Saturday, October 08, 2011

บัญญัติเจ็ดประการ


ผมมีหนังสือเล่มบาง ๆ อยู่เล่มหนึ่ง เป็นผลงานการประกวดภาพถ่าย 2524 ของสมาคมภาพถ่ายพิศเจริญกรุงเทพ พลิกไปดูข้างท้ายแล้ว เห็นว่ามีบทความที่น่าสนใจและมีประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจในเรื่องการถ่ายภาพ ในหัวข้อว่า "บัญญัติเจ็ดประการ" ผู้เขียนบทความคือ อาจารย์เชาว์ จงมั่นคง ผมคิดว่าแม้กาลเวลาจะผ่านเลยมาได้ ๓๐ ปีแล้ว แต่บทความสั้น ๆ เพียงสองหน้าครึ่งนี้ก็ยังคงทันสมัยอยู่เสมอ หากจะปล่อยให้ผ่านทิ้งไปก็จะเป็นที่น่าเสียดายยิ่ง จึงขออนุญาตนำมาพิมพ์เก็บไว้ที่นี่ครับ....

บัญญัติเจ็ดประการ

โปรดอย่าเข้าใจว่า บัญญัติเจ็ดประการที่จะกล่าวถึงนี้จะไปเกี่ยวข้องทางศาสนา หรือ กฎหมาย และหรือระเบียบการอื่นใด ที่แท้คือ ธาตุแท้ของภาพถ่ายที่ดีสมบูรณ์ที่ผู้เขียนเฝ้าสังเกตและศึกษามาช้านาน จึงสรุปเขียนขึ้นเป็นบัญญัติเจ็ดประการคือ

  1. เนื้อหาของภาพ... ภาพทุกภาพย่อมมีเรื่องราวหรือเนื้อหากันแทบทั้งนั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้ถ่ายสามารถถ่ายทอดให้ผู้ชมเข้าใจได้ง่าย ยาก หรือไม่เข้าใจต่างหาก เรื่องราวของภาพนั้นกินความหมายกว้างมาก และไม่จะเป็นต้องมีคนที่กำลังทำอะไรอยู่จึงจะขึ้นว่ามีเนื้อหาดีตามที่คนทั่วไปเข้าใจ แม้แต่ต้นไม้แห้ง ๆ ที่ปราศจากสิ่งมีชีวิตที่ผู้ถ่ายสามารถ่ายทอดออกมาให้รู้สึกแห้งแล้งจริง ๆ ก็ถือว่ามีเรื่องราวที่ดีได้ มิฉะนั้น ภาพวาดของนิ่งสมัยเก่าแก่คงไม่เป็นหมื่น เป็นแสนปอนด์เป็นแน่ ตามที่อาจารย์สน สีมาตรัง แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร เคยกล่าวไว้ว่า แม้แต่ประตูเก่าแก่ที่ผู้ถ่ายสามารถถ่ายทอดอารมณ์ออกมาได้ ก็นับว่าเป็นภาพที่มีเรื่องราวดีได้ ผู้เขียนขอสนับสนุนข้อคิดเห็นนี้อย่างเต็มที่
  2. การจัดองค์ประกอบ... ข้อนี้ก็เช่นกัน ภาพถ่ายทุกภาพล้วนมีองค์ประกอบกันทั้งสิ้น เช่น เมฆ ภูเขา ต้นไม้ บ้านคน ฯลฯ ที่อยู่ในภาพ ทีนี้ก็อยู่ที่ผู้ถ่ายเข้าใจจัดองค์ประกอบเหล่านี้ให้ดูแล้วสบายตา ไม่เคอะเขิน ไม่จืดชืด หรือไม่รกรุงรังต่างหาก เคราะห์ดีที่วิธีการจัดองค์ประกอบมีหลักเกณฑ์ที่พอเรียนรู้กันได้ โดยไม่ยากจนเกินไปนัก
  3. แนวการสร้างสรรค์... ภาพถ่ายที่แสดงออกอย่างธรรมดาสามัญย่อมจะสู้ภาพที่มีการสร้างสรรค์ที่ไม่ซ้ำแบบใคร แนวแปลก ๆ ใหม่ ๆ หรือริเริ่มไม่ได้แน่
  4. ความประทับใจ หรือ ความดึงดูด... ภาพถ่ายที่ให้ความประทับใจจำแนกได้หลายแบบ เช่น อารมณ์ บรรยากาศ บุคลิก ลักษณะ เส้นสายด้วยลีลาที่อ่อนช้อยหรือรุนแรง ฯลฯ ที่สามารถโน้มน้าวจิตใจแล้วเกิดความประทับใจจนดึงดูดให้ผู้ชมต้องหยุดชมภาพ (ด้วยอำนาจเร้นลับบางประการจากภาพนั้น ๆ)
  5. เทคนิคการถ่ายและการจัดแสง... ได้แก่การถ่ายภาพด้วยเทคนิคที่ถูกต้อง เช่นหาโฟคัสได้ชัดเจน (หรือจงใจให้มัว) การเปิดรูรับแสงหรือเลือกชัตเตอร์ที่ถูกต้อง ส่วนการจัดแสงนั้นได้แก่การเลือกสภาพแสงที่เข้ากับอารมณ์ของภาพ
  6. เทคนิคการพิมพ์ภาพ... ข้อนี้นับว่าเป็นประเด็นสำคัญ เสมือนหนึ่งจิตรกรระบายสีในภาพวาดทีเดียว ภาพที่ขาดคุณภาพในการพิมพ์หรือขยายจะมีสีหมองคล้ำ ซูบซีด กระด้าง ขาดลายละเอียดทั้งในที่มืดหรือสว่าง ภาพถ่ายที่ถ่ายทอดอารมณ์ บรรยากาศที่ต้องอาศัยเทคนิคการพิมพ์ที่ดีเลิศทีเดียว
  7.  การนำแสดงออก... ถึงแม้ว่าข้อนี้ไม่ใคร่มีความสำคัญนักก็จริง แต่ผลงานที่ติดการ์ดเรียบร้อย เลือกสีการ์ดให้เหมาะกับเรื่องราวและเข้ากับสูตรสีของภาพ (หากเป็นภาพสี) รวมทั้งได้กลบเกลื่อนจุดเล็กจุดน้อยหรือรอยขูดขีด ก็จะเพิ่มพูนความสมบูรณ์และชวนดูยิ่งขึ้น
บัญญัติเจ็ดประการที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น นอกจากนำไปประเมินผลสำหรับภาพถ่ายทั่วไปได้แล้ว ยังอาจนำไปใช้ในการตัดสินภาพ รวมทั้งไปประเมินผลงานของตนโดยปราศจากอคติได้อีกด้วย


ที่มา : หนังสือ "ผลงานการประกวดภาพถ่าย 2524" สมาคมถ่ายภาพพิศเจริญกรุงเทพ เขียนโดย อาจารย์เชาว์ จงมั่นคง

No comments: