Thursday, September 27, 2018

การแข่งขันรถยนต์รอบโลก พ.ศ. ๒๔๕๑


นิตยสาร "วีรธรรม" (ราคา ๑ บาท) ฉบับที่ ๑๒๐ วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๐๒ ในหน้า ๑๕, ๑๖ และ ๑๘ มีเรื่อง "การแข่งขันรถยนต์รอบโลก" ให้อ่าน ผมอยากนำมาแชร์กับเพื่อน ๆ ดังนี้...

๑. การแข่งขันรถยนต์รอบโลกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๑ หนังสือพิมพ์สองฉบับ คือนิวยอร์คไทม์ และปารีส เลอ มาแตงได้ให้ทุนแก่ผู้สมัครเข้าแข่งรถยนต์รอบโลก การแข่งวิบากซึ่งจะเริ่มต้นจากนิวยอร์คและสิ้นสุดที่ปารีสในครั้งนั้น ดูท่าจะเป็นไปไม่ได้ เพราะเส้นทางแข่งยาวถึง ๑๗,๐๐๐ ไมล์ (ตอนข้ามมหาสมุทรแปซิฟิคและทะเลญี่ปุ่นใช้เรือบรรทุก)


๒. ในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ รถยนต์ใช้เป็นพาหนะสำหรับเดินทางได้ระยะยาวที่สุดก็เพียงสองสามร้อยไมล์ ถนนหนทางในยุโรปและสหรัฐในสมัยนั้นมีสภาพเลว ยิ่งในฤดูที่ชื้นแฉะ ถนนจะเป็นโคลนตมจนใช้การไม่ได้ บริการด้านซ่อมแซมรถก็มีน้อยมาก และบรรดารถยนต์ซึ่งส่วนมากทำด้วยมือ (ไม่ใช้เครื่องจักรผลิตทีละมาก ๆ อย่างในสมัยนี้) หากมีส่วนใดชำรุดก็ต้องรอให้ช่างสร้างส่วนที่ชำรุดนั้นขึ้นใหม่ เพราะไม่มีสำรอง...


๓. ผู้เข้าแข่ง มีรถเข้าแข่งอยู่ ๖ คัน คือรถโทมัส (อเมริกา) ซูสต์ (อิตาลี) โปรโตส์ (เยอรมัน) และเดอ คีออง, โมโตบล๊อก, ซีแซร์นอแต็ง ซึ่งเป็นรถฝรั่งเศส ทั้งในบรรดารถที่เข้าแข่งนี้มีรถซีแซร์นอแต็งคันเดียวที่มีสูบเดียว และ ๑๒ แรงม้า ส่วนคันอื่น ๆ เป็นชนิดสี่สูบ และกำลังอย่างต่ำก็ ๔๐ แรงม้า นอกจากผู้ขับขี่คันละสามคนแล้ว รถแต่ละคันยังต้องบรรทุกเครื่องมือและอาหลั่ยต่าง ๆ อีกกว่าหนึ่งคัน...


๔. เริ่มแข่ง รถทั้งหกตะบึงออกจากจุดเริ่มต้นที่บริเวณหน้าตึกนิวยอร์คไทม์ เมื่อตอนเช้าของวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๑ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของประธานาธิบดีลินคอล์น เช้าวันนั้นฝูงชนราวสองแสนห้าหมื่นได้มาเฝ้าดูการแข่งขันวิบาก รถทั้งหกมุ่งตรงไปยังเมืองอัลบานีซึ่งห่างนิวยอร์ค ๑๕๐ ไมล์ และกะจะให้ถึงที่นั้นตอนค่ำ...


๕. หิมะ ออกจากนิวยอร์คได้ยังไม่ครบยี่สิบกิโล รถแข่งทั้งหกก็ต้องเผชิญกับหิมะที่พรั่งพรูลงมาอย่างหนักหน่วง ปกคลุมพื้นดินสูงถึงเพลารถ การแข่งขันจึงดำเนินไปด้วยความยากลำบาก สัมภาระที่รถแต่ละคันบรรทุกไปนั้นช่วยกดให้รถจมลงไปในหิมะมากเข้า แม้ชาวบ้านและชาวนาจะออกมาให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มกำลังก็ไม่ช่วยให้รถเหล่านั้นวิ่งได้เร็วกว่าหนึ่งไมล์ต่อหนึ่งชั่วโมง...


๖. รถคันแรกที่ปราชัย ส่วนหนึ่งของรถซีแซร์นอแต็งได้เกิดชำรุดขึ้นกลางทางและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือซ่อมแซมได้ทัน ซีแซร์นอแต็งจึงต้องออกจากการแข่งวิบาก หลังจากออกวิ่งมาได้ไม่ถึงหนึ่งร้อยไมล์ ส่วนรถอีกห้าคันคงบุกบั่นต่อไป สรุปแล้ว ๒๔ ชั่วโมงแรกวิ่งได้เพียงร้อยไมล์...


๗. เมื่อรถเข้าถึงย่านกลางของถิ่นตะวันตก อากาศกำลังหนาวจัด บรรดาผู้ขับขี่ต่างต้องทนทรมานอย่างสาหัส ต้องขับไปครั้งละสามวันโดยไม่ได้หลับได้นอน ใบหน้าและมือแตกด้วยความเย็นยะเยือกที่ศูนย์องศา กระนั้นบรรดาผู้แข่งขันก็หาได้ย่อท้อ คงตะบึงไปข้างหน้าบนถนนที่ปกคลุมไปด้วยน้ำแข็ง....


๘. แล่นบนทางรถไฟ ถนนด้านหน้าตะวันตกของเมืองชิคาโกถูกดินฟ้าอากาศลบเลือนจนมองไม่เห็น คราวนี้จึงถึงการผลัก, เข็น และเอาม้าลากให้พ้นโคลนตม การเคลื่อนที่แบบผลักและเข็นนี้ดำเนินไปหลายวัน ทางการรถไฟจึงอนุญาตให้นำรถแข่งขึ้นวิ่งบนทางรถไฟ ณ วาระนี้รถโมโตบล๊อกได้ถอนตัวจากการแข่ง ทิ้งให้สี่คันที่เหลือบุกต่อไป...


เริ่มสนุกแล้วครับ เดี๋ยวผมพิมพ์ให้อ่านต่อนะ...

No comments: