Thursday, July 02, 2020

ดูดอากาศ

ภัยพิบัติครั้งใหญ่เข้าใกล้มาแล้ว!   เพื่อน ๆ เตรียมรับมือกันไว้ให้ดีนะครับ ถ้ามันจะมา...มันจะรวดเร็วมาก ชนิดว่าผู้คนส่วนใหญ่ไม่ทันได้ตั้งตัวเชียวล่ะ!  ช่วงนี้ช่างเหอะยังคงเขียนเรื่องการติดแอร์ด้วยตนเอง ซึ่งคาดว่าจะจบในวันสองวันนี้...

ภาพ capture มาจากคลิปวิดีโอภัยพิบัติ
ภาพ capture จากคลิปวิดีโอภัยพิบัติ

จากภาพที่เห็น ผมคิดว่าเป็นการถูกต้องแล้วที่ผู้ติดตั้งแขวน condensing unit ไว้สูง (แทนที่จะตั้งไว้บนพื้น) ไม่งั้นแล้วก็คงจะจมอยู่ใต้น้ำ  ทีนี้มาดูเจ้า Central Air 9,100 BTU ที่ผมกำลังติดตั้งอยู่กันดีกว่า


หลังจากเดินท่อน้ำยาเสร็จ... ผมก็ต่อสายไฟกับ condensing unit ให้เรียบร้อย



จากนั้นก็ถึงเวลาดูดอากาศ (vacuum) หรือที่ช่างแอร์เรียกสั้น ๆ  ว่า "แว็ค" จุดประสงค์ของการแว็คคือ ดูดอากาศออกจากคอยล์เย็นก่อนที่จะปล่อยน้ำยาเข้าไป เครื่องมือที่ช่างแอร์อาชีพทั่วไปใช้ คือเครื่องแว็คราคาเป็นพัน...

ภาพเครื่องแว็ค - นำมาจากอินเทอร์เน็ต

จริง ๆ แล้วการดูดอากาศ ถ้าไม่ใช้เครื่องแว็คก็สามารถทำได้ด้วยการเปิดน้ำยาออกมาไล่อากาศในแฟนคอยล์ ช่างบางคนขี้เกียจใช้เครื่องดูดอากาศก็ใช้วิธีนี้ จะมีเสียงดังฟู่ ๆ ประมาณ ๓-๔ วินาที คนที่จ้างช่างมาติดแอร์ให้พึงสังเกตด้วยนะครับ  พูดแล้วอิเหนาก็เป็นเอง คือตอนที่ผมจ้างช่างมาติดแอร์ Sharp 12,000 BTU ๒ ตัวก่อนหน้านี้ ผมก็ไม่ได้ดู ปล่อยให้เค้าทำกันเอง เสร็จแล้วก็จ่ายตังค์ ก็เลยไม่รู้ว่าเค้าไล่อากาศเสียงดังฟู่ ๆ หรือว่าใช้เครื่องดูดอากาศ (ไม่เห็นเค้ายกมา - อาจผ่านตาไปก็ได้)  แต่ที่ทิ้งไว้ให้เรียนรู้ก็คือการเดินท่อแบบประหยัดค่าใช้จ่ายและใช้เวลาไม่มาก ติดแอร์ชั่วโมงเดียวก็เสร็จแล้ว! รวดเร็วแต่ไม่สวย


ช่างเหอะใช้เวลาเป็นอาทิตย์ ๆ ค่อย ๆ ศึกษาและทำไปอย่างผู้ไม่มีประสบการณ์....



ทีนี้มาถึงขั้นตอนการทำสูญญากาศ (vacuum) หรือไล่อากาศออกจากแฟนคอยล์ ผมไม่ใช้วิธีฟู่ ๆ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีเครื่องแว็คราคาแพง... ผมใช้เครื่องปั้มลมที่มีอยู่ เคยหาวิธีทำให้มันใช้เป็นเครื่องดูดอากาศได้ตั้งแต่ตอนซ่อมตู้เย็นคราวก่อน



เกย์วัดแบบถูกก็มีแล้ว เอามาใช้ได้ครับ...


แต่มีปัญหาตรงที่หัวของมันต่อเข้ากับ condensing unit ไม่ได้ ผมต้องสั่งซื้อตัวต่อจากร้านค้าออนไลน์มาอีกตัวนึง...


รอสินค้าอีก ๒-๓ วันกว่าจะได้มา พอได้มาแล้วก็ลงมือแว็คทันที...

No comments: