วันนี้ค้นเจอข่าวสารจาก "สโมสรสื่อเดินทาง" ฉบับที่ ๔ กุมภาพันธ์-มีนาคม ๒๕๓๙ ทำให้ผมคิดถึงช่วงวัยที่เพลิดเพลินกับการเดินทาง ถึงแม้ว่าบางครั้งไม่ได้ไปไหนเลย ก็ยังมีวารสารหรือข่าวสารเกี่ยวกับการเดินทางส่งมาให้อ่านอยู่เป็นนิจ...
หน้า ๔ มีข้อเขียนเรื่อง วิธีการหาน้ำในป่ากันดารและแห้งแล้ง คิดว่ามีประโยชน์ น่าจะนำมาเก็บไว้ที่นี่
เป็นการกลั่นน้ำจากพืชและผิวดินโดยใช้แสงอาทิตย์ ใช้ในกรณีที่หาพืชให้น้ำไม่ได้แล้ว ขั้นตอนมีดังนี้...
- หาพื้นที่โล่งแจ้ง ไม่มีอะไรบดบังแสงอาทิตย์ แสงแดดส่องถึงพื้นที่ที่เลือกไว้ได้ทั่ว ควรมีดินชื้น เช่นบริเวณลำห้วยหรือลำธารที่น้ำแห้งไปแล้ว
- ขุดหลุดกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ เมตร ดินที่ขุดขึ้นมาเอาไว้ห่างหลุมในราว ๑ คืบ
- หาใบไม้ เช่น ใบสาบเสือ ใบเสมา ใบคาย ใส่ลงในหลุม
- เอาขันหรือถังวางไว้ตรงจุดศู่นย์กลางของหลุม
- เอาแผ่นพลาสติกใสขาว ขนาด ๑.๘ ม. x ๑.๘ ม. หนา ๐.๑ ม.ม. ขัดด้วยกระดาษทรายละเอียดตรงด้านที่จะอยู่ชั้นใน ดูจากจุดกึ่งกลางแผ่นพลาสติกใส แผ่ออกไปตามขอบแผ่นให้เป็นรัศมีวงรอบ เพื่อให้เป็นร่องน้ำไหลลงสู่ขัน ไม่หยดลงนอกขัน แล้วเอาแผ่นพลาสติกนั้นคลุมหลุม ให้ด้านที่ขัดด้วยกระดาษทรายอยู่ด้านในหลุม
- เอาดินที่ขุดขึ้นมากลบขอบแผ่นพลาสติกรอบ ๆ ปากหลุม (แต่อย่ากลบชิดขอบหลุม เพราะดินจะตกลงในแผ่นพลาสติก ทำให้สกปรก ต้องถนอมไว้เพื่อใช้อีกนานวัน) ให้พลาสติกหย่อนตรงกลางเป็นกรวย ตรงกับจุดศูนย์กลางของหลุมที่มีขันรองรับน้ำอยู่
- พอเห็นไอน้ำติดตามแผ่นพลาสติกด้านใน สบายใจได้ ให้รอน้ำไป ถ้ายังไม่เห็นไอน้ำให้ตรวจดูบริเวณปากหลุมว่ามีรอยหรือรูทำให้อากาศเข้าได้หรือไม่
ไม่เคยทำเหมือนกันครับ แต่รู้ไว้ก็ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม...
1 comment:
พอจะทราบไหมครับว่า เป็นใบไม้ชนิดอื่นได้ไหม หรือเฉพาะสามชนิดที่เขียนไว้
ถ้าเป็นสามชนิดนั้นอย่างเดียว เพราะอะไรเหรอครับ
Post a Comment