Wednesday, August 31, 2011

Tuning Posture

ภาพ Piano Tuner  ที่มา : http://washington.inetgiant.com/


ทีแรกตั้งใจคุยเรื่องการใช้ค้อนตั้งสาย (Tuning Lever) ตามที่ได้บอกไว้...แต่มาคิดได้ว่าผมควรต้องพูดเรื่องท่า (Posture) ของช่างตั้งสายเปียโนเสียก่อน วันนี้จึงของตั้งหัวข้อบล็อกว่า Tuning Posture 


ก่อนอื่นต้องขอออกตัวก่อนว่า สิ่งที่ผมเขียนในบล็อก "ช่างเหอะ" ตัวนี้ เป็นเพียงความคิดเห็นที่กลั่นกรองมาจากประสบการณ์เท่านั้น มันใช่ว่าจะถูกต้องตามหลักวิชาการเสมอไป บางบทอาจไม่ตรงกับสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญเขียนไว้ในหลักสูตร ฉะนั้นผมจึงอยากให้เพื่อน ๆ ได้อ่านด้วยวิจารณญาณที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ สิ่งไหนที่ดีมีประโยชน์ ก็สามารถนำไปใช้ได้ แต่ถ้าความคิดเห็นใด ๆ ที่ไม่ถูกต้องกับความเป็นจริง ก็ขออย่าได้สนใจ ปล่อยให้มันผ่านไปเหมือนกับว่าเป็นแค่เสียงบ่นของคนแก่ ๆ คนหนึ่งเท่านั้นก็พอ...


ที่มาของภาพ : American Piano Tuning School
มาคุยเรื่องท่าทางของผู้ตั้งสายเปียโนกันดีกว่า นึกถึงคำถามแบบไทย ๆ ที่ว่า "นั่งจูนหรือว่ายืนจูนดี?" หรือ "ใช้มือขวาหรือมือซ้าย?"  คำตอบสามารถค้นหาได้จากอินเทอร์เน็ตครับ แต่ถ้าถามผม คำตอบก็คือ...ส่วนใหญ่ผมจะใช้วิธีนั่งหลังตรงในการตั้งสายเปียโน ไม่ว่าจะเป็นแกรนด์หรืออัพไรท์  ผมจะยืนเป็นบางครั้งในขณะตั้งสายทางด้านเสียงต่ำและเสียงสูงมาก ๆ หรือในกรณีที่เห็นว่าการยืนจะทำได้ดีกว่าการนั่ง   


ที่มา : pianocare.com

อย่างไรก็ตาม เปียโนอัพไรท์ที่มีความสูง ถ้าหากจะตั้งสายในท่านั่งอาจทำได้ไม่สะดวก การจับค้อนตั้งสายจะไม่มั่นคง การหมุน tuning pins ก็อาจทำได้ไม่เต็มที่  ถ้าเป็นเช่นนั้นก็จำเป็นต้องยืนตั้งสายครับ  


ผมมีภาพที่ดาวน์โหลดมาจากอินเทอร์เน็ตมาให้ดูประกอบ ภาพขาวดำนั้นอยู่ในตำราของ American Piano Tuning School ที่ผมเคยสมัครเรียน จะเห็นได้ว่าตำแหน่ง Tuning Pins อยู่สูง ถ้านั่งตั้งสายคงจะไม่ถนัด  ฝรั่งสูงขนาดนั้นยังต้องยืนตั้งสายเลย แล้วถ้าคนที่เตี้ยกว่าล่ะ?  ก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องยืน...


เปียโนอัพไรท์ที่ผมพบส่วนใหญ่จะมี Tuning Pins อยู่ในตำแหน่งที่นั่งตั้งสายได้อย่างสบาย ๆ (อย่างที่เห็นในภาพ) ในลักษณะนั้น เราไม่จำเป็นต้องยกข้อศอกขึ้นสูงเกิน จนทำให้ความมั่นคงและแข็งแรงในการทำงานด้วยค้อนตั้งสายลดลง  สำหรับแกรนด์เปียโน...ช่างเปียโนสามารถนั่งตั้งสายได้  ในอินเทอร์เน็ต...ผมไปเจอภาพคุณตา(เคราขาว)กำลังตั้งสายแกรนด์เปียโนอยู่ เห็นว่าเข้าท่าดี  ก็เลยนำมาโพสต์ให้เพื่อน ๆ ดู 


จริง ๆ แล้ว ในการตั้งสายแกรนด์เปียโนได้ บางครั้งก็จำเป็นต้องลุกขึ้น เพื่อให้ข้อแขนมีกำลัง และการหมุน tuning pin เป็นไปอย่างมั่นคง เพื่อน ๆ ทำไป ๆ แล้วจะรู้เองว่าตอนไหนควรนั่ง และตอนไหนควรยืน


ทีนี้มาคุยต่อเรื่องการใช้มือซ้ายหรือมือขวา ผมจำได้ว่าเคยอ่านเจอในตำราเล่มหนึ่ง เค้าบอกว่าการใช้มือซ้ายจับค้อนจะทำให้การตั้งสายมีประสิทธิภาพมากกว่าใช้มือขวา ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ได้แต่แอบคิดว่าถ้าใช้มือซ้ายจับค้อน เราก็ต้องหมุนตามเข็มนาฬิกาจากตำแหน่ง 9.00 น. ถึง +11.00 น. แต่ถ้าใช้มือขวาก็จากตำแหน่ง 13.00 น.ถึง  +15.00 น. (โดยประมาณ) แล้วมันต่างกันอย่างไร???   เรื่องนี้ คงต้องให้นักฟิสิกส์มาอธิบายว่ามันส่งผลต่อแรงดึงและความตึงของสายเปียโนต่างกันอย่างไร  โฮ้ย...ปวดหมอง!  


ผมเคยลองใช้มือซ้ายตั้งสายอยู่หลายปี แต่ก็ไม่สามารถบอกได้ว่ามันดีตรงไหน รู้แต่ว่าถ้าใช้มือขวาแล้วมันถนัดกว่า (เพราะผมเป็นคนถนัดขวา เพียงแต่การเล่นเปียโนและอีเลคโทนมานาน ทำให้ผมสามารถใช้มือซ้ายทำงานได้คล่องขึ้นเท่านั้น) ทุกวันนี้ผมได้เปลี่ยนมาใช้มือขวาจับค้อนตั้งสายเหมือนตอนที่เริ่มฝึกหัดตั้งสายแล้ว


สรุปได้ว่า...ไม่ว่าจะนั่ง จะยืน จะใช้มือซ้ายหรือมือขวา ก็ขอให้เราทำงานได้สะดวก ไม่ต้องฝืน ทำไปแล้วไม่ก่อให้เกิดอาการเมื่อยขบ ปวดข้อหรือปวดแขน และที่สำคัญคือขอให้อยู่ในตำแหน่งที่การบังคับค้อนตั้งสายเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดเท่าที่จะทำได้ก็แล้วกัน


วันนี้ขอจบแค่ตรงนี้นะ.....

Tuesday, August 30, 2011

การถนอมสายตา

เช้านี้กำลังจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับการตั้งสายเปียโนต่อ พอดีได้อ่านเจอบทความเรื่อง "การบริหารตาง่าย ๆ ด้วยโยคะสายตา" จาก Life & Family ใน Manager Online  ประจำวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๔  ผมเห็นว่ามีประโยชน์และเหมาะกับการดูแลรักษาสุขภาพดวงตาของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่ใช้สายตาจ้องจับอยู่กับจอคอมพิวเตอร์วันละหลายชั่วโมงเช่นผม จึงขอนำมาบอกต่อดังนี้:-

ชวนทุกบ้านบริหารตาง่าย ๆ ด้วยโยคะสายตา

ปฏิเสธได้ยากว่า ชีวิตในยุคไอทีของหลาย ๆ ครอบครัวมีการใช้งานคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เพื่อทำงาน หรือติดตามข่าวสาร โดยการใช้งานในแต่ละครั้งนั้น จำเป็นต้องใช้สายตาจ้องมองเป็นเวลานาน ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการ Computer Vision Syndrome (CVS) ทำให้มีอาการปวดตา เคืองตาและสายตาล้า บางคนอาจไม่สามารถโฟกัสภาพให้ชัดได้ ซึ่งจะทำให้เกิดสายตายาวเร็วขึ้นกว่าปกติ
       
       ดังนั้น การดูแลสุขภาพดวงตาจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งเทคนิคเพื่อบริหารดวงตาให้มีสุขภาพดีนั้นมีหลายวิธี แต่อีกหนึ่งวิธีที่ทีมงาน Life & Family ได้รับความรู้ในงานมหกรรม "The eye story ครบเครื่องเรื่องตา" ของทางโรงพยาบาลปิยะเวทเมื่อเร็ว ๆ นี้คือ การบริหารดวงตาง่าย ๆ ด้วยโยคะดวงตา ซึ่งมีขั้นตอนง่าย ๆ ดังต่อไปนี้
       
       ขั้นตอนที่ 1
       
       หลับตาแล้วถูฝ่ามือทั้งสองไปมาให้พอรู้สึกอุ่น แนบฝ่ามือที่เปลือกตาประมาณ 1 นาที ผ่อนคลายและหายใจลึกๆ เอามือออก ลืมตาขึ้น
       
       ขั้นตอนที่ 2
       
       เคลื่อนลูกตาจากซ้ายไปขวา โดยมองไปยังที่ไกลๆ จากมุมซ้ายสุดแล้วกวาดสายตาไปยังมุมขวาสุด ทำซ้ำกัน 4 ครั้ง
       
       ขั้นตอนที่ 3
       
       ทำซ้ำขั้นตอนที่ 1 เคลื่อนสายตาจากมุมขวาบนลงมามุมซ้ายล่าง ลักษณะทแยงมุม 4 ครั้ง
       
       ขั้นตอนที่ 4
       
       ทำซ้ำขั้นตอนที่ 1 กวาดสายตาเป็นวง ตามทิศทางเคลื่อนตัวของเข้มนาฬิกา 4 รอบ
       
       ขั้นตอนที่ 5
       
       ทำซ้ำขั้นตอนที่ 1 เคลื่อนสายตาจากบนสุดไกลสุด แล้วกวาดสายตาลงมายังจุดด้านล่างสุดอย่างช้า ๆ ทำ 4 ครั้ง จากนั้นทำซ้ำขั้นตอนที่ 1 เป็นอันจบการบริหาร
       
       หมายเหตุ ในการบริหารแต่ละท่านั้น ต้องถอดแว่นหรือคอนแทคเลนส์ออกก่อนทุกครั้ง

       นอกจากการบริหารดวงตาด้วยโยคะสายตาข้างต้นแล้ว เวลาทำงาน หรือต้องใช้สายอยู่กับจอคอมพิวเตอร์ รวมไปถึงโทรทัศน์นาน ๆ ควรพักเบรกบ้างเพื่อลดอาการล้าของสายตา หลายคนอาจจะพักแค่วันละ 15 นาที แต่สถาบันอาชีวเวชศาตร์ของอเมริกาแนะนำให้ในหนึ่งวันมีเพิ่มการพักสั้น ๆ 5 นาที วันละ 4 ครั้ง ที่สำคัญควรสวมแว่นขณะใช้คอมพิวเตอร์ ถ้ามีปัญหาสายตา ส่วนถ้าใครไม่มีปัญหา ควรตรวจสุขภาพดวงตาเป็นประจำทุกปี
       
       ดังนั้น เรื่องสุขภาพดวงตาเป็นสิ่งที่สมาชิกทุกคนในบ้านควรให้ความสำคัญ เพราะดวงตาเป็นอวัยวะสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของเรา โดยเฉพาะผู้ที่ใช้สายตาอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ การดูแลถนอมสายตาให้มีสุขภาพดีย่อมต้องมีวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง และหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิดอันตรายแก่สายตา


ขอขอบคุณสำหรับบทความดี ๆ เช่นนี้ ผมต้องขออนุญาตนำมาลงต่อ เพื่อให้ตรงกับเป้าประสงค์ของบล็อกที่เขียนไว้ว่า "อะไรก็ได้ที่มีประโยชน์...." 

พร้อมกันนี้ผมก็ขอคัดลอกบทความเรื่อง "การนวดถนอมรักษาดวงตาด้วยตนเอง" ซึ่งผมได้นำลงไว้ในหมวดว่าด้วยสุขภาพ ของ wichai.net มานานกว่า ๑๐ ปีแล้ว มาเก็บไว้ด้วยอีกเรื่องหนึ่งดังนี้ :-
                                 
การถนอมรักษาสายตา      

ข้อมูลจาก รศ.นพ.กรุงไกร เจนพาณิชย์

    การถนอมรักษาสายตา มีมากมายหลายวิธี ดังที่เคยเรียนมาตั้งแต่เด็ก ๆ และเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว เช่น 
  1. ไม่มองของสีขาวกลางแดด หรือมองแสงสว่างจ้า ๆ เช่น ดวงอาทิตย์ แสงจากการเชื่อมโลหะ เป็นต้น 
  2. ไม่อ่านหนังสือตัวเล็กเกินไปเป็นเวลานาน ๆ รวมทั้งไม่อ่านหนังสือในรถ เรือ ที่มีความสะเทือนอยู่ตลอดเวลาด้วย 
  3. ไม่อ่านหนังสือในที่สลัว ๆ หรือมีแสงมากเกินควร ต้องให้มีความเข้มของแสงพอเหมาะ ส่องมาจากข้างหลังหรือด้านซ้ายมือ
  4. ไม่อ่านหนังสือ (หรือมองวัตถุ) ชิดใบหน้า ควรวางหนังสือให้ห่างจากตาประมาณ 1 ฟุต
  5. ไม่เอามือหรือผ้าสกปรกเช็ดหรือขยี้ตา
  6. ระวังไม่ให้มีการกระทบกระเทือนกะโหลกศีรษะบริเวณเบ้าตา เช่น ชกต่อย อุบัติเหตุ ยิงหนังสติ๊กถูกตา ถูกไอสารเคมีหรือน้ำยาที่ระคายต่อตา
  7. ไม่ไว้ผมยาวปรกหน้า และมาบังตาทำให้มองไม่ถนัด และเป็นช่องทางให้ความสกปรกจากผมเข้าตาได้
  8. ไม่ใช้ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว หรือผ้าขาวม้าร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่ป่วยเป็นโรคตา  เป็นต้น
  9. เมื่อเป็นโรคตาต้องรีบไปปรึกษาแพทย์ทันที ไม่ควรใช้ยาตา (หยอด, ป้าย) เอง
  10. เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับสายตา แว่นตา ควรปรึกษาแพทย์เรื่องการใส่แว่น และเรื่องการปฏิบัติตัวที่เหมาะสม
  11. ฯลฯ 

  ส่วนการถนอมรักษาสายตาด้วยตนเองโดยวิธีนวด (Massage) หรือกดจุด (Acupressure)  ก็มีหลายวิธีเช่นกัน ที่ผู้เขียนเคยแนะนำให้ปฏิบัติต่อตนเอง และเห็นผลมี 7 ท่าที่สำคัญ ได้แก่

ท่าเสยผม


ใช้ นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง กดขอบกระบอกตาบนให้แน่นพอควร ทำทั้ง 2 ข้างพร้อม ๆ กัน ค่อย ๆ ดันนิ้วทั้ง 3 นิ้ว เรื่อยขึ้นไปบนศีรษะจนถึงท้ายทอยแบบเสยผม ทำ 10-20 ครั้ง

ท่าทาแป้ง



 ใช้ นิ้วกลาง ทั้งสองกดตรงหัวตา (โคนสันจมูก) ให้แน่นพอควร ดันนิ้วขึ้นไปจนถึงหน้าผาก แล้วใช้นิ้วทั้งหมด (ยกเว้นนิ้วหัวแม่มือ) แตะหน้าผาก โดยให้ปลายนิ้วมือจรดกัน แล้วลูบลงไปข้างแก้มแบบแนบสนิทมายังคาง ทำ 10-20 ครั้ง

ท่าเช็ดปาก


ใช้ ฝ่ามือ ขวา ทาบบนปาก ลากมือไปทางขวาให้สุด ให้ฝ่ามือกดแน่นกับปากพอสมควร เปลี่ยนใช้มือซ้ายทาบปาก แล้วทำแบบเดียวกัน นับเป็น 1 ครั้ง ทำ 10-20 ครั้ง

ท่าเช็ดคาง


 ท่ากดใต้คาง


ใช้ นิ้วหัวแม่มือ ทั้ง 2 ข้างกดใต้คาง โดยให้ปลายนิ้วตั้งฉากกับคาง ใช้แรงกดพอควร และกดนานพอควร (นาน 10 วินาที หรือนับ 1-10 อย่างช้า ๆ) เลื่อนจุดกดให้ทั่วใต้คาง เฉพาะทางด้านหน้าทำ 5 ครั้ง

ท่าถูหน้าและหลังหู


ใช้ มือแต่ละข้าง คีบหู โดยกางนิ้วกลางและนิ้วชี้คีบอย่างหลวม ๆ วางมือให้แนบสนิทกับแก้ม ถูขึ้นลงแรง ๆ นับเป็น 1 ครั้ง ทำ 20-30 ครั้ง

ท่าตบท้ายทอย


ใช้ ฝ่ามือ ปิดหู (มือซ้ายปิดหูซ้าย มือขวาปิดหูขวา) ใช้ นิ้วทั้งหมด อยู่ตรงท้ายทอย และปลายนิ้วกลางจรดกัน กระดิกนิ้วให้มากที่สุด แล้วตบที่ท้ายทอยพร้อม ๆ กันทั้ง 2 มือ ด้วยความแรงพอควร ทำ 20-30 ครั้ง  สำหรับท่านี้ ต้องไม่ยกฝ่ามือออกจากหู มิฉะนั้นจะทำให้การตบแรงเกินควรจนกลับเป็นผลเสียได้

เมื่อทำครบทั้ง 7 ท่าแล้ว จะรู้สึก หัวโปร่ง เบาสบาย ตาสว่าง หายง่วงนอน รู้สึกสดชื่น ถ้าเป็นไปได้ควรทำวันละ 2 ครั้ง คือ ตอนเช้า ตอนเย็น

ข้อพึงสังเกตเกี่ยวกับการนวดตนเองเพื่อช่วยสายตา
  • ต้องตัดเล็บให้สั้น เพื่อมิให้ไปขีดข่วนใบหน้า
  • ไม่ใส่แหวนและต่างหู เพราะอาจจะขูดใบหน้าทำให้เกิดบาดแผลได้
  • ต้องล้างมือและหน้าให้สะอาด เช็ดให้แห้งก่อนการนวด
  • งดการนวดเมื่อมีไข้ ใบหน้าเป็นสิว ฝี หรือมีโรคผิวหนัง
  • เริ่มนวดแต่เพียงน้อยครั้ง เช่น 5-10 ครั้ง แล้วค่อยเพิ่มทีละน้อย
  • ตั้งใจนวด มิใช่ทำให้เสร็จ ๆ ไป หรือทำลวก ๆ ถ้าเป็นไปได้ควรทำสมาธิไปพร้อม ๆ กันด้วย
  • การนวดต้องทำเป็นประจำจึงจะได้ผล ไม่ทำ ๆ หยุด ๆ 
จากคู่มือ การนวดถนอมสายตาด้วยตนเอง โดยโครงการฟื้นฟูการนวดไทย ถนนจรัญสนิทวงศ์ 13 กทม. สนับสนุนโดย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์


เรื่องตั้งสายเปียโน แล้วค่อยว่ากันนะครับ ตอนนี้ไปดูแลถนอมดวงตากันก่อน...

Monday, August 29, 2011

Tuning Lever

การตั้งสายเปียโนจะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย  กล่าวคือ มันง่าย...ถ้าเราใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่ดี กับการตั้งสายเปียโนที่มีคุณภาพ  แต่ทว่างานประเภทเดียวกัน จะกลายเป็นเรื่องยากไปทันที ถ้าเครื่องมือที่ใช้นั้นด้อยในศักยภาพ แล้วยังต้องทำงานกับเปียโนซึ่งเก่ามาก ๆ หรือเป็นเปียโนที่ผลิตออกมาจำหน่ายจำนวนมากในราคาถูก อย่างที่ผมชอบเรียกว่า "เปียโนโหล"


ค้อนตั้งสาย (Tuning Lever, Tuning Hammer หรือที่คนไทยเรียกกันว่า "ค้อนจูน") ก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่มีความสำคุัญมาก ๆ  เจ้าตัวนี้แหละที่จะมีผลต่อความยากง่ายของการตั้งเสียงเปียโน ภาพที่เห็นข้างบนคือค้อนตัวที่ผมฝากนักศึกษารุ่นน้องซื้อมาจากฮ่องกงในราคา ๓,๐๐๐ บาท(เมื่อ ๒๐ กว่าปีก่อน)  มันเป็นค้อนตั้งสายสำหรับมืออาชีพ  ถ้าเพื่อน ๆ ได้ลองสัมผัสและใช้งานดู จะรู้สึกได้ทันทีว่ามันเป็นค้อนตั้งสายที่มีน้ำหนัก มีด้ามกระชับมือ ทำให้เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ผมได้สมัครเป็นสมาชิกของ IPS (International Piano Supply)ไว้  สามารถสั่งซื้ออะไหล่ วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องมือสำหรับช่างเปียโนได้โดยไม่ยาก แต่ผมก็ยังไม่เคยได้สั่งซื้อแม้แต่ชิ้นเดียว  การที่ร้านจำหน่ายเปียโนปฏิเสธที่จะแบ่งขายอะไหล่ให้ เพื่อน ๆ ก็ไม่ต้องไปสนใจหรอกครับ อยากได้อะไรก็สั่งซื้อจาก IPS ได้เลย ยกตัวอย่างเช่น ค้อนตั้งสายเปียโน เค้ามีจำหน่ายหลายรุ่น หลายราคา ดังที่เห็นในภาพ...



จะเห็นได้ว่าเจ้าตัว Concert Tuning Lever ตัวบนนั่นราคา $128.80  ตกประมาณ ๔ พันบาทเห็นจะได้  ถ้าเพื่อน ๆ ต้องการเป็นช่างเปียโนมืออาชีพก็จำเป็นต้องใช้ของดี  ซึ่งจะทำให้การตั้งสายเปียโนง่ายขึ้นอย่างรู้สึกได้เลยครับ...

พรุ่งนี้ผมจะคุยเรื่องเทคนิคในการใช้ค้อนตั้งสายนะครับ...

Tuesday, August 23, 2011

เตรียมเครื่องมือตั้งสายเปียโน

วันนี้เรามาเตรียมตัวและเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือเพื่อที่จะออกไปรับจ้างตั้งสายเปียโนกันดีฝ่า.. 

รัฐบาลช่างบริหารบ้านเมืองมาดีแท้ ตอนนี้อะไร ๆ ก็แพงไปหมด เงิน ๑๐๐ บาทสำหรับคน ๆ นึง จะซื้ออาหารกินสามมื้อก็แทบไม่พอ ผมเองก็กระเป๋าแห้งเช่นกัน ทุกวันนี้อยากได้อะไรก็ไม่มีปัญญาซื้อ แถมเจ้า hard disk ตัวที่รับหน้าที่หนักในการเก็บข้อมูลก็เกิดงอแงขึ้นมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ผมได้ยินเสียงดังแกร๊ก ๆ มาหลายวัน ตอนนี้ detect ไม่เจอซะแล้ว คงต้องหาเงินซักก้อนเพื่อซื้อ hard disk ตัวใหม่ การซื้อครั้งนี้ไม่ใช่ของฟุ่มเฟือยนะครับ มันจำเป็นจริง ๆ ถ้าอยากจะรักษาข้อมูลมากมายมหาศาลซึ่งกำลังจะสูญหายไปกับการสิ้นอายุของ HDD เอาไว้


ครูแต้มบอกผมไว้นานแล้วว่า ถ้ามีเวลาให้ไปตั้งสายเปียโนให้หน่อย คงต้องรับงานนี้แล้วล่ะ ผมจะได้มีตังค์ซื้อ hard disk มาเปลี่ยน!  เอาล่ะ มาดูกันหน่อยว่าผมค้นหาเครื่องมืออะไรไว้ได้บ้าง..
  1. ค้อนตั้งสาย (Tuning Hammer) อันนี้เจอแน่ เพราะเป็นหัวใจในการตั้งสายเปียโน ถ้าไม่มีก็เลิกคิดได้เลย
  2. แถบผ้าสักหลาดสำหรับตั้งสายเปียโน (Felt Temperament Strip)
  3. ลิ่มยางสำหรับดับเสียง (Rubber Mutes)
  4. ลิ่มพลาสติกสำหรับดับเสียง (Plastic Mute)
  5. ลิ่มสักหลาดสำหรับดับเสียงสายเบส
  6. ไขควง (Screwdrivers) 
  7. ผ้าสำหรับทำความสะอาด



แค่ที่เห็นก็พอแล้วครับ สำหรับการตั้งเสียง...

แต่พอดีผมเจอเครื่องมืออื่น ๆ อีก ก็เลยถ่ายภาพไว้ แล้วใส่ลงไปในกระเป๋ารวมกับชุดแรก เครื่องมือชุดสองนี้นับว่าไม่จำเป็นเท่าไร ไม่มีก็ได้ครับ (เจ้าดินสอแท่งนั้นยิ่งไม่จำเป็นไหญ่ ฮา)

งั่ม ๆ เตรียมเครื่องมือไว้พร้อมแล้ว เดี๋ยวผมจะหาโอกาสไปตั้งสายเปียโนให้ครูแต้ม

แล้วไปด้วยกันนะ....

Sunday, August 21, 2011

Hammer Flange

เมื่อ ๒๐ ปีก่อน ตอนที่สมัครเรียนตั้งสายและซ่อมเปียโนกับ American School of Piano Tuning เสียเงินไปประมาณหมื่นกว่าบาท ผมได้ตำรามา ๑ ชุด ค้อนตั้งสายแบบสมัครเล่น ๑ ตัว พร้อมกับอะไหล่เปียโนอีกจำนวนหนึ่ง นอกจากนั้นก็มีเครื่องมือที่จำเป็นบางชิ้น เช่น ส้อมเสียง (Tuning Fork) แถบสักหลาดสำหรับตั้งสายเปียโน (Felt Temperament Strip)  ยางดับเสียง (Rubber Wedge Mutes) และอื่น ๆ

ทางโรงเรียนเค้าส่งตัวอย่างของ Hammer Flange มาให้ (จำไม่ได้แล้วว่ากี่ตัว) พร้อมกับ Center Pins และ Flange Bushing Cloth เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกหัดซ่อม Flange ด้วยตนเอง 

ผมฝึกการซ่อมและตั้งเสียงเปียโนโดยใช้เปียโนเยอรมันสีดำ ๘๕ คีย์ (ต่อมาขายต่อให้กับเจ้าของบริษัทรถยนต์ฮอนด้าที่จังหวัดนครสวรรค์) จากนั้นก็ทำข้อสอบส่งกลับไปอเมริกา ทางโรงเรียนตรวจข้อสอบแล้วส่งใบประกาศนียบัตรมาให้  จำได้ว่าเอาให้พี่ชายดู เค้าบอกว่าเสียดายเงินหมื่นกว่าบาทที่เสียไป ไม่น่าสมัครเรียนเพราะทำได้อยู่แล้ว ผมไม่ได้สนใจกระดาษแผ่นนั้นเลย ตั้งแต่นั้นก็ไม่เคยเห็นมันอีก จนถึงทุกวันนี้...

เจ้าค้อนตั้งเสียงหรือ tuning hammer ที่ได้มาจากโรงเรียน ผมได้มอบให้ทางโรงแรมพิมานไป เพราะตัวเองมีค้อนสำหรับมืออาชีพใช้อยู่ ส่วนเครื่องมืออื่น ๆ ยังคงเก็บไว้ แต่ก็หมดอายุการใช้งานไปบ้างเป็นบางชิ้น ที่หายไปก็มี ในที่สุดก็ไม่เหลืออะไรมากนัก นอกจากความทรงจำ...


เปียโนเยอรมันหลังที่กล่าวถึง
 
พอดีมีเพื่อนสมาชิกท่านหนึ่งได้ comment ไว้ใน "ฟังลุงน้ำชาคุย  "ตอนนี้มีปัญหากับ center pin มันคับทำให้ไม่ดีดกลับมันฝืดๆ คลายน็อตกับพ่น sonax แล้วทิ้งไว้ 2-3 วันมันก็ฝืดคืน สงสัยต้องปั่นเอาสักหลาดออก อยากทราบว่าต้องใช้เครื่องมือชิ้นไหนครับ เพราะหาหางหนูเบอร์เล็กสุดที่จะเข้ารู center pin ไม่ได้เลย เจอแต่หางหนูยักษ์!ในโฮมโปร หรือมีวิธีไหนที่แก้ปัญหาได้ถาวรกว่าพ่น sonax ไหมครับ..." ผมจึงอยากจะเขียนเกี่ยวกับเรื่องการซ่อมเปียโนสักหน่อย ไม่ใช่เขียนแบบผู้เชี่ยวชาญนะครับ แต่เป็นการนำประสบการณ์ที่มีอยู่บ้างนิด ๆ หน่อย ๆ มาเล่าให้กันฟังเท่านั้น



ผมค้นหาชิ้นส่วนสำคัญที่มีชื่อว่า Flange จากกล่องเก็บอะไหล่และเครื่องมือซ่อมเปียโนออกมาได้หนึ่งตัว จึงได้ถ่ายภาพพร้อมกับ Center Pin แล้วมาโพสต์ให้เพื่อน ๆ ได้ดู  เจ้า Flange ตัวนี้แหละครับเป็นหนึ่งในชิ้นส่วนต่าง ๆ ของกลไกซึ่งเรียกกันว่า Action  เมื่อเปียโนมีอายุมากขึ้น...ปัญหาก็อาจเกิดขึ้นได้กับ Flange ซึ่งมีถึง ๘๘ ตัว!



ปัญหาซึ่งเกิดกับ Frange มีอาการคือ ๑. "อาการหลวม" เนื่องมาจากสักหลาดสึกกร่อนและการแห้งหดตัวของไม้ ส่งผลให้การเดินทางของค้อนที่ไปเคาะสายไม่เสถียร ค้อนขยับไปมาได้เหมือนกับฟันคนแก่ที่โยกคลอน ๒. "อาการฝืด" เพราะไม้ขยายตัวจากความชื้น หรือเนื่องมาจากความสกปรกหรือการพองตัวของสักหลาด ส่งผลให้การเคลื่อนตัวของกลไกไม่คล่อง มีอาการเชื่องช้าเหมือนตาแก่ซึ่งเดินยักแย่ยักยันด้วยข้อเข่าที่เสื่อมลงตามวัย

วิธีแก้ไขก็ขึ้นอยู๋กับอาการของมันครับ เครื่องมือสำคัญที่จำเป็นต้องมีก็คือเจ้าตัวที่เห็นในภาพต่อไปนี้




ที่เพื่อนสมาชิกเขียนว่า "หาหางหนูเบอร์เล็กสุดที่จะเข้ารู center pin ไม่ได้เลย เจอแต่หางหนูยักษ์!"
หุหุ ต้องใช้เจ้าตัวนี้ครับ งานที่เกี่ยวกับ Flange จะสำเร็จไปได้ด้วยดี  ผมนำภาพมาลงไว้เพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับการดัดแปลงหาวิธีทำขึ้นใช้เอง คิดว่าด้ามไม้คงทำเองได้ไม่ยาก แต่เจ้าเหล็กปลายแหลมนั่นคงจะหายากเอาการ ต้องเป็นเหล็กปลายแหลม แข็ง และมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่โตไปกว่ารู center pin ๒ รูซึ่งอยู่บน Flange (แล้วผมจะเขียนในเรื่องเหล่านี้อีกในโอกาสต่อไป)

สำหรับคำถามที่ว่า "มีวิธีไหนที่แก้ปัญหาได้ถาวรกว่าพ่น sonax"   นั่นคือเรากำลังจะแก้ปัญหาเรื่องความฝืดอยู่ใช่ไหมครับ?  สมัยก่อนผมก็เคยใช้ sonax แต่ใช้ครั้งเดียวแล้วเลิกใช้ เพราะไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องและถาวร ผมคิดเอาเองนะว่ากลไกส่วนใหญ่ในเปียโนน่าจะต้องแห้งสนิท ไม่เปียกชื้น การใช้น้ำยาเอนกประสงค์ฉีกเข้าไปที่รู center pin ก็จะทำให้สักหลาดเล็ก ๆ นั่นอมน้ำยาเอาไว้ รวมทั้งเนื้อไม้ด้วย!  มันอาจจะทำให้ความฝืดระหว่าง center pin และสักหลาดที่รองรับลดลง จนกลไกทำงานได้ตามปกติ แต่เมื่อเวลาผ่านไป น้ำยาระเหยออกไป แต่ก็จะยังคงเหลือคราบสกปรกทิ้งไว้ และอาจจะทำให้ไม้ flange ขยายตัวออก ปัญหาก็จะยิ่งไปกันใหญ่!  ตรงกับที่เพื่อนสมาชิกบอกว่า "...ทิ้งไว้ 2-3 วัน มันก็ฝืดคืน..."

แล้ววิธีแก้ไขที่ถาวรคืออะไรล่ะ?  หากเกิดอาการหลวมเพราะสักหลาดสึก ถ้าเป็นเปียโนเก่าที่ควรค่าต่อการซ่อม ผมคิดว่าน่าจะเปลี่ยนสักหลาดของ flange ที่สึกซะใหม่ (หรือที่เรียกว่า Rebushing) การเปลี่ยนก็ไม่ยากครับ แต่ต้องใช้เวลาและอาศัยความใจเย็นสูง หัดทำไปแล้วจะคล่องเอง...

แต่ถ้าฝืดล่ะ? อย่าฉีดน้ำยา sonax เข้าไปเพิ่มคราบสกปรกอีก ต้องรักษาให้จุดสัมผัสระหว่าง center pin กับสักหลาดสะอาดเข้าไว้ การเปลี่ยน center pin หรือ rebushing สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างถาวร เคยได้ยินใช่ไหมครับที่ว่า "เก่า ๆ มันเป็นสนิม ใหม่กว่าหน้าตาจุ๋มจิ๋ม"  ลองพิจารณาภาพ center pin ตัวใหม่ ๆ ที่ผมนำมาให้ดูสิครับ สะอาด มันวับ ลื่นมือ ถ้าได้เข้าคู่กับสักหลาดชิ้นใหม่ ก็คงจะทำงานได้คล่องแคล่วเลยล่ะ...

ทีนี้ถ้าไม่ต้องการเปลี่ยนอะไรทั้งนั้นล่ะ ผมก็จะค่อย ๆ ดึง center pin ออก แล้วทำความสะอาด ด้วยเครื่องมือปลายแหลมที่เห็นในภาพ สอดใส่เข้าไปในรู center pin ทีละข้าง แล้วค่อยหมุน ๆ ทำความสะอาดและขยายรูด้วยความนุ่มนวล  ก่อนที่จะนำ center pin ตัวเก่าซึ่งทำความสะอาดแล้วใส่กลับคืน ผมก็จะเสกคาถาแล้วเป่าลมพรวดเข้าไป (อย่าให้น้ำลายกระเด็นใส่นะ อิอิ) น่าจะกลับมาใช้งานได้ตามปกตินะ...


งานซ่อมเปียโนเป็นงานที่ใช้เวลาก็จริง แต่ก็เหมาะสำหรับคนแก่ที่ไม่มีอะไรทำ ผมก็อยากกลับไปทำอยู่เหมือนกันครับ...

Monday, August 15, 2011

เพลงมหาชัย

เพลงมหาชัยประพันธ์โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าพระยานริศรานุวัติวงศ์ ร่วมกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิจ ทรงพระนิพนธ์จากเพลงมหาชัยเก่าแต่เดิม นำมาดัดแปลง ตัดให้เป็นเพลงเคารพ เพลงนี้ไม่มีบทขับร้อง

เพลงมหาชัยใช้บรรเลงสำหรับ
๑. พระบรมวงศ์ และสมเด็จพระราชชนนี
๒. ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
๓. ธงราชวงศ์เวลาผ่านหรือเชิญขึ้น-ลง
๔. นายทหารที่มียศจอมพล จอมพลเรือ จอมพลเรืออากาศ


 
ที่มา - หนังสือเพลงกล่อมจิต เล่ม ๕๐ พ.ศ. ๒๕๒๐

Sunday, August 14, 2011

เพลงมหาฤกษ์

เพลงมหาฤกษ์ประพันธ์โดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิจ ทรงพระนิพนธ์ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ สำหรับใช้เป็นเพลงเกียรติยศของข้าราชการทุกชั้นที่ต่ำกว่าชั้นพระบรมวงศ์ ตลอดจนถึงสามัญชน เพื่อใช้อวยพรซึ่งกันและกัน ในงานพิธีมงคลต่าง ๆ เพลงนี้ทรงดัดแปลงมาจากเพลงมหาฤกษ์ ๒ ชั้น ไม่มีบทขับร้อง

เพลงมหาฤกษ์ใช้บรรเลงสำหรับ
๑. นายกรัฐมนตรี
๒. ทหาร ตำรวจ ลูกเสือ หรือผู้ที่มียศต่ำกว่าจอมพลลงมา ตลอดจนข้าราชการ
๓. ประธานในงานพิธี
๔. เป็นเพลงเปิดเอาฤกษ์ต่าง ๆ



ที่มา - หนังสือเพลงกล่อมจิต เล่ม ๕๐ พ.ศ. ๒๕๒๐

Saturday, August 13, 2011

ไวโอลินตั้งเสียงไม่ได้

สำหรับเครื่องสายประเภทไวโอลิน วิโอล่า และเชลโล ผู้เล่นจะตั้งเสียงด้วยการปรับที่ pegs ซึ่งในที่นี้ผมขอเรียกว่า "ลูกบิด" และ fine tuners ซึ่งขอเรียกว่า "ตัวปรับละเอียด" การปรับที่ลูกบิดเป็นการปรับเมื่อสายเพี้ยนมากตั้งแต่ครึ่งเสียงขึ้นไป โดยหมุนลูกบิดประจำสาย E และสาย A ตามเข็มนาฬิกาและหมุนลูกบิดประจำสาย D และ G ทวนเข็มนาฬิกาเพื่อให้เสียงสูงขึ้น ส่วนตัวปรับละเอียดจะใช้เพื่อตั้งเสียงซึ่งเพี้ยนไม่มาก ไม่จำเป็นต้องปรับที่ลูกบิด การหมุนตัวปรับละเอียดตามเข็มนาฺฬกกาจะทำให้เสียงสูงขึ้น ส่วนการหมุนทวนเข็มนาฬิกาจะทำให้เสียงต่ำลง

ปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง คือ การตั้งเสียงแล้วเสียงไม่อยู่คงที่ เมื่อประสบปัญหา นักเรียนจะต้องพิจารณาว่าเป็นเพราะสาเหตุใดแน่

ก่อนอื่นให้สังเกตที่ตัวลูกบิดเป็นอันดับแรก ถ้าหมุนขึ้นจนได้ระดับเสียงแล้ว แต่ลูกบิดไม่สามารถยึดอยู่กับตำแหน่ง เกิดการหมุนคืนกลับ แล้วทำให้ระดับเสียงลดลง ให้ตีปัญหาได้ ๒ ข้อ คือ หนึ่ง - แกนลูกบิดลื่นหรือหลวม และ สอง - นักเรียนใช้กำลังกดในการตั้งสายน้อยไป ถ้าพบสาเหตุใดก็ให้แก้ไขในจุดนั้น ๆ (จะกล่าวอีกครั้งในโอกาสต่อไป)

แต่สำหรับกรณีที่ไม่ได้เกิดจากลูกบิด ให้พิจารณาว่า ๑. ปลายสายหลุดออกจากรูของลูกบิดหรือไม่? ๒. สายขาดในหรือไม่? ถ้าไม่ใช่ทั้งสองอย่าง ก็เหลืออีกเพียงจุดเดียวที่จะต้องตรวจสอบ นั่นคือ tailpiece หรือที่ผมเรียก "หางปลา" (ไม่รู้ว่าหางปลาอะไร อิอิ)

ไวโอลินของมะเหมี่ยวมีอาการตั้งเสียงไม่ได้ พอหมุนลูกบิดตัวหนึ่งขึ้นได้ที่แล้วเปลี่ยนไปหมุนอีกตัวหนึ่ง จะเกิดเสียงดังน่ากลัว พร้อมกับสายที่ตั้งไว้ลดระดับเสียงลงทันที ลูกบิดไม่ได้หมุนคืน...แต่เสียงกลับลดฮวบลงชวนให้ตกใจ แปลกแท้ ๆ (อาการคล้ายถูกผีหลอก ฮา...)

ถ้าหากอาการเป็นเช่นนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยครับ ให้ถอดสายออกทั้งสี่เส้น แล้วนำเจ้าหางปลาออกมาดู อย่างไวโอลินของมะเหมี่ยวซึ่งผมนำกลับมาซ่อมให้ที่บ้าน จะเห็นได้ว่าปลอกทองเหลืองที่เป็นตัวยึดให้สายรัดหางปลาให้อยู่กับที่ ได้เลื่อนห่างออกจากตำแหน่งที่มันเคยอยู่ สาเหตุเป็นเพราะสายเอ็นที่เป็นเกลียวละเอียด(มองแทบไม่เห็น)หมดสภาพ เวลาเราตั้งสาย เกิดแรงดึง...เจ้าปลอกทองเหลืองนั่นขยับออก สายก็หย่อนลงทันที เป็นเช่นนี้เหมือนเล่นเอาเถิด...

วิธีแก้ไขคือต้องเปลี่ยนหางปลาใหม่ (เฉพาะสายรัดน่าจะมีขาย) หรือไม่ก็หาวิธีทำให้สายรัดไม่ขยับตัว ถ้าใช้วิชา "ช่างเหอะ" ผมก็จะหาสายไฟที่เค้าใช้เดินเครื่องปรับอากาศหรือเครื่องทำน้ำอุ่น นำมาใส่แทนสายรัดหางปลาซึ่งหมดแรงยึด ใช้สายไฟสีดำ วัดระยะให้ดี ปอกปลายสายทั้งสองข้างออกให้เหลือแต่ลวดทองแดง นำสอดเข้าไปในรูของหางปลา แล้วใช้คีมบิดปลายให้เป็นเกลียวแน่น (เหมือนอย่างที่เคยทำมาแล้วครั้งหนึ่งในการซ่อมหางปลาให้ใช้ได้โดยไม่ต้องซื้อใหม่) ดูไม่น่าเกลียดหรอกครับ เพราะปลอกสายไฟสีดำที่หุ้มอยู่ด้านนอกมองดูก็คล้าย ๆ กับของเดิม ส่วนปลายลวดทองแดงนั้นก็ซ่อนตัวอยู่ข้างใต้หางปลา คนมองไม่เห็น...

สำหรับไวโอลินของมะเหมี่ยว ผมใช้วิธีแก้ขัดไปก่อน ด้วยการนำสายรัดหางปลาของไวโอลินขนาด ๓/๔ ที่มีอยู่มาใส่แทน เวลาถอดก็ไม่ยากครับ หมุนปลอกทองเหลืองออกมาแล้วดึงสายรัดออกมาใส่ให้ไวโอลินของมะเหมี่ยวได้เลย....

หมุนเจ้าปลอกทองเหลืองนั่นตามเข็มนาฬิกามันจะเคลื่อนตัวเข้าไปตามทิศทางลูกศรสีเหลือง

ถ้าเรายกสายรัดหางปลาขึ้นดูดี ๆ จะเห็นเกลียวเล็ก ๆ อยู่โดยรอบ ถ้าเกลียวนี้หมดสภาพ จะไม่สามารถทำให้ปลอกทองเหลืองยึดอยู่กับที่ได้

หลังจากเปลี่ยนสายรัดหางปลาแล้ว ผมก็ถือโอกาสแต่งหย่องให้ต่ำลง มะเหมี่ยวจะได้เล่นได้ง่ายขึ้น ใช้ดินสอดำขีดตรงร่องสายเพื่อให้เกิดความลื่น สายจะได้ไม่ขาดง่าย เสร็จเรียบร้อยแล้วผมก็ประกอบเข้าที่ ใส่สาย แล้วทดลองตั้งเสียง ใช้ได้แล้วครับ ไม่มีอาการตั้งเสียงไม่ได้อีกต่อไป

ก่อนทำความสะอาดไวโอลิน ผมเห็นว่าที่รองคาง (chin rest) มีอาการหลวม ใกล้จะหลุด จึงได้ใช้วิชาช่างเหอะ หยิบตัวรีเวท นำมาหมุนปรับให้ที่รองคางยึดแน่นเข้าที่ตามเดิม (ตามภาพ)


จากนั้นก็ทำความสะอาดซะหน่อย เรียบร้อยแล้วคร้าบบบ.....


หมายเหตุ : ภาพหัวไวโอลิน(ขาวดำ)นำมาจาก wikipedia

Friday, August 12, 2011

ได้ฤกษ์เสียที


ในพจนานุกรมออนไลน์อธิบายคำว่า "ได้ฤกษ์" เป็นภาษาอังกฤษว่า "reach the auspicious time or moment" auspicious (ออสพิช'เชิส) เป็นคำคุณศัพท์ (adjective) มีความหมายว่า ได้ฤกษ์, เป็นมงคล, รุ่งเรือง วันนี้เป็นวันแม่...ผมขอถือเป็นโอกาสดีที่จะเริ่มต้นเขียนบล็อกนี้ โดยตั้งใจว่าจะให้เนื้อหาแตกต่างไปจากที่เขียนใน "ฟังลุงน้ำชาคุย" ในบล็อกนี้ผมอยากจะเน้นวิชาการทางด้านช่างและดนตรี อาจจะนำบทความจากที่อื่น ๆ มาลงไว้หากเห็นว่ามีประโยชน์ ลำพังตัวผมเองมีความรู้แค่น้อยนิด จึงขอเขียนแค่ที่ทำได้ ด้วยความหวังว่าบางทีสิ่งที่นำมาเสนออาจจะมีประโยชน์ต่อผู้อ่านได้บ้างตามสมควร...

วันนี้...ผมอยากนำเทคนิคชาวแค้มป์มาประเดิมก่อน ๑ เรื่อง คือ "วิธีทำเครื่องปิ้งขนมปังจากกระป๋องกาแฟ"


ใน"ข่าวสาร"ฉบับที่ ๖ ของสโมสรสื่อเดินทาง ประจำเดือน ก.ค.-ส.ค. (ปีอะไรไม่รู้) เขียนไว้ว่า...

คุณสามารถที่จะทำที่ปิ้งขนมปังใช้ในแค้มป์ได้ในเวลาไม่กี่นาที จากกระป๋องกาแฟขนาดบรรจุประมาณ ๑-๒ ปอนด์ และไม้แขวนเสื้อโลหะ

อันดับแรกสุด เจาะก้นกระป๋องให้เป็นรูหลาย ๆ รู เมื่อเจาะเสร็จแล้วก็เลื่อนมาเจาะรูอีก ๔ รูด้านข้างกระป๋อง ให้ใกล้กํบปากกระป๋องสักหน่อย

เมื่อเจาะกระป๋องเป็นรูตามที่บอกข้างต้นแล้ว เอาไม้แขวนเสื้อ (เลือกดูชนิดที่เป็นโลหะและต้องไม่เคลือบ) ตัดให้โตกว่ากระป๋องสักหน่อย แล้วร้อยไขว้กันไปในที่รูเจาะไว้ งอทั้งสองปลายตามแบบ แค่นี้ก็จะได้เครื่องปิ้งขนมปัง--อาหารมื้อเช้าหรือของว่างในแค้มป์ที่คุณโปรดปราน

วิธีใช้ - เอากระป๋องกาแฟที่ได้กลายสภาพเป็นเครื่องปิ้งขนมปังไปแล้ว วางไว้บนเตาหรือแคมปิ้งแก๊สที่ตระเตรียมไป หรือบนกองไฟที่คุณทำอาหารและเล่นแค้มป์ไฟ หรือจะใช้วิธีใส่ถ่านที่ติดดีแล้วลงในกระป๋องก็ได้ รับรองว่าจะได้ขนมปังปิ้งที่เหลืองสม่ำเสมอทั้งแผ่น
ผมชอบการเดินทางมาตั้งแต่เป็นวัยรุ่นแล้วล่ะ พอดีชอบการถ่ายภาพด้วย สมัยนั้นจึงบอกรับนิตยสารรายเดือนไว้หลายเล่ม อย่างเช่น ท่องเที่ยวแค้มปิ้ง, เพื่อนเดินทาง, โฟโตสแอนด์กราฟโฟ และหมอชาวบ้าน แม้แต่ข่าวสารของสโมสรสื่อเดินทางซึ่งพิมพ์โรเนียวส่งให้ทุก ๆ สองเดือน ผมก็ยอมเสียเงินสมัครสมาชิกไว้

หนังสือดังกล่าวล้วนมีบทความที่มีประโยชน์ อ่านแล้วทำให้หูตากว้าง เกิดความคิดในเชิงสร้างสรรค์ ผมคิดว่าทุกวันนี้แม้บนอินเทอร์เน็ตจะมีข้อมูลมากมาย แต่บางเรื่องก็ยังไม่มีความละเอียดเท่ากับที่เคยดีพิมพ์ในหนังสือยุคเก่า

นิตยสาร "ท่องเที่ยวแค้มปิ้ง" เล่มแรกออกวางแผงประมาณต้นปี ๒๕๒๗ จำหน่ายในราคาฉบับละ ๑๕ บาท หนา ๑๐๘ หน้า ภาพประกอบมีทั้งภาพขาวดำและภาพสี ในเล่มอัดแน่นด้วยเนื้อหาสาระของการเดินทางท่องเที่ยวแบบแบกเป้ผจญภัย...

ฉบับเดือนตุลาคมมีเรื่อง "เบิ่งชัยภูมิ" (เขียนโดยคุณ อนันต์ วิบูลย์ พร้อมแผนที่จังหวัดชัยภูมิ) - "กินข้าวเหนียวเคล้าเสียงน้ำตก" - "ร.5 ทรงสนพระทัยการถ่ายรูปเมื่อไร?" - "ศูนย์ศึกษาธรรมชาติห้วยกุ่ม" - "ภูเขียวกับเสี้ยวเวลาชีวิต" - "ผู้พิชิตสีสัน" - "เบ็ดสมัยใหม่" - "ปรอดภูเขาบนโคกนกกระบา" - "คิดถึงเดือนตุลาอย่างคนร่วมสมัย" - "วิธีเอาตัวรอดจากฟ้าผ่า" - "ปรัชญาบทหนึ่งของการเดินทาง" - "ภูเขาแห่งถ้ำวัวแดง" - "บ้านน้ำพุ น้ำตกห้วยปิทอง" - "การบิน 200 ปีด้วยบอลลูน" ฯลฯ


Photo & Grapho Magazine วารสารสร้างสรรค์ศิลปการถ่ายภาพและภาพยนต์ เล่มแรกออกวางแผงประมาณกลางปี ๒๕๒๕ ราคาจำหน่าย ๒๐ บาท หนา ๘๒ หน้า ภาพประกอบสวยงามทั้งขาวดำและสี ปกหน้าและหลังพิมพ์ด้วยกระดาษเนื้่อดี แม้เวลาจะผ่านมาเกือบ ๓ ทศวรรษก็ยังดูสวย

ผมเป็นสมาชิกจนกระทั่งเค้าปิดตัวไปในที่สุด น่าเสียดายที่หนังสือส่วนใหญ่โดนปลวกเเทะจนไม่สามารถเก็บเอาไว้ได้



วารสาร"เพื่อนเดินทาง" มาพร้อมกับประโยคที่ว่า "ถ้าคุณเหงา เราคือเพื่อนเดินทาง" รูปเล่ม ความหนา และ ราคาเท่ากับ Photo & Grapho Magazine บนขอบเล่มพิมพ์ว่า ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๗๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙ เชียงราย อยุธยา สมุทรสงคราม ลพบุรี พิษณุโลก เชคโกสโลวาเกีย

"เพลงรักคนภูเขากังวานไกลเหนือแผ่นดินดอย" - "อาข่ากับการนับถือผี" - "เพลงรักหนุ่มสาวเย้านับวันจะเลือนหายไป" - "สองเมือง..วันนั้นนกแอ่นฟ้ากรีดปีก" - "ตลาดน้ำคลองต้นเข็ม" - "เลาะริมน้ำป่าสักที่แก่งเสือเต้นและคำพราน" - "ยุทธการล่าดาวหางแฮลลี่ย์" - "ศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก" - "จากเวียนนาไปสู่ปร๊าก" - "ภาพสะท้อนแห่งกรากาตัว" - "ไปดูยะไข่รบตะเลง" - ฯลฯ

ผมเป็นสมาชิก "หมอชาวบ้าน" อยู่ได้ประมาณ ๓-๔ ปีเห็นจะได้ เคยนำมาเย็บรวมกันเป็นเล่มใหญ่ ตอนนี้ไม่รู้ว่าอยู่ไหน ยังหาไม่เจอ

ผมชอบนิตยสาร "หมอชาวบ้าน" เพราะให้ความรู้ด้านสุขภาพ ตามที่พิพม์ไว้ที่ชื่อหนังสือว่า "หันมาหาการรักษาตนเอง" ด้วยบทความทางการแพทย์ที่อ่านแล้วเข้าใจง่าย นอกจากนั้นยังมีเรื่องของสมุนไพรจากศูนย์เทคโนโยลีเพื่อสังคม มีเรื่อง "ท่องไป-ได้คิด" ของคุณหมอสุรเกียรติ อาชานุภาพ "บนเส้นทางชีวิต" บทความที่กอปรด้วยธรรมะของคุณหมอประเวศ วะสี รวมทั้งเรื่อง "กฎหมายใกล้ตัว" โดยทนายความจากสำนักงานทนายความทองใบ ทองเปาต์ ในฉบับเดือนพฤศจิกายน ๑๕๒๘ มีเรื่อง "บ้านโหล่น...บ้านที่หล่นหาย" เขียนโดยคุณมยุรี ภัคตุรงค์ ใจความว่า "การที่ชาวบ้านไม่รู้กฎหมายไม่ใช่ความผิดของชาวบ้าน แต่เป็นความผิดของผู้ที่บัญญัติกฎหมายที่บังคับให้ชาวบ้านทุกคนต้องรู้...คนที่ออกกฎหมายนั่งออกกันในห้องแอร์ ออกมาแล้วก็เที่ยวจับชาวบ้าน อ้างว่าทำผิดกฎหมาย ทั้งที่ชาวบ้านไม่เคยรู้เรื่องมาก่อน... ปีหนึ่งปลูกข้าวโพดได้รายได้ ๗๐,๐๐๐ บาท พวกเขาไม่ต้องออกไปทำกินที่ไหนเลย แต่หลังจากกรมป่าไม้เอาที่ไป พวกเขาไม่มีอะไรเหลือเลย....."