ตาแก่บ้านห้างฉัตรมีโรงพยาบาลห้างฉัตรเป็นที่พึ่งพามาได้สิบปีแล้ว! เช่นเดียวกับพี่ชายของผมซึ่งเพิ่งตัดช่องน้อยแต่พอตัวจากไปเมื่อไม่นานมานี้...
เมื่อย้ายจากบ้านปงแสนทองมาอยู่ห้างฉัตร ผมก็ต้องมารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลแห่งนี้ ได้เห็นการเจริญก้าวหน้าของสถานพยาบาลมาตั้งแต่เมื่อพยาบาลยังใช้เครื่องวัดความดันแบบปรอทควบคู่กับหูฟัง (stethoscope) จนถึงปัจจุบันนี้ซึ่งมีแต่เครื่องวัดความดันฯ เครื่องวัดน้ำหนักและความสูง ฯลฯ แบบดิจิตอลของจีนให้คนไข้ได้วัดด้วยตนเอง นายแพทย์รุ่นเก่าต่างก็ปลดเกษียณไปหมด ทดแทนด้วยแพทย์หนุ่ม-สาวที่พูดจาไพเราะน่าฟัง บนผนังมีจอภาพ LED ขนาดใหญ่ติดตั้งเปิดให้ความรู้เรื่องสุขภาพแก่ผู้ที่ไปใช้บริการ (เค้าห้ามมิให้ถ่ายภาพก็เลยไม่มีรูปมาให้เพื่อน ๆ ดู)
ช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา เวลาไปโรงพยาบาล บางครั้งผมก็ได้รับแผ่นพับซึ่งทางโรงพยาบาลพิมพ์แจก ไม่ว่าจะเป็นเอกสารพิมพ์สีหรือโรเนียว ก็จะนำมาศึกษาและพยาบามปฏิบัติตาม รู้สึกชื่นชมบุคลากรสาธารณะสุฃที่ทุ่มเทให้ความรู้แก่ประชาชน ในขณะเดียวกันถ้ามีโอกาสผมก็จะสแกนแล้วนำขึ้นโพสต์ไว้บนบล็อกเพื่อแบ่งปัน...
วันนี้ค้นเจอแผ่นพับพิมพ์ประหยัด ๆ แบบโรเนียว (คิดว่าคงเก็บไว้นานแล้ว) เรื่อง "ปวดหลัง" จากแผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลห้างฉัตร (คิดว่าผู้ที่ทำก็คงจะลืมแล้วดัวยซ้ำว่าเคยทำแจกประชาชนด้วยความปรารถนาดี) เนื่องจากเครื่องสแกนเสียไปแล้ว ก็เลยต้องใช้วิธีถ่ายรูปมาโพสต์เก็บไว้ดังนี้...
อ่านยากหน่อย ก็เลยพิมพ์ให้เพื่อน ๆ ซะเลย...
สาเหตุของอาการปวดหลัง
- การเลื่อมสภาพของกระดูกสันหลัง เนื่องจากการใช้งานมานานตามอายุที่มากขึ้น
- การได้รับอุบัติเหตุ เช่น ตกจากที่สูง
- การอยู่ในท่าทางที่ไม่ถูกต้อง เช่นการก้มลงยกของหนัก การทำงานอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนาน ๆ ไม่เปลี่ยนท่า
- การอักเสบของข้อ เช่น โรคข้อกระดูกสันหลังยึดติด
- หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาทไขสันหลัง ทำให้ปวดและชาร้าวลงมา มีหลังแข็ง ตัวเอียง
- กลุ่มอาการเจ็บปวดเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ
- สาเหตุอื่น ๆ เช่น น้ำหนักตัวมาก ความเครียด ที่นอนนุ่มเกินไป
อาการที่พบ
- ปวดหลังบริเวณเอว สะโพก
- หลังแข็ง ก้มเงยไม่ได้ จากการเกร็งของกล้ามเนื้อหลัง
- นั่ง ยืนนาน ๆ แล้วปวดหลัง
- ปวดเวลานอนที่นอนนิ่มมาก ๆ หรือตอนตื่นเช้า
- เมื่อก้มหลังแล้วจะลุกขึ้นเงยหลังไม่ได้ทันที
การรักษา
- ทางยา
- ทางกายภาพบำบัด
- การผ่าตัด
ทางกายภาพบำบัด
- การประคบด้วยความเย็น หรือความร้อน ประมาณ 15-20 นาที
- การใช้คลื่นไฟฟ้าที่ให้ความร้อนลึก
- การดึงหลัง เพื่อลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ และลดการกดทับของเส้นประสาท
- การนวด การดัดดึงที่ถูกวิธี
- การใส่เครื่องช่วยพยุงเอว
- การออกกำลังกาย และการบริหาร
การบริหารกล้ามเนื้อ1. นอนหงายชันเข่าขึ้น เกร็งหน้าท้อง และกดหลังลงกับพื้น
2. นอนหงายชันเข่า แขนวางข้างลำตัว เกร็งหน้าท้อง ยกศีรษะและหัวไหล่ขึ้นจากพื้น
3. นอนหงายชันเข่า ดึงเข่าข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างเข้าหาลำตัว จนรู้สึกตึงบริเวณกล้ามเนื้อหลังและกล้ามสะโพก
4. นอนหงายชันเข่าขวาโดยวางเท้าไว้ข้างขาซ้ายที่เหยียดตรง ใช้มือซ้ายกดเข่าขวาในแนวขวางกับลำตัว
5. นอนคว่ำยกศีรษะและลำตัวขึ้น โดยใช้แขนยันกับพื้นจนข้อศอกเหยียดตรง
6. คุกเข่าบนพื้น ก้มศีรษะลง และโก่งหลังขึ้น สลับกับเงยศีรษะและแอ่นหลังลง
กระผมไม่ปวดหลังครับ ผมมีภาวะความดันโลหิตสูง (Hypertension) ต้องไปรับยาเป็นประจำ แต่ผ่านมาแล้วเกือบครึ่งปีที่ผมไม่ได้ไปหาหมอตามนัด หลังจากพี่ชายผมเสียชีวิตก็ยังไม่ได้ไปรับการตรวจรักษาให้ตัวเองเลย! พอดีได้กินยาลดความความดันที่เหลืออยู่ และปรับเปลี่ยนเรื่องอาหารการกินมากินเพียง 2 มื้อ (หลังเพลไม่กินอีก) จนน้ำหนักตัวลดจาก 81 กิโลกรัมเหลือ 73 กิโลกรัม ทำให้ค่าดัชนีมวลกาย (BMI - Body Mass Index) = 23 อยู่ในเกณฑ์ปกติ
ผมวัดความดันฯ อย่างสม่ำเสมอ โดยใช้เครื่องวัดความดัน Citizen ที่ครูแต้มและน้องมินซื้อให้ ตั้งเอาไว้ที่โต๊ะทำงานเลยล่ะ...
วัดความดันและชีพจรแล้วจดไว้ เพื่อนำไปให้แพทย์ดูอีกที...
ความดันปกติครับ...
ตั้งใจว่าวันพฤหัสหน้า ผมจะกลับไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์และรับยาตามปกติ...
No comments:
Post a Comment