Sunday, July 26, 2020

ไม่โดนโกง

เพื่อน ๆ ที่รักครับ... สั่งซื้อนมผงมาจากร้านค้าออนไลน์ เคยบ้างมั้ยว่าเปิดฝาดูเห็นว่ามีปริมาณไม่เต็มกระป๋องแล้วเกิดความสงสัยว่ามันจะได้น้ำหนักตรงตามที่ระบุไว้หรือเปล่า?



เพื่อคลายความสงกะสัย (ease suspicion) วันนี้ผมขอทดสอบให้ดูเลย  เริ่มจากการชั่งกระป๋องเปล่าได้ ๑๕๘ กรัม...

จากนั้นก็ชั่งกระป๋องที่เปิดใหม่ ได้ ๑,๐๐๘ กรัม หาปริมาณสุทธิได้ ๑,๐๐๘ - ๑๕๘ = ๘๕๐ กรัม...


ตรงตามที่ระบุไว้ ไม่โดนโกงครับ!

Saturday, July 25, 2020

one-shot

ที่บ้านมีนิตยสาร PhotoGraphic ฉบับเดือนสิงหาคม ๒๕๑๙ อยู่ วันนี้ผมหยิบขึ้นมาเปิดย้อนดูเรื่องของการถ่ายภาพในอดีตเมื่อ ๔๔ ปีที่แล้ว ปกหลังหนังสือ ๑๐๖ หน้ามีรูปถ่ายขาวดำ ๓ บานตีพิมพ์อยู่ใน The Kodak Gallery


น่าสนใจมากกับภาพขาวดำ ถ่ายด้วยกล้องฟิล์ม ซึ่งไม่เปิดโอกาสให้กดชัตเตอร์บันทึกภาพต่อเนื่องได้หลาย ๆ ครั้ง หรือไม่สามารถจัดฉากและโพสต์ท่าได้โดยไม่มีขีดจำกัด เหมือนใช้กล้องดิจิตอลในปัจจุบัน ผมสแกนมาให้เพื่อน ๆ ผู้รักการถ่ายภาพได้ดูแล้วดังนี้...

1. "Ace in the Hole." โดย Robert F. Johnson



2. "Shadows." โดย Howard E. Martin



3. "Debutante." โดย William F. Rogers


dictionary.com อธิบายว่า
one-shot
noun   Also one shot.
a magazine, brochure, or the like that is published only one time, with no subsequent issues intended, usually containing articles and photographs devoted to one topical subject.
a single appearance by a performer, as in a play, motion picture, or television program.
a close-up camera shot of one person.
something occurring, done, used, etc., only once.
adjective
occurring, done, etc., only once.
achieved or accomplished with a single try


เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๖ เวลาประมาณ ๗ โมงครึ่ง ผมไปนั่งรออยู่หน้าประตูด้านข้างของสถานทูตพม่า ถนนสาธรเหนือ กทม. เพื่อขอทำวีซ่า...


มองไปฝั่งตรงข้าม ผมยกกล้องขึ้นกด one-shot เก็บภาพที่เห็น...



ทุกย่างก้าวของการเดินทาง อย่าปล่อยให้มันผ่านไปเฉย ๆ โดยไม่ทำอะไรนะครับ!

Friday, July 10, 2020

PIN 2 - วัดป่าอีสานใต้

อุบลราชธานี เมืองคนดีศรีอุบล เป็นอีกจังหวัดหนึ่งซึ่งมอบความประทับใจให้แก่ผม จนอยากจะบอกเพื่อน ๆ ว่ามีโอกาสก็จะต้องไปอีก...


ครั้งล่าสุดที่ได้ไปเยือน ผมได้รับเอกสารแผ่นพับเกี่ยวกับการท่องเที่ยวมาฉบับนึง เป็นข้อมูลเกี่ยวกับ "วัดป่าอีสานใต้ แหล่งธรรม และ ธรรมชาติ"





วัดหนองป่าพง ตั้งอยู่ที่บ้านพงสว่าง ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ห่างจากตัวจังหวัดอุบลราชธานีไปตามทางหลวงหมายเลข 2178 (อุบล-กันทรลักษ์) ประมาณ ๘ กม. เป็นวัดที่ก่อตั้งโดยหลวงปู่ชา สุภัทโท และเป็นต้นแบบวัดป่าสายหลวงปู่ชา อีกกว่า ๑๐๐ แห่ง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภายในวัดมีพิพิธภัณฑ์ ซึ่งจัดแสดงเครื่องอัฐบริขาร และหุ่นขึ้ผึ้งหลวงปู่ชา และยังมีเจดีย์ศรีโพธิญาณซึ่งเป็นสถานที่พระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่ชา

วัดป่านานาชาติ ตั้งอยู่ที่บ้านบุ่งหวาย ต.บุ่งหวาย อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ห่างจากตัวจังหวัดอุบลราชธานีไปตามทางหลวงหมายเลข 226 (อุบล-ศรีสะเกษ) ประมาณ ๑๔ กม. เป็นสาขาที่ ๑๙ ของวัดหนองป่าพง ในวัดมีพระภิกษุชาวต่างประเทศมาศึกษาพระธรรมวินัยและปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฎฐานเป็นจำนวนมาก ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการสนทนาธรรมคือระหว่าง ๐๗.๓๐ - ๐๙.๐๐ น.

วัดป่าไทรงาม ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลเมืองเดช อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๔๗ กม. ทางเข้าวัดอยู่เยื้องทางเข้าสถานีขนส่งอำเภอเดชอุดม เป็นวัดสาขาที่ ๑๐ ของวัดหนองป่าพง และเป็นวัดที่ได้รับการยกย่องในด้านการอนุรักษ์ป่าและสิ่งแวดล้อม

วัดป่าโพธิญาณ ตั้งอยู่ริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธร ต.ช่องเม็ก อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี ห่างจากตัวจังหวัดอุบลราชธานีไปตามทางหลวงหมายเลข 217 (อุบล-ด่านช่องเม็ก) ประมาณ ๙๐ กม.  โดยก่อนถึงด่านช่องเม็กประมาณ ๒ กม. ด้านขวามือมีถนนเข้าสู่วัดระยะทาง ๓ กม. เป็นวัดป่าสาขาที่ ๘ ของวัดหนองป่าพง


วัดดอนธาตุ ตั้งอยู่บนเกาะกลางลำน้ำมูลที่บ้านทรายมูล ต.ทรายมูล จ.อุบลราชธานี ห่างจากตัวอำเภอไปตามทางหลวงหมายเลข 2222 (พิบูลฯ-โขงเจียม) ประมาณ ๖ กม. เป็นวัดที่หลวงปู่เสาร์เคยจำพรรษา ปัจจุบันยังมีเวชนียสถานและอัฐบริขารของท่านหลงเหลืออยู่ เช่น กุฏิ แท่นหินนั่งสมาธิ

วัดภูหล่น ตั้งอยู่ที่ ต.สงยาง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.อุบลราชธานี ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๗๘ กม. ตามทางหลวงหมายเลข 2135 เป็นสถานที่ที่หลวงปู่มั่นเริ่มฝึกปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานกับหลวงปู่เสาร์ผู้เป็นอาจารย์

วัดถ้ำแสงเพชร ตั้งอยู่เขต อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ ตามทางหลวงหมายเลข 202 (อำนาจเจริญ-เขมราฐ) ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๑๘ กม. เป็นวัดป่าสาขาที่ ๘ ของวัดหนองป่าพงซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาสูง



ขอปักหมุดไว้อีกหมุดนึงนะครับ...

Thursday, July 09, 2020

PIN 1 - สีคิริยะ ศรีลังกา

ขออนุญาตปักหมุดบนแผนที่โลกหน่อยนะครับ


หมุดแรก (pin 1) อยากปักไว้ที่ สีคิริยะ (Sigiriya or Sinhagiri) (2) พิพิธภัณฑ์มรดกทางวัฒนธรรมในศรีลังกา ซึ่งสารานุกรมเสรีวิกิพีเดียอธิบายว่า...
สีคิริยะ หรือ หินราชสีห์ เป็นเมืองในอำเภอมาตเล จังหวัดกลาง ตอนกลางของประเทศศรีลังกา ประกอบด้วยหินปลักภูเขาไฟความสูงประมาณ ๓๗๐ เมตร ป้อมปราการและปราสาทโบราณ รายล้อมด้วยสวนหย่อมและระบบชลประทาน ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของศรีลังกา โดยเฉพาะจิตรกรรมฝาผนังโบราณ ได้รับการพิจารณาเป็นมรดกโลกหนึ่งในแปดแห่งของประเทศ


ภาพจากวิกิพีเดีย - ขอขอบคุณ

ช่วงที่ยังไม่ได้ไป ตาแก่เมืองรถม้าก็อาศัย google street views เข้าไปเยี่ยมชมก่อนละกัน....

ภาพจาก google street views - thanks!

ถ้าได้ไปศรีลังกา ผมอาจมีโอกาสได้ไปเห็นสะพานพระราม (1) ด้วย   เว็บสำรวจโลก กล่าวว่า
สะพานพระราม หรือ สะพานของอดัม (Adam’s Bridge) เป็นสะพานหินเรียงพาดผ่านช่องแคบ Palk Strait เชื่อมระหว่างเกาะแพมแบน (Pamban) ที่ตั้งเมืองราเมศวารัม (Rameswaram) และเกาะมันนาร์ (Mannar) ของประเทศศรีลังกา
สะพานนี้มีความยาว ๕๐ กิโลเมตร ลึกลงไป ๑-๑๐ เมตร มีรายงานว่า ในอดีตสามารถเดินเท้าข้ามไปมาระหว่างสองประเทศได้ จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๐๒๓ ได้มีพายุไซโคลนพัดสะพานจมหายลงใต้ทะเล ความโค้งของสะพานนี้ ทำให้นักวิชาการเชื่อว่ามันเป็นฝีมือมนุษย์ จากการศึกษาพบว่าพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นถิ่นฐานของมนุษย์ซึ่งมีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ โดยนักโบราณคดีเชื่อว่า สะพานแห่งนี้เกิดขึ้นเมื่อราว ๑.๗๕ ล้านปี ซึ่งอาจเป็นหลักฐานได้ว่ามนุษย์มีการถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ตอนนั้น หลังจากการศึกษาอย่างต่อเนื่องนักโบราณคดีและนักวิทยาศาสตร์คำนวนอายุสะพานแห่งนี้ได้ราว ๑๒๕,๐๐๐ ปี
ภาพจาก pantip.com - ขอขอบคุณ

เดี๋ยวจะปักหมุดไว้อีกเรื่อย ๆ ครับ!

Thursday, July 02, 2020

ดูดอากาศ

ภัยพิบัติครั้งใหญ่เข้าใกล้มาแล้ว!   เพื่อน ๆ เตรียมรับมือกันไว้ให้ดีนะครับ ถ้ามันจะมา...มันจะรวดเร็วมาก ชนิดว่าผู้คนส่วนใหญ่ไม่ทันได้ตั้งตัวเชียวล่ะ!  ช่วงนี้ช่างเหอะยังคงเขียนเรื่องการติดแอร์ด้วยตนเอง ซึ่งคาดว่าจะจบในวันสองวันนี้...

ภาพ capture มาจากคลิปวิดีโอภัยพิบัติ
ภาพ capture จากคลิปวิดีโอภัยพิบัติ

จากภาพที่เห็น ผมคิดว่าเป็นการถูกต้องแล้วที่ผู้ติดตั้งแขวน condensing unit ไว้สูง (แทนที่จะตั้งไว้บนพื้น) ไม่งั้นแล้วก็คงจะจมอยู่ใต้น้ำ  ทีนี้มาดูเจ้า Central Air 9,100 BTU ที่ผมกำลังติดตั้งอยู่กันดีกว่า


หลังจากเดินท่อน้ำยาเสร็จ... ผมก็ต่อสายไฟกับ condensing unit ให้เรียบร้อย



จากนั้นก็ถึงเวลาดูดอากาศ (vacuum) หรือที่ช่างแอร์เรียกสั้น ๆ  ว่า "แว็ค" จุดประสงค์ของการแว็คคือ ดูดอากาศออกจากคอยล์เย็นก่อนที่จะปล่อยน้ำยาเข้าไป เครื่องมือที่ช่างแอร์อาชีพทั่วไปใช้ คือเครื่องแว็คราคาเป็นพัน...

ภาพเครื่องแว็ค - นำมาจากอินเทอร์เน็ต

จริง ๆ แล้วการดูดอากาศ ถ้าไม่ใช้เครื่องแว็คก็สามารถทำได้ด้วยการเปิดน้ำยาออกมาไล่อากาศในแฟนคอยล์ ช่างบางคนขี้เกียจใช้เครื่องดูดอากาศก็ใช้วิธีนี้ จะมีเสียงดังฟู่ ๆ ประมาณ ๓-๔ วินาที คนที่จ้างช่างมาติดแอร์ให้พึงสังเกตด้วยนะครับ  พูดแล้วอิเหนาก็เป็นเอง คือตอนที่ผมจ้างช่างมาติดแอร์ Sharp 12,000 BTU ๒ ตัวก่อนหน้านี้ ผมก็ไม่ได้ดู ปล่อยให้เค้าทำกันเอง เสร็จแล้วก็จ่ายตังค์ ก็เลยไม่รู้ว่าเค้าไล่อากาศเสียงดังฟู่ ๆ หรือว่าใช้เครื่องดูดอากาศ (ไม่เห็นเค้ายกมา - อาจผ่านตาไปก็ได้)  แต่ที่ทิ้งไว้ให้เรียนรู้ก็คือการเดินท่อแบบประหยัดค่าใช้จ่ายและใช้เวลาไม่มาก ติดแอร์ชั่วโมงเดียวก็เสร็จแล้ว! รวดเร็วแต่ไม่สวย


ช่างเหอะใช้เวลาเป็นอาทิตย์ ๆ ค่อย ๆ ศึกษาและทำไปอย่างผู้ไม่มีประสบการณ์....



ทีนี้มาถึงขั้นตอนการทำสูญญากาศ (vacuum) หรือไล่อากาศออกจากแฟนคอยล์ ผมไม่ใช้วิธีฟู่ ๆ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีเครื่องแว็คราคาแพง... ผมใช้เครื่องปั้มลมที่มีอยู่ เคยหาวิธีทำให้มันใช้เป็นเครื่องดูดอากาศได้ตั้งแต่ตอนซ่อมตู้เย็นคราวก่อน



เกย์วัดแบบถูกก็มีแล้ว เอามาใช้ได้ครับ...


แต่มีปัญหาตรงที่หัวของมันต่อเข้ากับ condensing unit ไม่ได้ ผมต้องสั่งซื้อตัวต่อจากร้านค้าออนไลน์มาอีกตัวนึง...


รอสินค้าอีก ๒-๓ วันกว่าจะได้มา พอได้มาแล้วก็ลงมือแว็คทันที...

ผู้ไม่ยอมแพ้

Ernest Hemingway เขียนไว้ใน The Old Man and the Sea ว่า...
“But man is not made for defeat,"  he said.  "A man can be destroyed but not defeated.”
ภาพจาก pixabay.com - thanks!
วันก่อนผมเขียนไว้ใน "ยอมแพ้" ในเรื่องการบานท่อ (flare) เพราะเครื่องมือ (flaring tool) ไม่สามารถจับท่อทองแดงซึ่งมีขนาดบางได้


แท้ที่จริงแล้วการยอมแพ้เป็นแค่การพักรบชั่วคราว เพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาต่อไปเท่านั้น ผมได้ขอให้ร้านลำแต้ช่วยติดต่อช่างแอร์ที่รู้จัก โทรไปอธิบายถึงปัญหาที่ผมอยากให้มาช่วยบานแฟร์และดูดอากาศให้ เพื่อจะได้เสร็จเรื่องเสร็จราวซะที!  เพื่อนบ้านผู้แสนดีโทรไปแล้ว ช่างเข้าใจปัญหา บอกว่าคิดค่าบริการ ๖๐๐ บาท ต่อกันไปมาแล้วลดเหลือ ๕๐๐ บาท! 

ผมเข้าใจดีครับ คนทำมาหากิน ช่างอาชีพก็ต้องมีค่าวิชา จะให้คิดถูก ๆ ได้อย่างไร?  (ผมหันมามองตัวเอง ไปตั้งสายเปียโนให้เขาคิด ๖๐๐ บาท ๓๐ ปีผ่านมาก็ยังเหมือนเดิม สอนดนตรีก็เหมือนกันบางครั้งก็สอนฟรี แถมขนมให้เด็กกินด้วยอีก หุหุ)  แต่เงิน ๕๐๐ บาทมันไม่น้อยเลยสำหรับผม ขอต่อรองเหลือ ๓๐๐ บาท เขาก็บอกว่าไม่ได้!

ปัญหายากกว่านี้ผมยังแก้ไขผ่านมาได้ กับเจ้ายักษ์ซึ่งผมเคยได้แต่ขี่ ในที่สุดก็ยังศึกษาและสามารถเปลี่ยนซี่ลวดล้อ ดัดล้อ เปลี่ยนดุมและชุดเกียร์  ฯลฯ ได้โดยไม่ต้องพามันไปหาช่างจักรยาน!

หลังจากลองแก้ไขปัญหาจับท่อไม่อยู่ด้วยการพันเทปหลายรูปแบบก็ไม่สำเร็จ วิญญาณอิคคิวซังก็เข้าสิงช่างเหอะในที่สุด คิดขึ้นมาได้ว่าเรามีเครื่องเชื่อมทองแดงที่ใช้แก๊สกระป๋องอยู่นี่นา... 
 

ผมก็เลยเอามาเชื่อมพอกในจุดที่จับท่อทองแดง เพิ่มความโตขึ้นอีกนิด แล้วก็ทำการบานปลายท่อ (flaring) ตามวิธีเดิม เพิ่มเทคนิคอีกนิดด้วยการใช้เหล็กตอกขยายรูนิดนึงก่อนแฟร์ด้วยเครื่องมือ...


ในที่สุดก็เรียบร้อยครับ ผมทำการบานท่อทองแดงหรือที่ช่างแอร์เรียกกันว่า "บานแฟร์" สำเร็จทั้งท่อเล็กขนาด 1/2" และ 3/8"


ทำความสะอาดปลายท่อ ดัดท่อ นำเข้าต่อด้วยกันกับ condensing unit โดยใช้ปะแจปากตาขันให้แน่น (จุดนี้ต้องระวังให้มาก ตรวจสอบให้ตรง ไม่รั่ว และขันด้วยความตึงที่พอดี ไม่มากเกินจนเสียหาย) เรียบร้อยแล้วครับ...


ด้วยความเชื่อมั่นว่าคงไม่รั่ว ผมยิ้มออก!  เชื่อแล้วว่า "ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น"

Wednesday, July 01, 2020

ยอมแพ้

คิดผิดคิดใหม่ได้! แต่เรื่องการตัดท่อน้ำยาให้สั้นลงเพื่อเน้นความสวยงาม พอตัดขาดลงไปแล้ว ผมไม่อาจคิดใหม่ได้!


ช่างเหอะผู้อยากลองติดแอร์ด้วยตนเองจำเป็นต้องลุยต่อ ด้วยการสั่งซื้อชุดบานท่อทองแดงมาใช้...


๓ ร้อยกว่าบาท ผมตัดใจซื้อ ด้วยคิดว่าเอาไว้ใช้ศึกษาและฝึกทำงานแอร์-ตู้เย็น ถ้ามีโอกาสได้ใช้ติดตั้งแอร์อีกตัวสองตัวก็น่าจะคุ้ม...


เครื่องมือบานท่อมีตั้งแต่ราคาถูกสุด (ที่ผมซื้อ) ไปจนถึง ๒-๓ พันบาท ของถูกลองใช้ดูแล้วก็คิดว่าพอใช้ได้ไม่ว่าเป็นมีดตัดท่อ (สีแดง) หรือเจ้าตัวลบคม (ด้ามสีฟ้า) แต่พอผมจะเอามาบานท่อเท่านั้น เป็นเรื่องขึ้นมาทันที ปัญหาคือท่อทองแดงสำเร็จที่ทางโรงงานให้มากับเครื่องมันเป็นอย่างบาง ผมจับอย่างที่เห็นในภาพแล้วนำที่บานท่อมาลงมือหมุนเพื่อบานปลายท่อ...ด้วยความที่ท่อมันเล็กไปหน่อย ตัวจับจึงจับไม่อยู่ (แม้จะขันจนแน่นแล้ว) แทนที่ปลายท่อจะบานออก (flare) มันกลับเลื่อนลงไปเรื่อย ๆ พูดง่าย ๆ คือมันไม่ยอมบานนั่นเอง!  ผมลองแล้วลองอีก...เพียรพยายามอยู่หลายครั้ง นำไปปรึกษาช่างที่โรงกลึงข้างบ้าน เค้าลองเอาเทปพันสายไปพันท่อทองแดงให้โตขึ้นอีกนิด ผมนำกลับมาลองที่บ้าน มันก็ไม่สำเร็จอีก ใช้เทปอย่างอื่นก็เอาไม่อยู่ ยิ่งทำยิ่งเละ ยิ่งอากาศร้อน เหงื่อท่วมตัวเหมือนอาบน้ำ แสงอาทิตย์ส่งรังสีมาทำให้ปวดหัว


หนักเข้า...หนักเข้า จุดที่ต้องหยุดงานก็มาถึง ผมขันล็อคท่อจนหน้าสัมผัสแท่งเหล็กชิดสนิทก็ยังไม่เบามือ เพิ่มแรงอีกนิด ๆ เกิดเสียงดังแป๊ก!  เจ้าหู (เหล็กหล่อ) เครื่องมือบานท่อ (flaring tool) ก็หักออก หล่นลงไปกระทบหลังคาเหล็ก แล้วร่วงลงไปยังพงหญ้าเบื้องล่าง   "เวรกรรม!" ผมคิดในใจ รีบโทรฯ ไปปรึกษาร้านลำแต้เพื่อนบ้าน ขอช่วยติดต่อช่างแอร์ซึ่งอยู่ไม่ไกลมาบานแฟร์แล้วทำแว็คคั่ม (ดูดอากาศออกจากคอยล์เย็น) ให้หน่อย ในใจคิดว่าน่าจะไม่แพง หากไม่เกิน ๓๐๐ บาท ก็จะยอมจ่าย เพราะทำต่อไม่ไหวแร้ว!
   
ภาพจาก stickerzth.com - ขอขอบคุณ

ไม่น่าตัดท่อเลยเรา!