Friday, September 30, 2011

วิธีไล่หนู



ถ้าถามว่าในบรรดาสัตว์ที่อาศัยร่วมชายคาอยู่ด้วย ผมกลัวอะไรที่สุด? คำตอบก็คือ "หนูและแมลงสาบ"! จริง ๆ แล้ว ผมไม่ได้กลัวว่ามันจะมากัดหรือทำร้าย แต่กลัวว่ามันจะไปกัดข้าวของแล้วก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่า อีกประการหนึ่งคือมันเป็นพาหะนำโรคที่น่าขยะแขยงอีกด้วย 

ถ้าประเมินความเสียหายที่ผมได้รับจากหนูตัวเล็ก ๆ รวมแล้วผมคิดว่าน่าจะสูงถึง ๓ หมื่นบาทนะ เท่าที่จำได้ก็มี เครื่องถ่ายเอกสารราคาแพงที่นำมาจากเชียงใหม่ซึ่งโดนหนูกัดสายไฟจนพัง กลายเป็นเศษขยะมีราคาเท่ากับหนังสือพิมพ์เก่า ๆ กองหนึ่ง - เปียโน Robinson ที่ยกไปเล่นที่ร้าน "ดอย" เมื่อปี ๒๕๒๐ ก็ถูกแม่หนูเข้าไปคลอดลูกอยู่ใต้คีย์บอร์ด แล้วบรรเทาความหิวด้วยการแทะไม้เนื้ออ่อน หอม ๆ ซึ่งมีให้เลือกมากมายรอบ ๆ บริเวณที่อยู่อาศัย (พร้อมกับฟังเพลงไปด้วย) - เจ้าโต(รถยนต์โตโยต้าคราวน์) ของผมก็โดนหนูเข้าไปกัดสายไฟ จนต้องเรียกช่างมาลากไปซ่อม หมดเงินเป็นพัน - เครื่องโทรสารเอย เครื่องซักผ้าเอย แล้วก็เตาด้วยนะ รวมทั้งหนังสือที่มีค่า ทุกอย่างถูกเจ้าหนูตัวเล็กทำลายหมด!

แมลงสาบก็เช่นกัน มันเคยกัดสายไฟเส้นเล็ก ๆ ในอีเล็คโทนจนใช้การไม่ได้ ทั้งหนังสือและเสื้อผ้าดี ๆ ของผมก็เคยถูกมันแทะ  ที่สำคัญคือผมเคยโดนแมลงสาบเข้าหู ต้องไปโรงพยาบาลเพื่อนให้หมอช่วยคีบออก...

ช่วงนี้เกิดภาวะน้ำท่วม เจ้าหนูและแมลงสาบก็คงต้องอพยพหนีน้ำ ไม่ต้องห่วงหรอกครับ มันเอาตัวรอดได้อยู่แล้ว พอน้ำลดก็พร้อมที่จะกลับมาสร้างความเดือดร้อนให้เจ้าของบ้านอีกเช่นเดิม 


วันนี้ผมอยากนำ "สูตรสมุนไพรไล่หนูและแมลงสาบ" มาฝากครับ  เป็นสูตรที่คิดค้นโดยคุณจันทรา สลีสองสม ประธานกลุ่มฯ หมู่ที่ ๑๑ บ้านร่องปลายนา ตำบลบัวสลี อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีวิธีการทำดังนี้


เตรียมส่วนผสมซึ่งประกอบด้วย ใบพลู ๔ ส่วน หัวข่า ๓ ส่วน กระเทียม ๒ ส่วน และเกลือ ๑ ส่วน 

ภาพจากรักบ้านเกิดดอทคอม

วิธีทำและวิธีใช้  ให้เอาใบพลูไปนึ่งให้สุกก่อน จากนั้นนำมาสับ บด พร้อมกับหัวข่า กระเทียม ส่วนเกลือต้มให้ละลายเทผสมยาที่เราเตรียมไว้ คนให้เข้ากันตักใส่กระป๋องไว้  นำกระป๋องยาไปวางไว้ที่ ๆ มีหนูและแมลงสาบชุกชุม ถ้าได้กลิ่นมันจะหนีและไม่มารบกวนข้าวของต่าง ๆ อีกเลย ตัวยานี้ก็ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้อีกด้วย


อ่อ...ผมเพิ่งอ่านเจอ "เกร็ดความรู้" ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ประจำวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๔ ว่าด้วยเรื่อง "ล่าหนูกวนใจให้พ้นบ้าน" ในส่วนที่เกี่ยวกับวิธีการพื้นบ้าน เขียนไว้ว่า "...นำกิ่่งยี่โถมาตากแห้ง และทุบ นำไปวางตามที่ต่าง ๆ ที่พบหนู ประมาณ ๑-๒ สัปดาห์ พวกหนูจะทยอยหนีออกจากบ้านไปเอง"
หากิ่งยี่โถได้จากไหนเนี่ย?  wikipedia ให้ข้อมูลไว้ว่า "ยี่โถเป็นไม้พุ่มสูงประมาณ ๒๐ ฟุต เปลือกของลำต้นมีสีเทาเรียบ เมื่อตัดหรือเด็ดจะมีน้ำยางไหลออกมา ใบ เป็นใบเดี่ยวรูปร่างรี ปลายและโคนใบแหลม ยาว ๑๕-๑๗ ซ.ม. กว้าง ๑.๗-๒.๐ ซ.ม. ขอบใบเรียบไม่มีจัก หนาแข็ง มีสีเขียวเข้ม ก้านใบสั้น ออกตามข้อของลำต้น ดอกมีสีชมพู ขาว ออกตามปลายของยอดลำต้นเป็นกระจุกหรือช่อ รูปร่างคล้ายกรวยหรือปากแตร เวลาบานกลีบจะมีกลิ่นหอม ดอกยี่โถสามารถออกดอกได้ทั้งปี ผลเกิดเมื่อดอกมีการผสมเกสรและร่วงหลุดไป จะเกิดผลเป็นฝัก หนึ่งฝักต่อหนึ่งดอก ยี่โถ ๑ ดอก เมล็ดลักษณะคล้ายเส้นไหม การปลูกยี่โถสามารถปลูกได้ทุกที่เนื่องจากขึ้นได้ในสภาพดินทุกชนิดได้ดี โดยการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง หรือการปักชำกิ่ง"

อืมม์....ผมเห็นท่าจะต้องไปหายี่โถมาปลูกไว้สักต้นสองต้นแล้วล่ะ ได้ผลอย่างไรจะนำมาเล่าให้ฟังอีกครั้งนะครับ 

ที่มาของภาพเคลื่อนไหวหนู : animationbuddy.com
ที่มาของภาพและข้อมูล : rakbankerd.com
ที่มาของข้อมูล : dailynews.co.th  
ที่มาของข้อมูลเรื่องยี่โถ : th.wikipedia

Wednesday, September 28, 2011

Accordion 4

หลังจากที่เพื่อน ๆ ฝึกเล่นเบสและคอร์ดด้วยมือซ้าย จนสามารถเล่นเพลง Deck the Halls ได้คล่องแล้ว เราก็มาฝึกเล่นคอร์ด D กันต่อ 

ตามตำราเค้าแนะนำให้ฝึกโดยไม่ต้องเล่นให้เกิดเสียงเสียก่อน โดยเลื่อนตัวหีบเพลงไปทางหัวเข่าจนทำให้มองเห็นนิ้วมือซ้ายที่่จะกดลงบนปุ่มเบสและคอร์ด ฝึกกดจังหวะที่ ๑ ด้วยนิ้วกลางลงที่ปุ่มเบส D ส่วนจังหวะที่ ๒ และ ๓ ก็ใช้นิ้วชี้กดปุ่มคอร์ด D major (ตามตำแหน่งที่เห็นในภาพ)  ตอนฝึกใหม่ ๆ ก็ต้องมองดูไปก่อน พอคุ้นเคยดีแล้วก็ไม่ต้องดู เมื่อกดคล่องดีแล้วให้ดึงหีบเพลงกลับมาอยู่ในตำแหน่งบรรเลง แล้วฝึกกดเบสและคอร์ด D ต่ออีก จนคุ้นเคยกับการเล่นเบสและคอร์ดตัวใหม่ 

เพื่อน ๆ บรรเลงให้เกิดเสียงได้แล้วนะ ไม่ต้องรีรอ เรามาเริ่มฝึกตามโน้ต Bass Warm-up บรรทัดแรกกันเลย หวังว่าเพื่อน ๆ คงไม่ลืม [บุ่ม แชบ แชบ] นะครับ แบบฝึกหัดนี้มี ๘ ห้อง ใน ๑ ห้องมี ๓ จังหวะ  ก่อนหน้านั้นเราเคยเล่นแต่เบส/คอร์ด C major และ G major  วันนี้เราต้องเล่นเบส/คอร์ด D major เพิ่มขึ้นอีก จะต้องค่อย ๆ ฝึก จนสามารถเล่นได้ต่อเนื่องตั้งแต่ต้นจนจบโดยไม่ต้องดูนิ้วตัวเอง   [บุ่ม แชบ แชบ] ไปเรื่อย ๆ เมื่อถึงห้องสุดท้ายให้ใช้ทั้งนิ้วกลางและนิ้วชี้กดปุ่มเบส G และปุ่มคอร์ด G major พร้อมกัน แชบบบบ ยาว ๓ จังหวะแล้วหยุด นี่คือการฝึกเล่นใน key of G major (ไม่เปลี่ยนตรง key signature)  

หลังจากฝึกแบบฝึกหัด Bass Warm-up บรรทัดแรก ก็ฝึกต่อบรรทัดที่สอง จะเห็นได้ว่ามีความยาว ๘ ห้อง แต่ time signature เป็น 4/4 ดังนั้นมือซ้ายจะต้องเล่น [บุ่ม แชบ บุ่ม แชบ]  ตัวอย่างเช่น ในห้องแรก คือ [เบส C - คอร์ด C major - เบส G - คอร์ด G major]  ห้องที่สอง คือ [เบส D - คอร์ด D major - เบส G - คอร์ด G major]   ห้องสุดท้ายเล่นเบสและคอร์ด C major  แบบฝึกหัดนี้อยู่ใน key of C major โดยมีคอร์ด D major เพิ่มมาเป็นคอร์ด Secondary Dominant คร้าบบ...

ว้าว เล่นได้คล่องแล้วใช่ไหม?  ฝึกต่อด้วยการเล่นเพลง All Through the Night เล้ย

ฝึกทีละมือก่อนก็ได้นะ เมื่อคุ้นเคยดีแล้วกับการบรรเลงทำนองด้วยมือขวาและเล่นเบส-คอร์ดด้วยมือซ้าย ก็เล่นสองมือได้เลย อย่าลืมว่าการเล่นในคีย์ G major ตัว F จะต้องเล่น F# นะ และดูให้ดี ๆ ด้วยว่าโน้ตตัวไหนเป็นโน้ต tied ซึ่งจะต้องกดคีย์ไว้จนครบตามค่าของมัน อย่างเช่น ในสองห้องสุดท้าย โน้ต G ต้องกดยาวจนครบ ๔ + ๔ = ๘ จังหวะ โดยดึงหรือดันกระเพาะลมให้ไปในทิศทางเดียวกันตลอดทั้งสองห้อง...


ส่วน Warm-Up In G Major ซึ่งอยู่ข้างท้ายนี้ เป็นแบบฝึกหัดสำหรับมือขวาที่เราต้องเล่นให้เสียงต่อเนื่อง  ถูกจังหวะ และมีความไพเราะ

ถ้าอยากเก่ง ต้องฝึกมาก ๆ นะ 

Friday, September 23, 2011

Accordion 3

มาฝึกเล่นหีบเพลงกันต่อดีกว่า...

เพื่อน ๆ ฝึกเล่นแบบฝึกหัดมือซ้ายที่เล่นเบส C แล้วตามด้วยคอร์ด C major  และเบส G ตามด้วยคอร์ด G major ดังโน้ตที่ลงไว้ให้เมื่อวันก่อนนี้ได้คล่องหรือยัง?  อย่าลืมว่าถ้าอยากเก่งก็ต้องฝึก ๆๆๆ ลูกเดียวครับ...

โน้ตต่อไปนี้คือแบบฝึกหัดที่เพื่อน ๆ จะต้องฝึก ก็อย่างที่เคยบอก ผมไม่ค่อยชอบตรงที่เค้าเขียน CM สำหรับคอร์ด C major เพราะอีกหน่อยถ้ามีคอร์ดไมเนอร์เข้ามาด้วยแล้วจะทำให้สับสนได้ง่าย  

เอาเหอะ....ฝึกตามเค้าไปนะ พอเห็นว่ามือซ้ายเล่นคล่องดีแล้ว ก็เล่นสองมือได้เลย ตามโน้ตที่เค้าเขียนว่า Playing Both Hands Together นั่นแหละ  มีอยู่ ๘ ห้อง ทั้งสองมือเริ่มจากโน้ต C แต่มือขวาเล่นยาว ๓ จังหวะในขณะที่มือซ้ายเล่น บุ่ม แชบ แชบ 

เล่นให้จังหวะสม่ำเสมอนะ เสียงก็ให้ต่อเนื่อง การชักเข้าชักออกให้ตรงตามที่เค้าเขียนบอกไว้ คือห้องแรกต้องดึงกระเพาะลมออก ห้องที่สองก็ดันเข้า สลับกันไปมา...

เมื่อเล่นได้แล้ว ก็ขยับไปเล่นเพลง Pop The Weasel Runaround ได้เลยครับ...

ยังเป็นเพลงที่มี time signature 3/4 อยู่ ดังนั้นมือซ้ายก็จะเล่น บุ่ม แชบ แชบ... (อีกแย้ว!) แต่คราวนี้ต้องเล่น ๑๖ ห้อง ในโน้ตเค้าไม่ได้เขียนบอก OPEN-CLOSE แล้วนะ เค้าใช้ลูกศรแทนอ่ะ ชี้ไปทางซ้ายก็หมายถึงดึงออก (OPEN) ชี้ไปทางขวาก็หมายถึงดันเข้า (CLOSE) ไม่ยากใช่ไหมครับ?


ซ้อมเพลง Pop The Weasel Runaround ได้คล่องแล้ว ก็ซ้อมต่อด้วยเพลง Deck the Halls ซึ่งอยู่ในอัตรา 4/4  จะเห็นได้ว่ามือซ้ายต้องเล่นทั้งแบบ [บุ่ม แชบ แชบ แชบ] และ [บุ่ม แชบ บุ่ม แชบ] ส่วนตอนจบก็เล่น บุ่ม แชบ แชบบบ(ยาว)  

ฝึกมาถึงตรงนี้ เมื่อเห็นว่าเล่นได้ไพเราะดี ก็นำ accordion ออกไปเล่นโชว์ได้แล้วครับ...

Thursday, September 22, 2011

Accordion 2

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ผมได้นำภาพท่าเล่น accordion ทั้งแบบนั่งและยืน จากตำราที่มีอยู่มาให้เพื่อน ๆ ได้นำไปศึกษา โดยมีแบบฝึกหัดเพลงสั้น ๆ Blind Mice Romp ให้ฝึกเล่นด้วยมือขวาเพียงข้างเดียวก่อน สิ่งที่ต้องทำให้ได้คือ การเล่นให้ต่อเนื่อง ถูกเสียง ถูกจังหวะ ใช้นิ้วให้ตรงตามตำรา(ดูที่ตัวเลข fingering) และดึง bellows (อยากจะขอเรียกว่า "กระเพาะลม") ออกและเข้าให้ถูกต้องตามที่ตำราเขียนไว้ (open = ดึงออก  close = ดันเข้า)  

วันนี้เรามาศึกษาเรื่องการเล่นเบสและคอร์ดด้วยมือซ้ายกันนะครับ...

ขอให้พิจารณาที่ chart ต่อไปนี้...


นี่คือปุ่มเบสและคอร์ดซึ่งอยู่บนแผงทางด้านซ้ายมือของผู้เล่น ขอให้ดูในกรอบสี่เหลี่ยมนะครับ ถ้าทั้งหมดก็จะเป็นของ accordion แบบ 120 เบส จะเห็นว่ามีอยู่ 6 แถวด้วยกัน เป็นปุ่มเบส 2 แถว ส่วนอีก 4 แถวเป็นปุ่มสำหรับเล่นคอร์ดซึ่งมี 4 ประเภทคือ คอร์ดเมเจอร์, คอร์ดไมเนอร์, คอร์ดเซเว่น และคอร์ดดิมมินิช (เรียงตามลำดับ)

จากแผ่น chart ข้างบน เราสามารถทราบได้ว่า accordion แบบ 12 เบส, 24 เบส และ 48 เบสนั้นประกอบด้วยปุ่มเบสและคอร์ดซึ่งจัดอยู่ในลักษณะใด  ดูที่อยู่ภายในกรอบสี่เหลี่ยมพื้นดำนั่นกันก่อน มันคือ chart ของ accordion แบบ 12 เบส จะเห็นได้ว่ามีปุ่มอยู่เพียง 2 แถวเท่านั้น แถวหนึ่งเป็นเสียงเบส Bb, F, C, G, D และ A ส่วนอีกแถวเป็นคอร์ด Bb, F, C, G, D และ A  ทุกคอร์ดเป็นคอร์ดเมเจอร์ (Major)  อย่าได้สับสนกับการเขียนคอร์ดเมเจอร์ด้วยการใช้อักษร M ตัวใหญ่นะครับ บางท่านอาจจะไม่คุ้นเคย เพราะชินกับการเขียนคอร์ดเมเจอร์โดยไม่ต้องมีอักษร M กำกับ ในที่นี้ BbM ก็คือคอร์ด Bb major ครับ...

ทีนี้มาดูภายในกรอบสี่เหลี่ยมที่ขยายออกไปอีกระดับ นั่นก็คือ chart ของ accordion แบบ 24 เบส จะเห็นว่ามีปุ่มกดอยู่ 3 แถว คือ เบส, คอร์ดเมเจอร์ (Eb, Bb, F, C, G, D, A และ E) และคอร์ดไมเนอร์ (Ebm, Bbm, Fm, Cm, Gm, Dm, Am และ Em)

จากนั้นก็เป็นกรอบสี่เหลี่ยมซึ่งขยายออกไปอีก เป็น chart ปุ่มสำหรับเล่นเบสและคอร์ด 48 ปุ่ม ผู้ที่ใช้ accordion ขนาด 48 เบสก็ต้องศึกษาจาก chart ตัวนี้ จะเห็นได้ว่ามีปุ่มเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งแถว อยู่ทางด้านนอกสุดที่เขียนว่าเป็น counterbasses ประกอบด้วยโน้ต F, C, G, D, A, E, B, F#, C#, G#, D# และ A# 

ผมว่าหีบเพลงขนาด 48 เบสเป็นเครื่องที่น่าเล่น มันไม่ใหญ่เกินไป พกพาได้สะดวก ถึงแม้ว่าปุ่มสำหรับมือซ้ายจะไม่มีคอร์ดเซเว่นและคอร์ดดิมมินิช เราก็สามารถเล่นเสียงเพิ่มเติมได้ด้วยมือขวาครับ


ภาพข้างบนนี้อธิบายเรื่องการหาตำแหน่งของปุ่มโน้ต C (เสียงเบส) ไม่ว่าเพื่อน ๆ จะใช้หีบเพลงขนาดกี่เบสก็ให้ยึดหลักว่าปุ่มดังกล่าวจะอยู่ใน chart ของ accordion แบบ 12 เบส (ในวงกลมของภาพ) ขอให้ใช้นิ้วกลาง (3) คลำหา mark ซึ่งอาจจะบุ๋มลงไปคล้ายรูปดาวหรือวงกลม พอนิ้วไปสัมผัสเข้ากับ mark นั่น ก็จะรู้ได้ทันทีว่านั่นคือปุ่มเสียงเบส C (ตามโน้ตที่ถูกบันทึกลงในช่องที่สองของบรรทัดห้าเส้น ภายใต้ bass clef)

แสดงให้เห็นปุ่ม C บนหีบเพลงขนาด 80 เบส 

หีบเพลงขนาด 24 เบสของผม

โน้ตแอ็คคอร์เดียนก็คล้าย ๆ กับโน้ตเปียโน คือมีสองบรรทัด บรรทัดบนสำหรับมือขวา (ใช้ treble clef)  ส่วนบรรทัดล่างสำหรับมือซ้าย (ใช้ bass clef)  

โน้ตมือซ้ายของ accordion ง่ายกว่าของเปียโนเยอะเลย ดูที่เส้นกลางของบรรทัดห้าเส้นเป็นหลัก โน้ตที่อยู่ต่ำลงมาจะเป็นโน้ตเบส ส่วนโน้ตที่สูงขึ้นไปจะเป็นโน้ตคอร์ด เจ้าโน้ตคอร์ดก็ไม่ได้เขียนไว้หลาย ๆ ตัวเหมือนกับในโน้ตเปียโน แต่เค้าจะเขียนไว้แค่ตัวเดียว (จะเป็นโน้ตตัวกลม ตัวดำ โน้ตประจุด หรืออะไรก็ตาม) แล้วมีอักษรกำกับไว้ว่าเป็นคอร์ดอะไร  

เพื่อน ๆ ที่มีหีบเพลงอยู่แล้ว ก็ลองหยิบขึ้นมาฝึกแบบฝึกหัดสำหรับมือซ้ายดูนะ เล่นตามโน้ตบรรทัดล่างสุดเลยครับ จะเห็นได้ว่ามีทั้งหมด 8 ห้องด้วยกัน ในแต่ละห้องประกอบด้วย 3 จังหวะ (time signature = 3/4)  ให้ใช้นิ้วกลางเล่นเบสโน้ต C ในจังหวะที่ 1 ส่วนจังหวะที่ 2 และ 3 ให้ใช้นิ้วชี้เล่นคอร์ด C major (CM) บนปุ่มคอร์ด (ในแถวซึ่งอยู่ถัดมาทางด้านขวาของผู้เล่น) กด 2 ครั้ง ก็จะได้ 1 ห้องเป็นเสียง บุ่ม - แชบ - แชบ (C - CM - CM) ห้องที่ 2 ก็เล่นเหมือนกันครับ...

พอห้องที่ 3 เราก็ย้ายนิ้วกลางไปเล่นเบสที่ปุ่ม G (อยู่ถัดขึ้นข้างบนจากปุ่ม C) ส่วนนิ้วชี้ก็เล่นคอร์ด G major  
(ปุ่มคอร์ดที่อยู่ถัดจากคอร์ด C ขึ้นไปทางด้านบนเช่นเดียวกัน) ได้เสียง บุ่ม - แชบ - แชบ (- GM - GM) เล่นแบบเดียวกันอีก 1 ห้อง แล้วไปเล่นเช่นเดียวกับห้องที่ 1 และ 2 อีก รวมทั้งหมดเราสามารถเล่นได้ 6 ห้องแล้ว

ในห้องที่ 7 ก็เล่นเหมือนห้องที่ 3 แล้วไปจบด้วยการเล่นห้องที่ 8 โดยการใช้นิ้วกลางกดปุ่มเบส C พร้อม ๆ กับนิ้วชี้กดปุ่มคอร์ด C major (CM)  ให้กดแช่ไว้ยาวครบ 3 จังหวะ แล้วยกขึ้น (เป็นการเล่นโน้ตตัวขาวประจุด)

ในตำราเค้าบอกให้ฝึกกดปุ่มเฉย ๆ ยังไม่ต้องเล่นให้เกิดเสียง แต่ผมคิดว่าเมื่อเราได้ศึกษาตำแหน่งของปุ่มต่าง ๆ ดีแล้ว ก็น่าจะลองเล่นดูเลย มันจะยากขึ้นหน่อยตรงที่ว่าจะต้องชักกระเพาะลมเข้า-ออกเพื่อให้เกิดเสียง บุ่ม - แชบ - แชบ - บุ่ม - แชบ - แชบ.....  เท่านั้นเอง!

ปรับให้กระชับมือ
ผมว่าการยืนเล่นน่าจะดีกว่า สะพายเครื่องให้ดี ให้หีบเพลงอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ใช้นิ้วกลางของมือซ้ายคลำหาปุ่ม C ให้เจอแล้วปรับให้สายรัดมือซ้ายกระชับเข้ามา เพื่อมือซ้ายจะได้อยู่ในตำแหน่งที่สามารถเล่น บุ่ม - แชบ - แชบ ได้สะดวก

ลองฝึกดูนะครับ

Wednesday, September 21, 2011

การย้ายต้นไม้

ในชีวิตที่ผ่านมา ผมเคยย้ายต้นไม้ก็หลายครั้งอยู่นะ รอดก็มี ตายก็ไม่น้อย สาเหตุคงเป็นเพราะความใจร้อนของผมนั่นเอง เมื่อเร็ว ๆ นี้..ย้ายต้นพริกขึ้หนูก็ตายไปอีกหนึ่ง ส่วนต้นมะนาวก็ทำท่าว่าจะไปไม่รอดซะแล้ว!  


เมื่อ ๒๐ ปีก่อน ผมเคยบอกรับนิตยสารการเกษตร ถ้าเจอบทความดี ๆ ผมก็จะตัดออกแล้วนำไปเก็บไว้ในสมุดวาดเขียน วันนี้ผมอยากนำข้อเขียนเรื่อง "การย้ายต้นไม้" ของ อ.ธนิต มะลิสุวรรณ ผศ.ภาควิชาเทคโนโลยีทางพืช คณะผลิตกรรมการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ มาให้เพื่อน ๆ ได้อ่านกัน ผมคิดว่าน่าจะมีประโยชน์สำหรับผู้ที่รักการทำสวนและตกแต่งบ้านด้วยไม้ดอกไม้ประดับนะครับ...


ท่านอาจารย์ธนิตเขียนไว้ดังนี้...

การย้ายต้นไม้




  • ใช้จอบหรือเสียมขุดดินบริเวณรอบ ๆ ต้นเพื่อตัดปลายรากตามแนวเงาของต้นไม้ตอนเที่ยงวันล่วงหน้าก่อนราว ๒-๓ สัปดาห์ เพื่อเตือนให้ต้นไม้รู้ว่าจะต้องเปลี่ยนที่อยู่ใหม่แล้วนะ ถ้าขุดขึ้นทันทีจะทำให้รากกระทบกระเทือนอาจจะทำให้เฉาและทิ้งใบ การเติบโตชะงักไประยะหนึ่ง หากเป็นต้นไม้ประเภทใจเสาะ อาจตายไปเลยก็ได้

  • รดน้ำรอบ ๆ ต้นให้ดินชื้นตามแนวที่ขุดไว้เดิมล่วงหน้าก่อนประมาณ ๒-๓ วัน การขุดดินจะง่ายขึ้น ต้นไม้ได้รับความชื้นพอเพียง  ดินที่มีลักษณะค่อนข้างร่วนหรืออ่อนตัวมากเกินไป คะเนให้ดินแห้งพอหมาด ๆ ดินอยู่ตัว ไม่แตกออกจากกันขณะขุด
  • ขุดดินรอบ ๆ ต้นออก จะให้ดินติดอยู่กับรากมากน้อยแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับชนิดของดิน ถ้าเป็นดินเหนียวอาจเหลือไว้ให้มากกว่าดินร่วน เพราะดินเหนียวไม่แยกตัวได้ง่ายเหมือนดินร่วน ระบบรากเกาะยึดดินได้ดีกว่าในระหว่างขุด
  • เปิดดินรอบ ๆ ต้นไม้ให้กว้างพอที่จะปฏิบัติงานได้สะดวก โดยขุดทะแยงลงไปเรื่อย ๆ ประมาณครึ่งหนึ่งของหลุม ระวังอย่าให้ดินกระเทือนมากจนแยกหรือเป็นรอยร้าว 

  • ใช้กระสอบเก่าหุ้มบริเวณดินที่ขุดโคนต้น อาจใช้เข็มกลัดยึดกระสอบให้หุ้มดินโคนต้น แล้วขุดดินที่เหลือออกจากกัน 

  • ใช้พลั่วงัดตะแคงโคนต้นไม้เพื่อยกต้นไม้ขึ้นจากหลุม การยกขึ้นจากหลุมอาจใช้สาแหรกรองดินหรือใช้มืออุ้มขึ้นมา ระยะนี้เป็นช่วงที่ดินมีโอกาสแตกออกจากกันได้โดยง่าย 

  • วางต้นไม้ลงบนกระสอบเก่าแล้วหุ้มให้แน่นอีกชั้นหนึ่ง ใช้กระสอบหุ้มโคนต้นไม้เพื่อกันมิให้ลำต้นโยกขณะเคลื่อนย้าย 

  • วางโคนต้นไม้ตรงกลางหลุมซึ่งมีขนาดกว้างเป็นสองเท่าของโคนดินหุ้มราก รองก้นหลุมด้วยดินผสม กะให้แนวโคนต้นสูงจากระดับดินเดิมเล็กน้อย

  • ขยับทรงต้นไม้ให้ได้ตำแหน่งที่พอใจก่อนจะกลบดิน พูดง่าย ๆ คือขยับต้นไม้รับกับด้านใดด้านหนึ่ง หรือหลาย ๆ ด้าน

  • กลบดินปลูกและทำดินให้แน่น ทำหลักยึดลำต้นเพื่อกันโยกเวลาลมพัด 

  • พูนดินรอบต้นไม้ให้สูงขึ้นมาเล็กน้อย แล้วรดน้ำให้ชุ่ม ทำที่บังแดดให้ดี
การดูแลหลังปลูก

ต้นไม้ที่ขุดย้ายไปปลูกในที่ใหม่ ระยะแรก ๆ รากอาจจะกระทบกระเทือนบ้าง จึงควรกลบดินให้ค่อนข้างแน่น รดน้ำให้ชุ่ม ทำหลักยึดประคองลำต้นให้แข็งแรง ป้องกันมิให้ลำต้นโยกเวลาลมพัด อาจต้องตัดแต่งใบหรือกิ่งบ้างตามสมควร เมื่อจำเป็น

ในกรณีที่ดินแตกแยกระหว่างขุดหรือย้ายก็ดี รากจะได้รับการกระทบกระเทือน ต้องตัดแต่งกิ่งออกให้มาก เพื่อให้โอกาสต้นไม้ฟื้นตัวเร็ว 

หน้าฝนเป็นโอกาสเหมาะที่จะปลูกย้ายต้นไม้ใหม่ เพราะดินชุ่มชื้น อากาศมีความชื้นสูงกว่าฤดูอื่น ต้นไม้ตั้งตัวเร็ว ประหยัดแรงงานในการรดน้ำ แต่ต้องระวังนิดหนึ่งในการย้ายไม้หน้าฝน เพราะถ้าฝนตกน้ำระบายไม่ได้ โอกาสที่ต้นไม้ปลูกใหม่จะจมน้ำตายก็มีมากเหมือนกัน หากว่าฝนตกชุกก็ควรปลูกให้ตื้น ให้ระดับโคนต้นไม้ใหม่สูงมาจากแนวเดิมเล็กน้อย กะว่าน้ำไม่ท่วมรากก็ใช้ได้


---------------------------------------------------------------------------------...-------------------------------------


ที่มา : บทความเรื่อง "การย้ายต้นไม้" โดย อ.ธนิต มะลิสุวรรณ ประจำภาควิชาเทคโนโลยีทางพืช คณะผลิตกรรมการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ ลงพิมพ์ในนิตยสารการเกษตรซึ่งจำชื่อไม่ได้แล้ว

Tuesday, September 20, 2011

Piano Rebuilding


  1. ผมรู้สึกดีใจมาก ๆ ที่คุณนู๋โจได้เข้าไปให้ comment ไว้ในบล็อกเรื่อง "ตั้งสายเปียโน" ซึ่งผมเขียนไว้เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน นับว่าเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อเพื่อน ๆ ผู้สนใจในเรื่องการซ่อมเปียโนด้วยตนเองเป็นอย่างมาก ผมต้องขออนุญาตนำมาลงไว้ในบล็อกช่างเหอะตัวนี้...

  2. สืบเนื่องมาจากคุณ Yakezer ได้คอมเม้นท์ไว้เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคมว่าได้ใช้เชือกว่าวแทนเชือก silk cord  คุณนู๋โจได้เข้าไปอ่านเจอแล้วให้ comment ไว้ว่า...
  1. "เคยใช้เชือกว่าวทดแทนเหมือนกัน ก็ใช้ได้ดี แต่สุดท้ายการที่เป็นนักช้อปออนไลน์ก็ทำให้หาแหล่งซื้อวัตถุดิบมาลองผิดลองถูกจนได้ และความกล้าบ้าบิ่นที่สุดคือซื้อแกรนด์เปียโนมือสองจ่ายเงินไป 80,000 บาท มา rebuild ทั้งหลัง ด้วยความบ้าความสวยงาม ก็ทุ่มเงินไปอีกมากพอสมควรเพื่อปรับเรื่องสี และซื้อสายเปียโนมาค่ะ อ่านเรื่องราวในบล็อกแล้วเผื่ือจะเป็นเพื่อน (ต่างวัย) กับคุณลุงนะคะ แถมอยู่จังหวัดใกล้เคียงกันด้วย (ลำพูน)
  1. ตอนนี้ยังมีเครื่องมือและอุปกรณ์หลงเหลืออยู่พอสมควรเผื่อมีใครสนใจจะช่วยแบ่งซื้อไป โดยเฉพาะพวกสายเปียโนของ Roslau และเครื่องมือต่างๆ
  1. เห็นด้วยนะคะว่ายังไม่มีใครขายปลีกอะไหล่เปียโนในประเทศเราอย่างจริงจัง คิดแล้วยังอยากทำ (ด้วยใจรัก) ก็คงต้องเริ่มจากของที่เอามาทดลองกับแกรนด์เปียโนหลังแรกนี่แหละค่ะ เรียกว่าให้ได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย เพราะบางครั้งเราเองก็ไม่ได้อยากซื้ออะไหล่มากชิ้น แต่หาในไทยไม่ได้ พอจะสั่งนอกก็ต้องสั่งจำนวนเยอะ หรือไม่ก็ต้องรอนาน (ไม่ทันใจวัยรุ่นใช้) ถ้ามีใครสักคนทำร้านขายอะไหล่ออนไลน์ในไทยก็คงดี ราคาต่อชิ้นอาจจะแพงกว่าแต่ก็ไม่ต้องซื้อทีละเยอะๆ ไม่ต้องจ่ายค่าขนส่งข้ามประเทศ แล้วก็ได้ของเร็วทันใจกว่า…" 
  1. ที่ผมยินดีมาก ๆ ก็เพราะได้มาเจอผู้หญิงเก่งที่กล้าซื้อแกรนด์เปียโนเก่ามา rebuild ด้วยตนเอง อย่างนี้หายากมากครับสำหรับคนไทย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือหญิงไทย) ผมเองก็ยังไม่เคย rebuild เปียโนมาก่อน ถ้ามีโอกาสจะขอไปเยี่ยมเยียนและถ่ายรูปผลงานของคุณนู๋โจมาให้เพื่อน ๆ ได้ชมกันนะครับ 



อยากลอง rebuild เปียโนดูสักหลังเหมือนกัน คิดแล้วก็เสียดายเจ้าเปียโนเยอรมันที่ขายไปที่นครสวรรค์ ถ้ายังมีอยู่ คงได้นำมา rebuild อย่างแน่นอน ภาพที่ผมถ่ายมาให้เพื่อน ๆ ดูคือเจ้าเส้นเชือกที่คุณ Yakezer และคุณนู๋โจกล่าวถึง 


ความจริงแล้วงาน rebuild เปียโนก็ใช่ว่าจะยากเกินไป เพียงแต่ต้องอาศัยเวลาค่อย ๆ ทำไปทีละชิ้นทีละอันเท่านั้น ยิ่งสมัยนี้สามารถสั่งอะไหล่ได้ทุกอย่าง เราก็จะสามารถชุบชีวิตเปียโนเก่าให้กลับมาใช้งานได้ดีอีกครั้ง ภาพต่อไปนี้คือตัวอย่างของการ rebush ครับ





ปัญหาใหญ่ก็คือเราไม่รู้ว่าจะไปหาเปียโนเก่าที่คู่ควรต่อการนำมา rebuild มาจากที่ไหนเท่านั้นเองครับ!


ใครรู้ช่วยบอกด้วยน้า

Sunday, September 18, 2011

สร้างถังกรองน้ำใช้เอง



ที่บ้านผมไม่มีประปาใช้ ทุกบ้านต้องขุดเจาะน้ำบาดาลขึ้นมาใช้เอง เนื่องจากนายเกตุพงษ์ เจ้าของโครงการก่อสร้างอาคารพาณิชย์แห่งนี้ ได้หายตัวไปก่อนที่โครงการจะแล้วเสร็จ ผมมีงบประมาณไม่มาก จึงต้องออกแบบระบบน้ำด้วยการใช้ท่อซีเมนต์ (วงส้วม)ต่อกันเป็นถังเก็บน้ำ ๒ ถัง แล้ววางถังกรองไว้ข้างบน 


ส่วนบ้านหลังอื่น...เค้าก็สร้างถังเก็บน้ำและระบบกรองน้ำที่แตกต่างกันออกไป

วันนี้ผมขอนำรูปแบบการสร้างถังกรองน้ำระบบความดันต่ำจากหนังสือ "วิธีให้น้ำแบบประหยัด" เขียนโดย อ. สมมาตร โพธิ์เจริญ ศูนย์ฝึกอบรมวิศวกรรมเกษตร บางพูน ปทุมธานี (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๓๐) มาแนะนำ เพราะเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์สำหรับเพื่อน ๆ ที่อยากจะออกแบบระบบน้ำไว้ใช้สำหรับการเกษตรบนพื้นราบของตนเอง

บางครั้ง...เมื่อถึงเวลาที่ต้องสร้างถังกรองน้ำขึ้นมา บางท่านอาจจะหาข้อมูลไม่ได้ หรือไม่ก็อยากรู้ว่าจะต้องใช้ทรายและหินขนาดใด ใส่หนาขนาดไหน ผมหวังว่ารูปแบบการสร้างชิ้นนี้อาจช่วยให้เพื่อน ๆ ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น...

สร้างก็ไม่ยาก แถมสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อยด้วยครับ...

ถังกรองน้ำแบบใช้ท่อซีเมนต์ (วงส้วม) ต่อกันแล้วบรรจุทรายหยาบ และกรวดขนาดต่าง ๆ ถังกรองน้ำแบบนี้ใช้สำหรับระบบความดันต่ำ ตัวเลข 5 cm - 10 cm - 30 cm หมายถึงความหนาของชั้นกรวดหรือทรายหยาบ


การเปิดเพื่อกรองไปใช้      เปิดลิ้น ๑ และ ๓    ปิดลิ้น ๒ ๔ และ ๕
การเปิดไล่ตะกอน             เปิดลิ้น ๒ และ ๕    ปิดลิ้น ๑ ๓ และ ๔
การเปิดน้ำทิ้ง (ล้างทราย)  เปิดลิ้น ๑ และ ๔    ปิดลิ้น ๒ ๓ และ ๕












Saturday, September 17, 2011

Accordion 1

วันนี้เรามาเริ่มฝึกเล่นหีบเพลงกันดีกว่า ผมมีตำราฝึก accordion อยู่หลายเล่มครับ กำลังพยายามนำมาเรียบเรียงเพื่อให้ได้ตำราฝึกเล่นหีบเพลงเบื้องต้นให้ได้สักเล่มนึง ต้องขออภัยด้วยที่ผมเงียบไปหลายวัน ด้วยประสบปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต  พอจิดใจไม่สบาย กายก็ป่วยตาม นับว่าเป็นเรื่องที่บั่นทอนความคิดที่จะสร้างสรรค์ในสิ่งดี ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ

ขอทดลองนำตำรามาลงก่อนสัก ๓ หน้านะครับ...



ผมจะพยายามปรับปรุงให้ดีกว่านี้ ขอเวลาให้ได้รักษาตัวก่อนสักระยะนะครับ....

Tuesday, September 13, 2011

The Jazz Guitarist

Charlie Byrd - ภาพจาก wikipedia
เมื่อ ๓๐ กว่าปีที่แล้ว Charlie Byrd (September 16, 1925 – December 2, 1999) เคยไปแสดงคอนเสิร์ทที่เชียงใหม่ใช่หรือไม่?  ผมก็ไม่แน่ใจ  คิดว่าน่าจะใช่ เพราะผมจำได้ว่าช่วงที่เรียนอยู่ดุริยศิลป์ปี ๑ นั้น โชคดีเหลือเกินที่มีโอกาสได้ชมการแสดงของศิลปินมีชื่อจากอเมริกาอยู่หลายครั้ง เป็นนักกีต้าร์แจ๊สพร้อมกับวง Trio ก็มี นักเล่นเปียโนผิวดำที่ยืนเล่นก็มี  นักเล่นเปียโนคลาสสิกก็มี  ฯลฯ  


สำนักข่าวสารอเมริกัน หรือ USIS เป็นผู้จัด  ให้ดูฟรี...ไม่เก็บตังค์!  เชียงใหม่ยุคนั้นยังไม่มีคอนเสิร์ทฮอลล์หรือโรงละครใหญ่ ๆ ที่ไหนเลย ต้องไปเปิดแสดงกันที่หอประชุมคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่โน่น....

เป็นครั้งแรกที่ผมได้ชมการบรรเลงเพลงแจ๊สด้วยแอคคูสติกกีต้าร์ แล้วเก็บความประทับใจมาโดยตลอด

วันนี้ อรัมภบทเรื่อง Jazz Guitar ไว้หน่อย ก็เพื่อแนะนำโปรแกรมของค่าย PG Music อีกตัวหนึ่ง นั่นคือ The Jazz Guitarist ซึ่งเป็นโปรแกรมที่มีลักษณะคล้ายกับ The Pianist หรือ The Jazz Pianist ที่ผมเคยนำมาให้เพื่อน ๆ ก่อนหน้านั้นแล้ว ตัวนี้มีขนาดเล็กมากครับ เป็น zip file แค่ 880 KB เอง!  คลิกดาวน์โหลดได้ ที่นี่ ครับ




ในกรณีที่ติดตั้งแล้วไม่มีเสียง เพื่อน ๆ ต้องไปที่ Options ---> Driver Setup แล้วคลิกเลือก Driver Output คลิกสัปเป่ะสัปป่ะไปเต๊อะ เด๋วก็ดังเอง อิอิ 




ฟังเพลงใน The Jazz Guitarist แล้ว คิดถึง Charlie Byrd จังเลย...

Monday, September 12, 2011

การจับแฮนด์เสือหมอบ...

จักรยาน Miyata รุ่น Path Runner
ทุกวันนี้ผมไม่ค่อยเห็นนักปั่นจักรยานทางไกลใช้รถเสือหมอบกันสักเท่าใด คงเป็นเพราะเดี๋ยวนี้มีจักรยานให้เลือกมากมายหลายประเภท ผู้ใช้สามารถเลือกหาจักรยานที่เหมาะกับการใช้งานของตนได้โดยไม่ยาก ไม่เหมือนแต่ก่อน ซึ่งคงจะมีแต่เจ้าเสือหมอบนี่แหละที่ผู้บุกเบิกการปั่นจักรยานไกลอย่างอาจารย์ปรีชา พิมพันธุ์ หรือคุณประทุม ม่วงมี ผู้เจริญรอยตามเลือกที่จะใช้ปั่นจากประเทศไทยไปอเมริกา...


wichai.net  ขอยกย่องอาจารย์ ปรีชา พิมพันธุ์ คนไทยคนแรกที่บุกเบิกการปั่นจักรยานจากประเทศไทยไปยังอเมริกา  นานมาแล้ว ผมเคยเห็นหนังสือที่อาจารย์ปรีชาเขียนไว้  อยู่ในห้องสมุดธนาคารศรีนคร ถนนช้างคลาน เชียงใหม่  (ไม่แน่ใจว่าทุกวันนี้ยังจะมีอยู่หรือไม่)  อาจารย์ปรีชาเคยเขียนแนะนำคุณประทุม ม่วงมีเกี่ยวกับการปั่นจักรยานไปอเมริกาไว้ว่า "..1. สิ่งที่ควรติดตัวไป  หมวก แว่นตา ถุงมือ เสื้อ กางเกง ถุงเท้า รองเท้า เข็มขัด  รองเท้าแตะ  ถุงนอน มีด กล้องถ่ายรูป  ขาตั้งกล้อง  เครื่องมือรถ  เครื่องปะยาง  สูบ ฯลฯ   2. ภาษาอังกฤษ จำเป็นต้องทราบ  ส่วนภาษาอื่น ๆ ถ้ารู้นิดหน่อยก็ดี  มีหนังสือเรียนพูด ตุรกี อิหร่าน กรีซ ฯลฯ  ทุกประเทศขายที่สนามหลวง  เล่มละไม่ถึง 5 บาท  ควรศึกษาไว้บ้าง  คือนำติดตัวไปด้วย  3. วัฒนธรรมแต่ละประเทศ  เป็นเรื่องใหญ่  แต่ไม่มีอุปสรรคอะไร เพราะเราเพียงแต่ผ่านเท่านั้น  4. สภาพของทางในแต่ละประเทศ  ในอินเดียลาดยางตลอด ปากีสถานลาด 1/2  อาฟกานิสถาน ดินลูกรัง   อิหร่าน ภูเขา ถนนลูกรัง    ตุรกี ไม่ลาดยาง  กรีซ ลาดยางบางส่วน  นอกนั้นลาดยางตลอด   5. ระยะทางข้ามประเทศ  อินเดียราว 1900-2000 Km  ปากีสถาน ราว 1000 Km  (ถ้าไป Afg 500 Km)   Afg ราว 800 Km   อิหร่าน ราว 2000 Km  ตุรกี ราว 2000 Km   กรีซ  ราว 1500 Km  ส่วนประเทศในยุโรปสั้น ๆ  1-2 วันก็ผ่านประเทศได้.............."
ประทุม ม่วงมี
ตอนผมปั่นจักรยานไปสิงคโปร์...ผมใช้รถจักรยานมือสองที่ซื้อมาในราคา ๑,๕๐๐ บาท ซื้อมาทีแรกเป็นแฮนด์ตรง ผมต้องเปลี่ยนเอาแฮนด์เสือหมอบใส่แทนทีหลัง นิตยสาร "จักรยาน" สรุปไว้ว่า "วิธีการขับขี่ มือกับแฮนด์รถต้องให้อยู่ในท่าทางสบาย คล่องตัวที่สุด เวลาต้องการใช้มือทำอะไรในระหว่างการขับขี่ก็จะทำได้รวดเร็ว ในการขับขี่จักรยาน สิ่งที่สำคัญคือ ท่าทาง ซึงจะต้องรู้ว่าควรปฏิบัติอย่างไรถึงจะขี่ได้ไกล และมีความปลอดภัย... "


วิธีจับแฮนด์เสือหมอบมี ๓ วิธี คือ จับส่วนตรงที่อยู่ด้านบน จับช่วงต่ำสุดของแฮนด์ และ จับระหว่างแฮนด์กับก้านเบรค

ปกติถ้าขี่แบบสบาย ๆ บนถนนที่เรียบและตรง ผมก็จะจับแฮนด์ด้วยวิธีแรก มันสามารถไปได้ไกลครับ 



แต่ถ้าเป็นการขี่ขึ้น-ลงเขา หรือบนทางโค้งและถนนที่ขลุขละ จะจับแฮนด์รถแบบง่าย ๆ ไม่ได้แล้ว เราต้องก้มตัวลง วางแขนให้ต่ำลง ใช้มือจับช่วงที่ต่ำสุดของแฮนด์ เพื่อสามารถบังคับรถได้ดียิ่งขึ้น...


ส่วนท่าใช้มือจับระหว่างแฮนด์กับก้านเบรคนั้น เหมาะสำหรับการขับขี่บนถนนซึ่งมีสภาพการจราจรแออัด จำเป็นต้องใช้เบรคบ่อย ๆ ครับ...

วันนี้ขอขัดตาทัพด้วยเรื่องจักรยานละกัน...

Sunday, September 11, 2011

Blues Piano Master Class


Miles Black (ภาพจาก milesblack.com)
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ผมได้แนะนำ The Jazz Pianist โปรแกรมรุ่นเก่าที่สอนให้เราเล่นเปียโนในสไตล์แจ๊ส  ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าถูกใจเพื่อน ๆ หรือไม่ ผมได้แต่แอบคิดในใจว่า น่าจะมีผู้สนใจนำไปเป็นตัวช่วยในการฝึกหัดเล่น Jazz Piano อยู่บ้าง...


"Blues" เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการเล่นเปียโนแนวแจ๊ส การฝึกเล่นบันไดเสียงบลูส์ (Blues Scales) - การฝึก improvise - การทำความรู้จักกับเพลงบลูส์ในสไตล์ต่าง ๆ อาทิ Boogie, Barrelhouse, Rag Blues, Jazz Blues, Rock Blues - การศึกษารูปแบบและโครงสร้างของคอร์ด ตลอดจนประวัติเพลงบลูส์  ทุกอย่างล้วนจำเป็นสำหรับนักเล่นเปียโนบลูส์ทึ่จะต้องเรียนรู้  โปรแกรมที่ผมนำมาให้ในวันนี้ คือมัลติมีเดียอีกตัวหนึ่งที่จะช่วยวางพื้นฐานการเป็นนักเล่นเปียโนสไตล์บลูส์ให้กับเพื่อน ๆ ได้เป็นอย่างดี  คลิกดาวน์โหลดได้ ที่นี่   Blues Piano Master Class ซึ่งสอนโดย Miles Black ชุดแรกประกอบด้วยบทเรียนดังต่อไปนี้

  • Basic Blues in C Major
  • Variation on Basic C Blues
  • Vocal Effects on the Piano
  • The C Blues Scale
  • Call and Response Blues
  • The 1-4-5 Blues Chord Progressions
  • Basic Chords and How to Play Them
  • Soloing and Chording over a Basic C Blues
  • Your First Boogie Blues
  • The Seventh Chord
  • Your First Walking Blues
  • Your First Low-Down Blues
  • Your First Rock Blues
  • The Blues in E
  • Playing Blues Licks in E
  • Your First E Blues Shuffle
  • Your First Jazz Blues
เป็นโปรแกรมรุ่นใหม่ นอกจากจะมีคีย์บอร์ดจำลองแสดงให้เห็นการเล่นโน้ตในขณะที่ผู้สอนบรรยายด้วยภาษาอังกฤษที่ฟังง่ายและชัดเจน  ก็ยังมีโน้ตเพลงปรากฏให้เห็น (สั่งพิมพ์ได้) พร้อมทั้ง video clips ที่สามารถคลิกเล่นซ้ำไปมาได้

ลองใช้ดูนะครับ...

Saturday, September 10, 2011

ไขมันเลือดสูง

ผมเคยได้รับความกรุณาจากพี่คนหนึ่ง ท่านอุตส่าห์คัดลอกบทความเรื่อง "ไขมันเลือดสูง" ของ น.พ.บรรจบ ชุณหะสวัสดิกุล ด้วยลายมือตนเองแล้วมอบให้ผมด้วยความห่วงใย วันนี้ผมจึงขออนุญาตนำมาลงไว้ เพราะเห็นว่าเป็นบทความที่มีค่า ควรแก่การอ่าน ดังนี้....

กลลวงประการที่ ๔ เป็นไขมันเลือดสูง รักษาด้วยการกินยา ก็อีกนั่นแหละ พอโลกเข้าสู่ภาวะบริโภคนิยม ผลก็คือเกิดโรคไขมันเลือดสูง ประเทศไทยมีคนเป็นไขมันเลือดสูง   ๕๐ % ของประชากรในเมือง รวมแล้วมีโรคไขมันเลือดสูงประมาณ ๑๒ ล้านคน  พอมีไขมันเลือดสูง แพทย์ก็ให้กินยา จากนั้น ๑ เดือนไปตรวจเลือดอีกที ก็พบไขมันลดลงเป็นปกติ แพทย์ก็บอกว่าให้กินยาลดไขมันต่อไปเรื่อย ๆ ไม่ต้องหยุด บางรายถูกลดระดับโคเลสเตอรอลจนต่ำกว่า ๑๐๐ ม.ก.% ซึ่งเป็นภาวะบกพร่องไขมันอย่างน่าเป็นห่วง แต่ก็ไม่ยอมเลิกกินยา

ผู้รักษาสุขภาพเคยฉุกคิดไหมว่า ในเมื่อความเป็นจริงที่รู้ ๆ กัน ก็คือ ไขมันเลือดสูงอยู่ที่การกินการอยู่ ทีนี้พอกินยาแล้วยังคงกินยาอยู่ตามปกติเหมือนเดิม แต่กินยาแล้วไขมันเลือดลดลง แล้วไขมันที่่ควรจะสูงมันหายไปไหนเสียเล่า คำตอบก็คือ กลไกของยาลดไขมันมักอยู่ที่การยับยั้งไม่ให้ตับขับไขมันส่วนเกินออกมาในกระแสเลือด ผลก็คือเราได้ตัวเลขไขมันเลือดที่สวยงาม เป็นที่พอใจของทั้งแพทย์ทั้งผู้ป่วย แต่เมื่อกินยาเช่นนั้นต่อไปเรื่อย ๆ เหตุการณ์ผ่านไป ๑๐ ปี ปรากฏว่าผู้ป่วยเหล่านี้ล้วนเป็นโรคไขมันพอกตับ ซึ่งเป็นปากประตูร้ายของโรคตับแข็ง และส่วนหนึ่งมีสิทธิพัฒนาไปเป็นมะเร็งตับได้ นี่แหละฤทธิ์ร้ายของลัทธิบูชายา

ความซึมลึกของลัทธิบูชายา แท้ที่จริงมันเข้าไปถึงกระดูกดำของคนทั่วโลกมานานแล้ว จนกระทั่งมันจารึกเข้าไปในกฎหมายของประเทศอีกด้วย ดังเราดูได้จากพระราชบัญญัติยา-อาหาร ที่ระบุว่า ยา หมายความว่า วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ในการบำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วยของมนุษย์  วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับให้เกิดผลแก่สุขภาพ  ส่วนในพระราชบัญญัติอาหารระบุว่า อาหาร หมายความว่า ของกินหรือเครื่องค้ำจุนชีวิต วัตถุทุกชนิดที่คนกิน ดื่ม อม หรือนำเข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ หรือรูปลักษณะใด ๆ แต่ไม่รวมถึงยา  ตามคำจำกัดความนี้แปลว่า "อาหาร" ได้รับการประเมินคุณค่าที่ต่ำมาก คือกินเข้าไปเพียงพอเลี้ยงชีวิตไปวัน ๆ  แต่ไม่อาจมุ่งหมายที่จะให้เกิดผลใด ๆ แก่สุขภาพ ส่วนใครก็ตามที่มุ่งหมายจะกินอะไรที่เกิดผลแก่สุขภาพแล้ว ก็จงกิน "ยา"

ในเมื่อกฎหมายเป็นซะอย่างนี้ ก็ไม่เป็นที่แปลกใจเลยว่า ผู้คนพลเมืองของเราจึงสักแต่ว่ากินเพื่อค้ำจุนชีวิตไปวัน ๆ  และก็คิดต่อไปว่า "เอาไว้ป่วยเมื่อไหร่ ค่อยกินยารักษาก็แล้วกัน"  ที่ไปไกลกว่านั้น กฎหมายก็ยังถลำลึกต่อไปว่า แม้แต่การป้องกันโรคก็ยกให้เป็นหน้าที่ของ "ยา"

เหตุฉะนี้ ธุรกิจยาข้ามชาติจึงได้เจริญรุ่งเรือง และบทบาทการกินป้องกันโรค กินรักษาโรค นอกจากจะถูกละเลย แล้วยังอาจถึงกับ "ผิดกฎหมายด้วยซ้ำ"  ความเฉไฉในเรื่องนี้ มันฝังลึกในวิธีคิดของเจ้าหน้าที่รัฐ กลายเป็นยุทธศาสตร์ป้องปรามประชาชนเรื่องสุขภาพ องค์กรของรัฐใช้เงินซื้อสื่อต่าง ๆ ระดมคำโฆษณาว่า วิตามิน ซึ่งเกือบทั้งหมดก็ได้รับการอนุญาตจากทางการมาแล้วทั้งนั้น จะก่อให้เกิดผลร้ายต่อสุขภาพ เกิดฤทธิ์สะสมเป็นพิษต่อตับ เกิดนิ่วในไต กระทั่งขยายความงานวิจัยบางชิ้นให้เห็นว่าวิตามินก่อให้เกิดมะเร็งเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ แต่เราจะไม่เห็นคำโฆษณาจากหน่วยงานของรัฐที่จะรณรงค์ประชาชนให้ลดละจากการกินยา หรือพิษภัยของการกินยา (อย่างมากก็เพียงบอกว่า ให้กินยาตามแพทย์ หรือเภสัชกรสั่งจ่าย)  แต่เพราะกับดักสุขภาพที่ว่า "เมื่อป่วยเจ็บก็ให้กินยา" ฝังลึกมาหลายสิบปี ผลก็คือ มีผู้ได้ประโยชน์อยู่ฝ่ายเดียวคือ ธุรกิจยา บริษัทเหล่านี้กำลังครองโลก

การลดไขมันเลือดแท้จริงอยู่ที่การควบคุมตัว และเรื่องอาหาร ดังนี้คือ

  1. หันมากินอยู่อย่างไทย กินข้าวกล้อง กินผัก กินปลา งดดื่มนมรวมทั้งโยเกิร์ต นมเปรี้ยว บางคนไม่ได้ดื่มนมเป็นแก้ว แต่ใช้ผสมกับกาแฟก็อาจมีไขมันเลือดสูงได้
  2. กินกระเทียมมื้อละ ๓ กลีบ ทุกมื้อ จะลดทั้งคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ ได้ในระยะเวลา ๓ เดือน กินปลาซึ่งมีน้ำมันปลาช่วยปรับสภาพไขมันเลือด ไข่ไก่ที่ชื่อโอเมก้า 3 หรือไข่โคลัมบัส มีงานวิจัยใหม่พบว่า ไข่นี้กินวันละ ๒ ฟองกลับผลลดคอเลสเตอรอล เพิ่ม HDL  ถ้าเปรียบเทียบกับกินยาลดไขมันวันละ ๕๐ บาท แต่กินไข่นี้ ๒ ฟอง ราคารวม ๑๒ บาท ราคาประหยัดกว่า แถมอร่อยด้วย เชิญเลือกเอาเอง
  3. อดล้างพิษ ๑๐ วัน ตามด้วยการอดล้างพิษ ๑ วัน ทุก ๑ อาทิตย์ สวนกาแฟให้ถูกวิธีร่วมด้วยในวันที่อด กาแฟจะไปเปิดท่อน้ำดี ช่วยให้ตับระบายไขมันส่วนเกินลงลำไส้แล้วขับถ่ายออกไป
  4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พร้อมกับลดความเครียด
เท่านี้ก็ลดไขมันเลือดได้โดยไม่ต้องใช้ยา

Friday, September 09, 2011

The Jazz Pianist


เมื่อสองวันก่อน ผมนำโปรแกรม The Pianist มาแนะนำ ดูเหมือนกับว่าจะเป็นการนำมะพร้าวห้าวไปขายสวน เพราะโปรแกรมดังกล่าวสามารถหาดาวน์โหลดได้โดยไม่ยากทางอินเทอร์เน็ต แต่ผมคิดว่าบางทีเจ้าโปรแกรมเก่าอย่าง The Pianist อาจจะถูกหลงลืมหรือผ่านสายตาเพื่อน ๆ บางท่านไปก็ได้ เพราะทุกวันนี้ความหลากหลายของ software ช่วยสอนดนตรีมีสูง ทาง PG Music เจ้าของ Band-in-a-Box ก็ผลิตโปรแกรมใหม่ ๆ ที่น่าสนใจออกมาอีกหลายตัว อย่างไรก็ตาม เจ้าโปรแกรมเล็กพริกขึ้หนูอย่าง The Pianist ก็น่าจะยังคงมีประโยชน์อยู่บ้างสำหรับผู้ที่กำลังฝึกหัดเล่นเปียโนคลาสสิก....ผมคิดเช่นนั้นจริง ๆ

วันนี้ ผมอยากนำโปรแกรมอีกตัวหนึ่งคือ The Jazz Pianist  สำหรับผู้ที่สนใจแจ๊สเปียโน เป็นโปรแกรมช่วยสอนลักษณะเดียวกันครับ เพียงแต่เปลี่ยนจากเพลงคลาสสิกเป็นแจ๊สเท่านั้น เป็นเพลงแจ๊สที่น่าเล่นเสียด้วย เพื่อน ๆ สามารถคลิกดาวน์โหลดได้ ที่นี่ ครับ

โปรแกรมอยู่ในไฟล์ rar ขนาดเล็กเพียง 1.4 MB  ให้แตกไฟล์ออก แล้วคลิกติดตั้งได้เลย วิธีใช้ก็เหมือนกับ The Pianist  ติดตั้งเสร็จแล้ว อยากให้ลองคลิกฟังเพลง As Time Goes By จะเห็นได้ว่ามันเพราะจริง ๆ อยากเล่นให้ได้อย่างนั้นใช่ไหมครับ?  ผมขอแนะนำให้นำไฟล์มิดี้เพลงดังกล่าวไปใส่ในโปรแกรม Sibelius (หรือตัวอื่น ๆ ที่อยู่ในประเภทเดียวกัน)  เมื่อได้โน้ตเพลงปรากฏออกมา ก็สั่งพิมพ์เก็บไว้ซ้อมได้เลยครับ...

อ่อ...อย่าลืมว่าโปรแกรมนี้ เราปรับเปลี่ยนคีย์(transpose)ได้ด้วยปุ่ม F6 และ F7 แล้วยังสามารถสั่งให้มันเล่นช้าลงได้ด้วยปุ่ม F5

ทุกอย่างมันเสริมกันไปหมดครับ ถ้าอยากเล่น As Time Goes By ในคีย์ C major ก็ใช้โปรแกรม Sibelius เปลี่ยนโน้ตให้อยู่ในคีย์ที่ต้องการก่อน เวลานำไปซ้อมกับเปียโน แล้วอยากฟังเสียงการบรรเลงจากโปรแกรมตัวนี้ ก็สามารถปรับคีย์เปลี่ยนคีย์ให้เข้ากับโน้ตที่มีได้

โปรแกรมรุ่นใหม่มี options ที่ทำให้สามารถคลิกดูโน้ตได้เลย  พอดียังหาไม่ได้...ถ้าเจอเมื่อไหร่ ผมจะรีบนำมาให้ทันทีเลยล่ะ

Wednesday, September 07, 2011

Sustain Pedal ไม่ทำงาน!

เมื่อวานนี้ผมได้รับโทรศัพท์จากคุณอารีย์แจ้งว่าขณะที่กำลังซ้อมเปียโน เหยียบ pedal แล้วเกิดเสียงดังข้างในเปียโน หลังจากนั้น pedal ก็ไม่ทำงานอีกเลย  รับทราบปัญหาแล้ว...ผมนัดหมายว่าจะไปดูให้ในวันนี้  อยากจะไปเช็คด้วยว่าเป๊ยโนที่ตั้งเสียงไว้นานแล้ว ยังคงมีเสียงที่พอฟังได้อยู่หรือเปล่า...



อาการเสียเกิดที่ Sustain Pedal  ผมมั่นใจว่าแกนไม้ที่ไปบังคับตัว damper (หรือที่ในตำราเรียกว่า Sustaining Pedal Connecting Rod) คงจะหลุด ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ซ่อมไม่ยาก! 
ไม่ได้เตรียมอะไหล่อะไรไป นอกจากเครื่องไม้เครื่องมือที่จำเป็น เช้านี้...ผมหิ้วกระเป๋าเข้าไปสัมผัสมือกับเจ้ายามาฮ่าตั้งแต่ ๑๐ โมง ยังสวยงามเหมือนเดิมครับ ผมลองเล่นดู รู้สึกพอใจที่เปียโนยังมีเสียงที่ฟังได้สบายหู ไม่มีคีย์ไหนเสียงแปร่งจนน่าเกลียด แม้ว่าเสียงจะลดลงตามฤดูกาลที่ผ่านไป แต่ก็มิได้ลดลงแค่สายใดสายหนึ่งจนเกิด Beat Frequency ที่ฟังได้ชัดเจน

ผมลงมือถอดเสื้อผ้า เอ๊ย...ถอดฝาด้านหน้าและด้านล่างออกทันที เพื่อจะได้แก้ไขเรื่อง sustain pedal  มีข้อพึงระวังว่า เมื่อถอดฝาออกแล้ว ต้องหาที่วางฝาให้ดี ๆ ระวังอย่าให้ล้มหรือเกิดกระแทกกับอะไร เพราะอาจจะแตกหักหรือเป็นรอยได้




สิ่งที่ผมเห็นเมื่อเปิดฝาล่างออกมาก็คือ ตัว Pedal Connecting Rod ไม่ได้ทำด้วยไม้ แต่เป็นโลหะ 
มันตกออกไปตั้งอยู่กับพื้น มิน่าเล่า...เวลาเหยียบ pedal มันถึงได้ไม่ทำงาน 


สำหรับเปียโนหลังนี้ เจ้า Rod เพียงแค่วางอยู่บนแป้นพลาสติกโดยมิได้มีอะไรเป็นตัวยึด (นอกจากร่องเล็ก ๆ ที่ช่วยไม่ให้หลุดออกง่าย) นับว่าเป็นการออกแบบที่เน้นความง่ายและลดต้นทุน ผมว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดีเอาเสียเลย..


ผมหงายตัวลงนอน แล้วมองขึ้นไปข้างใน เห็นได้ว่าตรงปลาย Rod หลุดออกมาจากรูกระเดื่อง (ตรงปลายลูกศรสีเหลืองตัวบนในภาพแรก) มันจึงไม่สามารถไปบังคับ damper ทั้งชุดได้  ผมทดลองใส่กลับเข้าไปตามเดิม  ก็พบว่ามันหลวมจนปลาย Pedal Rod ไม่สามารถวางบนแป้นพลาสติกได้ แม้ว่าจะปรับน๊อตหางปลาที่ผมแสดงให้เห็นด้วยลูกศรสีเหลืองจนสุดแล้วก็ตาม   


อยากจะเขกหัวตัวเองแรง ๆ หลาย ๆ ครั้ง...ด้วยความผิดที่มิได้นำอะไหล่ไปด้วย ต้องมีแหวนสักหลาดหนา ๆ รองใต้แป้นพลาสติก เพื่อให้ Rod สามารถวางอยู่บนแป้นได้โดยไม่หลุด.....  



ครั้นจะขี่จักรยานยนต์กลับไปเอาอะไหล่ที่บ้านก็เสียเวลา จะตัดกระดาษทำเป็นแหวนรอง ก็ไม่มีเครื่องมือ ในที่สุดผมก็ต้องใช้วิชา "ช่างเหอะ" ด้วยการถอดแหวนสักหลาดที่รองรับน๊อตหางปลาตัว soft pedal ออกไปใช้รองใต้แป้นพลาสติก (เป็นการชั่วคราวก่อน บอกตัวเองว่าคราวหน้าจะนำอะไหล่ไปใส่ให้ตามเดิม ตัว soft pedal ไม่ค่อยได้ใช้ ไม่เป็นไร!) 


รองแหวนสักหลาด แล้วปรับน๊อตหางปลาเข้าจนเกือบสุด จากนั้นก็ปรับละเอียดอีกนิดเพื่อให้ damper ทำงานได้สมบูรณ์!  
ใช้งาน Sustain Pedal ได้แล้วครับ!