Wednesday, June 19, 2019

ธุลีที่ลอยล่อง - สวาท ณ น่าน

ผมเรียนวิชาช่างไฟฟ้าร่วมกับ "สวาท ณ น่าน"  ที่แผนกช่างไฟฟ้า วิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพ (วทพ.) ตั้งแต่ปี ๒๕๐๙ ถึง ๒๕๑๒...

 
ในบัญชีรายชื่อที่อาจารย์วัฒนานำมาให้ผมดู มีชื่อของสวาทอยู่ในลำดับ 26 บันทึกต่อท้ายว่า (ตาย) ผมทราบมาก่อนแล้วว่าสวาทเป็นอีกธุลีนึงซึ่งได้หยุดการเคลื่อนไหวไปนานแล้ว


เพื่อน "สวาท" เป็นคนอ้อนแอ้น พูดจานุ่มนวล ดูคล้ายกระเทย หนุ่มเมืองน่านค่อนข้างจะขี้อายและเงียบขรึม สวาทไม่ค่อยชอบถ่ายรูปร่วมกับเพื่อน ๆ ซึ่งส่วนใหญ่มีลักษณะออกลิงออกค่าง...


ผมหารูปของสวาทได้แค่บานเดียว คือภาพตอนที่เราไปดูงานด้วยกันที่โรงงานไฟฟ้าแม่เมาะลำปางขณะที่อยู่ชั้นปีที่ ๓ (กำลังจะจบการศึกษา)


ในกลุ่มคนที่เดินมา ผู้ที่เดินอยู่ด้านนอกสุด (สวมนาฬิกาข้อมือ) กำลังหันหน้าไปทางวิทยากรรุ่นพี่ที่นำชมโรงไฟฟ้าฯ  คือ "สวาท ณ น่าน"  ที่ผมจำได้ดีมีอย่างนึงคือ สวาทมีปากกาหมึกซึมยี่ห้อ Pilot อยู่ด้ามหนึ่ง ตอนอยู่ในชั้นเรียนผมชอบยืมมาใช้บ่อย ๆ (ลักษณะคล้ายเจ้าตัวด้ามสีเขียว)


ผมเป็นคนที่หลงใหลในเรื่องปากกาเอามาก ๆ  แต่ก็ไม่เคยคิดที่จะเขียนอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน วิชาภาษาไทยก็เกือบตกด้วย ถึงกระนั้นก็ยังจดบันทึกและขีด ๆ เขียน ๆ มาตลอดหลายสิบปีจนถึงวันที่มีคีย์บอร์ดให้กด เวลาเดินทางผมยังคงจดบันทึกแบบโบราณ 


หลังจากจบจากช่างไฟฟ้าเมื่อปี ๒๕๑๒ ผมก็ไม่ทราบความเป็นไปของสวาท ณ น่าน เพราะตัวเองต้องไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ และขาดการติดต่อกับเพื่อน ๆ ส่วนใหญ่ ไม่เคยได้เจอะเจอสวาทอีกเลยครับ มีเพียงครั้งเดียวที่ได้เห็นบทความเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในนิตยสารฉบับหนึ่งซึ่งเขียนโดยผู้ใช้นามปากกาว่า "สวาท ณ น่าน" และได้ยินอาจารย์อุดรบอกว่าสวาทเขียนเรื่องลงต่วยตูน

ไม่น่าเชื่อเลยว่าช่างไฟฟ้าที่จบแล้วไปทำงานอยู่ที่สถานีโทรคมนาคม จังหวัดตากจะกลายเป็นนักเขียนผู้มีผลงาน... 

     ทำเนียบต้นวงศ์ตระกูล ณ น่าน ผู้แต่ง : สวาท ณ น่าน : 2538
หนังสือทำเนียบต้นวงศ์ตระกูล ณ น่าน 
การรวบรวมรายละเอียดที่เกี่ยวกับตระกูล ณ น่าน ในหนังสือเล่มนี้จะทำให้เจ้านาย บุตรหลาน เชื้อวงศ์ของเจ้าผู้ปกครองนครน่าน ได้รับทราบไว้ว่าต้นตระกูลเป็นมาอย่างไร และจะเป็นประโยชน์กับผู้ที่สนใจเรื่องของวงศ์ตระกูล ณ น่าน หนังสือเล่มนี้ถูกจัดทำขึ้นมาซึ่งไม่เคยมีผู้ใดจัดทำมาก่อน การค้นคว้าเรียบเรียงของหนังสือเล่มนี้ได้อาศัยพงศาวดารเมืองน่านเป็นหลักและความทรงจำที่มีอยู่ประกอบกับการบอกเล่า
ผมไม่คิดเลยว่าคนลักษณะคล้ายกระเทยอย่างสวาท จะไปได้ไปใช้ชีวิตอยู่ในป่าใหญ่ และเป็นผู้ค้นพบต้นกระบากใหญ่ ดังข้อมูลต่อไปนี้... 
อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช เดิมมีชื่อว่า “อุทยานแห่งชาติต้นกระบากใหญ่” เนื่องจากมีต้นกระบากที่ใหญ่สุดในประเทศไทยเท่าที่สำรวจพบในขณะนี้ โดยมีนายสวาท ณ น่าน ช่างอันดับ 2 สถานีโทรคมนาคม จังหวัดตาก ซึ่งได้รับการบอกเล่าจากชาวเขาเผ่ามูเซอ ว่ามีต้นไม้ขนาดใหญ่ประมาณสิบคนโอบอยู่ต้นหนึ่ง และมีสะพานหินที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เมื่อได้ไปสำรวจพบเห็นว่าเป็นสภาพธรรม ชาติที่สวยงามควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ จึงได้ทำหนังสือถึงกองอุทยานแห่งชาติ จำนวน 2 ฉบับ ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2519 และวันที่ 6 มกราคม 2520 รายงานถึงลักษณะทางธรรมชาติซึ่งมีความโดดเด่น ได้แก่ ต้นกระบากใหญ่ สะพานหินธรรมชาติ น้ำตกห้วยหอย น้ำตกแม่ย่าป้า มีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีน้ำไหลตลอดทั้งปี และมีสัตว์ป่าที่ชุกชุม

 

เพื่อนผมคนนี้เกิดมาแล้วได้เขียนหนังสือทิ้งไว้ให้ลูกหลานก็ถือว่าไม่เสียชาติเกิดแล้วครับ!

1 comment:

Unknown said...

ถึงคุณ wichai ขอบคุณ​นะคะ ที่คิดถึง​ลุงของดิฉัน วันนี้ไม่รุ้ว่าเพราะอะไรดลใจ จึงนำชื่อท่านมา search เล่นๆและได้พบบทความนี้ ^^ ลุงของเรานั้นชอบเดินป่าคุยกับชาวบ้านและถ่ายรูปคะ ขอบคุณ​ที่ทำให้รู้สึกว่าท่านไม่ได้หายไป