Saturday, August 13, 2011

ไวโอลินตั้งเสียงไม่ได้

สำหรับเครื่องสายประเภทไวโอลิน วิโอล่า และเชลโล ผู้เล่นจะตั้งเสียงด้วยการปรับที่ pegs ซึ่งในที่นี้ผมขอเรียกว่า "ลูกบิด" และ fine tuners ซึ่งขอเรียกว่า "ตัวปรับละเอียด" การปรับที่ลูกบิดเป็นการปรับเมื่อสายเพี้ยนมากตั้งแต่ครึ่งเสียงขึ้นไป โดยหมุนลูกบิดประจำสาย E และสาย A ตามเข็มนาฬิกาและหมุนลูกบิดประจำสาย D และ G ทวนเข็มนาฬิกาเพื่อให้เสียงสูงขึ้น ส่วนตัวปรับละเอียดจะใช้เพื่อตั้งเสียงซึ่งเพี้ยนไม่มาก ไม่จำเป็นต้องปรับที่ลูกบิด การหมุนตัวปรับละเอียดตามเข็มนาฺฬกกาจะทำให้เสียงสูงขึ้น ส่วนการหมุนทวนเข็มนาฬิกาจะทำให้เสียงต่ำลง

ปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง คือ การตั้งเสียงแล้วเสียงไม่อยู่คงที่ เมื่อประสบปัญหา นักเรียนจะต้องพิจารณาว่าเป็นเพราะสาเหตุใดแน่

ก่อนอื่นให้สังเกตที่ตัวลูกบิดเป็นอันดับแรก ถ้าหมุนขึ้นจนได้ระดับเสียงแล้ว แต่ลูกบิดไม่สามารถยึดอยู่กับตำแหน่ง เกิดการหมุนคืนกลับ แล้วทำให้ระดับเสียงลดลง ให้ตีปัญหาได้ ๒ ข้อ คือ หนึ่ง - แกนลูกบิดลื่นหรือหลวม และ สอง - นักเรียนใช้กำลังกดในการตั้งสายน้อยไป ถ้าพบสาเหตุใดก็ให้แก้ไขในจุดนั้น ๆ (จะกล่าวอีกครั้งในโอกาสต่อไป)

แต่สำหรับกรณีที่ไม่ได้เกิดจากลูกบิด ให้พิจารณาว่า ๑. ปลายสายหลุดออกจากรูของลูกบิดหรือไม่? ๒. สายขาดในหรือไม่? ถ้าไม่ใช่ทั้งสองอย่าง ก็เหลืออีกเพียงจุดเดียวที่จะต้องตรวจสอบ นั่นคือ tailpiece หรือที่ผมเรียก "หางปลา" (ไม่รู้ว่าหางปลาอะไร อิอิ)

ไวโอลินของมะเหมี่ยวมีอาการตั้งเสียงไม่ได้ พอหมุนลูกบิดตัวหนึ่งขึ้นได้ที่แล้วเปลี่ยนไปหมุนอีกตัวหนึ่ง จะเกิดเสียงดังน่ากลัว พร้อมกับสายที่ตั้งไว้ลดระดับเสียงลงทันที ลูกบิดไม่ได้หมุนคืน...แต่เสียงกลับลดฮวบลงชวนให้ตกใจ แปลกแท้ ๆ (อาการคล้ายถูกผีหลอก ฮา...)

ถ้าหากอาการเป็นเช่นนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยครับ ให้ถอดสายออกทั้งสี่เส้น แล้วนำเจ้าหางปลาออกมาดู อย่างไวโอลินของมะเหมี่ยวซึ่งผมนำกลับมาซ่อมให้ที่บ้าน จะเห็นได้ว่าปลอกทองเหลืองที่เป็นตัวยึดให้สายรัดหางปลาให้อยู่กับที่ ได้เลื่อนห่างออกจากตำแหน่งที่มันเคยอยู่ สาเหตุเป็นเพราะสายเอ็นที่เป็นเกลียวละเอียด(มองแทบไม่เห็น)หมดสภาพ เวลาเราตั้งสาย เกิดแรงดึง...เจ้าปลอกทองเหลืองนั่นขยับออก สายก็หย่อนลงทันที เป็นเช่นนี้เหมือนเล่นเอาเถิด...

วิธีแก้ไขคือต้องเปลี่ยนหางปลาใหม่ (เฉพาะสายรัดน่าจะมีขาย) หรือไม่ก็หาวิธีทำให้สายรัดไม่ขยับตัว ถ้าใช้วิชา "ช่างเหอะ" ผมก็จะหาสายไฟที่เค้าใช้เดินเครื่องปรับอากาศหรือเครื่องทำน้ำอุ่น นำมาใส่แทนสายรัดหางปลาซึ่งหมดแรงยึด ใช้สายไฟสีดำ วัดระยะให้ดี ปอกปลายสายทั้งสองข้างออกให้เหลือแต่ลวดทองแดง นำสอดเข้าไปในรูของหางปลา แล้วใช้คีมบิดปลายให้เป็นเกลียวแน่น (เหมือนอย่างที่เคยทำมาแล้วครั้งหนึ่งในการซ่อมหางปลาให้ใช้ได้โดยไม่ต้องซื้อใหม่) ดูไม่น่าเกลียดหรอกครับ เพราะปลอกสายไฟสีดำที่หุ้มอยู่ด้านนอกมองดูก็คล้าย ๆ กับของเดิม ส่วนปลายลวดทองแดงนั้นก็ซ่อนตัวอยู่ข้างใต้หางปลา คนมองไม่เห็น...

สำหรับไวโอลินของมะเหมี่ยว ผมใช้วิธีแก้ขัดไปก่อน ด้วยการนำสายรัดหางปลาของไวโอลินขนาด ๓/๔ ที่มีอยู่มาใส่แทน เวลาถอดก็ไม่ยากครับ หมุนปลอกทองเหลืองออกมาแล้วดึงสายรัดออกมาใส่ให้ไวโอลินของมะเหมี่ยวได้เลย....

หมุนเจ้าปลอกทองเหลืองนั่นตามเข็มนาฬิกามันจะเคลื่อนตัวเข้าไปตามทิศทางลูกศรสีเหลือง

ถ้าเรายกสายรัดหางปลาขึ้นดูดี ๆ จะเห็นเกลียวเล็ก ๆ อยู่โดยรอบ ถ้าเกลียวนี้หมดสภาพ จะไม่สามารถทำให้ปลอกทองเหลืองยึดอยู่กับที่ได้

หลังจากเปลี่ยนสายรัดหางปลาแล้ว ผมก็ถือโอกาสแต่งหย่องให้ต่ำลง มะเหมี่ยวจะได้เล่นได้ง่ายขึ้น ใช้ดินสอดำขีดตรงร่องสายเพื่อให้เกิดความลื่น สายจะได้ไม่ขาดง่าย เสร็จเรียบร้อยแล้วผมก็ประกอบเข้าที่ ใส่สาย แล้วทดลองตั้งเสียง ใช้ได้แล้วครับ ไม่มีอาการตั้งเสียงไม่ได้อีกต่อไป

ก่อนทำความสะอาดไวโอลิน ผมเห็นว่าที่รองคาง (chin rest) มีอาการหลวม ใกล้จะหลุด จึงได้ใช้วิชาช่างเหอะ หยิบตัวรีเวท นำมาหมุนปรับให้ที่รองคางยึดแน่นเข้าที่ตามเดิม (ตามภาพ)


จากนั้นก็ทำความสะอาดซะหน่อย เรียบร้อยแล้วคร้าบบบ.....


หมายเหตุ : ภาพหัวไวโอลิน(ขาวดำ)นำมาจาก wikipedia

2 comments:

Unknown said...

เอ็นยึดหางปลา (Tail gut) มีแยกจำหน่ายครับ เส้นหนึ่งก็อยู่ประมาณห้าหกสิบไม่เกินร้อย แต่ถ้าเกิดไม่อยากเปลี่ยนก็ยังมีเทคนิคหนึ่งที่พอช่วยให้ใช้เส้นเดิมได้ ในกรณีที่เกลียวเสีย คือใช้กาวร้อนหรือกาวช้าง หยอดลงไปบริเวณเกลียวเอ็นยึดหางปลากับปลอกทองเหลือง ทิ้งไว้ซักพักให้กาวแห้ง ให้มันยึดติดตายตัวไปเลย ต้องระวังอย่าให้กาวหกไปโดนหางปลาหรือส่วนอื่น ก็จะสามารถใช้งานเอ็นยึดหางปลาเส้นเดิมได้ตามปกติ (ถ้ามีตังค์แล้วเกิดอยากเปลี่ยนก็ต้องตัดให้ขาดแล้วค่อยเปลี่ยนเส้นใหม่)

Wichai said...

ขอบคุณน้ากาแฟมาก ๆ สำหรับความรู้ที่นำมามอบให้

เป็น comment แรกในบล็อกตัวใหม่ที่ทำให้ผมดีใจครับ...