Monday, July 23, 2018

อุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกิน

ผมได้รับแผ่นพับเกี่ยวกับการท่องเที่ยวมา ๑ ฉบับ จัดทำโดยสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๑๓ (แพร่) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช...


เป็นเรื่องของอุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกิน ต.ยอด อ.สองแคว จ.น่าน ผมคิดว่ามีประโยชน์และน่าสนใจสำหรับเพื่อน ๆ ผู้รักการท่องเที่ยว จึงต้องขออนุญาตสแกนภาพและนำข้อมูลมาเก็บไว้ดังนี้...


ทึ่ตั้งและอาณาเขต

อุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกิน มีอาณาเขตควบคุมพื้นที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำยาว และป่าน้ำสวดท้องที่ ต.ยอด ต.ชนแดน อ.สองแคว จ.น่าน  ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ยม ท้องที่ ต.ผาช้างน้อย ต.ปง จ.พะเยา ป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำเปี่อย-ป่าน้ำหยวน และป่าน้ำลาว ท้องที่ ต.ร่มเย็น ต.แม่ลาว อ.เชียงคำ จ.พะเยา รวมเนื้อที่ประมาณ ๑๕๗,๘๑๒.๕ หรือ ๒๕๒.๕ ตร.กม. ประกอบด้วยพื้นที่เทือกเขาสูงตอนปลายแห่งทิวเขาหลวงพระบาง ซึ่งทอดตัวยาวต่อเนื่องไปจนถึงเขตแดน ส.ป.ป.ลาว  สภาพธรรมชาติยังอุดมด้วยผืนป่าสมบูรณ์ ถ้ำขนาดใหญ่ น้ำตก และจุดชมทะเลหมอก...

ทิศเหนือ ติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ทิศใต้ ติดต่อกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1148 และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาช้าง จ.พะเยา
ทิศตะวันออก ติดต่อกับพื้นที่ทำกินราษฎร
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอุทยานแห่งชาติภูซางและดอยผาจิ


ลักษณะภูมิประเทศ

ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนวางตัวในแนวเหนือใต้ ระดับความสูงของพื้นที่ประมาณ ๓๐๐ - ๑,๗๕๒ เมตรจากระดับน้ำทะเล มียอดเขาที่สูงที่สุดคือ ยอดดอยจี๋ มีความสูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๗๕๒ เมตร ซึ่งเป็นภูเขาหินปูนโผล่ขึ้นมาจากผิวดินเป็นแท่งเขาสวยงาม และยังเป็นที่ตั้งของถ้ำหลวงสะเกินที่สวยงาม



ลักษณะภูมิอากาศ

เป็นแบบมรสุมเขตร้อนโดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ในช่วงฤดูฝน และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงฤดูหนาว ภูมิอากาศแบ่งออกเป็น ๓ ฤดู อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดต่อปีประมาณ ๗ องศาเซลเซียสในเดือนเมษายน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีประมาณ ๑,๒๑๑ มิลลิเมตร




พืชพันธุ์และสัตว์ป่า 

สภาพป่าประกอบด้วยป่าดิบเขา พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ไม่ก่อชนิดต่าง ๆ พญาไม้ กฤษณา พญาเสือโคร่ง มะขามป้อมดง สนสามพันปี อบเชย ไม้พื้นล่างได้แก่ มอส เพิร์นชนิดต่าง ๆ ป่าดิบชี้นพันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ยาง กระบาก สมพง ลำพูป่า กระทุ่ม พืชพื้นล่างได้แก่ กูดต้น กูดพร้าว กูดดอย เอื้องกุหลาบพวง เป็นต้น  ป่าดิบแห้งพันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ยางแดง ยางขาว ตะเคียน ตะแบก มะม่วงป่า พืชพื้นล่างได้แก่ ไผ่ หวาย เฟิร์น ปาล์ม ต๋าว เป็นต้น ป่าเบญจพรรณพันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ มะค่าโมง สมอภิเพก ตะคร้อ เสี้ยว ดอกขาว พืชพื้นล่างได้แก่ หญ้าแฝก หญ้าคมบาง และพืชในวงศ์ขิง ข่า เป็นต้น สัตว์ป่าที่พบได้แก่ เสือ หมูป่า เลียงผา หมี ไก่ป่า ไก่ฟ้า ปลากั้ง ปลากระทิง กบ เต่าปูลู เป็นต้น




แหล่งท่องเที่ยว

ประเภทถ้ำ



๑. ถ้ำหลวงสะเกิน เป็นถ้ำขนาดกลาง ปากถ้ำกว้าง ๒๐ เมตร ตัวถ้ำลึกเป็นอุโมงค์ยาวประมาณ ๕๐๐ เมตร มีประวัติเล่าขานกันว่าเดิมที ชนกลุ่มที่เรียกกันว่า "เผ่ากอ" ซึ่งย้ายถิ่นฐานมาจากสิบสองปันนา และแยกออกเป็น ๒ หมู่บ้าน คือ บ้านเสือกิ๋น ปัจจุบันคือ บ้านสะเกิน อีกหมู่บ้านย้ายไป จ.แพร่ คือ บ้านดงสนเขื่อน ปัจจุบันคือ บ้านสวนเขื่อน


๒. ถ้ำปลากั้ง เป็นถ้ำขนาดเล็กจำนวน ๒ แห่ง ปากถ้ำกว้างประมาณ ๒-๓ เมตร ภายในถ้ำลึกประมาณ ๒๐ เมตร ยังไม่มีการสำรวจภายในถ้ำที่แน่นอน แต่พบว่ามีปลากั้งอาศัยอยู่ภายในถ้ำ ในฤดูฝนจะมีน้ำไหลออกมาจากถ้ำปลา






ประเภทน้ำตก

๑. น้ำตกห้วยหาด เป็นน้ำตกขนาดกลางมีน้ำไหลตลอดทั้งปีจากดอยผาจี๋ มีความสูง ๓ ชั้น สูงประมาณ ๓๕ เมตร กว้างประมาณ ๑๕ เมตร มีแอ่งน้ำกว้างประมาณ ๕ เมตร ยาว ๕ เมตร ลึกประมาณ ๑.๕ เมตร


๒.น้ำตกผาธาร หรือน้ำตกหงษ์เวียงจันทร์ ซึ่งเป็นการให้เกียรติกับผู้สำรวจในคราวแรก คือนายวิทยา หงษ์เวียงจันทร์ เป็นน้ำตกขนาดกลาง มีน้ำไหลตลอดปีจากดอยผาจี๋ มีความสูง ๖ ชั้น สูงประมาณ ๓๐ เมตร กว้างประมาณ ๕ เมตร



สิ่งอำนวยความสะดวก

มีบ้านพักรับรองพร้อมอุปกรณ์เครื่องนอนจำนวน ๖ หลัง สามารถรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ ๒๐ - ๓๐ คน


ข้อมูลการเดินทาง

จากตัวเมืองน่าน ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1080 (น่าน - ทุ่งช้าง) ระยะทาง ๔๒ กิโลเมตรถึงอำเภอท่าวังผา ให้แยกไปทางซ้ายมือตามทางหลวงหมายเลข 1148 (ท่าวังผา - สองแค) ประมาณ ๓๓ กิโลเมตรถึงอำเภอสองแคว แล้วให้เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 1097 (สองแคว - เชียงคำ) ระยะทางประมาณ ๓๘ กิโลเมตรถึงหมู่บ้านสะเกิน ตำบลยอด อำเภอสองแคว แล้วให้แยกเข้าหมู่บ้าน เลี้ยวไปทางขวามือ ผ่านหมู่บ้านไปอีกประมาณ ๖ กิโลเมตรก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกิน 


ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสิ่งที่นำมาแชร์นี้จะมีประโยชน์สำหรับเพื่อน ๆ ไม่มากก็น้อย!

Saturday, July 21, 2018

โรงพยาบาลจำปาสัก


คนลาวเรียกโรงพยาบาลว่า "โฮงหมอ"  ผมเคยมีโอกาสได้ไปที่โรงพยาบาลจำปาสักครั้งนึง เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๖๐ 


คุณหมอบรรพตแห่งโรงพยาบาลมโนรมย์ได้เขียนไว้น่าสนใจมาก ผมขออนุญาตนำมาแชร์ด้วยความขอบคุณ ดังนี้....
"โรงหมอจำปาสัก" ขนาด ๒๐๐ - ๓๐๐ เตียง เป็นโรงพยาบาลประจำแขวงจำปาสัก เปรียบเหมือนโรงพยาบาลศูนย์ของไทย รับผิดชอบประชากรประมาณ ๑ ล้านคนในเขตจำปาสักและใกล้เคียง มีแพทย์ ๔๐ คน พยาบาล ๑๕๐ คน และมี specialist สาขาต่าง ๆ เช่น เด็ก สูติ อายุรกรรม ศัลยกรรม จักษุ 
ผู้ป่วยนอกต่อวันประมาณ ๑๐๐ - ๑๕๐ คน คนไข้แต่ละวันน้อยมาก ทั้ง ๆ ที่เป็นโรงพยาบาลศูนย์ คิดว่าน่าจะเกิดจากประชากรน้อย (ลาวมีประชากรทั้งหมดประมาณ 6 ล้านคน)  และการเข้าถึงบริการยากเนื่องจากขาดหลักประกัน (มีหลักประกันสุขภาพแค่ 40%) รวมทั้งการเดินทางลำบาก จะสังเกตได้จาก คนไข้จะมาถึง รพ. ประมาณ ๑๐.๐๐ น. - ๑๑.๐๐ น. เนื่องจากเดินทางไกล ต่างจากคนไทยซึ่งมากันแต่เช้า
มีเอกชนมาตั้ง ward พิเศษให้ โดยเก็บค่าห้องจากผู้ป่วย ทำคล้าย ๆโรงแรม แต่มีหมอและพยาบาลจาก รพ. จำปาสักมาดูแล
โรคส่วนใหญ่ยังเป็นโรคติดเชื้อ เช่น มาลาเรีย ไข้เลือดออก ปอดอักเสบ แต่โรคมะเร็งพบน้อยมาก
พร้อมกับนำภาพมาให้เพื่อน ๆ ดูด้วยครับ...


ห้องฉุกเฉินพร้อมรถ Ambulance

 


 

ได้ขึ้นไปดูถึงใน ward แต่ผมไม่กล้าถ่ายรูปครับ!

Friday, July 20, 2018

แหล่งโบราณสถานเวียงตาล


หนังสือ "เจ้าพ่อขุนตาน" พิมพ์แผนที่อุทยานประวัติศาสตร์เจ้าพ่อขุนตานไว้ในหน้า ๕...

วงกลมแดง = ตำแหน่งโบราณสถานที่ตรวจพบ
เส้นทึบสีน้ำเงินและเส้นปะสีเหลือง = แนวขอบกำแพงเมือง-คูเมือง เวียงตาลโดยสังเขป
เป็นแผนที่โดยสังเขป แสดงแนวเขตกำแพงเมือง-คูเมืองและโบราณสถานของแหล่งโบราณสถานเวียงตาล หมู่ที่ ๕ บ้านหัววัง อำเภอเวียงตาล อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง 

จุดวงกลมแดงในแผนที่ระบุตำแหน่งโบราณสถานเวียงตาลไว้ดังนี้...
  • โบราณสถานหมายเลข ๑
  • บ่อน้ำโบราณ
  • วัดกอกชุม
  • กู่ไก่แจ้
  • กู่เวียงลม
  • กู่ช้างเผือก


นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจยิ่ง ผมเข้า google earth เปิดดูภาพถ่ายดาวเทียมเห็นได้ชัดถึงบริเวณโบราณสถานซึ่งยังไม่มีข้อมูลระบุไว้อย่างละเอียด...


ผมสัญญาว่าจะออกไปถ่ายภาพและอัพเดทข้อมูลใน google maps ให้ภายในเร็ววันนี้...

Wednesday, July 18, 2018

ตำนาน FB Trip

จักรยานพับคันแรกของผมยี่ห้อ Coyote  ซื้อต่อมาจากครูหนิงในราคา ๒,๐๐๐ บาท เมื่อปี ๒๕๕๖ มีล้อขนาด ๑๖ นิ้ว...


ตอนนั้นมีความคิดที่จะท่องเที่ยวด้วยจักรยานพับโดยตั้งชื่อทริปว่า "FB Trip" ผมยังไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับรถจักรยานพับ แค่อยากจะนำมันใส่กระเป๋าจักรยานขึ้นรถเมล์ หรือรถไฟไปปั่นเที่ยวตามเมืองต่าง ๆ ผมเริ่มต้นด้วยการซื้อกระเป๋ายี่ห้อใส่จักรยานมาจากร้านบันเทิงจักรยาน


ประเดิมทริปแรกด้วยการไปเชียงแสนเมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๖...


นี่คือสภาพของเจ้า Coyote ในวันที่ปั่นจากบ้านห้างฉัตรไปสถานีขนส่งลำปาง...


ถึงเชียงแสนผมเริ่มเห็นข้อดีของการใช้จักรยานพับ เพราะมันช่วยให้ผมหาที่พักได้อย่างง่ายดาย...


จากนั้นก็ปั่นเที่ยวชมเมืองได้ทันที...


จากเชียงแสนผมตั้งใจว่าจะปั่นไปเชียงของ แต่แล้วก็มีปัญหาทำให้ต้องเลิกล้มความคิด เมื่อเจ้ากล้อง Olympus mju 20 มีอันต้องกลับบ้านเก่า ประจวบกับเจ้า Coyote ก็ทำท่าไม่ดี เครื่องไม้เครื่องมือก็มิได้มีติดตัวไปด้วย... 


ผมตัดสินใจนำจักรยานขึ้นรถเมล์เล็กจากเชียงแสนไปลงพะเยาแล้วต่อเมล์เขียวกลับลำปาง ได้เห็นข้อดีของการใช้จักรยานพับเพิ่มขึ้นอีก คือไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นจนทำให้ปั่นจักรยานต่อไม่ได้ เราก็พับมันแล้วเปลี่ยนไปขึ้นรถโดยสารได้เลย...  


ผมหาประสบการณ์ท่องเที่ยวด้วยจักรยานพับระยะสั้น ๆ อีก ๒-๓ ทริป เช่นนำขึ้นรถเมล์เขียวไปลงเชียงใหม่แล้วปั่นเที่ยวเวียงกุมกาม หรือไปเมืองลับแลและน้ำตกแม่พูล


ในที่สุดก็ถึงเวลาเปลี่ยนจักรยาน ผมตัดสินใจสั่งซื้อเจ้า Banian Haima H9 จักรยานพับ ๙ สปีด ล้อ ๒๐ นิ้ว เฟรมอลูมิเนียม ชุดเกียร์ SRAM ล้อแบริ่ง จากเว็บ My-80 Bike หลังจากดูรีวิวของเฮียเป้ใน YouTube  แล้วเริ่มต้นด้วยการพาเจ้า Banian ขึ้นรถไฟฟรีไปปั่นที่เชียงใหม่


จากนั้น FB Trip อื่น ๆ ก็ตามมา ผมเริ่มมีีความคล่องตัว พับหรือกางจักรยานได้อย่างรวดเร็ว รู้ด้วยว่าจะหอบหิ้วขึ้นรถอย่างไร หรือจะเอาไว้ที่ไหนดี  


ยิ่งเที่ยวก็ยิ่งมีประสบการณ์ ผมไปหลายจังหวัด ลาวก็ไป ครั้งล่าสุดไปไกลถึงมะละกา กำลังจะได้ลงเรือข้ามไปปั่นบนเกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย อยู่แล้วเชียว...


ที่เล่ามาคือความเป็นมาของ FB Trip การเดินทางท่องโลกด้วยจักรยานพับสไตล์ลุงน้ำชา ผมเชื่อว่าจักรยานและสัมภาระอย่างที่เห็นจะพาเราไปได้สุดขอบฟ้า!

Tuesday, July 17, 2018

ดูแลจักรยานก่อนออกเดินทาง

ผมมีเจ้า Banian เป็นเพื่อนคู่ใจมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๘ หุหุ... เกือบ ๓ ปีแล้วสินะ! 


เคยคิดอยากจะได้เพื่อนใหม่อย่างเจ้า Java IRA 


แต่ตอนนี้ผมเปลี่ยนใจแล้วครับ บอกตัวเองว่าอายุมากแล้ว...จะอยู่ปั่นจักรยานได้อีกสักกี่ปี? สรุปได้ว่าหากเป็น FB Trip ก็จะใช้เจ้า Banian นี่แหละ ถ้า go abroad by land ไม่ว่าจะปั่นทางไกล นำขึ้นรถไฟ หรือลงเรือ ก็ใช้กระเป๋าเป้ติดตะแกรงหลังราคาถูกของจีนที่มีอยู่ โดยมีเต๊นท์ไปด้วยเผื่อต้องนอนริมทาง...


หากเป็น FB Trip ระยะสั้น ๆ วันสองวันก็เปลี่ยนไปใช้เป้สะพายหลัง (backpack) ขนาดย่อม หรือถ้าจะนั่งเครื่องไปไกล ๆ อย่างเช่นศรีลังกา ฟิล่ิปปิน หรือบังกลาเทศ ก็จะพกพาสัมภาระรูปแบบเดีียวกัน ถอดตะแกรงหลังออก มีแค่ backpack น้ำหนักไม่เกิน ๗ กิโลกรัม เพื่อจะได้นำติดตัวขึ้นเครื่องได้โดยไม่ต้องเสียตังค์ค่า load กระเป๋า ผมจะนำเงินไปจ่ายเป็นค่านำจักรยานขึ้นเครื่องในอัตราอุปกรณ์กีฬา (เข้าใจว่า ๗-๘ ร้อยบาท) แทน ลงเครื่องแล้วก็นำจักรยานออกปั่นได้เลย...

ก่อนออกเดินทางไปมะละกาเมื่อเดือนเมษาที่แล้ว สิ่งที่ผมทำคือตรวจเช็ค ทำความสะอาด และหยอดน้ำมันเจ้าเพื่อนยาก แม้จะราคาไม่ถึงหมื่น..เจ้า Banian สามารถปลดเร็วได้ทั้งล้อหน้าล้อหลัง!



ทำความสะอาดแล้วตรวจเช็คให้ดี...



ดอกยางยังพอไปไหว แต่หลังจากทริปนี้คงต้องเปลี่ยนใหม่!


 

สิ่งที่ต้องทำอีกอย่าง (a must) คือการหยอดน้ำมันโซ่...


ผมใช้น้ำมันหยอดโซ่ของจีนยี่ห้อ Cylion สั่งจากลาซาด้าราคาร้อยกว่าบาท....



ทำความสะอาดเฟืองและอุปกรณ์ชุดเกียร์ให้เอี่ยมอ่องด้วย...


รักจักรยานของเราให้มาก ๆ แล้วมันจะอยู่กับเราไปอีกนานครับ!

Monday, July 16, 2018

ความจริงเกี่ยวกับจักรยานพับ

พูดถึงเรื่อง "การปั่นจักรยานท่องโลก"  สำหรับคนสูงวัยเช่นผม...ยังไง ๆ ก็คิดว่าใช้จักรยานพับล้อ 451 ขนาด ๒๐ นิ้วนั้นดีที่สุด!



ถ้าจะให้ดีก็ต้องใช้จักรยานสเปคสูงกว่าเจ้า Banian ของผมอีกสักหน่อย เพราะมีแค่ ๙ สปีดไม่สามารถขึ้นเขาได้ดี  เท่าที่ผ่านมาพอเจอเส้นทาง uphill ติด ๆ กันก็ต้องลงจูงซะแล้ว 


ควรใช้จักรยานที่มีจานหน้า ๒ จาน อย่างน้อยก็ทำให้ปีนเขาเก่งขึ้น อย่างเจ้า Java IRA ผมคิดว่าใช้ได้เลย จักรยานพับเฟรมโคโมลี่ 18 สปีด Shimano Sora ตะเกียบคาร์บอน ล้อ 451 ขนาด ๒๐ นิ้ว อานเจล Selle Royal  น้ำหนักไม่รวมบันได ๑๐.๗๙ กิโลกรัม แต่มันแพงกว่าเจ้า Banian ของผมเท่าตัวนะครับ!!... 

Java IRA - ภาพจาก aimbike.com
หากยังหนุ่มแน่นและต้องการเดินทางไกลด้วยจักรยานตลอดเส้นทาง ก็ต้องใช้จักรยานอย่างเนี้ยครับ...


การท่องโลกด้วยจักรยานพับ (Folding Bike) นั้นเหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่เดินทางแบบไม่เร่งรีบ ใช้มันเป็นยานพาหนะเชื่อมต่อระหว่างรถโดยสารหรือรถไฟกับเมืองต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ผมได้ทดลองทำมาแล้ว พบว่ามันสามารถพาไปสุดขอบฟ้าได้จริง...หากเรากล้าพอ! 


ใช้จักรยานพับที่ไม่ติดตะแกรงหลัง ผมมีเพียงเป้สะพายหลัง (backpack) ขนาดกลาง อย่างเช่นตอนปั่นจากช่องเม็กไปจำปาสัก อย่างนั้นจะคล่องตัวที่สุด แต่มีข้อเสียคือนำไปได้เฉพาะของใช้จำเป็นเท่านั้น เสบียงและของอย่างอื่นต้องไปหาซื้อเอาตามทาง (สำหรับเป้ผมขอแนะนำให้ใช้ที่คุณภาพดีกว่านี้หน่อย ของที่ผมใช้อยู่ราคาแค่ใบละ ๒๕๐ บาทเอง!)...


นั่งรถไฟ รถตู้ หรือรถยนต์โดยสาร ผมหิ้วจักรยานพับและเป้ไปด้วยกันได้เลย ไม่ต้องจ่ายค่าระวาง ถ้าขึ้นรถตั้งแต่ต้นทางก็ยิ่งสบาย...


ผมเคยนั่งรถยนต์จากอุตรดิตถ์ไปบ้านโคกโดยมีจักรยานพับใส่ใต้ท้องรถไปด้วย ค่าโดยสารแค่ ๙๕ บาท ส่วนเจ้า Banian ขึ้นฟรี...


ถึงบ้านโคก ผมลงที่สามแยก.... unfold จักรยานแล้วปั่นต่อไปด่านภูดู่ ง่ายกว่านี้ไม่มีแล้ว!


เช่นเดียวกัน...พอลงจากรถไฟที่สถานีสุไหงโก-ลก ผมก็ปั่นตรงไปด่านได้เลย


ผมปั่นจักรยานจาก Rantu Panjang ไป Pasir Mas 


พอถึงสถานีรถไฟ ผมตีตั๋วไปลง Gemas แกล้งทำเฉยเกี่ยวกับจักรยานพับ พอขึ้นรถซึ่งเป็นตู้นอน เจ้าหน้าที่มาเก็บค่าจักรยานอีก ๑๐ ริงกิตหรือประมาณ ๑๐๐ บาท ผมก็จ่ายให้โดยดี...


ลงรถไฟที่ Gemas ตอนเช้ามืด...ผมปั่นจักรยาน ๘๐ กิโลเมตรต่อไปยังมะละกา!


น่าเสียดายยิ่งนักที่บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ... มันไม่เหลือภาพเมืองเก่าอย่างในอดีตให้เห็นอีกแล้ว!

ภาพถ่ายในอดีต ด้วยกล้องฟิล์ม
เข้าถึงตัวเมือง ผมไม่ได้กดชัตเตอร์เก็บภาพแม้แต่บานเดียว! ปั่นจักรยานไปสถานีขนส่งแล้วตีตั๋วรถโดยสารกลับ Rantau Panjang ในคืนนั้นเลย!  ผมนำจักรยานขึ้นเก็บใต้ท้องรถด้วยตนเอง พอถึงปลายทางก็เอามันลงมา unfold  ปั่นผ่านด่านมาเลย์และด่านไทยแล้วตรงไปหาของกินที่ตลาดสดสุไหงโก-ลก....ทุกอย่างดูง่ายไปหมด!

สรุปแล้ว "จักรยานพับ" เป็นคำตอบสำหรับนักท่องโลกด้วยจักรยานสูงวัยเช่นผมจริง ๆ ครับ...