Tuesday, August 21, 2018

ส. ศิวรักษ์ ในสายตาของผม


วันนี้ผมมีโอกาสได้ไปร่วมงานวันเทิดเกียรติเสรีไทย ที่พิพิธภัณฑ์เสรีไทย โรงแรมภราดร จังหวัดแพร่...



มีนายทหาร ข้าราชการ คณาจารย์ ผู้บริหารระดับสูง และผู้มีชื่อเสียง ไปร่วมงานจำนวนไม่น้อย...





หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือที่คนไทยเรียกกันติดปากว่า ส. ศิวรักษ์ ซึ่งในวิกิพีเดียได้กล่าวไว้ว่า...
ส. ศิวรักษ์ เป็นนักเขียนชาวไทย ศาสตราจารย์อาคันตุกะและนักวิชาการอิสระ เป็นที่รู้จักทั่วไปจนได้รับสมญานามว่า ปัญญาชนสยาม มีชื่อเสียงอย่างมากในการวิจารณ์อย่างไม่เกรงใจใคร ไม่เกรงอำนาจผู้ใด จนได้รับ รางวัลอัลเทอเนทีฟโนเบล (Alternative Nobel) หรือ "รางวัลสัมมาอาชีวะ" ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ สุลักษณ์ยังได้รับรางวัลศรีบูรพาจากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยในปีเดียวกันอีกด้วย มีผลงานการเขียนมากมายครอบคลุมหลายด้าน เช่นพุทธศาสนา สังคม การเมือง รูปแบบการปกครอง เป็นต้น....


เป็นครั้งแรกในชีวิตของผมที่ได้เห็น ส.ศิวลักษณ์ในลักษณะตัวเป็น ๆ และคิดว่าคงเป็นครั้งสุดท้ายด้วยเช่นกัน ผมแอบถ่ายภาพของท่านไว้ด้วยกล้อง Nikon D50...


ถ้าถามว่ามีความรู้สึกอย่างไรกับปัญญาชนสยามท่านนี้ ก็อยากจะตอบว่าผมชื่นชอบและนับถือในภูมิปัญญาและความสามารถในด้านการเขียนของท่านมาก ตอนเรียนอยู่เทคนิคกรุงเทพฯ ช่วงปี ๒๕๑๒-๑๔ ผมต้องรอต่อรถเมล์สาย 67 ที่สามย่าน ใกล้ ๆ กับร้านหนังสือ "ศึกษิตสยาม" ของ ส.ศิวรักษ์ ด้วยความเป็นคนรักหนังสือ บางครั้งถ้ามีโอกาสผมก็แวะเข้าไปดู...

ซื้อหนังสือที่ท่านเขียนไว้ก็หลายเล่ม มีทั้งเล่มเล็กปกอ่อนและปกแข็งเล่มหนา ๆ กล่าวได้ว่าตู้หนังสือของผมนั้นจะหยิบหาหนังสือของ ส.ศิวรักษ์ได้ไม่ยากเลย  เอ้า...ไม่เชื่อจะไปหยิบให้ดู ไม่ต้องค้นหาให้เสียเวลา...ผมคว้ามาได้เลย ๒ เล่ม คือ "ไกลกลิ่นหอย" และ "จดหมายรักจากอเมริกา"


"ไกลกลิ่นหอย" รวมเรื่องที่ ส.ศิวลักษณ์เขียนขึ้นในช่วงปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ระหว่างที่ผู้เขียนอยู่ต่างแดน พร้อมด้วยบทสัมภาษณ์และเรื่องอื่น ๆ อีกบ้าง ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๒๑ หนา ๕๐๕ หน้า ราคา ๒๘ บาท...


ให้เพื่อน ๆ อ่านซักนิดที่หน้า ๕๕-๕๖
เราเองสอนสองวิชา วิชาละสี่ชั่วโมง ถ้าเป็นเมืองไทยก็ถือว่าเป็นอาจารย์พิเศษ ได้เงินตามชั่วโมงที่สอน เพราะเบ็ดเสร็จสัปดาห์ละ ๘ ชั่วโมงยังไม่ถึงดี เมื่ออยู่กรุงเทพฯ เราสอนที่จุฬาฯ และธรรมศาสตร์ก็ประมาณนี้ ที่นี่เขาตั้งเป็นอาจารย์ประจำ มีสิทธิ์เท่าอาจารย์ประจำทุกประการ ถูกหักภาษีไป ๑ ใน ๓ ด้วยเช่นกัน...
การสอนของเรานับว่าเป็นงานเบาก็ว่าได้ เพราะเราสอนวิชาที่ถนัดอยู่แล้ว วิชาปริญญาตรี เราสอนว่าด้วยบทบาทของพระพุทธศาสนาทางสังคมในเอเซียอาคเนย์ วิชาปริญญาโทเราสอนประวัติความเป็นมาของปัญญาชนไทยที่มีต่อการสร้างสรรค์ประเทศ นักศึกษามีมาเรียนชั้นละไม่กี่คน แต่เป็นเอาจริงเอาจัง พวกอาจารย์และนักศึกษาปริญญาเอกทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยมาขอฟังก็มีบ้างเป็นครั้งคราว...  
ทีนี้มาดู "จดหมายรักจากอเมริกา" ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๑๐ หนา ๔๗๑ หน้า ราคา ๓๒ บาท  ภาพประกอบโดยอังคาร กัลยาณพงศ์อีกหน่อย  หน้า ๒๓๙ เขียน (เกี่ยวกับเรื่องสหพันธรัฐไว้พอดี) ว่า...
พูดถึงเรื่องรัฐ เธอควรทำความเข้าใจไว้เสียว่ารัฐหนึ่ง ๆ มีอำนาจเต็มบริบูรณ์ภายในรัฐของตน ขาดความเป็นอธิปไตยเพียงไม่มีกองทหาร และทำสัญญากับต่างประเทศไม่ได้เท่านั้น และก็ถูกสหรัฐก้าวก่ายบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ นอกจากนั้นแล้วการติดต่อกันระหว่างรัฐหนึ่ง ๆ เป็นไปดังประเทศหนึ่งกับอีกประเทศหนึ่ง รัฐหนึ่งมีกฎหมายของรัฐตนเอง กฎหมายของรัฐหนึ่งอาจไม่ยอมรับกฎหมายของอีกรัฐหนึ่งก็ได้ ระบบศาลของแต่ละรัฐก็ต่างกันดังได้กล่าวมาแล้ว....

มีลายเซ็นเป็นหลักฐานว่าหนังสือของ ส.ศิวรักษ์ ที่หยิบมาให้เพื่อน ๆ ดูเนี่ยผมควักกระเป๋าซื้อเองจริง 


"ไกลกลิ่นหอย" ซื้อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๒๒  ส่วน "จดหมายรักจากอเมริกา" นั้นซื้อเมื่อไหร่ไม่ได้เขียนไว้ ด้านหลังปกหนังสือมีโฆษณาว่า...
แพร่พิทยา....จัดพิมพ์เรื่องต่าง ๆ ของ ส.ศิวรักษ์ ดังนี้
มาพูดภาษาไทยกันดีกว่า รวมเรื่องแต่แรกออกโรงจนไปเขียนอยู่เมืองอังกฤษ ๕๙๖ หน้า ๓๒ บาท
ลายสือสยาม รวมเรื่องแต่กลับมาจากอังกฤษจนปัจจุบัน  ๖๒๔ หน้า ๓๙ บาท
ความคิดความอ่าน รวมเรื่องตั้งอยู่อยู่เมืองไทย ไปเมืองนอก และกลับมาทำงานในนี้  ๖๑๖ หน้า ๓๘ บาท
แผ่นดินและประชากรของข้าพเจ้า พระอัตชีวประวัติของทะไลลามะแห่งธิเบต ๓๗๒ หน้า ๓๕ บาท
โห...เขียนหนังสือไว้มากมายก่ายกอง ไม่รู้ว่าท่านจะจำได้ทุกเล่มหรือเปล่า? น่าทึ่งจริง ๆ

วันนี้ ส.ศิวรักษ์ก็มีหนังสือติดมาด้วย คือ "ความเข้าใจในเรื่องสินธูธรรม เจาะจงไปที่ธรรมของชนชั้นปกครองโดยเฉพาะก็พระราชา"  ปกอ่อน ๑๒๐ หน้า ราคา ๑๐๐ บาท ท่านเขียนไว้ว่า...
เมื่อพุทธธรรมตั้งหลักมั่นคงลงที่ศาสนจักร แล้วขยายอิทธิพลออกไปจากนั้น โดยเฉพาะก็ในทางเถรวาทของเรา สินธูธรรม ดูจะเป็นแกนสำคัญสำหรับอาณาจักร ไม่แต่เฉพาะทางชมภูทวีป หากขยายออกไปจนตลอดเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์ที่รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมมาจากภารตประเทศ
ภาพจาก trilakbooks.com - ขอขอบคุณ
ใครซื้อหนังสือ ท่านก็เซ็นชื่อ (autograph) ให้ด้วยครับ...


สำหรับผมแล้วมองเห็นว่าท่านเป็นผู้รอบรู้จริง ๆ อายุ ๘๖ แล้ว (เกิดปี ๒๔๗๕) ก็ยังดูแข็งแรงและมีสุขภาพดี เดินได้ด้วยตนเองโดยอาศัยเพียงไม้เท้า การแต่งกายก็ดูเรียบง่ายและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว การวางตัวก็ดูสุขุมเยือกเย็น ไม่พูดมาก ไม่วางท่า เปรียบได้เหมือนดาบคมในฝัก เห็นตัวจริงแล้วผมก็ได้แต่เก็บความชื่นชมไว้ในใจ แต่...มิได้คิดจะเข้าใกล้ 

ยิ่งเป็นเจ้าขุุนมูลนาย....ผมยิ่งออกห่าง!

2 comments:

Charnkit said...

ลุงน้ำชากลับมาแล้วครับ ดีจริงๆ

Wichai said...

ขอบคุณคร้าบบบบ ดีใจจังที่ยังไม่ถูกลืม