Thursday, October 17, 2013

ศิลปะการอ่านหนังสือ


ผมยังอ่าน "เรื่องรักในปักกิ่ง" ไม่จบ ช่วงนี้ฝนตกอากาศชื้น "ช่างเหอะ" ทำอะไรไม่ได้มากนัก ประจวบกับพี่ชายได้ขันเกลียวความเครียดในตัวผมให้แน่นขึ้นด้วยการกระทำ  สกรูดูเหมือนว่าใกล้จะขาด!

ผมคงต้องงดรับฟังข่าวสารบ้านเมือง รวมทั้ง deactivate FB สักระยะนึงด้วย! 


วันนี้หยิบหนังสือ "ศิลปะการอ่านหนังสือ" ออกมาอ่าน เป็นหนังสือหนา ๑๒๒ หน้า เขียนโดย ดร.ครรชิต มาลัยวงศ์ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๒๘ ราคาจำหน่ายเล่มละ ๑๕ บาท ผมอดแปลกใจไม่ได้ว่าทำไมหนังสือถึงได้ราคาถูกเช่นนี้!

อ่อ...เป็นหนังสือที่จัดจำหน่ายโดยชมรมเด็ก ในหน้าแรกมีเขียนไว้ว่า...
หนังสือต่าง ๆ ของชมรมเด็ก จะเป็นเรื่องอ่านเสริมความรู้ หรือเรื่องบันทึกที่เลือกสรรแล้วว่าเหมาะสมกับเยาวชน จุดประสงค์ของชมรมเด็ก คือส่งเสริมให้เยาวชนรักการอ่าน รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ชมรมเด็กหวังว่าท่านคงเพลิดเพลินและได้คติจากการอ่านหนังสือเล่มนี้
หน้า ๒๓-๒๔ เขียนว่า...
ผู้อ่านหลายท่านอาจจะคิดว่า ตนเองมีเวลาน้อยจนไม่อาจจะอ่านหนังสือเล่มใดได้นาน ๆ ท่านต้องการอ่านให้จบ ๆ โดยเร็ว เพื่อที่จะได้จับเรื่องใหม่  หาหนังสือเล่มใหม่อ่านต่อไป การคิดเช่นนี้เท่ากับว่าท่านได้ให้ความสำคัญต่อความเร็วของการอ่านมากเกินไป หนังสือแต่ละประเภทนั้น ผู้อ่านจะต้องอ่านด้วยความเร็วต่าง ๆ กันออกไป ท่านไม่อาจอาจ "ตรรกศาสตร์" ของ จำนงค์ ทองประเสริฐ ได้รวดเร็วเท่ากับที่อ่าน "ล่องไพร" ของ น้อย อินทนนท์ และขณะเดียวกัน แม้ในเรื่องจีนด้วยกัน ท่านก็อาจจะอ่าน "สามก๊ก" ของเจ้าพระยาพระคลังให้เร็วเท่ากับที่อ่าน "เซียวฮื้อยี้" ของ ว.ณ เมืองลุง
เวลาที่มีเพียงสั้น ๆ ของคน ๆ หนึ่งนั้น ไม่จำเป็นต้องพร่าให้หมดไปด้วยการอ่านหนังสือให้ได้มากที่สุด และเร็วที่สุด เพราะถ้าท่านต้องการเช่นนี้ ท่านอาจหาเรื่องย่อที่คนอื่นเขาอ่านเรื่องจริงแล้วนำมาย่อพิมพ์ขายมาอ่านได้ง่าย ๆ  นอกจากนี้ หนังสือบางเล่ม ท่านยังต้องใช้ความคิดพิจารณาไปตามเหตุผลที่ผู้ประพันธ์ได้หยิบยกขึ้นมาอ้าง ในกรณีเช่นนี้ท่านไม่อาจจะตะลุยอ่าน "ข้อคิดของ ม. ชูพินิจ" ให้จบในชั่วโมงเดียว เพราะถ้าท่านทำเช่นนั้น ท่านจะไม่เหลือเศษอะไรไว้ในสมองเลย ตรงข้ามท่านต้องอ่านข้อคิดทีละเรื่อง อาจะเป็นเพียงคืนละเรื่อง แล้วพิจารณาใคร่ครวญตามไปนั่นแหละ ท่านจึงจะเข้าใจ และได้รับสิ่งที่นักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้ต้องการให้เราทราบ....
หุหุ วันนี้ขอเอามาเป็นข้ออ้างที่จะดองหนังสือ "เรื่องรักในปักกิ่ง" ไว้อีกสักเพลานึง

No comments: