ในการประกวดภาพถ่ายของสมาคมถ่ายภาพพิศเจริญกรุงเทพ เมื่อปี ๒๕๒๔ มีภาพที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม (เหรียญทอง) อยู่ ๔ รางวัล ดังนี้ :-
เหรียญทอง รางวัลเรื่องราวยอดเยี่ยม
|
"งูกินหาง" - สุชาติ ทรัพย์สินทวีลาภ
|
คำอธิบาย - ถึงแม้ว่าการหาโฟคัสคลาดเคลื่อนไปบ้างและมีการพร่าไหวเล็กน้อยก็ตาม แต่ก็มิได้เกิดข้อเสียหายอะไรมากนัก เพราะเป็นภาพที่แสดงถึงการเคลื่อนไหว ช่างไฟ ลีลาต่าง ๆ และเงายาวบนพื้นรวมทั้งอริยาบถและสีหน้าของเด็ก ๆ แสดงออกได้ดีมาก แสงส่องมาจากด้านข้างทำให้เกิดแสงรอบวง เน้นเรื่องราวให้แยกออกจากฉากหลังที่มืดกว่าได้ผลอย่างยิ่ง
เหรียญทอง รางวัลองค์ประกอบยอดเยี่ยม
|
"หาเช้ากินค่ำ" - ประเวทย์ อุดมวิทยะธาดา |
คำอธิบาย - แนวต้นตาลที่โนนสูง จ.นครราชสีมา ตรงนี้ได้กลายเป็นแหล่งที่ผลิตผลงานบรรลือโลกมามากต่อมากนักไปแล้ว คนทั่วไปหรือนักถ่ายภาพสมัครเล่นบางคนอาจมองข้ามถิ่นนี้เมื่อได้ผ่านไป เพราะยังขาดศิลปะในการเลือกเฟ้นมุมถ่ายหรือการสร้างสรรค์ มิใช่เป็นการง่ายนักที่ในเสี้ยวของวินาทีลั่นไกกล้องให้ทันต่อจังหวะของการแกว่งมือและการก้าวเท้าที่เหมาะ รวมทั้งเครื่องมือประมงเห็นได้อย่างชัดเจน องค์ประกอบในภาพก็จัดได้สมบูรณ์ ช่องไฟระหว่างต้นตาล มีห่าง มีถี่ จัดสรรได้อย่างมีส่วนสัด ลำต้นก็มีตรง มีงอ ทำลายความซ้ำซากที่จืดตา แม้แต่บนพื้นก็ยังมีโครงสร้างโค้งนูนไม่เท่ากัน ใบตาลเป็นพุ่มทรงกลมแจกจ่ายกระจายบนเนื้อที่ภาพอย่างน่ายล
เหรียญทอง รางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม
|
"คัลเลอร์แฟนตาเซีย" - ภูวดล ธรรมธิติคุณ |
คำอธิบาย - ที่เคยพูดกันว่า "กล้องถ่ายรูปไม่เคยโกหก" นั้น มาใช้กับภาพนี้คงไม่ได้แน่ จริงอยู่ เลนส์สามารถบันทึกทุกสิ่งละเอียดละออดีกว่าตาเห็น แต่บางครั้งตากับกล้องเห็นได้ผลไม่เหมือนกัน ตาเห็นสิ่งของชัดเจนได้ทุกระยะ แต่ตากล้องหาทำได้ไม่ ถ้าให้ชัดตลอดเหมือนตาเห็น ต้องหรี่เลนส์ให้เล็กที่สุด (ในบางกรณีหรี่เล็กเท่าใดก็ยังชัดได้ไม่ตลอด) ยิ่งเป็นเลนส์ให้กว้างเท่าไร ความชัดจะยิ่งตื้นด้วยลักษณะพิเศษนี้จึงทำให้ผู้ถ่ายใช้ให้เป็นประโยชน์ บันดาลให้ภาพเกิดอารมณ์เพ้อฝัน เลื่อนลอย และยวนใจ ที่เรียกกันว่า "โรแมนติก" ดวงสีส้มในภาพคือแสงสปอตไลท์สีเขียว สีน้ำตาลที่พร่ามัวบนฉากหลังคือ ผ้าผ่อน กางเกงที่แขวนไว้ สมควรแล้วที่ภาพนี้ได้รับรางวัลเหรียญทอง รางวัลยอดเยี่ยม
เหรียญทอง รางวัลสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม
|
"เจ้าหนุ่มทันยุค" - วิชัย แซ่ไล่ |
คำอธิบาย - สร้างสรรค์ในที่นี้หมายถึงผู้ถ่ายเข้าใจสรรหาเครื่องหมายจราจรให้เป็นประโยชน์ ภาพนี้หากเป็นภาพขาวดำคงจะมีความประทับใจด้อยลง ยิ่งกว่านั้น ผู้ถ่ายยังพลิกแพลงใช้แสงแวบแทนแสงอาทิตย์อย่างชาญฉลาด โดยส่องแสงจากด้านข้างให้เกิดเงาหนัก เพื่อจะได้ล้อเลียนสีดำบนกำแพงข้างขวา ถ้าจะให้ลำตัวบังเครื่องดับเพลิงเสีย และจัดเงาที่หัวเข่าให้ดูแล้วไม่คล้ายคนขาด้วน ภาพนี้จะดูสมบูรณ์ยิ่งขึ้นไปอีกอย่างแน่นอน
ที่มา : หนังสือ "ผลงานการประกวดภาพถ่าย 2524" สมาคมถ่ายภาพพิศเจริญกรุงเทพ เขียนโดย อาจารย์เชาว์ จงมั่นคง