Wednesday, February 24, 2021

สายรัดหนวดกุ้ง

มีวัสดุอุปกรณ์อย่างหนึ่งชื่อว่า "สายรัดหนวดกุ้ง"  ไม่รู้ว่าใครนะตั้งชื่อได้ดีจัง? 

 

เคเบิ้ลไทร์ (Cable Ties) หรือที่รู้จักกันในชื่อ hose tie, zip tie หรือ tie-wrap เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากไนลอน มักจะถูกนำไปใช้งานในการรัดอุปกรณ์สายไฟต่าง ๆ นอกจากนั้นยังสามารถเอาไปรัดท่อ ปากกระสอบ ปากถุงต่าง ๆ ได้ด้วย  มีหลากหลายสีสันให้เลือกใช้ ความยาวตั้งแต่ ๔-๘ นิ้ว รับแรงดึงได้ ๘ ถึง ๒๒ กิโลกรัม...

ภาพจากอินเทอร์เน็ต - ขอขอบคุณ
 
ช่างเหอะเลือกโครงจักรยานเสือหมอบยี่ห้อ Giant SCR 2016 มาประกอบให้เจ้า "สหัสเดชะ" (ยักษ์ขาว)  ด้วยเหตุผลว่ามันเบาดี เค้าลดราคาให้ถึง ๗๐ เปอร์เซนต์ ก่อนสั่งซื้อขอให้ชั่งน้ำหนักได้ ๒.๑ กิโลกรัม...
 
 
คิดว่าน่าจะชั่งรวมกับกล่องซึ่งมีสภาพคล้ายเคยถูกน้ำท่วม ตามที่บริษัทขนส่งตั้งข้อสังเกตไว้ว่ากล่องมีคราบน้ำ... 

 
 
นี่แหละทำให้ผมได้ frame set ของ Giant มาในราคาถูก มันมีเพียงคราบเหลืองและร่อยถลอกนิดหน่อยบริเวณที่สวมกะโหลก ซึ่งมิใช่เรื่องใหญ่สำหรับผม...
 

วันนี้ไม่ได้มาคุยเรื่องประกอบจักรยาน แต่อยากพูดเรื่องเจ้าสายรัดหนวดกุ้งที่ติดมากับสินค้า มันถูกรัดมาไกลจากไต้หวัน ตอนที่แกะออก...บางท่านอาจคว้าคีมหรือมีดคม ๆ ตัดออกทันที

 
แต่ช่างเหอะผู้ขี้เหนียวอยากแนะนำว่าบางทีของดียังมีประโยชน์ ให้ใช้ปลายมีดจิ้มเข้าไปปลดล็อคแล้วดึงออกจะดีกว่า

 
ทำได้ง่าย ๆ แกะออกมาแล้วก็เก็บไว้ใช้ได้ในยามฉุกเฉิน


ดีกว่าตัดออกแล้วโยนทิ้งถุงขยะครับผม!

Thursday, February 18, 2021

โรงเรียนบ้านสาด-ผึ้งนาเกลือ

 "ตำบลวังพร้าว" อยู่ในอำเภอเกาะคา จากบ้านห้างฉัตรของผมประมาณ ๒๐ กิโลเมตร...

 

เป็นตำบลที่แยกมาจากตำบลเกาะคา กล่าวกันว่าราษฎรส่วนใหญ่เดินทางจากอำเภอแม่ทะมาตั้งถิ่นฐานตามลำน้ำแม่จางที่ชื่อว่า "วังพร้าว" ซึ่งมาจากการขนส่งสินค้าเกษตรตามลำน้ำแม่จาง (บริเวณวังส้มป่อย) ซึ่งมักเกิดน้ำหมุนทำให้มะพร้าวที่ขนส่งมาขายจมหายในน้ำ มันเกิดขึ้นบ่อยครั้งจนชาวบ้านขนานนามว่า "วังพร้าว"  พื้นที่ส่วนใหญ่ของตำบลวังพร้าวเป็นที่ลาดชัน มีพื้นที่ราบตามลำน้ำแม่จาง ชาวบ้านตั้งบ้านเรือนตามแนวแม่น้ำและสองผั่งถนนพหลโยธิน มีอ่างเก็บน้ำแม่ธิสำหรับเป็นแหล่งน้ำในการเพาะปลูก แบ่งเขตการปกครองเป็น ๖ หมู่บ้าน ประกอบด้วย หมู่ ๑-บ้านแม่หลง  หมู่ ๒-บ้านวังพร้าว หมู่ ๓-บ้านสาด หมู่ ๔-บ้านม่อนหินแก้ว  หมู่ ๕-บ้านผึ้งนาเกลือ และหมู่ ๖-บ้านสบจาง  (ที่มา - เว็บไทยตำบลดอทคอม)

มีโรงเรียนอยู่โรงเรียนหนึ่งชื่อว่า "โรงเรียนบ้านสาด-ผึ้งนาเกลือ" ตั้งอยู่เลขที่ ๑๓๐ หมู่ ๓ ตำบลวังพร้าว อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง  สอนระดับอนุบาล ๒ ถึงระดับประถมศึกษาชั้นปีที่ ๖



ผมเขียนรีวิวให้ไว้ใน google maps ว่า...

โรงเรียนบ้านสาด-ผึ้งนาเกลือ อยู่เลขที่ ๑๓๐ หมู่ที่ ๓ บ้านสาด ตำบลวังพร้าว อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง 52130 เปิดสอนระดับอนุบาล-ประถมศึกษา ตั้งอยู่ริมถนนลาดยางเส้นเล็ก ๆ ที่รถยนต์สองคันวิ่งสวนกันได้สบาย ๆ  สภาพของโรงเรียนภายในพื้นที่กว้างขวางประกอบด้วยสนามหญ้ากว้างใหญ่ มองเห็นอาคารเรียนชั้นเดียวและสองชั้นทาสีสวยสด รั้วก็สวย...
ชอบตรงบรรยากาศของท้องทุ่ง ต้นไม้ และหมู่บ้านที่มองเห็นไกล ๆ... ผมคิดว่าตอนเช้า ๆ คงมีเด็กนักเรียนจำนวนไม่น้อยที่ขี่จักรยานมาโรงเรียน คงเป็นภาพที่ดูน่ารักดีครับ






ไปเที่ยวไหนไม่ว่าไทย-ลาวหรือพม่า ผมมักจะชอบหยุดดูโรงเรียนของเด็ก ๆ ยืนอยู่นอกรั้วแอบเก็บภาพเอาไว้...



ที่โรงเรียนบ้านสาด-ผึ้งนาเกลือก็เช่นกัน!

Wednesday, February 17, 2021

แฮนด์เสือหมอบ ๒๗๐ กรัม

Let talk a bit about the Surly Long Haul Trucker of Woojong Kim, my Korean friend who travelled more than 5 years long around the world... 


Woojong Kim undoubtedly is a man with endurance who has great ambition to conquer the world, fighting the enemy hard not by any sort of weapon but only with his accumulated strength and limitless patient.  

A long time ago I warm-showers hosted him just one night in Hang Chat and since then we'd become like brothers related to the same believe in cycling.  Unsurprisingly, his Long-Haul-Trucker Surly bike was very interesting to me and I would love to follow the way he managed his vehicle successfully.

Firstly let's have a look at his bike. I do not doubt that Surly is one of the great bicycles being used by many 'round-the-world cyclists.  I wish I could buy a complete one right away.  But, being hapless for years, this old man certainly has not enough dough to afford anything so dear like that. How can I do?

อืมมม... ไม่ไหว เขียนด้วยภาษาปะกิด ไม่ได้เป็นภาษาพ่อภาษาแม่ มันเลยไม่ไหลรื่นเหมือนเขียนไทยพากษ์ไทยในขณะที่หัวใจวิ่งเร็วจี๋ไม่รอรีให้กับสมองที่คิดช้า...

ตกลงผมจะต้องสร้างจักรยานอีกคันนึง (โดยใช้เงินคืนรายปีจากประกันชีวิตและวิธีการซื้ออุปกรณ์ผ่อนส่ง) หลังจากศึกษาเรื่องการซ่อมจักรยานมาได้เกือบ ๒ ปี ตอนนี้ผมประกอบจักรยานเองได้แล้ว

เตรียมไว้สู้กับ headwind และ steep hills ผมตั้งใจว่าจักรยานสำหรับ final trip จะต้องมีน้ำหนักเบาแค่เพียงตัวเลขหลักเดียว และใช้แฮนด์เสือหมอบ (drop bar) เพื่อให้เปลี่ยนรูปแบบการจับได้หลายแบบ (เคยเห็นผลแล้วกับการเดินทางกับเจ้าอามุย)  วันนี้ช่างเหอะหยิบเอาแฮนด์เก่าของเจ้าอามุยที่ยังคงเก็บไว้ได้ออกมา ลองวัดดูหน่อยว่าหลังจาก ๔๐ ปีที่โตขึ้น เจ้า handle bar จะยังคงพอใช้ได้กับช่วงใหล่ที่กว้างขึ้นหรือไม่?  อาจจะดูแคบไปนิด แต่คิดว่าใช้ได้ครับ...

ทีนี้มาลองชั่งดูว่าหนักแค่ไหน?  ๒๗๐ กรัมเองครับ น้ำหนักพอ ๆ กับแฮนด์ดี ๆ ที่มีขายในเว็บ

 

ใช้ตัวนี้แหละ แต่ว่า....ผมยังต้องหาเฟรมใหม่ที่น้ำหนักเบา ๆ มาเข้าคู่กัน!

Tuesday, February 16, 2021

ถอดกะโหลกจักรยาน

วันนี้ช่างเหอะขอคุยเรื่องจักรยานต่อนะครับ!...

 

เพื่อนผมคนหนึ่งชื่อยุ้ย (แต่พุงไม่ยุ้ย) แนะนำให้ปั่นเสือ...บอกว่าแล้วจะรู้ว่ามันดีกว่ารถพับแค่ไหน!!

เพื่อน สว. ผู้แข็งแรง - ภาพส่งให้ทางอินเทอร์เน็ต

ผมก็ว่าน่าจะจริง คิดว่าถ้าปั่นทางไกลขี้นเขาลงห้วย ไม่ว่าเจ้า Banian หรือเจ้า Tasuhai (จักรยานพับเพื่อนยาก) คงรับไม่ไหว ขนาดยังไม่เจอลมปะทะ (headwind) ซึ่งสามารถผลักให้จักรยานลดความเร็วเหลือแค่ชั่วโมงละไม่กี่กิโลเมตรน่ะ

ภาพจาก instagram - ขอขอบคุณ
 
น้ำหนักสัมภาระซึ่งจักรยานต้องแบกรับไปด้วยเป็นตัวถ่วงที่สำคัญ อย่างเช่นที่เห็นในภาพ สำหรับผมแล้วคงไม่เลือกเดินทางแบบนั้น...
 
ภาพจาก instagram - ขอขอบคุณ
 
หรือแบบนี้....
 
ภาพจาก instagram - ขอขอบคุณ
 
ย้อนกลับไปเมื่อ ๔๐ ปีที่แล้ว ผมเดินทางกับเจ้าอามุยพร้อมกระเป๋า (5)ใบเดียว จักรยานโบราณล้อ ๒๗ นิ้วใช้แฮนด์เสือหมอบอลู มีปลอกแฮนด์ (1) ติดตั้งมือเบรคซ้ายขวาโยงสายไปยังวีเบรคล้อหน้า-หลัง บนแฮนด์ติดตั้งแตรลม (3) และเข็มไมล์ (2) โยงสาย (9) ไปยังดุมล้อ  อานธรรมดา ๆ หน้าตาเหมือน Brooks (4) เพืองหลัง (10) จำไม่ได้แล้วว่ากี่สปีดใช้มือเกียร์แบบสับถัง (8)  จานหน้า (6) จานเดียว...(ใหญ่อย่างนั้นจะขึ้นเขาไหวหรือ?)  
 

ผมหันไปดูเจ้ายักษ์ที่ได้รับการอัพเกรดเรียบร้อยแล้ว จักรยานทัวร์ริ่งเฟรมโครโมลี่ (Chromoly)* ค่อนข้างหนัก!

 

 
เปลี่ยนเป็น 10-speed แล้ว แต่ลืมบอกไปว่าผมยังได้เปลี่ยนจานหน้าสองใบเหลือเป็นใบเดียวโดยใช้กะโหลกกลวงด้วย เพื่อน ๆ รู้มั้ยว่าการถอดของเดิมออกจากรถเก่าโดยไม่มีเครื่องมือเฉพาะนั้นไม่ง่ายเลยเชียว... 

เครื่องมือถอดกะโหลก - ภาพจากอินเทอร์เน็ต


 
 
โชคดีวันที่ผมกำลังมีสภาพเหมือน "หมากั๊นเต่า" เพื่อนทวีได้แวะเยือนพร้อมกับนำไส้อั่วและแหนมหม้อกระเทียมสดมาให้ (ยินดีเน้อเปื้อน)..
 

"ตอกมันออกเลย" ทวีบอกผมก่อนจากไป  ส่งเพื่อนแล้วช่างเหอะก็กลับมาคว้าค้อนปอนด์และสกัด...
 
 
ฟาดไปไม่กี่ที...ทุกอย่างก็หลุดออก เหลือเพียงกลวงให้ล้วงใส่กะโหลกใหม่


เดี๋ยวเล่าต่อนะครับ! 
 
-----------------------------------------------------------------

*โลหะผสมระหว่างเหล็กกับโมลิบดีนั่ม (Molybdenum) มีน้ำหนักเบากว่าเหล็ก ท่อโครโมลี่ดี ๆ บางยีห้อมีน้ำหนักไม่ต่างจากไทเทเนี่ยมเท่าไหร่นัก จุดเด่นของโครโมลี่ ทำให้ทรงตัวดี ขี่สนุก เพราะน้ำหนักเบา แต่ข้อเสียคือ เป็นสนิมง่ายเหมือนเหล็กทั่ว ๆ ไป


keep fighting

ผมขอเขียนบล็อกต่อไปตามเรื่องตามราวเท่าที่พอจะคิดออก มีมากมายหลายเรื่องที่อยากนำมาเขียนเล่าถึงความรู้สึกและประสบการณ์เก่า ๆ หวังว่าเพื่อน ๆ คงยังไม่เบื่อนะครับ

โลกเปลี่ยนไป ก้าวไกลกว่าที่เคยคิด เจ้าโควิดฯ ทำให้ต้องติดอยู่กับที่ ไม่มีหวังที่จะได้กลับไปในอีกหลาย ๆ แห่งที่เคยไป ไม่ว่าจะเป็นบังกลาเทศเพื่อเคารพหลุมฝังศพพี่อาลี หรือเอาเงินไปให้ชายที่ผมเคยแล้งน้ำใจให้กับเขา (ปฏิเสธที่จะเพิ่มเงินค่านำทางให้สามีซื้อส่าหรีไปฝากภรรยาที่บ้าน) และที่น่าเสียดายไม่น้อยก็คือ ไม่ได้ไปกรุงพาราณสี เพื่อนั่งรถไฟแบบที่ลืมไม่ลง (unforgettable ride) ให้ได้อีกสักครั้ง

ภาพจาก instagram - ขอขอบคุณ


ที่บ้านเราผมเห็นบางคนทำอะไรหนักนิดเบาหน่อยก็บ่นแล้ว ความอดทนยังมีไม่เท่าเพื่อนบ้านหรือในประเทศที่ผู้คนของเขาต้องดิ้นรนต่อสู้อย่างหนักเพื่อความอยู่รอด

ภาพจาก instagram - ขอขอบคุณ 

ภาพจาก instagram - ขอขอบคุณ

ภาพจาก instagram - ขอขอบคุณ

ภาพจาก instagram - ขอขอบคุณ  

Edward Roscoe Murrow - ภาพจากวิกิพีเดีย (ขอขอบคุณ)

Edward Roscoe Murrow*  ได้เขียนไว้ว่า "Difficulty is the excuse history never excepts."  ฉะนั้นโปรดอย่าได้อ้างว่ายากเย็นเข็ญใจ


เราต้องเงยหน้าขึ้น แล้วก้าวเดินไปด้วยกัน  สู้ ๆ ครับพี่น้อง!

------------------------------------------------------------------------
* นักข่าวชาวอเมริกันมีชื่อเสียงในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองด้วยการถ่ายทอดสดทางวิทยุจากยุโรปสำหรับแผนกข่าวของ CBS และทำงานใกล้ชิดกับทีมผู้สื่อข่าวสงคราม (ที่มา - วิกิพีเดีย)