Monday, February 29, 2016

Santa Lucia สำหรับแอคคอร์เดียน

วันนี้ขอนำโน้ตเพลงสำหรับ accordion มาฝากเพื่อน ๆ สัก ๑ เพลง เป็นเพลง Santa Lucia อยู่ในคีย์ C major ครับ....





เล่นไม่ยาก ลองฝึกดูนะครับ!

Tuesday, February 23, 2016

Tamu - Moreh

เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ผมได้เขียนถึง Woojong Kim นักปั่นท่องโลกชาวเกาหลีซึ่งเคยมาพักอยู่ที่บ้านห้างฉัตรของผม ๑ คืน ก่อนเดินทางต่อไปยังอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ในหัวข้อ "คนดีมีน้ำใจ"


วันต่อมาผมก็เขียนถึงเจเรมีอีกครั้งใน "ควันหลงจากนักปั่นท่องโลก


วันนี้ผมอยากรายงานให้เพื่อน ๆ ทราบสักหน่อยว่าเค้าเดินทางไปถึงไหนแล้ว....


ไปไกลทีเดียว!!  ตอนนี้อยู่ในอินเดีย  หลังจากเดินทางจากเมืองไทยไปเมียนมาร์ โดยผ่านทางด่านแม่สอดสู่เมืองเมียวดี จากนั้นก็ปั่นขึ้นเหนือระยะทางมากกว่า ๘๐๐ กิโลเมตรไปเข้าอินเดียที่ด่าน Tamu ...


นับว่ามีความเด็ดเดี่ยวจริง ๆ เจเรมีลุยเดี่ยวขึ้นไปจนถึง Tamu (1) ผ่านด่าน Moreh ของอินเดีย (2) เข้าไปแล้ว...


ตอนนี้ปั่นไกลเข้าไปในอินเดีย ทำระยะทางได้มากกว่า ๑,๐๐๐ กิโลเมตร!

Friday, February 12, 2016

บขส. เลย - หลวงพระบาง

ผมยังมีแผ่นพับ "ตารางเดินรถโดยสารระหว่างประเทศ ไทย-ลาว" ของ บขส. อีกฉบับ คิดว่าน่าสนใจสำหรับผู้ที่อยากไปเยือนลาวโดยผ่านจังหวัดเลย...


จากเลยไปหลวงพระบาง ๓๙๔ กิโลเมตร เดินทาง ๑๐ ชั่วโมง ค่าโดยสาร ๗๐๐ บาท ถ้าไปลงไชยะบุรีระยะทาง ๒๘๗ กิโลเมตร เดินทาง ๗ ชั่วโมง ค่าโดยสาร ๕๐๐ บาท...


ไปหาแผนที่มาให้เพื่อน ๆ ได้ดูด้วย ถ้าเดินทางจากเลย (1) ไปไชยะบุรี (2) และหลวงพระบาง (3) ก็เข้าท่าดีเหมือนกันนะครับ 

แผนที่จากเว็บโรงเรียนเขาทรายทับคล้อพิทยา - ขอขอบคุณ
แวะเที่ยวจังหวัดเลยก่อน...


ส่วนหลวงพระบางนั้นไม่ต้องสงสัย...ยังน่าเที่ยวอยู่เสมอ


ด้านหลังพับมี "คู่มือผ่านแดนไทย - สปป. ลาว" เขียนไว้ดังนี้...
การข้ามแดนที่บริเวณสะพานมิตรภาพแม่น้ำเทือง ไทย-ลาว
๑. กรณีไม่มีพาสปอร์ต จะต้องไปติดต่อขอทำเอกสารที่ว่าการอำเภอท่าลี่ หรือสำนักงานทำบัตรผ่านแดน บริเวณที่ใกล้กับสะพานได้โดยใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน รูปถ่าย ๒ รูป ค่าธรรมเนียม ๔๐ บาท บัตรผ่านแดนจะมีอายุ ๓ วัน สามารถเดินทางไปได้แค่แขวงไชยะบุรีเก่า
๒. กรณีที่นำรถเข้าจะต้องประสานงานไปที่ขนส่งก่อน โดยใช้คู่มือรถไม่ได้ค้างภาษี บัตรประชาชน ใบขับขี่ หนังสือรับรองกรมธรรม์ประกันภัยของไทยและลาว (ของลาวจำหน่ายที่บริเวณจุดผ่านแดน) เส้นทางท่าลี่-แขวงไชยะบุรี จากสะพานเป็นถนนลาดยาง ๒ กิโลเมตร นอกนั้นเป็นถนนลูกรัง
เตรียมตัวก่อนไป สปป.ลาว
กรณีไม่มีพาสปอร์ต
จะต้องไปติดต่อขอทำใบผ่านแดนชั่วคราว-ถาวร ณ ที่ว่าการอำเภอท่าลี่ ชั้นสอง ตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐ - ๑๗.๐๐ น. ไม่เว้นวันหยุดราชการ
เอกสารที่ต้องใช้
๑. สำเนาบัตรประชาชน ๑ แผ่น
๒. รูปถ่ายหน้าตรง ไม่สวมหมวกและแว่นตา ขนาด ๒ นิ้ว ๒ รูป
๓. ค่าธรรมเนียมในการทำใบผ่านแดน ท่านละ ๔๐ บาท
๔. เด็กอายุต่ำกว่า ๑๒ ปี ให้นำรูปถ่ายมาด้วย ๒ รูป พร้อมสำเนาทะเบียนบ้าน
หมายเหตุ
ใบผ่านแดนชั่่วคราวจะมีอายุใช้งาน ๓ วัน ๒ คืน สามารถเข้าไปได้แค่แขวงไชยะบุรีเท่านั้น ไม่สามารถที่จะเดินทางไปที่แขวงหลวงพระบางได้ หากประสงค์ที่จะเดินทางไปที่แขวงหลวงพระบางจะต้องติดต่อที่ด่าน ตม.แขวงไชยะบุรี (หากเกินกำหนด ๓ วันจะถูกปรับวันละ ๒๐๐ บาท)
กรณีมีพาสปอร์ต
สามารถข้ามไป สปป.ลาว ได้โดยไม่ต้องทำวีซ่า นำพาสปอร์ตไปประทับตราที่ด่านได้เลย
แม้จะปิดฉากเขมรและเวียดนามไปแล้ว แต่ลาวยังคงอยู่ในแผนการท่องโลกของผมนะครับ!

Thursday, February 11, 2016

เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก

จากแผ่นพับตารางเวลาเดินรถโดยสารระหว่างประเทศไทย-ลาว กรุงเทพฯ - ปากเซ ที่ บขส. พิมพ์แจก มีข้อมูลเกี่ยวกับเมืองปากเซ แขวงจำปาสักบอกไว้ด้วยครับ ขอนำมาลงเพิ่มเติมให้เพื่อน ๆ ดังนี้...
เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก มีอาณาเขตทางทิศตะวันตกติดกับชายแดนประเทศไทย ทางด้านช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ทิศใต้ติดต่อกับจังหวัดกัมปงทมของประเทศกัมพูชา มีพื้นที่ประมาณ ๑๕,๔๑๕ ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยเมืองต่าง ๆ คือเมืองปากเซ ชนะสมบูรณ์ ปากช่อง ประทุมพร สุขุมา จำปาสัก โพนทอง เมืองโขง มุลละปาโมก
ในอดีตแขวงจำปาสักมีชื่อเรียกว่า เขตแคว้นของนครกาละบูริสี เป็นศูนย์รวมของศิลปวัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจของประเทศลาวตอนใต้ แต่ภายหลังที่ฝรั่งเศสเจ้าอาณานิคมตั้งเมืองปากเซเป็นเมืองหลวงในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ เมืองจำปาสักซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าของแขวงจำปาสักจึงถูกลดระดับความสำคัญลงไป
การเดินทางไปยังเมืองปากเซ แขวงจำปาสัก เริ่มต้นที่ด่านพรมแดนช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี อยู่ห่างจากตัวเมืองอุบลราชธานีประมาณ ๙๐ กิโลเมตร ซึ่งเป็นประตูสู่เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก จากนั้นมาตามทางหลวงหมายเลข ๑๐ เป็นถนนลาดยาง ระยะทางประมาณ ๔๒ กิโลเมตร จะถึงสะพานมิตรภาพลาว-ญี่ปุ่น ข้ามแม่น้ำโขงมาเมืองปากเซ ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๑ ชั่วโมง เมืองปากเซไม่มีอารยธรรมเก่าแก่เหมือนเมืองจำปาสัก แต่กลับมีความหลากหลายของเชื้อชาติ ประเพณีและวัฒนธรรม มีจำนวนประชากรประมาณ ๗๐,๐๐๐ คน นอกจากชาวลาวแล้ว ยังมีชาวจีนและเวียดนามเข้ามาตั้งรกรากเป็นจำนวนมาก บรรยากาศทั่วไปเมืองปากเซยังเงียบสงบเป็นธรรมชาติ ช่าวบ้านมีวิถีชีวิตเรียบง่าย 

สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ
น้ำตกตาดผาส้วมที่ตั้ง มาตามทางหลวงหมายเลข ๒๓ จนถึงบ้านห้วยแร่ ประมาณกิโลเมตรที่ ๒๑ แล้วเลี้ยวซ้ายมาตามทางหลวงหมายเลข ๒๐ ประมาณ ๑๓ กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายมือเข้าสู่ตัวน้ำตกตาดผาส้วม แค่ชื่อก็อาจฟังดูไม่คุ้นหูสำหรับคนไทยเท่าไรนัก แต่จริง ๆ แล้วคำว่า "ส้วม" ของลาวหมายถึง ห้องนอนที่กั้นไว้สำหรับลูกสาวลูกเขยโดยเฉพาะ ส่วนตาดแปลว่า "ลานหินที่เป็นชั้น ๆ" จุดเด่นของน้ำตกตาดผาส้วมคือ สายน้ำที่ไหลผ่านหินผาขนาดใหญ่ที่มีลักษณะเป็นแท่ง ๆ รูปร่างคล้ายห้องหอของคู่บ่าวสาวดูสวยงาม
นอกจากนี้ภายในอุทยานยังมีพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมเอาหมู่บ้านโบราณของหลายชนเผ่ามาจัดแสดงให้นักท่องเที่ยวได้ชมกัน เช่นบ้านของชาวกระต้าง ซึ่งเป็นชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รอบ ๆ น้ำตกนี้ บ้านของชาวเผ่าอาลัก บ้านของชาวกระตู้ หอกวนที่ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมของชาวเผ่าละแว ภายในจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ของชาวเผ่าให้ชมเป็นจำนวนมาก และหอสูงของชาวละแวที่ใช้เป็นที่สังเกตการณ์ภายในหมู่บ้าน และที่น่าสนใจที่สุดคือบ้านพักของทางอุทยานที่ตกแต่งได้สวยงามอย่างลงตัวด้วยวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น   
น้ำตกหลี่ผี อยู่ในเขตดอนคอน ช่วงที่เหมาะแก่การเที่ยวชมคือช่วงกรกฎาคม – ธันวาคม เพราะคุณจะเห็นสายน้ำจำนวนมากในแก่งหลี่ผีที่ไหลถาโถมผ่านเนินหินโขดหินลงมาด้วยกำลังแรงแตกเป็นละอองสีขาวไปทั่วแก่งดูสวยงามตื่นตามาก
"หลี่" เป็นภาษาลาว หมายถึงเครื่องมือจับปลาชนิดหนึ่งมีลักษณะคล้ายลอบ ส่วนคำว่า ผี หมายถึงศพคนตาย ซึ่งบริเวณน้ำตกหลี่ผีจะมีกระแสน้ำไหลบ่าตามพื้นที่ราบผ่านแผ่นหิน แล้วไหลตกลงมาตรงช่องซอกเขาที่แตกแยกออกจากกัน กระแสน้ำสีเขียวเข้มในหน้าแล้งหรือสีชาในช่วงฤดูฝนจะไหลบ่าตกลงมาเบื้องล่าง จากนั้นจึงไหลไปตามรอยแยกของซอกเขาเป็นทางยาวหลายกิโลเมตร
จุดที่พบศพมากๆ คือบริเวณร่องหินของน้ำตกหลี่ผี บริเวณนี้กระแสน้ำจะไหลมารวมตัวกันเป็นแอ่งขนาดใหญ่ จากนั้นน้ำจะวนไปมาแล้วจึงไหลตกลงไป ด้านล่างผ่านซอกและหลืบหินแคบ ๆ ทำให้ศพของทหารในสมัยสงครามอินโดจีนจำนวนมากลอยมาติดในหลี่จับปลา ชาวลาวจึงเรียกน้ำตกแห่งนี้ว่า "หลี่ผี" 

น้ำตกคอนพะเพ็ง เป็นน้ำตกที่ขนาดใหญ่ที่สุดในเขตแม่น้ำโขงตอนล่าง ตั้งอยู่บนแก่งหินขนาดใหญ่ขวางกั้นเส้นทางการไหลของแม่น้ำโขงทั้งสาย มีลักษณะต่างระดับกันสูงประมาณ 10 เมตร ซึ่งแม้จะมีชั้นของหินไม่สูงมากนัก แต่กระแสน้ำที่ไหนถามโถมลงมามีความรุนแรงมาก
ด้วยแม่น้ำโขงทั้งสายไหลลงมาจากนั้นจะแยกออกเป็นหลายสาย สาเหตุเพราะแรงดันของน้ำจำนวนมหาศาลที่ไหลบ่าถาโถมกระหน่ำลงมาจากชั้นหินราวกับจะถล่มทลายแก่งหินอย่างดุดันและเกรี้ยวกราด สร้างความตื่นตาที่น่าประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว สมกับคำร่ำรือและยกย่องให้เป็น ไนแองการ่า แห่งเอเชีย ความยิ่งใหญ่ของสายน้ำที่กระโจนบิดตัวปะทะแก่งหินน้อยใหญ่ จนเดือดพล่านกระจายเป็นละอองไอน้ำแทรกตัวปกคลุมอยู่ตามแก่งหิน

ปราสาทวัดพู (มรดกโลกของลาวตอนใต้)เป็นพิพิธภัณฑสถานที่ซึ่งถือว่าสำคัญที่สุดในลาวตอนใต้ ซึ่งได้รับการรับรองและขึ้นทะเบียนจากองค์การ UNESCO เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๕ ว่าเป็นสถานที่เมืองมรดกโลกแห่งที่สองของลาวนับจากหลวงพระบาง
ตั้งอยู่บนเนินเขากู หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ากูควาย หรือภูเขาควาย ห่างจากตัวเมืองไป ๙ กิโลเมตร เชื่อกันว่าปราสาทวัดพู เป็นเทวสถานขอมคล้ายกับเขาพระวิหาร และปราสาทวัดพูได้สร้างก่อนอังกอร์วัดในประเทศเขมร ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ในสมัยพระเจ้ามเหนทรวรมัน โดยใช้สถานที่แห่งนี้เป็นที่บูชาเทพเจ้า ตามความเชื่อของศาสนาฮินดูเป็นเวลานานหลายปี
ศิลปะต่าง ๆ เหมือนศิลปะที่อังกอร์วัด โดยแบ่งเป็นขั้นบันไดตามภูเขาจนถึงปราสาทข้างบน สถานที่สำคัญภายในบริเวณปราสาทพู เช่น ที่ทำพิธีกรรม เซ่นไหว้ต่อเทพเจ้าฮินดู โดยใช้ชีวิตมนุษย์ผู้มีพรหมจรรย์ชาย-หญิงตามความเชื่อของลัทธิฮินดูก็ยังมีให้เห็นอยู่จนถึงปัจจุบัน ต่อมาประเทศลาวได้รับพุทธศาสนาเข้าในประเทศ เทวสถานแห่งนี้ได้เปลี่ยนเป็นวัดของพุทธศาสนานิกายเถรวาทมาจนถึงวันนี้
วัดพูจะมีงานประจำปีที่มีชื่อเสียงจัดเป็นประจำทุกปี ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ประมาณ ๓ วัน ซึ่งในวันดังกล่าวต้องเป็นวันเพ็ญเดือนสาม ปราสาทวัดพูเป็นสถานที่ที่มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวตลอดทั้งปี เพื่อสัมผัสกับธรรมชาติและสถาปัตยกรรมที่งดงาม และน่าชื่นชมของปราสาทวัดพู

 ไม่ไปไม่ได้แล้วครับ เพื่อน ๆ ที่รัก!!

Wednesday, February 10, 2016

บขส. กรุงเทพ - ปากเซ

เวลาไปที่ไหน...หากเจอเอกสารแจกฟรีที่มีประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสุขภาพหรือการเดินทาง ผมเป็นต้องหยิบกลับมาสแกน แล้วนำลงบล็อกให้เพื่อน ๆ ได้อ่าน อย่างเช่นแผ่นพับจาก บขส. ฉบับนี้ก็เช่นกัน... 


เป็นตารางเวลาเดินรถโดยสารระหว่างประเทศไทย-ลาวสาย "กรุงเทพ-อุบลราชธานี-ปากเซ"


มีประโยชน์สำหรับผู้ที่อยากเดินทางด้วยรถโดยสารไป สปป.ลาว โดยผ่านทางจังหวัดอุบลราชธานี ในเว็บท่องเที่ยวทั่ว ๆ ไปก็หาดูได้ครับ แต่ขอช่วยประชาสัมพันธ์อีกแรงนึง เพื่อให้การศึกษาค้นคว้าง่ายยิ่งขึ้น...

สำหรับผมแล้วคงไม่วางแผนที่จะนั่งรถรวดเดียวจากกรุงเทพฯ ไปปากเซ เพราะยังมีอะไรดี ๆ ที่อุบลฯ ให้ได้สำรวจโดยใช้เวลา ๒ หรือ ๓ วัน เหมือนกับที่ผมแวะไปบ้านตากลางจังหวัดสุรินทร์ ก่อนไปเยือนเขมร...

จากอุบลราชธานีไปปากเซ ระยะทาง ๑๓๘ กิโลเมตร ค่าโดยสาร บขส. ๒๐๐ บาท ใช้เวลาเดินทาง ๓ ชั่วโมง มีรถวันละ ๒ เที่ยว เช้ากับบ่ายครับ...

