Friday, August 12, 2011

ได้ฤกษ์เสียที


ในพจนานุกรมออนไลน์อธิบายคำว่า "ได้ฤกษ์" เป็นภาษาอังกฤษว่า "reach the auspicious time or moment" auspicious (ออสพิช'เชิส) เป็นคำคุณศัพท์ (adjective) มีความหมายว่า ได้ฤกษ์, เป็นมงคล, รุ่งเรือง วันนี้เป็นวันแม่...ผมขอถือเป็นโอกาสดีที่จะเริ่มต้นเขียนบล็อกนี้ โดยตั้งใจว่าจะให้เนื้อหาแตกต่างไปจากที่เขียนใน "ฟังลุงน้ำชาคุย" ในบล็อกนี้ผมอยากจะเน้นวิชาการทางด้านช่างและดนตรี อาจจะนำบทความจากที่อื่น ๆ มาลงไว้หากเห็นว่ามีประโยชน์ ลำพังตัวผมเองมีความรู้แค่น้อยนิด จึงขอเขียนแค่ที่ทำได้ ด้วยความหวังว่าบางทีสิ่งที่นำมาเสนออาจจะมีประโยชน์ต่อผู้อ่านได้บ้างตามสมควร...

วันนี้...ผมอยากนำเทคนิคชาวแค้มป์มาประเดิมก่อน ๑ เรื่อง คือ "วิธีทำเครื่องปิ้งขนมปังจากกระป๋องกาแฟ"


ใน"ข่าวสาร"ฉบับที่ ๖ ของสโมสรสื่อเดินทาง ประจำเดือน ก.ค.-ส.ค. (ปีอะไรไม่รู้) เขียนไว้ว่า...

คุณสามารถที่จะทำที่ปิ้งขนมปังใช้ในแค้มป์ได้ในเวลาไม่กี่นาที จากกระป๋องกาแฟขนาดบรรจุประมาณ ๑-๒ ปอนด์ และไม้แขวนเสื้อโลหะ

อันดับแรกสุด เจาะก้นกระป๋องให้เป็นรูหลาย ๆ รู เมื่อเจาะเสร็จแล้วก็เลื่อนมาเจาะรูอีก ๔ รูด้านข้างกระป๋อง ให้ใกล้กํบปากกระป๋องสักหน่อย

เมื่อเจาะกระป๋องเป็นรูตามที่บอกข้างต้นแล้ว เอาไม้แขวนเสื้อ (เลือกดูชนิดที่เป็นโลหะและต้องไม่เคลือบ) ตัดให้โตกว่ากระป๋องสักหน่อย แล้วร้อยไขว้กันไปในที่รูเจาะไว้ งอทั้งสองปลายตามแบบ แค่นี้ก็จะได้เครื่องปิ้งขนมปัง--อาหารมื้อเช้าหรือของว่างในแค้มป์ที่คุณโปรดปราน

วิธีใช้ - เอากระป๋องกาแฟที่ได้กลายสภาพเป็นเครื่องปิ้งขนมปังไปแล้ว วางไว้บนเตาหรือแคมปิ้งแก๊สที่ตระเตรียมไป หรือบนกองไฟที่คุณทำอาหารและเล่นแค้มป์ไฟ หรือจะใช้วิธีใส่ถ่านที่ติดดีแล้วลงในกระป๋องก็ได้ รับรองว่าจะได้ขนมปังปิ้งที่เหลืองสม่ำเสมอทั้งแผ่น
ผมชอบการเดินทางมาตั้งแต่เป็นวัยรุ่นแล้วล่ะ พอดีชอบการถ่ายภาพด้วย สมัยนั้นจึงบอกรับนิตยสารรายเดือนไว้หลายเล่ม อย่างเช่น ท่องเที่ยวแค้มปิ้ง, เพื่อนเดินทาง, โฟโตสแอนด์กราฟโฟ และหมอชาวบ้าน แม้แต่ข่าวสารของสโมสรสื่อเดินทางซึ่งพิมพ์โรเนียวส่งให้ทุก ๆ สองเดือน ผมก็ยอมเสียเงินสมัครสมาชิกไว้

หนังสือดังกล่าวล้วนมีบทความที่มีประโยชน์ อ่านแล้วทำให้หูตากว้าง เกิดความคิดในเชิงสร้างสรรค์ ผมคิดว่าทุกวันนี้แม้บนอินเทอร์เน็ตจะมีข้อมูลมากมาย แต่บางเรื่องก็ยังไม่มีความละเอียดเท่ากับที่เคยดีพิมพ์ในหนังสือยุคเก่า

นิตยสาร "ท่องเที่ยวแค้มปิ้ง" เล่มแรกออกวางแผงประมาณต้นปี ๒๕๒๗ จำหน่ายในราคาฉบับละ ๑๕ บาท หนา ๑๐๘ หน้า ภาพประกอบมีทั้งภาพขาวดำและภาพสี ในเล่มอัดแน่นด้วยเนื้อหาสาระของการเดินทางท่องเที่ยวแบบแบกเป้ผจญภัย...

ฉบับเดือนตุลาคมมีเรื่อง "เบิ่งชัยภูมิ" (เขียนโดยคุณ อนันต์ วิบูลย์ พร้อมแผนที่จังหวัดชัยภูมิ) - "กินข้าวเหนียวเคล้าเสียงน้ำตก" - "ร.5 ทรงสนพระทัยการถ่ายรูปเมื่อไร?" - "ศูนย์ศึกษาธรรมชาติห้วยกุ่ม" - "ภูเขียวกับเสี้ยวเวลาชีวิต" - "ผู้พิชิตสีสัน" - "เบ็ดสมัยใหม่" - "ปรอดภูเขาบนโคกนกกระบา" - "คิดถึงเดือนตุลาอย่างคนร่วมสมัย" - "วิธีเอาตัวรอดจากฟ้าผ่า" - "ปรัชญาบทหนึ่งของการเดินทาง" - "ภูเขาแห่งถ้ำวัวแดง" - "บ้านน้ำพุ น้ำตกห้วยปิทอง" - "การบิน 200 ปีด้วยบอลลูน" ฯลฯ


Photo & Grapho Magazine วารสารสร้างสรรค์ศิลปการถ่ายภาพและภาพยนต์ เล่มแรกออกวางแผงประมาณกลางปี ๒๕๒๕ ราคาจำหน่าย ๒๐ บาท หนา ๘๒ หน้า ภาพประกอบสวยงามทั้งขาวดำและสี ปกหน้าและหลังพิมพ์ด้วยกระดาษเนื้่อดี แม้เวลาจะผ่านมาเกือบ ๓ ทศวรรษก็ยังดูสวย

ผมเป็นสมาชิกจนกระทั่งเค้าปิดตัวไปในที่สุด น่าเสียดายที่หนังสือส่วนใหญ่โดนปลวกเเทะจนไม่สามารถเก็บเอาไว้ได้



วารสาร"เพื่อนเดินทาง" มาพร้อมกับประโยคที่ว่า "ถ้าคุณเหงา เราคือเพื่อนเดินทาง" รูปเล่ม ความหนา และ ราคาเท่ากับ Photo & Grapho Magazine บนขอบเล่มพิมพ์ว่า ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๗๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙ เชียงราย อยุธยา สมุทรสงคราม ลพบุรี พิษณุโลก เชคโกสโลวาเกีย

"เพลงรักคนภูเขากังวานไกลเหนือแผ่นดินดอย" - "อาข่ากับการนับถือผี" - "เพลงรักหนุ่มสาวเย้านับวันจะเลือนหายไป" - "สองเมือง..วันนั้นนกแอ่นฟ้ากรีดปีก" - "ตลาดน้ำคลองต้นเข็ม" - "เลาะริมน้ำป่าสักที่แก่งเสือเต้นและคำพราน" - "ยุทธการล่าดาวหางแฮลลี่ย์" - "ศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก" - "จากเวียนนาไปสู่ปร๊าก" - "ภาพสะท้อนแห่งกรากาตัว" - "ไปดูยะไข่รบตะเลง" - ฯลฯ

ผมเป็นสมาชิก "หมอชาวบ้าน" อยู่ได้ประมาณ ๓-๔ ปีเห็นจะได้ เคยนำมาเย็บรวมกันเป็นเล่มใหญ่ ตอนนี้ไม่รู้ว่าอยู่ไหน ยังหาไม่เจอ

ผมชอบนิตยสาร "หมอชาวบ้าน" เพราะให้ความรู้ด้านสุขภาพ ตามที่พิพม์ไว้ที่ชื่อหนังสือว่า "หันมาหาการรักษาตนเอง" ด้วยบทความทางการแพทย์ที่อ่านแล้วเข้าใจง่าย นอกจากนั้นยังมีเรื่องของสมุนไพรจากศูนย์เทคโนโยลีเพื่อสังคม มีเรื่อง "ท่องไป-ได้คิด" ของคุณหมอสุรเกียรติ อาชานุภาพ "บนเส้นทางชีวิต" บทความที่กอปรด้วยธรรมะของคุณหมอประเวศ วะสี รวมทั้งเรื่อง "กฎหมายใกล้ตัว" โดยทนายความจากสำนักงานทนายความทองใบ ทองเปาต์ ในฉบับเดือนพฤศจิกายน ๑๕๒๘ มีเรื่อง "บ้านโหล่น...บ้านที่หล่นหาย" เขียนโดยคุณมยุรี ภัคตุรงค์ ใจความว่า "การที่ชาวบ้านไม่รู้กฎหมายไม่ใช่ความผิดของชาวบ้าน แต่เป็นความผิดของผู้ที่บัญญัติกฎหมายที่บังคับให้ชาวบ้านทุกคนต้องรู้...คนที่ออกกฎหมายนั่งออกกันในห้องแอร์ ออกมาแล้วก็เที่ยวจับชาวบ้าน อ้างว่าทำผิดกฎหมาย ทั้งที่ชาวบ้านไม่เคยรู้เรื่องมาก่อน... ปีหนึ่งปลูกข้าวโพดได้รายได้ ๗๐,๐๐๐ บาท พวกเขาไม่ต้องออกไปทำกินที่ไหนเลย แต่หลังจากกรมป่าไม้เอาที่ไป พวกเขาไม่มีอะไรเหลือเลย....."

No comments: