Friday, September 28, 2018

การแข่งขันรถยนต์รอบโลก พ.ศ. ๒๔๕๑ (ต่อ)

อ่านต่อเรื่องการแข่งขันรถยนต์รอบโลก พ.ศ. ๒๔๕๑ นะครับ...

๙. ทะเลทราย ตอนนี้รถแข่งต้องเผชิญกับอากาศร้อนที่แสนทารุณของทะเลทรายเด๊ค ซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลถึง ๒๘๐ ฟุต จากนั้นก็ถึงทะเลทรายโมราฟ พายุทรายทำให้ผู้ขับขี่มองไม่เห็นทาง แถมพัดพาเอาทรายเข้าไปอุดช่องอุดรูของหม้อน้ำเสียด้วย ส่วนล้อรถที่ยังอุตส่าห์หมุนได้ก็ไม่ช่วยให้รถเคลื่อนที่ไปประการใด เพราะพื้นที่แถบนั้นเป็นทรายแห้ง จึงถึงฉากของการเข็นอีกครั้งหนึ่ง...



๑๐. ประเทศญี่ปุ่น  ในที่สุดรถทั้งสี่ก็ฟันฝ่ามาจนถึงเมืองซีแอ๊ตเติ้ล, มลรัฐวอชิงตัน จากนั้นก็ถูกนำลงเรือเพื่อข้ามไปยังประเทศญี่ปุ่น การเดินทางข้ามเกาะญี่ปุ่นนับได้ว่าเป็นฝันร้ายที่สุด ในญี่ปุ่นขณะนั้นยังไม่มีถนน นอกจากทางแคบ ๆ ที่ลัดเลาะไปตามไหล่เขา โดยข้างหนึ่งของทางเป็นทะเล และอีกข้างหนึ่งเป็นหน้าผาอันสูงชัน...


๑๑. แมนจูเรีย เดอ ดีอองยอมแพ้ที่ญี่ปุ่น รถที่เหลือจึงข้ามมายังวลาดิวอสต๊อคในไซเบเรียโดยเรือ ตอนนี้จึงเหลือรถซุสต์ของอิตาลี โปรโตส์ของเยอรมัน และโทมัสของอเมริกัน ต่างก็พยายามคืบหน้าข้ามประเทศแมนจูเรีย ซึ่งในขณะนั้นพื้นดินเฉอะแฉะไปด้วยน้ำที่ท่วมท้นจากแม่น้ำ ชาวบ้านจำนวนมากได้เข้ามาช่วยลากรถที่ต้องตกหลุมโคลนบ่อย ๆ


๑๒. ไซเบเรีย  หลังจากบุกบั่นมาอย่างทุเรศทุรังร่วมห้าเดือน รถและคนซึ่งต่างก็อ่อนเปียกจึงได้มาพบทุ่งหญ้าที่ราบเรียบและกว้างสุดลูกตาของไซเบเรีย แม้จะไม่มีถนนทุ่งหญ้าอันราบเรียบก็ช่วยให้การแข่งดำเนินไปอย่างสะดวก ตอนนี้รถโทมัสนำหน้ามาได้ ๙ วัน แต่แล้วกลับต้องหยุดซ่อมเครื่องยนต์ จึงนำคันอื่นเพียง ๔ วัน รถเยอรมันคงตามมาเป็นอันดับสอง


๑๓. ยุโรป  เมื่อการแข่งขันใกล้จุดปลายทางเข้า บรรดาถนนหนทางในยุโรปที่รถแข่งจะต้องผ่านจึงขนัดไปด้วยผู้คนที่มาต้อนรับ รถโทมัสนำหน้า ตามมาด้วยรถโปรโตส์ ส่วนรถซุสต์ของอิตาลียิ่งตามก็ยิ่งห่าง และห่างมากจนน่าเกลียด จึงจำต้องถอนตัวจากการแข่ง



๑๔. ปารีส  ภายหลังจากที่ออกจากนิวยอร์คมาเป็นเวลา ๕ เดือนกับ ๑๘ วัน คือในวันที่ ๓๐ กรกฎาคม รถโทมัสจึงเข้าสู่กรุงปารีส ส่วนโปรโตส์คงตามมาถึง หลังจากนั้น ๑๐ วันโทมัสจึงเป็นรถที่ชนะการแข่งรอบโลก ส่วนยอร์จ ซุสเตอร์คงเป็นคนขับคนเดียวที่ติดตามรถมาตลอดทาง



๑๕. สรุป  การแข่งรถรอบโลกครั้งนั้นได้นำความก้าวหน้ามาให้แก่รถรุ่นหลัง ๆ มาก โดยชี้ให้นักสร้างรถรุ่นหลัง ๆ เห็นจุดอ่อนและอุปกรณ์บางอย่างที่ควรเพิ่มเติม ทั้งยังชี้ให้เห็นสมรรถภาพของรถยนต์หากได้วิ่งบนถนนดี ๆ ด้วย



ผมอ่านเจอในวิกิพีเดียกล่าวว่า...
The longest automobile race in history, with Paris as the finish line, was the 1908 New York to Paris Race. Six teams from France, Italy, Germany, and the United States competed with three teams actually reaching Paris. The American Thomas Flyer driven by George Schuster was declared the winner of the epic 22,000 mile race in 169 days
มีภาพรถ Mors ซึ่งขับโดย Fernand Gabriel ในการแข่งขัน Paris - Madrid (พ.ศ. ๒๔๔๖) ด้วย...


จบการแข่งขันรถยนต์รอบโลก พ.ศ. ๒๔๕๑ แล้วจ้า!

Thursday, September 27, 2018

การแข่งขันรถยนต์รอบโลก พ.ศ. ๒๔๕๑


นิตยสาร "วีรธรรม" (ราคา ๑ บาท) ฉบับที่ ๑๒๐ วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๐๒ ในหน้า ๑๕, ๑๖ และ ๑๘ มีเรื่อง "การแข่งขันรถยนต์รอบโลก" ให้อ่าน ผมอยากนำมาแชร์กับเพื่อน ๆ ดังนี้...

๑. การแข่งขันรถยนต์รอบโลกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๑ หนังสือพิมพ์สองฉบับ คือนิวยอร์คไทม์ และปารีส เลอ มาแตงได้ให้ทุนแก่ผู้สมัครเข้าแข่งรถยนต์รอบโลก การแข่งวิบากซึ่งจะเริ่มต้นจากนิวยอร์คและสิ้นสุดที่ปารีสในครั้งนั้น ดูท่าจะเป็นไปไม่ได้ เพราะเส้นทางแข่งยาวถึง ๑๗,๐๐๐ ไมล์ (ตอนข้ามมหาสมุทรแปซิฟิคและทะเลญี่ปุ่นใช้เรือบรรทุก)


๒. ในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ รถยนต์ใช้เป็นพาหนะสำหรับเดินทางได้ระยะยาวที่สุดก็เพียงสองสามร้อยไมล์ ถนนหนทางในยุโรปและสหรัฐในสมัยนั้นมีสภาพเลว ยิ่งในฤดูที่ชื้นแฉะ ถนนจะเป็นโคลนตมจนใช้การไม่ได้ บริการด้านซ่อมแซมรถก็มีน้อยมาก และบรรดารถยนต์ซึ่งส่วนมากทำด้วยมือ (ไม่ใช้เครื่องจักรผลิตทีละมาก ๆ อย่างในสมัยนี้) หากมีส่วนใดชำรุดก็ต้องรอให้ช่างสร้างส่วนที่ชำรุดนั้นขึ้นใหม่ เพราะไม่มีสำรอง...


๓. ผู้เข้าแข่ง มีรถเข้าแข่งอยู่ ๖ คัน คือรถโทมัส (อเมริกา) ซูสต์ (อิตาลี) โปรโตส์ (เยอรมัน) และเดอ คีออง, โมโตบล๊อก, ซีแซร์นอแต็ง ซึ่งเป็นรถฝรั่งเศส ทั้งในบรรดารถที่เข้าแข่งนี้มีรถซีแซร์นอแต็งคันเดียวที่มีสูบเดียว และ ๑๒ แรงม้า ส่วนคันอื่น ๆ เป็นชนิดสี่สูบ และกำลังอย่างต่ำก็ ๔๐ แรงม้า นอกจากผู้ขับขี่คันละสามคนแล้ว รถแต่ละคันยังต้องบรรทุกเครื่องมือและอาหลั่ยต่าง ๆ อีกกว่าหนึ่งคัน...


๔. เริ่มแข่ง รถทั้งหกตะบึงออกจากจุดเริ่มต้นที่บริเวณหน้าตึกนิวยอร์คไทม์ เมื่อตอนเช้าของวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๑ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของประธานาธิบดีลินคอล์น เช้าวันนั้นฝูงชนราวสองแสนห้าหมื่นได้มาเฝ้าดูการแข่งขันวิบาก รถทั้งหกมุ่งตรงไปยังเมืองอัลบานีซึ่งห่างนิวยอร์ค ๑๕๐ ไมล์ และกะจะให้ถึงที่นั้นตอนค่ำ...


๕. หิมะ ออกจากนิวยอร์คได้ยังไม่ครบยี่สิบกิโล รถแข่งทั้งหกก็ต้องเผชิญกับหิมะที่พรั่งพรูลงมาอย่างหนักหน่วง ปกคลุมพื้นดินสูงถึงเพลารถ การแข่งขันจึงดำเนินไปด้วยความยากลำบาก สัมภาระที่รถแต่ละคันบรรทุกไปนั้นช่วยกดให้รถจมลงไปในหิมะมากเข้า แม้ชาวบ้านและชาวนาจะออกมาให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มกำลังก็ไม่ช่วยให้รถเหล่านั้นวิ่งได้เร็วกว่าหนึ่งไมล์ต่อหนึ่งชั่วโมง...


๖. รถคันแรกที่ปราชัย ส่วนหนึ่งของรถซีแซร์นอแต็งได้เกิดชำรุดขึ้นกลางทางและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือซ่อมแซมได้ทัน ซีแซร์นอแต็งจึงต้องออกจากการแข่งวิบาก หลังจากออกวิ่งมาได้ไม่ถึงหนึ่งร้อยไมล์ ส่วนรถอีกห้าคันคงบุกบั่นต่อไป สรุปแล้ว ๒๔ ชั่วโมงแรกวิ่งได้เพียงร้อยไมล์...


๗. เมื่อรถเข้าถึงย่านกลางของถิ่นตะวันตก อากาศกำลังหนาวจัด บรรดาผู้ขับขี่ต่างต้องทนทรมานอย่างสาหัส ต้องขับไปครั้งละสามวันโดยไม่ได้หลับได้นอน ใบหน้าและมือแตกด้วยความเย็นยะเยือกที่ศูนย์องศา กระนั้นบรรดาผู้แข่งขันก็หาได้ย่อท้อ คงตะบึงไปข้างหน้าบนถนนที่ปกคลุมไปด้วยน้ำแข็ง....


๘. แล่นบนทางรถไฟ ถนนด้านหน้าตะวันตกของเมืองชิคาโกถูกดินฟ้าอากาศลบเลือนจนมองไม่เห็น คราวนี้จึงถึงการผลัก, เข็น และเอาม้าลากให้พ้นโคลนตม การเคลื่อนที่แบบผลักและเข็นนี้ดำเนินไปหลายวัน ทางการรถไฟจึงอนุญาตให้นำรถแข่งขึ้นวิ่งบนทางรถไฟ ณ วาระนี้รถโมโตบล๊อกได้ถอนตัวจากการแข่ง ทิ้งให้สี่คันที่เหลือบุกต่อไป...


เริ่มสนุกแล้วครับ เดี๋ยวผมพิมพ์ให้อ่านต่อนะ...

Monday, September 17, 2018

ศรีลังกาในฝัน

มาถึงวันนี้ผมก็ยังมั่นใจว่า การนำจักรยานพับขึ้นรถยนต์ รถไฟ หรือเครื่องบิน ช่วยให้เราสามารถท่องโลกไปได้ไกลสุดขอบฟ้า!  


ในเมืองไทยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ๒๕๕๔ การรถไฟฯ ได้มีหนังสืออนุญาตให้ผู้โดยสารสามารถนำรถจักรยานพับขึ้นรถได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าระวาง แต่รถพับนั้นต้องมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางวงล้อไม่เกิน ๒๐ นิ้ว และต้องจัดเก็บให้เป็นที่เรียบร้อย ไม่ก่อให้ผู้โดยสารอื่นได้รับความเดือดร้อนรำคาญ ซึ่งก็ไม่เป็นปัญหาครับ... ผมเก็บจักรยานอย่างที่เห็น รับรองว่าไม่เกะกะใครแน่นอน



นำไปขึ้นรถไฟมาเลเซีย แม้จะต้องเสียค่าระวางไม่เกิน ๑๐๐ บาท แต่ขณะเดียวกันค่าโดยสารกลับถูกกว่า รฟท.



หรือจะพาขึ้นรถไฟความเร็วสูงก็ได้ ผมไปสอบถามเจ้าหน้าที่รถไฟมาเลย์มาแล้ว...




เป็นอันว่าสิ้นข้อสงสัยกันเสียที สรุปได้ว่าผมพาเจ้า Banian เดินทางจากเหนือจรดใต้ อีกทั้งยังขี่จากอุบลฯ ทะลุช่องเม็ก ออกไปจำปาสัก และปั่นออกลาวที่ด่านภูดู่ อ.บ้านโคก จ.อุตรดิตถ์ ทุกเส้นทางสามารถนำจักรยานขึ้นรถไฟ ใส่รถตู้ ให้อยู่ใต้ท้องรถบัส ดูเหมือนว่าผมจะไปได้ทุกแห่งหนที่อยากไป!

หากถามว่าถ้ามีโอกาสได้ทำ FB Trip อีกครั้งผมอยากไปไหน? ก็ขอตอบว่า ยังไม่เคยสัมผัสศรีลังกาผมอยากจะนำเจ้า Banian ขึ้นแอร์เอเซียไปลงที่สนามบินโคลัมโบแล้วปั่นเที่ยวรอบ ๆ เกาะศรีลังกา นำขึ้นรถไฟบ้าง รถยนต์บ้าง แล้วแต่สถานการณ์!



ไม่รู้ว่าฝันนั้นจะเป็นจริงได้หรือเปล่า?

Tuesday, September 11, 2018

The Watercolourist's Guide to Painting Building

ช่วงเล่นเปียโนอยู่ที่กาดสวนแก้ว พอเลิกงานผมก็ไปเรียนวาดรูป อาจารย์ยุทธได้สอนให้ผมวาดภาพเหมือนโดยใช้พู่กันจีนกับผงคาร์บอน และวาดภาพสีน้ำ ทั้งสองอย่างผมไม่ประสบความสำเร็จเลยแม้แต่น้อย! 

ก็เหมือนกับการเรียนแขนงอื่น ๆ ซึ่งไม่เคยก้าวไปจนถึงขั้นที่กล่าวได้ว่าประสบความสำเร็จ ผมแค่พอรู้ พอทำเป็น หรือพอเล่น(ดนตรี)ได้เท่านั้นเอง น่าเสียดายช่วงเวลาที่ผ่านมาหลายสิบปีผมก้าวไปข้างหน้า คล้ายดั่งเรือขาดหางเสือ  ผมอยากเป็นเสียแทบทุกอย่าง...แต่ก็เอาดีไม่ได้ซักกะอย่าง!


ในขณะที่คุณเดชา เพื่อนที่ไปนั่งเรียนด้วยกัน กลับได้สร้างผลงานไว้มากมาย...



เพื่อนบางคนเป็นผู้มีพรสวรรค์ทางด้านการวาดภาพ อย่างเช่นคุณหมอมานะ ซึ่งงานอดิเรกของท่านนอกจากด้านช่างและด้านดนตรีแล้ว ยังได้ฝึกวาดภาพและพัฒนาฝีมือมาเรื่อย ๆ จนสามารถสร้างผลงานได้ในระดับมืออาชีพแล้ว ผมขออนุญาตนำภาพผลงานของคุณหมอมานะมาลงด้วย ๑ บานนะครับ....

ผลงานของคุณหมอมานะ - นำมาจาก facebook ของผู้วาด
"คุณนิ้ง" ก็เช่นกัน ผมแอบเข้าไปดูใน facebook แล้วรู้สึกชื่นชมกับผลงาน ซึ่งบรรยายไว้ว่า "I try to learn mood and atmosphere from the master Joseph Zbukvic."  


ผลงานของคุณนิ้ง - นำมาจาก facebook ของผู้วาด
ได้แต่มองผลงานของเพื่อน ๆ แล้วเกิดความอิจฉา แต่ก็ไม่เป็นไรครับ เมื่อเป็นผู้สร้างไม่ได้ก็ขอเป็นผู้เสพก็แล้วกัน ผมสะสมหนังสือตำรางานศิลปะไว้จำนวนหนึ่ง เมื่อมีเวลาก็เอามาเปิดดู... เท่านี้ก็เป็นสุขแล้ว!



The Watercolourist's Guide to Painting Building โดย Richard Taylor หนังสือหนา ๑๒๔ หน้า



วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ก็มีไม่มาก...



เรียนไม่ได้ ก็ขอเพียงได้รู้ว่าเค้าวาดกันอย่างไร?






ดาวโหลดได้ ที่นี่ เด้อ


ผมวาดไม่เป็น... คงต้องรอให้มาเกิดใหม่ อิอิ

Monday, September 10, 2018

สุกเอาเผากิน

ไปออสเตรเลียเมื่อปี ๒๕๓๑ โดยมี "ซึง" ไปด้วย...  ผมใช้มันเล่นเปิดหมวก หารายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง


หลังจากได้เครื่องดนตรีมาแล้ว...ผมก็ต้องซ้อมอย่างหนักเพื่อที่จะเล่นมันให้ได้ เพราะเวลามีน้อยมาก ขอแค่พอฟังได้ก็พอ ผมหาโน้ตเพลงพื้นบ้านสั้น ๆ มาฝึก อย่างเช่นเพลงผีมด พม่ารำขวาน เพลงรำมวย ฯลฯ...


ก็อย่างที่บอกไว้ว่า "คิดผิด" ที่เลือกเครื่องดนตรีที่ตัวเองไม่ถนัด ผมไม่รู้เทคนิคการเล่นที่จะทำให้มันไพเราะน่าฟัง...


มีเวลาจำกัด ผมต้องจำเพลงให้ได้ จึงมีแค่เพลงสั้น ๆ ไม่กี่เพลงอยู่ในสมอง ได้แต่เล่นซ้ำไปซ้ำมา คิดแล้วก็น่าละอาย...


อาจารย์โสฬส เพื่อนซึ่งสอนอยู่ที่คณะดุริยศิลป์ มหาวิทยาลัยพายัพ จดเพลงสั้น ๆ อย่างเช่น "ฤาษีหลงถ้ำ" ให้ผมมาฝึก...


สถานการณ์บังคับ ทำให้ผมจำเป็นต้องเล่นเพลงพื้นเมืองง่าย ๆ 






ทำเช่นนี้ตรงกับสำนวนสุภาษิตที่ว่า "สุกเอาเผากิน"  ซึ่งถ้าเป็นทุกวันนี้...ผมคงทำไม่ได้!

Sunday, September 09, 2018

Gould meets Menuhin

นักเปียโนและนักไวโอลินในดวงใจของผมคือ Glenn Gould และ Yehudi Menuhin คิดว่าเพื่อน ๆ ผู้ชื่นชอบดนตรีคลาสสิกคงจะรู้จักดี 


Glenn Gould ภาพจากวิกิพีเดีย - ขอขอบคุณ

Yehudi Menuhin ภาพจากวิกิพีเดีย - ขอขอบคุณ
อะไรจะเกิดขึ้นสองนักดนตรีเอกโคจรมาพบกัน? คำตอบมีให้รับรู้ได้จากอัลบั้ม "Gould meets Menuhin" ผมเพิ่งไปค้นเจอไฟล์เก่า ๆ ที่ได้เก็บไว้ตั้งแต่สมัยจัดรายการเพลง "คุยก่อนนอนกับลุงน้ำชา" ที่สถานีวิทยุ Smooth Radio 104.50 MHz วันนี้ได้นำเอาซีดีมาเปิดฟังแล้วมีความสุขมากครับ ลึก ๆ แล้วรู้สึกเสียดายที่เหลือโอกาสอีกไม่นานนักที่จะได้เสพผลงานดี ๆ ของคตีกวีและนักดนตรีที่มีชื่อเสียงเช่นนี้
Bach Violin Sonata BMV 1017  I. Siciliano. Largo
  II. Allegro
  III. Adagio
  IV. Allegro
Beethoven Violin Sonata, Op.96  I. Allegro moderato
  II. Adagio espressivo
  III. Scherzo. Allegro - Trio
  IV. Poco allegretto
Schoenberg Phantasy for Violin and Piano, Op.47  Grave - Piu mosso - Meno Mosso - Lento -Grazioso - Tempo I - Più mosso -
  Scherzando - Poco tranquillo - Scherzando - Meno mosso - Tempo I
 

นอกจากจะได้รับฟังเพลงบรรเลงเพราะ ๆ จากนักเปียโนและนักไวโอลินผู้ยิ่งใหญ่แล้วเพื่อน ๆ ยังได้สัมผัสถึงความแตกต่างของเพลง ๓ สมัยด้วยกัน คือ บาโร้ค, คลาสสิก และศตวรรษที่ ๒๐

แนะนำให้ฟังครับ ไม่มีไฟล์ก็บอกอีเมลมานะครับ ผมจะส่งให้...

Saturday, September 08, 2018

ฺBusking trip to Australia - เตรียมเครื่องดนตรี

ผ่านเลยมาถึงวันนี้ ผมต้องยอมรับว่าคิดผิดที่ใช้ "ซึง" เป็นเครื่องดนตรีที่เล่นเปิดหมวกในช่วงเดินทางท่องเมืองจิงโจ้เมื่อปี ๒๕๓๑  ผมไม่เคยคิดถึงเจ้า harmonica หรือ accordion ซึ่งน่าจะเป็นเครื่องดนตรีที่ดีกว่า ข้อดีของฮาร์โมนิก้าคือตัวเล็กนิดเดียว...ใส่กระเป๋ากางเกงก็ได้ !


ส่วน accordion นั้น ผมเป็นนักเล่นเปียโนอาชีพอยู่แล้ว ถ้าหันมาฝึกเล่น piano accordion ก็น่าจะทำได้ดีกว่าการเล่นซึงซึ่งไม่เคยเล่นมาก่อน น่าเสียดายที่ตอนนั้นผมไม่ได้คิดที่จะเล่นเจ้าเครื่องดนตรีมหัศจรรย์ตัวนี้เลย!


ยังด้อยประสบการณ์ในการเล่นดนตรีเปิดหมวก ผมเลือกใช้ "ซึง" ซึ่งวิกิพีเดียกล่าวว่า...
"ซึง" เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีด ที่ชาวไทยทางภาคเหนือนิยมนำมาเล่นร่วมกับปี่ซอ หรือปี่จุม และ สะล้อ ซึงมี ๔ สาย แต่แบ่งออกเป็น ๒ เส้น ๆ ละ ๒ สาย มีลักษณะคล้าย กระจับปี่ แต่มีขนาดเล็กกว่า ความยาวทั้งคันทวนและกะโหลกรวมกันประมาณ ๘๑ ซม. 

จำได้ว่าผมขับรถมาสด้าพาแม่ปราณีไปซื้อซึงที่บ้านบ่อสร้าง อำเภอสันกำแพง ได้มาในราคาตัวละ ๑๒๐ บาท เจ้าตัวที่เห็นในภาพนี้แหละ....



ทุกวันนี้มันถูกเก็บไว้ที่บ้านของ Jean ใน Adelaide ครับ!

Wednesday, September 05, 2018

ความคิดเห็นของผม

ขอคุยเรื่องคอมพ์ฯ ต่อ... เนื่องจากมีผู้อยากให้ผมได้ออกความเห็นเกี่ยวกับเรื่องคอมพิวเตอร์มือสองที่ประกาศขายใน facebook รายหนึ่ง...



ต้องขออนุญาตนำรูปลงประกอบด้วยนะครับ หวังว่าคงไม่สร้างความโกรธเคืองให้กับผู้ขาย เพราะถึงอย่างไรภาพนี้ก็มีโฆษณาอยู่ตามหน้าเฟสแล้ว ขอออกตัวก่อนว่าสิ่งที่ผมจะพูดเป็นแค่ความเห็นของผู้ใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงานมานับตั้งแต่เครื่องรุ่นแรก ๆ ที่ใช้ซีพียู Intel 8088 ความเร็ว 8 MHz  เครื่องละ ๒๕,๐๐๐ บาท จนถึงเครื่องล่าสุดซึ่งใช้ซีพียู AMD A10-9700  ๔ คอร์ ๔ เทรด ความเร็ว 3.5 / 3.8 GHz

ช่วงเกือบ ๓ ทศวรรษที่ผ่านมา เคยหาซื้อหรือประมูลเครื่องและอุปกรณ์มือสองมาใช้มากมาย ด้วยความที่อยากจะประหยัดเงินนั่นแหละ ผมจึงได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในตลาดฮาร์ดแวร์มาตลอด ทั้งพัฒนาการด้าน hardware และ software มันรวดเร็วมากจริง ๆ สินค้าตกรุ่นเป็นว่าเล่น เงินรวมแล้วเป็นแสนที่ผมจ่ายไปกับเรื่องนี้ช่างไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย ทุกวันนี้ผมมีอุปกรณ์เก่าที่ใช้งานไม่ได้อยู่เต็มบ้าน ฮาร์ดดิสก์เกือบ ๒๐ ตัว บางตัวซื้อมา ๒-๓ พัน ถ้าเอาไปขายร้านรับซื้อของเก่าก็ได้แค่ตัวละ ๒๐ บาท

ใช้ของเก่า...แม้ว่าอุปกรณ์จำพวกเมนบอร์ดจะทนทาน แต่ก็ล้าสมัยเร็ว ก่อนหน้าที่เว็บประมูลจะปิดไป ผมเห็นสินค้าที่พ่อค้าไปเหมามาจากญี่ปุ่นประกาศขายมากมาย เฉพาะเคสของ Fujisu ที่ใช้ซีพียู ๒ คอร์ ความเร็ว 3 GHz ราคาไม่กี่ร้อยบาทเอง

ทีนี้มาดูสเปคของเครื่องที่อยากให้ผมออกความเห็น เค้าเขียนบอกไว้แค่เพียงว่า "Fujisu FMV Esprimo  Intel Core2 - ram DDR2 2 Gb สามารถเพิ่มได้ถึง 4gb - hdd 160 gb - มี DVD RW - จอ LCD 17 นิ้ว - พร้อม mouse และ keyboard  ทั้งชุดราคา ๒,๙๙๙ บาท ค่าส่งอีก ๓๔๑ บาท"

เพื่อน ๆ ที่รักครับ ผมไม่ใช่คนมีตังค์ ต้องอาศัยกินน้อยใช้น้อย กัดฟันประหยัดทุกอย่างเพื่อให้สามารถท่องเที่ยวได้ในสไตล์ลุงน้ำชา แล้วยังต้องตัดใจเฉือนเนื้อตัวเอง เลือกซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์สเปคดี ๆ มาใช้งาน ทั้งการท่องเที่ยว ทำเว็บ อ่าน e-book ดูหนังฟังเพลง เป็นการให้อาหารสมองที่ผมต้องการมากกก...

อย่างที่เห็นในภาพข้างบนเป็นจอ LCD ขนาด ๑๗ นิ้วซึ่งออกมาในยุคแรก ๆ (รูปทรงเกือบจะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส) ของผมก็เคยซื้อมาใช้ครับ จำได้ว่าตอนนั้นราคา ๔ พันกว่าบาท ทุกวันนี้เลิกใช้แล้ว จะยกไปขายร้านของเก่าก็คงได้ไม่กี่ตังค์

ได้ข้อสรุปมาว่า ถ้าทำงานกับคอมพิวเตอร์ผมจะต้องใช้จอ wide screen มีความละเอียด (resolution) สูง เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัด ไม่สั่นไหว ไม่ทำร้ายสายตา เวลาดูหนังหรืออ่านหนังสือต้องให้ชัดเจนเหมือนดูรูปภาพบนแผ่นกระดาษ สุขภาพของเราอย่าปล่อยให้ถูกทำร้ายเพราะอยากใช้ของประหยัด ๆ ผมคิดว่าชีวิตคนเรานั้นสั้นยิ่งนัก จึงให้รางวัลตัวเองด้วยการสั่งจอ Dell Ultrasharp ราคา ๗ พันกว่าบาทมาใช้ (ทุกวันนี้ก็ยังต้องผ่อนกับลาซาด้าอยู่เลย) 

แค่เรื่องจอภาพอย่างเดียวก็พอบอกได้ถ้าเป็นผมจะซื้อเครื่องมือสองชุดนี้หรือไม่?  ขอเสริมอีกนิดว่า HDD ขนาด 160 Gb รุ่นเก่า ๆ อย่างนั้น นอกจากจะช้าแล้ว ยังไม่พอใช้เก็บไฟล์ซึ่งมีมากมายมหาศาล!  ของผม 3 TB ยังไม่พอใช้เลยครับ  แรมก็เหมือนกัน ถ้าเป็น DDR2 2 Gb บัสต่ำ ๆ บางครั้งเครื่องมันอืดจนอยากจะโยนทิ้งเลยก็ว่าได้!!

ทุกวันนี้คอมพิวเตอร์ราคาถูกมาก เงิน ๓ พันกว่าบาทที่จะนำไปซื้อของเก่ายุคพระเจ้าเหา ถ้าตัดใจเพิ่มอีกสักเท่าตัว ก็หาซื้อเครื่องใหม่แบรนด์เนม สเปคดี ๆ ราคาไม่ถึงหมื่นได้แล้วครับ...

หรือจะตัดใจซื้อ Microsoft  Surface Go แท็บเล็ต 2-in-1 ราคาหมื่นกว่าบาทไปเลย! ครั้งเดียวจบ...

ภาพจาก bananastore.com

 จะมัวไปนั่งงมโข่งอยู่ทำมายยยย.... (อิอิ)