Monday, August 06, 2012

จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด...

ผมมีความคิดว่าการผลิตตำราเรียนวิชาพื้นฐานสำหรับใช้สอนนักเรียนในระดับต่าง ๆ นั้น นอกจากจะต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษในเรื่องเนื้อหาสาระแล้ว ผู้เขียนยังจะต้องตรวจสอบก่อนจัดพิมพ์ออกจำหน่ายอย่างละเอียด เพื่อให้มีข้อผิดพลาดน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วย

ในบล็อกซึ่งผมเขียนมาเรื่อย ๆ ก็ยังต้องคอยแก้ไขในสิ่งที่ผิดอยู่บ่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่มีผู้เข้าอ่านเพียงน้อยนิด แต่ในตำราที่ใช้สอนนักเรียนทั่วประเทศ เมื่อพิมพ์ออกไปแล้ว ไม่สามารถตามไปแก้ไขในสิ่งผิดได้ง่าย ๆ เหมือนการเขียนบล็อก

ทุกวันนี้ผมไปช่วยสอนวิชา "ดนตรี" ในระดับชั้นมัธยมให้กับโรงเรียนแห่งหนึ่ง เค้าใช้ตำราเล่มนี้ครับ...


บนปกหลังมีใบประกันคุณภาพสื่อการเรียนรู้ของสำนักพิมพ์ ซึ่งกอปรด้วยรายชื่อผู้เรียบเรียง ผู้ตรวจ และบรรณาธิการ


แต่ทำไมถึงได้มีข้อผิดพลาดมากจัง!!

ผมคิดว่าถ้าจะพิมพ์ใหม่อีกครั้ง ควรจัดภาพประกอบเสียใหม่ รูปแกรนด์เปียโนมันซ้ำกัน (ต่างกันที่ความยาว) เมื่อนำภาพมาลงแบบนี้ นักเรียนดูแล้วอาจเข้าใจผิดคิดว่า Harpsichord มีรูปร่างเหมือนกับแกรนด์เปียโน  ส่วนภาพประกอบ Clavichord นั่น ความจริงคือ Harpsichord

แต่ไม่เป็นไร...อาจเป็นการวางตำแหน่งภาพที่ไม่ชัดเจน


Woman at the Clavichord  ที่มา : wikipedia
แต่ที่ค่อนข้างจะแย่เอามาก ๆ คือการพิมพ์ชื่อเครื่องดนตรีไม่ถูกต้อง อย่างเช่นตัวอย่างนี้....

วิโอลา หาได้มี endpin อย่างที่เห็นในภาพ เจ้าตัวนั้นมันคือ "เชลโล" กั๊บ  แล้วเจ้าตัวที่เห็นอ้วน ๆ ใหญ่ ๆ อยู่ระหว่างเชลโลกับกีตาร์นั่น มันไม่ใช่ "วิโอลอนเชลโล" ที่จริงมันคือ String Bass หรือ Double Bass 
จากหน้า ๑๓๖

แล้วที่เขียนไว้ในข้อ ๑. ที่ว่า "ก่อนบรรเลงเรื่องดนตรีที่ใช้หางม้า ควรมีการถูยางสนก่อน เพื่อเพิ่มความยืดให้แก่สาย  ผมอ่านแล้วก็พยายามทำความเข้าใจ แต่...ไม่เข้าใจจริง ๆ ว่าการถูยางสนจะไปเพิ่มความยืดให้แก่สายได้อย่างไร สายจะยืดได้หรือ?  ถ้าเขียนว่าเพิ่มความฝืด ก็ยังพอจะเข้าใจได้  งั่ม ๆ อ่านแล้วเป็นงงฮับ!




แล้วเจ้าภาพกลองคู่นั้น ผมมองยังไง ๆ มันก็ไม่ใช่แทมบูรีน (อย่างที่บรรยายไว้ใต้ภาพ)  ที่สำคัญข้างล่างยังมีคำบรรยายเพิ่มเติมอีกว่า

๒. แทมบูรีน (Tambourine) เป็นเครื่องดนตรีที่ขึงหน้ากลองด้วยหนังสัตว์ การดูแลรักษาควรระมัดระวังอย่าให้หน้ากลองโดนน้ำ เพราะจะทำให้หน้ากลองหย่อนหรือชื้นและทำให้ขึ้นราได้....

เอ.... เท่าที่เคยมีเพื่อนที่เล่นกลอง ผมก็เห็นเค้าเรียกเจ้าเครื่องดนตรีนั้นว่า "บองโก้"  แล้วเรียกเครื่องดนตรีในภาพต่อไปนี้ว่า Tambourine...


อย่างในตารางต่อไปนี้ก็ไม่ชัดเจนเช่นกัน....




Sitar เป็นเครื่องดนตรีที่มี Fret เหมือนกับ Vina แต่เป็น fret ชนิดที่ปรับได้ (movable frets) ถ้าจะจัดให้อยู่ในเครื่องดนตรีประเภทไม่มี Fret น่าจะไม่ตรงกับความเป็นจริงนัก!

ส่วนเรื่องการสะกดผิดนั้นผมไม่ต้องพูดถึง เพราะมีให้เห็นหลายแห่ง แม้แต่ชื่ออาจารย์ผมทั้งสองท่าน (หน้า ๑๖๘) ก็ยังเขียนนามสกุลไม่ค่อยถูกเลยครับ เขียนว่า บรู๊ช เคสตัล และ ดนู อันตระกูล

ใน wikipedia ภาคภาษาไทยมีชื่ออาจารย์ บรูซ แกสตัน  และอาจารย์ดนู ฮันตระกูล ให้ได้ค้นคว้าทำความรู้จักด้วยจ้า...

ผมเขียนเพื่อแสดงความคิดเห็นแบบชาวบ้านธรรมดา ๆ ผู้ไม่ได้เป็นทั้ง ผศ. รศ. หรือ ดร.  โปรดให้อภัยด้วยนะครับ...

1 comment:

bim said...

555 โคตรมั่วเลยจริง ๆ ....ถ้าเป็นรายงานส่งครูก็ว่าคะแนนกันไป แต่เป็นตำรานี่ปวดตับ พอกับดูคลิปแบตหญิงคู่แย่งกันแพ้ในโอลิมปิค