แต่ผมก็ได้เรียนนะ! หมอบอกให้ผู้มีปัญหาต้องไปพบ เพื่อรับยาไปกินอย่างสม่ำเสมอ ผมปฏิบัติตามได้เพียงระยะนึงแล้วเลิกไป ดูเหมือนจะมีข่าวว่าคุณหมอท่านนั้นชอบเด็กหนุ่ม ๆ ส่วนยาที่ได้รับก็คงเป็นแค่เพียงวิตามินเท่านั้น!
ถ่ายร่วมกับคุณสุรสิทธิ์ อวยพร เมื่อปี ๒๕๑๒ |
มารู้ตัวว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงก็เพราะไปบริจาคเลือดแล้วถูกปฏิเสธเนื่องจากความดันโลหิตสูงเกิน แม้นั่งพักแล้วก็ยังไม่ยอมลด จนต้องไปพบแพทย์ ผมถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง ต้องกินยาควบคุมอย่างต่อเนื่องยาวนาน...กว่า ๒๐ ปี
ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เจ้าหัวใจที่เหนื่อยอ่อนของผมได้เริ่มส่งสัญญาณเตือน ดังที่ผมเขียนไว้ในบล็อกว่า "เมื่อหัวใจส่งสัญญาณเตือน!" ผมคงจะต้องหาเวลาไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลลำปาง เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างจริง ๆ จัง ๆ ซะแล้ว
แต่วันนี้ขออนุญาตนำเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการตรวจคลื่นหัวใจ (Electrocardiography) มาลงก่อนนะครับ...
การตรวจคลื่นหัวใจ (Electrocardiography)
คลื่นไฟฟ้าหัวใจหรือกราฟหัวใจ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Electrocardiogram ใช้คำย่อว่า ECG หรือ EKG ซึ่งตัว K นั้นเป็นภาษาเยอรมัน มาจากคำว่า Kardiac แปลว่าหัวใจ เหมือนกับตัว C ในภาษาอังกฤษ คือ Cardiac จึงใช้ได้ความหมายเหมือนกัน เป็นการตรวจจับกระแสไฟฟ้าที่ออกมาจากหัวใจ โดยนำเอาตัวจับสัญญาณไฟฟ้า (ELectrode) มาวางไว้ที่หน้าอกใกล้หัวใจ แล้วบันทึกกระแสไฟฟ้าที่ออกมาจากหัวใจ
ประโยชน์ของการตรวจ EKG
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจบอกให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับหัวใจ เช่น จังหวะการเต้น ความสม่ำเสมอ การนำไฟฟ้าในหัวใจ ชนิดของการเต้นผิดจังหวะ หัวใจโตหรือไม่ กล้ามเนื้อหัวใจตาย กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ความผิดปกติของระดับเกลือแร่บางชนิดในร่างกาย เป็นต้น ข้อมูลที่ได้มาก็ต้องนำมาแปลผลอีกครั้ง โดยอาศัยประวัติ การตรวจร่างกาย ความชำนาญของแพทย์ จึงจะสรุปอีกครั้งว่าคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติหรือไม่
ความเหมาะสมในการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจจะมีประโยชน์ในกรณีที่มีอาการหัวใจเต้นผิดปกติ ใจสั่น เจ็บหน้าอก ในกรณีที่อายุน้อย ไม่มีอาการผิดปกติ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอาจจะไม่มีประโยชน์ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจควรตรวจในกรณีที่อายุมากกว่า ๔๐ ปี และมีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจ เช่น ไขมันในเส้นเลือดสูง สูบบุหรี่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง แม้ว่าจะไม่มีอาการของโรคหัวใจ แต่สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจทั้งสิ้น จึงควรที่จะรับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อเก็บการตรวจไว้เปรียบเทียบกันในอนาคต หรือในกรณีที่มีอาการผิดปกติ เช่น ใจสั่น เจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย หรือตรวจพบความดันโลหิตสูง ลิ้นหัวใจรั่ว ควรได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจทันที
ดังนั้น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจจึงมีความจำเป็นในกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ และมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจในเวลานั้น ส่วนคนที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีปัญหาต่าง ๆ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ จึงอาจไม่จำเป็นต้องตรวจ และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ก่อน
การเตรียมตัวสำหรับการตรวจ
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจไม่เจ็บ ไม่เสียเวลา คุณนอนบนเตียง เปิดเสื้อผ้าบริเวณเหนือข้อมือและข้อเท้าทั้งสองข้างประมาณ ๓-๕ นิ้ว เจ้าหน้าที่จะเอาขั้วไฟฟ้ามาติดที่แขน ขา และหน้าอก หลังจาำกนั้นจะตรวจกระแสไฟฟ้าหัวใจโดยใช้เวลาไม่ถึง ๕ นาทีก็เสร็จ ระหว่างการตรวจอย่าพูดหรือเคลื่อนไหว เพราะจำทำให้เกิดคลื่นรบกวนคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจนี้ไม่มีความเสี่ยงหรือเจ็บปวดแต่อย่างใด
คำแนะนำการปฏิบัติตัว หลังได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
- อาจมีรอยแดงช้ำที่หน้าอกจากการตรวจ ซึ่งไม่เป็นอันตรายและจะหายได้เองภายในเวลาไม่เกิน ๑ สัปดาห์
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ ๓ ครั้ง ๆ ละประมาณ ๒๐-๓๐ นาที
- งดสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
- รับประทานอาหารให้เหมาะสมกับโรคประจำตัว ลดอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม และเพิ่มการบริโภคอาหาร ๕ ชนิด ได้แก่ พวกถั่วเมล็ดแห้ง อาหารพวกปลา ถั่วเปลือกแข็ง ข้าวโอ๊ต น้ำมันมะกอกอย่างสม่ำเสมอ จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ
สังเกตอาการผิดปกติ เช่น ใจสั่น อึดอัด เหงื่อออก เจ็บแน่นกลางหน้าอกคล้ายมีของทับอก ปวดร้าวไปกราม ไหล่ เหนื่อยง่าย
ควรได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจทันที
ที่มา: แผ่นพับจากห้องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลลำปาง
No comments:
Post a Comment