Wednesday, March 10, 2021

บ้านเรา

ผมรู้สึกดีใจที่เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตตอนเป็นเด็ก ม.ว. (บางคนเรียกว่า "หมาว้อ") แล้วมีเพื่อนนักเรียนมงฟอร์ต ๐๘ เข้ามาเม้นท์ พร้อมกับช่วยกันขุดคุ้ยหาอดึตเสมือนดั่งว่ากำลังหาสมบัติโกโบริเลยทีเดียว...  

เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๕๗  ผมเขียนเรื่อง "ปั้นถ้วย" ใจความส่วนหนึ่งว่า...

จำได้ว่าตอนเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนมงฟอร์ตฯ  ในวิชา"ศิลปะ" นอกจากวาดเขียนแล้ว มาสเตอร์วิชิต เวียงทองยังสอนให้นักเรียนได้ทำงานปั้น และงานแกะสลักด้วย  งานแกะสลัก...นักเรียนต้องซื้อแผ่นกระดานไม้สัก หนาประมาณนิ้วครึ่ง กว้างฟุตกว่ามาคนละแผ่น มาสเตอร์จะใช้ดินสอวาดรูปช้างให้ แล้วให้นักเรียนนำกลับไปแกะสลักที่บ้าน ผมใช้เวลาเป็นเดือนสำหรับงานนี้ ทุกสัปดาห์ต้องนำไม้กระดานของตัวเองใส่ท้ายรถจักรยานไปโรงเรียนด้วย....ตอนนั้นไม้สักถูกมาก ทำลายป่ากันยับเยิน  ส่วนงานปั้น...ผมจำได้เช่นกันว่ามาสเตอร์ให้นักเรียนปั้นถ้วยกาแฟ...
ผมต้องขี่จักรยานไปซื้อดินเหนียวที่ "โรงถ้วย" อยู่เยื้องกับวิทยาลัยครูเชียงใหม่ ทางด้านซ้ายมือ แถวนั้นยังเป็นพงหญ้าอยู่เลย  ที่นั่นมีดินเหนียวจำหน่าย ได้ดินเหนียวมาแล้วก็ต้องนำไปขึ้นรูป ใส่หูจับ และตกแต่ง   เมื่อปั้นเสร็จ มาสเตอร์ก็ส่งไปเผา เสร็จแล้วก็นำมาคืน นักเรียนทุกคนดีใจมาก ๆ เพราะเค้าลงสีมาให้ด้วย สวยครับ นักเรียนนำผลงานกลับบ้านได้ นั่นคือความประทับใจที่ได้เรียนกับมาสเตอร์วิชิต เวียงทอง...

วันนี้อยากเขียนต่ออีกเกี่ยวกับวิชาภาษาไทยครับ  จำไม่ได้แล้วจริง ๆ ว่า..ใครสอน??  (พี่ชายผมบอกว่าแกเรียนภาษาไทยกับมาสเตอร์สมบูรณ์) 

เจ้าพญาขี้ไคล (เด๋วจะเล่าเรื่องชื่อนี้ให้ฟัง อิอิ) ได้เรียนเรื่องโคลงกลอน แล้วทดลองแต่งตามฉันทลักษณ์ที่ได้เรียนมา ผมบันทึกไว้ในสมุดเงินซึ่งเป็นสมุดบันทึกภาพเล่มแรกว่าดังนี้...

บ้านเรา

บ้านเอ๋ยบ้านเรา คนอื่นเขาอิจฉาเป็นบ้าหลัง

เพราะบ้านเราแสนสกปรก รกรุงรัง มีที่นั่งฝุ่นจับนับเป็นเดือน

อีกที่นอนหมอนมุ้งไม่เคยเก็บ นกตะเข็บแฝงกายเพื่อหมายเฉือน

ทั้งจิ้งจกนกหนูก็มาเยือน โธ๋หนอ! เรือนของเราเศร้าจริงเอย


ผมแต่งบทกลอนเรื่องบ้านเรา เพื่อพรรณาถึง" บ้าน" ตัวเอง (my home) ดังที่ได้วาดรูปไว้ (ด้วยฝีมือที่ใช้ไม่ได้เอาเสียเลย)

เคยถ่ายรูปสวนลิ้นจี่พ่อเลี้ยงหม่องซึ่งอยู่ข้างบ้าน (ติดถนนทุ่งโฮเต็ล ซอย ๓) เลยนำมาตัดแล้วแปะติดไว้ (ต่อเสาไฟ) มองเห็นท้องฟ้า ต้นลิ้นจี่ และต้นมะพร้าว...

อ่อ... ร่ายสุภาพก็ได้เรียนครับ เว็บวรรณคดีน่าอ่านกล่าวว่า...

ร่ายสุภาพ เป็นคำประพันธ์ชนิดหนึงที่มีบังคับสัมผัสและการลงท้าย ร่ายสุภาพบทหนึ่งมีตั้งแต่ ๕ วรรคขึ้นไป แต่ละวรรคกำหนดให้มี ๕ คำ แต่ไม่กำหนดว่าจะต้องมี   กี่บทหรือกี่บาท จะแต่งให้ยาวเท่าไรก็ได้จนกว่าจะจบเนื้อความ สัมผัสบังคับของร่ายสุภาพ กำหนดให้คำสุดท้ายของวรรคหน้าส่งสัมผัสไปยังคำที่ ๑ หรือที่ ๒ หรือที่ ๓ เพียงดำใดคำหนึ่งในวรรคถัดไป มีข้อกำหนดสำคัญ ๒ ประการ คือ ๑. คำสุภาพ (คำที่ไม่มีรูปวรรณยุกต์) ถ้าคำสัมผัสเป็นคำสุภาพก็ต้องส่งสัมผัสกับคำสุภาพด้วยกัน แต่ถ้าคำสัมผัสเป็นคำที่มีรูปวรรณยุกต์ก็ต้องส่งสัมผัสกับวรรณยุกต์เดียวกันเท่านั้น  ๒. ร่ายสุภาพ จะต้องจบด้วยโคลงสองสุภาพเสมอ
ผมหัดเขียนร่ายสุภาพไว้ยังไงน้า??  ต้องเอามาให้ดูกัน อิอิ อายจัง

โอ้บุคลวิชัย นามแสนไกลเก่งกล้า อยู่กับย่าแต่เด็ก บ้านหลังเล็กอาศัย
แต่เมื่อใหญ่ไกลย่า ไม่รื่นร่าเริงเลย ครั้นเมื่อเคยมากขึ้น ก็ค่อยชื่นใจล้ำ
นั่งรถข้ามจังหวัด ตามจำกัดจำนวน เริ่มแปรปรวนชีวิต เข้าใกล้ชิดพ่อแม่
พึ่งเรียนแค่ปอสาม ไม่ต้องหามตากตรำ เพราะพ่อทำให้ใช้ ไร้ซึ่งโรคโรคา
พอย่างมาเจ็ดปี บัดนี้มีกำหนด เริ่มจับจดการบ้าน เรื่องคร้านเรียนเริ่มขึ้น
แต่ขอชื่นคุณพระ ขอเพื่อจะรักษา

โอ้พระคุณเที่ยงแท้ พ่อแม่นภาแพ้ พี่น้องเจริญ ยิ่งเอย

เดี๋ยวเล่าต่อครับ...

No comments: