Monday, January 11, 2016

Brush Up Your English

"Brush up" มีความหมายอย่างหนึ่งว่า "ปรับปรุงให้ดีขึ้น"  วันนี้ผมอยากนำ "Brush Up Your English" ตำราภาษาอังกฤษเล่มบาง เขียนโดย A.B. Nan มาฝาก... 


หนังสือ Brush Up Your English มีแค่เพียง ๑๒ หน้า พิมพ์ที่โรงพิมพ์จักรวรรดิ์การพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑  มันเก่าจนหน้ากระดาษเหลือง หลุดออกจากกัน ผมเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์สำหรับผู้ใฝ่รู้ จึงสแกนมาเก็บไว้ให้ครับ


Small in its size, but contains necessary subject!  หนังสืออายุเกือบ ๕๐ ปีมีเนื้อหาดังนี้..
The uses of the tenses
The verb, person and number
Common errors in grammar
Exercises 












เดี๋ยวจะหาตำราดี ๆ มาให้อีกนะ...

Sunday, January 10, 2016

ตากลาง หมู่บ้านช้าง


อ่านเรื่อง "ตลิ่งสูง ซุงหนัก" ซึ่งเป็นเรื่องของช้างและคนเลี้ยงช้างแล้ว ผมต้องหยิบหนังสือ "ตากลาง" หมู่บ้านช้างแห่งลุ่มแม่น้ำมูล  ขึ้นมาอ่านเสริม!

ภาพจากหนังสือ "ตากลาง" 
หมู่บ้านช้างตั้งอยู่หมู่ที่ ๙ และ ๑๓ บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม พื้นที่หมู่บ้านเป็นที่นาและป่าละเมาะสลับกับป่าโปร่ง เหมาะกับการเลี้ยงช้างชาวบ้านตากลางดั้งเดิมเป็นชาวส่วย หรือ กูย หรือ กวย มีความชำนาญในการคล้องช้างป่า ฝึกหัด ช้างและเลี้ยงช้าง ส่วนมากต้องเดินทางไปคล้องช้างบริเวณชายแดนต่อเขตประเทศกัมพูชา ปัจจุบันสภาวะการเมืองระหว่างประเทศ ทำให้ชาวบ้านไม่สามรถไปคล้องช้างเช่นแต่ก่อนได้ แต่ชาวบ้านตากลางยังคงเลี้ยงช้างและฝึกช้างเพื่อไปร่วมแสดงในงานช้างของจังหวัดทุกปีการเลี้ยงช้างของชาวบ้านตากลาง ไม่เหมือนการเลี้ยงช้างของ ชาวภาคเหนือที่เลี้ยงไว้ใช้งาน แต่ชาวบ้านตากลางเลี้ยงช้างไว้เป็นเพื่อน นอนร่วมชายคาเดียวกับตน... 
น่าสนใจมากครับ แม้ว่าห่างจากบ้านห้างฉัตรของผมแค่ ๑๕ กิโลเมตรจะเป็นที่ตั้งของ "ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย" ซึ่งได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยว (Tourism Awards) ประเภทรางวัลดีเด่นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ พ.ศ. ๒๕๔๑ ก็ตาม ผมก็ยังอยากจะไปเที่ยวบ้านตากลาง และคิดว่าหมู่บ้านตากลางน่าจะมีความเป็นธรรมชาติมากกว่าที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย!

ภาพจากหนังสือ "ตากลาง" 
 ผมอยากเห็นภาพอย่างนี้...

ภาพจากหนังสือ "ตากลาง"
ที่บ้านหนองบัว อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ มีโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวไปพัก เพื่อสัมผัสวัฒนธรรมและวิถีชีวิตในหมู่บ้านช้างด้วยค่าบริการที่ไม่แพง (ค่าบริการที่พัก ๑๐๐ บาท/คน/คืน - ค่าอาหารเช้า ๕๐ บาท/คน/มื้อ - ค่าอาหารกลางวัน-เย็น ๘๐ บาท/คน/มื้อ - ค่านั่งช้าง ๑๐๐ บาท/เที่ยว - ค่าเช่าจักรยาน ๒๐ บาท/วัน) ผมกำลังวางแผนที่จะไปอยู่ที่นั่นสัก ๓-๔ วัน!


ไม่ต้องเอาจักรยานของตัวเองไปให้ลำบาก... เช่าเอาที่นั่นก็ได้!

Saturday, January 09, 2016

ตลิ่งสูง ซุงหนัก

เช้านี้อากาศค่อนข้างหนาวเย็น ผมคว้า "ตลิ่งสูง ซุงหนัก" หนังสือนวนิยายขนาด ๑๙๔ หน้า ขึ้นไปนั่งอ่านบนดาดฟ้า... 




นานแล้วที่ไม่มีโอกาสได้นั่งอาบแดดอ่านหนังสืออย่างเช่นวันนี้ ผมรู้สึกว่าเวลาของผมนั้นเหลือน้อยเต็มที เสียดายที่ยังมีอะไรดี ๆ ให้เสพอีกมากมาย... คงไม่ทันแล้วล่ะ!  อยากเป็นหนอนหนังสือเหมือนคุณสาโรจน์ อยากเขียนบทความได้ดีเหมือนคุณเมธี อยากวาดรูปสวย ๆ เฉกเช่นคุณเดชา... แต่ก็ทำไม่ได้ซักกะอย่าง!

ทุกวันนี้ทำได้แค่หยิบผลงานจากปลายปากกานักเขียนผู้ประสบความสำเร็จขึ้นมาอ่าน...


"ตลิ่งสูง ซุงหนัก" เขียนโดย "นิคม รายยวา" ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนหรือที่เรียกว่ารางวัลซีไรต์ในปี ๒๕๓๑


อ่านรวดเดียวจบ ทำให้นึกถึงคำว่า "unputdownable" ผมรู้จักคำนี้มานานแล้ว มันบรรยายลักษณะของหนังสือที่อ่านในวันนี้ได้เป็นอย่างดี!

วิกิพีเดียเขียนถึงเนื้อเรื่องใน "ตลิ่งสูง ซุงหนัก" ไว้ดังนี้...
คำงายเป็นควาญช้างของพลายสุด เขารักพลายสุดมากเพราะเคยเลี้ยงมันมาตั้งแต่เล็ก แต่เนื่องจากความจำเป็นในครอบครัวเขา จึงต้องเสียพลายสุดไป เมื่อมาพบพลายสุดอีกครั้งหนึ่งเขาก็พบว่าพลายสุดได้สูญเสียงาไปหมดเหลือแต่งวงที่ใช้งัดและยกซุง นอกจากจะเป็นควาญช้างแล้วคำงายยังแกะสลักช้างไม้ได้ด้วยแต่เขาไม่ชอบงานนี้ ตอนจบของเรื่องเขาได้ตกลงกับนายของเขาโดยเอาช้างไม้แกะสลักแลกกับพลายสุด แต่ทั้งคำงายและพลายสุดไม่มีโอกาสที่จะได้พบความสุขอย่างแท้จริง เพราะขณะที่กำลังขนซุงขนาดหนัก พลายสุดได้พลาดท่าตกจาก ตลิ่งสูง ทั้งสองเสียชีวิตพร้อมกัน
ผู้เขียนต้องการจะเน้นให้เห็นว่าคนส่วนมากชอบติดอยู่กับซากมากกว่าสิ่งมีชีวิต และทุกคนมีการเกิดและตายอย่างละหนึ่งครั้งเท่านั้น แต่สิ่งที่อยู่ระหว่างสิ่งนั้นเราต้องหาเอง ชีวิต คือ การรับส่วนแบ่งที่ต้องเฉลี่ยกันไม่ว่า ความทุกข์ ความสุข ความดี ความเลว แต่ละคนมักจะแย่งกัน รับความดีไว้มากกว่า ส่วนด้านไม่ดีไม่อยากยอมรับกัน
หน้า ๑๒๐-๑๒๑ มีข้อความที่ทำให้ผมต้องหยุดแล้วคิดตาม...
ทำไมต้องเอาไม้ใหญ่มาทำช้างนะ คำงายคิด คนเรานี่แปลกจริง ๆ ไม้ใหญ่มันก็ใหญ่ของมันอยู่แล้ว คนไม่ได้ทำให้ช้างใหญ่ แต่ท่อนไม้มันใหญ๋ของมันเอง ตัวมันจริง ๆ คือต้นไม้ แต่คนกลับไม่เห็นความสวยและมีค่าของมันตอนมีร่มเงา มีชีวิตกลับโค่นมัน ลิดกิ่งตัดใบให้เป็นซากไม้ แล้วเอามันมาแกะให้เหมือนซากช้าง ชื่นชมมันมากกว่าได้เห็นช้างจริงหรือต้นไม้ที่มีชีวิตเสียอีก ทำไปทำมาก็จะไม่มีของจริงเลยสักอย่าง ไม่ว่าช้างหรือต้นไม้....
จริงสินะ...จำได้ว่าเรื่องต้นไม้ตรงสี่แยกนาก่วม ผมเคยบอกกับ Sid เพื่อนฝรั่งว่าขอให้แกมีชีวิตอยู่ทันได้เห็นต้นไม้เหล่านั้นสูงใหญ่เสียก่อน ต่อมาไม่นานต้นไม้เหล่านั้นก็ถูกตัดหรือไม่ก็ขุดย้ายออกไป ผมเห็นอีกที..ตรงนั้นก็เหลือแค่เพียงพื้นที่ราบเตียน!

เค้าจะทำลายมันด้วยเหตุผลใดผมไม่อาจทราบได้ แต่อยากให้เพื่อน ๆ ได้เห็นต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งในฮานอย ซึ่งถ้าเป็นเมืองไทยอาจจะถูกโค่นทิ้งไปนานแล้ว!


คนเรามักจะมองไม่เห็นคุณค่าสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว ต่อเมื่อไม่มีมันแล้วนั่นแหละจึงอาลัยหา!

Friday, January 08, 2016

ไท่เก๊ก ท่ากายบริหารเพื่อสุขภาพ (จบ)

วันนี้จบแล้วครับ!  "ไท่เก๊ก - ท่ากายบริหารเพื่อสุขภาพ" มีเพิ่มอีก ๓ ท่าเท่านั้น คือ...
๖) สองมือเหนี่ยวเท้ารักษาเอวและไต 
๗) เกร็งห่อกำปั้นเพ่งตาเพิ่มพลัง
๘) กระเทือนหลังเจ็ดครั้งบำบัดสารพัดโรค



















จบแล้วครับ ขอปิดท้ายด้วยภาพและประวัติของผู้เขียนด้วยดังนี้...




ขอขอบคุณผู้เขียน ผู้แปล และสำนักพิมพ์ หวังว่า "ไท่เก๊ก - ท่ากายบริหารเพื่อสุขภาพ" ทั้ง ๔ ตอนคงจะมีประโยชน์ต่อเพื่อน ๆ นะครับ

Thursday, January 07, 2016

ไท่เก๊ก ท่ากายบริหารเพื่อสุขภาพ ๓

เพิ่มท่ากายบริหารอีก ๒ ท่า คือ ๔) ห้าหักโหมเจ็ดปั่นป่วนเหลียงหลังหาย เพื่อกระตุ้นพลังชีวิตด้วยการเคลื่อนไหวอย่างเงียบ ๆ และ ๕) โยกศีรษะย้ายสะโพกขจัดไฟหัวใจ....













 เหลืออีก ๒ ท่าก็หมดแล้วครับ...