Sunday, February 16, 2014

ฝึกเล่นไวโอลินแบบง่าย ๆ สไตล์ลุงน้ำชา ๗

เข้าไปดูเรื่อง ฝึกเล่นไวโอลินแบบง่าย ๆ สไตล์ลุงน้ำชา ซึ่งเริ่มต้นเขียนไว้ตั้งแต่วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๕ แล้ว... ผมรู้สึกแย่จัง!  เวลาผ่านไปปีกว่า เพิ่งเขียนได้แค่ ๖ ตอนเอง ผมมัวแต่เขียนเรื่องท่องเที่ยวและงานช่างเหอะ  จนลืมในสิ่งที่ได้รับปากไว้กับเพื่อน ๆ!

จริง ๆ แล้วผมก็ไม่สมควรที่เขียนเรื่อง "ไวโอลิน"  เพราะตัวเองก็ไม่เคยฝึกฝนหรือศึกษาอย่างจริงจัง ความรู้ความสามารถมีแค่หางอึ่ง มันทำให้ผมไม่ค่อยมีแรงใจที่จะเขียน (ในสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัด) ยิ่งไปเห็นบทเรียนไวโอลินในอินเทอร์เน็ตมากมายทั้งจากครูไทยครูฝรั่ง ผมก็ยิ่งไม่กล้า...

อย่างไรก็ตาม... ผมสังเกตได้ว่ามีบางเรื่องที่เคยพูดให้เด็ก ๆ ฟัง (ไม่รู้ว่าจะเชื่อหรือเปล่า) แต่ในเว็บต่าง ๆ ไม่มีใครกล่าวถึง จึงคิดว่าน่าจะกลับมาเขียนเรื่องไวโอลินและเรื่องดนตรีได้แล้ว เผื่อจะได้เป็นประโยชน์สำหรับผู้สนใจ  เมื่อผมตายไป บางที...อาจยังพอเหลือเป็นข้อมูลสำหรับเยาวชนรุ่นหลังได้

ผมจะเขียนเรื่อง "ฝึกเล่นไวโอลินแบบง่าย ๆ สไตล์ลุงน้ำชา" ต่อไปเรื่อย ๆ นะครับ ขอเพียงความเข้าใจจากเพื่อน ๆ เท่านั้นว่า มันเป็นแค่เพียงการนำประสบการณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ และความคิดเห็นส่วนตัวมาแลกเปลี่ยนเท่านั้น อาจไม่ถูกต้อง ไม่น่าเชื่อถือ และขัดแย้งกับหลักวิชาการ ขอให้ถือว่าอ่านสนุก ๆ เหมือนกับการอ่านเรื่องท่องเที่ยวของผมก็แล้วกัน

คราวที่แล้วพูดถึงเรื่อง "การจัดหาและการทดสอบไวโอลิน"  วันนี้ขอเขียนเรื่อง "ยางสน (Rosin)" ก่อนที่จะเริ่มบทเรียนแรกกัน...

ยางสนมีทั้งแบบกล่องสี่เหลี่ยมและแบบก้อนกลม เมื่อซื้อไวโอลินมา ส่วนใหญ่จะมียางสนให้มาด้วย เท่าที่ผมเห็น...ยางสนที่มากับไวโอลินของนักเรียนมักจะเป็นแบบกล่องสี่เหลี่ยม


ต้องใช้เวลาอธิบายเรื่อง "ยางสน" กับนักเรียน ว่าทำไมจึงต้องถูยางสน หากมียางสนที่ยังไม่ได้ใช้งานและคันชักใหม่เอี่ยมอยู่ในมือ ก็สาธิตให้เด็ก ๆ เห็นได้เลยว่าตอนยังไม่ได้ถูยางสนเป็นเช่นไร สอนเรื่องของวิทยาศาสตร์ไปด้วยว่า "เสียง" เกิดจากการสั่นของสาย การดีดทำให้สายสั่น (vibrate) สายใหญ่ก็เสียงต่ำ สายเล็กก็เสียงสูง การสีก็ทำให้สายสั่นและเกิดเสียงได้เช่นกัน

ลองให้เจ้าตัวน้อยได้ใช้คันชักที่ยังไม่ได้ถูยางสนสีไวโอลิน  ลื่น...ไร้เสียง!  ระหว่างหางม้าและสายจะต้องมี "ความฝืด" เมื่อหางม้าเคลื่อนไป...สายไวโอลินจะได้สั่นเหมือนกับการดีด

ถ้ายังงั้นก็ต้องถูยางสนก่อน แต่ยางสนใหม่มันลื่น ถูยังไงมันก็ไม่ติดหางม้า ต้องใช้กระดาษทรายถูผิวหน้าของยางสนให้สากเสียก่อน แล้วค่อยนำมาถู ถ้านักเรียนถามว่าไม่มีกระดาษทรายจะทำอย่างไร ตอบว่าใช้ปลายแหลมของโลหะขีด ๆๆๆ  พอให้ความลื่นที่หน้าสัมผัสหายไป ก็นำก้อนยางสนมาถูได้แล้ว

การถูยางสนครั้งแรก ต้องถูนาน ถูแรง ๆ ขยับไปตามหน้าสัมผัสของหางม้าจนทั่ว วิธีนี้จะใช้สำหรับการถูยางสนครั้งแรกเท่านั้น  (ผู้ใหญ่ควรทำให้)  บอกนักเรียนว่า...การถูยางสนครั้งต่อไปจะไม่มากเช่นนี้ และต้องมีวิธีการถูที่ดีด้วย...

พูดเรื่อง "ยางสน" ตามสไตล์ลุงน้ำชา...

  1. ถูด้วยสมาธิ ไม่วอกแวก ให้ใช้ "เวลา" ขณะถูยางสนอย่างมีค่า ด้วยการฝึกคล้ายกับ shadow bowing คือไหน ๆ จะถูยางสนแล้ว ก็ฝึกการลากคันชักด้วยเลย มือซ้ายจับยางสนยกขึ้นข้างหน้าให้ได้ระดับคล้ายมีไวโอลินหนีบอยู่ ผิวหน้ายางสนเป็นสายไวโอลิน มือขวาจับคันชักตามรูปแบบที่ถูกต้อง ลากหางม้าจากด้าน frog ไปให้สุดปลายแล้วลากกลับ บังคับข้อมือให้คันชักเคลื่อนที่ขนานกับลำตัว
  2. ถูกี่ครั้ง? ถ้าลากยาว กดนิ้วชี้มือขวาลงบนด้ามคันชักด้วยน้ำหนักคงที่ ให้หางม้าแนบกับผิวยางสนตลอดเวลา ผมจะให้นักเรียนนับ ๑-๒-๓... จนถึงครั้งที่ ๙ ก็พูดว่า "๙....ก้าวหน้า ๆๆ"  แค่นั้นพอ
  3. การถูยางสนมากครั้งเกิน ทำให้ฟุ้งกระจาย เลอะเทอะ และสิ้นเปลือง
  4. ควรถูยางสนเป็นประจำสม่ำเสมอ ความรู้สึกของผู้สีไวโอลินจะบอกได้ว่าถึงเวลาต้องถูยางสนแล้วหรือยัง เช่นเดียวกับคนเล่นสนุ๊กเกอร์ที่รู้ว่าเมื่อไรจะต้องฝนหัวคิว...
  5. ขณะลากคันชัก สายตาต้องมองดูก้อนยางสนที่อยู่ข้างหน้า บังคับให้หางม้าสัมผัสเนื้อยางสนถ้วนทั่ว ไม่ใช่โดนเฉพาะตรงกลาง แล้วทำให้เกิดร่องลึกลงไปทุกที ๆ  (เนื้อยางสนด้านข้างไม่ได้ถูกใช้) ผมมักจะบอกนักเรียนให้ใช้ยางสนอย่างมีประโยชน์ทุกอณู โดยอาศัย "เชิงช่าง" ถูยางสนให้ผิวหน้าก้อนยางสนเรียบอยู่เสมอ เหมือนช่างเหอะไสไม้หรือตะไบเหล็ก
  6. ยางสนดี ๆ มีผลต่อการสีเครื่องสาย 
  7. ระวังอย่าให้ยางสนตกลงพื้น
  8. ยางสนราคาแพง หากแตกเป็นชิ้น ๆ ให้ใส่รวมกันในแบบพิมพ์ แล้วนำไปตากแดดแรง ๆ มันจะหลอมติดกันเป็นก้อน สามารถนำไปใช้ได้อีก ส่วนยางสนราคาถูก (ราคาไม่ถึงร้อย) จะเก็บไปหลอมกับขี้ผึ้ง เอาไว้ใช้ในงานซ่อมแอคคอร์เดียนก็ได้...
  9. ข้อสุดท้าย ขอให้นึกถึง "ความก้าวหน้า" ก็แล้วกัน
ผมเขียนต่อให้แล้วน้าาาาาาาาาา.....

5 comments:

Unknown said...
This comment has been removed by the author.
Unknown said...

ขอบคุณลุงน้ำชามากครับ เป็นประโยชน์มากๆเลยครับ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เป็นพื้นฐานบางทีเราก็มองข้ามมันไป เสียดายยางสนที่ทำหล่นแตก ผมดันโยนทิ้งไปซะงั้น คือผมกำลังฝึกไวโอลินเพื่อเอาไวสอนลูกครับ

Unknown said...

ลุงครับ ผมอยากทราบวิธีและขั้นตอนการหลอมยางสนใหม่ครับ

ยางสนของผมเป็นร่องตัว U ตรงกลางและเริ่มแตกเป้นชิ้นๆ บ้างก็แนะนำให้นำไปผึ่งแดด บ้างก็ให้เอาไฟแช็ครน

ขอคำแนะนำด้วยครับ

Wichai said...

ผมต้องขออภัยที่ไม่เห็น comment จากเพื่อน ๆ รู้สึกเสียใจครับ

ใช้ไฟแช็คลนผมไม่เคยทำครับ แต่เอาไปทิ้งตากแดดจัด ๆ พบว่าที่แตก ๆ มันกลับไปติดกันได้

เคยหลอมยางสนเพื่อจะใช้ผสมกับขี้ผึ้งเพื่อซ่อมแอคคอร์เดียน รู้สึกว่าเหม็นและคุณภาพยางสนด้อยไปครับ..

ขอบคุณที่ให้เกียรติสอบถามครับผม

Unknown said...

ผมลองไฟแช็คลนแล้วไม่ดีเท่าที่ควรครับ
ไฟแช็คไฟร้อนไม่พอทำให้คุณภาพยางสนด้อยลง ไม่สะอาดและมีฟองอากาศ
ควรหลอมด้วยไฟแรงสูงสม่ำเสมอดีกว่าครับ