Thursday, February 11, 2016

เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก

จากแผ่นพับตารางเวลาเดินรถโดยสารระหว่างประเทศไทย-ลาว กรุงเทพฯ - ปากเซ ที่ บขส. พิมพ์แจก มีข้อมูลเกี่ยวกับเมืองปากเซ แขวงจำปาสักบอกไว้ด้วยครับ ขอนำมาลงเพิ่มเติมให้เพื่อน ๆ ดังนี้...
เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก มีอาณาเขตทางทิศตะวันตกติดกับชายแดนประเทศไทย ทางด้านช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ทิศใต้ติดต่อกับจังหวัดกัมปงทมของประเทศกัมพูชา มีพื้นที่ประมาณ ๑๕,๔๑๕ ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยเมืองต่าง ๆ คือเมืองปากเซ ชนะสมบูรณ์ ปากช่อง ประทุมพร สุขุมา จำปาสัก โพนทอง เมืองโขง มุลละปาโมก
ในอดีตแขวงจำปาสักมีชื่อเรียกว่า เขตแคว้นของนครกาละบูริสี เป็นศูนย์รวมของศิลปวัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจของประเทศลาวตอนใต้ แต่ภายหลังที่ฝรั่งเศสเจ้าอาณานิคมตั้งเมืองปากเซเป็นเมืองหลวงในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ เมืองจำปาสักซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าของแขวงจำปาสักจึงถูกลดระดับความสำคัญลงไป
การเดินทางไปยังเมืองปากเซ แขวงจำปาสัก เริ่มต้นที่ด่านพรมแดนช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี อยู่ห่างจากตัวเมืองอุบลราชธานีประมาณ ๙๐ กิโลเมตร ซึ่งเป็นประตูสู่เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก จากนั้นมาตามทางหลวงหมายเลข ๑๐ เป็นถนนลาดยาง ระยะทางประมาณ ๔๒ กิโลเมตร จะถึงสะพานมิตรภาพลาว-ญี่ปุ่น ข้ามแม่น้ำโขงมาเมืองปากเซ ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๑ ชั่วโมง เมืองปากเซไม่มีอารยธรรมเก่าแก่เหมือนเมืองจำปาสัก แต่กลับมีความหลากหลายของเชื้อชาติ ประเพณีและวัฒนธรรม มีจำนวนประชากรประมาณ ๗๐,๐๐๐ คน นอกจากชาวลาวแล้ว ยังมีชาวจีนและเวียดนามเข้ามาตั้งรกรากเป็นจำนวนมาก บรรยากาศทั่วไปเมืองปากเซยังเงียบสงบเป็นธรรมชาติ ช่าวบ้านมีวิถีชีวิตเรียบง่าย 

สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ
น้ำตกตาดผาส้วมที่ตั้ง มาตามทางหลวงหมายเลข ๒๓ จนถึงบ้านห้วยแร่ ประมาณกิโลเมตรที่ ๒๑ แล้วเลี้ยวซ้ายมาตามทางหลวงหมายเลข ๒๐ ประมาณ ๑๓ กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายมือเข้าสู่ตัวน้ำตกตาดผาส้วม แค่ชื่อก็อาจฟังดูไม่คุ้นหูสำหรับคนไทยเท่าไรนัก แต่จริง ๆ แล้วคำว่า "ส้วม" ของลาวหมายถึง ห้องนอนที่กั้นไว้สำหรับลูกสาวลูกเขยโดยเฉพาะ ส่วนตาดแปลว่า "ลานหินที่เป็นชั้น ๆ" จุดเด่นของน้ำตกตาดผาส้วมคือ สายน้ำที่ไหลผ่านหินผาขนาดใหญ่ที่มีลักษณะเป็นแท่ง ๆ รูปร่างคล้ายห้องหอของคู่บ่าวสาวดูสวยงาม
นอกจากนี้ภายในอุทยานยังมีพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมเอาหมู่บ้านโบราณของหลายชนเผ่ามาจัดแสดงให้นักท่องเที่ยวได้ชมกัน เช่นบ้านของชาวกระต้าง ซึ่งเป็นชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รอบ ๆ น้ำตกนี้ บ้านของชาวเผ่าอาลัก บ้านของชาวกระตู้ หอกวนที่ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมของชาวเผ่าละแว ภายในจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ของชาวเผ่าให้ชมเป็นจำนวนมาก และหอสูงของชาวละแวที่ใช้เป็นที่สังเกตการณ์ภายในหมู่บ้าน และที่น่าสนใจที่สุดคือบ้านพักของทางอุทยานที่ตกแต่งได้สวยงามอย่างลงตัวด้วยวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น   
น้ำตกหลี่ผี อยู่ในเขตดอนคอน ช่วงที่เหมาะแก่การเที่ยวชมคือช่วงกรกฎาคม – ธันวาคม เพราะคุณจะเห็นสายน้ำจำนวนมากในแก่งหลี่ผีที่ไหลถาโถมผ่านเนินหินโขดหินลงมาด้วยกำลังแรงแตกเป็นละอองสีขาวไปทั่วแก่งดูสวยงามตื่นตามาก
"หลี่" เป็นภาษาลาว หมายถึงเครื่องมือจับปลาชนิดหนึ่งมีลักษณะคล้ายลอบ ส่วนคำว่า ผี หมายถึงศพคนตาย ซึ่งบริเวณน้ำตกหลี่ผีจะมีกระแสน้ำไหลบ่าตามพื้นที่ราบผ่านแผ่นหิน แล้วไหลตกลงมาตรงช่องซอกเขาที่แตกแยกออกจากกัน กระแสน้ำสีเขียวเข้มในหน้าแล้งหรือสีชาในช่วงฤดูฝนจะไหลบ่าตกลงมาเบื้องล่าง จากนั้นจึงไหลไปตามรอยแยกของซอกเขาเป็นทางยาวหลายกิโลเมตร
จุดที่พบศพมากๆ คือบริเวณร่องหินของน้ำตกหลี่ผี บริเวณนี้กระแสน้ำจะไหลมารวมตัวกันเป็นแอ่งขนาดใหญ่ จากนั้นน้ำจะวนไปมาแล้วจึงไหลตกลงไป ด้านล่างผ่านซอกและหลืบหินแคบ ๆ ทำให้ศพของทหารในสมัยสงครามอินโดจีนจำนวนมากลอยมาติดในหลี่จับปลา ชาวลาวจึงเรียกน้ำตกแห่งนี้ว่า "หลี่ผี" 

น้ำตกคอนพะเพ็ง เป็นน้ำตกที่ขนาดใหญ่ที่สุดในเขตแม่น้ำโขงตอนล่าง ตั้งอยู่บนแก่งหินขนาดใหญ่ขวางกั้นเส้นทางการไหลของแม่น้ำโขงทั้งสาย มีลักษณะต่างระดับกันสูงประมาณ 10 เมตร ซึ่งแม้จะมีชั้นของหินไม่สูงมากนัก แต่กระแสน้ำที่ไหนถามโถมลงมามีความรุนแรงมาก
ด้วยแม่น้ำโขงทั้งสายไหลลงมาจากนั้นจะแยกออกเป็นหลายสาย สาเหตุเพราะแรงดันของน้ำจำนวนมหาศาลที่ไหลบ่าถาโถมกระหน่ำลงมาจากชั้นหินราวกับจะถล่มทลายแก่งหินอย่างดุดันและเกรี้ยวกราด สร้างความตื่นตาที่น่าประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว สมกับคำร่ำรือและยกย่องให้เป็น ไนแองการ่า แห่งเอเชีย ความยิ่งใหญ่ของสายน้ำที่กระโจนบิดตัวปะทะแก่งหินน้อยใหญ่ จนเดือดพล่านกระจายเป็นละอองไอน้ำแทรกตัวปกคลุมอยู่ตามแก่งหิน

ปราสาทวัดพู (มรดกโลกของลาวตอนใต้)เป็นพิพิธภัณฑสถานที่ซึ่งถือว่าสำคัญที่สุดในลาวตอนใต้ ซึ่งได้รับการรับรองและขึ้นทะเบียนจากองค์การ UNESCO เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๕ ว่าเป็นสถานที่เมืองมรดกโลกแห่งที่สองของลาวนับจากหลวงพระบาง
ตั้งอยู่บนเนินเขากู หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ากูควาย หรือภูเขาควาย ห่างจากตัวเมืองไป ๙ กิโลเมตร เชื่อกันว่าปราสาทวัดพู เป็นเทวสถานขอมคล้ายกับเขาพระวิหาร และปราสาทวัดพูได้สร้างก่อนอังกอร์วัดในประเทศเขมร ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ในสมัยพระเจ้ามเหนทรวรมัน โดยใช้สถานที่แห่งนี้เป็นที่บูชาเทพเจ้า ตามความเชื่อของศาสนาฮินดูเป็นเวลานานหลายปี
ศิลปะต่าง ๆ เหมือนศิลปะที่อังกอร์วัด โดยแบ่งเป็นขั้นบันไดตามภูเขาจนถึงปราสาทข้างบน สถานที่สำคัญภายในบริเวณปราสาทพู เช่น ที่ทำพิธีกรรม เซ่นไหว้ต่อเทพเจ้าฮินดู โดยใช้ชีวิตมนุษย์ผู้มีพรหมจรรย์ชาย-หญิงตามความเชื่อของลัทธิฮินดูก็ยังมีให้เห็นอยู่จนถึงปัจจุบัน ต่อมาประเทศลาวได้รับพุทธศาสนาเข้าในประเทศ เทวสถานแห่งนี้ได้เปลี่ยนเป็นวัดของพุทธศาสนานิกายเถรวาทมาจนถึงวันนี้
วัดพูจะมีงานประจำปีที่มีชื่อเสียงจัดเป็นประจำทุกปี ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ประมาณ ๓ วัน ซึ่งในวันดังกล่าวต้องเป็นวันเพ็ญเดือนสาม ปราสาทวัดพูเป็นสถานที่ที่มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวตลอดทั้งปี เพื่อสัมผัสกับธรรมชาติและสถาปัตยกรรมที่งดงาม และน่าชื่นชมของปราสาทวัดพู

 ไม่ไปไม่ได้แล้วครับ เพื่อน ๆ ที่รัก!!

No comments: