Tuesday, October 08, 2024

โคราชของเรา

สำหรับชายชราอย่างผม การนำรูปภาพเก่า ๆ ที่ตัวเองได้บันทึกไว้ด้วยกล้องฟิลม์ราคาถูกในสมัยที่ยังเป็นหนุ่มขึ้นมาดู มันคือความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่พอหาได้ในช่วงชีวิตบั้นปลาย....

รูปแม่ปราณีที่บ้านทุ่งโฮเต็ล

รู้สึกดีใจที่รักการถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก อุตส่าห์อดออมเก็บตังค์ซื้อกล้องมาใช้ ทำให้ยังคงมีรูปภาพเก็บไว้ ดูแล้วต้องย้อนคิดถึงอดีต  อย่างเช่น 
รูปสถานีรถไฟอุตรดิตถ์ถ่ายไว้เมื่อเดือนตุลาคม 2523...

"นั่งรถไฟมาจากเชียงใหม่ เพื่อเริ่มต้นการเป็นนักเล่น electone ที่จังหวัดนี้..."  

บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป ทุกวันนี้ผู้คนถ่ายรูปด้วยกล้องบนมือถือ ภาพอาจดูคมชัด แต่บรรยากาศและความรู้สึกที่ได้คงเทียบกับภาพจากกล้องใช้ฟิล์มตัวเล็ก ๆ มิได้...

อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก อยู่หน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์

วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง จักรยานที่เห็นคือ "เจ้าอามุย" เพื่อนคู่ยากยามนั้น

เจอรูปอีกบานนึง ถ่ายที่อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) ผมจำไม่ได้แล้วว่าตั้งแต่ พ.ศ. ใด?


วิกิพีเดียกล่าวเกี่ยวกับอนุสาวรีย์ย่าโมว่า...
กรมศิลปากรได้มอบให้ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบร่วมกับ พระเทวาภินิมมิตร (ฉาย เทียมศิลปไชย) ประติมากรเลื่องชื่อในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ. 2510 ทั้งนี้ได้อัญเชิญอัฐิของท่านนำมาบรรจุไว้ที่ฐานรองรับ และประดิษฐานไว้ ณ ที่หน้าประตูชุมพล อนุสาวรีย์หล่อด้วยทองแดงรมดำ สูง 1.85 เมตร หนัก 325 กิโลกรัม ตั้งอยู่บนฐานไพที สี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองซึ่งบรรจุอัฐิของท่าน แต่งกายด้วยเครื่องยศพระราชทาน ในท่ายืน มือขวากุมดาบ ปลายดาบจรดพื้น มือซ้ายท้าวสะเอว หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นทิศที่ตั้งของกรุงเทพมหานคร นับเป็นอนุสาวรีย์ของสามัญชนสตรี คนแรกของประเทศ เริ่มก่อสร้างในปี 2476 แล้วเสร็จ และ มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2477
ภาพจาก thai.tourismthailand.org - ขอขอบคุณ

ตั้งใจไว้ว่าก่อนตายขอให้ได้กลับไปเยือนโคราชอีกสักครั้ง ผมเห็นหนังสือ "โคราชของเรา" โดย:ขรรค์ชัย บุนปาน และสุจิตต์ วงษ์เทศ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน จำหน่ายในเว็บขายหนังสือออนไลน์ ราคามือสองแค่ 50 บาท จึงอยากซื้อมาอ่านเพื่อศึกษาไว้ก่อน...

รายละเอียด

"โคราช" เป็นเมืองที่มีความสำคัญและมีประวัติศาสตร์ยาวนาน เป็นแหล่งอารยธรรมและโบราณสถานมาแต่อดีตกาล เป็นเมืองอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนครบทุกด้าน เปรียบเสมือนเมืองหลวงของภาคอีสาน และเป็นประตูสู่อีสานสู่อินโดจีน หนังสือ "โคราชของเรา" เล่มนี้ จึงได้รวบรวมและเรียบเรียงความเป็นมาของมหานครโคราชในทุกด้าน จากอดีตถึงปัจจุบันสู่อนาคต ทั้งจากหลักฐานวิชาการทางประวัติศาสตร์โบราณคดี นำมาร้อยเรียงด้วยภาษาที่อ่านง่ายไม่วิชาการ พร้อมแผนที่ แผนผัง และรูปภาพประกอบตลอดทั้งเล่ม ที่จะสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของมหานครที่เก่าแก่แห่งนี้

สารบัญ

โคราชของเรา--ภูมิประเทศแอ่งโคราช--ลุ่มน้ำแอ่งโคราช--ที่ราบสูงโคราช--แผนผังและรูปตัดแสดงระดับพื้นที่ [01] 1,000,000 ปีมาแล้วโลกล้านปี         ที่ลุ่มน้ำมูล--[02] 500,000 ปีมาแล้วบรรพชนคนไทยสมัยแรกๆ--[03] 10,000 ปีมาแล้วบรรพชนคนไทยสมัยแรกๆ--[04] 5,000 ปีมาแล้วชุมชนเริ่มแรก ของบรรพชนคนอีสาน--[05] 3,000 ปีมาแล้วชุมชนคนโคราชยุคแรก--[06] หลัง พ.ศ.1 (2,500 ปีมาแล้ว) เหล็กและเกลือ สร้างความมั่นคั่ง ฯลฯ

(ที่มา - nm.sut.ac.th)

หนังสือมาแล้วกั๊บ....




ชอบครับ...คุ้มค่า! หนังสือสภาพใหม่ หนา 359 หน้า พิมพ์ด้วยฟอนต์ใหญ่ชัดเจนอ่านง่าย พร้อมแผนที่และภาพประกอบทั้งสีและขาวดำ 





ยังไปไม่ได้...อ่านหนังสือไปก่อนก็ยังดี

Thursday, September 19, 2024

เชียงใหม่-ระยอง-หลักสอง-ผักไห่

ด้หนังสือมาอีกหนึ่งเล่ม "เชียงใหม่-ระยอง-หลักสอง-ผักไห่" พูดได้ว่าเป็นอาหารสมองที่ผมพอใจมากกกก!


หนังสือหนา 342 หน้า ราคาปก 260 บาท ผมซื้อจากร้านหนังสือออนไลน์ในราคา 50 บาท...


เป็นหนังสือใหม่นะครับ ปกหน้าปกหลังพิมพ์ภาพสีบนกระดาษอาร์ต* น่าทะนุถนอมยิ่งนัก


ตรงกลางหน้า 3 จารึกไว้ว่า...
เชียงใหม่-ระยอง-หลักสอง-ผักไห่
Chiangmai - Rayong-Lak Song-Phak Hai
จากคอลัมน์ นอกตำรา ในเนชั่นสุดสัปดาห์ ชำระเรื่องสถานที่ต่าง ๆ ในแง่มุมใหม่ และข้อมูลใหม่ ไม่ซ้ำใคร พร้อมภาพประกอบมากมาย
เอนก นาวิกมูล
Anake Nawigamune
วิกิพีเดีย ให้ข้อมูลว่า...
เอนก นาวิกมูล (เกิด 14 มีนาคม พ.ศ. 2496) เป็นนักอนุรักษ์ นักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ และนักเขียนสารคดีชาวไทย ผู้ก่อตั้งบ้านพิพิธภัณฑ์ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2563
เอนก เป็นคนที่รักการสะสมแสตมป์ รูปภาพ ถ่ายรูป การเขียนหนังสือและการวาดภาพ วาดการ์ตูนมาตั้งแต่เด็ก ๆ เพื่อน ๆ ในสมัยเรียนต่างชอบอ่านหนังสือการ์ตูน นิทาน ที่เอนกทำขึ้น สมัยที่เรียน มัธยมปลาย เอนก ได้รับมอบหมายให้เป็นสารานียกร หนังสือรุ่น ซึ่งถือเป็นงานหนังสือที่เอนกได้รับผิดชอบและทำได้ดีมากรุ่นหนึ่ง ของโรงเรียนวรนารีเฉลิม เขาเรียนจบปริญญาตรีที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกียรตินิยม จากนั้นทำงานหนังสือพิมพ์ เป็นนักเขียนสารคดีเรื่องทางศิลปวัฒนธรรม เพลงพื้นบ้าน ภายหลังได้ทำงานที่ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ เชิงสะพานผ่านฟ้าฯ และริเริ่มก่อตั้ง "บ้านพิพิธภัณฑ์" เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงของใช้เก่าในชีวิตประจำวันของชาวเมืองชาวตลาด ซึ่งหน่วยงานรัฐและคนทั่วไปยังไม่สนใจเก็บรักษา โดยสร้างคำขวัญว่า "เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก๋า"
ภาพจากวิกิพีเดีย - ขอขอบคุณ

สำนักพิมพ์แสงดาวพิมพ์คลอดหนังสือเล่มนี้ออกมาได้ดีเหลือเกิน หน้า 11 - 28 พิมพ์รูปสีบนกระดาษอาร์ต* เป็นรูปเก่าซึ่งหาดูได้ยาก บันทึกโดยคุณเอนก นาวิกมูล ผู้เขียน 



ส่วนหน้าอื่น ๆ ก็พิมพ์ด้วยภาพขาวดำบนกระดาษปอนด์** เนื้อดี มีจำนวนมากมาย... 



ตาแก่บ้านห้างฉัตรเกิดที่ตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอภาษีเจริญ พ่อแม่อาศัยอยู่บ้านริมคลอง เรียนหนังสือ (ป.1-.2) ที่โรงเรียนประสาทวิทยาอนุขน สามแยกท่าพระ 

คลองบางกอกน้อย จาก facebook ภาพในอดีตหายาก - ขอขอบคุณ

ในหัวข้อเรื่อง "พบหลักสอง เพิ่มหลักสาม"  หน้า 120-121 เห็นรูปโรงเจ ประตูน้ำ และปากคลองภาษีเจริญด้านแยกจากคลองบางใหญ่ อดไม่ได้ที่จะยื่นนิ้วเข้าไปสัมผัส คิดย้อนกลับไปสมัยวัยเด็กน้อยลูกน้ำคลอง...


หลายคืนแล้วที่ได้ดูรูปและอ่านหนังสือเล่มนี้ก่อนนอน...ฝันดีมาตลอด!
-------------------------------------------------------------------------------
* กระดาษอาร์ต เป็นกระดาษเนื้อแน่นที่ผ่านการเคลือบผิวให้เรียบ มีทั้งแบบผิวเรียบด้านเดียวและแบบผิวเรียบทั้งสองด้าน สามารถแบ่งแยกย่อยออกไปได้อีกหลายประเภท ทั้งกระดาษอาร์ตมัน กระดาษอาร์ตด้าน กระดาษอาร์ตการ์ด เป็นต้น กระดาษอาร์ตเหมาะกับการพิมพ์สีหรืองานพิมพ์ที่เน้นความสวยงาม เช่น งานพิมพ์โปสเตอร์ โปสการ์ด ปกหนังสือ ใบปลิว บรรจุภัณฑ์ และแผ่นพับ เป็นต้น
 ** กระดาษปอนด์ คือกระดาษที่ผ่านการฟอก จึงอาจมีเศษผ้าปะปนอยู่ในเนื้อกระดาษ ทำให้ผิวกระดาษไม่เรียบ ราคาของกระดาษปอนด์ไม่สูงมาก เหมาะกับงานพิมพ์ที่ต้องการความคุ้มทุน รวมถึงงานพิมพ์ที่ต้องการความสวยงามในระดับปานกลาง เช่น แคตตาล็อก  (ที่มา - www.ofm.co.th/)

Saturday, September 14, 2024

ผู้ช่วยช่างเหอะ

 มื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2566 ผมเขียนเรื่อง "ซ่อมเครื่องทำขนมปัง"  เล่าให้เพือน ๆ ฟังว่าตัวต้านทานไหม้ เพราะดันไปใช้ไฟจากระบบโซล่าเซลล์ ซึ่งมิได้เป็น Pure Sine Wave แต่เป็น Modified Square Wave 


chuphotic.com อธิบายว่า...
Pure Sine Wave คือคลื่นไฟฟ้าที่ดีที่สุด คล้ายกับกระแสไฟฟ้าธรรมดา มีความสม่ำเสมอของคลื่น พบในระบบไฟฟ้าทั่วไป เป็นระบบแบบ True Online UPS โดยจะมีชิ้นส่วนเพิ่มเติมใน Inverter ที่อยู่ภายใน การจ่ายไฟทำได้อย่างเสถียรจึงทำให้ราคาสูง...
Modified Square Wave คือคลื่นจากการผสมผสานระหว่างคลื่น Pure Sine Wave และ Square Wave เพื่อให้มีคุณภาพที่ดี แต่ราคาถูกลง โดยมีคลื่นที่ค่อนข้างเสถียร สามารถใช้ได้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าแทบทุกชนิด แต่ไม่เหมาะกับอุปกรณ์ที่ต้องการความเสถียรในระดับสูง เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือเครื่องมือเซิร์ฟเวอร์ เป็นต้น
หลังจากซ่อมวันนั้นแล้วเครื่องก็ใช้งานได้ตามปกติ ผมใช้ทำขนมปังต่อมาได้อีกประมาณ 2-3 เดือน โดยใช้กับไฟบ้าน แต่แล้ววันหนึ่งก็เกิดเผลอเรอนำไปเสียบใช้กับไฟฟ้าจากระบบโซล่าเซลล์ มันก็เลยเสียอีก ด้วยอาการเดิม ผมทิ้งเครื่องไว้นานข้ามปี ต้องหันไปฝึกอบขนมปังโดยใช้เตาแก๊ส ทำให้ได้ทดลองทำขนมปังได้หลายอย่างโดยไม่ต้องอาศัยเครื่องทำขนมปัง  


เมื่อวานนี้ได้ฤกษ์ที่จะนำเครื่องทำขนมปังซึ่งเสียอยู่ออกมาซ่อมอีกครั้ง...ต้องรื้อออกมาดูตัวต้านทาน (resistor) โดยคาดว่าน่าจะขาดจากวงจรเหมือนเดิม  ผมทำตอนกลางคืนครับ โดยมีเจ้าอู่หลงตัวยุ่งคอยเข้ามาแทรก มันอยากทำหน้าที่เป็นผู้ช่วย ทั้ง ๆ ที่ไม่มีความรู้อะไรเลย นอกจากอยากมาอยู่ใกล้ ๆ เท่านั้น...



เกะกะจริง ๆ ทำให้ช่างเหอะทำงานไม่ถนัดเอาซะเลย!



ไม่ผิดครับ ขาข้างหนึ่งของ ตัวต้านทาน (resistor) ตัวเดิมหลุดออกจากแผงวงจร ผมต้องบัดกรีเข้าไปใหม่...


ในที่สุดเครื่องก็กลับมาทำงานได้ตามปกติ ผมลองใช้ทำขนมปังดูโดยใช้แป้ง 3 ถ้วยตวง ระหว่างเครื่องทำงาน เจ้าอู่หลงผู้ช่วยก็ได้แต่นอนมอง...


เสร็จแล้วจ้า... 


ขนมปังเนื้อแน่นเพื่อสุขภาพ

ผู้ช่วยช่างเหอะได้ลองชิมดูแล้ว บอกว่าโอ!

Friday, September 13, 2024

"ลาดัก-แคชเมียร์"


นังสือ "ลาดัก-แคชเมียร์" คู่มือท่องเที่ยวอินเดียเหนือด้วยตัวเอง เป็นอาหารสมองจานเล็ก ๆ ที่ผมนำออกมาอ่านวันวานนี้


หนังสือพิมพ์ด้วยกระดาษเนื้อดีหนา 149 หน้า ราคา 155 บาท ผมซื้อมาราคาหนังสือมือสองแค่ 30 บาท


เรื่อง/ภาพ โดย "เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย" (กาเหว่า - ชลลดา เตียวสุวรรณ)

ภาพจาก raphansarn.com - ขอขอบคุณ

ผมชอบหนังสือที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์วงกลมเป็นส่วนใหญ่ เพราะพิมพ์บนกระดาษเนื้อดี ใช้ฟอนต์ที่อ่านง่ายสบายตา รูปเล่มก็จัดได้สวย คุ้มค่าที่ได้ซื้อมาจริง ๆ ดูภาพปกหน้าของหนังสือที่อยู่บนสุดแล้วเอียงหนังสือให้แสงตกกระทบพื้นที่ครึ่งล่าง จะมีภาพลายเส้นสีเงินปรากฏให้เห็นเหมือนเล่นกล!


ด้วยรูปสีสวยงาม (ขนาดใกล้เคียงกับไพสการ์ด) 4 ใบพิมพ์ไว้พร้อมกับคำบรรยาย นับดูแล้วได้ประมาณ 62 บาน ทำให้ผมได้เห็นภาพภูเขา ทะเลสาบ สถานที่ท่องเที่ยวงดงาม ผู้คนและถนนหนทาง ฯลฯ นึกอยากดูเมื่อไหร่ก็เอาหนังสือมาเปิดดูได้ทุกเวลา...


ภาพสีแบบเต็มหน้าก็มี...



แผนที่ซึ่งแม้กาลเวลาจะผ่านไป เก่าแล้วแต่ก็ยังใช้เป็นข้อมูลสำหรับผู้ที่จะเดินทางไปลาดัก-แคชเมียร์ในวันข้างหน้าได้



หากได้ไปอินเดียอีกครั้ง จากเดลีผมก็อยากขึ้นเหนือไป ลาดัก-แคชเมียร์ และคิดว่าจะหาที่พักได้ไม่ยาก ด้วยข้อมูลจากหนังสือเล่มนี้...



หนังสือดีมีประโยชน์จริง ๆ ครับ...เล่มนี้!

Thursday, September 12, 2024

ที่หลบภัยให้กับเพื่อน

ห็นภาพน้ำท่วมที่แม่สาย จังหวัดเชียงราย...รู้สึกเห็นใจผู้ประสบภัยเป็นอย่างยิ่ง ผมคิดถึงหลานเอ ไม่รู้ว่าจะพาครอบครัวหนีน้ำหลากได้ทันหรือเปล่า? ขอพระเจ้าคุ้มครองด้วยเทอญ

ภาพ capture จากรายการเรื่องเล่าเช้านี้ - ขอขอบคุณ

ที่ห้างฉัตร HBH (Hangchat Backpacker Hostel) ยังคงมิได้รับภัยพิบัติใด ๆ แสงแดดวันนี้ยังคงเจิดจ้าอบอุ่น ท้องฟ้าสดใส ผมตั้งใจว่าจะไม่ประกาศขาย เพื่อปลดพันธนาการแล้วเก็บเงินก้อนโตใส่กระเป๋า ออกเดินทางไปสุดขอบฟ้าตามที่ได้ฝันไว้...


ยังคงตั้งใจที่จะไป แต่จะเก็บบ้านหลังสุดท้ายหลังนี้ไว้ ผมอยากประกาศว่า ในอนาคตข้างหน้าไม่ว่าวันใดที่เกิดภัยพิบัติจนเพื่อน ๆ ต้องอพยพจากเมืองหลวงหรือภาตใต้แห่งใดขึ้นสู่ที่สูงในภาคเหนือ บ้านหลังนี้จะคอยรองรับให้ความช่วงเหลืออยู่เสมอ บนพื้นที่กว้างขวาง มีแต่เพียงตาแก่บ้านห้างฉัตรอยู่กับ "อู่หลง" เจ้าตัวยุ่งเท่านั้น



พร้อมจักรยานให้ผู้มาอาศัยได้ขี่ไปตลาด.... ในกรณีที่กงเล็บของภัยพิบัติยังเอื้อมมาไม่ถึง


เรื่องเสบียงอาหาร ผมเตรียมแป้งขนมปังไว้จำนวนหนึ่ง เพื่อทำขนมปังให้เพื่อน ๆ กิน...



การก่อสร้างสี่แยกไฟแดงช่วงนี้อาจจะไม่รุดหน้าเท่าที่ควร ผมก็ยังหวังว่าอีกไม่เกิน 2 เดือนจะแล้วเสร็จ รอให้เพื่อน ๆ ได้มาเยือน 


เตรียมตัวและสำรองพลังงานสำรองไว้ด้วยนะครับ...อย่าได้ประมาทเป็นอันขาด!