Saturday, June 30, 2012

มิงกะลาบา



ต้องขออภัยด้วยที่ก่อนหน้านั้นผมไม่ได้บอกเล่าเก้าสิบไว้ในบล็อกช่างเหอะว่าจะต้องหายเงียบไป ๒ อาทิตย์ เพราะต้องแบกเป้ไปเยือนพม่า ตอนนี้ผมกลับมาถึงบ้านโดยสวัสดิภาพแล้วครับ ขอโพสต์แจ้งให้เพื่อน ๆ ทราบโดยทั่วกันก่อน...

มีเรื่องที่จะนำมาเขียนรายงานให้เพื่อน ๆ ได้อ่านมากมาย แต่ผมตั้งใจว่าจะเขียนเล่าถึงการเดินทางไว้ในบล็อก "ฟังลุงน้ำชาคุย" ส่วนในบล็อกตัวนี้ก็ยังคงเป็นเรื่องของงานช่าง tips and techniques โดยทั่ว ๆ ไปตามประสาช่างเหอะเหมือนที่ผ่าน ๆ มา...

ผมมีรูปภาพกลับมาประมาณ ๒,๐๐๐ กว่าภาพ พร้อมเรื่องราวที่อาจจะแตกต่างกับนักเดินทางคนอื่น ๆ มาเล่าให้เพื่อนได้อีกเป็นเดือน ๆ

ตอนนี้แค่ขอเข้ามาทักทายก่อนนะ...



ป.ล. พอกลับถึงบ้าน...ผมได้เห็นลิงค์ภาพยนต์เรื่อง A Simple Life ซึ่งคุณเมธีกรุณาแนะนำไว้ใน facebook ผมรีบไปหามาดู ตอนนี้ได้แล้วครับ subtitles ภาษาอังกฤษก็หาไม่ยาก คืนนี้ตั้งใจว่าจะเปิดชมซะหน่อย ขอบคุณคุณเมธีมาก ๆ ครับ

Saturday, June 16, 2012

ค่าโหลดกระเป๋าขึ้นเครื่อง...



บน Facebook ของผม คุณเมธีได้กรุณาให้คำแนะนำว่า...
"แอร์เอเชียซุกค่าโหลดกระเป๋า ผมจ่ายที่สนามบินเหมารวมไปกลับอีก 900+ บาท ใช้กระเป๋าเล็กถือขึ้นเครื่อง เสื้อผ้าไปซักเอาที่โน่นก็ได้ครับ เชคให้แน่ด้วยครับว่าค่าตั๋วที่จ่ายไปแล้วรวมค่าภาษีสนามบินขาออกหรือยัง ถ้ายังขาออกเขาเรียกเก็บ 10 ดอลลาร์(จำไม่ได้ชัดๆว่าเท่าไหร่) รับเฉพาะแบงค์ใหม่ไม่มีรอยพับรอยขาด...."
ขอบคุณมาก ๆ ครับ ผมตรวจสอบดูแล้ว คิดว่า Air Asia คงเรียกเก็บค่าโหลดกระเป๋าจากผมไปแล้ว ๙๐๐ บาท...


ส่วนค่าภาษีสนามบินทางพม่า....ผมคงต้องเตรียมแบ๊งค์ ๑๐ ดอลล่าร์ใบใหม่ ๆ เตรียมไว้

ก็อยากจะรู้เหมือนกันว่าจะมีค่าอะไรนอกเหนือจากที่ทาง Air Asia เรียกเก็บไปแล้ว จะได้เป็นประสบการณ์ เพื่อนำมาบอกเล่าเก้าสิบกับเพื่อน ๆ ได้ในวันข้างหน้า...

คำแนะนำเรื่องไม่ใช้เป้หรือกระเป๋าใบใหญ่ซึ่งต้องโหลดขึ้นเครื่อง มีเพียงกระเป๋าถือขึ้นเครื่องเป็นเรื่องที่เข้าท่าครับ ความจริงไปพม่าไม่ต้องเอาอะไรไปมากก็ได้ ผมเคยใช้กระเป๋าอย่างที่คุณเมธีแนะนำเมื่อ ๒๙ ปีที่แล้ว รู้สึกว่าสะดวกมาก ลงเครื่องแล้วไม่ต้องไปรอรับกระเป๋า หิ้วเจ้ากระเป๋าถือใบเล็กไป check out ได้เลย...


อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าอะไร ๆ ในพม่าคงเปลี่ยนแปลงไปมาก จนแทบไม่เหลือภาพเก่า ๆ อย่างที่ผมเคยเห็นเมื่อเกือบ ๓ ทศวรรษก่อน ไปพม่าครั้งนี้คงเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิต เป้าหมายของผมนั้นแตกต่างจากนักท่องเที่ยวทั่วไป ผลจะออกมาเช่นไร...คงได้นำมาเขียนให้เพื่อน ๆ ได้อ่านต่อไป

ด้วยความคิดถึงครับ....

Friday, June 15, 2012

ซ่อมรองเท้าไม่สำเร็จ

คุณเมธีซึ่งทราบว่าผมกำลังจะไปเยือนพม่าได้กรุณาให้คำแนะนำไว้ใน fb ของผม  มีเรื่องของรองเท้าด้วยดังนี้...
"ย่างกุ้งเป็นหน้ามรสุม ฝนทั้งวันทั้งคืน เช้าหยิมๆเย็นลงหนัก ร่มพับติดตัวไว้ กางเกงขาสั้นเหมาะมากคู่กับรองเท้าแตะฟองน้ำ รองเท้าผ้าใบกับถุงเท้าลืมไปเลย เปียกแล้วมันไม่แห้ง ถอดตรงไหนก็เป็นกังวลว่าจะหาย...."
ผมเคยไปพม่ามาแล้วครั้งหนึ่ง สมัยนั้นไม่มีเป้ ไม่มีรองเท้าหนังหรือรองเท้าผ้าใบ มีแต่กระเป๋าหิ้วแบบที่นักกีฬาใช้ และรองเท้าแตะฟองน้ำ นอกนั้นถ้าจะมีพิเศษกว่าเพื่อนก็คงเป็นกะลาสำหรับใช้เป็นชามข้าว (Nabe เพื่อนชาวญี่ปุ่นซื้อมาให้จากสันติอโศก)


ไปคราวนี้ผมจะใช้เป้ใบที่ใช้แบกไปลาวและเวีดยนามเมื่อเดือนเมษายน และคิดว่าคงจะเบามากเมื่อเทียบกับการเดินทางก่อน ๆ หน้านั้น

วันนี้อยากคุยเรื่องรองเท้าที่จะใส่ไป  ผมลืมบอกไปว่ารองเท้ามือสองที่ผมใส่ไปลาวนั้นพื้นหลุดตอนที่อยู่เมืองใหม่ ผมต้องดึงออกเก็บซุกไว้ในเป้ แล้วเดินด้วยรองเท้าที่มีพื้นเพียงข้างเดียว! พอใส่เดินในซาปา...พื้นอีกข้างก็หลุดตาม ผมต้องดึงออกแล้วเก็บไว้ในกระเป๋าหลังของกางเกงลูกฟูกขาสั้น...

วั้นนั้นผมต้องเดินขึ้นเขาด้วยรองเท้าปราศจากพื้น...


ตั้งแต่นั้นมาผมก็ไม่ได้สวมรองเท้าคู่นั้นอีกเลย แต่ก็ไม่ได้โยนทิ้งนะ นำใส่เป้กลับมาบ้านด้วย...หวังว่าจะสามารถซ่อมได้

ผมยังไม่มีรองเท้าใส่ไปเที่ยวพม่า...เมื่อวานนี้จึงได้พยายามนำมันขึ้นมาซ่อม!


ใช้กาวยางที่เหลือจากการซ่อมกล่องไวโอลิน แต่ก็ใช้ไม่ได้ หมดสิทธิ์ที่จะนำมันกลับมาใช้อีก ตอนบ่าย ๆ ผมจึงตัดสินใจขี่จักรยานยนต์เข้าเมืองไปหาซื้อรองเท้าคู่ใหม่...

ผมไปที่ร้าน "บาจา" ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ สี่แยกดอนปาน เห็นมีรองเท้าผ้าใบลดราคาจาก ๒ ร้อยกว่าเหลือ ๑๕๐ บาท ผมสนใจซื้อเพราะมีตังค์ไม่มาก คนขายบอกว่ามีสีขาวกับสีดำ ผมบอกไปว่าขอเลือกสีดำ เค้าเดินเข้าหลังร้านแล้วหยิบรองเท้าสีดำเบอร์ ๔๐ ออกมาให้ลอง ผมลองแล้วรู้สึกว่าจะหลวม...แต่คนขายบอกว่าต้องใส่ถุงเท้าและผูกเชือกจึงจะพอดี ผมเห็นด้วย...ตกลงซื้อ ๑ คู่



ก็จะใช้รองเท้าคู่นี้ใส่ไป ในขณะเดียวกันก็จะมีรองเท้าแตะฟองน้ำตรา "ช้างดาว" (ซื้อที่ตลาดโพสี หลวงพระบาง) ใส่เป้ไปด้วย  ตอนเย็น ๆ อาจารย์ราเชนทร์โทรศัพท์แจ้งให้ทราบว่าเงินค่าซ่อมเครื่องสายออกแล้ว ให้ไปรับได้ที่บ้าน ผมรู้สึกดีใจที่จะมีเงินงบประมาณสำหรับการเดินทาง...

พอรู้ว่าผมกำลังหารองเท้าใส่ไปพม่า...อาจารย์ราเชนทร์ก็เข้าไปหยิบรองเท้าหนังอย่างดี (ผลิตในอิตาลี) มาให้  ผมลองสวมแล้ว....ใช้ได้เลยครับ!


 สวยดี  แม้จะคับนิดหน่อย แต่ก็ใส่ได้!


"Made in Italy" เห็นได้ชัด  เกิดมาในชีวิตก็ยังไม่เคยใช้ของดี ๆ อย่างนี้  ขอบคุณผู้ให้มาก ๆ ครับ!

ผมพูดว่ามันดีเกินไป...คงจะไม่ใส่ไปพม่า แต่ผู้ให้กลับบอกว่า "ใส่ไปเหอะ...เผื่อไว้ใช้เตะคน" (หุหุ)

Thursday, June 14, 2012

ไวโอลินลูกบิดหัก...


น้องเอแคร์ใช้ไวโอลิน Eurostring ขนาด 1/2 มาตั้งแต่เริ่มเรียนไวโอลินกับผม ต่อมามีผู้มอบไวโอลินเก่าที่ไม่ใช้แล่้วให้น้องเอแคร์อีกคันหนึ่ง เป็นไวโอลินยี่ห้อ Landwin ขนาด 3/4  เมื่อ ๒ สัปดาห์ที่แล้วคุณพ่อของน้องเอแคร์ได้นำไวโอลินดังกล่าวมาให้ผมดู ปรากฏว่าสายทั้ง ๔ เส้นอยู่ในตำแหน่งที่สูงจาก fingerboard เกินขนาด ชนิดที่ว่าเด็กบางคนอาจไม่สามารถเล่นได้เลยก็ว่าได้ ผมไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมถึงได้เป็นเช่นนั้น จะว่าคอหลวมรึ...ก็ไม่เห็นอาการ!  หรือว่าจะเป็นมาตั้งแต่ตอนที่เจ้าของเดิมใช้ฝึกเล่นแล้ว?  ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ผมคิดว่าสายที่สูงขนาดนั้นคงทำให้นักเรียนเจ็บนิ้วมาก ๆ อาจเป็นอุปสรรคที่ทำให้การเล่นไวโอลินกลายเป็นเรื่องยากสำหรับเด็กก็เป็นได้ เห็นเช่นนั้น...ผมจึงได้อาสาที่ว่าจะแต่งหย่องให้

หลังจากนั้นไม่กี่วัน ผมก็เริ่มลงมือซ่อม ก่อนอื่นก็ต้องถอดสายออกให้หมดก่อน!  ไวโอลินถูกเก็บไว้นานมาก ๆ จน pegs ติดแน่น หมุนไม่ได้!  ไอ้ผมก็เป็นคนมือหนักซะด้วย หมุนลูกบิดสาย E ทวนเข็มนาฬิกา มันไม่ขยับ พอเพิ่มแรงขึ้นอีกนิด เสียงดังแคร๊ก! ลูกบิดหักซะแล้ว!!!


ใจเสาะจังเลย...เจ้า Landwin


แล้วจะทำอย่างไรดีล๋ะ?  ผมคงต้องเปลี่ยนลูกบิดให้ใหม่ แต่ก่อนอื่น...ผมต้องถอดลูกบิดทั้งหมดออกมาให้ได้ รวมทั้งถึงเศษแกนลูกบิดที่หักคาอยู่!!  หุหุ ต้องใช้วิชา "ช่างเหอะ" อีกแล้ว  ผมใช้น้ำยาเอนกประสงค์ฮับ  ฉีดฟืด ๆ เข้าไปตรงรูลูกบิด แล้วทิ้งไว้สักพักใหญ่ ๆ


ต่อมาให้ค่อย ๆ หมุนลูกบิดออกด้วยความระมัดระวัง รู่จักผ่อนหนักผ่อนเบาด้วยนะครับ



 อันดับต่อไปก็คือ การนำเศษลูกบิดสาย E ที่ติดอยู่ออก

ต้องใช้ตะปูตัวโตขนาด ๖ นิ้ว ตีแกนลูกบิดย้อนจากอีกด้านหนึ่ง ดันให้ลูกบิดขยับตัวออกมา จากนั้นก็ใช้คีมค่อย ๆ ดึงออกมาจนหมด ขั้นตอนนี้ต้องใจเย็น ๆ และระวัง sound post ล้มด้วย! เมื่อเศษลูกบิดหลุดออกมาแล้ว ก็ต้องหาลูกบิดตัวใหม่มาใส่แทน พอดีผมมีลูกบิดไวโอลินเก่าขนาด 3/4 เหลืออยู่ ลักษณะต่างกันไม่มากนัก  ดูไม่น่าเกลียดเกินไป...


ผมแต่งแกนลูกบิดตัวใหม่โดยใช้กระดาษทรายพันรอบ แล้วหมุนลูกบิดตามเข็มนาฬิกาไปเรื่อย ๆ คอยตรวจสอบอยู่ตลอดเวลาจนกว่าจะใช้ได้  ส่วนลูกบิดของมันอีก ๓ ตัวก็ขัดซะหน่อยเพื่อให้ใช้งานได้ตามปกติ  เมื่อลูกบิดดีหมดแล้ว ผมแต่งหย่องโดยใช้เทคนิคของอาจารย์ ps แห่งเมืองแพร่ คือใช้ดินสอตำเหลาให้ปลายแหลม วางแนบกับ fingerboard แล้วขีดลงบนตัวหย่องซึ่งวางอยู่ในตำแหน่งของมัน


ผมใช้คัตเตอร์คม ๆ เฉือนส่วนเกินของหย่องออก ให้เหลือห่างจากเส้นดินสอเล็กน้อย จากนั้นก็นำหย่องไปฝนกับกระดาษทรายละเอียดให้ดูเนียน ได้ความโค้งที่สวยงามตามแนวเส้น เรียบร้อยแล้วจึงใส่สายใหม่ทั้ง ๔ เส้นโดยไม่ลืมใช้ดินสอดำขีด nuts และหย่อง

ผมตั้งสายให้ได้มาตรฐาน สำรวจดูด้วยว่าหย่องไม่เอียง ก่อนที่จะนำลงกล่อง...



Wednesday, June 13, 2012

ดินสอกับงานซ่อมเครื่องสาย...

วันนี้...ยังขอคุยเกี่ยวกับการซ่อมไวโอลินและเชลโลตามประสา "ช่างเหอะ" ของผมครับ



ใน วิกิพีเดีย อธิบายถึง แกรไฟต์ (Graphite) ว่า "เป็นอัญรูปหนึ่งของธาตุคาร์บอน ชื่อสามัญเรียกว่า พลัมเบโก (plumbago) หรือแร่ดินสอดำ มีลักษณะเป็นของแข็ง มีรูปผลึกเป็นแผ่นบาง ๆ ทึบแสง อ่อนนุ่ม สีเทาเข้มถึงดำ เนื้ออ่อน เป็นตัวนำความร้อนและไฟฟ้าได้ดี มักใช้ทำไส้ดินสอดำ เบ้าหลอมโลหะ น้ำมันหล่อลื่นบางชนิด...."

ในการซ่อมเปียโน มีสารหล่อลื่นตัวหนึ่งซึ่งทำจากแกรไฟต์ผสมกับแอลกอฮอล์ ผมเคยซื้อมาจากอังกฤษ ๑ ขวด เป็นน้ำยาข้น ๆ มีส่วนผสมของแกรไฟต์ เวลาเอามือจับจะมีสีดำติดนิ้วเหมือนกับไปจับเอาผงถ่านหรือผงคาร์บอนที่ใช้วาดรูป  เจ้า Graphite Lubricant ตัวนี้ใช้หยอดชิ้นส่วนบางชิ้นใน action เพื่อให้มีความลื่น คล่องตัว ไม่ติด หรือเกิดเสียงในขณะเคลื่อนไหว ตอนนี้ผมใช้หมดไปแล้วครับ...

ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวของแกรไฟต์ ผมคิดว่ามันน่าจะช่วยทำให้สายไวโอลินหรือเชลโลขาดได้ยากขึ้น ดังนั้นทุกครั้งที่เปลี่ยนสาย...ผมจึงใช้ดินสอดำขีดลงในร่องของ nut และ หย่อง ซึ่งสายไวโอลินหรือเชลโลจะพาดผ่าน อย่างที่เห็นในภาพ



เท่าที่ผ่านมา...ผมรู้สึกว่าดินสอดำของ "ช่างเหอะ" ช่วยทำให้สายขาดได้ยากขึ้นนะ!

เพื่อน ๆ เห็นด้วยกับผมมั้ยครับว่า...ดินสอดำมิได้มีไว้เขียนเพียงอย่างเดียว!

Tuesday, June 12, 2012

ซ่อมเมโลเดียน...



เมโลเดียนหรือเมโลดิก้า เป็นเครื่องดนตรีที่เล่นง่าย ราคาไม่แพง และยังมีเสน่ห์ในตัวของมันโรงเรียนในระดับประถมศึกษาหลาย ๆ แห่งจึงนิยมให้เด็กนักเรียนได้ฝึกเล่นเมโลเดียน...



เครื่องดนตรีซึ่งถูกใช้เป็นประจำมักจะเกิดอาการชำรุดในจุดที่บอบบาง อย่างเช่นสายรัดมืออย่างที่เห็น...


วิธีซ่อมนั้นง่ายมาก ๆ คลายสกรูออกมาได้เลย...


จากนั้นก็แกะฝาหลังออก จะเห็นได้ถึงสาเหตุที่ทำให้ปลายสายรัดมือหลุดออกข้างนอก หลักพลาสติกมันหักไปนั่นเอง!



ช่างเหอะค้นหาพุก (plug) มาหนึ่งตัว ใช้คีมตัดส่วนฐานออก เพื่อนำไปใช้เป็นหลักยึดปลายสายคล้องมือ แล้วใช้กาวร้อนหรือกาวตราช้างเป็นตัวเชื่อม ปล่อยทิ้งไว้ให้แห้งสนิทก่อนที่จะประกอบสายรัดมือกลับเข้าที่...

เรียบร้อยแล้วครับ...สามารถนำไปใช้งานได้ดีเหมือนเดิม...


ต้องยอมรับว่างานนี้ซ่อมได้โดยไม่ยาก...

Monday, June 11, 2012

ตั้ง sound post ตามสไตล์ช่างเหอะ

เมื่อวานนี้ยังคุยเกี่ยวกับเรื่องการตั้ง sound post ของเชลโลไม่จบครับ  วันนี้ขอเขียนต่ออีกหน่อย  หลังจากได้เกริ่นไว้เล็กน้อยแล้วว่าตัว sound post setter ที่ผมใช้อยู่ ตรงปลายแหลมที่จะจิกลงไปบนเนื้อไม้นั้นไม่แหลมคมเท่าที่ควร



เพื่อน ๆ ลองนึกภาพตอนที่เราค่อย ๆ นำแท่งไม้ซึ่งมีปลายแหลมของ setter จิกติดอยู่ หย่อนผ่าน f-hole ลงไป เมื่อผ่านพ้นไปแล้ว...ก็ค่อย ๆ เอียงให้ sound post เข้าไปอยู่ในตำแหน่งที่ต้องการ กำลังจะได้ที่อยู่แล้วเชียว    "แป๊ก".... เสียง sound post หลุดจาก setter ตกลงสู่พื้นไม้แผ่นหลัง  จบกัน!....กำลังจะเข้าด้ายเข้าเข็มอยู่แล้วเชียว!!   สำหรับเหตุการณ์เช่นนี้...คนซึ่งค่อนข้างจะดุดันสักหน่อย อาจร้องเสียงดัง หรือกระทืบเท้าเพื่อระบายอารมณ์  เขารู้ดีว่าจะต้องเริ่มต้นใหม่ ด้วยการนำ sound post ที่ล้มกลิ้งออยู่ออกจากตัวเชลโล แล้วนำลงไปตั้งใหม่อีกครั้ง ซึ่งอาจจะเป็นสองครั้ง สามครั้ง หรือสี่ครั้ง ถ้าหากว่าเจ้าตัว sound post ยังคงหลุดออกจากปลายแหลมของ setter ก่อนที่การติดตั้งจะสมบูรณ์...

 

ตรงปลาย sound post ทั้งสองด้านจะมีลักษณะเอียง เพื่อให้เข้ากับความโค้งของไม้แผ่นหน้าและแผ่นหลัง  เวลาติดตั้งต้องดูให้ดีด้วยนะครับ พอดี sound post ตัวเดิมจะมีรอยที่ได้มาจากการติดตั้งครั้งแรกอยู่ ถ้าใช้ตำแหน่งนั้นให้ปลายของ setter จิกเข้าไป เมื่อนำ sound post เข้าไปติดตั้ง ส่วนเอียงของปลายทั้งสองด้านก็จะเข้ากับความโค้งของแผ่นหน้าและแผ่นหลังของเชลโลพอดี....

แม้ว่าปลายของ setter ที่ผมใช้จะไม่แหลมคมเท่าที่ควร...แต่มันก็จับ sound post อยู่นะ  เพียงแต่ว่ามันไม่แน่นพอที่จะทำให้การติดตั้งแล้วเสร็จได้โดยที่ไม่หลุดล้มเสียก่อน  ถ้าใช้เครื่องมือแหลมคม แล้วเจาะลงในเนื้อไม้ ณ ตำแหน่งใหม่ ก็คงจะไม่หลุดง่ายเหมือนที่ผมกำลังปวดหัวอยู่กับมัน...

เพื่อน ๆ จะทำอย่างไร ถ้าเจอกับปัญหาเช่นนี้?

อย่างที่เคยบอกว่าผมเป็น "ช่างเหอะ" ผู้แก้ปัญหาด้วยวิธีการนอกตำราและไม่ถูกต้องตามหลักการ...ผมใช้กาวร้อนหยดลงไปที่ปลาย setter ทั้งสองด้านเพียงแค่นิดเดียว


ปล่อยทิ้งไว้แค่ ๑-๒ นาที...แล้วนำ sound post ลงไปติดตั้งตามขั้นตอนของมัน

หุหุ ครั้งเดียวผ่านครับ!  sound post ไม่หลุดก่อนที่จะติดตั้งแล้วเสร็จ ใช้เวลาสั้นมาก...เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนหน้านั้น!  หลังจากที่ sound post เข้าที่แล้ว ให้ขึ้นสายประมาณครึ่งนึงเพื่อให้หย่องกดลงบนไม้แผ่นหน้า จากนั้นก็ทำการปรับแต่งตำแหน่งของ sound post อย่างละเอียดอีกครั้ง  เมื่อได้ตำแหน่งตามที่ต้องการแล้ว ให้ขึ้นสายจนได้มาตรฐาน  

แล้วจะทำยังไงกับเจ้า setter ที่ยังเกาะติดกับ sound post ล่ะ?  ไม่ยากครับ!  แค่โยกเบา ๆ ขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่กี่ครั้ง ก็ดึงให้หลุดจาก sound post ได้แล้ว

อย่าหลงเชื่อเด้อ!  เพราะมันเป็นเพียงการแก้ปัญหา sound post หลุดตามสไตล์ "ช่างเหอะ" เท่านั้น...

Sunday, June 10, 2012

ใช้นิ้วสิพี่...


เพื่อน ๆ ที่รัก...ผมกลับมาแล้วครับ  กลับมาพร้อมกับภาพน้อง ๆ ไวโอลินนอนอยู่บนหลังเจ้าแกรนด์เปียโนยี่ห้อ Classic  แสงสว่างจากหน้าต่างหน้าบ้านทำให้การถ่ายภาพย้อนแสงของผมดูไม่ค่อยดีนัก แต่ผมก็อยากยังนำภาพนี้มาโพสต์ให้เพื่อน ๆ ได้ดู!


หันไปดูน้องหนูวิโอล่า ๔ สหายที่นอนเรียงอยู่บนโต๊ะกันหน่อย...


น้องไวโอลินอีก ๕ สาวก็พร้อมแล้วที่จะส่งเสียงเจื้อยแจ้ว!



พี่เชลโลซ๊่งนอนตะแคงโชว์บั้นท้ายอยู่บนโต๊ะก็พร้อมแล้ว ที่จะส่งเสียงร่วมกับน้อง ๆ ไวโอลิน!



พูดถึงเรื่องการซ่อมเครื่องสาย วันนี้ช่างเหอะอยากจะคุยเรื่องการตั้ง sound post ของเชลโลสักหน่อย กล่าวคือ เจ้าตัว sound post setter ที่ผมใช้อยู่ตรงปลายแหลมที่จะจิกลงไปบนเนื้อไม้ sound post มันยังคงไม่แหลมคมเท่าที่ควร  (นี่คือข้อเสียของ "ช่างเหอะ")

จำได้ว่าผมเคยคุยเรื่องตั้ง sound post ไวโอลินโดยใช้เครื่องมือไม่แหลมคม ทำให้พลาดจนถึงกับเลือดตกยางออก การเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมที่จะใช้งานจึงจำเป็นสำหรับช่างที่แท้จริง (ไม่ใช่ช่างเหอะอย่างผม)  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเป็นงานไม้ที่ต้องใช้ความละเอียด เครื่องมือแต่ละชิ้นต้องเนี้ยบจริง ๆ

ถ้าเพื่อน ๆ อยากเห็นเครื่องไม้เครื่องมือในการซ่อมสร้างไวโอลินของช่างตัวจริง ต้องคลิก ที่นี่ เพื่อเข้าไปอ่านเรื่องราวดี ๆ เกี่ยวกับการสร้างและซ่อมไวโอลินของคุณไพสิทธิ์

ทีนี้มาคุยเรื่อง "ช่างเหอะ" ซึ่งอาจเป็นการทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่ก็ช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้กับผมได้เป็นอย่างดี คราวนี้...ผมจะต้องตั้ง sound post ของเชลโลถึง ๔ คันด้วยกัน!! 

มาดูเรื่องการนำ sound post ออกจากตัวเชลโลกันก่อน ผมเพิ่งมาพบความจริง...หลังจากเสียเวลาหาทางเอาเจ้าไม้แท่งยาวซึ่งกลิ้งไปมาออกจากตัวเชลโลซะนาน ถ้าเป็นไวโอลินก็ไม่ยากเท่าไหร่ เขย่าไป ๆ มา ๆ หาตำแหน่งให้ดี เจ้า sound post น้องไวโอลินก็ขยับมาอยู่ที่ F hole รอให้เขี่ยออกมาได้อย่างง่ายดายแล้ว  แต่ถ้าเป็นเชลโลนี่ซิ...ลำบากหน่อย เพราะตัวเชลโลมันใหญ่และหนักด้วย ส่วนเจ้า sound post ก็ทั้งใหญ่ทั้งยาว ไม่ค่อยยอมกลิ้งมานอนสงบนิ่งอยู่ตรง F-hole ให้ดึงออกมาง่าย ๆ ซะด้วย ตอนแรกก็เล่นเอาหงุดหงิดอยู่เหมือนกัน ผมปวดเมื่อยไปทั้งคอและแขน  แถมพอเอาออกมาได้แล้ว ตอนใส่กลับเข้าไป ดันหลุดจาก setter ซะอีก (เกือบจะโยนเชลโลทิ้งไปแล้ว อิอิ)

ในที่สุดผมก็พบวิธีช่วยนำ sound post ออกจากตัวเชลโลได้โดยง่าย (ตามประสา"ช่างเหอะ") โดยใช้นิ้วก้อยแหย่เข้าไปตรงรูกลม ๆ ของ f-hole ตามที่เห็นในภาพ...



ผมสอดนิ้วเข้าไป ยกเชลโลขึ้นสูงโดยคว่ำหน้าลง แล้วเอียงไปเอียงมา จน sound post วิ่งมาติดกับตรงนิ้วก้อย ให้ใช้นิ้วก้อยยึดเอาไว้ แล้ววางเชลโลนอนตะแคงบนโต๊ะ  ในขณะที่ sound post ติดค้างอยู่บริเวณ f-hole  ให้ใช้มืออีกข้างหนึ่งเขี่ย(หรือใช้เครื่องมือช่่วย)ให้ sound post หมุนตัวหรือขยับไปอยู่ในตำแหน่งที่จะใช้ปลายนิ้วก้อยดันให้ปลายด้านหนึ่งของ sound post โผล่พ้นออกมาจนสามารถนำแท่งไม้ทั้งแท่งออกมาได้อย่างง่ายดาย..

วิธีนี้...ถ้าไม่ติดขัดอะไร ผมจะใช้เวลาไม่เกิน ๒ นาที ในการนำ sound post ออกจากตัวเชลโล!

เรื่องยากกลายเป็นเรื่องง่ายไปเลยครับ...

Saturday, June 02, 2012

งานเข้า...

เช้านี้...ระหว่างขับขี่จักรยานยนต์ไปสอนน้องปัน ผมได้รับโทรศัพท์แจ้งว่าทางโรงเรียนใหญ่แห่งหนึ่งจะนำเครื่องสายมาให้ซ่อม ช่างเหอะคิดในใจว่า...งานเข้าแล้วหรือเนี่ย!  ดีเหมือนกัน...งานนี้อาจทำให้ผมได้เงินสักก้อนสำหรับการเดินทางเยือนพม่าก็เป็นได้!

 
บ่ายวันนี้...อาจารย์ผู้รับผิดชอบก็นำเครื่องดนตรีมาให้ที่บ้าน ประกอบด้วยไวโอลิน ๘ คัน วิโอล่า ๕ คัน และเชลโล ๒ คัน


จากการตรวจสอบเบื้องต้น งานที่ผมต้องทำก็คือ ทำความสะอาด เปลี่ยนสายใหม่ทั้งหมด (ทางโรงเรียนมีสายมาให้) และซ่อมในส่วนที่ชำรุดเสียหาย...

๑๔.๓๐ น. ผมเริ่มลงมือซ่อม ไวโอลินคันที่ราคาแพงที่สุดเป็นตัวแรกที่หยิบขึ้นมาตรวจสอบ...

ดูกล่องก็รู้ว่าเป็นไวโอลินเกรดดี


โห! แย่จัง คันชักก็ไม่มี! ผมดึงสายเก่าซึ่งขาดและหมดสภาพออกแล้วถอดหางปลา หย่อง และลูกบิดออกเพื่อรอทำความสะอาด...  


อ่อ...โชคดีที่ไวโอลินตัวนี้ sound post ไม่ล้ม  ผมจะไม่ไปยุ่งกับมัน!

คำเตือน - เมื่อไม่มีแรงกดกับแผ่นหน้า เป็นผลให้ sound post ล้มได้โดยง่าย  เพื่อน ๆ ต้องซ่อมด้วยความระวัง พยายามให้ไวโอลินอยู่ในระนาบอยู่เสมอ จะยกขึ้นทำอะไรก็ต้องใช้ความนิ่มนวล และไม่สะเทือนจนทำให้ sound post ล้ม!

ลูกบิดที่นำออกมาก็ต้องไม่ให้ปะปนกัน เพื่อจะได้ใส่กลับรูเดิมของมันได้อย่างถูกต้อง

เอาล่ะ...ผมจะต้องเข้าเมืองเพื่อออกไปซื้อของจำเป็นสำหรับงานนี้ก่อน เท่าที่คิดได้ตอนนี้ก็มี :-

  • กาวยาง สำหรับซ่อมกล่อง
  • กาวร้อน 
  • กระดาษทราย
  • น้ำยาเอนกประสงค์
  • ดอกสว่านขนาดเล็ก
  • น้ำยาทำความสะอาดเครื่องหนัง
นอกนั้นยังคิดไม่ออกครับ...
 แล้วค่อยกลับมาคุยกันอีกนะ