Wednesday, March 16, 2011

น่าเป็นห่วงนะครับ…

บน browser ตัวที่ผมใช้อยู่ มีตัวเลขบอกอุณหภูมิของจังหวัดลำปางอยู่ด้วย มันแจ้งว่า  "Weather for Lampang, Thailand  Right Now =  Feels like  14 °C     Sky = Overcast   Thursday =  Showers    18 °C /12 °C Friday = Showers     27 °C /16 °C  Saturday = Sunny    31 °C / 15°C …"  งั่ม ๆ ต้องรอให้ถึงวันเสาร์เชียวหรือ…ผมถึงจะได้เห็นแสงแดด!!!

ที่มาของภาพ - อินเทอร์เน็ต
ผมกำลังจะเขียนป้ายด้วยสีน้ำมัน พออากาศเป็นเช่นนี้ ผมก็ต้องวางพู่กันไว้ก่อน  ขนาดกดปุ่มละลายน้ำแข็งในตู้เย็นไว้ตั้งแต่หัวค่ำวันวาน ผ่านมาถึงตอนนี้ น้ำแข็งก็ยังเกาะแน่นอยู่เหมือนเดิม ผมคิดถึงชาวญี่ปุ่นที่ต้องประสบภัยพิบัติร้ายแรง บ้านช่องพังพินาศ ไม่มีไฟฟ้าใช้ นอกจากขาดแคลนอาหารแล้วยังต้องเผชิญกับความหนาวเหน็บซึ่งเลวร้ายกว่าเมืองไทยมากมายนัก

ที่มาของภาพ - อินเทอร์เน็ต
 พี่ชายผมบอกว่าได้ดูโทรทัศน์แล้วเห็นประชาชนชาวญี่ปุ่นยืนเข้าแถวยาว รอเป็นชั่วโมง ๆ เพื่อซื้ออาหารด้วยอาการสงบและเป็นระเบียบ หุหุ ไม่ต้องบอกผมก็รู้ครับ คนญี่ปุ่นเป็นคนมีระเบียบวินัย ตรงต่อเวลา กินข้าวปลาอาหารเกลี้ยงชาม และรู้จักการใช้วัสดุเครื่องใช้ให้ได้ประโยชน์สุด  ล้มลงคราวนี้แม้ว่าหนักหนาสาหัสยิ่งนัก แต่อีกไม่นานเค้าก็จะลุกขึ้นแล้วร่วมมือร่วมใจกันฟื้นฟูสภาพที่ย่อยยับให้ กลับคืนได้เหมือนเดิม ผมเชื่อเช่นนั้นจริง ๆ

ในทางตรงกันข้าม ถ้าลองให้เหตุการณ์อย่างนั้นเกิดกับคนไทย ผมไม่คิดว่าเราจะทำได้เช่นนั้นหรอกนะ  ภาพของการแย่งชิงและฉกชิงผลประโยชน์ให้ตนเองคงจะปรากฏให้เห็นอย่างแน่นอน เป็นเพราะการศึกษาและการพัฒนาจิตใจคนของบ้านเราล้มเหลวมาโดยตลอด  ผมเคยเห็นรถเก๋งคันงามจอดอยู่ตรงสี่แยกนาก่วมแล้วคนขับกดเลื่อนกระจกลงเพื่อ โยนขยะออกมา เคยเห็นภาพข่าวที่มีรถเก๋งคันหนึ่งจอดข้างทางแล้วแอบเอาขวดปัสสาวะวางทิ้งไว้บนทางเท้า (คนลำปางนี่แหละ)  คนเหล่านั้นเป็นคนมีฐานะและมีการศึกษา แต่ทำไมถึงทำเช่นนั้น แล้วเด็ก ๆ ล่ะ จะไปโทษเด็กได้อย่างไร ในเมื่อผู้ใหญ่ไม่เคยคิดที่จะแก้ไข หรือทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดี  บางคนยิ่งร่ำรวยก็ยิ่งเห็นแก่ตัว!!

ที่โรงเรียนเพ็ญจิตตพงษ์ แค่ผมหยิบดินสอออกมาแล้วบอกว่าจะแจก เด็ก ๆ ก็ยื้อแย่งกันชูมือสลอน บอกให้เข้าคิวเป็นระเบียบก็ยังแย่งชิงที่จะอยู่ข้างหน้า นี่ขนาดเป็นแค่เพียงดินสอแท่งเดียวนะ ถ้าเป็นวิบัติภัยที่ต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพันจะเกิดโกลาหลกันขนาดไหน??  การไม่รู้ค่าของทรัพยากรก็เช่นกัน…ที่โรงเรียนฯ ผมเห็นอาหารถูกกินทิ้งกินขว้าง หรือแม้แต่ที่บ้านผมก็เห็นแก้วน้ำดื่มที่เด็ก ๆ ดื่มเหลือวางทิ้งไว้บนโต๊ะ ผมอดคิดไม่ได้ว่าเมื่อถึงวันที่บ้านเมืองเราต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติหรือ ภาวะขาดแคลนอาหารและทรัพยากรแล้ว คนไทยจะอยู่รอดได้อย่างไร?  อืมม์…ยากนะครับ ถ้าเราไม่ฝึกเด็ก ๆ ของเราไว้เสียตั้งแต่บัดนี้ ถึงวันนั้นก็คงจะสายไปแล้ว!!!

และถ้าคนรุ่นใหม่ยังคงบอกว่า “สำหรับผู้นำถ้าจะโกงบ้างก็ได้…แต่ขอให้เก่ง”  หรือการที่ผมปฏิเสธไม่เอาถุงก๊อบแก๊บใส่สินค้าหรืออาหารที่ซื้อแล้วยังถูก มองว่าเป็นเรื่องแปลกหรือตลกอยู่ละก็ เราคงต้องเตรียมใจยอมรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้ากันแล้ว…


ที่มาของภาพ - อินเทอร์เน็ต
พูดถึงเรื่องแผ่นดินไหว ผมอยากหยิบยกตาราง “มาตราริกเตอร์” จาก “วิกิพีเดีย” มาให้เพื่อน ๆ ดูดังนี้…
ตัวเลขริกเตอร์ จัดอยู่ในระดับ ผลกระทบ อัตราการเกิดทั่วโลก
1.9 ลงไป ไม่รู้สึก (Micro) ไม่มี 8,000 ครั้ง/วัน
2.0-2.9 เบามาก (Minor) คนทั่วไปมักไม่รู้สึก แต่ก็สามารถรู้สึกได้บ้าง และตรวจจับได้ง่าย 1,000 ครั้ง/วัน
3.0-3.9 เบามาก (Minor) คนส่วนใหญ่รู้สึกได้ และบางครั้งสามารถสร้างความเสียหายได้บ้าง 49,000 ครั้ง/ปี
4.0-4.9 เบา (Light) ข้าวของในบ้านสั่นไหวชัดเจน สามารถสร้างความเสียหายได้ปานกลาง 6,200 ครั้ง/ปี
5.0-5.9 ปานกลาง (Moderate) สร้างความเสียหายยับเยินได้กับสิ่งก่อสร้างที่ไม่มั่นคง แต่กับสิ่งก่อสร้างที่มั่นคงนั้นไม่มีปัญหา 800 ครั้ง/ปี
6.0-6.9 แรง (Strong) สร้างความเสียหายที่ค่อนข้างรุนแรงได้ในรัศมีประมาณ 80 กิโลเมตร 120 ครั้ง/ปี
7.0-7.9 รุนแรง (Major) สามารถสร้างความเสียหายรุนแรงในบริเวณกว้างกว่า 18 ครั้ง/ปี
8.0-8.9 รุนแรงมาก (Great) สร้างความเสียหายรุนแรงได้ในรัศมีเป็นร้อยกิโลเมตร 1 ครั้ง/ปี
9.0-9.9 รุนแรงมาก (Great) 'ล้างผลาญ' ทุกสิ่งทุกอย่างในรัศมีเป็นพันกิโลเมตร 1 ครั้ง/20 ปี
10.0 ขึ้นไป ทำลายล้าง (Epic) ไม่เคยเกิด จึงไม่มีบันทึกความเสียหายไว้

จากข่าวที่รับทราบมา เค้าปรับค่าความรุนแรงของแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นครั้งล่าสุดเป็น 9 ริกเตอร์แล้วนะ  ผมมองไปที่รอยร้าวบนผนังปูนของอาคารที่อาศัยอยู่ แล้วลองจินตนาการว่าหากเกิดแผ่นดินไหวขึ้นที่นี่ด้วยระดับความรุนแรงซัก 7-8 ริกเตอร์อย่างต่อเนื่อง  อะไรจะเกิดขึ้น???  ผมคงจะไม่รอดแน่ ๆ  ไปเป็นอาจารย์ใหญ่ก็ไม่ได้ด้วย เพราะศพเละ!!

เตรียมรับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดในอนาคตให้พร้อมนะครับ เพื่อน ๆ ที่รัก

No comments: