Monday, July 23, 2018

อุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกิน

ผมได้รับแผ่นพับเกี่ยวกับการท่องเที่ยวมา ๑ ฉบับ จัดทำโดยสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๑๓ (แพร่) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช...


เป็นเรื่องของอุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกิน ต.ยอด อ.สองแคว จ.น่าน ผมคิดว่ามีประโยชน์และน่าสนใจสำหรับเพื่อน ๆ ผู้รักการท่องเที่ยว จึงต้องขออนุญาตสแกนภาพและนำข้อมูลมาเก็บไว้ดังนี้...


ทึ่ตั้งและอาณาเขต

อุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกิน มีอาณาเขตควบคุมพื้นที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำยาว และป่าน้ำสวดท้องที่ ต.ยอด ต.ชนแดน อ.สองแคว จ.น่าน  ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ยม ท้องที่ ต.ผาช้างน้อย ต.ปง จ.พะเยา ป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำเปี่อย-ป่าน้ำหยวน และป่าน้ำลาว ท้องที่ ต.ร่มเย็น ต.แม่ลาว อ.เชียงคำ จ.พะเยา รวมเนื้อที่ประมาณ ๑๕๗,๘๑๒.๕ หรือ ๒๕๒.๕ ตร.กม. ประกอบด้วยพื้นที่เทือกเขาสูงตอนปลายแห่งทิวเขาหลวงพระบาง ซึ่งทอดตัวยาวต่อเนื่องไปจนถึงเขตแดน ส.ป.ป.ลาว  สภาพธรรมชาติยังอุดมด้วยผืนป่าสมบูรณ์ ถ้ำขนาดใหญ่ น้ำตก และจุดชมทะเลหมอก...

ทิศเหนือ ติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ทิศใต้ ติดต่อกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1148 และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาช้าง จ.พะเยา
ทิศตะวันออก ติดต่อกับพื้นที่ทำกินราษฎร
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอุทยานแห่งชาติภูซางและดอยผาจิ


ลักษณะภูมิประเทศ

ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนวางตัวในแนวเหนือใต้ ระดับความสูงของพื้นที่ประมาณ ๓๐๐ - ๑,๗๕๒ เมตรจากระดับน้ำทะเล มียอดเขาที่สูงที่สุดคือ ยอดดอยจี๋ มีความสูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๗๕๒ เมตร ซึ่งเป็นภูเขาหินปูนโผล่ขึ้นมาจากผิวดินเป็นแท่งเขาสวยงาม และยังเป็นที่ตั้งของถ้ำหลวงสะเกินที่สวยงาม



ลักษณะภูมิอากาศ

เป็นแบบมรสุมเขตร้อนโดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ในช่วงฤดูฝน และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงฤดูหนาว ภูมิอากาศแบ่งออกเป็น ๓ ฤดู อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดต่อปีประมาณ ๗ องศาเซลเซียสในเดือนเมษายน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีประมาณ ๑,๒๑๑ มิลลิเมตร




พืชพันธุ์และสัตว์ป่า 

สภาพป่าประกอบด้วยป่าดิบเขา พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ไม่ก่อชนิดต่าง ๆ พญาไม้ กฤษณา พญาเสือโคร่ง มะขามป้อมดง สนสามพันปี อบเชย ไม้พื้นล่างได้แก่ มอส เพิร์นชนิดต่าง ๆ ป่าดิบชี้นพันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ยาง กระบาก สมพง ลำพูป่า กระทุ่ม พืชพื้นล่างได้แก่ กูดต้น กูดพร้าว กูดดอย เอื้องกุหลาบพวง เป็นต้น  ป่าดิบแห้งพันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ยางแดง ยางขาว ตะเคียน ตะแบก มะม่วงป่า พืชพื้นล่างได้แก่ ไผ่ หวาย เฟิร์น ปาล์ม ต๋าว เป็นต้น ป่าเบญจพรรณพันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ มะค่าโมง สมอภิเพก ตะคร้อ เสี้ยว ดอกขาว พืชพื้นล่างได้แก่ หญ้าแฝก หญ้าคมบาง และพืชในวงศ์ขิง ข่า เป็นต้น สัตว์ป่าที่พบได้แก่ เสือ หมูป่า เลียงผา หมี ไก่ป่า ไก่ฟ้า ปลากั้ง ปลากระทิง กบ เต่าปูลู เป็นต้น




แหล่งท่องเที่ยว

ประเภทถ้ำ



๑. ถ้ำหลวงสะเกิน เป็นถ้ำขนาดกลาง ปากถ้ำกว้าง ๒๐ เมตร ตัวถ้ำลึกเป็นอุโมงค์ยาวประมาณ ๕๐๐ เมตร มีประวัติเล่าขานกันว่าเดิมที ชนกลุ่มที่เรียกกันว่า "เผ่ากอ" ซึ่งย้ายถิ่นฐานมาจากสิบสองปันนา และแยกออกเป็น ๒ หมู่บ้าน คือ บ้านเสือกิ๋น ปัจจุบันคือ บ้านสะเกิน อีกหมู่บ้านย้ายไป จ.แพร่ คือ บ้านดงสนเขื่อน ปัจจุบันคือ บ้านสวนเขื่อน


๒. ถ้ำปลากั้ง เป็นถ้ำขนาดเล็กจำนวน ๒ แห่ง ปากถ้ำกว้างประมาณ ๒-๓ เมตร ภายในถ้ำลึกประมาณ ๒๐ เมตร ยังไม่มีการสำรวจภายในถ้ำที่แน่นอน แต่พบว่ามีปลากั้งอาศัยอยู่ภายในถ้ำ ในฤดูฝนจะมีน้ำไหลออกมาจากถ้ำปลา






ประเภทน้ำตก

๑. น้ำตกห้วยหาด เป็นน้ำตกขนาดกลางมีน้ำไหลตลอดทั้งปีจากดอยผาจี๋ มีความสูง ๓ ชั้น สูงประมาณ ๓๕ เมตร กว้างประมาณ ๑๕ เมตร มีแอ่งน้ำกว้างประมาณ ๕ เมตร ยาว ๕ เมตร ลึกประมาณ ๑.๕ เมตร


๒.น้ำตกผาธาร หรือน้ำตกหงษ์เวียงจันทร์ ซึ่งเป็นการให้เกียรติกับผู้สำรวจในคราวแรก คือนายวิทยา หงษ์เวียงจันทร์ เป็นน้ำตกขนาดกลาง มีน้ำไหลตลอดปีจากดอยผาจี๋ มีความสูง ๖ ชั้น สูงประมาณ ๓๐ เมตร กว้างประมาณ ๕ เมตร



สิ่งอำนวยความสะดวก

มีบ้านพักรับรองพร้อมอุปกรณ์เครื่องนอนจำนวน ๖ หลัง สามารถรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ ๒๐ - ๓๐ คน


ข้อมูลการเดินทาง

จากตัวเมืองน่าน ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1080 (น่าน - ทุ่งช้าง) ระยะทาง ๔๒ กิโลเมตรถึงอำเภอท่าวังผา ให้แยกไปทางซ้ายมือตามทางหลวงหมายเลข 1148 (ท่าวังผา - สองแค) ประมาณ ๓๓ กิโลเมตรถึงอำเภอสองแคว แล้วให้เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 1097 (สองแคว - เชียงคำ) ระยะทางประมาณ ๓๘ กิโลเมตรถึงหมู่บ้านสะเกิน ตำบลยอด อำเภอสองแคว แล้วให้แยกเข้าหมู่บ้าน เลี้ยวไปทางขวามือ ผ่านหมู่บ้านไปอีกประมาณ ๖ กิโลเมตรก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกิน 


ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสิ่งที่นำมาแชร์นี้จะมีประโยชน์สำหรับเพื่อน ๆ ไม่มากก็น้อย!

No comments: