Tuesday, January 22, 2013

เล่นเปียโนหากิน ๑



เคยเล่นดนตรีหาตังค์ใช้มานานกว่า ๓ ทศวรรษ...แต่ตอนนี้ผมเลิกแล้ว อิอิ เปลี่ยนมากดแป้นคอมพิวเตอร์แทนการเคาะคีย์เปีียโน...โดยตั้งใจว่าจะทำเว็บไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะตาย พอดีวันนี้มีคำถามจากเพื่อนสมาชิกเกี่ยวกับเรื่องของการเรียนเปียโน ผมจึงขออนุญาตนำมาตอบใน"บล็อกช่างเหอะ" เผื่อว่าจะมีประโยชน์สำหรับผู้สนใจอยากประกอบอาชีพเป็นนักเล่นเปียโนอย่างผมบ้าง...

คำถาม - จะประเมินว่าเราเรียนเปียโนแล้วมีความเข้าใจ เกิดการเรียนรู้ วัดจากอะไร?
คำตอบ - ตามความคิดของผม การที่จะวัดว่าเรามีความเข้าใจและได้เรียนรู้จากการเรียนเปียโน ก็คือ เมื่อไปหยิบโน้ตเพลงอื่น (ยากง่ายอยู่ในระดับเดียวกัน) มาลองซ้อมด้วยตนเอง แล้วสามารถทำได้เองโดยไม่ต้องพึ่งครูผู้สอน

คำถาม - เพลงที่เรียนผ่านมาแล้วทิ้งไว้ไม่นาน ก็เล่นไม่ได้แล้ว แสดงว่าเรายังไม่ได้เข้าใจเพลงเลยหรือเปล่า?
คำตอบ - ตามปกติเพลงที่ผมเล่นได้แล้วทิ้งไปนาน เมื่อนำกลับมาเล่นอีกครั้ง ก็ยังพอจะเล่นได้ แม้ไม่คล่องเหมือนเดิม แต่เมื่อได้ทบทวนอีกสักหน่อยก็จะฟื้นได้อย่างรวดเร็ว หากเป็นเพลงง่าย ๆ สมัยเริ่มเรียน ถ้าได้ย้อนกลับไปดู...อาจเห็นว่าเป็นของกล้วย ๆ ไปเลย
คำว่า "เล่นไม่ได้แล้ว" น่าจะหมายถึงเล่นได้ไม่คล่อง(เหมือนตอนที่เรียน)มากกว่า ผมคิดว่าถ้าเข้าใจและเกิดการเรียนรู้ ก็ต้องสามารถฟื้นได้โดยใช้เวลาไม่นาน  (คงไม่ใช่ completely blank)

คำถาม - สมมุติว่าเพลง ๆ หนึ่งยาวแค่ห้องเดียว ก่อนจะเล่นเราควรหาให้ได้ก่อนหรือเปล่าว่ามันเป็นคอร์ดอะไร แล้วหา block chord ที่สัมพันธ์กับรูปมือ แต่แน่นอนว่า โน้ตในห้องนั้นย่อมมีตัว passing note ที่ไม่ได้เป็นตัวโน้ตใน chord อยู่บ้างก็ได้ ที่แล้ว ๆ มาก็พยายามแต่จะจำเพลงให้ได้ หรือเป็นแค่ finger memory คือทำให้เรามีความเคยชินกับสัมผัส (เหมือนพิมพ์ดีดแบบสัมผัส) พอเปลี่ยนเพลงก็ต้องมาจำกันใหม่...
คำตอบ - ผมคิดว่าจำอย่างเดียวคงไม่ได้ แต่ต้องเข้าใจในองค์ประกอบทั้งหมด แล้วนำไปฝึกฝนให้เกิดความชำนาญ ตัวเลขที่มีให้นั้นเป็นแค่การแนะนำให้ใช้นิ้วที่เหมาะสม ต้องหัดอ่านที่ตัวโน้ต มิใช่ที่ตัวเลข มิฉะนั้นจะเป็นเพียงแค่การพิมพ์ดีดแบบสัมผัส

คำถาม - ทำไมเราไม่หัดจับ chord หรือพวก broken chord และไล่ scale ให้มากกว่าเล่นเพลง?
คำตอบ - นักเรียนเปียโนคลาสสิกต้องฝึกเล่นเสกลหนักกว่าเล่นเพลงเสียอีก แต่สำหรับเรา ๆ ท่าน ๆ การฝึกเล่นเพลงก็เป็นการฝึกหัดจับคอร์ดและเล่นเสกลไปในตัวแล้วครับ

คำถาม - เคยไปยื่นดูนักเปียโนในห้างเซ็นทรัลชิดลม คนเล่นอายุไม่มากเลย ตัวโน้ตไม่ได้เยอะ มีเพียง melody กับชื่อ chord เท่านั้นเอง แต่เสียงที่เล่นออกมานั้น accom มีเสียงประสานครบ แสดงว่าคนเล่นมีความเข้าใน chord, scale, key รู้ว่าจะเล่นอะไรเพิ่มเติมใช่ไหม?
คำตอบ - ถูกต้องครับ และถ้าจะให้ดีกว่านั้น...ควรเล่นโดยไม่ต้องอาศัยโน้ต ให้พยายามจำเพลงให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าเป็นนักร้องก็ต้องจำเนื้อเพลงให้ได้มาก ๆ

คำถาม - ผมมีความเข้าใจว่าจะเพิ่มโน้ตอะไรให้เสียงประสาน แต่ต้องเขียนออกมาก่อน จะต้องซ้อมยังไงครับ จึงจะสามารถเล่นแบบ improvise ได้ ตอนนี้เหมือนผมบวก 1+1 = 2 แต่ผมต้องหากระดาษมาทดก่อน อยากเล่นออกมาได้เลย...จะทำอย่างไร?
คำตอบ - คงต้องใช้เวลาหน่อยครับ เพราะจะต้องอาศัยประสบการณ์ซึ่งสั่งสมได้เรื่อย ๆ จากการทดลองปฏิบัติ จากการดูการฟัง และหาผู้ชี้แนะ  ต้องเรียนรู้จากการปฏิบัตินอกกรอบให้เกิดความแตกฉาน รวมทั้งฝึกเล่น "เพลงครู" ให้เชี่ยวชาญ

คำถาม - ทั้งหมดนี้เป็นแนวการเรียนรู้ที่ต่างจากแนว classic ที่ผมเรียนมาเลยใช่ไหม?
คำตอบ - ไม่ว่าจะเรียนเปียโนแนวไหน...ก็ต้องเรียนรู้ด้านพื้นฐานเหมือนกันหมด จากนั้นก็ค่อยแยกไปฝึกในแนวที่ปรารถนา ในกรณีอายุมากแล้วและอยากมีความสุขกับการเล่นเปียโน ตำราของ Alfred ใช้ได้เลยครับ แต่อย่าฝึกให้แค่เล่นเพลงได้เพียงอย่างเดียว ต้องศึกษาทฤษฎีและแบบฝึกหัดซึ่งถูกวางไว้เป็นอย่างดีจนเข้าใจและนำไปประยุกต์ใช้ได้

คำถาม -  ผมจับประเด็นได้ว่า ถ้าผมมีทางเดิน chord อย่างเ่ช่น C-Dm-G7-C แล้วผมก็ซ้อมไปตามนี้โดยเล่นเป็นตัวโน้ตแต่ละตัวไปตามแต่ละ chord ถ้าผมซ้อมบ่อย ๆ ก็จะ improvise ได้ เป็นการเดินถูกทางหรือไม่?
คำตอบ - ถูกต้องครับ เค้าถึงได้มีตำราอย่างของ Jamey Aebersold มากมาย สำหรับผู้ที่อยากจะฝึกแจ๊สเปียโน


ขอบคุณที่ให้เกียรติสอบถามครับผม

1 comment:

มานะ said...

- สำหรับผม ผมเล่น ไวโอลิน แบบคนตาบอด คือไม่มี โน๊ต ทั้งนี้เนื่องจาก ผมชอบเพลง ลูกทุ่ง ไปหาซื้อ โน๊ตเพลง ไม่มีขายสักร้าน นึกโมโห ก็เลยต้องหาทางออก ก็รู้มาว่า เพลงเหล่านี้ก็จะเล่น โดยใช้ Diatonic scale ผมก็ทำตารางกำหนดตำแหน่งนิ้ว บนสะพานนิ้วของ ไวโอลิน ของแต่ละ scale ในแบบ Diatonic scale แล้ว พิมพ์ ออกมาที่ละ scale เช่น C , Cm , D , Dm ก่อนจะเล่น ผมจะต้องรู้ว่า เพลงที่จะเล่นนั้นเป็น key major หรือ key minor หากไม่รู้ ก็ต้องลอง ไล่ดู เช่น ผมจะเล่นเพลง ซากรักของจันทรา ที่ key C ผมยังไม่รู้ว่า เป็น key major หรือ key minor ผมก็ลองไล่ แบบ C major หากลองไล่แล้ว เสียง ไม่ตรง ก็ ลองไล่ แบบ C minor ก็จะรู้ว่า เพลงนี้เป็น key minor ผมโชคดีที่ เล่น Harmonica มาก่อน ก็จะรู้ว่า เพลง เป็น key major หรือ key minor เมื่อจะเล่น ผมก็ กางแผ่น ตารางนิ้ว key Cm เพื่อดู แบบการวางนิ้วจากนั้นก็ค่อยๆ ไล่ไปสักพักก็พอใจเล่นเป็นเพลงได้ ผมไม่ได้จำหรอกว่า key Cm มี โน๊ต ตัวไหนบ้าง แต่ผมเล่นจากความรู้สึก เดี๋ยวผมสามารถเล่นเพลงได้ทุกเพลงที่ผมร้องได้ โดยแต่ละเพลง ใช้เวลาไม่มากนักในการไล่จนเป็นเพลง ก็การเล่น ไวโอลิน ของผม จุดประสงค์ เพื่อความสนุกสนาน ผ่อนคลาย มิได้มีเจตนา ที่จะเป้นนักดนตรี ผมว่าเอาแค่นี้ก็พอ ผมว่าเป็นการเล่นดนตรีที่เหมาะกับผู้สูงอายุ การเล่นแบบของผม จะต้องอาศัย การฟัง(hearing) มาก จากการเล่นบ่อยๆ hearing ดีขึ้น ก็กำลังฝึก การ improvise เพลงแบบง่ายๆ เราฟังเพลง ก็จะเกิดความรู้สึกว่า ตรงนี้ น่าจะมีเสียงดนตรีแบบนี้เพิ่มขึ้นมาื แล้วเราก็ลอง เล่นให้ได้เสียงนั้น ซึ่งเราก็รู้ว่า โน๊ต ที่จะต้องใช้ ก็อยู่ใน scale ของเพลงนั้นๆ สนุกดีครับ
- เป็นการเล่าสู่กันฟัง สำหรับ ผู้สูงอายุ ที่จะหัดเล่นดนตรี เพื่อความเพลิดเพลิน