Wednesday, February 26, 2014

สมาร์ทบอร์ด


วันนี้ผมต้องเล่นกับสมาร์ทบอร์ด!  สมาร์ทบอร์ดเป็นวัสดุไฟเบอร์ซีเมนต์บอร์ด ที่ใช้สำหรับงานฝ้าเพดาน ผนัง และแผ่นรองวัสดุต่าง ๆ ใช้ได้ดีทั้งภายในและภายนอก มีคุณสมบัติด้านการทนน้ำและทนชื้น ปลวกไม่กิน เนื้อวัสดุเหนียว ดัดโค้งได้ นอกจากนั้นยังแข็งแรง ทนทาน รับแรงกระแทกได้มาก  ผมซื้อสมาร์ทบอร์ดขนาด ๑๒๐ ซม. x ๑๒๐ซม. หนา ๔ มม.  มาจากงาน "อิวหลีแฟร์" เมื่อปลายปีที่แล้ว จำนวน ๑๐ แผ่น เอามาเก็บไว้ตั้งนาน วันนี้เพิ่งได้นำออกมาใช้!

ใช้กั้นผนังห้อง workshop ของช่างเหอะ ผมตั้งโครงไว้แล้วโดยใช้ไม้เก่าที่ซื้อมาจากครูหนิง ก่อนอื่นผมต้องยึดโครงผนังให้อยู่กับที่เสียก่อน จะทำอย่างไรให้กระทบกระเทือนกับพื้นดาดฟ้าน้อยที่สุด ผมขี่จักรยานไปซื้อตะปูตอกคอนกรีตขนาดนิ้วครึ่งมาใช้... 


ใช้สว่านเจาะนำที่ไม้ก่อน ไม่ตอกลงเฉย ๆ เพราะไม้เนื้อแข็งอย่างนั้น ต่อให้มือฉมังขนาดไหนก็อาจงอหรือตอกไม่ตรงได้  ตะปูซื้อนับตัวมา...อย่าเสี่ยงดีกว่า!


ตอกแค่ตะปูจิกลงไปบนพื้นคอนกรีตประมาณเกือบครึ่งนิ้วก็พอแล้ว  ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่อยู่ เพราะมีถึง ๔ จุด...


จากนั้นก็นำสมาร์ทบอร์ดออกมาตัดให้ได้ขนาดกับโครงไม้ที่ได้ตั้งไว้  ขีดเส้นด้วยดินสอ วางลงกับพื้นแล้วใช้เหล็กปลายแหลมขีดตามเส้น พอเป็นร่องลึก... 


นำไม้เหลี่ยมมารองข้างใต้ตามแนวขีด แล้วค่อย ๆ กดด้านที่จะตัดออกลงอย่างเบามือ มันก็จะขาดออกจากกัน สวยหรือไม่สวยขึ้นอยู่กับการขีดร่อง...


จากนั้นก็นำไปตีติดกับโครงไม้...


ติดตั้งแผ่นแรกแล้ว...


ต่อไปก็ตัดอีกแผ่นสำหรับด้านบน ซึ่งยากกว่าเพราะต้องตัดให้เข้ารูปหลังคาและมีช่องสำหรับแป...


เรียบร้อยแล้วก็โป้วหัวตะปูด้วยดินสอพองผสมน้ำและกาวลาเท็กซ์ (ต้องใช้เหล็กนำย้ำหัวตะปูลงไปก่อน) จากนั้นก็ปล่อยให้แห้ง ก่อนที่จะนำกระดาษทรายมาขัด  เมื่อเห็นว่าพร้อมแล้ว...ผมก็นำสีน้ำมันมาทา

ี้
ผลที่ได้วันนี้ก็คือ ปวดเมื่อยไปทั้งตัวครับผม!

Tuesday, February 25, 2014

ซ่อมที่จ่ายน้ำยาล้างจาน

ทำอ่างล้างจานไว้ตรงมุม...ผมติดตั้งตัวจ่ายน้ำยาล้างจานไว้ด้านซ้ายมือ!   


เป็นของถูกที่ซื้อมาจากห้าง Global House ยี่ห้อ Saku


ใช้งานมาได้ไม่นานก็เริ่มเสีย คือ อยู่ ๆ น้ำยาล้างจานก็รั่วไหลออกจนหมด มันค่อย ๆ ซึมออกมา ทีแรกผมก็เข้าใจว่าตัวกดค้าง พยายามใช้งานด้วยความระมัดระวังตลอดเวลา...

คืนก่อน...ตอนล้างจานก็ยังเห็นน้ำยาอยู่ประมาณ ๑/๔  พอตื่นเช้ามากลับพบแต่ความว่างเปล่า มันไหลออกหมด!  ไม่ได้... อยู่ไม่ได้แล้ว ช่างเหอะต้องรีบลงมือซ่อม หรือไม่งั้นก็โยนทิ้งไป ไม่ใช้มัน!

แกะออกมาดูแล้วพบว่า การออกแบบไม่ดีเท่าที่่ควร จะเห็นได้ว่าเมื่อเรากดใช้น้ำยาล้างจาน จะเกิดแรงโยก นาน ๆ ไปพลาสติกก็มีรอยร้าว เกิดรอยรั่วระหว่างภาชนะกับตัวปั้ม เป็นสาเหตุทำให้น้ำยาล้างจานไหลซึมออกมา....


ช่างเหอะมี Silicone Sealant ซึ่งบอกว่าใช้อุดรอยรั่ว ช่องว่าง หรือรอยต่อวัสดุจำพวกกระจก แก้ว คอนกรีต กระเบื้อง ท่อ และสุขภัณฑ์...


นำออกมาใช้อุดรอยรั่ว เหมือนการซ่อมตู้ปลา...


ตัดเศษไม้ชิ้นเล็ก ๆ ใส่กาวลาเท็กซ์นำมาอัดใส่เพื่อให้ตัวปั้มไม่โยกเยกอีกต่อไป ไม่สวยไม่เป็นไร เพราะอยู่ด้านใน...มองไม่เห็น!


ตรงที่ยึดฝาปิดหักไปข้างนึง ก่อนปิดหลอดกาว ก็เลยแต้มไว้ซะหน่อย...


ทิ้งไว้ข้ามคืน เมื่อกาวแห้งดี ก็ประกอบเข้าที่ เรียบร้อยแล้วครับ ใช้งานได้ดีแล้ว น้ำยาล้างจานไม่รั่วอีกเลย....


เกือบโยนทิ้งซะแล้ว....อิอิ!

Monday, February 24, 2014

ตะปูหมวกหลุด!

วันก่อนผมเขียนเรื่องมุงสังกะสี workshop ของช่างเหอะ....


 ไม่ได้เล่าว่ามีอยู่ตัวนึงที่ตัว cap มันหลุดออก เหลือแต่หัวตะปู อย่างนั้นน้ำฝนอาจซึมเข้าได้...


มันอยู่สูง และเป็นช่วงกลางแผ่นสังกะสีซะด้วย ทำให้ยากที่จะเอื้อมขึ้นไปถอนตะปูออก แล้วตอกตัวใหม่! ช่างเหอะลองเงื้อง่าคว้าคีมปากนกแก้วขึ้นไปทำท่าถอนเจ้าตะปูตัวนั้นดูแล้ว เห็นว่ายากสสส์!! นอกจากจะไม่สำเร็จแล้ว ยังจะทำให้สังกะสีแถวนั้นยับเยินเป็นแน่แท้...

ก็ต้องใช้วิธีการง่าย ๆ ครับ ตอกตัวใหม่เข้าไปเลย...


เรียบโร้ย...


สังกะสีโดยรอบก็ไม่บุบ...


ไหน ๆ ก็เสี่ยงชีวิตไต่กะไดขึ้นไปแล้ว ผมเลยถือโอกาสใช้สีน้ำมันสีเขียวแต้มหัวตะปูเสียด้วยเลย...


 รอดตายไปได้อีกวันนึง!

Saturday, February 22, 2014

เปลี่ยนสถานี...


เมื่อวานนี้ ผมเขียนเรื่อง "การฝึกเล่นไวโอลินสไตล์ลุงน้ำชา"  กำลังเริ่มต้นให้นักเรียนหัดสีไวโอลินแบบ "ขับรถไฟ"   ประจวบเหมาะกับวันนี้ที ผมได้ไปเล่น accordion บนขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ จากสถานีนครลำปางไปสถานีขุนตาน ในกิจกรรม "แอ่วขุนตาน...ม่วนแต้หนา 22 กุมภาพันธ์ 2557"


ขอบคุณภาพจากครูไกร
พกกล้องถ่ายรูปใส่กระเป๋ากางเกงไปด้วย...ผมเก็บภาพที่สถานีรถไฟนครลำปางมาฝากด้วยครับ







ผมขอเปลี่ยนการฝึกสีไวโอลินแบบ "ขับรถไฟ" จาก...
เอ๊............หยุด (สถานีเชียงใหม่)    เอ๊............หยุด (สถานีนครลำปาง)
เอ๊............หยุด (สถานีเชียงใหม่)    เอ๊............หยุด (สถานีนครลำปาง)
เอ๊............หยุด (สถานีเชียงใหม่)    เอ๊............หยุด (สถานีนครลำปาง)
เอ๊............หยุด (สถานีเชียงใหม่)    เอ๊............หยุด (สถานีนครลำปาง)
ให้เป็น...
เอ๊............หยุด (สถานีขุนตาน)      เอ๊............หยุด (สถานีนครลำปาง)
เอ๊............หยุด (สถานีขุนตาน)      เอ๊............หยุด (สถานีนครลำปาง)
เอ๊............หยุด (สถานีขุนตาน)      เอ๊............หยุด (สถานีนครลำปาง)
เอ๊............หยุด (สถานีขุนตาน)      เอ๊............หยุด (สถานีนครลำปาง)


อย่างนี้ดูจะเข้าท่ากว่าครับ...

Friday, February 21, 2014

ฝึกเล่นไวโอลินแบบง่าย ๆ สไตล์ลุงน้ำชา ๘

อีกครั้งหนึ่งที่ต้องออกตัวว่าเขียนเรื่องนี้เพื่อเล่าถึงสิ่งที่ผมคิดขึ้นเองในขณะสอนให้เด็ก ๆ เล่นไวโอลินเท่านั้น  ผมไม่ขอพูดในเรื่องวิชาการหรือหลักปฏิบัติ อย่างเช่น ท่ายืน ท่านั่ง เรื่องของการจับคันชักไวโอลิน (holding the violin bow) ฯลฯ   เพราะใน cyber world  มีเว็บมากมายทั้งไทยและเทศที่สอนเรื่องเหล่านี้อยู่


ภาพจาก netanimations.net

แบบฝึกหัดแรกผมตั้งชื่อไว้ว่า "ขับรถไฟ" ก่อนให้เด็ก ๆ เริ่มฝึก ผมอยากแนะนำให้ผู้ปกครองช่วยกันทำ "ตัวช่วยฝึก" โดยใช้วัสดุเหลือใช้ที่พอหาได้  ในที่นี้ผมใช้กระดาษแข็งจากกล่องพัสดุไปรษณีย์เก่า...






ใช้วิธีง่าย ๆ ไม่ต้องสิ้นเปลือง สร้างกล่องให้มีร่องตรงกลาง เพื่อบังคับให้ bow เคลื่อนที่ตรง ๆ ไม่โค้งไปมา


มาเริ่มฝึกสีรถไฟกันเลย...


เริ่มวางคันชักใกล้ ๆ กับ frog ลงกับสาย ๒ ของไวโอลิน เตรียมตัวที่จะเล่นโน้ต "A" (ไม่เรียกว่า " ลา" เพราะผมจะใช้ระบบ movable doh ไปตลอด)  คิดว่ารถไฟกำลังจอดอยู่ที่ "สถานีนครลำปาง" สถานีข้างหน้าคือ "สถานีเชียงใหม่" ซึ่งอยู่ปลายสุดของคันชัก พอได้ยินนับว่า พร้อม-ไป... ก็ให้ออกรถเลยนะ คือให้นักเรียนดึงคันชักช้า ๆ เกิดเสียง เอ.....................ต่อเนื่อง  (ขั้นแรกนี้ยังไม่ต้องนับจังหวะ)  พอรถไฟวิ่งถึงสถานีเชียงใหม่ก็ "หยุด" 

ระหว่างที่รถไฟเคลื่อนที่ สายตาให้จ้องจับว่าหางม้า (ล้อรถไฟ) วิ่งไปตามสาย A (รางรถไฟ) อย่างราบเรียบด้วยความเร็วคงที่ และตรง คือ "ไม่ตกราง"


ถึงตอนนี้...นักเรียนต้องรู้จักบังคับข้อมือขวาแล้วล่ะ  ถ้าขืนทำข้อมือแข็งทื่อเหมือนท่อนไม้ รับรองว่ารถไฟตกรางแน่ ๆ  

พอรถจอดที่สถานีเชียงใหม่ ยังไม่ต้องยกคันชักออก เพราะจะต้องวิ่งกลับสถานีนครลำปาง  เอ้า! พร้อม-ไป  นักเรียนดันคันชักไปข้างหน้าช้า ๆ ให้ราบเรียบ สม่ำเสมอ และตรง (ไม่ตกราง) เช่นเดียวกัน   

พอรถถึงสถานีนครลำปางก็จอด ตั้งหลักที่จะวิ่งกลับไปสถานีเชียงใหม่อีกครั้ง...

ฝึกสีไปมาเฉพาะบนสาย A โดยอาศัยตัวช่วยที่ได้ทำไว้หลาย ๆ รอบ พยายามลากคันชักให้ช้าที่สุดเท่าที่จะทำได้  ให้สม่ำเสมอ ไม่กระตุก เสียงไม่ขาด ๆ หาย ๆ  ที่สำคัญคือต้องไม่ตกราง :)

อย่าเพิ่งใจร้อน  ให้สีอย่างนี้ก่อน... 

เอ๊............หยุด (สถานีเชียงใหม่)    เอ๊............หยุด (สถานีนครลำปาง)
เอ๊............หยุด (สถานีเชียงใหม่)    เอ๊............หยุด (สถานีนครลำปาง)
เอ๊............หยุด (สถานีเชียงใหม่)    เอ๊............หยุด (สถานีนครลำปาง)
เอ๊............หยุด (สถานีเชียงใหม่)    เอ๊............หยุด (สถานีนครลำปาง)

เมื่อยแล้วก็พักได้นะ  พักแล้วก็ฝึกต่อ ต้องขยันฝึกจนกว่าจะขับรถไฟได้ดี สามารถเดินรถ ไป-กลับระหว่างสถานีนครลำปางกับสถานีเชียงใหม่ได้อย่างราบรื่น และไม่ตกราง!! 


บทเรียนแรก นักเรียนต้องใช้เวลาฝึกจนกว่าจะขับรถไฟได้ดี!

Thursday, February 20, 2014

ลดภาวะโลกร้อน

วันนี้ผมไปโรงพยาบาลห้างฉัตร  ได้รับยามากินต่ออีก ๒ เดือน พอดีเป็นการไปรับบริการเป็นครั้งแรก ห้องยาจึงได้มอบถุงผ้าสำหรับใส่ยาให้ด้วย...




ในกระเป๋าที่มอบให้ มีกระดาษอีกครึ่งแผ่นพิมพ์ไว้ว่า....

กระเป๋าที่ท่านได้รับนี้เพื่อ...

  1. สนับสนุนท่าน สำหรับใส่ยาประจำตัว ขอความร่วมมือนำกระเป๋านี้มาใส่ยาทุกครั้งที่ท่านมารับบริการที่โรงพยาบาลห้างฉัตร หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่นัดท่านมาตรวจ
  2. ใส่ยาที่เหลือที่บ้านของท่าน นำมาโรงพยาบาล เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ตรวจสอบดูสภาพยา
  3. ช่วยกันลดการใช้ถุงพลาสติก เพื่อลดภาวะโลกร้อน
อ่านแล้วชื่นใจจัง!  ตอนนี้เป็นคนห้างฉัตรไปแล้ว...ผมขอให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ครับ!

Wednesday, February 19, 2014

สังกะสีมุงหลังคา...ตอกตะปูตรงไหนดี?

Workshop บนดาดฟ้าของช่างเหอะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้วครับ...


 ต้องใช้สังกะสีขนาด ๗ ฟุต...ทีแรกผมตั้งใจจะใช้สังกะสีแบบลูกฟูกลอนเล็ก...


แต่ที่ร้านฯ ไม่มีจำหน่าย พอเค้านำสินค้ามาส่งกลับกลายว่าเป็นสังกะสีแบบนี้....



ปัญหาของผมคือ ไม่รู้ว่าจะตอกตะปูหัวเห็ดตรงไหน ตรงสันหรือบริเวณราบดี?  (the ribs or the flats)  

ผมพยายามเข้าไปค้นหาใน Google โดยใช้ภาษาไทย ปรากฏว่าไม่มีคำตอบให้ผมเลยแม้แต่เว็บเดียว โชคดีที่เปลี่ยนไปใช้ภาษาอังกฤษ จึงได้คำตอบจากเว็บ woodgears.ca  โดยมีภาพประกอบด้วยดังนี้...



นายช่างบอกว่า แม้ว่าทุกวันนี้ทางบริษัทแนะนำให้ใส่สกรูหรือตีตะปูตรงบริเวณพื้นที่เรียบใกล้ ๆ กับสัน แต่เขาเลือกที่จะยึดสกรูตรงสัน หนึ่งในเหตุผลของเขาคือ...
Water flows off the ribs on either side, and flows down the flat parts of the roof. A hole in a rib will only let in rain that falls directly on the hole or immediately above it. A hole in the flat part of the roof will potentially let in all the water that falls between the hole and the top of the roof.
(ขอขอบคุณเว็บ woodgears.ca) 

มีรูปมาอ้างอิงอีก...


เหตุผลดูเข้าท่า...แม้จะเป็นรูปลอนใหญ่  ผมเห็นด้วย!  ในที่สุดหลังคาสังกะสี "ห้องทำงานช่างเหอะ" ก็ถูกตีตะปูยึดในลักษณะนี้...




ไม่รู้ว่าทำถูกหรือเปล่า คนไม่ได้เรียนมาเนี่ย...มันลำบากจริง ๆ!!