Thursday, December 01, 2011

ล้างเครื่องกรองแบบย้อนกลับ


วันนี้อยากจะคุยต่อเรื่องระบบกรองน้ำต่ออีกสักหน่อย  ระบบน้ำที่บ้านผม...ถ้าไม่นับถังกรองแบบท่อซีเมนต์ซึ่งอยู่บนถังเก็บน้ำ ผมจะมีถังกรองแบบสแตนเลสอีก ๒ ตัวติดตั้งอยู่ข้าง ๆ ถังเก็บน้ำ ตัวหนึ่งใส่สารกรองคาร์บอน ส่วนอีกตัวใส่สารกรองเรชิน  ขอขอบคุณเว็บ amtrade.tht.in ที่ได้บอกคุณสมบัติของสารกรองทั้ง ๒ ชนิดไว้ค่อนข้างละเอียด  ขออนุญาตนำมาโพสต์ให้ความรู้ต่อ ดังนี้...

สารกรองคาร์บอน เป็นสารกรองที่นำมาใช้ในการกรอง สี กลิ่น คลอรีนเป็นหลักใหญ่ เพราะมีคุณสมบัติในการดูดซับสี และกลิ่น ซึ่งมี โมเลกุลขนาดเล็กมาก ที่ไม่สามารถขจัดได้ด้วยวิธีการกรองแบบแรก สารกรองคาร์บอนหรือเรียกว่าถ่านกัมมันต์เม็ดจะมีโครงสร้างที่มี ลักษณะ เป็นรูพรุน มีพื้นที่ผิวสูง ทำให้มีคุณสมบัติในการดูดซับได้เป็นอย่างดี ซึ่งถ้าหากมีพื้นที่ผิวมาก ก็จะมีความสามารถในการดูดซับสูงไปด้วย  แต่เนื่องจากสภาพน้ำที่ใช้กรองของแต่ละแห่ง อาจจะมีสิ่งเจือปนในน้ำไม่เท่ากัน บางแห่งอาจจะมีตะกอนแขวนลอยมากับน้ำค่อนข้างมาก ตะกอนพวกนี้จะไปจับที่ผิวของถ่านกัมมันต์เม็ด ซึ่งจะทำให้การดูดซับของถ่านกัมมันต์เม็ดเสื่อมประสิทธิภาพไป ดังนั้นจึงต้องมีการเอาตะกอนดังกล่าวออกไป โดยวิธีการล้างย้อนกลับ  จุดอ่อนของสารกรองประเภทนี้คือ ความสามารถในการกรองตะกอนแขวนลอยหรือความขุ่นจะกรองได้ไม่ดีนัก จะต้องสารกรองตัวอื่นมาใช้ร่วมด้วย รวมทั้งไม่สามารถกรองความกระด้างจากสารละลายต่าง ๆ ได้ และสารกรองนี้มีอายุการใช้งานไม่นานนัก (ตามสเปคของผู้ผลิต สารกรอง ประมาณ ๑ - ๑.๕ ปี) จึงควรมีการเปลี่ยนสารกรองใหม่ตามกำหนด 
สารกรองเรซิน (resin) สารกรองประเภทนี้จะมีอยู่ ๒ ประเภทคือเป็นแบบไออ้อนบวก และไออ้อนลบ โดยทั่วไปจะนิยมใช้แบบ แคทไออ้อนเรซิน หรือไออ้อนลบ โดยจะใช้นำมากรองความกระด้าง ความกระด้างเป็นสารละลายที่อยู่ในรูปของไออ้อนต่าง ๆ โดยสารกรองจะมีคุณสมบัติในการแลกเปลี่ยน ไอ อ้อน ซึ่งจะทำให้ความกระด้างออกจากน้ำ สารกรองเรซินเมื่อผ่านการใช้งานไปได้ระยะหนึ่งจะเสื่อมสภาพลงและหมดสภาพไป ไม่สามารถแลกเปลี่ยนไออ้อนได้อีก จึงต้องทำการฟื้นสภาพ หรือรีเจนเนอเรชั่น เพื่อให้มีความสามารถในการแลกเปลี่ยนไออ้อนดังเดิม หรือ ใกล้เคียงสภาพเดิม โดยทั่วไปในการฟื้นสภาพเรซิน จะใช้สารละลายเกลือแกงความเข้มข้นตามที่ผู้ผลิตกำหนด โดยให้ค่อย ๆ ไหลผ่าน หรือโดยแช่เรซินในสารละลายดังกล่าวเป็นระยะเวลาหนึ่ง (๑ - ๒ ชั่วโมง) แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดให้หมดความเค็ม เรซินที่ผ่านการใช้งาน และการฟื้นสภาพมาหลายครั้งแล้วจะมีความสามารถแลกเปลี่ยนไออ้อนลดลง จึงต้องทำการเปลี่ยนสารเรซินใหม่ โดยสเปคของผู้ผลิตระบุให้ อยู่ประมาณ ๓ - ๕ ปี ขึ้นอยู่กับสภาพและปริมาณการใช้น้ำของแต่ละแห่ง  จุดอ่อนของสารกรองเรซินจะกรองกลิ่น สี คลอรีนไม่ได้ และสารกรองจะเป็นเม็ดเล็ก ๆ ไม่สามารถจับตัวได้แน่นพอที่จะกรองหรือกั้นตะกอนแขวนลอยที่มากับน้ำได้

จริง ๆ แล้วควรต้องเปลี่ยนสารกรองทุก ๆ ๒ หรือ ๓ ปี แต่สำหรับผมแล้ว แย่มาก ๆ ครับ ไม่มีกะตังค์ เคยให้ร้านมาดู เค้าคิดหลายพันบาท ก็เลยไม่ทำ ทุกวันนี้...หลังจากน้ำบาดาลผ่านถังกรองซึ่งใช้กรวด ทราย และขี้เถ้าแกลบ ตามที่เคยเล่าไว้ในบล็อกเรื่อง "ถังกรองน้ำ" เมื่อเดือนที่แล้ว ผมก็จะให้น้ำจากถังเก็บถังแรกไหลผ่านเจ้าเครื่องกรองที่เห็นในภาพ ก่อนไปยังถังเก็บน้ำถังที่สอง

คิดว่าคงไม่มีประโยชน์ซักเท่าไหร่...เพราะผมไม่ได้เปลี่ยนสารกรองมา ๑๐ ปีแล้ว แต่อย่างน้อยน้ำที่ไหลผ่านสารกรองหมดอายุก็ยังคงถูกกรองได้ส่วนหนึ่ง (ดูได้จากความสกปรกของน้ำทิ้ง...เมื่อล้างถังแบบย้อนกลับ)

วันนี้ ขอแสดงให้เห็นการต่อประตูน้ำ เพื่อให้สามารถทำการล้างแบบย้อนกลับได้ ถ้าเพื่อน ๆ ติดตั้งถังกรองแบบเดียวกันนี้ ก็จำเป็นต้องทำระบบล้างถังแบบย้อนกลับไว้ด้วย


ภาพนี้แสดงให้เห็นทิศทางการไหลของน้ำตามปกติ 
ปกติแล้ว น้ำจะไหลจากถังเก็บน้ำที่ ๑ ผ่านเครื่องกรองไปยังถังเก็บน้ำที่ ๒ โดยอาศัยระดับน้ำที่แตกต่างกัน  แต่ก็ต้องล้างถังกรองบ่อย ๆ นะครับ ไม่งั้นน้ำจะไม่ไหล วิธีล้างก็ต้องมีมอเตอร์สูบน้ำอย่างที่ผมทำไว้อย่างที่เห็นในภาพ...


มีสวิชอัตโนมัติไว้ด้วยเพื่อจะได้ไม่ต้องคอยปิดเปิดสวิชให้มอเตอร์ทำงานในระหว่างล้างเครื่องกรองแบบย้อนกลับ นอกจากนั้น...หากน้ำในถังเก็บถังที่ ๒ หมดโดยกะทันหัน ก็สามารถเปิดสวิชให้สูบน้ำทำงาน ช่วยให้น้ำจากถัง ๑ ไหลไปยังถัง ๒ ได้โดยเร็ว พอแก้สถานการณ์ไม่มีน้ำใช้ไปได้...
ทีนี้มาดูการล้างเครื่องกรองแบบย้อนกลับดูนะครับ....

ปิดประตูน้ำตัวที่ไปยังถ้งเก็บน้ำก่อน เพื่อเปลี่ยนทิศทางน้ำให้ไหลย้อนกลับทาง
น้ำจะไหลแรงเพราะเครื่องสูบน้ำทำงาน เมื่อเราเปิดประตูน้ำให้น้ำไหลย้อนกลับแล้วเปิดน้ำทิ้ง จะเห็นว่าน้ำที่ไหลออกมามีสีของความสกปรก พอสีจางลงเราก็ปิดประตูน้ำแล้วให้น้ำไหลในทิศทางปกติ แต่ยังคงปล่อยน้ำทิ้ง...

ปล่อยน้ำทิ้งเพื่อล้างสารกรอง...
ทำการล้างแบบย้อนกลับอีกหลาย ๆ ครั้ง สลับกับการปล่อยให้น้ำไหลตามทิศทางปกติ จนเห็นว่าน้ำใสดีแล้ว จึงค่อยเปิดประตูน้ำ ปล่อยให้น้ำไหลไปยังถังเก็บที่ ๒ ได้

ดูให้ชัด ๆ อีกทีครับ....
ผมยังไม่รู้จะทำอย่างไรดีกับเครื่องกรองของผม ดูราคาสารกรองในเว็บแล้ว พบว่าสารกรองคาร์บอนราคาส่งลิตรละ ๓๙ บาท ต้องซื้อยกกระสอบ (๕๐ ลิตร) ส่วนสารกรองเรซิน ราคาส่งลิตรละ ๖๕ บาท ยกกระสอบ (๒๕ ลิตร) เช่นกัน!

คงต้องใช้อย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ครับ...

Tuesday, November 29, 2011

Sibelius


Jean Sibelius (ฌอง ซิเบเลียส) คีตกวีชาวฟินแลนด์ เกิดเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๐๘ เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๐๐ ตรงกับปีที่ประเทศไทยมีการจัดงานเฉลิมฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ จำได้ว่าตอนนั้นผมยังไม่ได้ย้ายขึ้นไปอยู่ที่เชียงใหม่ มีการจัดงานที่ท้องสนามหลวงและผมได้ไปเที่ยวด้วย แต่เป็นภาพที่เลือนลางจริง ๆ จำไม่ได้แล้ว  ๕๐ กว่าปีที่ผ่านมา...ผมคิดว่าลูกคนชงกาแฟขายเช่นผมคงไม่มีโอกาสได้ยินชื่อ Sibelius อย่างแน่นอน...ถ้าไม่ได้หันไปเรียนดนตรี

ถ้าพูดถึง Sibelius ผมก็รู้จักอยู่แค่ ๒ อย่างเท่านั้น คือ Jean Sibelius (ฌอง ซิเบเลียส) และ โปรแกรมเขียนโน้ตซึ่งผมใช้ทำเพลง เขียนโน้ต และ ทำ MIDI  พูดถึงเรื่องโปรแกรมเขียนโน้ต ผมเริ่มต้นรู้จักกับเจ้าโปรแกรมอังกอร์ (encore) ก่อนเพื่อน ประมาณ ๑๐ ปีที่แล้ว...อาจารย์อดุลย์ อุฬารโชค เคย copy ลงแผ่นดิสเกตให้มาลองใช้บนคอมพิวเตอร์รุ่น DX486 ทำงานบน Windows 3.11  ต่อมาถึงได้รู้จักและใช้งานโปรแกรม sibelius แล้วตามมาด้วย Finale

โปรแกรมตัวไหนก็ดีพอ ๆ กันแหละ จะต่างกันบ้างก็เป็นบาง options ถ้าใช้ตัวไหนบ่อยก็จะคุ้นเคยและชำนาญไปเอง สำหรับผมแล้ว...ผมชอบใช้โปรแกรม sibelius มากกว่าเพื่อนครับ



ผมชอบรูปแบบตัวโน้ตที่มีให้เลือกใน sibelius อย่างที่นำมาให้ดูเป็นตัวอย่าง โน้ตเพลง Broadway Romance ยาวหนึ่งหน้าอย่างนี้ดูเหมือนง่าย แต่เวลาทำจริง ๆ จะเห็นว่ามันมี accidental เยอะ มีหลายแนวด้วย เราจะต้องเข้าใจที่จะใช้ short cut และรู้คำสั่งที่ทำให้สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว  ต้องอาศัยทำบ่อย ๆ  เพื่อน ๆ ที่อยากได้ sibelius 5 ไปลองฝึกดู สามารถคลิกดาวน์โหลดได้ที่รูปภาพ Jean Sibelius (ฌอง ซิเบเลียส) ซึ่งอยู่ข้างบนนะครับ

Friday, November 25, 2011

ซ่อมเครื่องสูบน้ำ...

สูบน้ำเสียตั้งแต่เมื่อคืนวาน ถ้าซ่อมไม่ได้ก็จะไม่มีน้ำใช้  วันนี้ผมถึงต้องลงมือซ่อมแต่เช้า เริ่มด้วยการเปิดฝาบ่อซึ่งมีเครื่องสูบน้ำอยู่ข้างใต้ก่อน...

ผมโหนตัวลงไปที่ก้นบ่อพร้อมเครื่องมือ ถอดเครื่องสูบน้ำออกดู การสูบน้ำบาดาลขึ้นไปยังหม้อกรองไม่สามารถใช้สูบน้ำชนิดที่ใช้ดูดน้ำขึ้นไปบนอาคารหรือที่เรียกว่าสูบน้ำอัตโนมัติได้ พี่เล็ก(ประปา)บอกผมว่าต้องใช้เครื่องสูบแบบชักหรือที่เรียกว่า"สูบน้ำประเภทลูกสูบชัก(Reciprocating)" หรือไม่ก็ใช้เครื่องสูบพิเศษสำหรับงานนี้โดยเฉพาะซึ่งราคาแพงมาก ๆ


พูดถึงพี่เล็ก จริง ๆ แล้วทุกครั้งที่เครื่องสูบน้ำเสีย ผมจะต้องโทรเรียกพี่เล็ก ช่างวัย ๗๐ ที่มาเจาะน้ำบาดาลให้สมัยที่ผมย้ายเข้ามาอยู่ที่ตึกแถวร้างแห่งนี้เป็นคนแรก พอพี่เล็กเจาะได้น้ำบาดาล ก็บอกให้ผมขุดหลุมขนาดใหญ่ ลึกลงไป เพื่อวางเครื่องสูบอย่างที่เห็นในภาพ...

พี่เล็กบอกว่าต้องลดระดับเครื่องสูบให้อยู่ลึกลงไปมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผมใช้เวลาขุดดินอยู่ ๒ วันเต็ม จากนั้นก็นำท่อซีเมนต์จำนวน ๓ ท่อลงไปในหลุม (ทำคนเดียวไม่มีใครช่วย) แล้วเทพื้น ฉาบปูนบริเวณรอยต่อ เมื่อปูนแห้งสนิท...ผมก็เรียกพี่เล็กมาติดตั้งเครื่องสูบและเดินท่อ

ใช้งานมาได้เกือบ ๑๐ ปี...เมื่อเร็ว ๆ นี้มอเตอร์ไหม้ ต้องเปลี่ยนใหม่ (หมดไป ๑,๕๐๐ บาท) ก่อนหน้านั้นก็เคยเสียมาเป็นครั้งเป็นคราว คือน้ำไม่ขึ้น ผมโทรเรียกพี่เล็กลูกเดียว นายช่างก็ใจดีแท้ มาซ่อมให้ภายในวันนั้น ส่วนใหญ่ใช้เวลาไม่นาน เพราะมักจะเกิดจากปะเก็นรั่วบ้าง ยางปั้มเสียบ้าง พี่เล็กมีอะไหล่ติดตัวมาด้วยเสมอ เปลี่ยนเสร็จ...เครื่องสูบน้ำก็ทำงาน บางครั้งน้อตหลวม พี่เล็กมาขันเข้าก็ใช้ได้! .

เมื่อวานนี้เครื่องสูบทำงานต่อเนื่องหลายชั่วโมงโดยไม่มีน้ำขึ้น โชคดีที่ผมไปพบก่อนที่มอเตอร์จะไหม้ ตอนที่เปิดฝาบ่อออกดู ไอร้อนที่อบอยู่ภายในพุ่งขึ้นปะทะใบหน้าจนรู้สึกได้ แต่ก็ยังดีที่ไม่มีกลิ่นไหม้! ผมพยายามโทรหาพี่เล็กแต่ติดต่อไม่ได้ มีแต่สัญญาณให้ฝากเบอร์โทรกลับ ผมโทรแล้วโทรอีก เช้าวันนี้ก็โทรอีก แต่ไม่สำเร็จ ผมอดเป็นห่วงไม่ได้ว่าพี่เล็กอาจจะไม่สบาย!

ใคร่ครวญดูแล้ว...จะหวังพึ่งพี่เล็กอย่างเดียวเรื่อยไปคงไม่ได้  "ช่างเหอะ" จึงจำเป็นต้องศึกษาและหาวิธีซ่อมให้ได้ด้วยตนเอง เครื่องสูบน้ำอาจเสียได้ทุกเวลา ถ้าซ่อมเองไม่ได้ จะเป็นเรื่องลำบากสุด ๆ เมื่อขาดน้ำ ผมตัดสินใจลงมือซ่อมเองทันที...พบว่าปะเก็นยางที่พี่เล็กทำขึ้นเอง(ด้านซ้ายมือ)หมดสภาพ ผมขี่จักรยานยนต์ไปที่ร้านหล่อวิเชียรซึ่งอยู่ไม่ไกล หาซื้ออะไหล่มาได้ในราคา ๑๐ บาท (ตัวที่อยู่ด้านขวา)


ได้อะไหล่มาแล้ว ผมก็ลงไปทำความสะอาด ใส่จารบี เปลี่ยนประเก็น ประกอบชิ้นส่วนเข้าที่เดิม ขันสกรูให้แน่น หยอดน้ำมันเครื่องที่มอเตอร์ เรียบร้อยดีแล้วก็เปิดจุกทองเหลืองที่ตัวปั้มออก เติมน้ำลงไปให้เต็ม ผมตรวจสอบให้แน่ใจว่าทุกอย่างเข้าที่...ก่อนที่จะขึ้นจากบ่อ เพื่อเปิดสวิชเครื่องสูบน้ำ  แป๊ก! ตามมาด้วยเสียงเครื่องสูบทำงานอย่างหนักแน่น ไม่นานน้ำก็ไหลออกจากท่อซึ่งอยู่เหนือถังกรองน้ำ ผ่านกาละมังซึ่งเจาะรูไว้เพื่อรับออกซิเจนก่อนลงสู่หม้อกรอง


เครื่องสูบน้ำใช้งานได้แล้ว หลังจากใช้เวลาไป ๒ ชั่วโมงกว่า!

นอกจากทำตามหน้าที่แล้ว "ช่างเหอะ" ยังได้ศึกษาสิ่งที่พี่เล็กเคยทำไว้ เพื่อใช้กอบกู้สถานการณ์ในยามที่ไม่มีพี่เล็กอีกต่อไป!

Thursday, November 24, 2011

ประหยัดกระดาษ...

ผมชอบสะสมตำรับตำรา...ทั้ง ๆ ที่ไม่มีเวลามากพอที่จะอ่านอย่างละเอียด ในยุคอินเทอร์เน็ตที่อะไร ๆ หาได้ ไม่ว่าจะเป็นตำรา โน้ตเพลง นวนิยาย เพลง ภาพยนต์ ฯลฯ รวมทั้งเจ้า maleware ที่พร้อมจะบุกทะลวงเข้าสู่ระบบของคอมพิวเตอร์!  ผมดาวน์โหลดตำราไว้เยอะเชียว ดี ๆ ทั้งนั้น!  

ทีนี้ก็อยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรอ่าน นั่งอยู่หน้าจอแล้วเปิดอ่านด้วย Nitro Reader 2 หรือ? ก็ได้อยู่ แต่พอปิดเครื่องก็หายไป นึกจะอ่านก็ต้องมาเปิดคอมพ์ฯ อีกที  ต้องนั่งอ่านอยู่หน้าจอ ไปไหนก็ไม่ได้!  จะไปนอนอ่านที่เตียงผ้าใบ ใต้ต้นยอ ละเมียดกาแฟหอมกรุ่น ฟังเสียงนกร้องไปด้วยก็ทำไม่ได้

ครั้นจะซื้อไอผกไอแพดมาใช้อ่าน ก็ไม่มีกะตังค์!!  ผมจึงต้องใช้วิธีพิมพ์ตำราเก็บไว้อ่าน

แต่ก่อนหาเงินได้คล่อง ผมพิมพ์เต็มหน้ากระดาษ A4  ได้หนังสือเล่มใหญ่แล้วไปจ้างเค้าเข้าเล่มเก็บไว้อ่าน  แต่พอถึงยุคที่เศรษฐกิจฝืดเคือง ผมจำเป็นต้องหาวิธีพิมพ์ตำราและโน้ตเพลงไว้ศึกษาโดยพยายามประหยัดกระดาษให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้....

โชคดีที่ software ที่มากับ printer Canon iP2770 เอื้อให้สามารถสั่งพิมพ์ ๒ หน้าบนกระดาษ A4 ได้ นอกจากนั้นก็ยังอำนวยให้สั่งพิมพ์แบบเว้นหน้าได้โดยอัตโนมัติ  ผมได้พยายามลองผิดลองถูก หามีวิธีพิมพ์เอกสารแบบประหยัดกระดาษ ได้มาสองวิธีดังนี้คือ..

๑) ทำเป็นหนังสือเล่มยาว



ตอนตั้งค่าการพิมพ์ ให้เข้าไปที่ Properties  เช็คที่ "การพิมพ์ 2 หน้าใน 1 กระดาษ" แล้วคลิก "ตกลง" จากนั้นก็ตั้งค่า Page range = All  ถ้าใช้วิธีนี้ต้องคอยป้อนกระดาษครับ ไม่สามารถใส่กระดาษไว้เป็นปึกแล้วให้มันพิมพ์โดยอัตโนมัติได้ เมื่อเครื่องพิมพ์เริ่มทำงานกระดาษไหลออกมา...จะเห็นได้ว่ามันถูกพิมพ์ไว้ ด้วยหน้า ๑-๒ อย่างสวยงาม พอกระดาษหลุดออก ต้องรีบจับกระดาษกลับเข้าไปใส่ทันที โดยให้กระดาษเปล่าอยู่ด้านหน้า(ใช้พิมพ์)และด้านที่ออกมาก่อนอยู่ข้างบน งั่ม ๆ ต้องอาศัยความไวป้อนกระดาษให้ทัน ก่อนที่เครื่องจะเปลี่ยนไปเป็นสถานะ "กระดาษหมด" ผมฝึกทำอยู่ไม่นานก็คล่อง

ถ้าเราใส่กระดาษทัน มันก็จะพิมพ์หน้า ๓-๔ ให้ ระหว่างนั้นเราก็เตรียมใส่กระดาษแผ่นใหม่เข้าไว้ พอพิมพ์หน้า ๓-๔ เสร็จ มันก็จะพิมพ์หน้า ๕-๖ ต่อ เราก็รอทำหน้าที่นำกระดาษกลับไปป้อนให้เพื่อมันพิมพ์หน้า ๗-๘ ต่อ แล้วก็เตรียมกระดาษแผ่นใหม่ใส่ไว้อีก!  ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนพิมพ์ได้ครบเล่ม

ในกรณีที่ป้อนกระดาษไม่ทัน ตีกลับไปสู่สถานะ "กระดาษหมด" ให้กดที่ปุ่ม Reset (ไฟเหลืองกระพริบ)  เครื่องก็จะทำงานต่อ  คำเตือน - ในกรณีที่พิมพ์เอกสารเป็นร้อย ๆ หน้า ต้องมีการหยุดพักเป็นระยะ ๆ เพื่อป้องกันมิให้หัวพิมพ์ร้อนจัดจนเกิดเสียหาย 

การพิมพ์วิธีนี้จะทำได้หนังสือเล่มยาว ๆ  กระดาษ A4 ๑ แผ่นจะพิมพ์ได้ ๔ หน้า

อย่างตำรา Fundamentals of Piano Practice ของ Chuan C. Chang  หนา ๒๖๖ หน้า ต้องใช้กระดาษ A4 ๖๗ แผ่น บทเรียนที่ผมได้รับจากการพิมพ์ตำราดีเล่มนี้ก็คือ หัวพิมพ์พัง เพราะไม่ยอมพักเครื่อง ยิ่งพิมพ์ยิ่งมันส์ ยิ่งทันก็ยิ่งป้อน(กระดาษ)  จนต้องเปลี่ยนหัวพิมพ์ใหม่ หมดไปอีก ๕๐๐ บาท!



โน้ตเพลงยุค '50 เล่มนี้มี ๗๘ หน้า ใช้กระดาษ A4 ไม่ถึง ๒๐ แผ่น!

