Tuesday, November 30, 2010

Light through the window…

ในช่วงที่สมองมีหลายเรื่องหลายประเด็นที่อยากจะคุย บางครั้งกลับกลายเป็นว่ามันทำให้เขียนไม่ออกไปเลยก็มี...



ยิ่งเช้านี้พอผมได้เห็นวิดีโอคลิปชิ้นนี้ มันเหมือนกับมีแสงสว่างสาดส่องเข้ามาทางหน้าต่าง เป็น vision ใหม่ ซึ่งก่อนหน้านั้นผมไม่เคยคิดว่าเจ้ากล้องหรือโทรศัพท์ตัวเล็ก ๆ จะสามารถถ่ายวิดีโอหรือภาพเคลื่อนไหวพร้อมเสียงได้ชัดเจนและลื่นไหลได้ถึงเพียงนี้…

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ในขณะที่นั่งสอนอยู่ตรงเปียโน ผมเห็นแว๊บ ๆ อยู่เหมือนกันว่าผู้ปกครองของนักเรียนยกกล้องขึ้นถ่ายภาพ แต่ก็คิดว่าคงเป็นแค่เพียงการถ่ายภาพนิ่งของลูกสาวเพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึก ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคุณแม่ของน้องมะเหมี่ยวได้ถ่ายวิดีโอภาพการเรียนการสอนช่วงหนึ่งเก็บไว้ และกรุณา upload ให้ได้ดูบน YouTube!


แสงสว่างที่เข้ามาทางหน้าต่างมันทำให้ผมเกิดความคิดมากมาย ต้องขอขอบคุณ uploader ที่ทำให้ผมได้เห็นตัวตนจากภาพที่มองผ่านเลนส์ของกล้องตัวเล็กแต่มีประสิทธิภาพสูง 

และได้เห็นความน่ารักของเด็ก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือน้องเจ้าขา!

Monday, November 29, 2010

กำไรชีวิต...

เช้านี้อากาศกลับมาหนาวเย็นอีก  เท่าที่ผ่านมานี้ผมยังไม่ต้องค้นหาเสื้อกันหนาวออกมาสวมใส่ ทั้ง ๆ ที่เดือนธันวาคมก็มาแล้ว เนี่ยถ้าหากธรรมชาติไม่แปรปรวน ร่างกายผมก็คงจะแปรเปลี่ยน หน้งคงจะหนาขึ้น ทำให้ไม่รู้ร้อนรู้หนาว (ฮา)...



เมื่อคืนนี้คลิกดูหนังเรื่อง Titanic 1997 อีกครั้ง กว่าจะจบก็เกือบตีสาม ตื่นเช้ามองนาฬิกา โห...๘ โมงกว่า รีบลุกขึ้นจัดอาหารให้พี่ชาย นำลงไปให้แล้วออกไปฉีดยา (สารสกัดจากสะเดา) ต้นไม้ พอกลับขึ้นมาชั้นสาม ดูนาฬิกาอีกที พบว่าเพิ่ง ๗ โมงกว่า แสดงว่าผมปฏิบัติหน้าที่ก่อนกำหนด ๑ ชั่วโมง ต่อนี้ไปทุกโมงยามที่ได้อยู่ดูโลกก็ถือว่าเป็นกำไรแล้วล่ะ...

พูดถึงเรื่องไวโอลิน ผมอยากรายงานถึงความก้าวหน้าของเด็ก ๆ ที่มาเรียนเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่ามีมาทั้งหมด ๕ คน ขาดน้องเดียร์และโดโด้...

ความจริงแล้วผมต้องการสอนโดโด้แบบเดี่ยว ๆ เพื่อให้สามารถตามเพื่อนนักเรียนคนอื่นได้ แต่ติดอยู่ตรงที่ยังหาเวลามาเรียนไม่ได้ ผมไม่อยากเห็นโดโด้ยืนจับโวโอลินอยู่เป็นชั่วโมงโดยไม่ได้ทำอะไร โดโด้เปลี่ยนแปลงจากเมื่อปีที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด จากเด็กที่เคยไม่อยู่นิ่งกลับสามารถยืนอยู่ข้างผม จับไวโอลินตามพี่ ๆ รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างก็ยืนอยู่ได้โดยไม่วางเครื่อง ไม่บ่นหรือก้าวออกจากตำแหน่งจนกว่าจะถึงเวลาพัก ผมรู้สึกแปลกใจมากที่เวลาผ่านไปเพียง ๑ ปี เด็กชายตัวน้อยเปลี่ยนไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ


ไม่เป็นไรครับ สัปดาห์นี้น้องเดียร์และโดโด้ยังไม่มาก็ไม่เป็นไร ผมสอนนักเรียนที่มีอยู่ให้ก้าวเดินต่อไปทันที เริ่มต้นด้วยการทบทวนแบบฝึกหัดเดิม ๆ แล้วแนะนำบทเรียนใหม่ ผม improvise การสอนไปเรื่อย ๆ โดยยังไม่เริ่มบทเรียนของซูซูกิ คิดว่าจะเร็วเกินไปสำหรับเด็กน้อย ขอใช้แบบฝึกหัดที่คิดขึ้นเองก่อนจะดีกว่า

ผมเริ่มสอนให้จับไวโอลินในท่าพัก ท่าพร้อมเล่นสายปล่อย ฝึกจับคันชัก เคลื่อนไหวในลักษณะขึ้น-ลงลิฟท์ วิธีนำโวโอลินออกจากกล่อง ถูยางสน ปรับหางม้า ตั้งสาย เก็บเครื่องลงกล่อง ฯลฯ  แบบฝึกหัดที่ใช้ก็มี การสีแบบรถไฟและการสีโน้ตตัวกลม ช่วงนั้นมีการทำเครื่องช่วยที่เรียกว่า bowing aid จากกระดาษกล่องพัสดุด้วย

เมื่อนักเรียนผ่านการทดสอบขับรถไฟให้ตรงทาง สีถูกเส้นถูกสาย ผมก็เริ่มให้เปลี่ยนจากการใช้มือซ้ายจับที่ตัวไวโอลินให้ไปจับที่คอไวโอลิน แต่ละขั้นตอนต้องก้าวเดินไปอย่างช้า ๆ ช่วงนี้แหละที่นักเรียนจะได้เริ่มเล่นนิ้ว ๑ โดยใช้แบบฝึกหัดที่ชื่อว่า เรโด-เรโด นักเรียนจะได้ฝึกสีกับสายทั้ง ๔ สายและได้รู้จักกับการเล่นโน้ตตัวกลม ตัวดำ และตัวขาว

ต่อไปก็ให้เพิ่มการใช้นิ้วสองโดยใช้แบบฝึกหัดที่ผมเรียกชื่อว่า โดเรมีเรโด ตามมาด้วยการใช้นิ้วสามเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งนิ้วโดยใช้แบบฝึกหัดที่เรียกว่า โดเรมีฟา-ฟามีเรโด ซึ่งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมานักเรียนก็ได้เริ่มฝึกกันแล้ว ต้องยอมรับว่ายากขึ้นมาก ผมต้องให้นักเรียนเล่นสลับกับเสียงเปียโน ซ้ำไปซ้ำมา และกำชับให้กลับไปซ้อมที่บ้านให้มาก ๆ ด้วย นอกจากฝึกเล่นไวโอลินแล้ว นักเรียนยังได้ฝึกการขับร้องเป็นโบนัส บาร์บี้เสียงดีและร้องไม่ผิดคีย์ ส่วนเจ้าขานั้นร้องงึ่มงั่ม ๆ แต่กล้าแสดงออก

ได้สอนเด็ก ๆ ก็เป็นกำไรชีวิตแล้วครับ

Sunday, November 28, 2010

ผมเห็นเค้ายืนอยู่ที่นั่น!

ขณะใช้บริการค้นหาของ Google อยู่ ๆ ผมก็เจอบทความที่เคยเขียนไว้ในหัวข้อที่ว่า "ผมเห็นเค้ายืนอยู่ที่นั่น!"  ทีแรกคิดว่ามันคงหายไปตั้งแต่ครั้งที่ผมลบและล้างไฟล์บน server ใหม่หมด ผมก็เลยขอถือโอกาสนำมาเก็บไว้ในบล็อกนี้อีก  



เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๒ เขียนไว้ว่า "ช่วงบ่าย ๆ มีโอกาสขับรถผ่านโรงเรียนมงฟอร์ตฯ สถาบันที่เคยเรียนตั้งแต่ชั้นประถม ๓ จนถึง ม.ศ.๓ ผมจอดรถที่หน้าประตูรั้วโรงเรียนซึ่งไม่เคยย่างผ่านเข้าไปอีกเลยนับจากจบการศึกษาเมื่อต้นปี ๒๕๐๙ ผมเดินไปที่ประตูแล้วค่อย ๆ ยื่นกล้องถ่ายรูปผ่านซี่กรงเหล็กเข้าไปบันทึกภาพอาคารเรียนสามชั้นซึ่งอยู่ทางด้านใต้..."



ภาพขาวดำสแกนจากอนุสรณ์ ม.ศ. 3 2506
ผ่านมากว่า ๔๐ ปีอาคารสถานที่ของโรงเรียนมงฟอร์ตยังคงไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ประตูทางเข้าจะอยู่ทางด้านเหนือ ส่วนประตูด้านใต้เป็นทางออก ผมรำลึกถึงภาพในอดีตได้ทันทีเมื่อไปยืนอยู่ตรงนั้น บนถนนหน้าอาคารเรียน ๓ ชั้น ผมเห็นเด็กชายรูปร่างผอมกะหร่องสวมชุดนักเรียนสกปรกมอมแมมกำลังปั่นจักรยานสู่ประตูทางออกเพื่อมุ่งหน้ากลับบ้าน จากจุดที่ผมยืนเมื่อมองตรงไปข้างหน้า หากย้อนกลับไปยังวันแรกที่ถูกส่งตัวเข้าเรียนชั้น ป.๓ ผมจะเห็นอาคารเรียนเก่า ๆ ชั้นเดียวและร้านก๋วยเตี๋ยวเจ็กเพ้งอยู่ตรงนั้น ภาพในอดีตเลือนลางเหลือเกิน รู้แต่ว่าขณะนั้นยังไม่มีอาคารเรียนสูง ๆ 

ภาพขาวดำสแกนจากอนุสรณ์ ม.ศ. 3 2506
นอกจากอาคารปูนชั้นเดียวแล้วยังมีอาคารสองชั้นหลังยาวอยู่ทางด้านเหนือ ทางด้านข้างเป็น "โฮงรถ" โรงเก็บรถที่มีจักรยานจอดเต็มไปหมด สนามบาสฯ มีต้นยูคาลิบตัสปลูกอยู่ รวมทั้งสนามบอลหน้าตึกอธิการ... 

ภาพขาวดำสแกนจากอนุสรณ์ ม.ศ. 3 2506
ภาพข้างบนนี้คือตึกอธิการ เห็นลำโพงที่อยู่ตรงหน้าต่างนั่นมั้ยครับ? เย็นวันหนึ่งมีเสียงดังเรียกผมออกลำโพงให้ไปรับโทษ (โดน Bad Note 8) เพราะโดดเรียนไปเที่ยวน้ำตกห้วยแก้วกับสมศักดิ์ ลีลาภัทร์ แล้วปลอมลายเซ็นผู้ปกครองในใบลา ผมเดินขึ้นบันได เลี้ยวขวาไปให้บราเธอร์ฟาดก้นด้วยไม้เรียวเสียงดังขวับ ๆๆ 

ที่ยังคงฝังใจอยู่ก็คือการเปิดเทอมวันแรก ห้องเรียนชั้นประถม ๓ อยู่ ณ อาคารชั้นเดียวซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นแค่เพียงภาพในจินตนาการ วันนั้นเป็นวันแรกของเด็กชายทักษิณ ชินวัตรด้วยเช่นกัน บนโต๊ะเรียนและเก้าอี้แบบนั่งคู่กัน ลูกคนชงกาแฟตัวจริงได้นั่งคู่กับเด็กชายผู้ได้กลายมาเป็นนายกรัฐมนตรี ผมจำได้แค่ว่าครูประจำชั้นให้นักเรียนใหม่ได้แนะนำตัว เราสองคนต้องยืนบนเก้าอี้เพราะตัวยังเล็กอยู่!  จากเด็กประถมจนเป็นเด็กมัธยม ชีวิตนักเรียนเจริญวัยไปตามกาลเวลา ดูเหมือนว่าทักษิณกับผมจะไม่เคยแยกชั้นเรียน แต่เราก็ไม่ได้นั่งร่วมโต๊ะกันอีก... 

ขณะที่บันทึกภาพด้วยกล้องดิจิตอลมือสองราคา ๑,๖๙๐ บาท ที่ยื่นผ่านประตูรั้วเข้าไป ผมพยายามมองหาห้อง C ให้ได้  แต่มันไกลเกิน ได้แต่คะเนว่ามันคงจะอยู่ใกล้ ๆ กับรถปิคอัพคันที่จอดหันหน้าออกนั่นแหละ

ภาพจากหนังสืออนุสรณ์ มศ.3 2506
ห้องเรียนชั้น ม.ศ. ๓ อยู่ชั้นล่าง เริ่มจากห้อง A ห้อง B ห้อง C และห้อง D วันนั้นในช่วงพักบรรดานักเรียนจะออกมายืนคุยกันตรงระเบียงหน้าห้องเรียน ภาพของทักษิณกลับเข้ามาให้เห็นอีกครั้ง เป็นวันที่ผมโดนนักเรียนโตกว่าแกล้ง ทักษิณซึ่งตัวโตเช่นกันได้เข้ามาห้ามแล้วพูดว่า "คิงไปคั่มมันนะบ่ะ"  (มีความหมายว่าเอ็งอย่าไปแกล้งมันนะโว้ย)  นั่นคือเหตุการณ์เมื่อ ๔๔ ปีที่แล้วเกิดตรงระเบียงที่มองเห็นได้จากระยะไกล ผ่านไปแล้วกว่า ๔ ทศวรรษ ผมไม่รู้เหมือนกันว่าทุกวันนี้คุณทักษิณจะคิดถึงบ้านมากน้อยแค่ไหน? 

ทุกครั้งที่ผมผ่านโรงเรียนมงฟอร์ต ผมก็ยังคงเห็นเค้ายืนอยู่ที่นั่น!

Saturday, November 27, 2010

3 Centuries of German Music

J.S. Bach : ภาพจาก wikipedia
ก่อนเข้าเรียนดนตรีที่พายัพ ถ้าถามผมว่า J.S. Bach คือใคร ผมไม่รู้จัก  แต่พอเรียนไปได้ประมาณปีครึ่ง ผมก็มีโอกาสร้องเพลงของ J.S. Bach ในคอนเสิร์ท "3 Centuries of German Music" เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๒๐ นับเป็นประสบการณ์ครั้งแรกในชีวิตของอดีตช่างซ่อมเครื่องมือแพทย์ที่ได้ขึ้นไปยืนอยู่บนเวทีคอนเสิร์ทในตำแหน่งนักร้องเสียงเบส Payap College Choir

ครั้งนั้นผมมีโอกาสได้เห็นวงดนตรี Pro Musica String Quintet ภายใต้การนำของ ม.ล. อัศนี ปราโมช บรรเลงเพลง kleine Nachtmusik - Allegro, เพลงเขมรไทรโยค และ ลาวดวงเดือน ยืนอยู่ใกล้ผู้บรรเลง...ผมได้ยินเสียงเครื่องสายเต็มหู ได้เห็นท่าทางของนักดนตรีเต็มตา สัมผัสกับความไพเราะของดนตรีคลาสสิกอย่างเป็นรูปธรรมในวันนั้นเอง...


คอนเสิร์ท 3 Centuries of German Music เปิดแสดง ๒ รอบที่หอประชุมคณะแพทย์ศาสตร์ ผมยังมีสูจิบัตรเก็บไว้อยู่เลย มันเป็นสูจิบัตรที่ผมอาสาเป็นผู้จัดทำ โดยลงมือเองทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ การติดต่อโรงพิมพ์ การตรวจปรู๊ฟ และการหาสปอนเซอร์ ยังจำได้เลยว่าผมไปใช้บริการของโรงพิมพ์ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ เชียงใหม่อาเขต เจ้าของโรงพิมพ์ยังบอกผมเลยว่าการทำกิจกรรมเสริมจะเป็นประสบการณ์ที่สามารถนำไปใช้ได้ในอนาคต

วันนี้ได้กลับไปดูแผ่นปกที่ผมออกแบบไว้เมื่อ ๓๓ ปีที่แล้ว จำได้ว่าโน้ตเพลงของ Bach เป็นภาพที่ผมถ่ายเอกสารจาก Encyclopedia เล่มใหญ่ ผมขอให้พิมพ์ปกหน้าและปกหลังด้วยสีเทาเงิน ส่วนอีก ๖ หน้าซึ่งอยู่ด้านในพิมพ์ด้วยอักษรสีน้ำเงิน









เพื่อน ๆ ที่รักครับ ขอให้ผมได้สแกนและนำภาพทั้ง ๘ หน้าของสูจิบัตรที่ผมทำไว้มาลงที่นี่ด้วย มันอาจจะดูไร้สาระ แต่จริง ๆ แล้วมีข้อมูลน่าสนใจแฝงอยู่ ทุกตัวอักษรที่ปรากฏสามารถเล่าเหตุการณ์ได้หมด อย่างเช่นในโฆษณาทั้ง ๗ ราย เริ่มจาก Duangjitt House รายนี้พี่ชายผมช่วยขอสปอนเซอร์ให้ได้เพราะเป็นครูสอนพิเศษของลูกเจ้าของร้าน (ผมยังจำได้ถึงตอนที่ไปปรึกษาอาจารย์ Carolyn เกี่ยวกับการใช้คำว่า genuine) ร้านมิตรภาพฟิล์มก็ให้การสนับสนุนเพราะพี่ชายผมเป็นครูสอนพิเศษเช่นเดียวกัน ส่วนโรงเรียนเทพประสาทพณิชยการ เชียงใหม่ก็เป็นโรงเรียนที่พี่ชายผมสอนอยู่ในขณะนั้น

ร้าน Sandwich Bar ผมรู้จักดีตั้งเมื่อครั้งที่ เล่นดนตรีอยู่ที่ภัตตาคาร"ศรีสุรางค์" ผมไปขอสปอนเซอร์แล้วยังต้องออกแบบโฆษณาให้ด้วย ส่วนที่ห้างหุ้นส่วน แอล.วี.เอ็ม. ผมเข้าไปขอการสนับสนุนจากคุณรักษ์ ว่าไปแล้วก็คิดถึงท่านอยู่เหมือนกัน แต่ก่อนนี้ถ้าจะซื้อเครื่องดนตรีก็ต้องไปหาท่าน ไม่ทราบว่าปัจจุบันนี้ท่านจะยังมีชีวิตอยู่หรือไม่?  บริษัทเปรมประชาขนส่งผมก็ไปหาคุณน้อง (เพื่อนของบรรจงและประยูร) ซึ่งเป็นเจ้าของปั้มน้ำมันตราดาว และรายสุดท้ายก็คือ CACC เชียงใหม่แอร์คลีนิคของธีรชัย เพื่อนที่เรียนด้วยกันที่เทคนิค...


บัตรที่เห็นผมสั่งพิมพ์ที่โรงพิมพ์เดียวกันกับที่พิมพ์สูจิบัตร...

ทุกวันนี้นอกจากผมแล้ว คงไม่มีใครจำ "3 Centuries of German Music" ได้!

E.E. News

ผมชอบอ่านและชอบขีดชอบเขียนมาตั้งแต่เมื่อตอนเป็นเด็กนักเรียนแล้วหละ  เคยฝันที่จะมีโรงพิมพ์ของตนเองและทำนิตยสารออกจำหน่าย อยากเป็นนักเขียน อยากเป็นบรรณาธิการ อยากเป็นช่างศิลป์ ทั้ง ๆ ที่เกือบตกวิชาภาษาไทยมาโดยตลอด ส่วนวิชาวาดเขียนก็ไม่เคยได้คะแนนดี...


ตอนเรียนช่างไฟฟ้าที่วิทยาลัยเทคนิคภาพพายัพ ผมตั้งสำนักพิมพ์ขึ้นเล่น ๆ โดยให้ชื่อว่า "สำนักพิมพ์ลมม้า" ตั้งตัวเองให้เป็นทั้งบรรณาธิการและนักเขียน ออกหนังสือเกี่ยวกับไฟฟ้า-อีเลคทรอนิคส์ ในชื่อว่า "A.M. Electronics" ตอนนั้นผมเขียนเองอ่านเอง โดยมีบรรจงเพื่อนสนิทเป็นผู้เขียนภาพประกอบ ฉบับสุดท้าย ฉบับที่ ๓ เดือนพฤษภาคม ๒๕๑๐ ไม่คลอด เพราะผมเขียนได้เพียงครึ่ง ๆ กลาง ๆ

ขอสแกนที่นายมือบอนตอบปัญหา Electronics มาให้ดูหน่อยละกัน...


บ้าไหมล่ะ? ผมถามเองตอบเอง โดยใช้ปากกาคอแร้งเบอร์ ๓ จุ่มน้ำหมึกอินเดียนอิ้งค์  เขียนตอบไปเรื่อย ๆ หากหมึกเลอะก็ใช้กระดาษซับซับ...

พอไปเรียนอยู่เทคนิคกรุงเทพ ปี ๒๕๑๓ ผมก็ทำ E.E. News โดยใช้เครื่องพิมพ์ดีดแบบกระเป๋าหิ้วซึ่งยืมจากเพื่อนที่ชื่อวิบูลย์ โตทอง ผมนั่งพิมพ์อยู่ที่ห้องในหอพักจำนงค์ แล้วก็นำไปให้เพื่อน ๆ แผนกอีเล็คทรอนิคส์ชั้นปีที่ ๔ ได้อ่านกัน ครั้นไปเรียนที่ดุริยศิลป์ ปี ๒๕๒๐ ผมก็พิมพ์ "ดุริยสาร" ด้วยเครื่องพิมพ์ที่ซื้อเอง แล้วนำไปติดไว้ที่บอร์ดตึกดนตรีให้เพื่อน ๆ อ่าน...

วันนี้ผมอยากจะสแกน E.E. News ฉบับที่ยังคงเหลืออยู่ให้เพื่อน ๆ ได้ดูซักหน่อย มีด้วยกัน ๘ หน้า ประกอบด้วยการ์ตูนเสียเป็นส่วนใหญ่









ที่ตึกอีเล็คทรอนิคส์ มีพื้นที่ว่างใต้ถุนตึกซึ่งใช้เป็นที่เล่นฟุตบอลในร่มได้ นักศึกษารอบเช้าปี ๔ ได้ตกลงที่จะแบ่งออกเป็น ๔ กลุ่ม เรียงรายชื่อตามลำดับตัวอักษร ได้เป็น หมู่ ๑ ถึงหมู่ ๔ แต่ละหมู่ก็จะจัดทีมนักเตะจำนวน ๕ คน ซึ่งประกอบด้วย กองหน้า ๒, กองหลัง ๒ และผู้รักษาประตู จากนั้นก็จัดให้มีการแข่งขันแบบพบกันหมด โดยใช้เวลาช่วงพักรับประทานอาหารกลางวัน ผมอยู่หมู่ ๔ แต่ไม่ได้ลงแข่งขันกับเค้าหรอก ขอทำหน้าที่ผู้สื่อข่าวและบรรณาธิการ E.E.News

จำไม่ได้แล้วว่ากิจกรรมเตะลูกพลาสติกของนักศึกษาปี ๔ ที่ใต้อาคารอีเล็คทรอนิคส์ในช่วงปี ๒๕๑๓ มีที่มาอย่างไร ตอนนั้นคำว่า ฟุตซอล (Futsal) ก็ยังไม่ปรากฏ มันเป็นภาพที่ยังคงประทับใจของนักศึกษารุ่น "ตึกพัง" บางคน  หลายคนอาจจะลืมเลือนไปแล้วก็ได้ แต่ถ้าเขาเหล่านั้นได้มาเห็นภาพ E.E.News ฉบับนี้ คงจะระลึกได้ถึงความสนุกสนานของนักศึกษาทั้งห้อง ก และ ห้อง ข ในช่วงเวลานั้น...

น่าเสียดายที่ไม่มีใครในหมู่ ๑ ถึง ๔ ที่จะได้เห็น E.E. News ฉบับนี้!!

Friday, November 26, 2010

พี่อู๊ดแวะมาเยี่ยม…

บ่ายวันนี้...เพื่อนบ้านนำเงินมายื่นให้ ๑,๐๐๐ บาท พร้อมกับกระดาษแผ่นเล็ก ๆ เขียนว่า...


พี่อู๊ดคือลูกของลุงซึ่งจัดว่าเป็นญาติผู้พี่ที่ผมใกล้ชิดมากที่สุด ทั้งนี้เพราะพี่อู๊ดไปเรียนที่ ม.ช. ในช่วงที่ผมเรียนอยู่ที่มงฟอร์ต ทำให้ผมมีโอกาสได้เจอะเจอและพูดคุยด้วยในช่วงที่พี่อู๊ดไปเยี่ยมเยียนแม่ปราณีที่บ้าน ร้านกาแฟไทยประเสริฐ ถนนเจริญเมือง พี่อู๊ดเคยพาไปดูหนังด้วยล่ะ ผมจำได้แม้กระทั่งคำแนะนำที่พี่อู๊ดบอกให้ผมสวมแว่นตาให้ติดตา ไม่ใช่นำออกมาใส่เฉพาะเวลาดูหนัง...

ผมมีภาพเก่าภาพแก่อยู่ภาพหนึ่ง ดูแล้วบอกไม่ได้ว่าพี่อู๊ดคือเด็กชายคนไหน แต่ที่รู้แน่ ๆ คือตัวเองซึ่งยังเล็กมาก คุณแม่ต้องอุ้ม...


พี่อู๊ดปลดเกษียณได้หลายปีแล้ว แต่ก็ยังดูแข็งแรงและหน้าตาดี ตั้งแต่วันเผาศพคุณแม่ที่วัดพระบาท ผมได้เจอพี่อู๊ดอีกครั้งก็ที่บ้านหลังที่อยู่ทุกวันนี้เมื่อหลายปีก่อน ตอนนั้นพี่อู๊ดไปต่างจังหวัดผ่านมา ยังไม่รู้จักบ้านผม แต่พี่อู๊ดก็เที่ยวถามหาจนเจอ มาตะโกนเรียกอยู่ที่หน้าบ้าน ผมชะโงกหน้าจากชั้นสามลงไปดู เห็นคนที่ยืนเรียกอยู่ข้างล่างแต่ยังจำไม่ได้ ตอนนั้นพี่อู๊ดดูไม่แก่เลย มาเยี่ยมแล้วยังให้เงินไว้ใช้อีก ๑ พันบาท

วันนี้แวะมาเยี่ยมอีกแต่ไม่เจอ พี่อู๊ดฝากเงินไว้ให้อีกเช่นเคย ผมขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูง

Friday, November 19, 2010

เข้าเมืองเปลืองตังค์…

ผมตั้งใจตั้งแต่เมื่อวานนี้แล้วว่าเช้านี้ต้องเข้าเมืองให้ได้ หลายวันมาแล้วบุรุษไปรษณีย์นำพัสดุมาส่ง เค้าเขย่าประตูพอเป็นพิธีแล้วจากไป ผมไม่โทษเค้าหรอก เพราะนั่นถือได้ว่าการปฏิบัติหน้าที่สมบูรณ์แล้ว เมื่อประตูบ้านปิด เรียกแล้วไม่มาเปิด ก็ถือว่า "บ้านปิด ให้ไปรับเอง ณ ที่ทำการ" จบ! ง่ายดี! ไม่เป็นไรครับ ผมเข้าไปรับเองในเมืองก็ได้ อยากรู้จังว่าใครหนอส่งของมาให้...

อ่อ...บริเวณประตูหลังบ้านมีกลิ่นหนูเน่ากระทบผัสสะอยู่ได้เกือบอาทิตย์นึงแล้ว หลังจากที่ผมพยายามหาแหล่งที่มาของกลิ่นเหม็นมานาน ก็เพิ่งเจอเมื่อเช้านี้เอง ผมมองเข้าไปที่ซอกถังน้ำเห็นหางหนูโผล่ออกมาพร้อมกับกลิ่นฉุนกึ๊ก เน่าจนเละไปเกือบทั้งตัวก็ว่าได้ ผมต้องรีบขุดหลุมแล้วนำซากหนูไปฝัง ดีนะที่แก้ปัญหาเรื่องนี้ไปได้ ก่อนที่เด็ก ๆ จะมาเรียนไวโอลินในวันอาทิตย์

ก่อนออกเดินทาง ผมถ่ายรูปกองหินและทรายที่เตรียมไว้สำหรับการเทปูนในช่วงเย็นวันนี้ ที่เห็นเป็นส่วนผสมของหิน ๑๒ ถังและทราย ๘ ถัง...


มุ่งหน้าไปธนาคารก่อนเป็นจุดแรก ตังค์เหลือติดกระเป๋าแค่ ๒๐ กว่าบาท สภาพท้องถนนในตัวเมืองลำปางในช่วงที่ไม่ใช่ชั่วโมงเร่งด่วนจะเป็นอย่างที่เห็นในภาพที่เห็นนี่แหละ...


รถราไม่แออัดตลอดทั้งวัน นาน ๆ จะมีรถม้าวิ่งผ่านมาให้เห็น ตึกสูง ๆ ถูกคุมกำเนิดเอาไว้ ผมหลงใหลเมืองรถม้าก็ตรงนี้แหละ ที่เห็นในภาพคือ บริเวณสี่แยกดอนปาน ถ้าเลี้ยวซ้ายก็ไปสถานีรถไฟ เลี้ยวขวาไปบิ๊กซีและสถานีขนส่ง แต่ถ้าตรงไปก็จะเป็นสี่แยกเพ็ญทรัพย์ เทศบาล และห้าแยกหอนาฬิกา...

ผมต้องแวะไปเบิกตังค์ที่ธนาคารกสิกรไทยสาขาถนนฉัตรไชยก่อน ที่นั่นบริการเค้าน่าประทับใจจริง ๆ ครับ เจ้าหน้าที่คนสวยเข้ามาช่วยเขียนใบถอนให้ ผมมีหน้าที่แค่เซ็นชื่อแล้วไปนั่งรอเบิกเงิน พนักงานสาวคนที่เคยยืนรอเปิดประตู กล่าวสวัสดี และคอยให้ความช่วยเหลือลูกค้าอยู่ด้านนอกได้รับเลื่อนตำแหน่งไปเป็น teller นั่งอยู่ในเค้าเตอร์แล้ว


ออกจากธนาคาร ผมตรงไปไปรษณีย์ พอเห็นกล่องพัสดุก็รู้ทันทีว่าป้าโรสฝาก Museli มาให้กินอีกแล้ว ดีใจมากครับ ถ้าป้าโรสได้เข้ามาฟังลุงน้ำชาคุย ก็อยากจะขอบคุณป้าโรส หวังว่าสักวันหนึ่งคงมีโอกาสได้ขอบคุณเพื่อนคนนี้ด้วยคำพูดจากปากตนเอง...


ที่ไปรษณีย์ผมถ่ายภาพไว้หลายบาน ขอนำมาให้เพื่อน ๆ ดูดังนี้...




จากนั้นผมก็ไปจ่ายค่า HiNet ที่ CAT หมดไป ๘๐๓ บาท ยังดีนะที่เค้าลดให้จากแต่ก่อนที่ผมต้องจ่ายเดือนละเป็นพัน หุหุ ตั้งแต่ใช้มาเนี่ยก็เกินสองหมื่นบาทแล้วล่ะ


เยื้อง ๆ กับ CAT มี super market ที่ชื่อว่า NV เป็นอีกแห่งหนึ่งที่ผมเลือกที่จะอุดหนุน เพราะเป็นห้างของคนลำปาง เช่นเดียวกับห้างเสรีและล้านทอง ไม่ต้องมีเครื่องปรับอากาศ ไม่ต้องมี cashier ที่ยกมือไหว้โดยอัตโนมัติปราศจากความรู้สึกหรือมีพนักงานมายืนยกมือไหว้สวัสดีอยู่ตรงทางลงบันไดเลื่อนก็ได้ ผมชอบห้างแบบนี้มากกว่า...


ซื้อเสบียงกลับบ้านหลายอย่าง ควักกระเป๋าอีก ๓ ร้อยกว่าบาท  จากนั้นก็นำจักรยานยนต์ไปเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ซ่อมไฟเลี้ยว และเปลี่ยนสปริงขาตั้ง หมดไปอีก ๑๖๐ บาท..


ก่อนกลับเข้าบ้าน ผมไปจ่ายค่าไฟฟ้า ๘๓๘.๖๑ บาท!  กลับเข้าบ้านแล้ว ยังต้องรีบบึ่งรถไปรับน้ำข้าวกล้องงอก ๒๐ ถุง จ่ายไปอีก ๑๐๐ บาท!

สรุปแล้ว เข้าเมืองเปลืองตังค์ ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ขออยู่บ้านดีกว่า...

Saturday, July 31, 2010

ก้าวต่อไป...

วันนี้ผมไม่ต้องออกไปสอนน้องบีมและน้องปัน ๆ...


อยากจะใช้เวลาในการปรับปรุงบล็อคให้ดูดีขึ้น  สิ่งแรกที่เปลี่ยน คือ theme ทำให้ได้ตัวอักษรใหญ่และอ่านง่ายกว่าเดิม และที่นับว่าเป็นการพัฒนาไปอีกก้าวหนึ่งคือ การนำวิดีโอมาเพิ่มโดยใช้ plugins ตัวใหม่ ต้องทดสอบดูก่อนนะครับว่า ความเร็วในการดาวน์โหลดจะแตกต่างกับใช้บริการของ YouTube มากน้อยแค่ไหน  แต่ที่แน่ ๆ คือ มันทำให้ผมอยากได้กล้องวิดีโอซักตัว เพื่อใช้ถ่ายเหตุการณ์ต่าง ๆ รวมทั้งภาพประกอบในบทเรียนที่กำลังจะนำขึ้น...

ผมคงต้องอดทนเล่นหีบเพลงไปอีกซักระยะนึง เพื่อรวบรวมทุนซื้อกล้องซึ่งคิดว่าจำเป็นสำหรับการเดินก้าวต่อไป...

ไม่ปิดกั้น

ทุกวันนี้เวลาที่ผมเห็นเด็กนักเรียนชั้นประถมวาดรูปหรือเขียนอะไรยึกยือลงในสมุดงาน ผมไม่เคยตำหนิ ประโยคที่ชอบพูดก็คือ ”เก่ง! อีกหน่อยจะเป็นนักวาดมีชื่อ”...

ไม่เคยปิดกั้นการแสดงออกของเด็ก ผมมีอะไรหลายอย่างที่แตกต่างกับครูคนอื่น คงเป็นเพราะผมไม่ได้เป็นครูโดยอาชีพก็ว่าได้ การสอนนักเรียนประถมก็เพิ่งมีประสบการณ์เมื่อต้องทำงานแทนพี่ชายที่โรงเรียนเพ็ญจิตตพงษ์นี่เอง ถ้าเป็นสมัยก่อนคงจะถูกตราหน้าว่า “เป็นคอม” เพราะมีความคิดแผลง ๆ ไม่เหมือนใคร ผมไม่ทำตามกติกาที่องค์กรถือปฏิบัติมาจนเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ความถูกต้อง”


เห็นนักเรียนเขียนกระดานผมก็จะไม่ห้าม นักเรียนนั่งเสมอก็ไม่บอกให้นั่งที่พื้น อย่างเนี้ยผมทำผิดกฎของทางโรงเรียนใช่หรือเปล่า? เหตุนี้กระมังที่ทำให้ชั้นเรียนที่ครูน้ำชาเข้าสอนมีเสียงดัง บางครั้งมีภาพไม่เหมาะสม เช่น เด็ก ๆ แย่งกันถือกระเป๋าของผม เดินตามเป็นลูกกระพวน ผมกลายเป็น “ป่าป๊าหรือเพื่อนเล่น” ของนักเรียนไปซะแล้ว!  ไม่เป็นไร...อีกไม่กี่เดือนก็พ้นหน้าที่ “คนสอน” แล้ว คงไม่มีใครมาตำหนิผมได้!

ผมก็เป็นคนหนึ่งที่สมัยเรียนหนังสือชอบวาดรูปหรือเขียนอะไรต่อมิอะไรลงในสมุด โตแล้วก็ยังคงติดนิสัยเดิม ช่วงเรียนดนตรีที่พายัพ เวลาเรียนวิชา Basic Music ผมใช้สมุดบันทึกอย่างที่เห็นในภาพจดสิ่งที่อาจารย์ Bruce Gaston สอน ถ้าจำไม่ผิดสมุดบันทึกราคาเล่มละ ๓ บาท..



ไม่ใช่คนวาดรูปเก่ง แต่ผมชอบวาด มันทำให้สมุดบันทึกของผมมีแต่เส้นยึกยือ เหมือนที่เด็กชั้นประถมเขียนลงในสมุดของเขา...


อยากให้เด็ก ๆ ได้คิดได้เขียนและได้แสดงออก นักเรียนจะวาดหรือเขียนอะไรลงสมุดผมก็ไม่ว่า ไม่ปิดกั้นครับ!

Friday, July 30, 2010

เจออีกแล้ว!

ถ้าอยู่ ๆ ผมบอกว่า “เจออีกแล้ว!” เพื่อน ๆ อาจตีความต่างกันไป น้ำหนักจะไปทางลบหรือบวกก็บอกได้ยาก เพราะไม่ได้ยินน้ำเสียงหรือเห็นสีหน้าและท่าทางของผม ถ้าผมเพิ่งขี่จักรยานยนต์เข้าบ้านแล้วทำหัวสั่นหัวคลอนก็อาจเข้าใจได้ว่าไปเจอด่านหัวปิงปองหรือไม่ก็ยางรถรั่วอีก

เมื่อวันที่ ๒๑ ที่ผ่านมา ที่ผมเขียนเล่าว่า
“….เจ้าน้ำหมึก Canon สีดำขวดใหญ่ขนาดครึ่งลิตรที่ได้พยายามค้นหามานานราว ๓ ปี ทำยังไงก็ไม่เจอสักที จนผมสงสัยว่าสสารย่อมไม่สูญหายไปจากโลกจริงหรือ แล้วทำไมเจ้าหมึกขวดใหญ่มันถึงได้หายไปได้!! แต่ในที่สุดผมก็เจอจนได้! มันวางอยู่บนชั้น ข้างหน้าผมนี่เอง เพียงแต่หลบอยู่หลังกล่อง Router ที่ผมเอื้อมมือไปปิดเปิดสวิชอยู่เป็นประจำ จริง ๆ แล้วผมหมดหวังไปตั้งนาน ไม่คิดว่าจะได้เจอ จู่ ๆ มันก็ปรากฏอยู่ตรงหน้า ”
อย่างนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดี ผมยิ้มได้อย่างมีความสุข มันทำให้สามารถพิมพ์ตำราออกมาได้อีกหลายเล่ม ทั้งแบบฝึกหัดแบนโจ แมนโดลิน เปียโน รวมทั้งโน้ตเพลงสำหรับวงเครื่องสาย!

คืนที่ผ่านมาผมไปเล่นหีบเพลงและร้องเพลงที่ Home of Cowboy ตามปกติ ทางร้านเปลี่ยนเวลาเริ่มบรรเลงใหม่ จากทุ่มตรงเป็นสองทุ่มสิบห้า ฝนตกหนักในช่วงหัวค่ำ ผมแต่งตัวแล้วนั่งคิดว่าที่ร้านคงไม่มีแขก กำลังจะตัดสินใจไม่ไปก็พอดีฝนหยุด เว้นช่วงให้ผมได้บึ่งจักรยานยนต์ไปที่ร้านโดยต้องไม่เปียกฝน  เลิกงานเกือบห้าทุ่ม ผมหอบ accordion ขี่รถกลับบ้าน กลับมาทำงานหน้าคอมพ์ฯ จนถึงตีสอง เช้านี้หลังจากให้อาหารและเทกระโถนให้พี่ชาย ผมก็เติมพลังให้ตัวเองด้วยน้ำข้าวกล้องงอก ๓ ถุง กินยาความดันแล้วลงมือทำงานเอกสารต่อทันที

ผมเคยบอกท่านผู้พันมือไวโอลินว่าในสมองของผมมีแต่คิด ๆๆ เหมือนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ทำงานออนไลน์อยู่ตลอดเวลา จะหยุดก็ต่อเมื่อปิดเครื่อง นั่นคือเวลาที่ต้องหลับพักผ่อน โชคดีที่ผมเป็นคนหลับง่าย ไม่เคยมีปัญหาเรื้อรังเรื่องนอนไม่หลับ จึงอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้ด้วยสภาพร่างกายที่ไม่ทรุดโทรมเท่าใดนัก…

อ้าว… ยังไม่ได้เล่าเลยว่าเช้านี้ผมเจออะไร!  เป็นเรื่องของเว็บบอร์ดครับ ในช่วงที่ผมทำเว็บ wichai.net ใหม่ ๆ ก่อนหน้าที่จะไปสร้างบอร์ดคนรักเปียโนอยู่ที่ pantown  มีเว็บบอร์ดใช้อยู่ ๒ ตัว ตัวหนึ่งใช้บริการของ http://board.dserver.org ส่วนอีกตัวนึงผมจำไม่ได้  ต่อมาเมื่อบอร์ดคนรักเปียโนเติบใหญ่ขึ้น ผมดันทิ้งเว็บบอร์ดที่เคยมีทั้งสองตัวไป ขลุกอยู่กับบอร์ดคนรักเปียโนมาโดยตลอด...ผมลืมบอร์ดที่ใช้กับเว็บ wichai.net ในช่วงก่อตั้งเสียสนิท

แต่แล้ววันหนึ่งบอร์ด piano-lovers และ pianoshop ก็ถูกลบออกจากบัญชีของ pantown...

หลังจากแก้ไขเรื่องเว็บโดนแฮ็กจนสามารถนำ wichai.net กลับเข้าสู่โลกไซเบอร์ได้อีกครั้ง ผมเริ่มมองหาเว็บบอร์ดที่จะมาทำบอร์ด “คุยกับลุงน้ำชา” จริง ๆ แล้วผมสามารถติดตั้งเว็บบอร์ดบน serverได้โดยใช้ SMF (Simple Machines Forum) แต่ก็เคยประสบปัญหาเกี่ยวกับสมาชิกที่ไม่หวังดีได้นำขยะเข้ามาโพสต์จนดูแลไม่ไหว ครั้งล่าสุดที่โดนแฮ็คก็เริ่มมาจากบอร์ด SMF นี้แหละ ผมจึงไม่นำบอร์ด “คุยกะลุงน้ำชา” ขึ้นไว้ที่หน้าเว็บ wichai.net

เคยเมล์ติดต่อ pantown เพื่อขอใช้เว็บบอร์ดอีกครั้ง แต่ก็เงียบ ไม่มีคำตอบ ผมจึงใช้ WordPress สื่อสารกับเพื่อน ๆ ในลักษณะการเขียนบล็อก ผมคิดอยู่ตลอดเวลาว่าน่าจะมีเว็บบอร์ดอีกตัวหนึ่งที่เพื่อน ๆ สามารถตั้งกระทู้พูดคุยได้เหมือนบอร์ด “คุยกะลุงน้ำชา” เช้านี้ในขณะที่ผมพยายามค้นหาโน้ตเพลงเพื่อจะนำไปใช้ที่โรงเรียนเพ็ญจิตตพงษ์ ผมก็ไปเจอเข้ากับ เปียโนเว็บบอร์ดอายุเกือบ ๑๐ ปีของผม ทำให้ผมต้องร้องออกมาดัง ๆ ในใจว่า “เจออีกแล้ว!”  

เกือบ ๑๐ ปี!  เหลือเชื่อจริงๆ ว่ามันยังคงอยู่โดยมีผู้ใช้มาตลอด ทั้ง ๆ ที่เจ้าของบอร์ดได้ละทิ้งและลืมไปนานแล้ว  ต้องขอขอบคุณทีมงาน dserver.org ที่ยังคงให้บริการมาอย่างยาวนาน

ผมไม่ต้องคิดหา “คุยกะลุงน้ำชา” ตัวใหม่แล้วครับ...

Thursday, July 29, 2010

Blue Moon Of Kentucky

เมื่อคืนที่ผ่านมา ผมไปเล่น accordion ที่ร้าน Home of Cowboy ตามปกติ หลังจากที่ได้หยุดไป ๒ วัน ก่อนจะออกบ้านฝนทำท่าจะเทลงมา ผมอดเป็นห่วงเจ้าหีบเพลงของผมไม่ได้ ถ้าเปียกฝน มันต้องพังแน่ ๆ  นับว่าโชคดีที่ระหว่างทางจากบ้านไปถึงร้าน เทวดาเห็นใจไม่เปิดก๊อกปล่อยฝนลงมา ยังประวิงเวลาให้ท่านผู้พัน (มือ fiddle) แวะไปกินข้าว พูดคุย และร่วมแจม ก่อนที่จะปล่อยฝนลงมาราวกับฟ้ารั่ว...

การที่มีมือ fiddle ที่รู้ใจมาร่วมบรรเลงด้วย ทำให้ผมรู้สึกมีชีวิตชีวาขึ้นเยอะ เสียดายว่าผมเพิ่งร้องเพลงได้ไม่กี่เพลง ท่านก็ต้องขอตัวกลับไปเสียก่อน…

ก่อนหน้านั้น ที่โต๊ะอาหารเราได้คุยกันถึงเรื่องเพลงในแนว bluegrass และเพลงหนึ่งซึ่งท่านผู้พันกล่าวถึงคือเพลง Blue Moon Of Kentucky ท่านบอกว่าคนเล่น bluegrass ต้องรู้จักเพลงนี้  ผมเห็นด้วยนะ เวลาออกงานกับคุณปิว เพลงนี้มักจะมาก่อนโดยคุณปิวเป็นผู้ร้องนำ ส่วนผมเพียงแค่ช่วยประสาน เมื่อมาเล่นกับวงคุณเหลา ยังหาคนร้องไม่ได้  ผมจึงต้องต่อเพลงนี้เพื่อร้องที่ Home of Cowboy ให้ได้


วันนี้ผมไปโรงเรียนเพ็ญจิตตพงษ์ ประมาณบ่ายโมงก็ออกจากที่นั่น แวะไปซื้อขนมจีนแกงเขียวหวานให้พี่ชายก่อนกลับบ้าน หลังจากให้อาหารกลางวันพี่ชาย ผมรู้สึกมึนศีรษะและอ่อนเพลียเล็กน้อย อยากจะงีบสัก ๒-๓ ชั่วโมง แต่ยังคิดถึงเรื่องต่อเพลง Blue Moon Of Kentucky...

ผมดาวน์โหลดได้ไฟล์ MP3 เพลง Blue Moon Of Kentucky ซึ่งร้องโดยศิลปินหลายท่าน อาทิ  Bill Monroe ซึ่งเป็นต้นตำรับ, Patsy Cline, Floyd Cramer, Raul Seixas, Paul McCartney, Elvis Presley, Jerry Lee Lewis, Floyd Crame, Dwight Yoakam, Paul Staines, Hakin’ Arrows  แต่ละคนมีสไตล์การร้องที่แตกต่างกันมากบ้างน้อยบ้าง ที่เลียนแบบกันอย่างเห็นได้ชัดก็มี ในที่สุดผมก็เลือกที่จะศึกษาแนวการร้องเพลงนี้จาก Patsy Cline ดังที่ได้นำมาแปะไว้ข้างบนให้เพื่อน ๆ ได้ลองฟังกันดู

ผมร้อง Blue Moon Of Kentucky ได้แล้วกั๊บ!!

Wednesday, July 28, 2010

ไปพบจิตแพทย์…

วันนี้ผมตื่นแต่เช้ามืด ให้อาหารพี่ชายแล้วรีบบึ่งมอเตอร์ไซค์ไปโรงพยาบาลศูนย์ฯ เพื่อพบจิตแพทย์ตามนัด ต้องไปให้ถึงที่นั่นก่อน ๗ โมงเช้า พี่สิทธิ์ไม่รู้หรอกว่าผมไปพบจิตแพทย์และรับยาแทนมาอย่างต่อเนื่องมาเป็นปี ๆ แล้ว...


ผมไปถึงเป็นคนที่ ๕ แต่ได้รับบัตรคิวหมายเลข ๗ เพราะมีบางคนไม่ยอมเข้าคิว...

เรื่องการเข้าคิวก็เป็นเรื่องหนึ่งซึ่งผมสงสัยว่าเด็กนักเรียนถูกสอนมาอย่างไรตั้งแต่อยู่ชั้นประถม ทำไมถึงไม่ค่อยมีระเบียบวินัย เด็กชายไม่รู้จักหลีกให้เด็กหญิง เวลามีอะไรไปแจกก็ยื่นมือสลอน...

เห็นเค้าพูดกันว่าตอนอยู่อนุบาลนักเรียนมักถูกสอนให้แข่งขันกัน ในภาพยนต์ฝรั่งผมเคยเห็นที่เค้าฝึกเด็ก ๆ ให้เดินเรียงแถวลงหลุมหลบภัยหรือออกจากอาคารในขณะเกิดภัย เค้าฝึกกันจริง ๆ จัง ๆ และถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ แต่ของพี่ไทยเรากลับไม่ค่อยให้ความสนใจในเรื่องความปลอดภัยและระเบียบวินัย เราจึงเห็นการแซงคิวหรือการขี่รถผ่าไฟแดงอยู่บ่อย ๆ ไม่ว่าจะหนุ่มหรือแก่...ต่างปฏิบัติกันจนเป็นเรื่องปกติ!

บ่นมาก ๆ อย่างเนี้ย สงสัยผมคงต้องปรึกษาจิตแพทย์ซะแล้วมั้ง??

Tuesday, July 27, 2010

Jazz Piano

เที่ยงคืนกว่าแล้วยังไม่เข้านอน!  ตายังสว่างอยู่ ผมนั่งพิมพ์ตำราออกมาอีกเรื่อย ๆ คืนนี้กะว่าจะให้ได้ซัก ๗ เล่ม...

วันเกิดทักษิณผ่านไปแล้ว เมื่อวานนี้ผมไม่ได้เขียนอะไรเกี่ยวกับเพื่อนเก่าคนนี้  ปีที่แล้วผมเขียนไว้นะ แต่จะเป็นโชคดีหรือโชคร้ายไม่รู้ที่ข้อเขียนต้องถูกลบทิ้งไปเมื่อมีการจัดไฟล์ที่อยู่บน server ใหม่  ก็ดีเหมือนกันเพราะผมไม่ค่อยสงบปาก คิดอย่างไรก็เขียนอย่างนั้น  ใครที่ได้อ่านแล้วอาจคิดว่า ผมเป็นผู้ที่ไม่รู้คุณคน ตอนเป็นเด็กทักษิณดีกับผมจะตาย ทำไมผมถึงไม่เชียร์และยืนอยู่ข้างสหายเก่า! ความคิดเราต่างกันครับ และความพอเพียงของเราก็ไม่เท่ากันด้วย แต่ในส่วนของความดีที่ทักษิณมีให้ผมก็ยังคงอยู่ในใจของผมเสมอ...

ปี พ.ศ.๒๕๑๐ ขณะเรียนอยู่ปี ๑ แผนกช่างไฟฟ้า วิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพ กำลังเริ่มแตกเนื้อหนุ่ม อยากเท่ห์ ผมหากิจกรรมที่จะสร้างจุดเด่นให้ตัวเอง อย่างเช่น เล่นดนตรี เป็นช่างไฟ ควบคุมเสียง

วันอาทิตย์ที่ ๑ มกราคม...ผมบันทึกว่า..
“ตอนเช้าทำความสะอาดบ้านนอก แล้วไปขอยืม amp ที่ทักษิณ เวลาบ่ายไปติดตั้งและคุมเครื่องให้อำนวย กลำพัดเพื่อแสดงในตอนกลางคืน ที่งานฤดูหนาว….”


ตอนนั้นทักษิณพักอยู่บนชั้นสองของโรงภาพยนต์ชินทัศนีย์ ที่ผมเขียนว่า “บ้านนอก” หมายถึง “ร้านกาแฟไทยประเสริฐ” ข้างลาน ร.ส.พ. ตรงข้ามกับโรงแรมรถไฟ เป็นบ้านไม้ชั้นเดียวติดถนนที่พ่อแม่เช่าเปิดร้านกาแฟ สร้างฐานะจนมีตังค์พอซื้อที่ดินและปลูกบ้านของตนเองอยู่ที่ถนนทุ่งโฮเต็ล ถึงอย่างไรครอบครัวของผมกับของทักษิณก็มีฐานะแตกต่างกัน คุณพ่อของทักษิณเป็นเศรษฐีมีชื่อของจังหวัดเชียงใหม่ ทักษิณจึงมีเครื่องดนตรีหลายชิ้นเก็บไว้ในห้องนอนทั้ง ๆ ที่เล่นไม่เป็น เท่าที่จำได้ก็มี กีต้าร์ Fender พร้อมตู้แอมป์ มีเบส Hofner และแซ็กโซโฟน Selmer


ห้องนอนทักษิณขนาดใหญ่ มีเครื่องปรับอากาศ window type ติดตั้งที่หน้าต่าง และมี  heater สำหรับให้ความอุ่นในหน้าหนาว นั่นคือภาพที่ผมพอจำได้ ทักษิณเป็นคนมีน้ำใจ อนุญาตให้ผมและบรรจง (เพื่อนที่โตมาด้วยกัน) ไปซ้อมดนตรีได้ถึงในห้องนอน  เราสองคนเดินจากร้านกาแฟไทยประเสริฐไปโรงภาพยนต์ชินทัศนีย์เพื่อซ้อมดนตรี ผมเล่นกีต้าร์ ส่วนจงเล่นเบส…

วันอาทิตย์ที่ ๑ มกราคม ๒๕๑๐ ทักษิณให้ผมยืมแอมป์ Fender ตัวที่มีอยู่ไปใช้ในงานฤดูหนาว เพื่อช่วยทำให้วงดนตรีพื้นเมืองของอำนวย กลำพัดมีความดังสู้กับเสียงรอบข้างได้...

อ้าว...ว่าจะพูดเรื่องแจ๊สเปียโน ทำไมไปเขียนถึงทักษิณก็ไม่รู้!


เพื่อน ๆ คงเคยเห็นคนเล่นเปียโนที่เล่นแบบธรรมดา ไม่หวือหวา ไม่พรมนิ้วไปมาเหมือนทำเสียงคลื่น แต่ค่อยๆ เปลี่ยนเปลี่ยนคอร์ด โดยการ voice ซึ่งอาศัยโน้ตเพียงไม่กี่ตัว เกิดเสียงประสานที่น่าฟัง จนพูดได้ว่า “It’s jazzy!”  ในอดีตเราไม่มีตำรามากมายอย่างเช่นในปัจจุบัน ถ้าอยากจะเล่นให้ได้สำเนียงเช่นนั้น ก็ต้องอาศัยครูพักลักจำ หรือไม่ก็ค้นคว้าด้วยตนเอง

ทุกวันนี้ ผมยังอยากหันกลับไปศึกษาแจ๊สเปียโนอย่างจริง ๆ จัง ๆ เลยครับ ตำราที่มีอยู่นั้นมากมายจนไม่รู้จะเริ่มต้นจากเล่มไหนดี  น่าเสียดายที่ผมไม่มีเวลาพอที่จะทำตามความอยากของตนเอง  ถ้าวันหนึ่งมีซัก ๔๘ ชั่วโมงก็คงจะดี!

คืนนี้ผมพิมพ์ตำราออกมาได้ ๗ เล่มตามที่ได้ตั้งใจไว้….

อยากเล่นเปียโนแนวแจ๊ส เพื่อน ๆ จะต้องเปลี่ยนสไตล์การเล่นแบบพลิกตัวทันที ทิ้งรูปแบบที่เคยเล่นและชื่นชอบไปให้หมด ไม่ว่าจะเป็นการไล่นิ้วแบบหนูหรือแมวไล่กันบนคีย์บอร์ด การกระจายคอร์ดแบบ pop และ classic  เคลื่อนไหวให้น้อย แต่สง่าและอลังการด้วยคู่ระยะในรูปแบบของ chromatic progression แล้วจะได้ชื่อว่าเป็นนักเล่นเปียโนแจ๊สที่แท้จริง…

วันนี้อยากให้ลองฝึกเล่น Yesterday ในแนวแจ๊สดูบ้าง แล้วจะต้องร้องว่า “แซบอีหลีเด้อ”  โน้ตเพลง Yesterday อยู่ในหน้า ๒๖-๒๗ ของหนังสือ The Beatles for jazz piano ซึ่งเพื่อน ๆ สามารถคลิกดาวน์โหลดได้ ที่นี่

ขอให้มีความสุขในการเล่นเปียโนแจ๊สนะครับ