ผมเป็นคนรุ่นเก่า ตอนเป็นเด็กเคยนำสมุดวาดเขียนหรือสมุดเก่ามาใช้เก็บข้อมูลและข่าวสารต่าง ๆ โดยตัดข่าวหรือรูปภาพจากหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารมาแปะไว้ด้วยกาวซึ่งทำใช้เองจากแป้งมัน...
ผมรู้จักคำว่า "clipping" ซึ่งแปลว่า "การเล็มออก" และ"ข่าวสารที่ตัดจากหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร" แต่ถ้าก่อนหน้านี้บอกผมว่า "กฤตภาค" ผมคงต้องส่ายหัว เพราะไม่รู้จักจริง ๆ
Longdo Dict ให้ความรู้ไว้ว่า...
กฤตภาค (Clipping) นับว่าเป็นวัสดุสารนิเทศของห้องสมุดอย่างหนึ่ง เป็นการนำข้อความหรือบทความที่ตัดจากหนังสือพิมพ์และวารสารฉบับล่วงเวลา โดยผู้ที่ต้องการจะเก็บบันทึกบทความ ข้อความที่น่าสนใจ บทบรรณาธิการ จดหมายถึงบรรณาธิการ ภาพถ่าย การ์ตูน รวมถึงเรื่องราวที่ยังไม่มีการรวบรวมจัดพิมพ์เป็นหนังสือ ฯลฯ มักรวบรวมเก็บเข้าแฟ้มไว้เป็นคอลเล็กชัน โดยจะมีการจัดเก็บด้วยหัวเรื่อง หรือวิธีการจำแนกอื่น เช่น ชื่อสิ่งพิมพ์ เลขหน้า วัน เดือน ปี นำมาให้หัวเรื่อง จัดเก็บเข้าแฟ้ม โดยเรียงสำดับตามตัวอักษร เก็บไว้ในตู้จุลสาร เพื่อนำมาใช้ค้นคว้าและอ้างอิง นอกจากนี้ยังสามารถเป็นประโยชน์ในการจัดนิทรรศการ หรือรวบรวมเพื่อให้ทราบแนวโน้มความสนใจของประชาชนในเรื่องและช่วงเวลาต่างๆ ได้อีกด้วย
การจัดทำกฤตภาค ทำโดยการนำข่าวสารที่ต้องการจัดเก็บมาตัดเก็บมาเฉพาะส่วนที่ต้องการ นำไปผนึกลงบนกระดาษเปล่า และแจ้งถึงแหล่งที่มาของข้อเท็จจริงไว้ที่หัวกระดาษเพื่อใช้อ้างอิงได้ โดยมีวัตถุประสงค์ จัดทำเป็นเครื่องมือช่วยผู้ใช้ให้สามารถค้นหาข้อมูลปลีกย่อยที่ปรากฏในสิ่งพิมพ์ เพื่อช่วยในการค้นหาได้อย่างรวดเร็ว นอกจากการจัดเก็บกฤตภาคไว้ใน "ตู้กฤตภาค" แล้วนั้น ปัจจุบันยังได้มีการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือช่วยจัดเก็บกฤตภาคได้โดย การจัดเก็บโดยวิธีบันทึกลงบนฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ ด้วยอุปกรณ์บันทึกภาพ (Scanner) เมื่อต้องการใช้จะต้องสืบค้นและอ่านผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งช่วยให้สามารถสืบค้นได้อย่างรวดเร็ว ลดความซ้ำซ้อน ลดปัญหาการใช้กระดาษ และลดปัญหาพื้นที่จัดเก็บได้อีกวิธีหนึ่ง
อ้างอิง : แม้นมาส ชวลิต. (2549). คู่มือบรรณารักษ์ (ฉบับปรับปรุงแก้ไข) เล่ม 1. กรุงเทพฯ: บรรณกิจ. [บรรณารักษ์และสารสนเทศศาสตร์]
กว่าผมจะมารู้จักคำว่า "กฤตภาค" ก็ใกล้จะลงโลงแล้ว! หุหุ
No comments:
Post a Comment