ด้านหลังแผ่นพับมี "คู่มือผ่านแดนไทย - สปป. ลาว" เขียนไว้ดังนี้...
ในการเดินทางข้ามแดนจากจังหวัดอุบลราชธานีไปยังปากเซ แขวงจำปาสัก สปป.ลาว สามารถใช้หลักฐานคือ หนังสือผ่านแดน หรือหนังสือผ่านแดนชั่วคราว โดยมีแนวทางปฏิบัติและขั้นตอนดังต่อไปนี้
๑. ประเภทหนังสือที่ใช้ในการเดินทางข้ามแดน
-หนังสือเดินทาง (Passport) ค่าธรรมเนียม ๒๐ บาท
-หนังสือผ่านแดนชั่วคราว (Temporary Border Pass) หรือบัตรชั่วคราว ค่าธรรมเนียมในเวลาราชการฉบับละ ๕๐ บาท นอกเวลาราชการฉบับละ ๘๐ บาท
๒. การขอออกหนังสือผ่านแดน
-สามารถติดต่อได้ที่ ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี เปิดให้บริการทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ เวลา ๘.๓๐ - ๑๖.๓๐ น.
๓. เอกสารและหลักฐานที่ใช้ในการจัดทำ
-ภาพถ่ายขนาด ๒ นิ้ว จำนวน ๓ ภาพ สวมชุดสุภาพ ไม่ใส่แว่นตา
-สำเนาบัตรประชาชน หรือสำเนาบัตรอื่นที่จังหวัดกำหนด พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง
-บุคคลผู้มีสัญชาติไทยอายุ ๑ - ๑๕ ปี ให้ใช้ทะเบียนบ้าน หรือสูจิบัตรแทนได้
๔. ขั้นตอนการจัดทำบัตรผ่านแดน พร้อมหนังสือผ่านแดนชั่วคราว
-เขียนคำร้องคนละ ๑ แผ่น ตามแบบที่กำหนด ส่งให้เจ้าหน้าที่ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี (ค่าเขียนคำร้อง ๓๐ บาท)
๕. ระยะเวลาในการอยู่ สปป.ลาว
-หนังสือเดินทาง (Passport) อยู่ใน สปป.ลาว ได้ ๓๐ วัน และสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวยังเมืองอื่น ๆ ได้
-หนังสือผ่านแดนชั่วคราว ใช้ในแขวงจำปาสักเท่านั้น เป็นเวลา ๓ วัน ๒ คืน
หวังว่าคงจะมีประโยชน์ต่อนักเดินทางไม่มากก็น้อย ผมก็ต้องขอบคุณ บขส. ที่ให้ข้อมูลไว้ด้วยครับ...

Monday, February 08, 2016

เป็นได้มากกว่าเลนส์มือหมุน


เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๖ ผมประมูลเลนส์ซูมยี่ห้อ Tokina หลังจากจากศึกษาจากประกาศในเว็บประมูลที่ว่า...
Lens Zoom AF Tokina 60-300 mm Mount NIKON ใช้งานได้ปกติ ภาพชัด (ขึ้นกับฝีมือตากล้อง)  ซูมแน่น - กล้องบางรุ่นอาจปรับค่า f-stop ได้แค่ f/4 หรือ f/22 เพียงค่าเดียว - หน้าเลนส์ใสกิ๊ก - หลังเลนส์มีคราบ (ให้ช่างหรือท่านที่สามารถล้างเลนส์เองล้างออกได้) -  มี HOOD (กลีบดอกไม้) และฝาปิดเลนส์หน้าหลังครบ
อยากนำมาใช้กับเจ้า Nikon D50...ผมประมูลได้มาในราคา ๑,๖๕๔ บาท จริง ๆ แล้วก็เห็นอยู่นะว่าเป็นเลนส์ AF (auto focus) แต่เมื่อนำมาใส่แล้วไม่ทำงาน ผมก็พอใจที่จะใช้มันเป็นแค่เพียงเลนส์มือหมุนโดยตั้งไว้ที่ M (manual) แล้วปรับโฟกัสด้วยมือมาตลอด...


ผมหา filter 67 mm มาใส่ แต่ไม่ได้ล้างคราบสกปรกที่หลังเลนส์...  


ภาพที่ได้ก็ไม่เลวเหมือนกัน มีเลนส์ซูมตัวนี้ตัวเดียวก็พอ ไม่ต้องการอะไรมากกว่านี้อีก...


เช้าวันตรุษจีนวันนี้ไม่รู้ว่าเป็นอะไร! ผมหยิบเจ้า D50 ออกมาเปลี่ยนเอาเลนส์ Nikkor 18-55mm ซึ่งมากับกล้อง (ใช้ถ่ายภาพ ๒ พันบานที่สุรินทร์และเสียมราฐ) ออก แล้วนำเจ้าเลนส์มือหมุนที่ว่าใส่แทน...

ลองปรับโฟกัสด้วยมือเหมือนที่เคยทำ เฮ้ย...หมุนไม่ได้!! เสียรึเปล่า?  ผมปรับสวิชข้าง ๆ lens mount ไปที่ AF แล้วกดชัตเตอร์ เฮ้ย...เลนส์มันปรับโฟกัสได้เอง! เกิดเสียงดัง "ปี๊ป"  พอกดชัตเตอร์หนักขึ้น ก็ได้ยินเสียงดัง "แซ๊ะ".... กล้องบันทึกภาพบ้านที่อยู่ไกลสุดไว้ได้!!!


เมื่อวานนี้ควงจอบดายหญ้าหน้าบ้านก็เลยอยากใช้เจ้า D50 + เลนส์ Tokina ถ่ายภาพจากระเบียงชั้นสาม ผมลองทั้งแบบมือหมุนและแบบออโต้โฟกัส... 


จำไม่ได้แล้วว่าภาพไหนใช้ระบบ AF


รู้สึกดีใจที่มันเป็นได้มากกว่าเลนส์มือหมุน! ผมทดลองบันทึกภาพในระดับแสงที่ต่างกัน...






อืมมมม์... ชักสนุกแล้วสิ!!

Sunday, February 07, 2016

ผลิตกระดาษจากมูลช้าง

วันนี้ไปดูการนำขึ้ช้างไปทำกระดาษกันนะครับ...


โครงการคชอาณาจักร จังหวัดสุรินทร์ได้ดำเนินการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์กระดาษจากมูลช้าง โดยนำมูลช้างในพื้นที่โครงการคชอาณาจักร จังหวัดสุรินทร์ นำมาแปรรูป เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมภายในโครงการและเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักเรียน นักศึกษา และนักท่องเที่ยวที่สนใจ และเป็นการส่งเสริมนโยบายขององค์การสวนสัตว์ในการจัดหารายได้เพิ่มกับทรัพยากรที่มีอยู่...


ขั้นตอนการผลิตกระดาษจากมูลช้าง

เก็บมูลช้าง นำมาล้างด้วยน้ำสะอาด ๒-๓ น้ำ เพื่อเอาเมือก หิน ทราย กรวด ออก...


นำมูลช้างที่ล้างแล้วมาต้มในถัง ๒๐๐ ลิตร พร้อมใส่โซเดียมไฮดรอกไซด์ (โซดาไฟ) ในอัตราส่วนน้ำ ๒๐๐ ลิตร : โซดาไฟ ๓ กิโลกรัม และคนทุกชั่วโมง เป็นระยะเวลา ๔-๖ ชั่วโมง (การใส่โซดาไฟจะช่วยให้มูลช้างเปื่อยย่อยได้ง่าย)....


นำมูลช้างที่ล้างแล้วมาใส่เครื่องปั่นเยื่อกระดาษ ใช้เวลาปั่น ๓๐ นาที จากนั้นนำปอสาผสมไปในขณะที่กำลังปั่น และผสมด้วยคลอลีนเพื่อให้เยื่อกระดาษมีสีขาว ใช้เวลาปั่น ๓-๔ ชั่วโมง...


นำมูลช้างที่ปั่นเสร็จแล้วไปปั้นเป็นก้อนขนาด ๓๐๐ กรัม/เฟรม และนำไปละลายในบ่อที่ผสมสีย้อมผ้าที่เตรียมไว้แล้ว ใช้เฟรมมาช้อนให้ได้แผ่นบาง ๆ...


นำเฟรมที่ได้ไปตากแดดนาน ๔ ชั่วโมง (แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับแดดในแต่ละวันด้วย)...


นำกระดาษที่ได้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ...


เก็บภาพมาให้เพื่อน ๆ ได้ดูด้วยครับ...












แม้แต่ขี้ช้าง... ก็ยังนำไปทำกระดาษได้!  ยอดเยี่ยมครับ!!