Thursday, December 01, 2011

ล้างเครื่องกรองแบบย้อนกลับ


วันนี้อยากจะคุยต่อเรื่องระบบกรองน้ำต่ออีกสักหน่อย  ระบบน้ำที่บ้านผม...ถ้าไม่นับถังกรองแบบท่อซีเมนต์ซึ่งอยู่บนถังเก็บน้ำ ผมจะมีถังกรองแบบสแตนเลสอีก ๒ ตัวติดตั้งอยู่ข้าง ๆ ถังเก็บน้ำ ตัวหนึ่งใส่สารกรองคาร์บอน ส่วนอีกตัวใส่สารกรองเรชิน  ขอขอบคุณเว็บ amtrade.tht.in ที่ได้บอกคุณสมบัติของสารกรองทั้ง ๒ ชนิดไว้ค่อนข้างละเอียด  ขออนุญาตนำมาโพสต์ให้ความรู้ต่อ ดังนี้...

สารกรองคาร์บอน เป็นสารกรองที่นำมาใช้ในการกรอง สี กลิ่น คลอรีนเป็นหลักใหญ่ เพราะมีคุณสมบัติในการดูดซับสี และกลิ่น ซึ่งมี โมเลกุลขนาดเล็กมาก ที่ไม่สามารถขจัดได้ด้วยวิธีการกรองแบบแรก สารกรองคาร์บอนหรือเรียกว่าถ่านกัมมันต์เม็ดจะมีโครงสร้างที่มี ลักษณะ เป็นรูพรุน มีพื้นที่ผิวสูง ทำให้มีคุณสมบัติในการดูดซับได้เป็นอย่างดี ซึ่งถ้าหากมีพื้นที่ผิวมาก ก็จะมีความสามารถในการดูดซับสูงไปด้วย  แต่เนื่องจากสภาพน้ำที่ใช้กรองของแต่ละแห่ง อาจจะมีสิ่งเจือปนในน้ำไม่เท่ากัน บางแห่งอาจจะมีตะกอนแขวนลอยมากับน้ำค่อนข้างมาก ตะกอนพวกนี้จะไปจับที่ผิวของถ่านกัมมันต์เม็ด ซึ่งจะทำให้การดูดซับของถ่านกัมมันต์เม็ดเสื่อมประสิทธิภาพไป ดังนั้นจึงต้องมีการเอาตะกอนดังกล่าวออกไป โดยวิธีการล้างย้อนกลับ  จุดอ่อนของสารกรองประเภทนี้คือ ความสามารถในการกรองตะกอนแขวนลอยหรือความขุ่นจะกรองได้ไม่ดีนัก จะต้องสารกรองตัวอื่นมาใช้ร่วมด้วย รวมทั้งไม่สามารถกรองความกระด้างจากสารละลายต่าง ๆ ได้ และสารกรองนี้มีอายุการใช้งานไม่นานนัก (ตามสเปคของผู้ผลิต สารกรอง ประมาณ ๑ - ๑.๕ ปี) จึงควรมีการเปลี่ยนสารกรองใหม่ตามกำหนด 
สารกรองเรซิน (resin) สารกรองประเภทนี้จะมีอยู่ ๒ ประเภทคือเป็นแบบไออ้อนบวก และไออ้อนลบ โดยทั่วไปจะนิยมใช้แบบ แคทไออ้อนเรซิน หรือไออ้อนลบ โดยจะใช้นำมากรองความกระด้าง ความกระด้างเป็นสารละลายที่อยู่ในรูปของไออ้อนต่าง ๆ โดยสารกรองจะมีคุณสมบัติในการแลกเปลี่ยน ไอ อ้อน ซึ่งจะทำให้ความกระด้างออกจากน้ำ สารกรองเรซินเมื่อผ่านการใช้งานไปได้ระยะหนึ่งจะเสื่อมสภาพลงและหมดสภาพไป ไม่สามารถแลกเปลี่ยนไออ้อนได้อีก จึงต้องทำการฟื้นสภาพ หรือรีเจนเนอเรชั่น เพื่อให้มีความสามารถในการแลกเปลี่ยนไออ้อนดังเดิม หรือ ใกล้เคียงสภาพเดิม โดยทั่วไปในการฟื้นสภาพเรซิน จะใช้สารละลายเกลือแกงความเข้มข้นตามที่ผู้ผลิตกำหนด โดยให้ค่อย ๆ ไหลผ่าน หรือโดยแช่เรซินในสารละลายดังกล่าวเป็นระยะเวลาหนึ่ง (๑ - ๒ ชั่วโมง) แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดให้หมดความเค็ม เรซินที่ผ่านการใช้งาน และการฟื้นสภาพมาหลายครั้งแล้วจะมีความสามารถแลกเปลี่ยนไออ้อนลดลง จึงต้องทำการเปลี่ยนสารเรซินใหม่ โดยสเปคของผู้ผลิตระบุให้ อยู่ประมาณ ๓ - ๕ ปี ขึ้นอยู่กับสภาพและปริมาณการใช้น้ำของแต่ละแห่ง  จุดอ่อนของสารกรองเรซินจะกรองกลิ่น สี คลอรีนไม่ได้ และสารกรองจะเป็นเม็ดเล็ก ๆ ไม่สามารถจับตัวได้แน่นพอที่จะกรองหรือกั้นตะกอนแขวนลอยที่มากับน้ำได้

จริง ๆ แล้วควรต้องเปลี่ยนสารกรองทุก ๆ ๒ หรือ ๓ ปี แต่สำหรับผมแล้ว แย่มาก ๆ ครับ ไม่มีกะตังค์ เคยให้ร้านมาดู เค้าคิดหลายพันบาท ก็เลยไม่ทำ ทุกวันนี้...หลังจากน้ำบาดาลผ่านถังกรองซึ่งใช้กรวด ทราย และขี้เถ้าแกลบ ตามที่เคยเล่าไว้ในบล็อกเรื่อง "ถังกรองน้ำ" เมื่อเดือนที่แล้ว ผมก็จะให้น้ำจากถังเก็บถังแรกไหลผ่านเจ้าเครื่องกรองที่เห็นในภาพ ก่อนไปยังถังเก็บน้ำถังที่สอง

คิดว่าคงไม่มีประโยชน์ซักเท่าไหร่...เพราะผมไม่ได้เปลี่ยนสารกรองมา ๑๐ ปีแล้ว แต่อย่างน้อยน้ำที่ไหลผ่านสารกรองหมดอายุก็ยังคงถูกกรองได้ส่วนหนึ่ง (ดูได้จากความสกปรกของน้ำทิ้ง...เมื่อล้างถังแบบย้อนกลับ)

วันนี้ ขอแสดงให้เห็นการต่อประตูน้ำ เพื่อให้สามารถทำการล้างแบบย้อนกลับได้ ถ้าเพื่อน ๆ ติดตั้งถังกรองแบบเดียวกันนี้ ก็จำเป็นต้องทำระบบล้างถังแบบย้อนกลับไว้ด้วย


ภาพนี้แสดงให้เห็นทิศทางการไหลของน้ำตามปกติ 
ปกติแล้ว น้ำจะไหลจากถังเก็บน้ำที่ ๑ ผ่านเครื่องกรองไปยังถังเก็บน้ำที่ ๒ โดยอาศัยระดับน้ำที่แตกต่างกัน  แต่ก็ต้องล้างถังกรองบ่อย ๆ นะครับ ไม่งั้นน้ำจะไม่ไหล วิธีล้างก็ต้องมีมอเตอร์สูบน้ำอย่างที่ผมทำไว้อย่างที่เห็นในภาพ...


มีสวิชอัตโนมัติไว้ด้วยเพื่อจะได้ไม่ต้องคอยปิดเปิดสวิชให้มอเตอร์ทำงานในระหว่างล้างเครื่องกรองแบบย้อนกลับ นอกจากนั้น...หากน้ำในถังเก็บถังที่ ๒ หมดโดยกะทันหัน ก็สามารถเปิดสวิชให้สูบน้ำทำงาน ช่วยให้น้ำจากถัง ๑ ไหลไปยังถัง ๒ ได้โดยเร็ว พอแก้สถานการณ์ไม่มีน้ำใช้ไปได้...
ทีนี้มาดูการล้างเครื่องกรองแบบย้อนกลับดูนะครับ....

ปิดประตูน้ำตัวที่ไปยังถ้งเก็บน้ำก่อน เพื่อเปลี่ยนทิศทางน้ำให้ไหลย้อนกลับทาง
น้ำจะไหลแรงเพราะเครื่องสูบน้ำทำงาน เมื่อเราเปิดประตูน้ำให้น้ำไหลย้อนกลับแล้วเปิดน้ำทิ้ง จะเห็นว่าน้ำที่ไหลออกมามีสีของความสกปรก พอสีจางลงเราก็ปิดประตูน้ำแล้วให้น้ำไหลในทิศทางปกติ แต่ยังคงปล่อยน้ำทิ้ง...

ปล่อยน้ำทิ้งเพื่อล้างสารกรอง...
ทำการล้างแบบย้อนกลับอีกหลาย ๆ ครั้ง สลับกับการปล่อยให้น้ำไหลตามทิศทางปกติ จนเห็นว่าน้ำใสดีแล้ว จึงค่อยเปิดประตูน้ำ ปล่อยให้น้ำไหลไปยังถังเก็บที่ ๒ ได้

ดูให้ชัด ๆ อีกทีครับ....
ผมยังไม่รู้จะทำอย่างไรดีกับเครื่องกรองของผม ดูราคาสารกรองในเว็บแล้ว พบว่าสารกรองคาร์บอนราคาส่งลิตรละ ๓๙ บาท ต้องซื้อยกกระสอบ (๕๐ ลิตร) ส่วนสารกรองเรซิน ราคาส่งลิตรละ ๖๕ บาท ยกกระสอบ (๒๕ ลิตร) เช่นกัน!

คงต้องใช้อย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ครับ...

No comments: