เข้าใจว่าคงเป็นเพราะความไม่มั่นใจในตัวเองด้วยประการหนึ่ง ผมเกรงว่าเขียนไปแล้วอาจไม่ถูกต้อง ก็เลยหันไปเขียนเรื่องการท่องเที่ยวและงานช่าง(เหอะ) เสียเป็นส่วนใหญ่...
เย็นวานนี้ผมมีโอกาสได้ขึ้นไปนั่งบนดาดฟ้าดูพระอาทิตย์ตกดิน ทำให้คิดถึงชีวิตที่เหลือเวลาอีกไม่มากนัก!
หลังจากสอนเด็กน้อยให้ฝึกเล่นไวโอลินมา ๔-๕ ปี ผมเห็นได้ว่ามีนักเรียนน้อยคนที่ประสบความสำเร็จ หลายคนต้องทิ้งไวโอลินยกธงขาวไม่สู้ต่อ จึงอยากจะบอกไว้ก่อนว่าการเรียนเครื่องสายจักต้องมีใจรักจริง ๆ มากด้วยมานะและอดทน เพราะมันไม่ง่ายเหมือนการเล่นอูคูเลเล่ ซึ่งกดนิ้วเดียวก็เล่นคอร์ดได้แล้ว
และขอย้ำในที่นี้อีกครั้งว่า เรียนไวโอลินหรือวิโอล่าสมควรยืนมากกว่านั่ง ครูก็ต้องยืนสอน! (ยกเว้นเวลาเล่นเปียโน)
ภาพจากภาพยนต์เรื่อง Music of The Heart |
อีกอย่างหนึ่งคือ นักเล่นเครื่องสายน่าจะร้องเพลงได้(ดี)ด้วย ร้องออกจากปากไม่ได้ก็ให้ร้องในใจ ผู้ที่ร้องเพลงเพี้ยนหรือหาคีย์ไม่เจอ ถ้ามาเล่นไวโอลินก็จะเพี้ยนและยากที่จะประสบความสำเร็จ คนไม่กล้าร้องเพลงจะเป็นคนที่สีไวโอลินด้วยความไม่มั่นใจด้วยเช่นกัน
นอกจากนั้นแล้ว ผมยังมีความเห็นว่าคนเล่นเครื่องสายควรคิดและฝึกในระบบ Moveable Do มากกว่าระบบ Fixed Do (เอาละซิ ชักยุ่งแล้ว!)
หนูน้อยทั้งหลาย เมื่อได้หัดสีรถไฟกันแล้ว ควบคู่กันไป...เจ้าจะต้องหัดร้องเพลงด้วยนะ เริ่มง่าย ๆ ก่อนด้วยการร้อง โด เร มี ฟา โซ ลา ที โด้ โดยใช้โน้ตตัวกลมก่อนแล้วค่อยเปลี่ยนไปเป็นโน้ตตัวดำ จะให้โดอยู่เสียงไหนก็ได้ ย้ายคีย์ไปเรื่อย ๆ อย่าให้เพี้ยน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือระหว่างเสียง มี-ฟา และ ที-โด้
นักเรียนเครื่องสายควรกล้าที่จะร้องออกเสียงดัง ๆ ถ้าร้องเพลงตรงเสียง...เวลาเล่นเครื่องสายก็จะไม่เพี้ยน! หรือเพี้ยนน้อย!!
กล้ามั้ย กล้ามั้ย!
No comments:
Post a Comment