ภาพจาก talkystory.com |
ช่วงอุทกภัยครั้งใหญ่...เห็นมีข่าวเรื่องข้าวของที่มีผู้บริจาคให้แล้ว ศปภ. ไม่รีบนำไปมอบให้ผู้ประสบภัย หรือข่าวนักการเมืองกร่างจับจองเรือที่ได้รับบริจาค ผมไม่รู้ว่าข้อเท็จจริงเป็นเช่นไร แต่ก็รู้สึกหดหู่หัวใจไปกับเรื่องนั้น ๆ การฉวยโอกาสแสวงหาผลประโยชน์บนความเดือดร้อนของผู้อื่นเป็นการกระทำที่เลวร้ายจริง ๆ นี่ก็ได้ยินมาอีกว่ามีการวางตะปูเรือใบขัดขวางมิให้รถทหารเข้าไปรับส่งประชาชน เพื่อตัวเองจะได้หากินกับบริการรับส่งด้วยราคาค่าโดยสารชนิดขูดเลือดซิบ ๆ โอ..หากเป็นเช่นนั้นจริง ผมก็ไม่รู้จะพูดอะไรอีกแล้วสำหรับความเป็นคนไทย! เขียนอะไรไม่ออกจริง ๆ ไหน ๆ ก็พูดเรื่องเรือแล้ว วันนี้ผมขอนำเรื่อง "เรือจ้าง ๔ มือลิง" ซึ่งเคยเขียนไว้นานแล้วใน One of Those Days มาเก็บไว้อีกเรื่องนึงก็แล้วกัน...
เรือจ้าง ๔ มือลิง
เมื่อวานนี้ผมไม่ได้อัพเดทบล็อก แต่ใช้เวลาไปกับการอัพโหลดไฟล์และตกแต่งโฮมเพจ ตีสองกว่าถึงจะเข้านอน เช้าวันนี้ผมเริ่มต้นรื้อค้นห้อง(รังหนู) พยายามจะหาโน้ตเพลง Mona Lisa ให้ได้ ไม่เจอครับ...ผมเจอแต่แฟ้มเก็บจดหมายและเอกสารเก่า ๆ ซึ่งไม่น่าเชื่อเลยว่ามันจะยังอยู่ เอกสารบางชิ้นสามารถเล่าเรื่องราวของชีวิตในอดีตได้เป็นอย่างดี เนี่ยถ้าไม่มาเจอะเจอ ผมคงจะลืมทิ้งไว้ แล้วไม่มีโอกาสได้เห็นมันอีก! นอกจากจดหมายเก่า ๆ และใบสำคัญทหารนอกประจำการประเภทที่ ๒ ของคุณอา ลงวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๗๔ ยังมีหนังสือสัญญาซื้อขายเรือจ้างซึ่งคุณแม่เป็นผู้ซื้อ
เห็นลายมือในใบสัญญาก็รู้ทันทีว่าน้าชายของผมเป็นผู้เขียน ข้อความบนแผ่นกระดาษเก่า ๆ นั่น บอกให้ผมได้รู้อะไรหลาย ๆ อย่างในอดีต....
"เขียนที่ ๓๖๕ ต.ปากคลอง, ภาษีเจริญ วันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๔ ข้าพเจ้านายเชื้อ รัศมีปลั่ง อายุ ๔๗ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๑๖๖ ตำบลท่าพระ อำเภอบางกอกใหญ่ จังหวัดธนบุรี ได้ขายเรือจ้าง ๔ มือลิงให้กับนางปราณี หลายสกุลไว้เป็นราคา ๖๖๐ บาท(หกร้อยหกสิบบาทถ้วน) จึงได้ทำหนังสือนี้ให้ไว้เป็นสำคัญ" มีผู้ร่วมลงนามทั้งหมด ๖ คนด้วยกัน หนึ่งในจำนวนนั้นเป็นคุณพ่อผม แสดงให้เห็นว่าที่บ้านเกิดของผมคืออำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี เมื่อปี ๒๔๙๔ คุณพ่อคุณแม่ของผมได้อาศัยอยู่ที่นั่น ยังคงไม่อพยพไปอยู่ที่เชียงใหม่ คุณตาของผมมาจากเมืองจีน ท่านแซ่ไหล คุณแม่เปลี่ยนนามสกุลจากแซ่ไหลเป็น "หลายสกุล" ส่วนคุณน้าใช้ "ไหลไพบูลย์"
คุณแม่ซื้อเรือจ้างราคา ๖๖๐ บาท ท่านเป็นนักคิดและผู้ลงทุนตั้งแต่สมัยนั้นเชียวนะเนี่ย ท่านไม่เคยกลัวเรื่องการขึ้นรถลงเรือเพราะว่ายน้ำเก่ง เคยเล่าให้ผมฟังเรื่องกระโดดน้ำตูม ๆ จากสะพานลงไปในคลอง เสียดายที่ผมไม่ได้ถามว่าท่านซื้อเรือจ้างไปทำไม และคำว่า "เรือจ้าง ๔ มือลิง" หมายความว่าอะไร? ทำไมต้องเป็นมือลิง เป็นมือคนไม่ได้หรือ?
นอกจากนั้นผมยังเจอบิลเงินสดซึ่งสภาพของเนื้อกระดาษยังดีอยู่เลย...บิลเงินสดลงวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๗ ผมรู้ความจริงว่าหลังจากนั้นอีก ๓ ปี คุณพ่อและคุณแม่ได้อพยพไปอยู่เชียงใหม่ แล้วไปเปิดร้านกาแฟชื่อว่า "ไทยประเสริฐ" อยู่ตรงถนนเจริญเมือง ติดกับลาน ร.ส.พ.ใกล้ ๆ กับสถานีรถไฟ สมัยนั้นท่านต้องสั่งซื้อนมจากกรุงเทพฯ เข้าใจว่าคงเป็นนมข้นตราลิง ไม่แน่ใจ! หรืออาจจะเป็นนมสด? สินค้าราคาหีบละ ๑๑๐ บาท บิลเงินสดต้องติดอากรแสตมป์ ๑๐ สตางค์ แล้วมีตราประทับซึ่งมีข้อความว่า "ตราฆ่าอากรแสตมป์" พร้อมกับวันที่ อยู่ตรงลายเซ็นผู้รับเงิน
กลับไปพลิกดูด้านหลังหนังสือสัญญาซื้อขายเรือจ้าง(๔ มือลิง) เห็นมีอากรแสตมป์ดวงละ ๑๐ สตางค์ติดอยู่ ๓๓ ดวง ปี ๒๔๙๔ ซื้อขายเรือ ๖๖๐บาท ต้องติดอากร ๓.๓๐ บาท
คุณเมธีได้อธิบายข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่อง "เรือจ้าง ๔ มือลิง" ไว้ดังนี้...."ผมลองค้นในอินเทอร์เนตพบว่า มือลิงคือกงที่วางขวางตั้งฉากกับกระดูกงูเรือ เรือหนึ่งลำจะมีความยาวเท่าไหร่ขึ้นกับจำนวนชิ้นกง ยิ่งมีกงหลายชิ้นก็ยิ่งมีความยาวมากขึ้น สำหรับกงลิงเป็นกงที่ทำขึ้น ไม่ได้มีจุดประสงค์ในการขึ้นรูปโครงเรือ แต่เป็นกงหลอกเอาไว้เพื่อให้คนนั่งแจวได้มีที่เอาเท้ายันเวลาออกแรงแจว การมี 4 กงลิงหรือมือลิง น่าจะเป็นเรือที่ทำไว้สำหรับ 4 ฝีพาย ตามรายละเอียดข้างล่างนี้ครับ
ขั้นตอนที่ 3. การวางกงเรือ (โครงเรือ)
กง เป็นชิ้นไม้ตัดแต่งให้โค้งเข้ากับรูปท้องเรือด้านใน ช่วยเพิ่มความแข็งแรง และได้รูปทรงเรือที่ต้องการ นิยมใช้ไม้ประดู่ ไม้สัก หรือไม้ตะเคียน ทำกงเรือขนาดหนาประมาณ 2-2.5 นิ้ว กว้างประมาณ 3 นิ้ว โดยทำการติดกงตัวแรก เรียกว่า กงครู หรือ กงเอก คร่อมทับกระดูกงู ใช้สว่านเจาะกงทะลุตัวเรือแล้วตอกยึดด้วยลูกประสัก ซึ่งนิยมทำจากไม้แสมสารยึดติดกับเนื้อเรือ แล้วจึงเริ่มวางกงเรือตัวที่ 2 สลับกันคนละตัวจากทางหัวและท้ายของตัวเรือ ระยะห่างของกงตามสูตรของแต่ละช่างแตกต่างกันไป โดยเรือใหญ่วางกงประมาณ 30-32 ตัว เรือยาวกลางวางกง 26-28 ตัว เรือเล็กวางกงประมาณ 23 ตัว ลดลงไปตามขนาดของเรือแต่ละประเภท จึงเริ่มวางกระทงเรือ
เรือภาคใต้ (หางแมลงป่อง) นิยมวางกงลิง (มือลิง) เป็นกงหลอก เพื่อใช้เป็นที่ยันหรือถีบเท้าเวลาออกแรงพายเรือ ส่วนภาคอีสานแถบลุ่มน้ำโขง ตัวเรือหนาขนาดซองบุหรี่ จึงไม่นิยมวางกงเรือ หากเป็นไม้ขนาดต้นเล็ก ความสูงของตัวเรือจะไม่พอ จึงนิยมเสริมมาดช่วย
ที่มา: http://www.rcath.com/historyTBthai.htm
No comments:
Post a Comment