๒) ทำเป็น pocket book 

หลังจากตั้งค่าให้พิมพ์ 2 หน้าใน 1 กระดาษแล้ว ตรง Page range  ผมจะตั้ง Subset: เป็น  All odd pages in range  คือบนหน้ากระดาษ A4 มันจะพิมพ์เฉพาะหน้าคี่ แผ่นแรกที่พิมพ์ออกมาก็คือหน้า ๑ และ ๓  การตั้งคำสั่งเช่นนี้ เราสามารถใส่กระดาษลงในเครื่องพิมพ์จำนวนแผ่นเท่ากับจำนวนหน้าของหนังสือหารด้วย ๔  ใส่ลงไปเป็นปึกแล้วสั่งพิมพ์ ถ้าอย่างนี้ก็ไม่ต้องคอยเฝ้า ในที่สุดเราก็จะได้กระดาษ A4 ที่ถูกพิมพ์ด้วยหน้าคี่ เรียงไปเป็นแผ่น ๆ คือ ๑-๓, ๕-๗, ๙-๑๑ ฯลฯ  เก็บกระดาษที่ออกมาจากเครื่องพิมพ์ให้ดี ๆ อย่าทำตกหรือสลับหน้า เดี๋ยวจะลำบาก...


จากนั้นก็ถึงขั้นตอนซึ่งต้องใช้สมาธิและความอดทน อิอิ...

นำกระดาษทั้งปึกกลับเข้าใส่เครื่องพิมพ์ กลับเอาหน้าว่างที่จะพิมพ์ไว้ด้านหน้า ส่วนหัวขึ้นไว้ด้านบน (เหมือนตอนพิมพ์แบบเล่มยาว) แล้วตั้ง Page range ที่ Pages ถึงตอนนี้ปริ้นเตอร์จะพิมพ์ตามที่เราพิมพ์หมายเลขหน้าใส่ไว้ในช่องว่าง  ต้องอาศัยการคิดตัวเลขนิดหน่อย...พิมพ์ 4,3 ลงไป แล้วกด OK  มันก็จะพิมพ์หน้า ๔ ไว้ข้างหลังหน้า ๓ (พิมพ์ก่อน) และหน้า ๒ ไว้หลังหน้า ๑

ลองพิมพ์กระดาษแผ่นแรกดูก่อนนะครับ ถ้าถูกต้องก็สั่งพิมพ์ต่อไปคือ 8,7,12,11,16,15,20,19...... จนครบเล่ม

จะเลือกสั่งพิมพ์ทีละแผ่นก็ได้คือใส่ตัวเลข ๒ หน้าแล้วกด OK อย่างนี้ตรวจสอบได้ง่าย หากผิดพลาดสามารถแก้ไขได้ทันที แต่ถ้าใส่ตัวเลขหน้าไปเยอะ ๆ แล้วกด OK มันก็จะพิมพ์ออกมาเรื่อยๆ สามารถไปนั่งดื่มน้ำชาได้ แต่ถ้าเกิดปัญหาแล้ว ต้องแก้ไข หุหุ ปวดหัวชะมัด!


นำกระดาษที่พิมพ์ออกมาไปตัดครึ่งด้วยเครื่องตัดกระดาษหรือคัตเตอร์คม ๆ ได้กระดาษขนาด pocket book ออกมา ๒ ปึก วางไว้ซ้ายขวา หงายหน้าแรกขึ้น  ขั้นตอนต่อไปก็คือการเรียงหน้า หยิบหน้า ๑-๒ ทางซ้ายขึ้นมา แล้วตามด้วยหน้า ๓-๔ ทางขวา และหน้า ๕-๖ ทางซ้าย ทำไปเรื่อย ๆ ตามลำดับ ในที่สุดก็จะได้ตำราฉบับกระเป๋าเรียงตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย


นำไปเย็บเล่มแล้วติดเทปผ้าตรงขอบก็ใช้การได้แล้วครับ...


ผมลองถ่ายภาพตำราวิโอล่าฉบับกระเป๋ามาให้ดู ตัวโน้ตก็ใช่ว่าจะเล็กเกินไป ใช้ได้ครับ เล่มเล็กน่ารักดี...

ข้อสำคัญคือประหยัดกระดาษได้เยอะฮับ!

Wednesday, November 23, 2011

ลองทำ Pocket Book กันมั้ย?


เมื่อประมาณ ๓๐ ปีก่อน...ผมขอให้ร้านถ่ายเอกสารหน้าวิทยาลัยพายัพ (ข้างร้านป้าดำ) ช่วยถ่ายเอกสารแบบย่อส่วน เค้าคิดตังค์เพิ่มจากการถ่ายแบบปกติอีกเท่าตัว จำได้ว่าผมเสียเงินกับค่าถ่ายเอกสารแบบย่อส่วนไปจำนวนไม่น้อย เพราะใจรักที่จะทำหนังสือให้มีรูปเล่มสวย ๆ กะทัดรัดแบบ pocket book  แต่ละหน้าเรียงรายด้วยตัวอักษรเล็ก ๆ ซึ่งสำเนาจากเอกสารที่ได้พิมพ์ไว้บนกระดาษ A4 ด้วยเครื่องพิมพ์ดีด (typewriter)

สมัยนั้นยังไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ งานพิมพ์ยังไม่มี font ต่าง ๆ ให้เลือก มีเพียงรูปแบบตัวอักษรจากเครื่องพิมพ์ดีดที่ใช้มาจนชินตา ผมจึงมีความรู้สึกผูกพันกับตัวอักษรเหล่านั้น เมื่อนำเอกสารไปย่อส่วนแล้วได้หน้ากระดาษและตัวหนังสือที่เล็กลง พอนำไปเข้าเล่ม-ทำปก...ออกมาแล้วก็ดูสวย เป็นที่ชื่นชอบ ผมจึงไม่เสียดายเงินที่ต้องจ่ายเพิ่มให้กับร้านถ่ายเอกสาร!

แม้ว่าสายตาของผมจะไม่ดี แต่ผมก็ชอบอักษรตัวเล็ก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคืออักษรภาษาอังกฤษ!  พอถึงยุคคอมพิวเตอร์ ผมได้เป็นเจ้าของคอมพิวเตอร์รุ่นแรก ๆ ที่ใช้ cpu Intel 8088 พร้อมจอภาพแบบ Monochrome ตัวหนังสือสีเขียว ๆ งานพิมพ์ยังต้องใช้โปรแรมจุฬาเวิร์ด (CW) และราชวิถีเวิร์ด (RW) พิมพ์ด้วยเครื่องพริ้นท์หัวเข็มแบบ ๙ เข็ม ขณะนั้นผมก็เลือกพิมพ์ด้วยตัวอักษรเล็ก ๆ และชอบอักษรแบบ Courier มากที่สุด...

คอมพิวเตอร์ที่เห็นในภาพใช้ซีพียู Intel 8088 ซื้อมาในราคา ๒๕,๐๐๐ บาท

ทุกวันนี้เราสามารถหา font สวย ๆ มาเพิ่มใน Windows และสั่งพิมพ์เอกสารให้ออกมาได้สวยงามตามใจชอบ จะให้เล็กหรือใหญ่ขนาดไหนก็ได้ ไม่ต้องไปจ้างร้านถ่ายเอกสารให้ย่อส่วนด้วยราคาแพง ๆ อย่างในอดีตอีกต่อไป

ผมอยากจะลองสาธิตให้ดูซักหน่อย... ใช้เวลาแค่สิบกว่านาที ก็สามารถนำสิ่งที่กำลังเขียนไปพิมพ์ลงบนกระดาษ A4 ตามรูปแบบที่ต้องการได้แล้ว...



กระดาษ A4 สามารถพิมพ์ได้ ๒ หน้า สวยทีเดียว...

ไม่ยากเลยครับ...ถ้าจะทำหนังสือของตัวเอง แล้วพิมพ์ออกมาให้ได้รูปเล่มแบบ pocket book  เพื่อน ๆ ใช้โปรแกรม microsoft word ที่มีอยู่ในคอมพ์ฯ ของเราก็ได้  เพียงแค่ดาวน์โหลด font สวย ๆ มาเพิ่มใน Windows เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบตัวอักษรได้หลากหลายและสวยงามยิ่งขึ้นเท่านั้นก็พอ...

กระดาษ ๑ แผ่นสามารถพิมพ์ได้ ๔ หน้า สิ่งที่ต้องคำนึงก็คือการเรียงหน้าให้ถูกต้อง เมื่อพิมพ์ออกมาแล้ว...ด้านหน้าและด้านหลังจะต้องเรียงกันเป็นหน้า ๑ หน้า ๒ หรือ หน้า ๓ หน้า ๔ ฯลฯ

ผมกำลังฝันที่จะเขียนหนังสือสักเล่มหนึ่ง ขอแค่ ๑๐๐ กว่าหน้าก็พอ! อาจเป็นตำราไวโอลินเบื้องต้น หรือเกี่ยวกับการท่องเที่ยวผจญภัย เขียนเสร็จก็อยากลองไปติดต่อพิมพ์ที่โรงพิมพ์นาก่วมการพิมพ์ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน (ไม่รู้เหมือนกันว่าถ้าพิมพ์ครั้งแรกซัก ๒,๐๐๐ เล่ม...ต้นทุนจะตกเล่มละเท่าใด) ถ้าสำเร็จจริง...ผมจะไปเล่น accordion ตามถนนคนเดินแล้วขายหนังสือที่พิมพ์ไว้!

เดี๋ยวจะไปหา PageMaker มาลองใช้ดูครับ...

Tuesday, November 22, 2011

เรื่องที่บางคนไม่รู้...

ผมอยากเขียนบล็อก"ช่างเหอะ" ในวันนี้ให้เป็นพิเศษสำหรับคนแก่หรือที่เรียกว่าผู้สูงวัย เพื่อน ๆ ท่านใดอ่านเห็นว่าไม่เข้าท่า ก็ขอได้โปรดให้อภัยด้วยนะครับ!


"ยาดม" นับเป็นสิ่งหนึ่งซึ่งขาดไม่ได้สำหรับคนสูงวัยจำนวนไม่น้อย (คนหนุ่มสาวบางคน ผมก็เห็นใช้เหมือนกัน)  พี่ชายผมเป็นคนหนึ่งซึ่งติดยาดมมาก ๆ ถึงกับขนานชื่อตัวเองว่า "ครูหลอดยาดม"  ชาวบ้านบางคนยังจำได้ว่าพี่ชายผมเคยปั่นจักรยานไปทำงานที่โรงเรียนเพ็ญจิตตพงษ์ เกาะคา โดยมีหลอดยาดมซุกอยู่ในรูจมูก!

ยาดมยี่ห้อ "ป้วยเซียน" รู้สึกว่าจะนิยมใช้กันเป็นส่วนใหญ่ในบรรดา ส.ว.ทั้งหลาย ราคาหลอดละ ๑๕ บาท ถ้าใช้แล้วปิดฝาให้แน่น กลิ่นก็จะอยู่ได้นาน อยู่ได้เป็นเดือน!


แต่ถ้าลืมปิดฝาหรือทำฝาตกหายไป ปล่อยทิ้งไว้ไม่กี่วัน นำมาสูดดมอีกที ก็แทบไม่ได้กลิ่นอะไร! หลายคนอาจโยนทิ้งลงถังขยะ!  แล้วให้เด็กไปซื้อมาใหม่  จริง ๆ แล้ว...เรายังสามารถใช้เจ้ายาดมซึ่งสิ้นกลิ่นได้ต่อไปอีกโดยเติมน้ำยาให้กับแท่งสำลี เรื่องนี้คนแก่บางคนอาจจะไม่รู้ ผมจึงต้องนำมาเขียนบอกไว้...

ส่วนที่ตรงก้นหลอด จะมีน้ำยาสำหรับใช้เติมได้อีก อย่าเพิ่งโยนทิ้งไปนะครับ...


อย่างที่เห็นในภาพ ถ้าดูดี ๆ จะเห็นได้ว่ายังมีน้ำยาอยู่อีกเกือบเต็ม  เจ้าน้ำยากลิ่นหอมนั่นประกอบด้วย.. น้ำมันยูคาลิปตัส (8.5%)  เมนทอล(42.0%)  การบูร (16.4%) และ พิมเสน(6.1%) 


ตรงส่วนปลายหลอดยาดมจะมีแท่งสำลีลักษณะคล้าย ๆ ก้นกรองบุหรี่ยาวประมาณ ๖ หุนบรรจุอยู่ (ให้ใช้วิธีหักเบา ๆ เพื่อแยกพลาสติกสีฟ้าและสีขาวออกจากกัน)


เติมน้ำยาลงในแท่งสำลี แล้วใส่กลับเข้าที่ เจ้ายาดมซึ่งเกือบจะถูกโยนลงถังขยะ ก็จะสามารถใช้สูดดมแก้ลมวิงเวียนได้อีกคร้าบบบ...

เรื่องนี้ใช่ว่าจะไร้สาระไปทั้งหมด เพราะคนแก่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบ...

Monday, November 21, 2011

น้ำมันมะกอก

ในขณะที่ผมหายเงียบไปจากบล็อก"ช่างเหอะ"  ความเคลื่อนไหวของลุงน้ำชาก็ยังคงพอมีปรากฏในบล๊อก "ฟังลุงน้ำชาคุย(โม้)" ครับ  พอดีระยะนี้ผมไม่ค่อยได้ทำงาน DIY ก็เลยไม่รู้จะเขียนเรื่องอะไรดี  ครั้นจะเขียนเรื่อง Fingering Tape ต่อ...ก็ยังหาวัสดุที่จะมาถ่ายภาพประกอบไม่ได้ แย่จัง!



ผมเพิ่งกลับมาจากเชียงใหม่ ที่บ้านเชียงใหม่...มีพัดลมอยู่เครื่องหนึ่ง (ยี่ห้อ Hatari) เกิดเสียขึ้นมา ผมจึงต้องสวมบทบาทช่างเหอะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ว่าเสียก็คือมีอาการหมุนช้า หากกดปุ่มความเร็วต่ำสุด ก็จะไม่หมุนเอาเสียเลย ได้ยินแต่เสียง "อืด ๆ" ที่ตัวมอเตอร์!  ถ้ากดปุ่มความเร็วสูงสุด ก็พอจะหมุนอยู่บ้าง แต่ก็ดูคล้ายนักวิ่งที่หมดแรงข้าวต้ม! เห็นอาการเช่นนั้น...ช่างเหอะวิเคราะห์สาเหตุได้ ๒ ประการ คือ (๑) ขดลวดเกิดลัดวงจร และ (๒) แกนหมุนเกิดความฝืดเนื่องจากขาดการบำรุงรักษา ผมจะรู้ได้ก็ต้องถอดออกมาดู...


นั่นแน่...รื้อออกมาแล้ว ลองใช้มือหมุนที่แกนใบพัดดู รู้สึกว่ามันฝืด หมุนได้ไม่คล่อง ถ้าอย่างนี้น่าจะเป็นสาเหตุที่สองมากกว่า!  ยังก่อน ๆ ต้องพิจารณาที่ขดลวดให้ดีซะก่อน


ก็ยังเห็นใหม่ ๆ อยู่นี่นา กลิ่นไหม้ก็ไม่มี จับดูก็ไม่ร้อนจนผิดสังเกต ถ้ายังงั้นแล้วน่าจะเป็นเพราะใช้งานมานานโดยไม่เคยได้หยอดน้ำมูกน้ำมันหล่อลื่น มันก็เลยงอแง...ไม่ยอมหมุนเอาดื้อ ๆ

ผมถามถึง "น้ำมันจักร" เพื่อนำมาหยอด งั่ม ๆ ไม่มีครับ ทั้งบ้านไม่มีน้ำมันหล่อลื่นอยู่เลย!!

ได้เรื่องมาเขียนลงบล็อกช่างเหอะแล้วล่ะ  ถ้าหา Lubricant ตัวจริงไม่ได้...ก็ต้องหาตัวแทน ทำให้ผมคิดถึงน้ำมันเครื่องที่อยู่ในห้องเครื่องรถจักรยานยนต์ อาจนำมาใช้แก้ขัดได้ โดยไปหมุนเอาตัววัดน้ำมันเครื่องออกมา (ต้องเป็นจักรยานยนต์ที่เจ้าของไม่ปล่อยให้น้ำมันเครื่องแห้ง) ก็คงจะพอมีน้ำมันเครื่องเก่า ๆ ติดอยู่ตรงปลาย ค่อย ๆ หยดรวมกัน...พอนำไปหยอดให้เจ้าพัดลมก็ใช้ได้แล้ว 

บังเอิญเช้านี้ไม่มีรถจักรยานยนต์อยู่ซะด้วย ผมก็เลยไม่รู้จะทำอย่างไรดี! แต่โชคดีที่ไปเห็นเจ้าขวดที่เห็นในภาพนี้เข้า...


มันอยู่ในครัวอ่ะ เป็นน้ำมันมะกอกสำหรับทำน้ำสลัดหรือปรุงอาหารอื่น ๆ  หุหุ ก็หาอะไรไม่ได้แล้ว..ใช้น้ำมันมะกอกก็ได้  ผมใช้ cutton bud ชุบ แล้วนำไปใส่แทนน้ำมันจักร แค่นิดเดียวเอง...เจ้าความฝืดก็หายไป

พอประกอบทุกอย่างกลับเข้าที่ ผมลองกดปุ่มความเร็วต่ำดู โห..ใบพัดหมุนติ้วเลย!!!

เรียบโร้ยก็เพราะเจ้าน้ำมันมะกอกแท้ ๆ

Thursday, November 10, 2011

ตายแน่!


รู้สึกดีใจที่เห็นมีผู้เข้ามาเยี่ยมเยียนบล็อก"ช่างเหอะ"...ผมต้องขอขอบคุณจากใจ  วันนี้วันลอยกระทง ผมขอพูดเรื่องการติดเทปบน fingerboard ของไวโอลินให้เด็ก ๆ ต่อดีกว่า  


คุณบิมได้แนะนำเกี่ยวกับเทปซึ่งน่าจะนำมาใช้ติด fingerboard ได้ ไว้ดังนี้....
ผมนึกถึงจะมีขายในร้านประดับยนต์ ขนาดความกว้างแค่ 2 มิล ความยาวผมว่าเกิน 2 เมตร บางและเหนียวติดแน่น (แล้วแต่ยี่ห้อ-อายุ) ความยาวมีให้เลือก ม้วนหนึ่งซื้อแบบเก่ง ๆ ที่ 15 บาทไม่เกิน 30 บาทต่อม้วน มีสารพัดสี ราคาไม่หนีกันมาก ทั้งเรืองแสง-สะท้อนแสง-สีธรรมดา.....
ขอบคุณครับ ผมคิดว่าน่าจะใช้ได้ ที่ชอบก็คือ มันมีขนาดกว้างแค่ ๒ ม.ม. เทปยิ่งแคบ...ความแม่นยำของเสียงก็ยิ่งมีมาก หากนักเรียนกดนิ้วให้ตรงเทปที่ติด ยิ่งถ้าเทปหนาขึ้นหน่อย อาจใช้ปลายนิ้วสัมผัสหาตำแหน่ง เป็นการหาตำแหน่งโดยใช้ความรู้สึกได้อีกทางหนึ่ง!

เอาเหอะ...ไม่ว่ากัน จะใช้เทปอย่างที่ผมใช้หรือที่คุณบิมแนะนำก็ได้ แต่อย่าใช้เทปพันสายไฟ หรือเทปพันท่อประปาก็แล้วกัน อิอิ

แหม...เสียดายจัง ตั้งแต่สาย ๆ มาแล้ว ผมนั่งเขียนเรื่องการตั้งสายในรูปแบบ Pythagorean, Just  และ  Equal temperament ไว้ยาวเชียว แต่พอคอมพ์เกิดรวนขึ้นมา ทุกอย่างที่เขียนไว้ก็หายเกลี้ยงไปหมด (สมน้ำหน้า..ไม่รู้จักเข็ดซักกะที)



ผมขี้เกียจเขียนใหม่แล้ว...ขอข้ามไปพูดถึงเรื่องการติดเทปกันเลย  ไม่ว่าจะเป็นการติด fingering tape บนไวโอลิน วิโอล่า เชลโล หรือ ดับเบิ้ลเบส ก็ใช้หลักการเดียวกัน ผมขอใช้ภาพประกอบที่ถ่ายกับเชลโลก็แล้วกันนะ สะดวกดี...เพราะแม่เรไร (เชลโล)นอนรออยู่ข้างบนนี้แล้ว ผมไม่ต้องลงไปหยิบไวโอลินจากชั้นล่างขึ้นมา

เวรกรรมแท้ ๆ สมองเบลอ เมื่อกี้ยังจับเจ้าเทปและดินสออยู่เลย พอจะถ่ายรูปเพื่อลงประกอบเรื่องที่เขียน กลับหาไม่เจอซะแล้ว 



ตายแน่! ถ้าขืนสมองเป็นเช่นนี้ ผมต้องไปพักก่อนแย้ว ค่อยมาเขียนต่อนะครับ...

Wednesday, November 09, 2011

Fingering Tape


ผมได้ข้อสรุปแล้วว่า...การติดเทปบน fingerboard ของไวโอลินหรือเครื่องสายอื่น ๆ นั้นเหมาะที่จะใช้กับเด็กน้อยทั้งหลาย ส่วนเด็กโตระดับมัธยม...บางคนอาจไม่จำเป็นต้องติดให้  น้องเจ้าขา (ภาพบน) ยังเล็กอยู่ ผมต้องติด fingering tape ให้บนไวโอลินขนาด 1/8  โดยใช้เทปที่หาซื้อได้จากร้านขายเครื่องเขียนทั่ว ๆ ไป รู้สึกว่าจะเป็นเทปที่ใช้สำหรับงานตกแต่ง ซึ่งมีวางจำหน่ายรวมอยู่กับเทปประเภทอื่น ๆ  มีหลากสีและหลายขนาดครับ แต่ผมเลือกใช้ขนาดเล็กสุดซึ่งมีความกว้าง ๕ ม.ม.




เพื่อน ๆ อาจเลือกใช้เทปสีต่างกันสำหรับตำแหน่งวางนิ้วแต่ละนิ้ว แต่ผมซื้อเทปสีแดงไว้ใช้แค่ม้วนเดียวเอง...

อ่อ...เห็นมีเทปสำหรับติดบน fingerboard โดยเฉพาะ เค้าประกาศขายบนเว็บในราคาม้วนละ $8.95  คุยไว้เสียดิบดีว่าเป็นเทปที่ออกแบบพิเศษ ทนทาน ติดง่าย เอาออกก็ง่าย ปราศจากกรด ไม่เป็นอันตรายต่อเนื้อไม้ ความกว้างของเทปคือ 1/8" (หรือที่ภาษาช่างเรียกว่า ๑ หุน) มีความยาวทั้งสิ้น 100" (สองเมตรครึ่ง) สามารถใช้ติดไวโอลินได้มากถึง ๘ คัน 


หุหุ ม้วนละเกือบ ๓ ร้อยบาท...ใช้งานได้แค่นั้นเองเหรอ!  ใช้เทปอย่างที่ผมใช้ก็ได้ คุณสมบัติก็ไม่ต่างกันซักเท่าไหร่  ติดง่าย เอาออกง่ายเหมือนกัน ถูกตังค์กว่ากันเยอะ!  


ภาพนี้เป็นการติด fingering tape ที่ดูแล้วขัดตา กล่าวคือระยะห่างจาก nut ถึงเทปตำแหน่งนิ้วหนึ่งมีความกว้างน้อยกว่าจากนิ้วหนึ่งไปนิ้วสอง ซึ่งขัดกับความเป็นจริง อิอิ...แถมยังติดเบี้ยวซะอีก

วันนี้ขอแนะนำวัสดุที่สามารถนำมาทำเป็น fingering tape  พรุ่งนี้จะพูดต่อเรื่องระยะห่างครับ...

Tuesday, November 08, 2011

วิธีตากกล้วย


เมื่อ ๗ เดือนที่แล้ว ผมเคยเขียนลงบล๊อกว่า "แดดดีจัง…ผมนำกล้วยออกไปตากที่ระเบียงหลังบ้าน มันเป็นแนวทางต่อสู้กับภาวะสินค้าราคาแพง...."   มีภาพประกอบเป็นกล้วยน้ำว้าอ้วน ๆ ๘ ลูกนอนผึ่งแดด...เรียงกันอยู่บนจานเซรามิคใบละ ๒๐ บาท!

ขนมหวานที่ขายอยู่ทุกวันนี้ได้ขึ้นราคาเป็นถุงละ ๕ บาท  มีนิดเดียวเอง...ตักเข้าปากไม่กี่คำก็หมดแล้ว ในสภาพเศรษฐกิจตกสะเก็ด...ผมจำเป็นต้องหันเข้าหาการดำรงชีพแบบเศรษฐกิจพอเพียง ซื้อกล้วยน้ำว้ามาทำกล้วยตาก เก็บไว้กินแทนขนมหวานจากท้องตลาด

แสงแดดไม่ต้องเช่าไม่ต้องซื้อ ยิ่งเป็นหน้าหนาว อากาศแห้ง แดดจัด เหมาะมาก ๆ สำหรับการตากกล้วย ผมอยากให้เพื่อน ๆ ลองทำดู  ลงทุนเพียงแค่ซื้อกล้วยน้ำว้าจากตลาดมาซัก ๔-๕ หวี สนนราคาโดยทั่วไปคือหวีละ ๕-๑๐ บาท ผมชอบใช้กล้วยลูกเล็กราคาหวีละ ๕ บาท เพราะใช้เวลาในการตากน้อยกว่ากล้วยลูกโต  พอแห้งได้ที่แล้วขนาดของมันจะลดลงจนเกือบดูคล้ายกล้วยเล็บมือนางที่ทางภาคใต้นิยมนำไปทำเป็นกล้วยตากบรรจุกล่องออกวางจำหน่าย....

อย่างเจ้ากล้วยลูกที่เห็นในภาพก็มาจากกล้วยน้ำว้าหวีละ ๕ บาท ใช้เวลาตากแค่ ๔ แดดก็ใช้ได้แล้ว แต่ถ้าเพื่อน ๆ ต้องการให้เนื้อเหนียวหนึบ เคี้ยวมันส์ ควรตากต่ออีกสัก ๒ แดด ถึงตอนนั้นก็จะกลายเป็นกล้วยเล็บ(หัวแม่)มือนางที่อร่อยมาก ๆ  กินแล้วจะติดใจ!

อุปกรณ์ที่ใช้ก็มีเพียงถาดโลหะ ๑ ถาด และมุ้งลวดเหลือใช้อีก ๑ ผืน ทำความสะอาดถาดให้ดี..ก่อนที่จะปลอกกล้วยโยนลงไป  กล้วยลูกเล็กปลอกง่ายกว่าลูกใหญ่ ผมใช้มือเดียวก็ยังได้  เผลอแป๊ปเดียวเจ้ากล้วยน้ำว้าทั้งหมดก็ลงไปนอนกระจัดกระจายอยู่ในถาดเรียบร้อยแล้ว!


ถ้าใช้กล้วยหลายหวี ก็ต้องจัดระเบียบกันหน่อย คือเรียงชิดเป็นแถว ๆ วางเต็มเนื้อที่ แต่คราวนี้ผมมีกล้วยน้อย จึงปล่อยให้นอนอาบแดดกันตามชอบใจ...


ใช้มุ้งลวดคลุมถาดไว้ซะหน่อยเพื่อกันแมลงวันและนกมารบกวน ยกขึ้นตากไว้บนที่สูง ปล่อยให้รับแสงแดดได้เต็มที่ สาย ๆ ก็ยกถาดออกไปตากแดด ตกเย็นก็เก็บ (ถือว่าเป็น ๑ แดด)  ในกรณีที่บ้านมีมดเยอะ ควรวางถาดบนกระป๋องซึ่งรองน้ำไว้กันมดขึ้น หากฝนลงก็ต้องรีบเก็บเข้าบ้าน อย่าปล่อยให้บรรดานางงามกล้วยทั้งหลายนอนเปลือยแช่น้ำฝนอยู่นาน จะเจ็บป่วยไปซะก่อน!

ไม่ยากครับ ในที่สุด...เราก็ได้กล้วยตากอร่อย ๆ ไว้กินล้างปากหลังอาหาร หรือเป็นอาหารว่างเคี้ยวหนึบเคี้ยวหนับ อร่อยกว่าขนมคอนโดซึ่งมีส่วนผสมเพียงแค่แป้ง, น้ำตาล และสารแต่งสี!

Tips : คุณเมธีเคยแนะนำให้ใช้ปีบสี่เหลี่ยมทาด้านนอกด้วยสีดำ ทำเป็นตู้อบกล้วยแบบประหยัดได้ด้วย

ขอบคุณครับ....

Sunday, November 06, 2011

เรือจ้าง ๔ มือลิง

ภาพจาก talkystory.com

ช่วงอุทกภัยครั้งใหญ่...เห็นมีข่าวเรื่องข้าวของที่มีผู้บริจาคให้แล้ว ศปภ. ไม่รีบนำไปมอบให้ผู้ประสบภัย หรือข่าวนักการเมืองกร่างจับจองเรือที่ได้รับบริจาค  ผมไม่รู้ว่าข้อเท็จจริงเป็นเช่นไร แต่ก็รู้สึกหดหู่หัวใจไปกับเรื่องนั้น ๆ การฉวยโอกาสแสวงหาผลประโยชน์บนความเดือดร้อนของผู้อื่นเป็นการกระทำที่เลวร้ายจริง ๆ นี่ก็ได้ยินมาอีกว่ามีการวางตะปูเรือใบขัดขวางมิให้รถทหารเข้าไปรับส่งประชาชน เพื่อตัวเองจะได้หากินกับบริการรับส่งด้วยราคาค่าโดยสารชนิดขูดเลือดซิบ ๆ โอ..หากเป็นเช่นนั้นจริง ผมก็ไม่รู้จะพูดอะไรอีกแล้วสำหรับความเป็นคนไทย!  เขียนอะไรไม่ออกจริง ๆ ไหน ๆ ก็พูดเรื่องเรือแล้ว วันนี้ผมขอนำเรื่อง "เรือจ้าง ๔ มือลิง" ซึ่งเคยเขียนไว้นานแล้วใน One of Those Days มาเก็บไว้อีกเรื่องนึงก็แล้วกัน... 


เรือจ้าง ๔ มือลิง
เมื่อวานนี้ผมไม่ได้อัพเดทบล็อก แต่ใช้เวลาไปกับการอัพโหลดไฟล์และตกแต่งโฮมเพจ ตีสองกว่าถึงจะเข้านอน เช้าวันนี้ผมเริ่มต้นรื้อค้นห้อง(รังหนู) พยายามจะหาโน้ตเพลง Mona Lisa ให้ได้  ไม่เจอครับ...ผมเจอแต่แฟ้มเก็บจดหมายและเอกสารเก่า ๆ ซึ่งไม่น่าเชื่อเลยว่ามันจะยังอยู่ เอกสารบางชิ้นสามารถเล่าเรื่องราวของชีวิตในอดีตได้เป็นอย่างดี เนี่ยถ้าไม่มาเจอะเจอ ผมคงจะลืมทิ้งไว้ แล้วไม่มีโอกาสได้เห็นมันอีก!  นอกจากจดหมายเก่า ๆ และใบสำคัญทหารนอกประจำการประเภทที่ ๒ ของคุณอา ลงวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๗๔ ยังมีหนังสือสัญญาซื้อขายเรือจ้างซึ่งคุณแม่เป็นผู้ซื้อ
เห็นลายมือในใบสัญญาก็รู้ทันทีว่าน้าชายของผมเป็นผู้เขียน ข้อความบนแผ่นกระดาษเก่า ๆ นั่น บอกให้ผมได้รู้อะไรหลาย ๆ อย่างในอดีต....

           "เขียนที่ ๓๖๕ ต.ปากคลอง, ภาษีเจริญ วันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๔ ข้าพเจ้านายเชื้อ รัศมีปลั่ง อายุ ๔๗ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๑๖๖ ตำบลท่าพระ อำเภอบางกอกใหญ่ จังหวัดธนบุรี ได้ขายเรือจ้าง ๔ มือลิงให้กับนางปราณี หลายสกุลไว้เป็นราคา ๖๖๐ บาท(หกร้อยหกสิบบาทถ้วน) จึงได้ทำหนังสือนี้ให้ไว้เป็นสำคัญ" มีผู้ร่วมลงนามทั้งหมด ๖ คนด้วยกัน หนึ่งในจำนวนนั้นเป็นคุณพ่อผม แสดงให้เห็นว่าที่บ้านเกิดของผมคืออำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี เมื่อปี ๒๔๙๔ คุณพ่อคุณแม่ของผมได้อาศัยอยู่ที่นั่น ยังคงไม่อพยพไปอยู่ที่เชียงใหม่ คุณตาของผมมาจากเมืองจีน ท่านแซ่ไหล คุณแม่เปลี่ยนนามสกุลจากแซ่ไหลเป็น "หลายสกุล" ส่วนคุณน้าใช้ "ไหลไพบูลย์"

คุณแม่ซื้อเรือจ้างราคา ๖๖๐ บาท  ท่านเป็นนักคิดและผู้ลงทุนตั้งแต่สมัยนั้นเชียวนะเนี่ย ท่านไม่เคยกลัวเรื่องการขึ้นรถลงเรือเพราะว่ายน้ำเก่ง  เคยเล่าให้ผมฟังเรื่องกระโดดน้ำตูม ๆ จากสะพานลงไปในคลอง เสียดายที่ผมไม่ได้ถามว่าท่านซื้อเรือจ้างไปทำไม และคำว่า "เรือจ้าง ๔ มือลิง" หมายความว่าอะไร? ทำไมต้องเป็นมือลิง เป็นมือคนไม่ได้หรือ?
นอกจากนั้นผมยังเจอบิลเงินสดซึ่งสภาพของเนื้อกระดาษยังดีอยู่เลย...บิลเงินสดลงวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๗ ผมรู้ความจริงว่าหลังจากนั้นอีก ๓ ปี คุณพ่อและคุณแม่ได้อพยพไปอยู่เชียงใหม่ แล้วไปเปิดร้านกาแฟชื่อว่า "ไทยประเสริฐ" อยู่ตรงถนนเจริญเมือง ติดกับลาน ร.ส.พ.ใกล้ ๆ กับสถานีรถไฟ สมัยนั้นท่านต้องสั่งซื้อนมจากกรุงเทพฯ เข้าใจว่าคงเป็นนมข้นตราลิง ไม่แน่ใจ! หรืออาจจะเป็นนมสด?  สินค้าราคาหีบละ ๑๑๐ บาท บิลเงินสดต้องติดอากรแสตมป์ ๑๐ สตางค์ แล้วมีตราประทับซึ่งมีข้อความว่า "ตราฆ่าอากรแสตมป์" พร้อมกับวันที่ อยู่ตรงลายเซ็นผู้รับเงิน


กลับไปพลิกดูด้านหลังหนังสือสัญญาซื้อขายเรือจ้าง(๔ มือลิง) เห็นมีอากรแสตมป์ดวงละ ๑๐ สตางค์ติดอยู่ ๓๓ ดวง ปี ๒๔๙๔ ซื้อขายเรือ ๖๖๐บาท ต้องติดอากร ๓.๓๐ บาท
คุณเมธีได้อธิบายข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่อง "เรือจ้าง ๔ มือลิง" ไว้ดังนี้...."ผมลองค้นในอินเทอร์เนตพบว่า มือลิงคือกงที่วางขวางตั้งฉากกับกระดูกงูเรือ เรือหนึ่งลำจะมีความยาวเท่าไหร่ขึ้นกับจำนวนชิ้นกง ยิ่งมีกงหลายชิ้นก็ยิ่งมีความยาวมากขึ้น สำหรับกงลิงเป็นกงที่ทำขึ้น ไม่ได้มีจุดประสงค์ในการขึ้นรูปโครงเรือ แต่เป็นกงหลอกเอาไว้เพื่อให้คนนั่งแจวได้มีที่เอาเท้ายันเวลาออกแรงแจว การมี 4 กงลิงหรือมือลิง น่าจะเป็นเรือที่ทำไว้สำหรับ 4 ฝีพาย ตามรายละเอียดข้างล่างนี้ครับ

            ขั้นตอนที่ 3. การวางกงเรือ (โครงเรือ)
            กง เป็นชิ้นไม้ตัดแต่งให้โค้งเข้ากับรูปท้องเรือด้านใน ช่วยเพิ่มความแข็งแรง และได้รูปทรงเรือที่ต้องการ นิยมใช้ไม้ประดู่ ไม้สัก หรือไม้ตะเคียน ทำกงเรือขนาดหนาประมาณ 2-2.5 นิ้ว กว้างประมาณ 3 นิ้ว โดยทำการติดกงตัวแรก เรียกว่า กงครู หรือ กงเอก คร่อมทับกระดูกงู ใช้สว่านเจาะกงทะลุตัวเรือแล้วตอกยึดด้วยลูกประสัก ซึ่งนิยมทำจากไม้แสมสารยึดติดกับเนื้อเรือ แล้วจึงเริ่มวางกงเรือตัวที่ 2 สลับกันคนละตัวจากทางหัวและท้ายของตัวเรือ ระยะห่างของกงตามสูตรของแต่ละช่างแตกต่างกันไป โดยเรือใหญ่วางกงประมาณ 30-32 ตัว เรือยาวกลางวางกง 26-28 ตัว เรือเล็กวางกงประมาณ 23 ตัว ลดลงไปตามขนาดของเรือแต่ละประเภท จึงเริ่มวางกระทงเรือ
            เรือภาคใต้ (หางแมลงป่อง) นิยมวางกงลิง (มือลิง) เป็นกงหลอก เพื่อใช้เป็นที่ยันหรือถีบเท้าเวลาออกแรงพายเรือ ส่วนภาคอีสานแถบลุ่มน้ำโขง ตัวเรือหนาขนาดซองบุหรี่ จึงไม่นิยมวางกงเรือ หากเป็นไม้ขนาดต้นเล็ก ความสูงของตัวเรือจะไม่พอ จึงนิยมเสริมมาดช่วย

            ที่มา:  http://www.rcath.com/historyTBthai.htm         

Saturday, November 05, 2011

ซ่อมหีบเพลง...

หลายปีมาแล้ว...มีผู้นำ accordion มาทิ้งไว้ให้ซ่อมหนึ่งตัว เป็นหีบเพลงขนาดเล็กของจีนแดง วิธีแกะเครื่องออกมาดู ผมต้องค่อย ๆ ใช้คีมดึงหมุดดังที่เห็นในภาพออก โดยใช้ผ้ารองหัวหมุดไว้ด้วยเพื่อไม่ให้เป็นรอย...


เมื่อดึงหมุดออกหมดแล้ว ก็ค่อย ๆ ดึงเอาส่วนที่เป็นด้านคีย์บอร์ดและด้านเบสออกจากกระเพาะลม(bellow) .  


นั่นไง...เห็นตับไตไส้พุงแล้วล่ะ หีบเพลงตัวนี้มีกล่องลิ้น(reed block)อยู่ ๒ กล่อง ตัวบนเป็นชุดลิ้นสำหรับโน้ตคีย์ดำ ส่วนตัวล่างเป็นของโน้ตคีย์ขาว เราสามารถถอดกล่องลิ้นออกมาตรวจซ่อมได้ด้วยการคลายสกรูที่ยึดอยู่ตรงด้านข้างนั้นออก


อาการเสียของหีบเพลงตัวนี้คือโน้ต F# เสียงเพี้ยน ผมแกะเอากล่องลิ้นชุดบนออกมาตรวจสอบ พบว่าลิ้น F# ตัวที่เสียงเพี้ยนอยู่ตรงช่อง ๖  มีวิธีซ่อมอยู่ ๒ วิธี คือ ๑) แกะลิ้นออกมาฝน และ ๒) หาลิ้นอะไหล่มาเปลี่ยน  พอดีผมมีหีบเพลงเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้วเก็บไว้ จึงไปเลือกแกะเอาลิ้น F# มาลองเทียบดู  อืมม...ขนาดเกือบจะเท่ากันเลย!!
 


เมื่อเห็นว่าพอจะใช้กันได้ ผมก็แกะลิ้น F# ที่เสียงเพี้ยนออก เจ้ากล่องลิ้นฟันหลอไปซะแล้ว! 


จากนั้นผมก็วางลิ้นอะไหล่เข้าไปแทน เท่าที่ผ่านมาผมเคยใช้เทียนขี้ผึ้งซึ่งหาได้ทั่ว ๆ ไป นำมาหยอดเป็นตัวยึด แต่คราวนี้ผมใช้เพียงขี้ผึ้งที่มีอยู่ ขาดอยู่นิดนึงก็แคะจากตรงนั้นนิดตรงนี้หน่อยมาผสม ใช้ปลายหัวแร้งร้อน ๆ บรรจงจี้ให้ละลายจนสามารถยึดล่ิ้นให้ติดอยู่ได้โดยไม่มีรูรั่ว  ใช้ได้แล้วครับ โทนเสียงที่ได้ต่างกันเล็กน้อย เพราะลิ้นตัวใหม่สัญชาติอิตาเลียน ได้ beat frequency ที่เร็วกว่าเล็กน้อย...

การซ่อมหีบเพลงบางครั้งก็ง่าย บางครั้งก็ยาก ถ้าอาการเสียเกิดจากรอยรั่วที่กระเพาะลม ผมไม่เคยซ่อมได้ดีเลยสักครั้ง ต้องยอมแพ้!  เคยซ่อมให้พี่ดำเมืองแพร่โดยทดลองใช้ฟริ้นท์โค้ตทาด้านในกระเพาะลมแล้วไม่สำเร็จ แม้จะเป็นการซ่อมให้ฟรี...ก็ทำให้ผมเสียใจครับ!