติและกลิ่นเช่นนั้น
ผมทำนมเปรี้ยวโดยใช้บัวหิมะ (Snow Lotus) ซึ่งมีผู้เมตตาให้มา ได้ยินชื่อ “บัวหิมะ” บางคนอาจนึกถึงหนังกำลังภายในที่พระเอกลุยเข้าไปในถ้ำเพื่อค้นหาแล้วต่อสู้แย่งชิงกัน คงเป็นคนละตัวกับที่ผมใช้ทำนมเปรี้ยวอยู่ทุกวันนี้
ไม่ยากเลย….แค่เลี้ยงบัวหิมะด้วยนมธรรมดาที่ซื้อมาจากห้างฯ อาจารย์ธวัช ทะพิงค์แก แห่งศูนย์พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อชนบทได้เขียนไว้ว่า...
“บัวหิมะ (Snow Lotus) เป็นกลุ่มของจุลินทรีย์พวก แบคทีเรีย อยู่รวมกับยิสต์ เป็นเมล็ดคล้ายสาคูที่ประกอบด้วยแคซีนและเจ็ลที่เป็นผลผลิตของจุลินทรีย์ ถ้าเพาะเลี้ยงบัวหิมะใน นม น้ำเต้าหู้ หรือน้ำมะพร้าว ก็จะได้ผลิตภัณฑ์คล้ายนมเปรี้ยวหรือโยเกิต ซึ่งอุดมด้วยสารอาหารต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยเฉพาะวิตามินส์ และกรดอินทรีย์ต่าง ๆ โดยเฉพาะกรดอะมิโนและกรดไขมันที่จำเป็น นอกจากนี้กลุ่มจุลินทรีย์ที่มีในบัวหิมะและผลิตภัณฑ์ยังสามารถควบคุม จุลินทรีย์ อื่น ๆ ที่ปนเปื้อนได้ด้วย มีรายงานในกลุ่มผู้มีปัญหากับยิสต์ฉวยโอกาส (Candida-Related Complex CRC or Yeast Syndome จากยีสต์ Candida albicans) โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับยาปฏิชีวนะ ผู้ติดเชื้อเอดส์ และผู้เป็นมะเร็งหลายรายมีอาการดีขึ้นหลังกินบัวหิมะ มีการศึกษาที่พบว่าบัวหิมะสามารถกระตุ้นให้เซลล์ร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรค ต่าง ๆ ได้สูงขึ้น และยังควบคุมการเจริญของเนื้องอกได้ ในสมัยเจงกิสข่าน เวลาออกรบ จะมีถุงที่ทำจากกระเพาะปัสสาวะของอูฐ บรรจุนมและบัวหิมะ ติดหลังม้าไปเป็นเสบียง ใช้เป็นอาหารหลักในช่วงทำการรบ
ผู้เขียนได้ รับบัวหิมะจากคุณลุงประสิทธิ์ ประภัสรานนทร์ สมาชิกของศูนย์พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อชนบทมาเมื่อประมาณกลาง เดือนมี นาคม ๒๕๔๗ บัวหิมะที่ได้รับมาเป็นเมล็ดกลมสีขาวคล้ายเมล็ดสาคู เพาะเลี้ยงในน้ำนม ในแก้วน้ำ มีผ้าขาวบางปิด พร้อมกับคำแนะนำว่าให้ใช้ผ้าขาวบางที่ปิดปากแก้วน้ำกรองแยกนมออกจากบัวหิมะ นมที่ได้ดื่มเหมือนนมเปรี้ยว ส่วนบัวหิมะที่ติดอยู่กับผ้ากรอง ให้ล้างด้วยน้ำสะอาด ๕-๖ ครั้งแล้วนำบัวหิมะกลับไปใส่แก้วน้ำกับนมจืดเพื่อเพาะเลี้ยงต่อไป วัดถัดไป หรือ ๒๔ ชั่วโมง ให้ทำซ้ำอีกและทำต่อเนื่องไป ๒๐ วันจะได้บัวหิมะเพิ่มเป็น ๒ เท่า ซึ่งควรจะแจกจ่ายส่วนที่เพิ่มให้คนอื่นต่อไป ส่วนที่เหลือให้เก็บไว้ในตู้เย็น ๑๐ วัน แล้วเริ่มต้นมาเพาะเลี้ยงและบริโภคใหม่อีกทุกวัน ต่อเนื่องไปอีก ๒๐ วัน แล้วหยุดเพาะและบริโภค โดยเก็บไว้ในตู้เย็น ๑๐ วัน และทำต่อเนื่องไปเรื่อย กล่าวกันว่าทำให้สุขภาพแข็งแรง ไม่ค่อยเจ็บไข้ได้ป่วย และมีอายุยืนยาวขึ้น
หลังจากได้รับบัวหิมะมาทำการเพาะเลี้ยงและบริโภคดู พบว่านอกเหนือจากนมจืดแล้ว นมหวาน นมรสผลไม้ น้ำเต้าหู้ และน้ำมะพร้าวก็สามารถใช้เพาะเลี้ยงบัวหิมะได้ และไม่มีความจำเป็นในการล้างบัวหิมะ และระยะเวลาในการเพาะเลี้ยงก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็น ๒๔ ชั่วโมง จะสั้นหรือยาวกว่านี้ เป็นหลาย ๆ วันก็ได้ นมเปรี้ยวที่ได้จากบัวหิมะทำให้ระบบทางเดินอาหารและการขับถ่ายดีขึ้น มีผลทางด้านอารมณ์ และการหลับนอนดีขึ้น นอกจากนี้ลองนำไปใช้กับพืชผล พบว่ามีผลเป็นอีลิซิเตอร์ ช่วยทำให้พืชทนทานต่อโรคและแมลง และส่งเสริมการเจริญเติบโต จากการตรวจสอบจากห้องปฏิบัติการ พบว่าจุลินทรีย์ที่พบในบัวหิมะ ส่วนใหญ่จะเป็นแบคทีเรียพวกที่ผลิตกรดนม (Lactobacillus caucasicus, Lactobacillus casei, Strptococcus cremoris, Streptococcus diacelilacis, Streptococcud lactis, Leuconnostoc cremoris) และยีสต์ (Saccaromyces kefir, Torula kefir) Leuconnostoc cremoris ผลิตกรดนม, น้ำส้มสายชู, acetyl-methyl carbinol diacetyl สาร ๒ ตัวที่เป็นกลิ่นของบัวหิมะ…..”
เพื่อสุขภาพที่ดี ผมอยากให้เพื่อน ๆ ได้ดื่มนมเปรี้ยวกันเป็นประจำ อ่อ…นอกจากนั้นพหูสูตรประจำเว็บบอร์ดลุงน้ำชาท่านหนึ่งยังได้ให้ความรู้เรื่องโยเกิร์ตไว้อีกด้วยว่า
“…..พยายามนึกอยู่ว่า มีสมัยนึงนิยมเลี้ยงวุ้นอะไรสักอย่างทำนองนี้ เพียงแต่เป็นเม็ดผสมยีสต์กับเชื้ออะซิโตแบคเตอร์ เขาเลี้ยงด้วยน้ำมะพร้าว ยีสต์เปลี่ยนน้ำตาลเป็นอัลกอฮอล์ เชื้ออะซิโตฯเปลี่ยนอัลกอฮอล์เป็นน้ำส้มสายชูถ้ายังงั้นเราหันมาทำโยเกิร์ตกินเองดีกว่า...
มีอีกวิธีทำโฮมโยเกิร์ตครับ ใช้โยเกิร์ตถ้วยผสมลงในน้ำนม เติมน้ำตาลเล็กน้อย แล้วเอากาละมังครอบ นำไปวางตากแดด หนึ่งแดด เคยทำสมัยเรียนหนังสือ ถ้าอยากให้เปรี้ยวแหลมก็อย่าเพิ่งกิน เอาเก็บไว้ในตู้เย็น 1-2 วัน แต่โดยวิธีนี้ต่อเชื้อไม่ได้ ทำได้แค่ขยายจากหนึ่งถ้วยเป็นหลายๆถ้วย โปรตีนในน้ำนมจะตกตะกอนเวลาเป็นกรด เลยได้เป็นถ้วยข้นๆ ไม่เหมือน drinking ซึ่งหากเทออกมาดูจะเห็นเป็นเพียงน้ำใสๆ เพราะมีโปรตีนต่ำ กินแบบข้นๆจึงดีกว่าคับ หากจะพอกหน้าก็ดีคับ เพราะกรดแลคติกจัดอยู่ในกลุ่ม ไฮดรอกซีแอซิด เขาผสมเครื่องสำอางค์เร่งการผลัดของเซลหนังกำพร้า ทำให้หน้าขาวเนียนครับ ดังนั้น หากลุงน้ำชาต้องการให้ฟิตด้วย แถมหน้าขาวด้วย ก็ใช้คู่กันได้เลยคับ อิอิ
มะอยากบอกลุงน้ำชาเลยว่า โยเกิร์ตที่เรารับประทานกัน เชื้อแลคโตแบซิลัสบางสายพันธ์ได้มาจากช่องคลอดฮับ ซึ่งเป็นเชื้อธรรมชาติที่พบได้ตามผิวหนัง ช่องคลอด ลำไส้ เชื้อจะสร้างกรดอ่อนๆ เขาไม่แนะนำให้ผู้หญิงล้างตรงนั้นด้วยสบู่ เพราะจะไปล้างเชื้อธรรมชาติออกไป กรดอ่อนๆจะกันเชื้ออื่นๆไม่ให้เติบโต หากไม่มีเชื้อแลคโตฯอยู่ เชื้อโรคอื่นจะเจริญแทน ด้วยเหตุนี้ ผู้หญิงหลายคนรู้เท่าไม่ถึงการณ์เลยมีอาการตกขาว….”
No comments:
Post a Comment